พอลลีน งามพริ้ง มีรอยสักสี่ตำแหน่ง ต้นแขนด้านซ้ายเป็นรอยสักขนาดใหญ่ที่แสดงความเป็น ‘ผู้ชาย’ อยู่เต็มร้อย ใกล้กันคือโลโก้ของทีมเชียร์ไทยที่พินิจ งามพริ้ง สร้างเอาไว้เป็นมรดกของเขา อีกรอยสักที่ร้อยเป็นสายสร้อยพาดระหว่างคอ เขียนเป็นข้อความ ‘Sometime Intelligent-Always Independent’ บอกถึงสิ่งซึ่งซ่อนอยู่ก้นบึ้ง ส่วนรอยสักล่าสุดบนท้องแขนซ้าย ‘Personal Uses’ น่าจะเป็นประโยคสั้นๆ ที่ใช้แทนคำพูดของตัวเธอได้ดีที่สุด ถ้าจะถามถึงเพศสภาพที่เปลี่ยนไปแล้วของเธอ

“เราคิดว่าจริงๆ แล้วร่างกายมันเป็นของเรา ที่ผ่านมาเราทำให้คนอื่นมีความสุขสบายใจมาแล้ว วันนี้ขอเอาคืนได้มั้ย ขอใช้เพื่อกิจกรรมส่วนตัว แล้วฉันจะไปอเมริกาเพื่อข้ามเพศ”

ในร้าน Pizza Arena ธุรกิจใหม่ของเธอที่เมืองทองธานี พอลลีนควงมีดได้คล่องมือสมกับที่ฝึกและทำงานในก้นครัวมานานปี เธอเก็บประสบการณ์ในร้านอาหารที่อเมริกา และกอบรวมเอาตัวตนของพอลลีนออกมาแทนที่พินิจ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งเมื่อกลับมาเมืองไทย

หลังพ้นช่วงการประโคมของสื่อ พอลลีนใช้ชีวิตตามแรงขับของตัวเอง เธอปรากฏตัวบนเวทีในฐานะตัวแทนของผู้หญิงข้ามเพศเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการยอมรับและเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่หลายครั้ง เป็นตัวเลือกแรกๆ เมื่อองค์กรหรือแม้แต่พรรคการเมืองต้องการขอคำปรึกษาด้านนโยบายของเพศสภาพที่หลากหลาย และไม่ละทิ้งวงการฟุตบอลที่พินิจเคยมีบทบาทเมื่อมีคำชักชวน เช่นระหว่างนี้ที่เราได้เห็นเธอนั่งวิเคราะห์เกมฟุตบอลโลกอยู่หน้าจอ Voice TV

ใบหน้าของเธอหวานและเรียวขึ้น สรีระได้ส่วนนูนเว้าแบบเดียวกับผู้หญิงด้วยกระบวนการข้ามเพศที่ผ่านเผชิญมา ในรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปนั้น สิ่งที่ชัดเจนอยู่ในความคิดและคำพูดของเธอ คือความซื่อตรงต่อความปรารถนาของตัวเองที่เคยถูกกดทับเอาไว้จนครึ่งชีวิต

เกือบจะครบปีแล้วที่คุณพอลลีนกลับมาเมืองไทย ชีวิตตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ชีวิตเบาขึ้น ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรใหญ่โต ตอนที่กลับจากอเมริกาเราก็ตั้งใจกลับมาทำมาหากินแบบนี้แหละ เป็นผู้หญิงปกติธรรมดา แต่ว่ามีสื่อสนใจเยอะ เลยใช้เวลาตรงนั้นพอสมควร ที่จริงก็ไม่ได้ตั้งตนเป็นนักรณรงค์หรืออะไร เพียงแต่ด้วยเรื่องราวของเราคงทำให้หลายกลุ่มที่ทำงานรณรงค์สนใจ แล้วให้เราช่วยพูด บางทีเราก็ได้ประโยชน์จากการลำดับความคิด เพราะเราก็ศึกษาเรื่องนี้แต่ว่าเป็นมุมมองต่างประเทศ

ก่อนหน้านั้นอยู่เมืองไทยไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย ไม่ได้อยู่ในแวดวงเพื่อนเกย์กะเทยอะไรเลย พอเราเปิดตัวก็มีคนเข้ามาเป็นเพื่อนกันเยอะขึ้น เรียนรู้มุมมอง ได้วิเคราะห์ อย่างเพื่อนที่เป็นทรานส์เจนเดอร์เมื่อก่อนเราก็ไม่กล้าเข้าหา ไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะกลัวปาก (หัวเราะ) กลัวการจิกกัด แต่พอเรารู้จักกันจริงๆ ก็ได้รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ได้มองไปถึงสาเหตุที่เขาโดนเหยียดเลยแสดงออกมาในเชิงเนกาทีฟ เพื่อที่จะปกป้องตัวเอง

การเหยียดเพศในไทยกับอเมริกาต่างกันมากไหม  

มันก็เปิดกว้างในบางรัฐ บางพื้นที่ คล้ายๆ กันกับบ้านเราอยู่ เพียงแต่ว่าที่นั่นเขามีกฎหมายความเท่าเทียมกันที่นำมาใช้ปฏิบัติเยอะ ดังนั้นก็จะไม่มีใครกล้าเหยียดกันโดยตรง แต่ว่าด้วยการพูด ด้วยสายตา ก็ยังมีอยู่ ความเข้าใจก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันนัก

ประหม่าไหมที่เจอสายตาแบบนั้น เพราะตอนนั้นคุณเองก็เพิ่งเริ่มเปิดตัวเอง

ข้อดีคืออยู่ที่นั่นไม่มีคนรู้จัก เราไม่กังวลว่าจะมีใครจำเราได้ว่าเป็นพินิจมาก่อน แต่กว่าจะเปิดได้เต็มตัวก็ใช้เวลาเป็นปีนะ เพราะเหมือนมันมีสายตามอง ซึ่งก็คือจิตอีกด้านหนึ่งของเราที่ยังกังวล หรือถ้าพูดในเชิงจิตวิทยาก็น่าจะเป็นพินิจนั่นแหละที่เขาคอยดูอยู่ พอเปลี่ยนเป็นพอลลีนปุ๊บ พินิจก็จะไม่ค่อยสบายใจแล้วก็หวาดระแวง เป็นจิตอีกด้านหนึ่งของเราที่ค้านกัน แต่ไม่ใช่ค้านแบบผิดกับถูกนะ มันเป็นความคิดที่สอง เป็นความคิดอีกมุมหนึ่งในตัวเรา

อยู่ที่อเมริกาเราก็ค่อยๆ ใช้เวลาจนกระทั่งใช้วิธีบอกโดยที่ยังไม่ได้แปลงร่าง ดังนั้นครอบครัวและคนใกล้ตัวที่เห็นเขาก็ไม่ได้ช็อกอะไรมาก เพราะได้บอกก่อนแล้ว

แต่ตอนเปิดตัว คุณใช้วิธีเขียนจดหมายถึงสื่อ

จริงๆ แล้วสื่อเขามาเห็นเราก่อนนะ เห็นในโปรไฟล์เฟซบุ๊กแล้วก็เอาไปเสนอข่าว เราตกใจเพราะก็ไม่ได้ตั้งใจ ความคิดแรกคือไม่ได้ต้องการบอกสาธารณะ ไม่ได้ปิดบังนะ แต่เป็นเพราะไม่ได้คิดว่าเราสำคัญอะไร พอมีข่าวเราก็ใช้เวลาคิดอยู่สองสามวัน ยังไม่พร้อมที่จะตอบคำถาม เลยทำเป็นการสื่อสารทางเดียว แล้วให้เพื่อนเป็นคนพูดแทน แต่การยอมรับความจริงก็ทำให้เราสบายใจ มันได้ปลดล็อก

หลังจากที่รู้สึกว่ายกภูเขาออกจากอกแล้ว สิ่งหนึ่งที่คิดคือตอนที่เรายากลำบากเราไม่มีไกด์ไลน์อะไรเลยนะ ไม่รู้ว่าทรานส์เจนเดอร์ชื่อดังๆ เขามีเรื่องราวมายังไง เพราะคนนำเสนอเขาในฐานะเซเลบริตี้แล้ว ฉะนั้นเราก็คิดว่าถ้าเรื่องของเรามันจะสามารถเป็นไกด์ไลน์หรือแรงบันดาลใจให้กับคนที่เป็นแบบเดียวกันได้ก็น่าจะดี เลยตัดสินใจเอาชีวิตของตัวเองออกมาให้คนได้รู้

ในจดหมายนั้นคุณบอกว่าอยากจะช่วยให้คนผ่อนคลายในการยอมรับตนเอง สิ่งนี้เป็นเรื่องยากสำหรับการเปิดเผยตัวเองในสังคมบ้านเราหรือ

เราไม่สามารถที่จะผ่อนคลายกับตัวเองได้ถ้าสังคมด้านนอกไม่ผ่อนคลายกับเรา ถ้าครอบครัวยังเหยียดตุ๊ดกะเทยอยู่ เราก็คงไม่กล้า ฉะนั้นความกดดันก็มาจากทั้งด้านนอกและจิตใต้สำนึกของเรา เกิดภาวะกดดันเยอะ ไอ้ข้างในมันอยากจะออกมาอยู่แล้วล่ะ แต่ข้างนอกมันกดไว้ ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิดหรือสังคมโดยรวม ฉะนั้นถ้าเกิดสังคมด้านนอกผ่อนคลายมากขึ้น ไม่เป็นไร เป็นอะไรก็ได้ เพราะนั่นคือพื้นฐานในความเป็นเขา คือตัวตนของเขา คือความเป็นความตายของเขา ไม่ควรจะไปกำหนดหรือกดดัน และถ้าสังคมคลายความกดดัน ด้านในของเราก็จะสามารถผ่อนคลายได้

แต่ข้างนอกบางทีก็เป็นข้างนอกจริงกับข้างนอกปลอม ข้างนอกปลอมคือเราคิดไปเอง ตัวเรามีความกังวลแล้วก็มโนไปเองว่าคนเขาจะไม่ยอมรับ มโนไปเองว่าถ้าเราข้ามเพศแล้วเราจะดูไม่ดี เราจะก้ำกึ่ง ดูประดักประเดิด เราจะดูหน้าตาไม่สวย  มันเกิดจากความคิดที่เกิดขึ้นมาครอบงำเราเองด้วย อันนี้คือความกดดันปลอมจากภายนอก จริงๆ แล้วตัวเรานี่แหละที่กังวล

คุณพอลลีนไลฟ์ทางเฟซบุ๊กค่อนข้างบ่อย คำถามแบบไหนที่มีเข้ามามากที่สุด

จริงๆ ไลฟ์ในเฟซบุ๊กนี่ไม่ได้มีจุดหมายอะไรทั้งสิ้น เป็นการบำบัดตัวเอง เหมือนพูดกับตัวเองเพื่อระบายออกไป แต่ข้อดีก็คือได้พูดคุยกับคนที่ติดตามเรา และได้ตอบคำถาม คำถามส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นเรื่องของความสวยความงาม เรื่องการใช้ฮอร์โมน เรื่องฟุตบอลก็ยังถามอยู่ (หัวเราะ) มีคำถามหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่โฟกัสที่ตัวเรา ขอให้แสดงความคิดเห็นเรื่องฟุตบอลเรื่องการเมืองบ้าง เราก็พูดตามสมควร แต่โฟกัสหลักๆ ก็คือเรื่องการข้ามเพศเป็นส่วนใหญ่

คุณเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า ตอนอายุ 45 เคยไปพบจิตแพทย์ เพื่อให้เขาช่วยแก้ไขจิตใจที่อยากเป็นผู้หญิง เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น   

มันเป็นความทุกข์จากการรู้สึกผิดที่เราจะต้องไปเป็นแบบนั้น คือตอนนั้นเราเริ่มหัดแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผู้หญิงในมุมมืด แล้วก็เกิดความเหนื่อยมาก เกิดความรู้สึกผิด ไม่อยากทำ เหนื่อยก็คือว่าต้องรอชาวบ้านเข้านอนแล้วเราถึงจะออกไป แล้วไม่ใช่ออกไปอะไรนะ แค่แต่งหน้า แต่งตัว ออกไปข้างนอก แล้วก็ลบออกเพื่อกลับบ้าน

เหมือนให้อีกคนที่ถูกกดเอาไว้ได้แสดงตัวตนออกมาบ้าง

ใช่ แล้วพอมันเกิดขึ้นเราก็คิดว่า เอ๊ ไอ้ความคิดแบบนี้มันอยู่กับเราตั้งแต่จำความได้ อยากเป็นผู้หญิง เป็นความต้องการตั้งแต่เด็ก แล้วทำไมมันไม่หายไปสักที ขนาดทำงานทำการ พิสูจน์ตัวเอง ได้รับความยอมรับ พินิจมีตัวตน มีสถานะทางสังคม คนก็ยอมรับว่าแมนเกินร้อย แต่ทำไมความคิดเราไม่หายไปเลย จึงตัดสินใจไปถามหมอว่าตกลงเราเป็นอะไร แล้วมันจะหายมั้ย บอกหมอว่าเรามีความรู้สึกอยากเป็นผู้หญิงตั้งแต่เด็ก เล่าความคิดความฝันของตัวเองให้ฟัง ทั้งฝันกลางวันฝันกลางคืน หมอก็บอกว่า ใช่ เราเป็นคนที่จิตใจตรงข้ามกับเพศโดยกำเนิด

ความฝันแบบไหนที่บ่งชี้ถึงความต้องการที่จะเป็นผู้หญิงของตัวเอง

ในฝันเราจะเป็นผู้หญิง บางฝันก็ไม่รู้ว่าเป็นเพศอะไร แต่จะมีความฝันบางอย่างที่บ่งบอก คือฝันว่าเราถอดเสื้อผ้าทั้งหมดแล้วเดินไปบนถนน พอคนเดินผ่านปุ๊บจะหลบตามเสาไฟฟ้า แล้วสุดท้ายก็เดินไปที่ห้างสรรพสินค้าเพื่อไปซื้อเสื้อผ้าผู้หญิง ซื้อเครื่องสำอาง ซื้อวิกบ้าง จะฝันซ้ำๆ แบบนี้บ่อยมาก แต่ถ้าเป็นฝันกลางวัน เราก็จินตนาการว่าเราเป็นผู้หญิง เราใช้ชีวิตแบบผู้หญิง  แล้วมีความสุขในจินตนาการ ทั้งเรื่องใต้สะดือ เหนือสะดือ ทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเราจะเชื่อมโยงกับความเป็นผู้หญิงของเรา

ทั้งที่คุณพอลลีนก็อยู่กับความต้องการนี้มาครึ่งชีวิต แต่ทำไมเพิ่งจะมาตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่ต้อง ‘เป็นตัวเอง’

เราไม่ได้เปลี่ยนตัวเองในทันที แต่ในเมื่อเราเป็นแล้วเราจะทำยังไงดีล่ะ อยู่ไปก็ไม่มีความสุข สมัยนั้นมันจะมาออนแอนด์ออฟเกือบทุกวัน บางช่วงก็หายไปเลยเป็นปี ช่วงสร้างชมรมเชียร์ไทยใหม่ๆ เรามุ่งมั่นตรงนั้น ก็ไม่ค่อยได้คิด แต่พอทุกอย่างเริ่มลงตัว เรามีเวลาว่างกับตัวเองเราก็จะคิดอีก ตื่นเช้ามามีความรู้สึกและอารมณ์แบบผู้หญิง บอกไม่ถูกว่าเป็นความรู้สึกแบบไหน พออาบน้ำเสร็จออกไปทำงานก็เป็นอีกโลกหนึ่ง อยู่อย่างนี้มานานจนทนไม่ไหวแล้ว ต้องไปบอกจิตแพทย์ เขาก็ชี้ว่า จิตใจเราเป็นแบบนี้ ก็ถามหมอว่ากินฮอร์โมนดีมั้ย เปลี่ยนเป็นผู้หญิงดีมั้ย หมอบอกว่ามันก็ยากนะสำหรับคุณ เพราะว่าคุณอายุเยอะแล้ว และมีคนรู้จัก ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนสังคมไปเลย หรือหายไปเลย แต่สุดท้ายแล้วหมอก็คงพูดไม่ได้หรอกว่าคุณควรจะทำยังไง มันอยู่ที่ตัวคุณ หมอแค่บอกว่าคุณเป็นแบบนี้

เราหาจิตแพทย์สามคนนะ คือผ่านกระบวนการตรงนั้นเกือบสองปีในการที่จะเอายังไงดี หาหมออีกคนเขาก็ยืนยัน คราวนี้ชัดเจนแล้ว ขอให้เขียนใบรับรองแพทย์ให้ด้วยแล้วกัน ถ้าใครไม่เชื่อจะได้เอาให้ดูว่าเราเป็นแบบนี้นะ เพราะเรากลัวว่าไปสารภาพกับใครแล้วเขาจะไม่เชื่อ จนสุดท้ายไปหาหมอคนที่สาม ก็เหมือนกันอีก (หัวเราะ) จริงๆ ผลก็แน่นอนตั้งแต่คนแรกแล้วล่ะ แต่มันเป็น denial period คือการปฏิเสธตัวเอง หลังจากหาหมอคนที่สองเราก็เริ่มซื้อฮอร์โมนมาเก็บไว้เดือนนึง แต่ว่ายังไม่ได้ใช้ ลังเล จนกระทั่งมีอยู่วันหนึ่งก็ไม่ไหวแล้ว เป็นการเดินทางที่ไม่ไหลย้อนกลับแล้ว (หัวเราะ) เขาบอกว่ากินแล้วมันไม่มีทางกลับไปแบบเดิม มันไม่ใช่ยาเสพติดนะ แต่มันเป็นสัญลักษณ์ที่จะทำให้เราแสดงออกเป็นผู้หญิงได้มั่นใจมากขึ้น

หลายคนเป็นทรานส์เจนเดอร์มีความรู้สึกเป็นผู้หญิงโดยไม่ได้ใช้ฮอร์โมน แต่เราดูตัวเองในกระจกแล้วเราอยากเป็นเฟมินีน เราก็เลยใช้ แต่ก็กินๆ หยุดๆ จนกระทั่งไปอยู่อเมริกา เราไปหาหมอฮอร์โมน เพราะที่โน่นต้องใช้ใบสั่งยา ทีนี้เลยใช้อย่างมีความมั่นใจ ไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว เกือบสองปีก็ไม่ได้หยุดเลย

เคยคิดบ้างไหมว่าคุณให้พอลลีนแสดงตัวออกมาช้าเกินไป

คิด แต่ไม่ได้เสียดายอะไร มันเป็นแบบนี้แหละ คือถ้าเราเป็นตั้งแต่ก่อนหน้านั้นมันก็แค่อาจจะเหมือนผู้หญิงมากขึ้น กระดูกหรือสรีระก็คงเป็นผู้หญิงเพราะใช้ฮอร์โมนตั้งแต่เด็ก แต่เรามาคิดดูทุกอย่างมีเหตุผลและมีข้อดีของมัน โคตรจะคุ้มค่าเลยเพราะเราใช้ชีวิตแบบผู้ชายมาแล้ว เราได้ฝ่ากำแพงนั้นมาแล้ว และไม่ได้ฝ่ามาโดยที่ไม่รู้ไม่เห็นอะไร เราเห็นมาทุกอย่างแล้วเราถึงจะฝ่า ทางมันตันแล้วเราถึงฝ่า ถ้าเราเปลี่ยนตอนนั้นเราก็อาจจะไม่ได้มีความสุขเท่ากับตอนนี้ก็ได้ เพราะในความเป็นจริง การเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ต้องเผชิญกับปัญหาในสังคมในชีวิตเหมือนๆ กันนั่นแหละ เพียงแต่เราจะรับมือกับมันยังไงแค่นั้นเอง

ความสุขตอนนี้ก็คือความตื่นเต้น ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่มุมมองที่เราเห็นโลกมันใหม่ แล้วเราก็มีความสนุกสนานในการที่จะเผชิญ

ตอนเป็นเด็กคุณต้องฝึกความเป็นผู้ชาย แล้วตอนนี้ที่คุณต้องฝึกความเป็นผู้หญิงอีก ตอนไหนยากกว่ากัน

ตอนเป็นผู้ชายยากกว่าค่ะ ทรมาน หินกว่าเยอะ ใช้กระบวนการทั้งหมดยี่สิบสามสิบปี ค่อยๆ ทีละนิดๆ เริ่มตั้งแต่มือไม้ ต้องทะมัดทะแมง ต้องเข้มแข็ง บางทีก็ต้องแข็งกร้าว ท่านั่งเราก็ต้องฝืนตัวเองจนกระทั่งกลายเป็นแบบนั้นไปเลย แล้วโดยสรีระมือเราเป็นแบบนี้ (เหยียดมือที่โค้งเป็นวงโดยธรรมชาติ) เวลาประชุมหรือคุยกับมาฟงมาเฟียก็ต้องเก็บ (หัวเราะ) เราต้องมีสติตลอดเวลาในการอยู่โลกภายนอก ต้องควบคุมตัวเอง แต่จะมีสิ่งหนึ่งที่คานไว้ว่าเราจะไม่แข็งกระด้าง ดังนั้นพินิจก็เป็นคนที่แข็ง แต่มีความอะลุ้มอล่วย อ่อนโยน ที่หลายคนมองว่ามีความอบอุ่นอยู่ในนั้นก็เพราะว่ามันมีความเป็นผู้หญิงมาคาน แต่พอเป็นผู้หญิงเราไม่ได้ต้องฝึกอะไรเท่าไร มันมาเอง (หัวเราะ)

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เราเป็นผู้ชายคือตอนประมาณประถมหนึ่ง มีเรื่องกับเพื่อนแล้วชกต่อยกัน ทีนี้พ่อก็ดีใจเพราะพ่อเป็นนักมวยและเป็นตำรวจด้วย ก็เลยให้รางวัลเราโดยการให้เงินไปโรงเรียนเพิ่มอีกห้าบาท เขาดีใจมากที่จากติ๋มๆ แล้วเราสู้คน แต่มีข้อแม้ว่าห้ามไปแกล้งใครก่อนนะ เราก็ดีใจ รู้สึกว่ามันเป็นรางวัลในการที่เราแสดงออกถึงความเป็นผู้ชาย แล้วเราก็พยายามฝึกฝน พ่อเราเป็นคนออกกำลังวิ่งทุกเช้า เราก็จะขอพ่อไปวิ่งด้วยอยู่หลายปี ซ้อมมวยกับพ่อ สรีระที่อ้อนแอ้นก็แข็งแรงขึ้น แล้วเริ่มพิสูจน์ตัวเอง แต่จะเป็นนักมวยอาชีพพ่อก็ไม่ให้เป็น เขาบอกว่ามันเจ็บ เขาก็รู้นั่นแหละว่าเราเป็นยังไง เราก็เลยไปเตะฟุตบอลแทน ตอนแรกก็ไม่มีความมั่นใจอะไร ผอม ตัวขาว สุดท้ายก็สามารถเล่นทีมโรงเรียน แล้วพออายุ 16-17 ในขณะที่เพื่อนทีมโรงเรียนเตะกับนักเรียนด้วยกัน เราไปเตะทีมชุดใหญ่ของสโมสรระดับไทยซ็อคเกอร์ลีกแล้ว เป็นระดับประเทศ เออ มันก็ได้นี่ แล้วเราก็สนุกกับการฝึกเป็นพินิจ นอกจากสรีระก็คือบุคลิกภาพ เรื่องของความรู้ความสามารถ การทำงาน ก็ผ่านกระบวนการหล่อหลอมจนกระทั่งมีความมั่นใจว่าเป็นผู้ชายได้ดีแล้วก็คือตอนอายุสามสิบ

แบบอย่างของผู้ชายที่คุณอยากให้พินิจเป็นนั้นได้มาจากไหน

ในความเป็นจริงพินิจน่าจะเป็นผู้ชายในอุดมคติของพอลลีนนี่แหละ ในเมื่อเราเป็นผู้หญิงไม่ได้ เราก็ต้องเป็นผู้ชายที่เราชอบ เราก็เลยเป็นแนวนั้น ถามว่าตอนนั้นมีผู้หญิงเข้ามาเยอะมั้ย ผู้หญิงไม่ค่อยกล้าเข้ามา เพราะด้วยมาดของเขาจะนิ่งๆ บางทีพินิจรู้แต่ทำเป็นไม่รู้ ยกเว้นว่าเวลาคุยกับเพื่อนผู้หญิงเราก็เอาพอลลีนออกมาคุย เพื่อนๆ ก็เลยไว้วางใจที่จะคุยกับเรา แล้วตอนนี้พอเป็นพอลลีนปุ๊บ ยิ่งไว้วางใจใหญ่เลย (หัวเราะ)

แล้วตอนนี้เป็นพอลลีนได้ดีที่สุดอย่างที่พินิจเคยเป็นผู้ชายได้ดีที่สุดหรือยัง

ไม่รู้ เพียงแต่ว่าก็เป็นธรรมชาติ จริงๆ ไม่ได้ดีที่สุดหรอก แต่ไม่ได้ยากเหมือนตอนที่เปลี่ยนตัวเองให้เป็นผู้ชาย ความยากตอนนี้มันมีแค่ใครจะว่าอะไรหรือเปล่า สิ่งที่ต่อสู้กันอยู่คือความรู้สึกผิดในตัวเรา พินิจจะคอยเตือนอยู่ว่าอย่าเป็นผู้หญิงแบบนั้นๆ

แล้วเขาอยากให้คุณเป็นผู้หญิงแบบไหน

จะไม่ใช่ผู้หญิงที่อยู่ในเมืองไทยหรอก จะคล้ายๆ ผู้หญิงในหนังบู๊ อาจจะเป็นผู้หญิงของเจมส์ บอนด์ คือมีลูกบู๊ เซ็กซี่ได้ มีความทะมัดทะแมง ไม่ใช่ใส่ชุดราตรีทุกวัน หรือใส่กระโปรงทุกวัน นั่นคือผู้หญิงที่พินิจต้องการ จริงๆ ก็คือตัวพอลลีนนั่นแหละที่เป็นผู้หญิงแบบนั้นเพื่อเอาใจพินิจ แต่ก็ต้องมีการตบให้เข้าที่เข้าทาง ตอนแรกๆ อยู่อเมริกา สังคมเขาเปิด เราก็จะแรดไปเลย ใส่กางเกงขาสั้นเดินทุกวัน แต่งตัวออกโป๊ๆ หน่อย โดยเฉพาะหน้าซัมเมอร์

แต่สุดท้ายการเป็นผู้หญิงก็ยากพอสมควร การสร้างบุคลิกภาพของผู้หญิงที่เราต้องการจะเป็น ซึ่งผู้หญิงข้ามเพศหลายคนอาจจะไปตามคนอื่นมากเกินไป หลายคนเหมือนก็อปปี้มาจากบล็อกเดียวกันก็เพราะไปตามต้นแบบเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงความเป็นผู้หญิงจะต้องหลากหลาย แล้วทำไมเราจะต้องเป็นผู้หญิงข้ามเพศในบล็อกเดียวกัน

สำหรับใครสักคนที่อาจกำลังอยู่ในภาวะแบบที่คุณเคยเผชิญ เขาควรเริ่มต้นอย่างไรเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เคารพตัวเองด้วย

ต้องเริ่มจากมีเป้าหมายแล้วซอยแบ่งเป้าหมายเป็นเป้าเล็กเป้าใหญ่ เราต้องกำหนดเป้าหมายระยะสั้นในแต่ละช่วง เพราะถ้าเรามองเป้าหมายใหญ่เกินไปเราจะท้อแล้วไม่กล้าเดิน สมมติจะขึ้นภูเขา มองยอดเขาเอเวอเรสต์มันสูงมากนะ แต่เราจะมองที่เบสหนึ่งเบสสองก่อน แล้วเดินทุกวัน เขาบอก ‘win a small war everyday’ ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ไว้

หรือถ้าพูดถึงการข้ามเพศก็คือ เริ่มเป้าหมายจากการเอาชนะใจตัวเองก่อน สำรวจตัวเองก่อนว่าตัวเองเป็นหรือไม่เป็น อย่าเพิ่งไปคิดถึงการผ่าตัดแปลงเพศ มันไกลเกิน เอาแค่เริ่มจากซื้อฮอร์โมนที่ไหน จะกินยังไง แล้วจะบอกใครบ้าง ยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องทำหน้าอกอะไรนะ เราจะบอกใคร เราจะเปิดเต็มตัวเมื่อไร

อย่างของคุณพอลลีนเอง คุณเริ่มจากบอกใครก่อน แล้วบอกใครเป็นคนสุดท้าย

คนแรกคือภรรยา แล้วก็แม่ น้องชายไม่ได้บอก แต่แม่ก็บอกน้องชาย เสร็จแล้วก็บอกชมรมเชียร์ไทย บอกผู้ใหญ่ที่เรานับถือ แล้วก็มาประธานชมรมเชียร์ไทย เพื่อนสนิทในชมรม เพื่อนโรงเรียน จนสุดท้ายก็มาบอกพ่อ คนอื่นๆ ยังไม่ได้บอกใครเท่าไรเลย ก็เป็นข่าวออกมาก่อน ทีนี้เลยไม่ต้องบอกใครมากแล้ว (หัวเราะ)

คือเริ่มจากคนใกล้ตัวที่เราไว้ใจที่สุดก่อน ค่อยขยับไปที่คนไกลตัวทีละนิด แล้ววกกลับมาที่พ่อ

คนใกล้ตัวที่จำเป็นและที่ไว้ใจ พ่อไม่ใช่คนสุดท้ายหรอก แต่ก็รู้ก่อนสาธารณชนนะ ยังโชคดีที่พ่อรู้ก่อน ไม่งั้นจะกังวลกลัวว่าพ่อจะตกใจ คือตอนแรกกลัวว่าการบอกพ่อจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุด เพราะพ่อเป็นคนที่สอนเราหลายอย่างในเรื่องความเป็นผู้ชาย เช่น อย่าให้ใครเห็นน้ำตา แล้วเราก็ไม่เคยเห็นน้ำตาพ่อจริงๆ ปู่ตายย่าตายพ่อไม่เคยร้องไห้ แล้วก็อีกหลายอย่างที่เรารู้สึกว่าไม่กล้าบอก จนสุดท้ายลูกชายเราเป็นคนบอก เพราะพอลูกชายรู้ เราก็บอก “ลูก พ่อไม่กล้าบอกปู่” (หัวเราะ) แล้วลูกชายก็บอกว่า “เดี๋ยวผมไปบอกให้” เขานั่งรถเมล์ไปหาปู่ ไปบอกปู่ เขาสุดยอดมากๆ เลยนะ แล้วสิ่งที่พ่อทำก็คือพ่อโทรกลับมาเลย ถ่ายรูปกับหลานส่งมา บอกลูกไม่ต้องกังวล ลูกก็ยังเป็นลูกพ่อเหมือนเดิม ไม่ต้องไปอายใคร อันนี้เป็นความภูมิใจว่าไปๆ มาๆ คนที่ยากที่สุดกลายเป็นคนที่ง่ายที่สุด

 

อยากจะบอกถึงทุกคนเลยว่า อย่าไปคิดว่าพ่อแม่เขาไม่รู้หรือว่าพ่อแม่เขาไม่เข้าใจ เพียงแต่ว่าบางทีเขาไม่อยากให้เราเป็นก็เพราะเขากลัวว่าเราจะมีชีวิตด้วยความยากลำบากแค่นั้นเอง พอเราไม่บอกเขาก็ไม่พูด เพราะเขาคิดว่าเรายังไหวอยู่ แต่วันที่เราไม่ไหว เราต้องบอกเขาเนี่ย เขาไม่มีปัญหาเลย เพราะเขาเห็นเรามาตั้งแต่เด็กไง ได้เท่านี้ก็ดีแล้ว (หัวเราะ)

มันคือความรักน่ะ พอลลีนจะบอกว่าเวลาคุยกับพ่อแม่นี่อย่าไปกลัวมาก ยังไงเขาก็รักเรา แต่ขอให้พูดความจริงก็แล้วกัน เรามาแบบตรงๆ แล้วเน้นเรื่องความรัก ขอบคุณ กับพ่อแม่นี่นะ อย่าไปคิดว่าเราเหนือกว่าเพราะยังไงเขาก็รักเรา อย่าได้ใจ ถ้าคุณซื่อสัตย์กับเขา คุณจะได้การยอมรับ คุณจะได้ทุกอย่าง

แต่ก็ต้องอาศัยความกล้าด้วย

ตามสถานการณ์นะ ความกลัวมันมีทุกคนแหละ ถ้าไม่เข้าตาจนจริงๆ มันก็ไม่กล้า พอลลีนก็ไม่ใช่คนกล้าอะไร แต่พินิจไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้วไง ก็ต้องกล้าเพื่อเอาชีวิตให้รอด หลังชนฝามาก็ต้องสู้ ดังนั้นความกล้าจึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ สถานการณ์ตรงนี้มันจำเป็นเพื่อให้ตัวเองรอดในฐานะพอลลีน แล้วพินิจก็รอดด้วยเพราะไม่อย่างนั้นอาจจะไม่มีชีวิตอยู่ ที่พูดแบบนี้เพราะอยากจะให้หลายคนในสังคมเข้าใจว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องรสนิยมทางเพศ แต่มันคือตัวตนที่จำเป็นที่เขาจะต้องมี

การได้เจอตัวตนและได้เป็นตัวเองที่แท้จริง มันสร้างพลังให้ตัวเองอย่างไรบ้าง

พลังในการมองโลกในแง่บวก พลังในการที่จะมีความสุขและเอนจอยกับความเป็นตัวเอง มันเบสิกที่สุดเลย แต่คนมองข้ามมันไป แล้วไปแสดงออกในความสุขที่ไกลตัว พอลลีนมีความสุขง่ายมาก แค่ตื่นมาเราได้ดูกระจกก็มีความสุข ก่อนจะนอนที่เห็นเราไลฟ์ดึกๆ ก็เพราะว่าไม่อยากนอน เราอยากอยู่กับตัวเอง อยากเห็นตัวเอง ตอนนี้เราเป็นโรค LATMTM รู้จักมั้ยคะ looking at the mirror too much (หัวเราะ) คนที่เทคฮอร์โมนใหม่ๆ จะเป็นโรคนี้ มันคือการได้ชื่นชมความเป็นตัวของเรา ไม่ต้องเหมือนใคร ไม่ต้องสวยกว่า ไม่ต้องน่าเกลียดกว่า

ชีวิตของพอลลีนดูจะมีความสุขกว่าพินิจ แต่ก็มีครั้งหนึ่งที่คุณตั้งหัวข้อในการพูดคุยขึ้นมาว่า ‘เป็นกะเทยไม่ใช่เรื่องสนุก และมันก็ไม่ตลก’

มันสนุกค่ะ แต่กระบวนการมันไม่สนุก เราไม่ได้เป็นเพราะว่าอยากโชว์นม เราไม่ได้เป็นเพราะว่าอยากมีผู้ชาย ไม่ได้อยากเป็นตัวตลก จริงๆ มันก็คือการตอบโต้คนที่เอาความเป็นกะเทยไปล้อนั่นแหละ แต่เราไม่ต้องการไปกระทบใคร หลายคนที่มีความคิดเหยียด ความคิดล้อเลียน ก็เพราะเขามองจากมุมในโลกทัศน์แคบๆ ของตัวเอง

สาเหตุที่กะเทยคนหนึ่งเขาเป็นคนสนุกและตลกก็เพราะเขามีความสุข เขามองโลกในแง่ดี เขาจึงเป็นคนพูดเล่นหยอกล้อกันได้ แต่ไปดูเรื่องราวของทุกคน เขาไม่ได้ง่ายเลยสักคนเดียว ต่อให้เป็นตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ยอมรับตั้งแต่เด็ก ก็ไม่ง่าย เรื่องราวของเขาจริงๆ แล้วมันไม่สนุกเลย มันเต็มไปด้วยความยากลำบาก มีสิ่งที่จะต้องต่อสู้เยอะแยะไปหมด เช่น อยากเป็นผู้หญิง เอาเสื้อผ้าที่ไหน ตั้งแต่เด็กเลยก็ไม่มีเสื้อผ้าเด็กผู้หญิงเพราะว่าเขาเกิดมาเป็นผู้ชาย พ่อแม่ก็ซื้อเสื้อผ้าผู้ชายให้ เขาก็ต้องต่อสู้เพื่อจะให้ได้มีเสื้อผ้าผู้หญิง เอาของพี่มาใส่ เอาของแม่มาใส่ เริ่มตั้งแต่ตรงนั้นเลย

 

หรือเครื่องสำอาง อยู่ๆ คงไม่มีเด็กผู้ชายคนไหนที่พ่อแม่ยอมให้เล่นเครื่องสำอางโดยไม่มีเงื่อนไข ก็ต้องไปแอบแต่ง จนเริ่มโตเป็นวัยรุ่น อยากสวย ก็เทคฮอร์โมน แอบทาลิปสติกกับเพื่อนผู้หญิง ไม่ให้ครูเห็น ไม่ให้พ่อแม่เห็น ก่อนกลับบ้านต้องลบหน้าให้เป็นผู้ชาย จนกระทั่งพอเป็นสาวก็ต้องเจ็บตัว อยากมีหน้าอกก็ไปเสริมหน้าอก ใช้เงินก็เยอะ กว่าจะครบเครื่องเป็นผู้หญิงสมบูรณ์แบบก็ต้องหลายแสนที่จะผ่าตัดแปลงเพศ เงินอย่างเดียวไม่เท่าไร นี่เจ็บด้วย กระบวนการมันเยอะแยะ เสร็จแล้วก็เพื่อจะให้คนมาบอกว่า อีกะเทย อีตัวตลก ไม่มีใครอยากเป็นแบบนั้นหรอก แต่คนพวกนั้นเขามองในมุมผิวเผิน ฉาบฉวย เป็นมนุษย์ผิวน้ำ คือไม่มองลงไปก้นบึ้ง เห็นแต่ยอดภูเขาน้ำแข็ง โลกเราเต็มไปด้วยมนุษย์ผิวน้ำ และเรื่องพวกนี้ก็เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ เพราะมีมนุษย์ผิวน้ำแบบนี้แหละ

จนถึงทุกวันนี้บ้านเรามีกลุ่ม Transgender หรือ LGBTQ ที่เปิดตัวเองเยอะขึ้นกว่าเดิม แต่ดูเหมือนสังคมก็ยังไม่ยอมรับเท่าที่ควรจะเป็น

มันเป็นธรรมชาติของคน จะด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีอะไรก็แล้วแต่ มันมีเป็นพันปีมาแล้วล่ะ เป็นขนบธรรมเนียมที่จะต้องคอนโทรลคนเอาไว้ด้วยศาสนา ศีลธรรม กฎหมาย มันจำเป็นต้องคอนโทรล ไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก แต่เราแค่ตกเป็นเหยื่อของการปกครองให้อยู่ในกรอบ เพื่อจะได้ควบคุมง่าย แค่นั้นเอง แต่ในเรื่องความแตกต่างของเพศสภาพ ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นนะ ไม่ได้อยู่จุดเดิมตลอดเวลา จักรวาลมันขยายไปเรื่อยๆ ทีนี้เราพอใจแล้วหรือยัง และถามว่าความพอใจอยู่ตรงไหน ต้องการเป็นนางสาวมั้ย ต้องการ แต่ถ้ามันไม่ได้ ก็ไม่ตาย เอาทีละอย่าง

เราก็พยายามคิดถึงโลกในอุดมคตินะ เพราะถ้าเราไม่คิดเลยมันก็จะแย่ลงๆ แต่โลกในอุดมคติมันไม่มีขึ้นจริงหรอกเพราะว่าเป็นอุดมคติไง เราก็ต้องอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่เราไม่ควรมีความคิดยอมจำนนต่อโลกแห่งความเป็นจริงมากเกินไป เราจะต้องพยายามคิดถึงโลกในอุดมคติด้วย เพื่อไปสู่จุดที่ใกล้เคียงที่สุด เราอาจจะไปไม่ถึง รุ่นลูกของเราอาจจะไปไม่ถึง คนที่เผชิญปัญหาเดียวกับเราอาจจะเป็นเหลนเราในอนาคตมาเป็นกะเทยบ้างก็ได้ แล้วเขาก็อาจจะต้องเผชิญกับปัญหานี้ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ทำแค่เพื่อต้องสำเร็จในตัวเองว่าทุกคนยอมรับ ไม่ใช่ ถ้ามีใครไม่เข้าใจเราก็จะต้องอธิบาย ไม่โกรธเขา ไม่เกลียดเขา แต่อธิบายว่ามันเป็นแบบนี้ มันไม่สนุก มันไม่ตลก มันเป็นชีวิต สมมติเราเจอคนเหยียดแล้วเราไม่อธิบายเลย คนคนนี้ก็คงไปเหยียดคนอื่นต่อ แล้วก็คงถ่ายทอดสายพันธุ์แห่งการเหยียดไปสู่รุ่นลูกเราเหมือนกัน แล้วเขาก็ไปเหยียดลูกเรา เหยียดหลานเรา ไปเหยียดเหลนเรา ไปเหยียดคนรุ่นหลังๆ ไปอีก

คุณเคยมีการตอบโต้ที่รุนแรงกลับไปมั้ย เวลาเจอคนเหยียดต่อหน้า หรือแม้แต่คอมเมนต์ไม่สุภาพ

ก็ต้องจัดการแบบละมุนละม่อมด้วยการไม่มีอคติ สิ่งที่เราเหนือเขาคือเราเข้าใจเขา อ๋อ มันเป็นแบบนี้นะ แต่ถามว่าเราจะโต้ตอบทุกกรณีมั้ย คงไม่ เดี๋ยวเขาคงรู้เอง หรือถ้าจะโต้ตอบก็คือเอาให้เราสบายใจ ไม่ต้องไปทุ่มทุนมากในการต้องโต้ตอบ อย่างครั้งหนึ่งพอลลีนไปร้านอาหาร มีนักดนตรีพูดดูถูกเหยียดหยามเราต่อหน้าออกไมโครโฟน เราก็โต้ตอบด้วยการเช็กบิลทันทีแล้วเดินออกจากร้าน แต่ก่อนออกก็พูดกับเจ้าของร้านว่า เราเป็นลูกค้าเหมือนกัน จะเพศไหนก็ตาม แล้วจริงๆ ดิฉันก็เป็นผู้ชายมาได้ดีกว่าหลายคนที่อยู่ในนี้ ฉะนั้นเข้าใจ แต่เขาก็บอกว่าพี่เอนจอยเถอะ จะได้มีความสุขกลับบ้านไป เราบอกใช่ แต่มันต้องมีความสุขเท่าๆ กันหรือเปล่า ไม่ใช่แค่พวกคุณเท่านั้นที่มีความสุข แล้วคุณจะให้ไอ้คนที่ถูกเหยียดมันมีความสุขได้ยังไง

อีกสักสองสัปดาห์ เราก็ลองให้โอกาสเขาดูซิว่าเขาจะว่ายังไง ด้วยการกลับไปร้านนั้นใหม่ คุณคนนั้นที่พูดออกไมค์ก็เข้ามาขอโทษอย่างจริงใจ เพราะเขาก็รู้สึกผิด อันนั้นแหละคือการตอบโต้ของเราอย่างสวยๆ ไม่ต้องไปด่าชี้หน้า ก็แค่นั้นเอง

อย่างน้อยเหตุการณ์นั้นก็ทำให้คนคนหนึ่งเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศขึ้น

ใช่ ถือว่าคุ้ม ตอนนั้นมีความคิดนะว่าจะโต้กลับแบบรุนแรง ใช้ความก้าวร้าวของพินิจ (หัวเราะ) สุดท้ายก็ดีใจที่ไม่ได้ทำแบบนั้น เพราะพอลลีนบอกว่าฉันต้องการสวย ฉันไม่ต้องการเป็นนักเลง แล้ววิธีของพอลลีนก็ได้ผล ตอนที่นักดนตรีคนนั้นวางไมค์แล้วเดินลงมาขอจับมือเรา ขอโทษที่พูดไปแบบนั้น เราก็บอกว่าขอบคุณค่ะที่ขอโทษ ถ้าพูดถึงวันนั้น ไม่โกรธนะ แต่เสียใจมาก กลับบ้านไปเกือบจะร้องไห้ น้ำตาไหล บอกให้เขารู้ว่าคำพูดคำเดียวของเขามันเฮิร์ตเราขนาดไหน แต่เมื่อเขาขอโทษแล้วก็จบ ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้อีก แล้วตอนหลังเราก็เป็นเพื่อนกัน

มันมีวิธีตอบโต้หลายแบบในการต่อสู้กับการเหยียด แต่บางคนยอมแพ้ไง โอเค เหยียดใช่มั้ย อย่างนั้นฉันก็จะเป็นตัวตลกให้ถึงที่สุดไปเลย เหมือนคนที่เราบอกว่าไอ้นี่มันเลว คนนั้นไม่เปลี่ยนเป็นคนดีหรอก แต่มันจะเลวจนถึงที่สุดไปเลย ดังนั้นคนที่ถูกเหยียดหลายคนก็คือว่าเหยียดฉันว่าเป็นกะเทยใช่มั้ย เดี๋ยวจะเรียกตัวเองว่ากะเทยให้ดู ไม่ต้องมีใครมาด่า ฉันด่าตัวเอง ก็เลยกลายเป็นตลกไป

สำหรับพอลลีน พอลลีนไม่ได้อยากเป็นกะเทย พอลลีนอยากเป็นผู้หญิง เพียงแต่คนอื่นเรียกว่ากะเทยแล้วเขาเข้าใจ แต่มันมีความสับสนอยู่ว่าเกย์ก็เรียกตัวเองว่ากะเทย ถ้าอย่างนั้นพอลลีนก็ไม่ใช่กะเทย แต่ถ้าบอกว่าพอลลีนเป็นกะเทย งั้นเกย์ก็ไม่ใช่กะเทย ไม่ใช่ว่าพอลลีนไม่ชอบกะเทยนะ แต่พอลลีนไม่ได้อยากเป็นกะเทย พอลลีนไม่ได้อยากเป็นเกย์ พอลลีนอยากเป็นผู้หญิง เพียงแต่ว่าสังคมเขาเรียกกันแบบนี้ แล้วผู้หญิงก็มีทั้งผู้หญิงนุ่มนวล ผู้หญิงห้าว พอลลีนก็ซอฟต์นะ แต่ถ้าออกอารมณ์ก็จะมีขึ้นนิดนึง (หัวเราะ) พินิจจะกลับมา

ทุกวันนี้ยังเห็นพินิจอยู่ในตัวเราอยู่มั้ย

มองกระจกแล้วไม่เห็น แต่ว่าคุยกันอยู่ แล้วก็คานๆ กันอยู่ ตอนนี้พอลลีนยึดอำนาจเบ็ดเสร็จแล้ว พินิจเป็นฝ่ายค้าน สมัยก่อนพอลลีนเป็นฝ่ายสนับสนุนพินิจ แต่เขาไม่ให้เครดิตเราเลย เขาไม่ให้ใครรู้เลยว่ามีเราอยู่ ขังไว้เลย แต่เราซึ่งเป็นพอลลีน ยอมรับว่ามีพินิจอยู่นะ เขาก็มีหน้าที่ค้าน มีหน้าที่ทำให้เราเป็นผู้หญิงแบบที่เขาชอบ

คิดอยากจะมีครอบครัวอีกไหม

พอลลีนไม่ได้คิดจะสร้างครอบครัวใหม่ เพราะที่มีอยู่ก็พอแล้ว อยากมีเพื่อนที่คุยกันได้ เข้าใจและยอมรับ ไม่ว่าเพศอะไรก็แล้วแต่ จะเรียกว่าคู่ชีวิตเหรอ ถ้าแบบนั้นก็ใช่ เช่น ถ้าสมมติผู้หญิงบอกว่าชอบพอลลีนเพราะพอลลีนยังมีอวัยวะเพศชายอยู่ พอลลีนก็จะบอกเขาว่าแต่ยูต้องเอานมไอไปด้วยนะ จะเอาไปแต่อวัยวะเพศชายไม่ได้ แล้วพอลลีนก็ไม่ได้จำเป็นต้องผ่าตัดแปลงเพศ มันสำคัญที่ว่าคนที่อยู่กับเราควรต้องยอมรับในความเป็นเรา เข้าใจเราทุกอย่าง และแชร์ความรู้สึกกันได้ ไม่ใช่ถึงวันหนึ่งมาเรียกเราว่า อย่างเก่งก็เป็นกะเทยวะ ซึ่งอันนี้เรารับไม่ได้ ดังนั้นถ้าจะมีก็ต้องมองข้ามเรื่องเพศสภาพไปเลย แล้วสื่อสารกันด้วยหัวใจจริงๆ ซึ่งขณะนี้ก็มีเพื่อนที่เป็นเพื่อนจริงๆ แต่ไม่ได้ลึกซึ้งหรืออยู่ด้วยกัน ยังอยู่ในเส้นแบ่งระหว่างความเป็นเพื่อน

Fact Box

พอลลีน งามพริ้ง หรือเดิมคือพินิจ งามพริ้ง เกิดในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นตำรวจ และคุณแม่มีร้านเสริมสวย เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เคยผ่านงานด้านสื่อมวลชน นักการตลาดและการประชาสัมพันธ์ ความที่เคยเป็นนักฟุตบอลในทีมระดับมาชาติก่อน ทำให้เขายังคงชื่นชอบในฟุตบอลกระทั่งตั้งชมรมเชียร์ไทยขึ้นมาในปี 2544  และจัดกิจกรรมนำสมาชิกเข้าร่วมเชียร์ฟุตบอลทีมชาติไทยจนเป็นที่รู้จัก

ในสถานะของพินิจ งามพริ้ง เขาผ่านการสมรส และมีครอบครัว ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการเดินทางไปอเมริกา และกลับมาพร้อมกับสถานะการเป็นผู้หญิงข้ามเพศ จนเป็นที่ฮือฮาเมื่อปี 2560

ในวัย 51 ปี ปัจจุบันพอลลีนมีบทบาทในการช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และสนับสนุนให้คนยอมรับตัวเองเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นตัวของตัวเอง เป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายเพศสภาพที่หลากหลายให้กับบางองค์กร เป็นที่ปรึกษาให้กับชมรมเชียร์ไทยที่พินิจก่อตั้งมา และมีอาชีพหลักเป็นเจ้าของแบรนด์ Pizza Arena ที่ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะเปิดแฟรนไชส์ในอนาคต

Tags: , , , ,