“ผมขอเปลี่ยนเสื้อสักครู่นะ เพิ่งออกมาจากโรงงานสดๆ ร้อนๆ”
…
เขาปรากฏตัวอีกครั้งด้วยเสื้อยืดสีขาวสกรีนข้อความว่า ‘อาสาจับตาเลือกตั้ง’ พร้อมกับสวมหมวกสีเขียวใบใหม่ปักข้อความที่มีความหมายเดียวกันว่า ‘Protect Our Vote’
“คุณจะสัมภาษณ์อะไรก็ได้ แต่ประเด็นหลักของวันนี้ ผมขอให้เป็นการเลือกตั้งได้ไหมครับ”
ประโยคสนทนาผ่านสายโทรศัพท์ระหว่างฉันกับ เป๋า-ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เมื่อวันก่อนหวนมาอีกครั้งหลังเห็นการแต่งตัวของเขา ที่เพียงแวบแรกก็ยืนยันได้ว่า บุคคลผู้นี้ต้องมารณรงค์การเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมที่จะถึงนี้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
ถ้ายึดตามเหตุผลเรื่องงาน เป๋า-ยิ่งชีพ เป็นที่จดจำในฐานะผู้จัดการ iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557
ทว่าหลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตาเขาจากการปรากฏตัวในประเด็นรัฐธรรมนูญ การลงประชามติ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การลงเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การละเมิดสิทธิเสรีภาพโดย คสช. หรือคุ้นหน้าคุ้นตาจากการขึ้นเวทีตามม็อบต่างๆ
แต่ความพิเศษสำหรับเขาผู้นี้ คือสามารถทำภาษากฎหมายที่ดูเข้าใจยากแลสูงส่ง ให้ง่ายเป็นภาษาของมนุษย์ทั่วไปได้
รอบนี้ iLaw ทำแคมเปญ ‘Protect Our Vote’ ชวนประชาชนจับตาการเลือกตั้ง และ ‘ปกป้อง’ ทุกคะแนนเสียงที่ลงไป ไม่ให้ กกต.เล่นตุกติก หรือเกิดความผิดปกติขึ้นอีก
“ผมคิดว่าบทเรียนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มันใหญ่พอที่จะชวนให้ครั้งนี้เราไม่ไว้ใจ กกต.เราต้องไปปกป้องคะแนนของเรา ตามแคมเปญ Protect Our Vote หมายถึงวันเลือกตั้งเราไปลงคะแนนเสียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ”
เราชวนเป๋า-ยิ่งชีพ คุยถึงประเด็นการเลือกตั้งที่จะมาถึง ตั้งแต่การจับตาเลือกตั้งอย่างไร สิ่งที่น่าเป็นห่วง รัฐประหาร/ไม่รัฐประหาร จนไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ชุมนุม และภาพสะท้อนพลังของการประชาชนที่เขาสัมผัสเสมอมา
ที่มาที่ไปจากองค์กรสิทธิมนุษยชนสื่อสารข้อมูลเชิงกฎหมาย สู่คำเรียกม็อบ ‘สามกีบ’
ตอนการเลือกตั้งปี 2562 ผมก็ทำเหมือนที่เคยทำตั้งแต่ปี 2557 บันทึกข้อมูล เขียนขึ้นเว็บไซต์ พอปี 2563 มีคนออกมาชุมนุม และเราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม เช่น ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมันไม่เป็นรูปธรรม เราก็เห็นว่าการชุมนุมที่มีแต่ข้อเรียกร้องไม่เป็นรูปธรรม จะนำไปสู่การปะทะและไม่มีทางออก ดังนั้นต้องมีรูปธรรมเราจึงเสนอข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา
อย่าถามเยอะว่าใครร่าง ผมร่างเอง มันไม่ได้ยากอะไร (หัวเราะ) ข้อเสนอไม่ได้เข้าใจยาก ผมนั่งทำที่คอมพิวเตอร์ตัวเองใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงก็เสร็จ เพราะถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมันต้องมาทางนี้ ต้องมีข้อเสนอว่าแก้ไขมาตราอะไรบ้าง พอเสนอแก้รัฐธรรมนูญก็อยากประชาสัมพันธ์ชวนให้คนมาเข้าชื่อ เนื่องจากต้องการ 5 หมื่นรายชื่อ พอทำก็อยากได้คนมาเข้าชื่อเร็วๆ เลยไปตั้งโต๊ะในที่ชุมนุม
จึงกลายเป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุม พอไปที่ชุมนุมก็กลัวคนไม่รู้ว่าเราอยู่ตรงไหนเลยขอเขาพูดนิดหน่อย ก็ขึ้นเวทีอธิบายว่าทำไมต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าเห็นด้วยก็ลงชื่อตรงจุดนี้นะครับ หลังจากนั้นก็กลายเป็นม็อบสามกีบ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ มีหน้าตาขึ้นเวที พร้อมกับเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ เขาไม่รับ ถูกปัดตกไป แต่ก็มีตัวตนมากขึ้นในฐานะฝ่ายหนึ่งที่ไม่ใช่ผู้มอนิเตอร์ และนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงเสมอ กลายเป็นผู้ที่รณรงค์เรียกร้องและเลือกฝ่าย ซึ่งปี 2564-2565 เข้าร่วมชุมนุมเยอะ เช่น ตอนทะลุแก๊ซเกิดเหตุยิงกัน iLaw ก็มอนิเตอร์การชุมนุมและร่วมปราศรัยไปด้วย ดังนั้น ในปีที่ผ่านมาจึงไม่ใช่บทบาทการมอนิเตอร์เพียงอย่างเดียว
ทั้งเสนอร่าง มอนิเตอร์สถานการณ์ สรุปเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ และอีกมากมาย iLaw มีทีมงานทั้งหมดกี่คน
วันนี้มี 13 คนครับ ไม่พอเหนื่อย แต่เงินจ้างได้แค่นี้ อยากได้คนอีกประมาณ 30 คนครับ
ปัญหาในการทำงานตอนนี้มีอะไรบ้าง
งานเยอะไป ปัญหาเยอะไป และคาดหมายไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เราไม่สามารถวางแผนประจำปีได้ ไม่เคยมี Annual Plan ที่เป็นจริง ปี 2566 จึงมีแค่ Short Term Plan คือการเลือกตั้ง ถ้าไม่ได้เลือกตั้งก็เปลี่ยนแผนอีก ฉะนั้นไม่สามารถคิดไปข้างหน้าไกลได้ แบกงานวันต่อวัน ช่วงนี้ต้องพูดอะไร ต้องจัดอะไร ต้องเขียนอะไร ไม่มีเป้าหมายระยะยาวว่าจะต้องเห็นสิ่งนี้แน่ๆ เพราะไม่แน่ไม่นอน ขึ้นอยู่กับบ้านเมือง สมมติตั้งเป้าหมายระยะยาวว่า ต้องการมีรัฐธรรมนูญฉบับเขียนโดยประชาชน แต่ปรากฏว่าอีก 2 ปีต่อมาเกิดรัฐประหาร ถ้าเกิดรัฐประหาร พวกเราก็ต้องกลับไปมอนิเตอร์สถานการณ์ แต่ก็เป็นข้อดีขององค์กรนี้ ที่ยืดหยุ่นและกระโดดไปจับในเรื่องที่ต้องจับในนาทีนั้นได้ แต่ข้อเสียคือเหนื่อยและร้อนรนไปเรื่อยๆ
ในฐานะองค์กรที่ทำงานกับภาคประชาชน เรามองพลังการต่อสู้ของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง
ผมเชื่อมั่นในพลังของประชาชนเสมอ หลายครั้งรู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว และตำแหน่งที่ผมทำมีสิ่งที่ต้องแบกรับสูงมาก เหนื่อยมาก ขณะเดียวกันก็เป็นตำแหน่งที่ทำให้ได้เห็นอะไรเยอะในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็นเช่นกัน
คำว่าพลังประชาชนที่ว่า เมื่อปี 2563 ตอนตั้งโต๊ะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นยุคที่ต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชน ต้องใช้กระดาษทำให้เราต้องออกบ้านมาเจอกัน ต้องเซ็นชื่อบนกระดาษเท่านั้น ผมได้รับการติดต่อให้ความช่วยเหลือจากคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นสามารถตั้งโต๊ะที่ร้านเราได้ หรือบางคนบอกว่ากลัวนะ ขอโทษทีออกหน้ามากไม่ได้ แต่มาถ่ายเอกสารข้างหลังร้านได้เลย
บางคนก็พร้อมล่มหัวจมท้าย มายกโต๊ะ ช่วยถ่ายเอกสาร เอาเงินมาให้ เอากระดาษมาให้ หรือบางครั้งผมก็ลุยไปหาเอาข้างหน้า เช่น เราคำนวณแล้วว่างานนี้จะเจอคนจำนวนเท่าไร ต้องใช้ทีมงานกี่คน แต่ยังมีคนไม่ครบก็ทำไปก่อน มีสองคนก็ทำสองคน ค่อยไปหาเอาหน้างาน เจอคนรู้จักเขาก็จะมาช่วย ถ้าไม่รู้จักผมก็จะถามเลยว่าพี่ว่างไหม หรือกระดาษที่ใช้หมดก็ประกาศขอ เดี๋ยวก็มีคนเอามาให้
เราใช้วิธีนี้ลุยมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันก็ยังลุยมั่วซั่วแบบนี้อยู่ ล่าสุดเพิ่งซื้อตึกเป็นของตัวเอง เป็นที่ทำการ เป็นที่จัดกิจกรรม ก็มั่วซั่วครับ เราประกาศไปเลยว่าเป้าหมายเป็นแบบนี้ ขอยืมใครก็ได้ เฮ้ย ดันได้เว้ย! มีคนให้ยืม ใครก็ไม่รู้ เขามาเสนอตัวให้ยืม เราก็ร่างสัญญากู้ยืมเงิน เขาก็โอนเงินมาครบ
ตลอดทางมีคนที่จะช่วยแก้ปัญหาไปกับเรา แต่เราต้องลงลึกศึกษาให้ชัดว่าปัญหาอยู่ตรงไหน คิดให้ออกว่ายุทธศาสตร์ทำอย่างไร และพูดกับคนที่เราขอความช่วยเหลือหรือคนที่เราขอให้ช่วย ทำให้เขาเห็นภาพและเชื่อไปกับเราว่ามันจะเกิดขึ้นได้
มักมีเสียงพูดว่า ทำไปทำไมเสียเวลา แก้ไขอะไรไม่ได้หรอก
เรากำลังทำเรื่องใหญ่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ หรืออาจมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น เช่น ประชาธิปไตย ประเทศไม่มีรัฐประหาร อำนาจเป็นของประชาชน อะไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศนี้หรอก ผมก็ไม่รู้หรอกว่าจะได้เห็นมันไหมในช่วงชีวิตนี้ แต่พอมันเป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องมีกระบวนการ ซึ่งแต่ละก้าวจะเป็นก้าวที่ยากมากและยังมีก้าวที่เหลืออีกเยอะมาก
ดังนั้น ไม่มีเลยที่พี่น้องจ๋าขอชื่อจำนวน 10 คน 50 คน 100 คน ไปทำสิ่งนี้ และจะได้สิ่งที่ต้องการมาเลย คนที่ตั้งคำถามว่า ถ้าฉันลงมือทำ อันนี้จะเปลี่ยนเหรอ เออไม่เปลี่ยน แต่ถ้าจะเปลี่ยนต้องมีคนอีกจำนวนมากมาทำ ต้องมีคนอีกจำนวนเยอะมาก
นี่เป็นกระบวนการที่ไม่มีงานไหนที่ขอให้คนลงแรงคนละนิด และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ ถ้ามีและผมคิดออก คงทำไปตั้งนานแล้ว มันคงเปลี่ยนไปนานแล้ว แต่มันไม่มี มันคิดไม่ออก เลยต้องขอให้ทุกคนลงมือและลงทุนลงอะไรหลายอย่าง แต่มันจะเปลี่ยนอย่างช้าๆ ถ้าเราไม่ได้ 1 แสนรายชื่อ ที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญในเดือนกันยายน 2563 ก็จะไม่มีกระแสแก้รัฐธรรมนูญในช่วงนั้น และพรรคอื่นๆ ก็จะไม่เสนอ เช่น พรรคพลังประชารัฐก็จะไม่เสนอแน่นอน แต่พอกระแสมาเขาก็เสนอ
หลังจากนั้นมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญประมาณ 6 ยก เราจุดเพื่อให้มันเดินต่อไป แต่แก้ได้ไหม ก็ไม่ได้ ฉะนั้น คนที่รู้สึกว่าให้ฉันทำแล้วมันจะมีความหมายไหม มันยังแก้ไม่ได้หรอก เดี๋ยวต้องทำอีก และเดี๋ยวก็ต้องทำอีก การจะไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนยังมีขั้นตอนหลายอย่างที่เราต้องทำอีกเยอะ
จัดการกับคำกล่าวที่ว่า เป็นพวกรับเงินต่างชาติบ่อนทลายประเทศอย่างไร
ก็เป็นคนรับเงินต่างชาติ เพราะรับเงินจากกองทุนระหว่างประเทศ ผิดตรงไหน กฎหมายไทยก็ไม่ผิด กฎหมายต่างประเทศก็ไม่ผิด ศาสนาก็ไม่ผิด ศีลธรรมอะไรก็ไม่รู้ หลักมาตรฐานจริยธรรม รัฐธรรมนูญอะไรที่ คสช.เขียนขึ้น ก็ไม่ผิดอะไรเลย และสามัญสำนึกของผมก็ไม่ผิดอะไร มีคนจำนวนมากบนโลกใบนี้ ที่ไม่ใช่แค่ประเทศไทย เห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ ในประเทศเขาก็ช่วยทั้งแรงทั้งเงิน
โลกนี้มีกองทุนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้กลุ่มกิจกรรมไปทำกิจกรรมซึ่งมีจำนวนเยอะมาก ถ้าเรามีผลงานแล้วเขาให้ทุนก็เป็นเรื่องที่ดี องค์กรที่ให้ทุนเขามีหน้าที่ต้องให้ทุนใช่ไหม ถ้าเขาไม่ให้เรา เขาก็ต้องหาใครมาทำงานอยู่ดี ซึ่งมีจำนวนไม่เยอะ แต่เราทำงานได้เขาให้เงินมันก็สมเหตุสมผลนะ
นี่เป็นคำกล่าวหาที่จินตนาการกันไปเองว่า คงจะมีองค์กรลับใต้ดินบางอย่าง ที่มีวัตถุประสงค์ร้าย ทำงานลึกลับแบบดูหนังฮอลลีวูดมา การรับเงินต่างชาติต้องมีคนใส่สูทใส่แว่นตาดำหิ้วกระเป๋าเจมส์บอนด์นำเงินมาวางบนโต๊ะ และใช้งานคุณไปทำอะไรบางอย่างที่ลึกลับ ใครดูหนังมากก็เรื่องของเขา ไม่ได้เป็นปัญหาของเรา แต่ว่าองค์กรที่เราทำงานด้วยไม่ได้เป็นแบบนั้น เป็นองค์กรที่มีที่มาที่ไปของเงิน มีเว็บไซต์ เขาประกาศหน้าเว็บไซต์ว่า คุณอยากทำงานอะไรก็ส่ง Proposal มา ผมก็ส่งเข้าไป เขาก็ประกาศบนเว็บไซต์ว่าให้ทุนผม และเราก็รับเงินทุนก็จบแค่นี้
การเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีไหม? จะแตกต่างจากการเลือกตั้งปี 2562 หรือเปล่า
ไม่ดีเลย บรรยากาศมันอึดอัดไปหมด ตั้งแต่การหมดวาระของสภาผู้แทนราษฎรที่ตอนนั้นจะยุบหรือไม่ยุบ แปลกไปหมด พลเอกประยุทธ์เข้ามายึดอำนาจตั้งแต่ปี 2557 ไม่ได้มีวัตถุประสงค์แค่ตัวเองต้องการอำนาจ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดอำนาจอีกฝ่ายหนึ่ง และค้ำยันนำหน้าให้กับพวกพ้องของตัวเอง ซึ่งไม่รู้ว่ามีใครบ้าง
การที่เขาเขียนรัฐธรรมนูญผิดหลักการในปี 2560 เขารู้ว่ามันผิดหลักการ แต่เขาไม่สนใจ เพราะมันจำเป็นที่ต้องกำจัดฝ่ายตรงข้ามและค้ำยันนำหน้าพวกของตัวเองให้ได้ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ การที่เขาจัดการเลือกตั้งปี 2562 ที่แปลกๆ ดูไม่ค่อยเหมือนการเลือกตั้งเท่าไร ก็เป็นเหตุผลเดียวกัน
พลเอกประยุทธ์เป็นแค่ตัวแทนของระบอบที่ต้องการพิทักษ์บางอย่างไว้ และกำจัดฝ่ายตรงข้าม ถึงวันนี้ความจำเป็นนั้นยังอยู่และมากขึ้นเสียอีก มากขึ้นกว่าเดิม แต่ดูแล้วไม่มีวิธีไหนจะชนะได้เลยในการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรม นอกจากนี้เขาดูจะไม่ถอยเลย ถ้าสมมติคุณประยุทธ์มีท่าทีห่อเหี่ยวจิตใจบ้าง หรือทำนองว่าจะยอมรับเสียงประชาชนบ้าง ก็ยังถือเป็นสัญญาณที่ดีหากเลือกตั้งแพ้เขาจะถอย แต่ตอนนี้ไม่มีท่าทีแบบนั้นเลย มีแต่ท่าทีทำตัวใหญ่ขึ้นๆ
เขาจะเลือกตั้งชนะได้อย่างไร ถ้าเลือกตั้งแพ้ สมมติได้ ส.ส. 25 รายชื่อ กลายเป็นฝ่ายค้านเล็กๆ ผมคิดภาพไม่ออกเลย ดังนั้นจึงเป็นภาวะที่อึดอัดมาก และผมคิดมาตลอดเวลาว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่น่าจะปกติ แต่ยังไม่เห็นไพ่ในมือสักทีว่าเขาจะทำอะไร
ผมมองว่าในกรณีที่ดีที่สุด อาจจะเป็นใครชนะเลือกตั้งก็ให้เป็นรัฐบาลไป และใช้ดาบสองที่มีอยู่ คือรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศ มาตรฐานจริยธรรมต่างๆ ศาลรัฐธรรมนูญและกลไกการยุบพรรค เพื่อมากำจัดฝ่ายตรงข้ามทีหลัง แต่ผมกังวลว่ากรณีที่แย่ที่สุดจะเกิดขึ้นก่อน
ผมขอทำนายว่า มันจะเป็นการเลือกตั้งที่แปลกอีกครั้งหนึ่ง แต่จะไม่ซ้ำรอยปี 2562 เครื่องมืออะไรที่เขาใช้แล้วได้ผล เขาไม่ใช้อีก ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนสูตรคำนวณ เป็นเครื่องมือที่เราไม่คิดว่าเขาจะในปี 2562 เขาก็ทำ ซึ่งผมคิดว่าโอกาสที่จะเกิดอีกอาจจะน้อย เพราะเป็นการเล่นเกมซ้ำ อีกสิ่งที่ทำในปี 2562 คือเรื่องรายงานคะแนน การจัดการคะแนนที่มีปัญหาเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดในปี 2562 ดังนั้นถ้าสังคมยังรู้ไม่ทัน เขาอาจจะทำอีก
คิดว่าจะมีรัฐประหารอีกไหม
ไม่มี หลายคนพูดเรื่องนี้ การรัฐประหารเป็นไปได้อยู่แล้วในประเทศนี้ แต่ว่าทุกครั้งที่เขาจะทำรัฐประหาร เขาจะหาเหตุก่อน ดังนั้น หน้าที่ของเราคือการป้องกันเหตุ ไม่ให้เขาหาได้
ถ้าดูแล้วมีกลิ่นว่าคุณจะทำความวุ่นวายในช่วงนี้ ต้องรีบอุดช่องนั้น อย่าให้มันไปถึง ถ้าเขาหาเหตุนี้ไม่ได้ เขาก็จะหาเหตุต่อไป เราต้องอ่านเกมให้ออก วิ่งไปอุดเหตุต่อไป อันนี้คือหน้าที่ ถ้าบ้านเมืองยังดูใสๆ ปกติจะทำไม่ได้ แต่ถ้าเขาหาเหตุได้ เขาสร้างเงื่อนไขกลไกอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ มันก็ทำได้อีก
ถ้าเกิดรัฐประหาร iLaw จะเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็มีชื่อเป็นหนึ่งในม็อบสามกีบ
อยู่ที่เขาว่าจะทำอะไรกับเรา ส่วนเราก็ทำงานตามปกติ ถ้าเป็นจังหวะที่ต้องรณรงค์เพื่ออยากเห็นอะไรบางอย่าง เราก็จะทำ แต่หากเป็นจังหวะที่รณรงค์แล้วมันตาย เราก็ทำได้แค่มอนิเตอร์ แล้วแต่กรณีว่าทำได้แค่ไหนก็ทำแค่นั้น ไม่ตาย จะไม่เอาตัวไปตาย เพราะกระดูกสันหลังไม่แข็งแรง คือไม่ใช่คนที่กระดูกสันหลังแข็งแรง ไม่อยากตาย ไม่อยากเอาชีวิตเข้าแลกกับการเคลื่อนไหว ทำเต็มที่ได้เท่าไรก็ทำเท่านั้น ถ้าเขาให้เราอยู่ เราก็อยู่ ถ้าเขาไม่ให้อยู่ เราก็อยู่ไม่ได้ ถ้าเขาเอาปืนมาไล่ยิงก็หนี
โจทย์การเลือกตั้งในปี 2562 กับปี 2566 ฐานะประชาชน ต่างกันไหม ยังเป็นโจทย์เดิมอีกหรือไม่
สำหรับผมยังเป็นโจทย์เดิม คือรู้ว่าเป็นระบอบ คสช. แต่ผมคิดว่าประชาชนไม่เหมือนเดิม เราผ่านสถานการณ์โควิด-19 เจอเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ไม่แปลกที่การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ประชาชนอยากเลือกเศรษฐกิจเป็นหลัก และปี 2566 คนเริ่มลืมไปแล้วว่านี่ยังเป็นระบอบรัฐประหารที่สืบทอดอำนาจอยู่ เพราะอยู่ในสภาเลือกตั้งจนติดหูติดตา ดังนั้นโจทย์คนน่าจะอยู่ที่ทำอย่างไรให้ชีวิตดีขึ้น ทั้งการเมือง ปากท้อง ส่วนรื้อระบอบ คสช. มันอาจจะอยู่ในหัวผมต่อไป
การที่ประชาชนมีการเคลื่อนไหวเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไหม
ผมเดานะ คิดว่าไม่มีผลมาก คิดว่ากระแสตก ไม่ใช่คำถามหลักของการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ว่าเมื่อปี 2563-2564 ทำให้ประยุทธ์เสียไปเยอะ คือถ้าไม่มีม็อบนักศึกษา ไม่มีกระสุนยางยิงปลิวว่อน จะยังเป็นความรักสงบจบที่ลุงตู่ ยังเป็นคนที่มาทำให้บ้านเมืองสงบ ดีจังเลย บ้านเมืองภายใต้ลุงตู่ไม่มีความขัดแย้งกัน อะไรแบบนี้ ซึ่งมันหมดแล้ว มันไม่ใช่แล้ว นี่คือคุณูปการของม็อบที่สร้างไว้ ม็อบทำให้กระแสประชาธิปไตยตื่นตัว ทำให้คนรุ่นใหม่มีคุณค่าบางอย่างร่วมกัน ซึ่งฝังอยู่ในเจเนอเรชัน
ก็ดี เท่ดี แต่อาจจะไม่ใช่โจทย์ใหญ่ของการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใช่เสมอไปว่าคนรุ่นใหม่จะเลือกพรรคสีส้มหรือสีแดง คนอายุ 20-22 ปี แต่ชอบประยุทธ์ก็เป็นไปได้ เอาเป็นว่าสำนึกของประชาธิปไตยยังอยู่ในเจเนอเรชันอยู่ ไม่เป็นไรก็อยู่แบบอบอวลๆ เป็นบรรยากาศแบบนี้แหละ ซึ่งดีแล้ว
ผลการเลือกตั้งแบบไหนที่ เป๋า-ยิ่งชีพ อยากเห็น
เอาจริงๆ พอเราจมกับเรื่องอาสามาก จึงไม่ค่อยแคร์ ขอให้เป็นการเลือกตั้งที่ปกติ เดินไปตามกติกา ถ้าประยุทธ์จะชนะ โปร่งใส ใสสะอาด แน่นอนว่าผมไม่มีความสุข ไม่อยากมีนายกฯ ชื่อประยุทธ์ แต่ผมอยู่ได้ ไม่ทรมาน
เพื่อไทยก็ได้ถ้าชนะแบบปกติมึงเอาไป อย่าไปยุบพรรคเขา ก้าวไกลก็ไม่รู้ว่าดีหรือเปล่า ก็อยากเห็นการเลือกตั้งออกมาปกติและจับมือกันไป เพื่อไทยจะจับมือพลังประชารัฐก็จับไปเลย เพื่อไทยจะไปจับกับภูมิใจไทย กับประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เอาเลย แต่เอาให้มันปกติ ให้กติกามันเป็นกติกา
นายกฯ ที่ดีในมุมมองของยิ่งชีพ
ไม่ค่อยมีนายกฯ ที่ดีเท่าไรในความทรงจำ (หัวเราะ) มองภาพไปก็มีแต่ประยุทธ์ นายกฯ ที่ดีเอาตามระบบแล้วกัน ขอฉลาดกลางๆ ความรู้กลางๆ หน้าตาดีกลางๆ ก็ได้ เป็นคนดีกลางๆ ก็ได้ ไม่ต้องเข้าวัดทุกวันก็ได้ แต่ว่าผูกพันตามระบบ รับผิดชอบตามระบบ เช่น ระบบบอกว่านายกฯ ต้องเป็น ส.ส. คุณก็ต้องเป็น ส.ส. ผูกพันต่อสภาฯ ต้องมาตอบคำถามตอบกระทู้ ตรวจสอบอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ถ้าคุณทำไม่ดี คุณถูกอภิปราย ถูกโหวตตก คุณออก แค่นั้นละ ถึง 4 ปีเลือกตั้ง สภาฯ ไม่ดีก็ยุบ ไม่ใช่แบบนี้
สิ่งที่ iLaw อยากเตือนประชาชนก่อนวันเลือกตั้งที่จะถึง
ไปหน้าหน่วย เอาเรื่องนี้ก่อนได้ไหม ทุกคนรู้ว่าเราอยู่ในระบบการเมืองที่ไม่ปกติ ทุกคนรู้แล้วว่าถ้าปล่อยให้ กกต.รายงานผลคะแนนจะเละแบบปี 2562 มันจะมีคนตรงกลางที่เข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงคะแนนโดยที่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร ทำไปทำไม ทำมากแค่ไหน
ผมคิดว่าบทเรียนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มันใหญ่พอที่จะชวนให้ครั้งนี้เราไม่ไว้ใจ กกต. เราต้องไปปกป้องคะแนนของเรา ตามแคมเปญ Protect Our Vote คือวันเลือกตั้งเราไปลงคะแนนเสียงอย่างเดียวไม่พอ เมื่อถึงเวลา 5 โมงเย็นปิดหีบแล้ว ขอชวนทุกคนไปคูหาใกล้บ้าน ไปดูการนับคะแนน ถ้าเห็นความผิดปกติให้ทักท้วงและแก้ไข เสร็จแล้วถ่ายรูปเป็นหลักฐาน
เราถ่ายรูปบอร์ดเก็บหลักฐานเสร็จก็เอาคะแนนมารวมกัน หากเกิดการเปลี่ยนแปลงคะแนน เราจะรู้ เราจะมีหลักฐานเพียงพอที่จะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เพราะที่่ผ่านมากลายเป็นความเคยชิน ผมเองก็ด้วยที่คืนวันเลือกตั้งจะกลับบ้านไปกินข้าวกับพ่อแม่ เปิดทีวีรอดูผลการรายงานสด แต่สิ่งนี้ไม่เพียงพอ ถ้าเรานั่งดูผ่านจอเขาอาจรายงานอะไรมาให้ก็ได้ ดังนั้น เราต้องแคนเซิลวัฒนธรรมนั้นก่อน พอถึงเวลา 5 โมงเย็น ไปกินข้าวกับพ่อแม่หน้าคูหา ไปดูการนับคะแนน เอาเพื่อน เอาทุกคนไปนั่งดูตรงนั้น กินข้าวไปดูนับคะแนนไป เบอร์ 3 ไหนดูสิ เบอร์ 3 จริงไหม เขาขานเบอร์ 3 ขีดเบอร์ 3 จริงไหม
ถ่ายรูปมารวมกัน หรือนับคะแนนเสร็จก็ค่อยไปกินข้าว อยากชวนทุกคนทำแบบนี้ และหวังว่า ถ้าทุกคนทำเป็นการรักษาทุกคะแนนอย่างถูกต้อง เรารู้ผล และเป็นส่วนหนึ่งของคนรายงาน นี่คือฝันที่อยากเห็น ส่วน กกต.เขาจะนับจะรายงานเองด้วยระบบอะไร ผิดพลาดแบบไหนก็ช่างเขา
โอกาสที่ กกต.จะใช้เวลานับ-รายงานผลหลายวันแบบครั้งก่อนมีอีกไหม
มีโอกาสที่จะเป็นแบบนั้น ถ้าตามระเบียบตอนนี้ เขาจะหยุดนับที่คะแนนรวม 94% จะรายงานไม่เกิน 5 ทุ่ม ซึ่งเวลา 5 ทุ่มมันช้าไป บ้าเหรอ นับหน้าหน่วยเสร็จประมาณ 1 ทุ่ม แต่จะรายงาน 5 ทุ่มทำไม ซึ่งในระเบียบมันเขียนว่าไม่เกิน 5 ทุ่ม และให้กรรมการประจำหน่วยถ่ายภาพมา ภาพเปิดเผยไม่เกิน 5 วัน ก็ทำเถอะ แต่เราอยากทำโดยประชาชนให้เร็วกว่านั้น
อาสาสมัครจับตาหน่วยเลือกตั้งเพียงพอไหม
เรามีหน่วยเลือกตั้งประมาณ 9 หมื่นกว่าหน่วย เราต้องการอาสาสมัครประมาณ 1 แสนคน จริงๆ ในหน่วยหนึ่งจะมี 2 หีบ นับคะแนนพร้อมกัน คือ ส.ส.เขต กับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ถ้าเราได้อาสามัครสองคนต่อหนึ่งหน่วยจะดีมาก ถ้าได้ 2 แสนคนก็ดี ตอนนี้ได้แล้ว 2 พันคนอีกนิดเดียว
แต่สุดท้าย ทุกทีมก็จะมาจอยกัน ทีมสื่อจะมีอาสาจ้างจัดตั้งจำนวนหนึ่ง พรรคการเมืองบางพรรคจะส่งคนไปทำงานให้ทีมสื่อ และทีมสื่อจะทำสิ่งที่เรียกว่า Quick Vote คือรายงานสดจริงๆ ขานเบอร์ 3 กรอกเลข 3 ขานเบอร์ 5 กรอกเลข 5 แต่เขาจะไม่มีสมาธิตรวจดูว่ามันถูกมากน้อยแค่ไหน แต่เราจะมีคนของเราที่อยากให้ดูซ้ำว่าถูกจริงไหม ไม่ต้องรีบ ช้าอีกนิดถ้าไม่ถูกท้วง จนมันถูก 100% และถ่ายรูปส่งมา เราก็จะรายงานช้ากว่านิดหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้ว ฐานข้อมูลของทีมสื่อและทีมเราจะมารวมกัน กลายเป็นผลรวมสุดท้าย
ขั้นตอนของการเลือกตั้งนอกเขตเป็นอย่างไร พอไว้ใจได้ไหม
เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต แปลว่าเลือกตั้งล่วงหน้าไม่มีในเขต ถ้าไม่ว่างวันเลือกตั้งจริง จะไปเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตไม่ได้ และเลือกตั้งวันจริงนอกเขตไม่มี สมมติคุณอยู่ที่บ้าน แต่วันเลือกตั้งจริงคุณไม่ว่าง ก็ต้องเดินทางไปเขตอื่นเพื่อเลือกที่เขตอื่น เพราะการเลือกตั้งล่วงหน้ามีแต่นอกเขต
แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 มันพังพินาศมาก แต่ก็ต้องชื่นชม กกต.ที่ให้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตได้ทางเว็บไซต์ ทำให้คนลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ประมาณ 2 ล้านคน เขตที่มีคนเลือกตั้งล่วงหน้ามากที่สุดคือเขตบางกะปิ สำนักงานเขตบางกะปิมีคนลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตประมาณ 6 หมื่นคน สำนักงานเขตบางกะปิก็พยายามทำให้ดีที่สุด คือการใช้สนามราชมังคลากีฬาสถาน เพราะวันเลือกตั้งคนเยอะกว่าวันบอลนัดชิง
สมมติบ้านเราอยู่เชียงใหม่เขต 3 เราเดินไปที่ราชมังคลากีฬาสถาน เขตบางกะปิ ภาคเหนือมาทางนี้ ภาคใต้ไปทางโน้น เชียงใหม่มาทางนี้ เราเดินเข้าไปในคูหาหนึ่ง เราจะไปกาพร้อมกับคนเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ ซึ่งมันเละ อันดับแรกเราต้องรับบัตรให้ถูกก่อน บัตรต้องเป็นบัตรเชียงใหม่เขต 3 ซึ่งเขาอาจจะยื่นมาผิด เราก็ต้องดูว่ามันถูกไหม เขายื่นบัตรเชียงใหม่เขต 4 มาหรือเปล่า พอเดินเข้าคูหา เราไปกาเสร็จ ไม่มีหีบนะครับ เพราะตรงนั้นมีทุกจังหวัดอยู่ด้วยกัน เราต้องนำไปใส่ซองที่เขียนว่าส่งไปยังเชียงใหม่เขต 3 เท่านั้น ถ้าใส่ซองผิดก็คือผิด
เสร็จแล้วเขาก็แพ็กส่งไปรษณีย์ ไปรษณีย์ก็จะเดินทางโดยเร็วไปถึงปลายทาง รอถึงวันเลือกตั้งจริงค่อยเปิดออกมานับ มันก็จะกองอยู่เฉยๆ อย่างนั้นแหละ มันควรจะกองอยู่เฉยๆ แบบนั้น พอถึงวันนับจริง ถ้าคุณเลือกกาคูหาแถววัดหน้าบ้าน คนแถววัดก็จะมาดู แต่บัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต มันจะนับในสำนักงานเขตไม่มีใครไปดู
เรื่องการรับมือเราทำการรับมือได้นิดหน่อย แต่ว่ามีรอยรั่วเยอะมาก มีจุดที่น่าเป็นห่วงเยอะกว่าการไปหย่อนหีบในวันจริงเยอะมาก ดังนั้นคำเดียวเลย กลับบ้านได้ก็กลับเถิดครับ
ฟังแล้วมีช่องอีกมากมาย ยังมีหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้ได้อยู่ไหม
ได้ในระดับที่มันให้เราได้ ต้องไม่ได้คิดว่าการเลือกตั้งปี 2566 หรือ 2562 หรือ 2570 จะเปลี่ยนอะไรเลย เช่น ถอนรากถอนโคนประยุทธ์ ทั้งฝ่ายค้าน ทั้งรัฐบาลแลนด์สไลด์ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ผ่าน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไม่ใช่ ใจเย็นๆ มันไม่ได้เปลี่ยนเร็วขนาดนั้น การเลือกตั้ง 1 ครั้ง ก็จะได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง
แต่คนที่ยังอยากอยู่ในอำนาจ และยึดกลไกต่างๆ เช่น ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. หรือองค์กรทั้งหลาย เขาไม่ปล่อยอำนาจง่ายๆ หรอก ดังนั้นการเลือกตั้งเป็นบันไดหนึ่งที่ถึงเวลามันจะเวียนมาถึง ผมเชื่อเสมอว่ามันจะค่อยๆ ดีขึ้น ตราบใดที่มีการเลือกตั้งตามรอบไม่มีการรัฐประหาร หรือมีการล้มกระดาน
อย่างไรเสียปี 2562 ถึงประยุทธ์จะเป็นนายกฯ แต่บรรยากาศยังดีกว่าปี 2557-2558 มาก ก็เหมือนกัน ประยุทธ์อาจจะเป็นนายกฯ อีกก็ได้ หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่มันก็จะดีกว่าปี 2562-2563 จะค่อยๆ ไป
ถ้าสมมติประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่แท้จริง บทบาทของ iLaw จะเป็นแบบไหน
เลิก ไม่จำเป็นต้องมี iLaw อยู่ แต่ว่าการที่จะมีประชาธิปไตยที่แท้จริงมันวัดกันอย่างไรก็ไม่รู้นะ สมมติจินตนาการก่อนว่าพรรคการเมืองมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่มี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ส.ว.เลือกตั้งหรือเปล่าไม่รู้ อย่างไรก็ได้ แต่คนเหล่านี้มาโดยการเลือกตั้งที่โปร่งใส มาโดยการสนับสนุนของเสียงประชาชน และต้องฟังเสียงประชาชน ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่พอใจออกไปด่า แต่ด่าสักพักมันอาย มันเปลี่ยน มันยอม เลือกตั้งครั้งหน้ามันต้องทำให้ดีขึ้น หรือดูแล้วว่าทำอะไรที่คนจะไม่เลือกแล้วมันก็ไม่ทำ ยึดโยงกับประชาชนตามทฤษฎี
สุดท้ายประชาชนจะเลือกอะไรเลือกไปเถอะ ไม่เป็นไร อาจจะเลือกคนหน้าตาแบบประยุทธ์ก็ได้ เลือกคนหน้าตาแบบไหนก็ได้ แต่ถ้าระบบมันเดินปกติ เลิกครับ ไปทำอย่างอื่นครับ มีชีวิตต้องใช้ครับ ทุกคนมีอะไรอยากจะไปทำครับ
Tags: ประชาชนเอาคืน, เลือกตั้ง, คสช., iLaw, กฎหมาย, เลือกตั้ง 66, Democracy Strikes Back, ยิ่งชีพ