วันรัฐธรรมนูญวนเวียนมาอีกครั้ง รัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ถึงวันนี้เราจะยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่อัพเดตล่าสุดไว้ใช้กัน แต่คงไม่ใช่เรื่องผิดถ้าเราจะมานั่งถกเถียงกันเรื่องกฎหมายไทยกับ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ผู้ทำให้กฎหมายที่เคยเข้าใจยากกลายเป็นเรื่องเข้าใจง่ายๆ กว่าที่เคย

กฎหมายไทยมีปัญหาอะไร? คุกมีไว้ขังคนจนจริงไหม? เราจำเป็นต้องแก้กฎหมายบ่อยแค่ไหน? และกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งจริงหรือเปล่า? เหล่านี้คือตัวอย่างคำถามที่เราโยนให้เขาตอบ

แม้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้าจะอยู่ไกลบ้าน แต่บอกเลยว่ากฎหมายไม่เคยเป็นเรื่องไกลตัว และบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้น่าจะทำให้คุณเขยิบเข้าใกล้เพื่อทักทายทำความรู้จักกับกฎหมายเข้าไปอีกนิด ถึงจะไม่ถึงขั้นเป็นเพื่อนสนิท แต่เชื่อเถอะว่าเขาเป็นคนสำคัญในชีวิตทุกคนจริงๆ

กฎหมายไทยสะท้อนอะไร

ผมคิดว่าสถานการณ์ของการมีและการใช้กฎหมายในเมืองไทยเป็นเรื่องเทคนิคค่อนข้างมาก คือนักกฎหมายจะเรียนแบบท่องจำ เรียนว่ากฎหมายเขียนไว้ว่ายังไง ที่ผ่านมาถูกใช้ยังไง เคยมีแนวทางคำพิพากษาในการตีความเรื่องต่างๆ ยังไง แต่ไม่ได้เรียนในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ว่ากฎหมายควรจะเป็นยังไง พอเกิดปัญหานักกฎหมายก็จะใช้ไปตามนั้น เช่นเดียวกับทนายความ ผู้พิพากษา ตำรวจ อัยการ ที่เรียนมาจากตำราเล่มเดียวกัน

แต่เอาจริงๆ แล้วกว่ากฎหมายจะเขียนขึ้นมาได้ มันต้องมาจากการตกผลึกร่วมกันของสังคมว่าเราควรจะอยู่ภายใต้กติกาแบบไหน แล้วกฎหมายไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงยากนัก ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจจะเห็นว่ากว่าจะผ่านกฎหมายได้ฉบับหนึ่งมันยากเย็นเหลือเกิน แต่กฎหมายกว่าครึ่งของประเทศไทยออกโดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แล้วก็ออกได้เร็วด้วย อย่างเช่นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการออก พ.ร.บ. ร้อยๆ ฉบับเป็นอย่างน้อย ซึ่งจริงๆ เราก็อยู่แบบนี้กันมานาน แต่เราไม่ค่อยได้ตระหนัก

ซึ่งตอนผมเป็นนักเรียนกฎหมายก็ไม่ค่อยได้ตระหนักหรอก แค่ท่องหนังสือไปสอบได้ก็ดีใจแล้ว แต่พอมาทำงานก็เพิ่งตระหนักว่ากฎหมายหลายๆ ข้อที่เราท่องกันมันก็ออกโดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร หลายข้อออกโดยประกาศคณะปฏิวัติ ส่วนใหญ่อาจจะออกผ่านสภา แต่ก็เป็นสภาที่เกิดจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร แสดงว่าจริงๆ แล้วใครนึกอยากจะออกกฎหมายอะไรก็ออก แล้วคนที่เรียนก็ไม่ได้ตั้งคำถามก็เลยกลายเป็นกติกาในสังคมขึ้นมา โดยที่จริงๆ แล้วไม่ได้ผ่านการตกลงร่วมกันของคนทั้งสังคม พอเอาไปใช้มันก็เลยมักจะพอดีกับบางคน และไม่พอดีกับบางคน

กฎหมายมันเป็นความยุติธรรมระดับกลางๆ มันมักจะมีคนไม่ได้ไม่เสียอยู่เยอะหน่อย
แต่คนที่ไม่พอดีกับกฎแบบนี้ก็มีอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาที่คนในสังคมบอกว่าต้องทำตามกฎหมาย
ให้เป็นไปตามกฎหมาย ต้องตัดสินตามกฎหมาย มันก็ไม่ได้แปลว่าจะยุติธรรมสำหรับทุกคน

ปัญหาของกฎหมายไทยคืออะไร

อีกประเด็นที่ผมสังเกตเห็นจากการทำงานคือ จริงๆ แล้วกฎหมายไม่ได้ยุติธรรมขนาดนั้น ในสังคมทั่วไปพอมีปัญหาขัดแย้งกัน เราก็จะมาดูว่ากฎหมายว่าไว้ยังไง ก็ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ตำรวจ หรือศาลเข้ามาตัดสิน โดยเข้าใจว่าพอเป็นไปตามกฎหมายก็ต้องแปลว่ายุติธรรม ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะตอนเรียนเขายังสอนเลยว่ากฎหมายมันเป็นความยุติธรรมระดับกลางๆ มันมักจะมีคนไม่ได้ไม่เสียอยู่เยอะหน่อย แต่คนที่ไม่พอดีกับกฎแบบนี้ก็มีอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาที่คนในสังคมบอกว่าต้องทำตามกฎหมาย ให้เป็นไปตามกฎหมาย ต้องตัดสินตามกฎหมาย มันก็ไม่ได้แปลว่าจะยุติธรรมสำหรับทุกคน และไม่ได้แปลว่าทุกคนจะรู้สึกโอเค หรือเห็นด้วยกับผลที่ออกมาแบบนั้น ซึ่งเราก็อยู่กันมาแบบนี้แหละ

ถ้าพูดแบบกลางๆ ผมก็เห็นว่ามันต้องมีแหละ กติกากลางนี้ที่สุดท้ายทุกคนคงไม่ได้ยอมรับเหมือนกันหมด หรือพอใจกันทุกฝ่าย แน่นอนว่าถ้าทำผิดก็ต้องติดคุก แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องมีทางเลือกที่มากกว่านี้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี ตัวอย่างเช่น กระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่ไม่ต้องเข้าไปหาตำรวจ อัยการ หรือศาลได้ไหม ถ้ามันไม่เหมาะกับบางคน หรือควรจะมีกฎหมายที่เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นโดยเฉพาะ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายกลางฉบับเดียวกันทั้งประเทศหรือเปล่า ซึ่งคงเป็นอุดมคติที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

ซึ่งถ้าเราอยากเป็นสังคมที่ทุกคนทำอะไรเหมือนๆ กัน ก็แสดงว่ามาถูกทางแล้ว แต่ถ้าคิดว่าจริงๆ แล้วคนทุกคนมีพื้นฐานต่างกัน แล้วคนแต่ละคนควรจะได้เป็นตัวของตัวเองในมุมที่แตกต่างกัน สังคมนี้ก็กำลังเดินไปผิดทาง เพราะเมื่อคนต้องคิดเหมือนกัน ภายใต้กรอบกติกาเดียวกัน ผ่านกระบวนการเดียวกัน มันก็ทำให้คนได้เปรียบเสียเปรียบกันอยู่ในระบบแบบนี้ เพราะเมื่อพื้นฐานของคนไม่เท่ากัน แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการเดียวกัน เวลาขึ้นศาลต่อสู้คดี คนที่รู้กฎหมายหรือเคยชินกับกระบวนการที่ต้องใส่สูทเข้าไปนั่งในห้องแอร์เย็นๆ ต่อหน้าศาลก็จะได้เปรียบ ส่วนคนที่ไม่เคยชิน ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายอย่างชาวบ้านที่ขึ้นศาลก็ใส่รองเท้าแตะไม่ได้ ก็จะมีความเสียเปรียบเช่นกัน

คนรวยต่อให้ต้องเข้าคุกจริงก็จะอยู่แบบสบายๆ ได้เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ได้ลดโทษ อภัยโทษ แป๊บเดียวก็ออกมาแล้ว แต่คนจนเงินก็ไม่มี ต้องกินข้าวที่เขาจัดไว้ให้ ได้รับโทษเท่าไหร่ก็ติดเท่านั้น กระบวนการมันไม่ได้พอดีสำหรับทุกคนเท่าๆ กัน

คุกมีไว้ขังคนจนจริงไหม

คงต้องทำเป็นผลงานวิจัยเล่มหนามากว่าเป็นเพราะอะไร แต่ถามว่าจริงไหม ผมว่าจริง ไม่ใช่ว่าคนรวยทุกคนจะไม่ต้องเข้าคุกเลยนะ คือมันก็มีบ้าง แต่อันดับแรกคือเขาเข้าคุกแล้วประกันตัวได้ อันดับที่สองคือเขามีเงินจ้างทนายความสู้คดี อันดับสามพอศาลตัดสินเขาก็สามารถชนะได้ถ้ามีทนายที่เก่งพอ

แต่กับคนจนพอเริ่มต้นกระบวนการด้วยความไม่รู้อะไรเลย ตำรวจบอกให้รับสารภาพไปก่อนโทษจะได้เบาๆ เขาก็ยอมรับไป พอขึ้นศาลเจอห้องแอร์เย็นๆ เจอศาลสวมครุยนั่งอยู่บนบัลลังก์สูงๆ ก็ตัวสั่น ศาลถามว่าทำจริงไหม ก็รับสารภาพไป จนต้องถูกลงโทษจำคุก พอเข้าคุกก็ไม่รู้จะทำยังไง

คนรวยต่อให้ต้องเข้าคุกจริงก็จะอยู่แบบสบายๆ ได้เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ได้ลดโทษ อภัยโทษ แป๊บเดียวก็ออกมาแล้ว แต่คนจนเงินก็ไม่มี ต้องกินข้าวที่เขาจัดไว้ให้ ได้รับโทษเท่าไหร่ก็ติดเท่านั้น กระบวนการมันไม่ได้พอดีสำหรับทุกคนเท่าๆ กัน

มันอาจจะเป็นการโยนภาระมากไปนิดหนึ่ง ถ้าบอกว่าประชาชนต้องรู้กฎหมายทุกข้อ
เพราะไม่มีใครรู้ขนาดนั้นหรอก ต่อให้คนร่างกฎหมายเอง หรือคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่มีใครรู้หรอกว่ากฎหมายมีอะไรบ้าง

เราจำเป็นต้องแก้กฎหมายบ่อยแค่ไหน

จริงๆ กฎหมายควรจะแก้ไขได้เรื่อยๆ เพราะตอนที่ออกกฎหมายแต่ละฉบับ บริบทสังคมอาจจะเป็นแบบหนึ่ง แล้วพอเวลาผ่านไปบริษัทของสังคมก็อาจจะเปลี่ยนเป็นแบบหนึ่ง กฎหมายก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ตามบริบทของสังคม อย่างเช่นกฎหมายเรื่องข่มขืนก็แก้มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งครั้งที่มีการแก้ล่าสุดก็มีความก้าวหน้ามากแล้วนะ เพราะสมัยก่อนข่มขืนหมายถึงผู้ชายข่มขืนผู้หญิงเท่านั้น แต่ตอนนี้ถ้าผู้หญิงข่มขืนผู้ชาย หรือผู้ชายข่มขืนผู้ชายก็มีความผิดเท่ากัน แต่กฎหมายข่มขืนที่เพิ่งแก้มาไม่กี่ปีก็ยังมีปัญหาอยู่ดี ในอนาคตก็ยังต้องแก้อีก

สรุปคือเมื่อบริบทสังคมเปลี่ยนกฎหมายก็ต้องเปลี่ยน เพราะผมเชื่อว่ากฎหมายส่วนใหญ่เวลาออกก็มักจะออกตอนที่เรายังไม่มีความรู้เรื่องนั้นดีพอ เช่น เรื่องธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ตอนออกกฎหมายสังคมอาจจะยังไม่ได้ตกผลึกกับปัญหาเรื่องนั้นๆ แต่มันก็ต้องมีกฎหมายรองรับ คนออกกฎหมายก็ต้องรีบออก แล้วพอมีการตกผลึกมากขึ้น ความรู้ของสังคมที่มีต่อเรื่องนั้นๆ มากขึ้น ความเชื่อ ความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อเรื่องนั้นๆ เปลี่ยนไป กฎหมายมันก็ต้องเปลี่ยนได้

แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ไม่สอดรับกับบริบทของสังคม เช่น มีประกาศคณะปฏิวัติฉบับหนึ่งสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร ที่ห้ามกินข้าวนอกบ้านหลังตีหนึ่ง (ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 252 ระบุว่า “ห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ขายอาหารหรือเครื่องดื่มขายอาหารหรือเครื่องดื่ม ตั้งแต่เวลา 01.00 นาฬิกา ถึง 05.00 นาฬิกา…” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มในสถานที่ขายอาหารหรือเครื่องดื่มในเวลากำหนดห้ามขาย เว้นแต่สถานที่ขายอาหารหรือเครื่องดื่มนั้นได้รับอนุญาตให้ขายได้ตามวรรคหนึ่ง”) ซึ่งกฎหมายนี้ก็ยังมีผลอยู่เลย เพียงแต่ตามปกติแล้วกฎหมายเหล่านี้มักจะนอนหลับอยู่ แต่มันไม่ได้ตาย แล้วพอสมมติว่าถ้าเขาอยากกลั่นแกล้งใครเขาก็หยิบมาใช้ได้

ทำไมกฎหมายมักจะเข้าใจยาก

เพราะเขียนให้ง่ายมันยากกว่า นี่พูดแบบเป็นธรรมกับคนเขียนเลยนะ คือเขียนให้ยากมันง่าย คิดอะไรได้คุณก็ใส่เข้าไปสิ แต่ตอนอ่านมันยากฉิบหายเลย อย่างเช่นเรื่องระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ผมอ่าน 5 รอบก็ไม่รู้เรื่อง คือยากมาก แต่ก็เข้าใจว่าเขาคงไม่รู้จะเขียนอธิบายยังไงให้มันง่าย เขาก็เลยเขียนตามที่คิด ซึ่งการจะเขียนกฎหมายให้อ่านง่ายต้องใช้ทักษะอีกแบบในการย่อยสิ่งที่คิดให้ออกมาเป็นภาษาที่อ่านง่าย ซึ่งเขาไม่ทำกัน

อีกเหตุผลคือกฎหมายจะมีรูปแบบตายตัวบางอย่างที่ไม่รู้ว่าใครสร้างขึ้น แต่คนที่รักษามาตรฐานนี้ไว้ก็คือคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่จะมีการกำหนดว่าคำเชื่อมอย่าง กับ แก่ แด่ ต่อ และ หรือ ต้องใช้ยังไง เวลาจะโยงกฎหมายเข้าด้วยกันต้องเขียนยังไง สมมติเราเป็นคนร่างกฎหมาย ก็อาจจะพยายามร่างด้วยภาษาที่อ่านง่าย แต่พอส่งเข้าไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเขาก็จะแก้ออกมาให้เป็นรูปแบบแบบที่ใช้กันมา เป็นรูปแบบเดียวกับกฎหมายฉบับอื่นๆ อีกหลายร้อยฉบับที่เคยใช้ไปก่อนหน้านี้ แล้วเขาก็จะคอยรักษามาตรฐานความยากเหล่านี้ไว้อยู่

ซึ่งผมว่ามันอาจจะเป็นการโยนภาระมากไปนิดหนึ่ง ถ้าบอกว่าประชาชนต้องรู้กฎหมายทุกข้อ เพราะไม่มีใครรู้ขนาดนั้นหรอก ต่อให้คนร่างกฎหมายเอง หรือคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่มีใครรู้หรอกว่ากฎหมายมีอะไรบ้าง ผมคิดว่าถ้าคาดหวังให้ประชาชนรู้กฎหมายโดยที่เขาไม่ได้อยากรู้คงเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อไหร่ที่เขารู้สึกว่ากฎหมายมันเกี่ยวกับเขา แล้วเขาตั้งใจไปอ่านจริงๆ ก็จะรู้เรื่อง เหมือนต้องเจอปัญหาก่อน ไม่อย่างนั้นความอยากรู้คงไม่มี เหมือนวันนี้ถ้าให้ผมไปดูเรื่องกฎหมายตลาดหุ้น ผมก็จะไม่มีทางอ่านรู้เรื่องโดยเด็ดขาด เพราะผมไม่เคยศึกษา แต่ถ้าวันหนึ่งผมอยากเล่นหุ้น ผมก็น่าจะอ่านรู้เรื่อง

กฎหมายแบบไหนที่ทุกคนจำเป็นต้องรู้

คิดว่าน่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งฟังดูชื่อก็น่ากลัวแล้ว แล้วก็หนามากด้วย แต่มันจะว่าด้วยหลักการทั่วไป ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกมาตรา แต่น่าจะรู้หลักทั่วไปในครึ่งเล่มแรก เช่น ข้อที่ว่าด้วยเจตนา ถ้าไม่เจตนาจะไม่ผิด แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าอะไรที่เรียกว่าเจตนา อะไรคือประมาท อะไรคือไม่ได้ตั้งใจ ถ้าทำผิดแล้วรับสารภาพจะได้ลดโทษครึ่งหนึ่ง เหตุลดโทษคืออะไร ถ้าทำไปโดยความจำเป็นก็ไม่ต้องรับโทษ หรือทำโดยป้องกันตัวไม่ต้องรับผิด ซึ่งหลักการพื้นฐานเหล่านี้น่าจะรู้ไว้นิดหน่อย

คงไม่ค่อยดีนักถ้าจะปล่อยให้กฎหมายเป็นเรื่องของทนายอย่างเดียว คือถ้าเป็นคนรวย โดนตำรวจเรียกก็โทรให้ทนายมาหาได้ แต่ไม่ใช่ว่าใครจะโทรเรียกทนายมาได้ทันทีตลอดเวลา ถ้าโดนตำรวจจับ หรือโดนเรียกไปคุย แล้วเรารู้พื้นฐานกฎหมายเอาไว้เราก็จะได้เข้าใจว่าสิทธิ์ของเรามีอะไรบ้าง หลายเรื่องก็อาจจะง่ายขึ้น ถ้ารู้กฎหมายนิดๆ หน่อยๆ การโดนตำรวจเรียกก็จะไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้ต้องหา หรือผู้เสียหายก็ตาม

อย่างเพื่อนผมโดนขโมยขึ้นบ้านก็ต้องโทรมาหาผม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเขาเป็นผู้เสียหาย ไม่น่าจะต้องกลัวอะไรเลย แต่ก็ไม่มั่นใจ เพราะไม่มีความรู้พื้นฐานเรื่องกฎหมาย แต่ถ้ารู้ไว้บ้างก็คงไม่กลัว

เราไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังกฎหมายนะ กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเราไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังก็ได้
แต่ถ้าโดนจับก็ต้องยอมรับโทษไป เพราะผมมองว่ามันก็เป็นหน้าที่ของประชาชนอย่างหนึ่ง
ที่จะต้องอารยะขัดขืนต่อกฎหมายที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม

คนไทยเข้าใจอะไรผิดเกี่ยวกับกฎหมายมากที่สุด

อันดับแรก คือถ้าคิดว่ากฎหมายคือความยุติธรรม ผมว่าไม่ใช่

อันดับสอง คือถ้าคิดว่ากฎหมายเป็นเรื่องไกลตัว ผมก็คิดว่าไม่ใช่ หรือถ้าคิดว่ายากเกินไปที่จะเรียนรู้ ก็คิดว่าไม่ใช่อีก

อันดับต่อมา คือเราไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังกฎหมายนะ กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเราไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังก็ได้ แต่ถ้าโดนจับก็ต้องยอมรับโทษไป เพราะผมมองว่ามันก็เป็นหน้าที่ของประชาชนอย่างหนึ่งที่จะต้องอารยะขัดขืนต่อกฎหมายที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม อย่างเช่น กฎหมายห้ามกินข้าวนอกบ้านหลังตีหนึ่ง ก็อย่าไปกลัวมัน ถ้าเราคิดว่าตีสองเราหิว เราก็ออกไปกินเถอะ ถ้าตำรวจจะมาจับเรา ก็แค่จ่ายค่าปรับ 500-1,000 บาท มันก็เป็นหน้าที่ที่ต้องโดนไป หรือกฎหมายที่บอกว่าห้ามเปิดเพลงในร้านกาแฟ เพราะบางค่ายมองว่าผิดลิขสิทธิ์ แต่ถ้าเรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ทำได้ก็ทำไปเถอะ แต่ก็ต้องรับโทษนะถ้าเขาฟ้องร้อง ผมถือว่าเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของประชาชนที่ต้องฝ่าฝืนกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม คือวาทกรรมที่บอกว่าประชาชนมีหน้าที่เคารพกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐต้องรักษากฎหมาย การฝ่าฝืนกฎหมายเป็นสิ่งผิด เป็นสิ่งเลว วาทกรรมแบบนี้ผมไม่เชื่อ

หลักการคือ ถ้าคนไม่เชื่อฟังกฎหมาย แล้วมีคนถูกลงโทษจากกฎหมายนั้นเยอะๆ วันหนึ่งกฎหมายนั้นก็ต้องถูกเปลี่ยน อย่างที่เรารู้กันว่านักโทษ 60-70% ในคุกเป็นนักโทษคดียาเสพติด ในบางประเทศเขาก็มีการแก้ไข อย่างโปรตุเกส ที่แก้ไขว่าการเสพยาไม่มีความผิด ไม่ติดคุก การบริหารจัดการคุกของเขาก็ง่ายขึ้น กระบวนการยุติธรรมของเขาก็ง่ายขึ้น

ทางออกที่ดีคือมีกฎหมายที่เขียนขึ้นจากการพูดคุยถกเถียงจนตกผลึก และมีข้อตกลงร่วมกันของสังคมว่าจะเอาแบบนี้ ฝ่ายที่ขัดแย้งทุกๆ ฝ่ายก็จะรู้สึกว่ากติกาแบบนี้จะให้ผลประโยชน์ที่เป็นธรรมเพียงพอกับเขา หรือกติกาแบบนี้พอจะรับได้

กฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งหรือเปล่า

เป็นแน่นอน ทางออกที่ดีคือมีกฎหมายที่เขียนขึ้นจากการพูดคุยถกเถียงจนตกผลึก และมีข้อตกลงร่วมกันของสังคมว่าจะเอาแบบนี้ ฝ่ายที่ขัดแย้งทุกๆ ฝ่ายก็จะรู้สึกว่ากติกาแบบนี้จะให้ผลประโยชน์ที่เป็นธรรมเพียงพอกับเขา หรือกติกาแบบนี้พอจะรับได้ และในอนาคตถ้าใช้ไปแล้วไม่เป็นธรรมหรือมีปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องสามารถแก้ได้ ถ้าอุดมคติของกฎหมายเป็นแบบนี้ กฎหมายเองก็จะไม่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง ส่วนจะเป็นทางออกได้หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ
ที่สุดแล้วนี่เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวที่คนคนหนึ่งมีต่อกฎหมาย และถึงแม้จะอยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแค่ไหนก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ใจนึกคิด แต่ถ้าคนในสังคมยอมรับร่วมกันว่ากฎหมายไทยกำลังมีปัญหา นั่นอาจเป็นเวลาที่ความเปลี่ยนแปลงจะมาถึงและทำให้สังคมดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ก็เป็นไปได้

 

ภาพถ่ายโดย พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์

FACT BOX:

iLaw คืออะไร

iLaw เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งทำงานกับภาคประชาสังคมและคนทั่วไปในสังคม มีเป้าหมายเพื่อไปให้ถึงหลักการประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และระบบยุติธรรมไทยที่เป็นธรรมและตรวจสอบได้กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การทำงาน iLaw เน้นไปที่การมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายต่างๆ โดยการทำงานรณรงค์เพื่อการปฏิรูปกฎหมาย iLaw ยังทำงานติดตามและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุมคุมขังและการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกด้วย
เว็บไซต์หลัก: iLaw.or.th
ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ: freedom.ilaw.or.th/en
Facebook Page: iLaw

Tags: