ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึง ‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ ในมหากาพย์การก่อสร้างรถไฟฟ้าสองเส้นในกรุงเทพมหานคร คือ สายสีเขียวกับสายสีส้ม โดยโครงการสายสีเขียวฉ้อฉลตั้งแต่การใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2562 แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมามุบมิบทำข้อตกลงกับบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทาน ยอมใส่พานขยายสัมปทานให้อีก 30 ปี ทั้งที่สัมปทานเดิมยังเหลือเวลาอีก 8-9 ปี และไม่ยอมส่งข้อมูลและสมมุติฐานต่างๆ ที่ใช้ในการตกลงค่าโดยสารให้กับคณะกรรมาธิการของสภา
ส่วนการประมูลสายสีส้มนั้นก็มีอภินิหารการฉ้อฉลชนิด ‘เหลือเชื่อ’ หลายครั้งติดต่อกัน ตั้งแต่การประกาศเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลกลางคันหลังจากที่เปิดให้ซื้อซองประมูลไปแล้ว เพียงเพราะบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง (ซึ่งก็ร่วมประมูลด้วย) ร้องขอเกณฑ์ใหม่ที่ประกาศนั้นโปร่งใสน้อยกว่าเกณฑ์เดิมมาก และไม่เคยถูกใช้มาก่อน ครั้นพอบริษัทเอกชนอีกรายยื่นฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คณะกรรมการคัดเลือกโครงการนี้ตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุน) ก็ยื่นอุทธรณ์ และต่อมาประกาศล้มประมูลดื้อๆ โดยไม่รอคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดดังที่ควรทำ
บริษัทเอกชนที่ได้ประโยชน์จากการฉ้อฉลเชิงอำนาจในกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวคือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) ส่วนบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการฉ้อฉลเชิงอำนาจในกรณีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่น่าจะเป็นคู่แข่งรายสำคัญของ BTS ในโครงการนี้คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) บริษัทในเครือ ช.การช่าง (CK) และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่เข้าร่วมประมูลยื่นจดหมายร้องขอให้เปลี่ยนเกณฑ์กลางอากาศ และก็ได้ตามที่ขออย่างง่ายดาย
การฉ้อฉลเชิงอำนาจในมหากาพย์รถไฟฟ้ามูลค่ารวมกันหลายแสนล้านบาทนี้ ส่งผลให้ชาวกรุงเทพฯ ตกเป็นตัวประกันของบริษัทเอกชนโดยปริยาย นอกจากรถไฟฟ้าสายสีส้มจะต้องล่าช้ากว่ากำหนดออกไป สายสีเขียวยังมีการมุบมิบขยายสัญญาสัมปทานล่วงหน้านานหลายปี โดยคณะกรรมการที่ตั้งโดยคำสั่ง คสช. ต่อรองราคาค่าโดยสารให้ออกมานับร้อยบาท สูงราวหนึ่งในสามของค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯ
การฉ้อฉลเชิงอำนาจในวงการรถไฟฟ้าว่าแย่แล้ว แต่อย่างน้อยกรณีของสายสีส้มยังเป็นเรื่องของ ‘ช้างชนช้าง’ ก็ไม่ใช่การเถลิงอำนาจผูกขาดของเอกชนรายเดียว แต่เป็นการปะทะกันของบริษัทระดับ ‘เส้นก๋วยจั๊บ’
การล้มประมูลสายสีส้มหลังจากที่เปลี่ยนเกณฑ์ประเมินกลางอากาศนั้นไม่ว่าจะน่าเกลียดขนาดไหน อย่างน้อยก็ยังมีการเปิดประมูล แตกต่างจากการผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer: IPP) ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าไม่มีการประมูลมาหลายปีแล้ว
เท้าความกลับไปก่อนว่า ประเทศไทยเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุนในการผลิตไฟฟ้าของประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 หรือเกือบสามทศวรรษที่แล้ว โดยกำหนดว่าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนต้องผลิตกระแสไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้าส่วนใหญ่มักจะเป็นสัญญาแบบ ‘ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย’ (take or pay) หมายความว่า แม้ว่าในช่วงเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้าต่ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ใช้ไฟฟ้าก็ยังต้องจ่ายเงินค่าไฟฟ้าในส่วนค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: ค่าเอพี) ให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมผลิต ด้วยการประกันว่าจะมีกำไรดีและความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ
ในเมื่อภายใต้ระบบปัจจุบันที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะเดินเครื่องหรือไม่ การประมาณการความต้องการการใช้ไฟฟ้าของประเทศอย่างรัดกุม ไม่ ‘โอเวอร์’ เกินจริง ในการทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: พีดีพี) จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าประมาณการสูงเกินจริงก็แปลว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น ผู้ใช้ไฟต้องแบกรับค่าไฟสูงเกินควรอย่างไร้เหตุผล
การเปิดประมูล IPP ให้เอกชนเข้ามาแข่งขันและออกแบบระบบสัมปทานให้มีเอกชนหลายราย จึงไม่เพียงสำคัญต่อการสร้าง ‘สนามแข่งขันที่เท่าเทียม’ ตามหลักการตลาดเสรีเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีเอกชนรายใดรายหนึ่งครอบครองกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นเรื่อยๆ จนส่งอิทธิพลหรือถึงขั้น ‘ครอบงำ’ ผู้กำหนดนโยบายได้
การประมูล IPP รอบแรกๆ ดำเนินมาด้วยดี ถึงแม้จะมีเสียงครหาตั้งแต่รอบแรกในปี พ.ศ. 2539 ว่า รัฐประกาศเพิ่มปริมาณการรับซื้อจาก IPP แม้จะมีสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย (ต่อมาปะทุเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ ในปีต่อมาคือ พ.ศ. 2540) ส่งผลให้โรงไฟฟ้าถ่านหินของสองบริษัท คือ บีแอลซีพี และกัลฟ์ สามารถผ่านการคัดเลือกประมูลได้
โครงการที่ชนะการประมูล IPP รอบแรกเป็นของบริษัทมากถึง 7 บริษัท ซึ่งเป็นเอกเทศจากกัน (มีผู้ถือหุ้นคนละกลุ่ม) ก่อนจะค่อยๆ ลดจำนวนลงในรอบต่อๆ มา ส่วนการเปิดประมูลบนฐานการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ ‘สูงเกินจริง’ ก็เป็นปัญหาตลอดมานับตั้งแต่ IPP รอบแรก
การประมูล IPP รอบสุดท้ายก่อนเกิดรัฐประหาร 2557 คือรอบที่สาม โดยเปิดประมูลในปี พ.ศ. 2555 ทันทีที่มีการประกาศเงื่อนไขการประมูล บริษัทที่สนใจเข้าร่วมหลายบริษัทก็ตั้งข้อสังเกตต่อสื่อว่าเงื่อนไขการประมูลไม่เป็นธรรม เช่น มีการ ‘ล็อคเทคโนโลยี’ มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดหากำลังผลิตไฟฟ้า (Bid Management Committee: BMC) ขึ้นมาเป็นผู้พิจารณาคัดเลือก
การประมูลครั้งนี้มีผู้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าเพียง 9 ราย จาก 5 กลุ่มบริษัท ผลปรากฏว่า กลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอจี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (Gulf) เป็นผู้ชนะการประมูลทั้งหมดเพียงบริษัทเดียว ได้กำลังการผลิตไป 5,000 เมกะวัตต์ ท่ามกลางข้อสงสัยมากมายว่ากระบวนการไม่โปร่งใส
ยกตัวอย่างเช่น มีการกีดกันบริษัทลูกของ กฟผ. ไม่ให้เข้าประมูลในครั้งนี้ เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขไม่อนุญาตให้รัฐวิสาหกิจที่ภาครัฐ ‘มีการถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม’ มากกว่าร้อยละ 50 ทำให้บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ได้ ไม่มีข้อกำหนดเรื่องการจัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรวมถึงการรีบร้อนลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
จากนั้นก็เกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่น่าสนใจคือ เพียง 4 วันหลังจากรัฐประหาร ในบรรดานักธุรกิจที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกตัวมา ‘ปรับทัศนคติ’ มีชื่อ สารัชถ์ รัตนาวะดี เจ้าของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ รวมอยู่ในนั้นด้วย
ต่อมา คสช. ใช้อำนาจเผด็จการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ’ (คตร.) ขึ้นมาในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 45/2557 และต่อมาตั้ง คตร. ชุด ‘ทหารเป็นใหญ่’ โดยคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 122/2557 ลงวันที่ 30 กันยายน 2557 อีกทั้งในระหว่างนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 54/2557 แต่งตั้งตัวเองในฐานะหัวหน้า คสช. ให้ไปเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 95/2557 ปลดเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และแต่งตั้งคณะกรรมการ กกพ. ใหม่ทั้งชุด
เรียกได้ว่าแทบจะทันทีหลังรัฐประหาร คสช. ก็เข้าครอบงำองคาพยพทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนพลังงานของประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่ง กกพ. ซึ่งเป็น ‘เรกูเลเตอร์’ หรือหน่วยงานกำกับดูแลกิจการพลังงาน
ภายหลังจากที่ คสช. ตั้ง คตร. แล้ว สหภาพรัฐวิสาหกิจ กฟผ. ก็ไปร้องเรียนต่อ คตร. ว่าการประมูล IPP รอบที่สาม (ที่กัลฟ์ชนะประมูลรายเดียว กวาดเรียบ 5,000 เมกะวัตต์) ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรมกับผู้ร่วมประมูลรายอื่น คตร. กกพ. และกระทรวงพลังงานจึงได้มีตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ
คตร. ไปบอกให้ กกพ. (ที่ คสช. แต่งตั้งใหม่ทั้งชุด) ตรวจสอบการประมูลโรงไฟฟ้า IPP เจ้าปัญหา เรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นจะเรียกว่า ‘มหากาพย์’ ก็ไม่เกินจริง ดังข้อสรุปอย่างชัดเจนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ ส.ส. เบญจา แสงจันทร์ พรรคก้าวไกล เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ความบางตอนว่า
“…รัฐให้สัญญาที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านกับเอกชนไปแล้วแต่รัฐเองกลับยังต้องมาลงทุนอีกเกือบ 6,000 ล้าน โดยผลักภาระค่าก่อสร้างสายส่งให้แก่ประชาชน โดยผู้ชนะการประมูลไม่ต้องรับภาระแม้แต่บาทเดียว ดังนั้น คตร. จึงมีมติให้ กกพ. และกระทรวงพลังงาน ทำการเจรจากับกลุ่มบริษัทกัลฟ์และทุนญี่ปุ่น เพื่อยกเลิกสัญญาโรงไฟฟ้าที่ชนะการประมูล 1 โครงการ และแก้ไขข้อความบางส่วนในสัญญา แต่การเจรจาก็กลับไม่เป็นผล
“เมื่อเกิดการตรวจสอบอย่างเข้มข้นก็ทำให้บริษัทที่ต้องการเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทที่ถูกตรวจสอบไม่ยอมเจรจาต่อ ธนาคารพาณิชย์เองก็ไม่อนุมัติเงินกู้ และมิหนำซ้ำยังถูกคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระงับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย ส่งผลให้กลุ่มบริษัทกัลฟ์ทำการฟ้อง กกพ. กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อศาลปกครองในฐานละเมิดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา แต่หลังจากนั้น 19 สิงหาคม 2558 พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ควบกับประธาน คตร. ที่ขึ้นชื่อว่า แค่กระแอมก็สะเทือนไปทั่วปฐพี หลังจากนั้นก็ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบโครงการนี้ต่อ
“ทั้งนี้ ในระหว่างที่การตรวจสอบและการต่อสู้คดียังเป็นไปอย่างเข้มข้น จู่ๆ พลเอกประยุทธ์ ก็มีคำสั่งฟ้าผ่าที่ 4/2559 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2559 ให้เปลี่ยนตัวประธาน คตร. ออกกลางอากาศ ก่อนที่อีกไม่ถึง 2 เดือนต่อมา ก็มีคำสั่งฟ้าผ่าอีกฉบับ คือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 70/2559 ให้ยุบ คตร. ทิ้งไปเสียโดยอ้างแค่เพียงเหตุผลว่า ซ้ำซ้อน มีหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่คล้ายกันอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง ไม่มีหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่คล้ายกันตามที่ พลเอกประยุทธ์อ้างมารับเอาคดีที่เกี่ยวพันถึงผลประโยชน์ของชาติกว่าแสนล้าน ไปดำเนินการตรวจสอบต่อ
“…หลังจากคำสั่งฟ้าผ่าเพียงวันเดียว ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษาที่เป็นคุณต่อกลุ่มกัลฟ์ โดยไม่ให้กระทรวงพลังงานนำผลการตรวจสอบไปใช้ และให้กระทรวงพลังงานส่งเอกสารไปยกเลิกการระงับการส่งเสริมการลงทุนที่เคยแจ้งต่อ BOI ไว้ด้วย”
“นอกจากนี้ สิ่งที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาไปเมื่อปลายปี 2559 เป็นเพียงการตัดสินเกี่ยวกับการทำละเมิดของหน่วยงานรัฐ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาระสำคัญของการประมูลโรงไฟฟ้าเมื่อปี 2556 เลยว่า การประมูลครั้งนั้นมีความถูกต้องโปร่งใสหรือไม่อย่างไร ศาลไม่ได้พูดถึงความถูกผิดของการประมูล”
จุดจบของมหากาพย์ทั้งหมดนี้ คือ การตรวจสอบประมูล IPP เจ้าปัญหาที่กัลฟ์ชนะไปเพียงรายเดียว ถูกระงับการดำเนินการไปดื้อๆ โดยไม่มีหน่วยงานไหน (กล้า?) รับเรื่องไปดำเนินการต่อ
การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตอิสระหรือ IPP รอบที่สามว่าเหลือเชื่อแล้ว การเปิดการรับซื้อรอบที่สี่ซึ่งเป็นครั้งแรกนับจากรัฐประหาร 2557 ต้องเรียกว่า ‘อภินิหาร’ มากกว่านั้นอีก เนื่องจากครั้งนี้ไม่มีการประมูลเลย!
แผน PDP 2561 ที่นำมาซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้แปลกประหลาดกว่าครั้งก่อนๆ ตรงที่ไม่มีการพูดถึงกำลังผลิตสำรองแม้แต่ครั้งเดียว (ซึ่งถ้าดูตัวเลขนี้จะเห็นว่า ประเทศไทยมีกำลังผลิตสำรองส่วนเกินสูงถึงร้อยละ 35-40 หรือกว่า 20,000 เมกะวัตต์ จึงไม่น่ามีความจำเป็นที่จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่) โดยสรุปว่า ‘จำเป็น’ ที่จะต้องมีการเพิ่มกำลังการผลิตในภาคตะวันตก 1,400 เมกะวัตต์
ต่อมา กพช. เห็นชอบให้ RATCH (ซึ่ง กฟผ. ถือหุ้นร้อยละ 45 และเคยถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมประมูล IPP รอบที่สาม) สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติใหม่ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ (โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง) เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์จี้ ขนาด 700 เมกะวัตต์ที่มีกำหนดหมดอายุในปี 2563 โดยไม่เปิดการประมูล
กพช. ให้เหตุผลว่า RATCH มีความพร้อมด้านพื้นที่ สาธารณูปโภคต่างๆ และได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และช่วยเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าทางภาคตะวันตกและภาคใต้
ต่อมาไม่ถึงครึ่งปี วันที่ 3 มกราคม 2563 หลังจากที่โรงไฟฟ้าหินกองของ RATCH ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ไปในเดือนกรกฎาคม 2562 บมจ. กัลฟ์ ก็เข้าซื้อหุ้นบริษัท หินกอง เพาเวอร์ ผู้ดำเนินโครงการ ในสัดส่วนร้อยละ 49 ที่ราคาพาร์ (หุ้นละ 10 บาท) จ่ายเงินเพียง 1.96 ล้านบาทเท่านั้น
นั่นหมายความว่ากัลฟ์ได้เป็นเจ้าของกำลังผลิตเกือบครึ่งหนึ่งของโรงไฟฟ้าหินกอง ซึ่งมีการประมาณการว่ามูลค่า 6.4 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่าหุ้นร้อยละ 49 ในส่วนที่กัลฟ์ถือมีมูลค่าราว 3.2 หมื่นล้านบาท นับว่าคุ้มเกินคุ้มสำหรับการควักเงินจ่ายแค่ 1.96 ล้านบาท
ผู้เขียนนึกไม่ออกว่ามีการลงทุนอะไรที่ได้กำไรงามๆ เท่านี้อีก
ผลที่เกิดขึ้นก็คือ กัลฟ์ได้เป็นเจ้าของกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าเกือบครึ่งหนึ่ง โดยไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันกับใคร และโรงไฟฟ้านี้ ถ้าดูเชิงระบบก็ไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้าง เพราะไม่มีความต้องการรองรับ อีกทั้งกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์จี้ที่อ้างว่าต้องสร้างโรงใหม่มาทดแทนก็มีขนาด 700 เมกะวัตต์ ไม่ใช่ 1,400 เมกะวัตต์
ดังนั้น การ ‘แถม’ 1,400-700 = 700 เมกะวัตต์ให้กับ RATCH จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ธรรมาภิบาลในกระบวนการวางแผนพลังงาน การรับซื้อไฟฟ้าของไทยนั้นถดถอยตกต่ำลงมากขนาดไหนแล้ว
และในเมื่อ RATCH ‘ยอม’ ขายหุ้นร้อยละ 49 ในโรงไฟฟ้ามูลค่าหลายหมื่นล้านให้กับกัลฟ์ ในราคาต่ำเตี้ยติดดินอย่างเหลือเชื่อคือ 1.96 ล้านบาท ก็ย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยทันทีว่า กัลฟ์ และ/หรือผู้มีอำนาจทางการเมืองอาจชักใยดีลนี้ ใช้ RATCH เป็นโล่กำบังให้กัลฟ์สามารถถือหุ้นเกือบครึ่งหนึ่งในโรงไฟฟ้าใหม่
โดยไม่ต้องประมูล ไม่ต้องลงทุนก่อสร้าง และไม่ต้องออกหน้าทางการเมือง
ผู้เขียนนั่งดูมหากาพย์โรงไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันแล้วก็เห็นว่า ไม่มีใครหรอกที่จะอธิบายเหตุผลอย่างสอดคล้องเป็นเหตุเป็นผลได้ว่า เหตุใด RATCH จึงถูกกีดกันไม่ให้ร่วมประมูล IPP รอบที่สาม แต่แล้วพอมาถึงรอบที่สี่ RATCH กลับได้รับอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าโรงใหม่ดื้อๆ โดยไม่ต้องประมูลแข่งกับใคร แถมไม่กี่เดือนหลังจากนั้นยัง ‘ใจดี’ เหลือหลาย ยอมขายหุ้นโรงไฟฟ้าใหม่ในราคาพาร์ให้กับกัลฟ์ บริษัทรายเดียวที่ชนะประมูลในรอบที่ตัวเองถูกกีดกัน
เราอธิบายเรื่องนี้ไม่ได้เลย ถ้าไม่มองว่า ผู้มีอำนาจทางการเมืองอาศัยการฉ้อฉลเชิงอำนาจหลากหลายรูปแบบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนพวกพ้องของตัวเอง ‘กินรวบ’ ระบบการผลิตไฟฟ้า IPP ของไทย
ตารางเปรียบเทียบราคาหุ้น GULF กับดัชนี SET ในช่วงปี 2018-2020 โดยดัชนีเริ่มต้นที่ 100 เท่ากัน
Tags: IPP, การฉ้อฉลเชิงอำนาจ, Citizen 2.0, Power Corrupt, Independent Power Producer