ชื่อ พอลลีน-พยุริน งามพริ้ง ปรากฏบนหน้าสื่อสายกีฬาอีกครั้ง ทันทีที่พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ตัดสินใจโบกมืออำลาตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (FA Thailand) เพื่อเปิดทางหาประมุขลูกหนังคนใหม่ หลังจากหลายปีที่ผ่านมาเผชิญปัญหานานัปการ ไม่ว่าจะปัญหาค่าลิขสิทธิ์ไทยพรีเมียร์ลีก การจัดการในสมาคมฯ ที่ไม่รู้ว่าอำนาจเด็ดขาดอยู่ในมือใคร จนถึงผลงานทัพช้างศึกที่มีแต่ทรงกับทรุดเรื่อยมา ดังวลี “ใครไม่อายผมอาย” ที่ตามหลอกหลอนไล่หลังพลตำรวจเอกสมยศทุกวี่วัน

ไม่ใช่แค่อดีตแกนนำกลุ่มเชียร์ไทยพาวเวอร์ที่ถูกจับตามองในฐานะ ‘แคนดิเดต’ ประมุขลูกหนังไทยลำดับที่ 18 เพราะตัวเก็งแท้จริงคือ มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ ที่ใครก็มองว่าชนะขาดแบบนอนมา หากมองปัจจัยทั้งในแง่คอนเน็กชัน บารมี และเงินทุน

ในสายตาของแฟนบอลไทย พอลลีนอาจเป็น ‘มวยรอง’ ที่ต่อให้ขึ้นชกก็เตรียมถูกนับน็อกบนเวที ด้วยศักยภาพด้านต่างๆ ช่างห่างกับคู่แข่งไกลโข แต่หากมองถึง ‘อาวุธ’ ที่ปล่อยออกมาระหว่างยกกลับดุเด็ด มีหรือกองเชียร์ล่างเวทีไม่เผลอปันใจบ้าง

อาวุธที่ว่าไม่ใช่แค่ลมปากจ้องสาดโคลนฝั่งตรงข้าม แต่หมายถึง ‘นโยบาย’ และ ‘โครงสร้างทีม’ ที่ทั้งน่าสนใจและฉีกขนบธรรมเนียมเดิม 

ฝั่งนโยบาย ได้แก่ ผลักดันเยาวชน สร้างมูลค่านักฟุตบอลไทย เปลี่ยนภาพลักษณ์ไทยลีกสู่ Sportainment และกำจัดผลประโยชน์ทับซ้อนในสมาคมฯ ที่หยั่งรากฝังลึกกัดกินฟุตบอลไทยมาช้านาน ด้านโครงสร้างทีมงานประกอบด้วยคนกีฬา เช่น โค้ชหนุ่ย-เฉลิมวุฒิ สง่าพล, เปาปุ้ม-ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศธร เพิ่มพานิช, แชมป์-พีรพล เอื้ออารียกูล, แมน-โกสินทร์ อัตตโนรักษ์ ร่วมด้วย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล 

ก่อนถึงวันชี้ขาดว่า ใครคือคนที่ใช่กับตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ เราถือโอกาสชวนพอลลีนมาเปิดวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นตามวิถีมวยรอง ความในใจกับการลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำฟุตบอลไทยคำรบสอง จนถึงความในใจสำคัญต่อมาดามแป้งคู่แข่งคนสำคัญ  

นับเป็นสมัยที่สองแล้ว ที่คุณตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ (ครั้งแรกปี 2556) เหตุผลสำคัญใดที่ทำให้คุณตัดสินใจกลับมาอีกครั้ง

หลังจากปี 2556 เราเลือกจะพักไปจากวงการฟุตบอลไทย เรื่องการทำกลุ่มเชียร์ไทยพาวเวอร์ (Cheerthai Power) เราก็ปล่อยให้คนอื่นทำ เหตุผลเพื่อโฟกัสในการเปลี่ยนแปลง (ร่างกาย) ตัวเองที่ต่างประเทศ แต่ยังติดตามความเคลื่อนไหวฟุตบอลไทยอยู่ห่างๆ 

กระทั่ง 7-8 ปีที่ผ่านมา ระหว่างนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคฟุตบอลไทยจาก วรวีร์ มะกูดี มาเป็นพลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ซึ่งเรากลับมาจากสหรัฐฯ เพื่อใช้ชีวิตในฐานะ ‘พอลลีน’ โดยเลือกให้กำลังใจคุณสมยศอยู่ห่างๆ แม้มีกระแสต่อต้านคุณสมยศอยู่เนืองๆ แต่เราก็ไม่ได้ออกมาโจมตีอะไร เพราะเรายังเห็นการทำงานของสมาคมฟุตบอลไทยฯ ว่ายังพอมีข้อดีอยู่หลายเรื่อง

แต่พอในช่วงหลัง เรารู้สึกว่า ฟุตบอลไทยกำลังถูกละเลยค่อนข้างเยอะและมีแนวทางไม่เป็นไปตามทางที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเรื่องของ ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ ในที่นี้หมายถึงความเกรงใจในพรรคพวกเพื่อนฝูง พอมีพวก มีขั้ว การจะบริหารหรือลงมือทำอะไรก็ลำบาก 

ดังนั้นพอมีการประกาศว่า จะมีการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ แม้หลายคนหลงลืมชื่อพอลลีนไปแล้ว เด็กๆ แฟนบอลยุคใหม่อาจจะไม่รู้จักหน้าค่าตา เพราะเราไม่ได้เข้ามาคลุกคลีวงการนี้เป็นเวลานาน แต่เรายังรู้สึกว่าสิ่งนี้ยังอยู่กับตัวเราตลอดเวลา ไม่ว่าตอนเราจะพูดหรือไลฟ์สดก็จะมีคนขอให้เราพูดถึงเรื่องฟุตบอลไทย เราจึงตัดสินใจลงสมัครตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ อีกครั้ง โดยที่ตอนแรกเรายังไม่รู้หรอกว่า มาดามแป้งเขาจะลงสมัครครั้งนี้ด้วย

ซึ่งการกลับมาครั้งนี้เรามั่นใจมากกว่าเดิม ส่วนหนึ่งเพราะเราผ่านการเปลี่ยนแปลงตัวเองมาแล้ว จนมั่นใจกับ ‘ตัวตน’ ที่เป็นอยู่

ทำไมถึงเลือกใช้คำว่า ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ ทั้งที่คำว่า ‘คอร์รัปชัน’ ดูจะใกล้เคียงกับบริบทในสังคมฟุตบอลไทยมากกว่า

ที่ใช้คำว่า ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ เพราะลึกแล้วมีอะไรมากกว่านั้น ไม่ใช่แค่เรื่องเงินแต่ยังมีเรื่องของคอนเนกชัน ระบบอุปถัมภ์ การผูกขาด ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของขั้วสองขั้ว

ก่อนหน้านี้ คนรอบข้างหรือพี่น้องที่รู้จักกันในกลุ่มเชียร์ไทยพาวเวอร์เคยบอกผ่านคุณไหม ว่าวงการฟุตบอลไทยกำลังเผชิญกับปัญหาใดอยู่

ส่วนใหญ่เท่าที่ฟังมามักเห็นปัญหาตรงกัน ข้อแรก แน่นอนว่าการบริหารสมาคมฟุตบอลไทยฯ มีอยู่หลายด้าน แต่ตัววัดผลจริงๆ คือผลงานของทีมชาติ ช่วงที่ผ่านมาทีมชาติไทยอันดับร่วงลงไปเยอะพอสมควร จนเพิ่งกระเตื้องกลับมาในช่วงหลัง 

ข้อสอง คือเรื่องของการหาเงินทุนมาสนับสนุนฟุตบอลลีกและสนับสนุนทีมฟุตบอลในระดับต่างๆ ที่ไม่เกิด นั่นจึงเป็นที่มาของความตกต่ำของฟุตบอลไทยทั้งในแง่ของทีมชาติและสโมสร 

รวมไปถึงเรื่องธรรมาภิบาลของระบบบัญชีที่เกี่ยวเนื่องกับความถูกต้องของธุรกิจฟุตบอล ซึ่งยังห่างไกลกับความเป็นจริงเหลือเกิน ทุกวันนี้ การจัดทำบัญชี การจัดทำงบประมาณ โดยรวมไม่มีหลักเกณฑ์ที่บ่งบอกว่า เราจะเป็นฟุตบอลอาชีพอย่างจริงจัง 

คือหลังจากเมื่อราวสิบกว่าปีก่อนที่เราบอกว่าเป็นยุค ‘ไทยลีกบูม’ เราไม่ได้ต่อยอดจากจุดนั้น ด้วยเหตุผลว่า พอมันบูมเราก็ไม่มีเวลาทำ พอไม่มีเวลาทำก็ถึงช่วงขาลงตามหลัก ‘Product Life Cycle’ ซึ่งมีอายุแค่ 5-6 ปี และเราก็ไม่ได้เตรียมตัวรองรับช่วงขาลงอย่างเจลีก ญี่ปุ่น ที่เราเอาเป็นตัวอย่างก็มีช่วงตกเช่นกัน 

แม้กระทั่งบุคลากรมืออาชีพจริงๆ โดยเฉพาะด้านการตลาดก็ไม่มี เพราะเรามัวแต่หาคนรักฟุตบอลเข้ามาทำแต่ไม่มีสกิลพอจะบริหาร

ส่วนหนึ่งที่เกิดปัญหานี้เพราะคนเข้ามาทำฟุตบอลมีอยู่สองแบบ แบบแรก คือนักการเมืองที่เข้ามาทำเพราะหวังคะแนนเสียง แบบที่สอง คือนักธุรกิจที่หวังเข้ามาโปรโมตตัวเอง โดยที่ไม่มีใครหวังเข้ามาทำฟุตบอลให้เป็นอาชีพหรือธุรกิจจริงจัง และจะเป็นแบบนี้ต่อไปถ้าเรายังใช้วิธีบริหารแบบเดิม

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบฟุตบอลไทยที่เอื้อต่อระบบการเมืองแบบ ‘บ้านใหญ่’ ซึ่งผูกกันมาตั้งแต่ยุคฟุตบอลลีกภูมิภาค (โปรวินเชียลลีก)

คือไม่ได้กล่าวว่าทุกทีมนะ เพราะนักการเมืองที่เข้ามาทำทีมฟุตบอลด้วยความตั้งใจจริงก็มี แต่โดยส่วนใหญ่มีนักการเมืองหลายคนที่เจียดเอาเงินเล็กๆ น้อยๆ มาลงทุนเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ระยะสั้น และหวังเข้ามาสร้างความ Popularity ในท้องถิ่น แต่การทำฟุตบอลจะหวังความ Popularity แค่ในท้องถิ่นไม่ได้ แต่ฐานความนิยมของแฟนบอลต้องขยายไปทั่วประเทศ เช่น แฟนบอลในภาคใต้อาจจะเลือกเชียร์ทีมฟุตบอลทางภาคเหนือ หรือว่าคนกรุงเทพฯ อาจจะเลือกเชียร์ทีมชลบุรีเอฟซี

สิ่งเหล่านี้ต้องศึกษาเรื่องจิตวิทยาของแฟนบอล เหมือนที่เราตั้งคำถามว่า ทำไมคนไทยถึงเชียร์ทีมลิเวอร์พูล เชลซี แมนยูฯ สิ่งเหล่านี้มีอธิบายไว้อยู่ เพราะบางคนอาจจะชอบสีน้ำเงิน บางคนอาจจะชอบสีแดง บางคนชอบโลโก้หงส์ บางคนชอบโลโก้ปีศาจ หรือบางคนอาจจะชอบนักฟุตบอลคนนี้ เลยฝังใจเลือกเชียร์ทีมที่นักฟุตบอลคนโปรดเล่นไปตลอด  

ฉะนั้น การทำฟุตบอลไม่ใช่แค่เอาคนท้องถิ่นมาเชียร์ ถ้าคุณทำแบบนั้นคุณจะได้ประโยชน์ธุรกิจแค่ในสนาม แต่ธุรกิจนอกสนามไม่เกิด

เช่นเดียวกับ ‘ขั้ว’ ของฟุตบอลไทย ที่สถานการณ์เปลี่ยนไปภาพการเมืองใหญ่

หลายคนมักจะบอกว่าฟุตบอลไทยมีขั้วเสมอ ยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เป็นขั้วของวรวีร์ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย หรือในการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ ปี 2556 แต่ละฝั่งก็เลือกสนับสนุนตัวแทนของตัวเอง ฝั่งบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และชลบุรี เอฟซี เลือกที่จะสนับสนุน ‘บิ๊กก๊อง’ (วิรัช ชาญพานิชย์) แต่บทสรุปครั้งนั้นเป็นบิ๊กก๊องที่แพ้ เพราะมีการล็อบบี้ผลการเลือกตั้ง โดยมีการนำการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

หลังจากวรวีร์ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปี ฝั่งบุรีรัมย์ฯ ที่เป็นแกนนำก็เลือกดันพลตำรวจเอกสมยศที่มีดีกรีเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขึ้นเป็นนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ คนใหม่ เปลี่ยนจากเดิมที่ตอนแรกวางให้เป็น พลตำรวจโท พิสัณห์ จุลดิลก และกลายมาเป็นขั้วปัจจุบันที่ดำรงอยู่

จากที่เล่ามาหลายคนมองแบบนั้น แต่สำหรับพอลลีนมองว่า ฟุตบอลไทยไม่ได้มีแค่สองขั้ว ถ้าผู้มีอำนาจเห็นว่าคุณแบ่งเป็นสองขั้ว แสดงว่าคุณไม่ได้มองเห็นหัวประชาชน คุณไม่ได้มองเห็นหัวผู้ตัดสิน คุณไม่ได้มองเห็นสโมสรเล็กสโมสรน้อย คุณไม่ได้มองเห็นหัวนักฟุตบอล คุณไม่ได้มองเห็นภาพประชาคมฟุตบอล ซึ่งใหญ่กว่านั้น คุณคิดแค่ว่าทุกคนต้องอยู่ใต้อาณัติคุณ ทั้งเกิดเป็นความเกรงใจระหว่างพวกที่ทำให้ฟุตบอลไทยไปไม่ถึงไหน

เพราะว่าถ้าใครสนับสนุนคุณเข้ามา คุณก็ต้องไปเกรงใจเขา แต่กับพอลลีน ถ้าใครเลือก พอลลีนไม่สัญญาว่าจะให้อะไรเขาเป็นการส่วนตัว เรามุ่งหวังจะเข้ามาทำงานเพื่อส่วนรวม มาด้วยความเป็นกลาง ไม่ว่าใครก็ต้องเท่ากันหมด

จากที่คุณกล่าวมาข้างต้น ไม่แปลกใจเลยที่ทีมระดับรากหญ้าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

ใช่ เพราะพวกเขาอ่อนแอที่สุดในแง่การจัดการ ไม่ว่าจะเรื่องบัญชี บุคลากร ไฟแนนซ์ ฝ่ายสรรหาบุคลากร รวมถึงมาร์เก็ตติง แต่กลับไปเน้นเรื่องทีมฟุตบอลอย่างเดียว เน้นซื้อตัวนักเตะเพื่อทำผลงานโดยไม่ได้มองขาธุรกิจ ทั้งที่ทีมในระดับไทยลีกสอง ไทยลีกสาม และไทยลีกสี่ โอกาสหารายได้เข้าสโมสรก็ค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว

ย้อนกลับไปยังเหตุการณ์เลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ ปี 2556 คุณตัดสินใจลงสมัครเพราะอะไร แม้สุดท้ายจะหลีกทางให้ วิรัช ชาญพานิชย์ ในนาทีสุดท้ายก็ตาม

ถามว่าพร้อมไหม คงตอบตรงๆ ว่า ไม่ถึงกับพร้อมหรอก คืออยู่ในวัยกำลังห้าว (หัวเราะ) เราลงสมัครเพราะอยากผลักดันวงการฟุตบอลไทยให้สุดทาง หลังจากที่ก่อนหน้านั้นสำเร็จกับเรื่องทำกลุ่มเชียร์ไทยพาวเวอร์ สิ่งที่เราพยายามและอยากเปลี่ยนมาตลอดแม้แต่ตอนนี้เองก็ตาม คือการต่อต้านปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในสมาคมฟุตบอลไทยฯ 

ถ้าเราไม่ออกมาในตอนนั้น เราก็ต้องเชียร์ฟุตบอลไทยต่อไปแบบคนโง่เขลา ก้มหน้าก้มตาเชียร์ไป ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ประจวบกับตอนนั้นเราทำงานกับองค์กรต่างประเทศเพื่อร่วมแก้ปัญหาทุจริตใน FIFA เราก็อยากจะเปลี่ยนสิ่งนี้ในฟุตบอลไทยเช่นกัน

แปลว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาล้วนสั่งสมประสบการณ์แก่คุณ ทำให้การลงสมัครชิงนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ ครั้งนี้มีแบบแผนชัดเจน รวมถึงตัวแทนทีมงานที่จะเข้ามาบริหารเช่นกัน

เราคิดดึงคนใหม่ๆ เข้ามาทำงาน เพราะไม่อยากให้วงการฟุตบอลไทยติดอยู่ในลูปเดิม ไม่ว่าจะโค้ชหนุ่ย (เฉลิมวุฒิ สง่าพล), เปาปุ้ม (ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศธร เพิ่มพานิช), แชมป์ (พีรพล เอื้ออารียกูล), แมน (โกสินทร์ อัตตโนรักษ์), คนในกลุ่มเชียร์ไทยพาวเวอร์ ฯลฯ แต่ในส่วนของคุณวิโรจน์ (วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคก้าวไกล) เราวางไว้เป็นที่ปรึกษาวงนอก เปลี่ยนจากตอนแรกที่เชิญให้มาเป็นสภาคณะกรรมการ เหตุผลเพราะคุณวิโรจน์มีภาระหน้าที่ในสภาฯ ขณะเดียวกัน ข้อกฎหมายก็เป็นข้อจำกัดการทำหน้าที่

คือพอลลีนต้องการทีมงานที่มองฟุตบอลจากมุมนอกเข้ามา โดยเฉพาะคนที่เชียร์ฟุตบอลต่างประเทศและไม่ได้เชียร์ฟุตบอลไทยเพื่อฟังมุมมองจากเขา หรืออย่างการดึงแชมป์ พีรพล เข้ามา เพราะเขามองนักฟุตบอลเป็น Celebrity เป็น Entertainment หลายคนอาจจะค่อนขอดแชมป์ แต่เขาเป็นนักข่าวเพียงไม่กี่คนที่เคยสัมภาษณ์นักฟุตบอลระดับโลก ตรงนี้เราอยากดึงเขาเข้ามาทำด้าน Sporttainment  

หรือน้องประธานเชียร์ไทยพาวเวอร์รุ่นที่สอง ก็เคยผ่านการทำด้าน Marketing Research Analysis ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการทำการตลาดธุรกิจฟุตบอล หรืออย่างโค้ชหนุ่ย, โค้ชฉ่วย (สมชาย ชวยบุญชุม), พี่หลอ (พิชัย คงศรี) เหล่านี้เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังวงการฟุตบอลไทยและคลุกคลีกับคลีนิกนักฟุตบอลเยาวชนมาตลอด แม้แต่ พินิจ สะสินิน ที่เคยอยู่ในบอร์ดบริหารของสมาคมฟุตบอลไทยฯ ยุควรวีร์ก็เป็นที่ปรึกษาให้กับเรา

มีหลายคนที่เราเชิญมาทำงาน ก็มีบ้างที่ปฏิเสธเพราะถูกล็อบบี้ แต่คนที่เข้ามาทำงานจริงๆ ส่วนหนึ่งเพราะเราให้เกียรติเขา บอกเขาชัดเจนว่าจะเอาเขามาทำอะไร ทั้งที่ผ่านคนในฟุตบอลไม่เคยมองเห็นความสามารถเขาในด้านนั้นมาก่อน

สรุปคือหากคุณเข้ามาเป็นนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ สิ่งที่คุณต้องการจะผลักดันและแก้ไข คือ 1. ผลักดันนักฟุตบอลตั้งแต่ระดับเยาวชน 2. เปลี่ยนภาพลักษณ์ฟุตบอลไทยให้เป็น Sporttainment และ 3. แก้ไขผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นในวงการ

จริงๆ เราแบ่งระบบบริหารของเราเป็นสามเสา โดยมีรากฐานเป็นเรื่องของความสุจริตและธรรมาภิบาลโปร่งใส 

เสาแรก คือเรื่องของการทำ Sporttainment คิดนอกกรอบเพื่อให้ทีมฟุตบอลและนักฟุตบอลสามารถหาเงินได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะการฝึกอบรม การบริหารในแง่ของการตลาด 

นิยาม Sporttainment ของเราคือ ‘ฟุตบอล 360 องศา’ ตื่นตาตื่นใจ ทั้งรอบสนามและในจอทีวี อธิบายขยายความ คืออันดับแรก ‘สปีด’ ฟุตบอลต้องเร็วขึ้น คุณน่าจะสังเกตเห็นว่าสนามฟุตบอลมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ แต่ว่าเราสามารถปรับขนาดสนามให้ ‘กระชับ’ เพื่อให้เกมในสนามเร็วยิ่งขึ้น แต่ยังคงขนาดมาตรฐานของ FIFA (เริ่มตั้งแต่ 68 x 105 หรือขนาด 7,140 ตารางเมตร จนถึง ขนาด 84 x 114 เมตร หรือขนาด 9,576 ตารางเมตร) อย่างการแข่งขันในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ขนาดสนามบ้านเขาเป็นขนาดเล็กสุด นั่นทำให้การแข่งขันของเขาสนุก  

ฟังแล้วอาจมีเสียงคัดค้านว่า อ้าว แล้วถ้านักฟุตบอลไปแข่งในเวทีระดับโลก เขาจะปรับตัวได้หรือ? ต้องบอกว่าเรื่องนี้ไม่มีผล เพราะเราจะใช้เทคโนโลยีตรวจจับการวิ่ง ต่อให้สนามเล็กแต่คุณยังต้องวิ่งให้เท่าเดิมหรือดีกว่า 

ในแง่ของคนดู เราศึกษาเก็บข้อมูลจากตอนที่เราทำกลุ่มเชียร์ไทยพาวเวอร์ หมายความว่า สิ่งที่สมาคมฟุตบอลไทยฯ จะช่วยเหลือคนดู คือการสนับสนุนให้เขาเชียร์อย่างสนุกและสร้างสรรค์ มีระบบสาธารณูปโภครอบด้านที่เอื้อต่อเขา ขณะเดียวกัน สนับสนุนให้แต่ละสโมสรในไทยลีกมีสนามเป็นของตัวเอง ผ่านการพัฒนาแบบ Third Party ประกอบด้วยสโมสร เจ้าของที่ และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เพื่อมาทำงานร่วมกันในลักษณะการลงทุนแบบ Consortium ซึ่งในต่างประเทศเขาใช้โมเดลบริหารแบบนี้

เป็นเรื่องของเทคโนโลยีการถ่ายทอดสด ที่ทุกวันนี้มุมกล้องถ่ายสดฟุตบอลไทยลีกยังเทียบกับต่างประเทศไม่ได้ ตรงนี้สามารถเพิ่มกล้องดอลลี่ โดรน หรือกล้องที่ห้อยกับสลิงเพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจโดยไม่ต้องลงทุนมหาศาลเพิ่ม

เสาที่สองคือกลไกการทำฟุตบอลเยาวชนอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่โปรเจกต์ใดโปรเจกต์หนึ่งที่ผูกติดอยู่กับสโมสรใดสโมสรหนึ่งในรูปแบบสัมปทาน จากประสบการณ์ที่เราเคยเป็นนักฟุตบอลช่วงเวลาที่สำคัญสุด คือช่วงมัธยมปีที่หนึ่งถึงมัธยมปีที่สาม ส่วนมัธยมปลายคือช่วงที่นักฟุตบอลต้องเข้าสู่ระบบอคาเดมีตามแต่ละสโมสร แต่ปัจจุบันโรงเรียนฟุตบอลในบ้านเรามีน้อย สนามมีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีคนลงไปทำ ทั้งที่วันจันทร์ถึงศุกร์เด็กควรได้ฝึกฟุตบอลทุกวัน 

ถามว่าแล้วจะทำได้ไง ในแง่ของสถานที่เรายังต้องอาศัยการตกลงกับภาครัฐ แต่ในมุมของสมาคมฟุตบอลไทยฯ ควรหน้าที่หาโค้ชลงไปช่วยฝึกสอน หรือไปฝึกครูพละในโรงเรียนให้เป็นโค้ช เปรียบเหมือนเอาซอฟต์แวร์เข้าไปในฮาร์ดแวร์ที่เขามีอยู่แล้ว

นอกจากเรื่องการฝึกฝีเท้า เรื่องทักษะ ‘Social Skill’ ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องฝึกแต่เด็ก เช่น ให้สัมภาษณ์สื่ออย่างไร คุยกับแฟนคลับอย่างไร การแต่งตัวนอกสนามคุณต้องแตกต่างอย่างไรให้ดูเป็นซูเปอร์สตาร์ แม้แต่การแสดงออกในสนามคุณจะแอ็กชันอย่างไร ไม่ใช่การผลักอก ยียวน เกรี้ยวกราด แต่คุณมีแพสชันอย่างไรคุณก็แสดงออกมาแบบนั้น จุดนี้จะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับตัวนักเตะเอง ขณะเดียวกันสโมสรต้องส่งสารไปถึงเอเจนซีว่า คุณไม่ได้มีหน้าที่แค่ดูแลค่าตัวนักเตะ แต่คุณต้องหาสปอนเซอร์ หาผลิตภัณฑ์ที่ให้เขาไปเป็นพรีเซนเตอร์ 

เสาที่สาม คือเรื่องของความร่วมแรงร่วมใจ ไม่ว่าจะกับฝั่งรัฐบาล องค์กรเอกชน และองค์กรต่างประเทศ เมื่อทั้งสามเสาสำเร็จย่อมบังเกิด ‘ความเป็นเลิศ’ นั่นคือความสุขของแฟนบอลไทย แฟนบอลอยู่ได้ ธุรกิจอยู่ได้ โดยที่ไม่ได้มองแค่ว่าเราจะต้องเป็นแชมป์อย่างเดียว หรืออยู่ได้โดยที่โค้ชไม่มีงานทำ นักฟุตบอลไม่มีงานทำ 

ที่น่ายินดีคือไม่ว่าตัวเก็งจะเป็นมาดามแป้งหรือคุณ แต่สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าบริบทวงการฟุตบอลไทยเปิดกว้างมากขึ้น และไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ชายอีกต่อไป

ใช่ อย่างน้อยจะเป็นผู้หญิงหรือเพศทางเลือกก็สามารถสร้างการรับรู้แก่แฟนบอลได้ เพราะเมื่อก่อนเรื่องของฟุตบอลเป็นเรื่องของผู้ชาย ยกตัวอย่างสมัยเรายังเป็น พินิจ งามพริ้ง ตอนเข้าไปอยู่ในวงการฟุตบอล นอกจากเรื่องของการเชียร์ เวลาเราไปสังสรรค์หรือพบปะผู้บริหารเรามักเจอคนที่พยามยามโชว์ออฟความเป็นแมน ความเป็นมาเฟีย ความเป็นผู้ใหญ่

นั่นจึงไม่ใช่แค่กำแพงเรื่องเพศ แต่มีกำแพงเรื่องอายุระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กอีก ตอนเป็นพินิจในวัยสามสิบกว่าเราเคยเจอผู้ใหญ่คนหนึ่งเรียกเราว่า เฮ้ย! ไอ้น้องๆ เราตัดสินใจเลิกคุยเลย เราสัมผัสได้ว่าเขาข่มเราด้วยความแมน ข่มเราด้วยอายุ แต่เราก็ไม่ได้ไปว่าอะไรเขาเพราะเราเข้าใจบริบทสังคมฟุตบอลไทยดีว่ามันเป็นแบบนั้น

แต่การที่มาถึงจุดนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะมาดามแป้งเข้ามาทำทีมฟุตบอลทั้งหญิงและชาย จนเกิดความเคารพในวงการ เพียงแต่เขายังไม่ได้มาทำจุดนี้อย่างเข้มข้น พูดตรงๆ คือเหมือนหว่านเงินลงไปเพื่อได้รับความเคารพมากกว่า ถามว่าดีไหมก็ดีแหละ

เช่นนั้นปัญหาใดที่กำลังฉุดรั้งความเจริญของวงการฟุตบอลไทยอยู่

ปัญหาฟุตบอลไทยที่เป็นอยู่คือเรื่องของการผูกขาด มีหลายบริษัทที่อยากเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมฟุตบอลไทย แต่มันติดตรงที่มีบริษัทที่ลักษณะคล้ายกันเข้ามายึดครองแล้วก่อนหน้า นั่นหมายความว่า หน้าที่ของสมาคมฟุตบอลไทยฯ คือทำอย่างไรก็ได้ให้วงการฟุตบอลไม่เกิดการผูดขาด ต้องเปิดรับคนที่อยากเข้ามาลงทุนจริงจัง (ทุบโต๊ะ) 

สมมติคุณอยากเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้การแข่งขันฟุตบอลไทยลีกหนึ่ง คุณก็ต้องจ่ายค่าสปอนเซอร์มากกว่า 80% เพื่อรับประกันเงินก้อนนี้ ขณะเดียวกันฟุตบอลลีกระดับล่างตั้งแต่ไทยลีกสองเป็นต้นไป ก็ต้องเปิดทางให้บริษัทเจ้าอื่นเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ เพื่อเปิดโอกาสช่องทางรับรายได้ 

นอกจากปัญหาผูกขาด อีกปัญหาใหญ่คือแฟนบอลแทบไม่มีสิทธิหรือส่วนร่วมในฟุตบอลไทย เช่นการเลือกนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ ที่ใครจะเข้ามาเป็นก็ต้องก้มหน้าก้มตายอมรับไป

ถ้าเป็นต่างชาติ เขามีสิทธิกดดันสมาคม มีสิทธิกดดันสโมสร เราอาจจะกดดันได้แต่ไม่ได้ผลเท่าไรนัก

เรามีแผนที่จะแก้ปัญหานี้ ด้วยการเปิดโอกาสให้แฟนบอลมีสิทธิเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ หลายคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เรามองว่าเป็นไปได้ และประเทศไทยอาจเป็นประเทศแรกที่ทำได้ นั่นคือการเลือกตั้งแบบสัดส่วน แบ่งระหว่างผู้ที่มีสิทธิในฐานะสมาชิกที่ทำทีมส่งแข่งกับสมาชิกที่ไม่ต้องทำทีมส่งแข่ง คุณมีสิทธิหากคุณซื้อตั๋วเข้าไปเชียร์ทีมชาติ ซื้อผลิตภัณฑ์อุดหนุนทีมชาติ หรือจ่ายเงินค่าสมัครสมาชิกปีละ 200 บาท แค่นี้คุณก็มีสิทธิเลือกตั้ง 

ถ้าเรามีฐานสมาชิกแฟนบอลสิบล้านคน คุณก็มาหารเฉลี่ยในระบบสัดส่วนกับสมาชิกจากแต่ละสโมสรที่มีสิทธิเลือกตั้ง โดยที่แฟนบอลสามารถเลือกตั้งผ่านช่องทางออนไลน์ แค่นี้เองทำไมคุณจะทำไม่ได้ ทั้งจะช่วยตัดปัญหาชี้นำเลือกตามกลุ่มขั้วที่แฟนฟุตบอลครหากัน แฟนฟุตบอลเขาไม่ได้โง่เขารู้ว่าใครเหมาะสม

หมายความว่าแผนงานที่คุณนำเสนอจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หมด?

เราเชื่อว่าสามารถแก้ไขได้ เพราะเราเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ปัญหาเรื่องของผู้ตัดสินหรือสโมสรไม่ปล่อยนักเตะหรืออื่นๆ ก็สามารถพิจารณาตัดสินตามเนื้อผ้า แม้แต่เรื่องของการพนันที่มีเอี่ยวกับเจ้าของสโมสรหรือนักเตะเองก็ตาม 

คนอาจจะมองว่าจุดอ่อนของเราคือไม่มีขั้ว ไม่มีพวก แต่เรามองว่าเป็นจุดแข็งเสียมากกว่า เราเข้าไปทำงานแก้ไขปัญหาง่าย ไม่ต้องเกรงใจใคร เอาส่วนรวมเป็นที่ตั้งเท่านั้น

ถึงจะมีแผนงานและมีแพสชันชัดเจน แต่สุดท้ายคนก็ยังมองคุณเป็น ‘มวยรอง’ อยู่วันยังค่ำ

ก็ปล่อยเขามองไป (ยิ้ม) แต่เราก็บอกเสมอว่า ถ้าอยากให้วงการเป็นฟุตบอลไทยเป็นแบบเดิมคุณก็ไม่ต้องเลือกเรา เราอาจจะมาเพื่อแพ้แต่เราอยากให้แฟนบอลรู้ว่า ถ้าไม่เปลี่ยนสุดท้ายฟุตบอลไทยก็ยังจมอยู่กับปัญหาเดิม

ส่วนคนที่ด้อยค่าว่าหิวแสงบ้างล่ะ อยากดังบ้างล่ะ คงต้องบอกให้เขาดูกันยาวๆ เพราะเขาเพิ่งมารู้จักเราตอนนี้ แต่คนที่รู้จักเรามาตั้งแต่เชียร์ไทยพาวเวอร์ เขาจะรู้ว่าเราไม่ได้หิวแสง เรานี่ล่ะตัวจริง พวกกูไม่ใช่ไม้ประดับ พวกกูนี่แหละสาระสำคัญ ถามว่าถ้าไม่มีฐานกองเชียร์ พวกมึงจะมีฟุตบอลอาชีพในตอนนี้ไหม 

อยากฝากอะไรถึงผู้สมัครรายอื่นโดยเฉพาะมาดามแป้ง

เราสู้ด้วยความเคารพนะ รู้แหละว่าเราไม่มีทางชนะโดยง่าย แต่เรามีจุดยืน มีอุดมการณ์ความคิดที่ต้องการทำให้ดีที่สุด นี่เป็นเรื่องของการเลือกตั้งสมาคมฟุตบอลไทยฯ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเข่นฆ่ากัน เรามาให้เกียรติ ให้กำลังใจกันดีกว่า ถ้ามาดามแป้งจะชนะเราก็ยินดี เพียงแต่ก่อนถึงวันเลือกตั้งเราก็ต้องนำเสนอแนวคิดฟุตบอลไทยในอุดมคติที่เราอยากให้เป็น

หลักการตาสว่างต้องค่อยๆ เกิด เหมือนที่เคยเกิดมาแล้วครั้งหนึ่ง ผลสุดท้ายฟุตบอลไม่ได้หายไปจากตัวเรา จะแพ้หรือชนะก็ยังต้องทำการสื่อสารแนวคิดฟุตบอลในแบบของเราต่อไป อีกสี่ปีข้างหน้าอายุเราก็ยังไม่เกิน ถ้ายังมีความพร้อมก็ยังกลับมาสู้ใหม่  

กล่าวได้ไหมว่า ที่ฟุตบอลไทยติดอยู่ในลูปเดิม ส่วนหนึ่งเพราะแฟนบอลไทยใจร้อนอยากเห็นความสำเร็จแบบเป็นรูปธรรมแค่ในระยะสั้น

เราอยากจะบอกว่าไม่มีเศรษฐีคนไหนเข้ามาลงทุนทำฟุตบอลด้วยตัวคนเดียวทั้งหมด ความสำเร็จจะเกิดได้ต้องมาจากความร่วมมือของรัฐบาลและอีกหลายภาคส่วน เงินอาจจะเป็นแรงกระตุ้นในระยะสั้นได้ แต่สุดท้ายแค่เงินยังไม่พอ ฉะนั้นต้องนำเงินจำนวนน้อยของคนจำนวนมากมารวมกันให้เกิดพลัง ไม่ใช่รอเจ้าบุญทุ่มคนใดคนหนึ่งมาลงทุน

ในมุมมองของคนที่เคยผ่านสมรภูมิการเมืองในนามพรรคมหาชน (ปี 2561-2562) หากเทียบกับการเมืองฟุตบอลไทย ทั้งสองสนามนี้มีจุดร่วมหรือมีความแตกต่างกันเพียงใด

ก็ไม่ต่างกันเท่าไรหรอก (หัวเราะ) หลายคนบอกว่าโอกาสเป็น ส.ส.ง่ายกว่าการเป็นนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ แต่เราไม่ได้เห็นด้วยสักเท่าไร ทั้งสองไม่มีอะไรง่ายถ้าคุณจะเป็นด้วยความตั้งใจจริงโดยปราศจากการซื้อเสียง

ในภาพของการเมืองใหญ่มีรายละเอียดที่มากกว่านั้น ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ความเท่าเทียม ขณะที่การเมืองแบบฟุตบอลก็โฟกัสแค่เรื่องของฟุตบอล แต่ความน่ากลัวของการเมืองใหญ่ คือการจ้องหาแผลอีกฝั่ง ยิ่งถ้าคุณมีแผลก็ยิ่งถูกชักจูงง่าย ไม่อย่างนั้นคงไม่เห็นนักการเมืองย้ายฟากไปมาทั้งที่ก่อนหน้าด่ากันจะเป็นจะตาย

แต่ทั้งสองสนามก็มีบทเรียนชัดเจน คือเราจะไม่เดินตามเกมของใคร ไม่สู้ในเกมที่คนอื่นกำหนดเราไม่มีวันสู้เขาได้ เราต้องเล่นในเกมของเราทำในสิ่งที่ถนัด ผลแพ้ชนะไม่สำคัญ พอลลีนจะเป็นนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ หรือไม่เป็นก็ได้ เพราะข้อสำคัญหลังจากนั้นคือเราจะทำอะไร เรามีแผนให้กับไปศึกษาต่อยอดอย่างไรได้บ้าง และเราเชื่อว่าวงการฟุตบอลไทยยังต้องการคนชื่อพอลลีน

ทุกวันนี้ยังคิดถึงบทบาทประธานเชียร์ไทยพาวเวอร์อยู่ไหม

ยังคิดถึงอยู่นะ คิดถึงว่าเราทำไปได้ไง คิดถึงโมเมนต์เสียงเชียร์ในสนาม (ยิ้ม) เราชอบการเชียร์ฟุตบอลเพราะว่าทุกคนเท่ากันหมด คุณจะใหญ่มาจากไหน เป็นรัฐมนตรี เป็นหมอ เป็นคนขับวินมอเตอร์ไซค์พอมารวมทุกคนคือเสียงเดียวกัน

ถึงตรงนี้ฟุตบอลไทยในอุดมคติของพอลลีน งามพริ้ง คือ?

สังคมฟุตบอลไทยต้องมีความสุขและความภูมิใจ นักฟุตบอลสามารถเลี้ยงตัวเองได้ สโมสรก็ต้องมีรายได้ จะเข้ารอบฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายหรือไม่เข้าก็ต้องมีเป้าหมายชัดเจน ฟุตบอลไทยคือเรื่องของ ‘National Improvement’ มีหัวใจสำคัญคือเราจะทำฟุตบอลไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร 

เราเคยเบื่อฟุตบอลไทยนะ อยากหนีไปเป็นนางแบบ อยากถ่ายรูป (หัวเราะ) แต่สุดท้ายรอบตัวเราก็ยังมีแต่เรื่องฟุตบอล เพราะเราอยู่กับมันมาตั้งแต่อายุ 11 ขวบ มันมีค่าและสอนให้เรายอมรับความต่างของคนอื่น เราไม่เคยเอาคำว่าฟุตบอลไปหากินเพราะเรารักมัน ฟุตบอลคือค่าความสุขของเราแทบจะ 100%

Fact Box

  • พยุรีน งามพริ้ง เริ่มเข้าสู่วงการฟุตบอลในฐานะผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มเชียร์ไทยพาวเวอร์ เมื่อปี 2544 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่รวบรวมกลุ่มคนรักฟุตบอลไทย ทั้งปลุกกระแสฟุตบอลไทยช่วงที่ยังซบเซาด้วยรูปแบบการเชียร์ที่เป็นสากลมากขึ้น 
  • ในปี 2550 พยุรีนหรือพินิจในเวลานั้น ตัดสินใจรวมกลุ่มเชียร์ไทยพาวเวอร์ เพื่อขับไล่ วิจิตร เกตุแก้ว นายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ ในเวลานั้น หลังไม่สามารถพัฒนาทีมชาติก้าวไปข้างหน้าและประสบปัญหาเรื่อยมา โดยเฉพาะการเบิกจ่ายเงินสนับสนุนทีมฟุตบอลในลีกที่ล่าช้า ซึ่งวิจิตรอ้างว่า สาเหตุที่ล่าช้าเป็นผลพวงมาจากการทำรัฐประหารในประเทศเมื่อ 19 กันยายน 2549
  • ปี 2562 พยุรีนตัดสินใจก้าวสู่วงการการเมืองในนามพรรคมหาชน โดยถือเป็น ‘บุคคลข้ามเพศรายแรก’ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ
  • การเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ คนที่ 18 จะมีขึ้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นอกจากพยุรีนและมาดามแป้งที่ลงสมัคร ยังมีผู้สมัครรายอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น วรงค์ ทิวทัศน์ อดีตเลขาบริษัท ไทยลีก จำกัด, ธนศักดิ์ สุระประเสริฐ อุปนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ คนปัจจุบัน และคมกฤช นภาลัย ผู้สื่อข่าวสายฟุตบอลไทย
Tags: , , , , ,