วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2566) ทนายแจม-ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล หนึ่งในคณะกรรมการสอบสวนวินัยกรณี ส.ส.ล่วงละเมิดทางเพศ ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ถึงผลการสอบสวนกรณีขับ วุฒิพงศ์ ทองเหลา ส.ส.ปราจีนบุรี ออกจากพรรค และกรณีของ ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ ส.ส.เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ที่กรรมการวินัยของพรรคและกรรมการบริหารพรรคเห็นตรงกันว่า มีการคุกคามทางเพศจริง แต่เสียง ‘ขับออกจากพรรค’ มีไม่ถึง 3 ใน 4 ว่า ประเด็นสำคัญที่ทำให้มติไม่เหมือนกัน คือมีความพยายามป้องกันตัวเอง และมีความพยายามจาก ส.ส.บางส่วนที่ระบุว่า เรื่องดังกล่าวควรให้เป็นกระบวนการภายนอก ควรให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน ในกรณีของไชยามพวานจึงมี ส.ส.จำนวนหนึ่งไม่ได้ลงมติให้ขับออกจากพรรค

“เมื่อวานก็ทำให้เราเห็นว่า เราอาจทำเรื่องนี้ไม่หนักพอ ซึ่งต้องใช้เวลา อดีตมันกดทับมาโดยตลอด การที่จะมาปลดล็อกในระยะเวลาเดียว โดยที่เราคาดหวังกับพรรค เราว่าเข้าใจเรื่องนี้จริงๆ ทุกคน มันอาจจะไม่ได้เป็นแบบที่เราคิดไว้ก็ได้”

ศศินันท์ขยายความว่า เหตุผลที่ที่ประชุมพรรคมีมติแตกต่างกัน คือในกรณีของ ส.ส.ปราจีนบุรีมีการตรวจสอบพบเรื่องการใช้อำนาจอย่างชัดเจน มีการโทรไปข่มขู่แม่ผู้เสียหาย

“ทุกคนมีมติตรงกันว่ามีพฤติกรรม Sexual Harassment ทั้งคู่ รุนแรงทั้งคู่ แต่อัตราโทษต่างกัน อย่างไรก็ตาม มีการพิจารณาว่า ใช้ Power of Abuse ขนาดไหน ซึ่งทุกคนเห็นตรงกันเป็นมติเอกฉันท์ว่า คุกคามทางเพศทั้งคู่ แต่การลงโทษต่างหากที่เสียงแตก ไม่ใช่ว่าไม่มีการคุกคามนะคะ คนที่ยกว่าไม่ขับเขาก็ให้ความเห็นว่า คุกคามเหมือนกัน แต่สัดส่วนของโทษไม่ได้เท่ากัน”

ส่วนจำนวน ส.ส.ที่ไม่ได้เข้ามาลงมติเมื่อวานนี้ ส่วนใหญ่พบว่าติดงานกรรมาธิการที่ไม่สามารถขาดได้จริงๆ ขณะที่อีกส่วนอาจมีเหตุผลส่วนตัว

กระนั้นเอง ศศินันท์ระบุว่า อาจยังทำงานกับความคิดคนในพรรคไม่มากพอ ไม่ว่าจะเรื่องความรุนแรงทางเพศ เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะเรื่อง Sexual Harassment ที่คนในพรรคบางคนยังมองในมุมเก่า มองเป็นเรื่องกฎหมาย และยังมองในลักษณะโทษเหยื่อ

“จริงๆ แจมได้คุยกับผู้เสียหายหลายคน สิ่งที่เขาต้องการ เขาไม่ได้ต้องการสร้างประเด็นให้ใครตายจากโลกนี้ไปหรอก สิ่งที่เขาต้องการพูดตรงกันทุกคน คือคำขอโทษ แค่คำขอโทษ แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่เคยเกิดขึ้น คุณจะขอโทษสังคม ขอโทษเพื่อนสมาชิกพรรค เอาเวลาไปขอโทษคนที่โดนกระทำดีกว่า”

ศศินันท์ยอมรับว่า หาก ส.ส.​เหล่านี้ยังอยู่ต่อ สังคมจะคาดหวังเยอะมาก แล้วจะทำให้งานอื่นเดินต่อไปไม่ได้เลย

“กลายเป็นว่าเราพูดประเด็นอื่น ก็จะถูกกลับมาประเด็นนี้ เรามีประเด็นที่อยากทำเยอะ ยังมีเพื่อน ส.ส.อีกหลายคนที่อยากพูดเรื่องอื่น ประเด็นอื่น เสียงก็จะเบาลงหมดเลย มันขาดความศรัทธาไปแล้ว ขาดความไว้วางใจไปแล้ว เวลาพูดอะไรต่อไป เสียงก็จะเบาลง

“แม้พรรคก้าวไกลเรายื่นเรื่องแก้ไขกฎหมาย ให้นิยามการคุกคามทางเพศให้กว้างขึ้น ทั้งอัตราโทษ การแก้ไขกฎหมาย เรายื่นมาแล้ว มันทำให้สิ่งที่เราขับเคลื่อนอยู่เบาบางลงไป ถ้าขับเคลื่อนตรงนี้ แล้วยังมีใครค้านอีก ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้วนะ”

ในฐานะคนในแวดวงกระบวนการยุติธรรม ศศินันท์ระบุว่า ปัญหาสำคัญของประเด็นการคุกคามทางเพศก็คือกฎหมายไทยไม่ได้ ‘ครอบคลุม’ ขนาดนั้น

“เมื่อวานมีคนพยายามดีเฟนด์ว่า ถ้าไปสู่ศาล คดีพวกนี้ก็ยกฟ้องนะ ก็ใช่ไง เราถึงต้องให้ความเป็นธรรมเขาในที่แห่งนี้ไง ถ้าผู้เสียหายเขาไม่ไว้ใจพรรค เขาคงไม่มาหรอก ถูกไหม”

ส่วนตัวเลข ส.ส. 22 คน ที่โหวต ‘ไม่ขับ’ ไชยามพวานออกจากพรรค ศศินันท์ระบุว่า พรรคตกลงกันว่าจะ ‘ไม่เปิดเผย’ และเป็นสิทธิส่วนตัวของแต่ละคน ทั้งนี้ ทางพรรคเห็นว่า เป็นปัญหาในเรื่องรัฐธรรมนูญมากกว่า ที่ต้องใช้เสียงสูงมากขนาดนั้น และต้องยืนยันว่า เสียงส่วนใหญ่ในพรรคเห็นว่ากรณีของไชยามพวานต้องขับออก

“อยากบอกสังคมว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลกำลังทำ เราไม่อยากบาร์สูงเลย เราเห็นจากหลายพรรคบอกว่า เราจะขยับบาร์สูงไปถึงไหน จะทำตัวเป็นแม่พระ เทวดา อะไรขนาดนั้น แต่ประเด็นนี้ เราแค่จะขยับมาเป็นมาตรฐาน เป็นสแตนดาร์ดทั่วไป ไม่ได้จะยกระดับสูงขนาดนั้น สิ่งที่เราทำคือบาร์ที่เคยต่ำมากๆ ความรับผิดชอบของนักการเมืองที่แต่ก่อนเราดูมา 10-40 ปี ตั้งแต่มีนักการเมืองมา ไม่เคยถูกขยับเลยนะ มันอยู่ต่ำ จะมาบอกว่าเราขยับสูงไม่ได้ เราแค่ขยับจากพื้นให้มีมาตรฐานเอง เราหวังว่ามันจะเขย่าสังคม เขย่า Hierarchy ที่เคยเป็นมาแค่นั้นเอง

“เราต้องยืนหยัดคุณค่าเดียวกันว่า เราจะขยับเรื่องนี้ ไม่ใช่จะขยับเรื่องอื่นอย่างเดียว โดยที่เรื่องนี้ไม่ได้ทำอย่างเต็มที่ เรื่องนี้สำคัญ เพราะจะทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยของผู้หญิงมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในพรรค ในทางการเมือง แต่คือทุกที่ในสังคม เราเชื่อว่าไม่ได้มีแค่การเมืองหรอก มีทุกที่เลย ระบบราชการ เอกชน ทุกที่มีเรื่องพวกนี้หมด ตราบใดที่การเมืองยังยกระดับไม่ได้ มันก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ”

Tags: , ,