หากอ่านประวัติของ ‘หมอมิ้ง’ – นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช จะพบว่าชีวิตของเขา ‘โลดโผน’ ไม่น้อย
หมอมิ้งเป็นลูกคนจีน เรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ สอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตามเส้นทาง ‘เด็กเก่ง’ ทั่วไป แต่เผอิญว่าเติบโตอยู่ในห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของประเทศนี้พอดี เขาจับพลัดจับผลูผ่านทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519
หมอมิ้งเขียนในหนังสือชีวประวัติส่วนตัวว่า หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เขาได้ ‘ตาย’ จากไปแล้ว พร้อมกับเริ่มชีวิตใหม่ในป่า ในฐานะ ‘สหายจรัส’ ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ
หลังออกจากป่า หมอมิ้งกลับมาเรียนแพทย์ต่อ และรับราชการในกระทรวงสาธารณสุข จนรู้สึกว่าหมด ‘ความท้าทาย’ ในชีวิต กระทั่งลาออกไปทำงานเคเบิลทีวี ‘ไอบีซี’ กับนักธุรกิจหนุ่มที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร หลังจากนั้น ชีวิตเขาก็เปลี่ยนไปชนิดกู่ไม่กลับ เมื่อ ‘นาย’ ของเขา ตัดสินใจลงสนามการเมือง และหักมุมเข้าไปอีก เมื่อทักษิณเปลี่ยนสถานะจาก นายกฯ เป็นผู้ต้องหา และกลายเป็นบุคคลที่ถูกจงเกลียดจงชังมากที่สุดคนหนึ่งในสังคมไทย
หลังจากหายหน้าไประยะหนึ่ง ในปี 2564 หมอมิ้งในวัย 67 กลับมา ‘แอ็กทีฟ’ ทางการเมืองอีกครั้ง ในฐานะที่ปรึกษาทีมคิดเพื่อไทย และโครงการ ‘The Change Maker ระดมเด็กรุ่นใหม่เข้ามาร่วมกับพรรคเพื่อคิดนโยบายใหม่ และสร้าง ‘จุดร่วม’ เพื่อยืดอายุของพรรคให้ไม่เป็น ‘พรรคภูธร’ หรือ ‘พรรคทักษิณ’ อีกต่อไป
โครงการ The Change Maker เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับการ ‘รีแบรนด์’ ภาพของทักษิณ ผ่านการเข้าร่วม Clubhouse ในชื่อ Tony Woodsome บอกเล่าประสบการณ์ทั้งความทรงจำว่าด้วยยุครุ่งเรืองของพรรคไทยรักไทย ประสบการณ์การเป็นนักธุรกิจใหญ่ผู้เป็นมิตรกับทุกคน ทุกฝ่าย คอยให้คำปรึกษากับ SMEs หรือการตอบคำถามเรื่อง ‘การต่างประเทศ’ จุดแข็งสำคัญในรัฐบาลทักษิณ เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ซึมซับการเมืองของความหวังภายใต้รัฐบาลทักษิณที่หลายคนอาจเกิดไม่ทันหรือโตไม่ทัน ไม่รับรู้ว่าบรรยากาศขณะนั้นเป็นอย่างไร
ในฐานะคนใกล้ชิดทักษิณ และเป็นคนสำคัญของรัฐบาลทักษิณ ตั้งแต่เป็นผู้ก่อตั้งพรรค เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นรองนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและกลับมาเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในรัฐบาลทักษิณ 2 ก่อนจะถูกรัฐประหาร
The Momentum ชวนหมอมิ้งพูดคุยทั้งเรื่อง ‘ความสำเร็จ’ ของรัฐบาลไทยรักไทย และ ‘ความล้มเหลว’ ของรัฐบาล จนนำไปสู่การยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 พร้อมทั้งบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวในบทบาทผู้นำนักศึกษา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูก ‘ผลัก’ จนไม่มีที่ยืน ต้องเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
บทสนทนาความยาว 2 ชั่วโมง ถูกกลั่นออกมาเป็นตัวหนังสือ ร้อยเรียงทั้งเรื่องที่เขาคิดว่าประสบความสำเร็จ และเรื่องที่เขาคิดว่า ‘ผิดพลาด’ พร้อมชวนถอดบทเรียนว่าชีวิตที่ผ่านมา ทั้งในหมวกของผู้นำนักศึกษา และในหมวกของ ‘นักการเมือง’ มีบทเรียนอะไรที่ต้องเรียนรู้บ้าง
ตอนที่เริ่มทำนโยบายพรรคไทยรักไทย คุณมองเห็นอะไร และใช้กระบวนการอย่างไรบ้าง
เราใช้วิทยาศาสตร์ในการระดมสมอง สำรวจมวลชน เราตั้งพรรคเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ขณะนั้นเราก็รอแทบแย่แล้วนะ เมื่อไรจะมีการเลือกตั้งเสียที ก็ระดมสมองว่าต้องใช้ระยะเวลา 2 ปี เพราะกว่าจะได้เลือกตั้งจริงก็วันที่ 6 มกราคม 2544 ฉะนั้น พรรคไทยรักไทยจึงมีเวลาในการทำนโยบายนานหน่อย
เราเปิดตัวครั้งแรกที่กรุงเทพฯ หวือหวามาก เพราะตอนนั้นท่านทักษิณเป็นมหาเศรษฐีที่เกิดจากความสำเร็จในเรื่องใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ รุ่นผมนี่ก่อนหน้านี้จะไปไหนต้องหิ้วเป็นกระติกน้ำ แต่ท่านทักษิณเป็นเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์เอง ปัจจุบันก็คือ AIS ท่านเอาชินคอร์ปเข้าตลาดได้ตั้งแต่อายุประมาณ 40 เพราะฉะนั้น ถือว่าท่านประสบความสำเร็จมากแล้ว เลยเดินก้าวเข้าสู่การเมือง
แล้วบุคคลที่เชิญเข้าร่วมก็หน้าใหม่ๆ นักวิชาการที่มีชื่อเสียง หน้าใสๆ น่าเชื่อถือ และมีความคิด ทุกอย่างคิดเป็นระบบ ระหว่างทำนโยบายเราก็เดินสายกันทั่วประเทศ ผมเคยตามท่าน ท่านก็เป็นคนธรรมดา ง่ายๆ ชาวบ้านเลี้ยงข้าวธรรมดา ท่านก็ไปคุย เดินดู เอาข้าวเหนียวจิ้ม แต่พอท่านไปคุยกับพ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ ท่านก็คุยได้หมด รับฟังหมด เพราะฉะนั้น นโยบายของไทยรักไทยเกิดจากของจริง ประชาชนจริง และเป็นวิทยาศาสตร์
แต่ละนโยบายของพรรคไทยรักไทย มีการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละนโยบายอย่างไรบ้าง
เราสำรวจว่าปัญหาทั้งหมด 10 กว่าปัญหา ประชาชนให้ความสำคัญอยู่ 3 ปัญหา คือปัญหาเรื่องของความยากจน ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหายาเสพติด ซึ่งแต่ก่อนผมก็ไม่เชื่อ ตอนนั้นยาบ้าเริ่มระบาดแล้ว แต่มาเป็นอันดับ 2 เลย เพราะว่าเข้าถึงในระดับหมู่บ้านด้วย ส่วนปัญหาที่ 3 คือปัญหาการคอร์รัปชัน แล้วปัญหาที่ 4 5 6 7 ก็เป็นเรื่องการศึกษา สาธารณสุข
เพราะฉะนั้น ไทยรักไทยจึงคัดออกมา 3 นโยบาย ประกาศ 3 สงคราม คือ สงครามกับความยากจน สงครามกับยาเสพติด และสงครามกับคอร์รัปชัน อย่างไรก็ตาม เวลาที่ไปหาเสียง เรารู้ปัญหาทุกเรื่อง อีกส่วนหนึ่งก็ระดมนักการเมืองเข้ามาร่วมกัน ท่านประเสริฐ จันทรรวงทอง ที่วันนี้เป็นเลขาธิการพรรค รอบแรกเข้ามาเป็น ส.ส. หน้าใหม่ เราก็รับหน้าใหม่มาเต็มไปหมด คนก็ไม่เชื่อ วันนั้นเราดูโพลแล้วปรากฏว่า เราได้เป็นรัฐบาลแน่ๆ เชื่อไหมครับ จากโพล เราพลาดประมาณ 5 เท่านั้นเอง ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทย ได้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 248 คน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เสียงสูงขนาดนี้ เกือบจะตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยสูตรสันติภาพก็ต้องมีคนอื่นด้วย
ผมจำได้ เรื่องแรกที่เราต้องทำคือทำเวิร์กช็อปรับฟังความคิดเห็น ท่านทักษิณไปที่ชะอำ แต่งตัวสบายๆ ใส่รองเท้าผ้าใบ ถุงเท้าอาจจะไม่ใส่ด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เรียกข้าราชการไป ใส่เสื้อเชิ้ต ประชุมกันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้สมองโปร่ง สไตล์เอกชน แล้วเอากลุ่มต่างๆ มาเป็นตัวแทน ตัวแทนประชาชน ตัวแทนพ่อค้า ข้าราชการ ธนาคาร แบงก์ชาติ มานั่งถกกัน แล้วก็จิ้มให้พูดเลยว่า “ปัญหาของคุณคืออะไร”
อย่าง ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ปัญหาสาธารณสุข ก่อนเลือกตั้งนั้น ทุกคนรวมทั้ง ส.ส. เราเอง พรรคเราเอง ไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้จริง แต่ผมกับคุณหมอสุรพงษ์ (นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีช่วยว่าการสาธารณสุข หนึ่งในคณะทำงานเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค) รู้ว่าทำได้ ท่านก็เรียกทีม คุณหมอสุรพงษ์ ก็เรียกคุณหมอสงวน (นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ต้นคิดของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค) ผมเองก็เคยเป็นลูกน้องคุณหมอสงวนมาก่อน หมอสุรพงษ์บอกว่าอยากทำแบบนี้ นโยบายของเราทุกตัวคิดทะลุไปว่าทำได้อย่างไร ปมสำคัญคือ มีอะไรที่เราต้องเอามาเกี่ยวข้อง มีงบประมาณอยู่ที่ไหน เท่าไหน ถึงพอจะทำได้ อาจจะไม่ได้ชัด 100% นะ แต่แนวทางเห็นแล้ว
เรามองเห็นว่างบประมาณของแผ่นดินส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายอยู่ในภาครัฐ เพราะประชาชนทั้งประเทศใช้โรงพยาบาลอำเภอ ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอ หมอสุรพงษ์ก็เคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล หมอสงวนก็ใช่ ทุกคนสัมผัสของจริงหมด เราก็รู้ว่าปัญหาค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นของภาครัฐ ค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการรักษาวันนั้นอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท เดิม ใครขอเก่ง ใครวิ่งเก่ง ก็ได้งบประมาณแย่งกันเพื่อไปเอางบ ไม่ใช่แย่งกันเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว แต่แย่งกัน เพื่อเอางบประมาณไปบริหารให้กับประชาชนของตัวเอง
วิธีคิดของเรากลับใหม่เลย 7 หมื่นล้าน ผมหารตามจำนวนประชากร จากเดิมหมอจะต้องมากระจุกอยู่แถวๆ ใกล้ๆ กรุงเทพ กระจุกเต็มไปหมด ในเมืองไม่มีทางขาดแคลนหมอ แต่หมอบ้านนอกขาดแคลนมาก เราก็เลยคิดแบบกลับข้าง ประชากรคุณแค่นี้ก็เอาไปแค่นี้ต่อหัว แล้วไปบริหารกันเอง อย่างผมเคยอยู่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ประชากร 5.8 หมื่นคน มีหมอเต็มอัตรา 2 คน แปลว่าหมอ 1 คน ดูแลคนไข้ 3 หมื่นคน วันหนึ่งดูผู้ป่วยนอก 200 กว่าคน แล้วอัดมาช่วงเช้า เพราะตอนบ่ายต้องนั่งรถกลับบ้าน
ทั้งหมดนี้เราก็รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน แต่พอกลับข้าง เอาเงินมาให้ สมมติประชากรเยอะ ก็ได้เงินตามหัวประชากร แทนที่มีหมอ 2 คน ก็มีได้ 6 คน โรงพยาบาลผมก็เข้มแข็งขึ้น นี่เป็นการปฏิวัติรูปแบบใหม่ทั้งหมด
แต่จนถึงวันนี้ก็ยังสู้กันไม่จบนะ เพราะมันจะมีคนดึงถอยอยู่ตลอดเวลา ถ้าคุณดูนายกฯ ตู่ นี่ก็ไปอีกฝั่งหนึ่ง แล้วก็มั่วไปหมด ตอนแรกยังด่าว่าโครงการนี้ทำให้โรงพยาบาลเจ๊ง เจ๊งอะไร ประชาชนดีขึ้นต่างหาก
อีกเรื่องคือปัญหาการเงิน เกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้อยู่ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพราะว่าเขาไปขอแบงก์ แบงก์ไม่ให้หรอกครับ ธกส. นี่เขาตั้งขึ้นเพื่อดูแลคนยากจนโดยตรง แล้วมูลหนี้ของเกษตรกรเป็นหลักแสนบาทเท่านั้นนะ ไม่ต้องเป็นล้านเลย เพราะฉะนั้น ฐานข้อมูลต่างๆ ก็อยู่ที่ ธกส. ปรากฏว่า พอเราฟังเสียงผู้นำเกษตรกรว่ามีหนี้มาก คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ (รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ในสมัยนั้น) ก็มาเสนอ เดินมาที่พรรคไทยรักไทย เขาเขียนมา 10 กว่าข้อ จนได้ข้อสรุปว่าต้องพักหนี้เกษตรกร ผมถามทำไมต้องพัก เขาก็บอกว่า “เฮ้ย ต้องเข้าใจสิ เกษตรกรนี่กว่าจะปลูก คิดดูสิ ปลูกต้นมะม่วงต้นหนึ่งกว่าลูกมันจะออกมันเมื่อไหร่ มันมีช่วงเวลา มันไม่ใช่วิธีคิดเดียวกับธนาคาร ธนาคารทั้งหมดมันเป็นพาณิชย์ มันคิดจากระบบทุนนิยม”
สรุปก็กลายเป็นโครงการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี คือไอเดียคุณประพัฒน์ชัดมาก คีย์เวิร์ดบอกว่า เกษตรกรบางทีต้องเสียที่นา เสียลูกสาว ก็ต้องขาย ตรงนี้มันเซนซิทีฟกับผมมาก ถามว่าแล้วเอาเงินไปตรงไหน การพักหนี้ทำให้เขาไม่ต้องจ่ายหนี้ใช่ไหม
เราก็เสนอว่า เอาอย่างนี้ เงินต้นยังอยู่เหมือนเดิม ส่วนหนี้สินรัฐบาลรับผิดชอบดอกเบี้ยให้ แล้วคุณไม่ต้องจ่าย 3 ปี แต่หนี้ยังอยู่นะ พักหนี้แต่มันต้องมีคนรับผิดชอบ คือเราเข้าใจธุรกิจ ธนาคารธกส. ก็ต้องมีเงินมา แล้วต้นทุนของการเงิน แบงก์ก็ต้องไปกู้เงินเขามา เพราะฉะนั้น รัฐจะรับผิดชอบตรงนี้ให้ คำนวณแล้วก็พบว่า ในขณะนั้นธนาคารมีหนี้ส่วนที่เป็น NPL (Non-performing Loan) หรือหนี้เน่าไม่สามารถคืนมากกว่า 40-45% ของระบบ
คุณประพัฒน์มาขายผมว่า ให้ลองไปดู NPL ภาคเกษตร ธกส. ซึ่งต่ำกว่า 10% ภาคธุรกิจอาจอยู่ที่ 40% แต่เกษตรกร NPL น้อยมาก ปรากฏว่ารัฐบาลเราใช้เงิน 6,000 ล้านบาท ในการพักหนี้เกษตรกร ดูแลเกษตรกรเป็นล้านคน ล้านครอบครัว ตอนแรกเราดูแลที่หนี้ 1 แสนบาท แต่ตอนหลังเงินเหลือ เราขยับมูลหนี้ให้ขึ้นไปได้ถึงครัวเรือนละ 2 แสนบาท ทำให้เกษตรกรลืมหนี้ไปได้ระยะหนึ่ง มีเวลาหายใจ ไม่ต้องมานั่งห่วงเรื่องหนี้ เพราะรัฐบาลช่วยเขาแล้ว แต่ไม่ได้ช่วยให้เขาหนีหนี้นะ หนี้คุณยังอยู่ แต่รับผิดชอบจ่ายดอกเบี้ยให้คุณ พอคุณฟื้นตัวเองแล้วก็เดินต่อได้ ถ้าเกษตรกรแข็งแรงเมื่อไหร่ ค่อยเอาเงินมาใช้หนี้ ดังนั้น นโยบายนี้ถูกใจคนยากจน ไม่ต้องมานั่งร้องไห้ เข้าคิวกดแอพฯ บ้าๆ บอๆ อย่างกับชิงโชค
จุดเด่นอีกอย่างของรัฐบาลไทยรักไทยน่าจะเป็นเรื่องนโยบายต่างประเทศ
ในยุคไทยรักไทย สิ่งที่ชัดเจนคือการต่างประเทศเพื่อเศรษฐกิจ แต่ก่อนนี้การต่างประเทศคือเพื่อความมั่นคง และก็เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่แนวคิดของเราคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะไม่มีความหมาย ถ้าคุณไม่สามารถขายของได้ เราก็แปลบทบาทใส่หัวทูตของเราไปเลยว่า ต่อไปนี้คือการต่างประเทศเพื่อเศรษฐกิจ ช่วงแรกที่เราเป็นหนี้ IMF เพื่อนบ้านที่ดีที่สุดคืออาเซียน อาเซียนมีทั้งหมดประมาณ 500 ล้านคน ก็ถือว่าเอาเพื่อนบ้านเป็นหลัก เวลาที่ไปคุยให้คนอื่นฟังนอกอาเซียน เราบอกได้เลยว่าเราเป็นตัวแทนอาเซียน
ณ วันนั้น พอเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง คนที่โดดเด่นที่สุดของทางภูมิภาคนี้ในอาเซียนมี 2 คน หนึ่งคือ มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) เขาเป็นรัฐบาลมาแล้ว 22 ปี รอบใหม่นี้อายุ 90 กว่ายังกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี มหาเธร์เป็นคนที่การศึกษาดี แล้วก็สู้กับฝรั่ง จึงโดดเด่นมากในภูมิภาคนี้ แล้วในที่สุดก็แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ อีกประเทศหนึ่งก็คือสิงคโปร์ สิงคโปร์ไม่สนใจอาเซียน แฝงตัวกับกลุ่มประเทศคนรวย คือเป็น G7 แต่สนใจค้าขาย สำหรับประเทศไทยเรามีครบทุกอย่าง มีทรัพยากร มีแผ่นดิน มีประชากรพอสมควร ท่านทักษิณเป็นนายกฯ ใหม่ ผู้นำใหม่ ก็ต้องสร้างความสำคัญกับอาเซียน
เพราะฉะนั้น ในทริปแรกที่ออกต่างประเทศท่านยึดถือเลยว่าท่านเคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมาก่อน แล้วท่านก็รู้เลยว่าวันนี้โลกคือตลาด เราก็ไปคุยกับเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน แล้วในทริปเดียวกัน ก็ไปหามหาเธร์ด้วย เพื่อให้รู้ว่าเราเป็นพวก ‘นักสู้’ หลังจากนั้นก็ไปนอกอาเซียน ไปหาคนที่มีบุญคุณกับเรามากคือญี่ปุ่น เพราะในสภาพที่ประเทศไทยเกือบล้มละลาย ญี่ปุ่นให้เงินเรายืม 3,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้น เราก็ไปหานายกฯ จุนอิจิโร โคอิสุมิ ที่หัวฟูๆ
ตอนที่เราไป ญี่ปุ่นยังเป็นเจ้าหนี้เราอยู่ เราไม่ได้ไปบอกขอให้เขายกหนี้ แต่เราบอกว่ามาเจรจาค้าขายกัน เปิด Free Trade Agreement (FTA) เพราะทิศทางใหญ่คือโลกกำลังจะไปทางโลกาภิวัฒน์ ท่านก็บอกเลยว่า ญี่ปุ่นอยู่กับเราช้านานตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนาน แล้วยังลงทุนกับประเทศไทยมากกว่า 1 ใน 3 วิธีเจรจาคือ เราหาก่อนว่าอะไรตกลงกันง่ายๆ คุยกันง่ายๆ ก็คุยกันเลย ทำเลย เรื่องที่มีปัญหาซุกไว้ก่อน เอาไว้ก่อน เจรจาในส่วนที่ตรงกลางที่พอพูดคุยได้ ก็ค่อยๆ ทำ และเสร็จในช่วงปลายสมัยของท่านนายกฯ ทักษิณพอดี
อีกส่วนก็คือจีน จีนเป็นประเทศที่มีบุญคุณ แล้วก็เป็นประเทศใหญ่ ณ วันนั้นเขายังไม่ได้แข็งแรงเท่าวันนี้ แต่เริ่มจะแข็งแรงแล้ว พอเขาเริ่มเห็นเรา เราก็ติดต่อเข้าไปคุยด้วยเป็นปี บอกว่าขอเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ Strategic Partner เข้าไปคุยด้วยความเป็นมิตร เคารพซึ่งกันและกัน แต่ก็เป็นมิตรทางยุทธศาสตร์ สุดท้ายก็ขยับต่อ พอเราเข้าใกล้ชิดจีน อเมริกาจะหมั่นไส้ ยุโรปก็ไม่สนใจเรา ห่างไปหน่อย วันนั้นเราไปปรากฏในสายตาเขา เพราะฉะนั้นเราก็เดินอย่างนี้ เมื่อเข้าหาประเทศใหญ่ๆ ได้ ก็เริ่มโด่งดังมากในอาเซียน
นอกจากนี้เรายังฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันมา 10 ปี ซึ่งก็คือรัสเซีย แล้วเวลาท่านเดินเรื่องต่างประเทศ ท่านละลายความรู้สึกที่มันต้อง ‘เป็นทางการ’ ทุกอย่าง ท่านบอกเลยว่าต้องใช้ความเป็นมนุษย์ อย่างปูติน (วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย) ยังเคยขับรถให้ท่านแบบตัวต่อตัว นัดเจอกันที่บ้านพักท่าน พอกินข้าวกันเสร็จ ปูตินก็ให้พวกคณะรักษาความปลอดภัยนั่งรอในบ้าน แล้วปรากฏว่าสักพักปูตินขับรถมารับท่านเองเลย
อีกหนหนึ่ง ผมเคยตามท่านไปกับโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ท่านก็นั่งคุยกับนายกฯ แบลร์ หน้าเตาผิง ท่านก็ชวนคำแรกเลยว่า “คุณแบลร์มาฮันนีมูนครั้งที่สองที่เชียงใหม่สิ” เชียงใหม่เป็นบ้านเกิดผม ปรากฏว่าหลังจากนั้นแบลร์ก็มาจริง แล้วทุกวันนี้กับอดีตผู้นำพวกนี้ก็ยังมีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีด้วยกันหมด
เพราะฉะนั้น ในด้านการต่างประเทศ ทูตก็กลายเป็นทูตซีอีโอ นอกจากเรื่องความสัมพันธ์แล้ว ยังให้ช่วยทำมาค้าขายกันอย่างยุติธรรมหลายเรื่อง เราขยายตลาดได้มาก ในช่วงนั้นเราบุกเบิกตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกาใต้ หรือเราไปบราซิล ซึ่งบราซิลผลิตอ้อยและเอทานอลเยอะ แทนที่จะเป็นน้ำตาลก็เปลี่ยนเป็นเอทานอล เราก็ใช้วิธีแบบบราซิลช่วยเกษตรกรเรา นำอ้อยไปทำเป็นเอทานอลบ้าง นี่คือวิธีการเปิดหูเปิดตา เรียนรู้ข้อเด่นของแต่ละประเทศมาใช้ในไทย
ฟังดูทั้งหมดเหมือนมีแต่เรื่องดี แล้วอะไรที่เป็นจุดอ่อนของพรรคไทยรักไทย อะไรที่ทำให้ความเป็นไทยรักไทยไม่จีรังยั่งยืนถึงวันนี้
เรามีคนที่โวยวาย พูดแทนประชาชน พอเราเริ่มเด่นมาก การเลือกตั้งครั้งแรกเราได้ 248 คะแนน การเลือกตั้งครั้งที่สอง ในรัฐธรรมนูญ 2540 เราได้ 376 คะแนนจาก 500 คะแนน ตอนนั้นมีสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทยได้เข้าไป 376 คะแนน แปลว่าเกินกว่าครึ่ง เกินกว่าครึ่งหนึ่งของ 700 ไม่ต้องพูดถึงเลย
แต่มีคนที่เขาอยู่ในอำนาจ หรือว่าคนที่เคยอยู่กับอำนาจนานๆ เขารู้สึกว่าเราเป็นอุปสรรคกับเขา คนที่เป็นข้าราชการที่เคยเป็นนายของประชาชนก็รู้สึกว่าทำไมประชาชนชักเป็นใหญ่แล้ว ก็เริ่มดิสเครดิตเรื่อยๆ เริ่มโวยวาย พูดแทนประชาชน จัดม็อบไปเรื่อย นโยบายอะไรก็ค้านไว้ก่อน
วันนั้นผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เราก็บอกว่าต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อระดมทุน ระดมทุนเพื่อให้ระบบมันโปร่งใส ตรวจสอบได้มากขึ้น แต่ถ้ารัฐวิสาหกิจเขารู้กันเอง กินกันเอง หลายๆ ที่ก็กินกันหมด ตัวอย่างที่ทำให้เติบโตมากคือ ปตท. เราเอา ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ ณ วันนั้น คือแปรจากรูปรัฐวิสาหกิจเข้ามา ไม่ใช่แค่นั้นนะ ธนาคารก็ด้วย ตอนหลังธนาคารกรุงไทยหรือแม้กระทั่งการบินไทย ทั้งหมดอยู่ในตลาดหลักทรัพย์หมด เพราะฉะนั้น ผมกำลังจะเปลี่ยนเป้าหมายอีกอัน เปลี่ยนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงาน เป็น Energy Hub
ก็เลยมีนโยบายที่จะแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตให้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ให้เป็น Asean Energy Hub Vision เพื่อให้สามารถระดมทุนเป็นที่จ่ายไฟทั่วอาเซียน พูดง่ายๆ ว่าเราสามารถเชื่อมต่อระหว่างอาเซียน ทะเลเราก็มีท่อก๊าซ บนบกเราก็มีสายไฟฟ้า เพราะฉะนั้นเราเป็นศูนย์กลาง ศูนย์กลางที่สุดของอาเซียนจะเป็นประเทศไทย
สุดท้ายเขาถล่มเลย เอาม็อบมาบอกว่านี่จะเป็นปัญหา เอาทรัพย์สินของชาติมาให้เอกชน ใช่ที่ไหน คนถือหุ้นใหญ่เป็นคนกำหนดในเกมนี้ ขณะเดียวกัน เมื่ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ บัญชีต้องเปิดเผยทุกเวลา และต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบเปิดเผยประชาชนทุก 3 เดือน แทนที่เป็นแบบทุกปี สิ่งที่คุณไปซุกกันไว้ กลบกันไว้ สุดท้ายก็ถล่ม แต่ล้มเราไม่ลง ก็เลยเอาปืนจี้แทน
รู้ตัวไหมว่าสุดท้ายเราจะโดนอะไรอย่างนี้
รู้ คาดการณ์ได้บ้าง แต่เราคิดว่าคงไม่ทำ มันล้าสมัยมากเลยนะ คือผมก็คิดว่า พ.ศ. 2535 เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว เรายันกันอยู่พักหนึ่ง สุดท้ายเกมนี้มันหลีกไม่พ้น ก็ดูสิการตัดสินใจนี้ต้องใช้ต้นทุนทั้งหมด ถ้าใช้หมดประเทศจะพัง แต่เขาก็ใช้
พอสุดท้าย End Game ผมรู้สึกว่าเกมโอเวอร์แล้ว มันเหมือนกับว่า นี่ไม่ใช่เกมประชาธิปไตย เหมือนกับว่าผมทำทีมฟุตบอล ผมก็ฝึกแล้วผมก็มีความสามารถ แต่สุดท้าย เขาก็เอาปืนยิงนักฟุตบอลมือเปล่าเสียเลย ซึ่งผมก็ไม่เอาแล้ว นักกีฬาที่เล่นเกมนี้เขาไม่เล่นกัน
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ตอนที่เป็นช่วงที่เป็นรัฐบาล จะแก้อะไรเพื่อให้เราอยู่ได้นานกว่านี้
ขยายความนิดหนึ่ง คุณลองนึกดูสิครับ วันนี้ หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด ปี 2557 คุณสังเกตไหม คนส่วนหนึ่งที่เคยร่วมรัฐประหาร เข้าร่วมกับ กปปส. ไปร่วมเดินขบวนกับสุเทพก็ถอยกลับมาแล้ว ไม่เอารัฐบาลนี้ นี่คือเหตุผลที่คล้ายๆ กัน ที่เรียก ‘ตาสว่าง’ ไง
หรือในปี 2549 คนที่เคยเป็นสีเหลือง ที่เคยชุมนุมหลายคนก็ย้ายกลับมาเป็นสีแดง หมอเหวง อาจารย์ยิ้ม (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ทุกคนเคยอยู่สีเหลืองหมด สุดท้ายก็แดงแจ๋เลย หลายคนก็ยอมรับเลยว่าตอนนั้นนึกว่ากำลังต่อต้านเผด็จการ แล้วเขาปั้นคำใหม่ เรียกว่า ‘เผด็จการรัฐสภา’ รัฐสภามันเป็นเผด็จการได้ยังไง แล้วคนถือปืนเป็นเผด็จการไหม
แล้ววาทกรรมแบบนี้ เกษียร เตชะพีระ ซึ่งก็เป็นเพื่อนกับผม เป็นคนบัญญัติคำว่า ‘ระบอบทักษิณ’ วันนี้เกษียรก็เปลี่ยนฝั่ง ถ้าระบอบทักษิณคือที่เราเล่ามาทั้งหมด มันเป็นเรื่องดีทั้งนั้น แต่เขาก็ทำให้มันกลายเป็นอีกเรื่องไป
ในช่วงท้ายๆ ของรัฐบาลคุณทักษิณมีคนพูดเรื่องคอร์รัปชัน เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน คุณจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร
เอาเรื่องไหนล่ะ จะเล่าให้ฟัง รู้ไหมตอนที่เขาล้มเพราะอะไร ขายหุ้นชินคอร์ป ข้อกล่าวหาที่สำคัญที่สุดที่ตอนนั้นมีปัญหาก็คือขายหุ้นตัวนี้ แล้วเนื่องจากมันมีสัมปทานที่เกี่ยวข้อง เพราะสัมปทานเอไอเอส บริษัทชินคอร์ปก็คือเจ้าของถือหุ้น บริษัทเอไอเอสถือหุ้นบริษัทไทยคม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสัมปทานรัฐทั้งสิ้น
เมื่อมีสัมปทานก็จะมีคนกล่าวหาว่าท่านทักษิณไปชี้นำให้ได้สัมปทาน ได้ประโยชน์จากภาครัฐ วิธีเคลียร์ที่ง่ายที่สุดคือคุณต้องสะอาด ก็ขายทิ้งสิ แล้วขายคนทั่วไปใครจะมีปัญญา เขารวยเกือบจะอันดับต้นๆ ของประเทศ แล้วทำธุรกิจอย่างนี้ถ้าไปซื้อแล้วทำไม่เป็นก็พัง เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นคนต่างประเทศมาซื้อ มี 2 ประเทศมาซื้อ 3 เจ้า ก็ติดต่อกันว่าจะซื้อขายกันอย่างไร แล้ววิธีการก็ทำถูกต้องทั้งหมดตามกระบวนการทางกฎหมาย เพราะตั้งแต่ปี 2518 ที่ตั้งตลาดหลักทรัพย์มา เขาบอกว่าไม่มี capital gain tax คือการซื้อขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษี เพราะไม่เช่นนั้นก็ยุ่งใช่ไหม เพราะซื้อไปเดี๋ยวราคาก็ตกแล้ว ถ้าเสียภาษีก็แย่กันพอดี
ฉะนั้น ตรงนี้เขาก็เว้นให้ ล็อตที่เขาซื้อขายกันก็มีการซื้อขายกันในตลาดทั้งสิ้น มีคนเสนอก็มีคนรับ เขาซื้อขายกันในตลาดก็ทำตามกฎหมายทุกอย่าง แต่ถึงเวลากลับบอกว่าต้องเสียภาษี แล้วจะเสียภาษียังไง พลิกกฎหมายตั้งนานก็ไม่มี แล้วก็หาว่าโกงภาษี
พอจัดการให้มีการซื้อขายกันเสร็จ คุณดันบอกว่านี่ไม่ถูกกฎหมาย มีอะไรบางอย่างแน่ๆ เพราะว่า 376 เสียงนี่แหละ ตัวคุณมีทั้งเงิน มีทั้งอำนาจ เพราะฉะนั้น Popularity is a threat (ความนิยมอย่างสูงได้กลายเป็นภัยคุกคาม)
แล้วทำไมวันนี้ พรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนสูงสุดจากการเลือกตั้งถึงไม่ได้เป็นรัฐบาล
นี่คือกระบวนการของที่วิธีคิดที่ประสบความสำเร็จตลอดมา นี่คือคำตอบของคำถามว่า Why we steal the most popular เราไม่เคยแพ้การเลือกตั้งเลยนะ ไม่ว่าคุณจะใช้การรัฐประหาร จะบิดกติกาอย่างไรก็ยังชนะอยู่ดีแม้กระทั่งครั้งนี้ แต่ครั้งนี้มันถูกเขียนว่า ต่อให้ชนะเลือกตั้ง ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดก็ไม่ได้เป็นนายกฯ ไม่ได้เป็นรัฐบาล เพราะเสียงทั้งหมด 500 คุณจองไป 250 แล้ว
ตอนนี้ก็คือคุณเอา ส.ว. มารวมเลย ผมได้คะแนนสูงสุดในสภา พรรคเพื่อไทยได้ 137 รวมกับพรรคธนาธรต่างๆ ก็เกินครึ่ง แต่พอต้องสู้กับ 250 ที่คุณอยู่ในมือคุณ วันนั้นเราได้ 250 กว่าแล้วนะ แต่คุณเอา 250 มากลบจากพวกของคุณที่เหลือ มันจะชนะได้อย่างไร รัฐธรรมนูญเขียนกำกับไว้ว่า พรรคเพื่อไทยต้องเป็นฝ่ายค้าน ถูกขังเป็น ส.ส. ฝ่ายค้าน แสดงบทบาทได้เป็นแต่เรื่องของนิติบัญญัติ และตรวจสอบรัฐบาล
ถามแทนคนที่เลือกพรรคพลังประชาชน เลือกพรรคเพื่อไทยมา สุดท้าย กลายเป็นว่าพรรคที่เขาเลือก โดนปฏิวัติทุกรอบเลย มีคนวิจารณ์ว่าเพราะว่าเพื่อไทยเอาใจอำนาจเก่ามากเกินไปไหม ถึงได้แพ้ทุกรอบ ถึงโดนแบบนี้ทุกที
อำนาจที่เขามี เขามีอะไร เขามีปืน ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราจะยึดกุมอำนาจที่มีปืนได้ ซึ่งตอนเป็นรัฐบาลเราก็เกือบนะ แต่ในที่สุดก็ไม่ใช่ฝั่งเรา มันมีอำนาจอื่นพ่วงเข้ามาที่ทำให้เขาได้
มองเห็นอะไรในการเมืองตอนนี้ ถึงได้อยู่ในกลุ่มแคร์ และกำลังทำอะไรอยู่บ้าง
วันนี้แค่ในนามของกลุ่ม CARE จริงๆ ก็คือ Non-Partisan คือไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง เพราะฉะนั้น เราจะเปิดกว้างในการระดมความคิดเห็น อย่างคุณศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ซึ่งปกติเอกชนจะไม่ยุ่งกับการเมือง ท่านก็สามารถมาเสนอความคิดอย่างนี้ คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค สื่อมวลชนหลายคนก็เข้ามา แม้กระทั่งคุณฐากูร บุนปาน เราก็บอกว่า “โต้ง ขอชื่อมานะ” โต้งบอก “พี่เอาเลย” พอเราเปิดเป็นแคร์ คือ ‘คิดเคลื่อนไทย’ ก็รวมคนเข้ามา ช่วยกันคิด แล้วก็เคลื่อนไปด้วยกัน
ยกตัวอย่างเช่น วิธีแก้ปัญหา SMEs ในที่สุด ถ้าอุ้มสถานะอย่างนี้ รัฐก็ต้องเข้ามารับความเสี่ยงด้วย ไม่ใช่คุณปล่อยเงินกู้ แล้ววันนี้เงินไม่ออก คุณมีเงินอัดฉีดเข้าไปให้พวกธนาคารไปปล่อยกู้แต่ก็ปล่อยไม่ออก เพราะวิธีการปล่อยกู้ใช้วิธีการในช่วงเวลาปกติมาใช้แก้ปัญหาวิกฤต ซึ่งก็แก้ไม่ได้
เพราะฉะนั้น ก็ต้องให้ผู้ประกอบการมีเงินกู้ แต่เงินกู้ก็ต้องใช้เพื่อประทังคนไว้ ไม่ให้ปลดคน แล้วก็ปรับตัว โยกย้ายกัน สมมติว่าจะต้องให้คนออกก็ต้องมีเงินชดเชย ไม่ใช่ไปซี้ซั้วลากเงินของประกันสังคม ซึ่งไม่ใช่เงินของรัฐเลยนะ แล้วบอกว่านี่มาชดเชย นายจ้างก็อยู่ ลูกจ้างก็อยู่ แต่ถึงเวลาบอกเอาเงินนี้มาชดเชย ซึ่งมันตลกมากๆ
ง่ายที่สุด รัฐต้องเอาเงินก้อนนั้นใส่เข้าไป แล้วก็ช่วยผู้ประกอบการในการพยุงระบบได้ ให้เวลาผู้ประกอบการเขาคิดในการปรับตัว แล้วรัฐก็ช่วยรับผิดชอบหนี้ แทนที่จะเอาเงินมาแจกอย่างเดียว พอไปอีกระยะหนึ่ง หาก SMEs ไม่ไหวจะไปไม่รอด รัฐก็ต้องลงมาช่วยถือหุ้น ถ้ามองแล้วว่า SMEs มีอนาคต เพราะฉะนั้นต้องช่วยทำให้เขาปรับตัวได้ในช่วงเวลานี้ เจ๊งก็ไม่เป็นไร เจ๊งก็คือรัฐรับผิดชอบ
แล้วคุณมองเห็นอะไรในโครงการ The Change Maker ถึงกลับเข้ามาช่วย
พรรคเพื่อไทยดำริว่าจะกลับมาในจังหวะนี้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลือกบทให้เล่นเฉพาะฝ่ายค้านแม้กระทั่งคุณได้รับความนิยมยังสูงสุดอยู่
เราก็มีแนวคิดว่า เมื่อมีความนิยมสูงสุดก็คือต้องเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหารก็ต้องมีนโยบาย แล้วก็มีสิทธิ์ในการบริหาร เราก็แหวกกรอบ พรรคเพื่อไทยก็ขอระดมความคิดเข้ามาอีก ถ้าคุณมีความคิดก็คิดเลย เราเปิดโอกาส ไม่ใช่ถูกจำกัดเฉพาะแต่เรื่องฝ่ายตรวจสอบ เพราะฝ่ายตรวจสอบต้องรอให้ผิดไปแล้วถึงจะมาเห็น แต่โครงการ The Change Maker คือ คิดแล้วก็ทำ อะไรทำได้ก็ทำ
ยกตัวอย่างเช่น เราเสนอนโยบาย ‘Covid Safe Food’ แปลความว่า วันนี้โลกทั้งโลกเจอวิกฤตโควิด-19 โควิดอาจจะทำให้เดินทางไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือคนยังต้องกินต้องอยู่ อาหารก็จะเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าออกนอกบ้านไม่ได้ก็ต้องกินอาหารสำเร็จรูปใช่ไหม อีกด้านหนึ่ง ประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม พื้นที่เกษตรคิดเป็น 60% ของประเทศ แต่ GDP จากภาคเกษตร คิดเป็น 8% เท่านั้น คำถามก็คือเกษตรกรติดอะไร เพราะเป็นกรรมของเขา หรือเพราะการจัดการต่างๆ อาจไม่ดีพอ
เราจึงเสนอว่า ถ้าทั้งกระบวนการเราใช้เทคโนโลยีล่ะ เทคโนโลยีที่ 1 คือเทคโนโลยีในการถนอมอาหาร อาหารสำเร็จรูป เขาใช้เทคโนโลยีเยือกแข็ง -30 องซาเซลเซียส ดึงน้ำออกจากตัวโมเลกุลทั้งหมด ถึงเวลาจริงๆ เอามานึ่งก็กลับเป็นอาหาร
อีกเรื่องคือค่าขนส่ง โลจิสติกส์ของประเทศไทยสูงที่สุดเพราะผลิตภัณฑ์เรา กว่าจะขนส่งได้ก็เน่าทิ้งไปแล้วส่วนหนึ่ง ระหว่างขนส่งก็เน่าอีก ที่สำคัญคือพืชผลเกษตรเหล่านี้ชิ้นใหญ่ ไม่เหมือนไอโฟนซึ่งชิ้นนิดเดียว เพราะฉะนั้นถ้าเอาไปแช่แข็งก็เก็บได้แทนที่จะทิ้งทุกอย่าง ผลิตผลก็มีค่า และสุดท้ายก็สอดคล้องกับนิสัยคนสมัยใหม่ แกะกล่องชิมปั๊บ เติมน้ำลงไปนึ่งก็ออกมาเป็นอาหารแล้ว เราจะกินก๋วยเตี๋ยวราดหน้าที่ไหนก็ได้ในโลกนี้
The Change Maker มีอีกเรื่องคือ การระดมคนเข้ามาประกวด แข่งขันเรื่องความคิด เชิญคนเข้ามาก่อน จากนั้นมารวมกับคนรุ่นผม มาเล่าประสบการณ์ นั่งคุยกันว่าเราคิดอะไร การดิสรัปต์อีกอย่างก็คือบทบาทในสภา ในอดีต คนอาจจะบอกว่าพรรคคุณทำอะไรกัน จัดการกันไม่ดีเลย มีภาพเสีย ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรชัดเจน ซึ่งเราไม่ขอแก้ตัว แต่เราทำให้ดูเลยว่า ถ้าจัดการแบบใหม่เป็นอย่างไร เราดิสรัปต์ตัวเองอย่างไร
เราจะสื่อสารเรื่องต่างๆ ที่เป็นสาระแบบนี้ สารต่างๆ จะถูกส่งออกไปอย่างสม่ำเสมอ คนก็ต้องมาเพิ่ม เราก็ระดมโดยการใช้ The Change Maker ใครอยากมาร่วมกับเรา เชิญเลย แทนที่จะอยู่บนท้องถนนอย่างเดียวก็เข้ามา ท้องถนนก็อาจจะไปได้ ลองมาคิดอะไรสร้างสรรค์ออกมา แล้วเราจะใช้ประสบการณ์ที่เรามีช่วยกันถ่ายทอด แปรเป็นพลังออกมา
ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ทิ้งความเป็นเพื่อไทย คือติดอยู่กับประชาชน เชื่อมั่นว่าประชาชนจะพูดอะไร จะคิดอะไร ต้องการอะไร เราไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่ง ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่แรกสมัยไทยรักไทยเลยคือ หัวใจต้องอยู่ที่ประชาชนก่อน แล้วค่อยดึงศักยภาพนั้นมาปลดปล่อย แปรเปลี่ยนให้เป็นนโยบาย แล้วนำไปสู่ของจริง พอเสร็จก็เข้ามาเวิร์กช็อปด้วยกัน แล้วก็จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารมาช่วยเกลา มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีมาช่วยให้เห็นว่าความก้าวหน้าของโลกไปถึงไหนแล้ว เราจะพาไปลงพื้นที่จริงว่าคุณอยากแก้ปัญหาอะไร แล้วสภาพบ้านเมืองจริงๆ เป็นอย่างไร
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยที่เราไปให้ถูกที่ ไปในฐานะศักยภาพของนักการเมืองได้รับความนิยมสูงสุด แก้ปัญหาที่ถูกจำกัดด้วยรัฐธรรมนูญ แล้วเสริมเติมส่วนที่เข้มแข็ง ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน
คุณคิดว่าจะมีเลือกตั้งเร็วๆ นี้เหรอ เพื่อไทยถึงได้เตรียมพร้อมยกเครื่องใหญ่
ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการเลือกตั้งเลย เหมือนที่เรายกตัวอย่างตอนแรก ไทยรักไทยเกิดในปี 2541 กว่าจะเลือกตั้งก็ปี 2544 เลือกตั้งก็เป็นสิ่งหนึ่งเท่านั้นเอง ก็ทำให้เหมือนเป็นข้อสอบ ตลอดทางกว่าที่คุณจะเข้าสอบ คุณก็ต้องเตรียมตัวตั้งเยอะแยะ และทุกสนามสอบ สอบซ่อม สอบเล็ก สอบใหญ่ ก็ลงไปทดสอบดู เท่าที่เหมาะสม เท่าที่จำเป็น
นโยบายอะไร ที่คุณอยากทำมากที่สุดตอนนี้
ถ้าถามเป้าหมายจริงๆ คือ การแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ปลดเปลื้อง ส.ว. 250 คนออกไปให้ได้ เพราะ 250 คนกำหนดทุกอย่าง
คุณเชื่อไหม คสช. ไม่ถูกใจองค์กรอิสระก็เปลี่ยน ขนาดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังเปลี่ยนเลย เขาเสนอมา 5 คนจะโหวตรับทั้งหมด ในที่สุดก็โหวตทิ้ง 1 คน เพราะนึกว่าเป็นอดีตผู้นำนักศึกษาสมัย 14 ตุลาฯ
หรือเรื่องรัฐธรรมนูญก็ยังโหวตคว่ำ สมัย สปช. บอกว่าจะทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับแรกร่างมาแล้ว คสช.ไม่พอใจก็คว่ำทิ้งเลย ตลกไหม ทำมาจนกระทั่งจบแล้ว อยู่ดีๆ ก็บอกว่าไม่เอา
ในหมวกของการเป็นผู้นำนักศึกษามาก่อน มองการชุมนุมตอนนี้อย่างไร
ผมว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออก และโดยสภาพปัญหาที่คนเผชิญอยู่ในขณะนี้ในสิ่งที่เกิดขึ้นมาประมาณ 7 ปีที่พวกเขาอยู่มา มันเป็นข้อพิสูจน์ว่า เยาวชนหนุ่มสาวที่โตมานั้นคุ้นชินและติดกับอยู่ในระบบที่เป็นเผด็จการจนเขารู้สึกเอือม และประเด็นสำคัญคือถ้าหากวันนี้เศรษฐกิจดีแล้ว เขาจะไม่สนใจอนาคตของเขาเลย แต่เนื่องจากว่าการบริหารเหล่านี้ทำให้เขาติดกับแล้วก็กลายเป็นว่าไม่มีอนาคต ก็เป็นสิ่งที่เขาต้องมองเห็นตัวเองว่าต้องเอาอะไรออกบ้าง ซึ่งก็เป็นสิทธิของเขาในการแสดงออก
แล้วในฐานะที่คุณผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ บทเรียนชีวิตในช่วงนั้นคืออะไร
ผมโตมาก็เจอกับรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอม ส่วนเด็กรุ่นนี้โตมากับการรัฐประหาร ผมก็อยู่กับการรัฐประหารมาตลอดเหมือนกัน จนกระทั่งปี 2512 ถึงจะได้เห็นการเลือกตั้งครั้งแรก
ช่วงเวลาวันนั้น เขาจับนักคิด นักเขียน นักแปลหนังสือหมด เราถูกทำให้อยู่ในกรอบอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ ณ วันนั้น ชื่อของจอมพล ถนอม กิตติขจร และจอมพล ประภาส จารุเสถียร เป็นการถูกครอบด้วยระบอบเผด็จการสมบูรณ์แบบ จนกลายเป็นความชอบธรรม
แล้วพอรัฐประหารปี 2514 ของจอมพลถนอมก็กดลงไปอีก สุดท้ายมันก็ยิ่งกด ยิ่งเดือด พอฝาหม้อไม่เปิด ในที่สุดมันก็ออกมา เริ่มจากการชุมนุมเรื่องของความไม่มีเสรีภาพ เรื่องกระบวนยุติธรรม ลามไปถึงเรื่องการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ส่งเสริมสินค้าไทย จนในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า ต้องโฟกัสเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องเดียวกับตอนนี้เลย
เมื่อปี 2516 ก็ล่ารายชื่อกัน 100 คน ปรากฏว่า พอออกไปเรียกร้องขอให้มีร่างรัฐธรรมนูญก็ถูกจับข้อหากบฏ เป็นคอมมิวนิสต์ จับไป 10 กว่าคน อาจารย์นพพร สุวรรณพานิช อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ถูกจับ แต่ก็ยังเหลือคนที่ไม่ถูกจับ ก็เหลือคุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และอาจารย์จรัล ดิษฐาอภิชัย ก็ตั้งกลุ่มสภาหน้าโดมขึ้นมา เลยก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านให้ปลดปล่อยพวกเรา ก็ระดมพลไม่นาน ประมาณอาทิตย์หนึ่ง จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หลังจากนั้นก็เกิดการปลดปล่อยทางความคิด หนังสือหนังหาที่เคยแบนไว้ถูกเอามาพิมพ์ใหม่หมด หนังสือที่ถูกแบนไว้ 10 กว่าปีตั้งแต่ปี 2500 ผมเพิ่งมาได้อ่านปี 2516
สุดท้ายพวกผมก็ตื่นตัว เกิดอาการ ‘ตาสว่าง’ ก็เกิดการเคลื่อนไหว มีศิลปินเพื่อประชาชน มีวงคาราวานเกิดขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้เป็นเพลงป็อปฝรั่งทั้งหมดก็เปลี่ยนเป็นเพลงไทยแล้ว แล้วเป็นเพลงคนกับควาย ที่มีความหมายเพื่อการต่อสู้ หรือบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ที่ตายไปแล้วกลายเป็นวีรบุรุษเพราะผลงานดีเหลือเกิน พอเรียนรู้เรื่องต่างๆ เหล่านี้ก็มีความก้าวหน้า มีการเคลื่อนไหวต่างๆ เยอะ แล้วก็รวมกันเป็นนักศึกษา กรรมกร และชาวนา เพราะเราได้เรียนรู้ความเป็นจริงว่าคนที่เดือดร้อนจริงๆ คือใคร
ในช่วงนั้นมีผู้นำชาวนาถูกยิงตายเยอะแยะ ผู้นำนักศึกษา พวกเพื่อน รุ่นพี่ผมชื่ออมเรศ ไชยสะอาดถูกยิงตายที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ผมเองก็ยังดูแลครอบครัวเขาอยู่เลย และเพื่อนผม ปรีดา จินดานนท์ก็ถูกรถชนตายที่หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระราม 6
บางทีเราก็ไปปิดโปสเตอร์ก็ถูกพวกนักเลงเอากาวมาเทใส่หัว ขณะเดียวกัน อาชีวะที่สู้ด้วยกันก็แตกมาเป็นสองฝ่าย มีอาชีวะที่อยู่กับพวกเรากับอาชีวะที่อีกฝั่งเอาไว้เล่นงานพวกเรา คุณภูมิธรรม เวชยชัยก็ถูกเอาปืนจ่อ คุณเกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ก็ถูกเอาปืนจ่อหัวแล้วก็ยิง โชคดีที่เขาไม่ได้ใส่กระสุน
สิ่งที่เราเรียนรู้ก็คือ สุดท้ายเขาก็สร้างภาพสร้างเรื่องขึ้นมา ถ้าคุณดูเรื่อง 6 ตุลาฯ คุณจะพอรู้อยู่ว่า สุดท้ายเขาเอาเรื่องเราว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ทำอยู่ชมรมศิลปะการแสดงก็ทำละครเรื่องช่างไฟฟ้าที่ถูกแขวนคอ เขาเก่งนะ เพราะเขาสร้างละครโดยเอามาแขวนคอใต้ต้นโพธิ์ เขาเอาเชือกผูกเอวแล้วเอาเชือกอีกเส้นนึงอยู่ที่คอ แล้วใส่เสื้อหนาๆ เพื่อซ่อนเชือก พวกนี้ก็เลยแต่งภาพกลายเป็นชุดทหาร ใครจะนึกล่ะว่าชุมนุมของชมรมศิลปะการแสดงคือการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ทีนี้เพื่อตอบคำถามของคุณก็คือ เราถูกเซ็ตแล้ว เขาก็ใช้สิ่งที่เขาเซ็ตขึ้นมาถล่มเรา แต่ก่อนเขามีวิทยุยานเกราะระดมคน พูดผ่านวิทยุ ทุกเครือข่าย ทุกสถานีเอาเพลงหนักแผ่นดินมากล่าวหาว่าพวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์ ระดมคนออกมา ลูกเสือชาวบ้านต่างๆ ฆ่าคนตายกลางถนน แล้วก็นำกำลังบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ หาว่าข้างในมีอาวุธ ถ่ายรูปออกมาว่าพวกเราใส่รองเท้าแตะเหมือนพวกคอมมิวนิสต์
คำตอบของคุณก็คือว่า ในการต่อสู้ประชาธิปไตย เมื่อปลุกถึงขั้นหนึ่งจนสะเทือนถึงอำนาจก็จะถูกเซ็ตสร้างเรื่องโดยใช้เรื่องต่างๆ ที่ทำให้คนเชื่อชั่วคราว เพื่อที่จะจัดการให้เด็ดขาดในสักวันหนึ่ง
Fact Box
- วันที่ 6 ตุลาคม 2519 นายแพทย์พรหมินทร์อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลาที่ตำรวจตระเวนชายแดนกราดยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัย เขากระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อหลบหนี ก่อนจะหลบอยู่ในบ้านของชาวบ้านละแวกท่าพระจันทร์ ทำให้รอดพ้นการจับกุมได้
- วันที่ 19 กันยายน 2549 นายแพทย์พรหมินทร์ เป็น 1 ใน 3 คน ที่ทักษิณไว้วางใจ ให้ถือคำสั่งตั้งกองบัญชาการต่อต้านการรัฐประหาร แต่ไม่ทันได้ตั้ง เขาก็ถูกทหารรวบตัวไปเสียก่อน
- หลังรัฐบาลทักษิณหมดอำนาจ หมอพรหมินทร์รับบทบาทดูแลธุรกิจหลายอย่างให้กับตระกูลชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยชินวัตรหรือโรงพยาบาลพระราม 9 แต่ภายหลังเพื่อไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลาออกจากพรรค หมอพรหมินทร์ซึ่งว่ากันว่าเป็น ‘สายตรง’ ของทักษิณ ได้กลับเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในพรรคอีกครั้งหนึ่ง