‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ ตลอดห้าตอนที่ผ่านมาเริ่มย้ายออกจากแดนของการใช้อำนาจทางการเมือง มาสู่เรื่องการใช้อำนาจทางการเมืองเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจแก่กลุ่มทุนของตัวเองหรือพวกพ้อง หรือที่ครั้งหนึ่ง เราเคยใช้คำว่า ‘คอร์รัปชันเชิงนโยบาย’ กับรัฐบาลก่อนหน้ารัฐประหาร 2557 (ใครสนใจตัวอย่าง ‘คอร์รัปชันเชิงนโยบาย’ ในอดีต ผู้เขียนคิดว่ากรณีที่ยกในบทความ ‘ทุนสัมปทานกับธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ‘ โดย ดอกเตอร์ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นตัวอย่างที่ดี)

‘คอร์รัปชันเชิงนโยบาย’ นั้น สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ ถ้าหากพบหลักฐานว่าผู้มีอำนาจทางการเมือง ‘สั่ง’ ให้หน่วยงานของรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทของตนเอง (โดยเฉพาะถ้าหากว่าเจ้าหน้าที่รัฐทัดทานแล้ว แต่ผู้มีอำนาจไม่ฟัง) ทว่า ‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ ที่เอื้อประโยชน์ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนั้น หลายกรณีชัดเจนว่าเป็น ‘ขั้นกว่า’ ของ ‘คอร์รัปชันเชิงนโยบาย’ หลายขุม เพราะไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่บริษัทใดบริษัทหนึ่งในระดับของนโยบายหรือคำสั่งทางราชการ แต่เอื้อประโยชน์ในระดับที่สูงกว่านั้น ผ่านการออกหรือแก้ ‘กฎหมาย’ และหลายครั้งก็ใช้คำสั่งหรือประกาศ คสช. ซึ่งก็มีผลทำให้ทั้งบริษัทและนักการเมืองที่ได้ประโยชน์ สามารถ ‘ลอยตัว’ ได้เต็มที่ เพราะเพียงอ้างว่า ทำตามกฎหมายหรือคำสั่ง/ประกาศ คสช. เท่านั้นก็เพียงพอ

ในเมื่อคำสั่งและประกาศ คสช. ทั้งหมดใช้อำนาจเผด็จการเต็มรูปแบบ (มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว) นั่นคือ นิรโทษกรรมความผิดไว้ล่วงหน้าทุกแบบแล้ว ทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย ส่วนศาลและรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยอมรับคำสั่งและประกาศ คสช. ทั้งหมดว่ามีสถานะเป็น ‘กฎหมาย’ (ที่คนเขียนและคนบังคับใช้ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ)

หลายกรณีจึงไม่มีใครสามารถเอาผิดได้ ทำได้อย่างมากเพียง ‘ประจาน’ การฉ้อฉลเชิงอำนาจให้สังคมรับรู้เท่านั้น

ในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2564 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคฝ่ายค้านหลายท่านอภิปรายในประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่า ฉายภาพที่ชัดเจนของการฉ้อฉลเชิงอำนาจ และความเสียหายที่ตกอยู่กับประชาชน

โดยเฉพาะเรื่องมหากาพย์รถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีส้มในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เรื่องนี้เรื่องเดียวก็มี ส.ส. ฝ่ายค้านอภิปรายถึงสามท่าน ผู้เขียนขอแนะนำให้ทุกท่านที่พลาดการอภิปรายไปดูคลิปย้อนหลัง เพราะอภิปรายได้ยอดเยี่ยมทุกท่าน ตั้งแต่ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ จากพรรคก้าวไกล, ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร และ จิรายุ ห่วงทรัพย์ จากพรรคเพื่อไทย 

ว่ากันตามจริง พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุน) ปี พ.ศ. 2535 แก้ไข พ.ศ. 2556 ซึ่งโดยหลักการนำมาใช้กับโครงการขนาดใหญ่ (มูลค่าหนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป) ที่รัฐเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน ก็เปิดช่องให้คณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้ใช้ดุลพินิจได้ค่อนข้างกว้างอยู่แล้วว่า จะคัดเลือกเอกชนโดยวิธีประมูลหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ คำสั่ง/ประกาศ คสช. หรือกฎหมายฉบับใดก็ตามที่ ‘ยกเว้น’ ไม่ให้โครงการมูลค่าเกินหนึ่งพันล้านต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน จึงสมควรถูกตั้งข้อสังเกตในแง่ลบไว้ก่อนว่า รัฐอาจมุบมิบ ‘ลัดขั้นตอน’ เพื่อประเคนอภิมหาโปรเจกต์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง ซึ่งก็มักเป็น ‘นายทุน’ เบื้องหลังพรรครัฐบาลที่ใครๆ ก็รู้กัน

ส.ส. สุรเชษฐ์ฉายปัญหาภาพรวมของรถไฟฟ้า กทม. อย่างชัดเจนว่า รัฐต้องอุดหนุนไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันพอ เพราะการลงทุนที่ ‘ไม่พอเพียง’ ซึ่งในส่วนของการ ‘ปั้นตัวเลข’ คุณสุรเชษฐ์อภิบายว่า “เกิดจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ (ผู้นำ คสช.) สั่งการอย่างมีธง โดยที่ไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจังและเป็นกลาง มีการปั้นตัวเลขให้ดูคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเพื่อที่จะได้สร้าง ปั้นตัวเลขให้ดูกำไรน้อยหรือขาดทุนเพื่อที่จะได้ใช้เงินรัฐไปช่วยอุดหนุนเอกชนให้มากๆ ผ่านกระบวนการ PPP ยิ่งถ้าเป็นในช่วงรัฐประหารที่ระบบตรวจสอบล้มเหลว คงไม่มีใครกล้าขวางธงจากนายกรัฐมนตรี ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ทุกวันนี้ค่าตั๋วโดยสารยังไม่พอจ่ายแม้กระทั่งค่าบริหารจัดการ ซึ่งรัฐต้องอุ้มอยู่ปีละประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท รัฐต้องอุดหนุนค่าเดินทางเฉลี่ย 147 บาท ต่อคนต่อเที่ยว ซึ่งมองอย่างไรก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มทุนทางการเงินและไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งตรงส่วนนี้พิสูจน์ได้ จึงสรุปได้ว่า มีการปั้นตัวเลขเสกมาว่าโครงการคุ้มค่า แต่ว่าความจริงแล้วไม่”

ผู้เขียนเห็นว่า การอภิปรายของ ส.ส. ทั้งสามท่านชี้ให้เห็น ‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 ในวันที่ 11 เมษายน 2562 ให้ กทม. ดำเนินการจ้างเอกชนเพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้า จัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 (สายสีเขียว) โดยให้ ‘ไม่ถือเป็นการร่วมลงทุน’ ตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน

นอกจากนี้ยังให้กระทรวงมหาดไทยไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งคณะ ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร และหลักเกณฑ์อื่น ‘เพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว’ โดยให้ไปเจรจากับผู้รับสัมปทาน นั่นคือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอส) ให้เรียบร้อยภายในสามสิบวัน ร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขที่ตกลงกันได้ ให้ถือว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุน ในส่วนของการแก้ไขแล้ว

พูดง่ายๆ คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ ทำให้ กทม. สามารถจ้างบีทีเอสเดินรถสายสีเขียวในส่วนต่อขยายที่ 2 และให้กระทรวงมหาดไทยไปตั้งคณะกรรมการที่มีอำนาจเจรจาหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากสายสีเขียวตลอดทั้งเส้นกับ บีทีเอสได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องผ่านกลไกของ พ.ร.บ. ร่วมลงทุน

และในเมื่อเป็นคำสั่ง คสช. ก็แปลว่าไม่มีใครต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้นจากการออกและปฏิบัติตามคำสั่ง

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ ออกเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม จึงเกิดเป็นคำถามทันทีว่า การใช้อำนาจเผด็จการ ‘ทิ้งทวน’ ตัดตอนกระบวนการปกติ โดยไม่รอรัฐบาลใหม่ จะมีเหตุผลอื่นใดนอกจากการใส่พานเอื้อประโยชน์บีทีเอส?

ประชาชนเพิ่งได้รับทราบจากการอภิปรายของ ส.ส. สุรเชษฐ์ ว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามมาตรา 44 นี้ ไม่เคยเปิดเผยรายงานการประชุมหรือเอกสารใดๆ ต่อคณะกรรมาธิการของสภาเลย ไม่ว่าจะร้องขอไปกี่รอบ จึงไม่เคยมีใครได้รู้สมมติฐานเบื้องหลังค่าโดยสารใดๆ ที่เจรจากับบีทีเอส ซึ่งเคยเริ่มต้นที่ 158 บาทตลอดสาย ต่อมาเป็น 104 บาท ต่อมาล่าสุดลดเหลือ 65 บาท แต่ราคานี้ต้องแลกกับการขยายสัมปทานให้บีทีเอสไปอีก 30 ปี ทั้งที่ยังมีเวลา 8-9 ปี ก่อนที่สัมปทานจะหมด

ส.ส. สุรเชษฐ์ชี้ว่า สภาเคยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ คณะนี้และคณะอื่นๆ รวมถึงคณะกรรมาธิการคมนาคม ไม่มีใครเห็นด้วยกับการขยายสัญญาสัมปทาน สภาเคยเสนอตั้งแต่ปี 2562 ว่า ทางออกของเรื่องนี้คือการไปเจรจาอย่างเปิดเผยและโปร่งใส แต่รัฐบาลไม่ทำตาม

ส.ส. ยุทธพงศ์ถามในการอภิปรายว่า “ตั้งแต่ปี 2561 ท่านทำอะไรอยู่ ทำไมไม่หาแหล่งเงินกู้ตามที่ มติ ครม. เสนอไปจ่ายหนี้เขา การที่ กทม. ให้สัมปทานกับบีทีเอสแลกหนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่” นอกจากนี้ยังชี้ประเด็นว่า นอกจากจะไม่ทำตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนแล้ว อาจยังเป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหนี พ.ร.บ. ร่วมทุน ผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157

ขณะที่มหากาพย์สายสีเขียวยังไม่จบ มหากาพย์สายสีส้มก็ร้อนระอุไม่แพ้กัน และมีประเด็น ‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ ที่แตกต่างกันในรูปแบบ แต่ระดับความโจ๋งครึ่มไม่แพ้กัน แถมกรณีนี้มีเรื่องของการ ‘ไม่แคร์ศาล’ ด้วย

สายสีส้มเป็นการต่อสู้กันหลักๆ ระหว่างสองยักษ์ใหญ่ในวงการรถไฟฟ้าไทย คือ บีทีเอส กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) บริษัทในเครือของ ช.การช่าง มีผลประโยชน์นับแสนล้านบาทเป็นเดิมพัน

ส.ส. จิรายุ ห่วงทรัพย์ เรียกรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงที่ 2 ว่า ‘เป็นมหากาพย์ เงินทอนสูง เดิมพันสูง‘ กรณีที่เหลือเชื่ออย่างมากคือ รัฐเปิดประมูลสายสีส้มช่วงที่ 2 ไปแล้ว และอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ชนะการประมูล แต่ในวันที่ 6-7 สิงหาคม 2563 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) บริษัทเอกชนรายหนึ่งใน 10 รายที่มาซื้อซองประมูล มีการยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร้องขอให้เปลี่ยนเกณฑ์การประเมินข้อเสน

จากนั้น คณะกรรมการตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ. ร่วมทุน ก็มีการประกาศเปลี่ยนหลักเกณฑ์ประเมิน ‘กลางอากาศ’ ตามข้อเสนอของ ITD ทั้งที่กระบวนการประมูลเริ่มต้นไปแล้ว แถมเอกชนที่ทักท้วงคือ ITD ก็มีส่วนได้เสียโดยตรงเพราะเป็นเอกชนที่มาซื้อซองประมูล!

อีกทั้งหลักเกณฑ์ใหม่นี้ให้ ‘พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา’ คือเปิดซองเทคนิคกับซองราคาแล้วพิจารณาพร้อมกันทีเดียว แตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมาที่จะให้เปิดซองเทคนิคก่อน ถ้าผ่านแล้วจึงเปิดซองราคา

หลักเกณฑ์ใหม่นี้นอกจากจะโผล่มากลางอากาศแล้ว ยังเป็นหลักเกณฑ์พิสดารที่ใช้เป็นครั้งแรกกับสายสีส้ม ผู้เขียนไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน และสามารถส่งผลให้เปลี่ยนตัวผู้ชนะการประมูลได้เลย

แหวกแนวขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ วันที่ 17 กันยายน หลังจากที่คณะกรรมการมาตรา 36 มีมติเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล BTS หนึ่งในผู้เข้าร่วมประมูล ก็ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ต่อมาศาลปกครองก็ได้ออกคำสั่งให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยกเลิกเกณฑ์การประมูลใหม่ กลับไปใช้เกณฑ์เดิม

ขณะที่ รฟม. ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ระหว่างที่รอคำชี้ขาดของศาลปกครองสูงสุดอยู่นั้นเอง ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการมาตรา 36 ก็มีมติให้ล้มการประมูลทั้งหมด โดยอ้างเหตุผลว่า ถ้าหากรอคำสั่งจากศาล จะทำให้เกิดความล่าช้า จึงจัดประมูลใหม่ทั้งหมดแทน

ส.ส. จิรายุ ชี้ในการอภิปรายว่า “การประมูลใหม่ส่งผลให้ต้องมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบ ทำ TOR ใหม่ ทั้งที่โครงการดำเนินมาสู่การประมูลแล้ว มีการวางโครงการนี้มาเป็น 10 ปี เหตุใดถึงเพิ่งมีการกำหนดเกณฑ์ใหม่หลังจากที่มีเอกชนหนึ่งรายยื่นหนังสือคัดค้าน ทั้งๆ ที่คณะกรรมการมาตรา 36 ต่างเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องรถไฟฟ้ากันทั้งนั้น เหตุใดตลอดระยะเวลาโครงการที่นานถึง 10 ปีไม่มีการเปลี่ยนแปลง การเริ่มประมูลใหม่จะทำให้ทุกอย่างล่าช้าลงไปอีก”

มหากาพย์รถไฟฟ้าทั้งสายสีเขียวและสีส้ม (ซึ่งยังไม่จบ เราต้องจับตาดูไปอีกนาน) จึงนับเป็นตัวอย่างอันดีของ ‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ เพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ ที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองใช้อำนาจที่ตัวเองมีทุกวิถีทาง ตั้งแต่การใช้อำนาจเผด็จการออกคำสั่งมายกเว้นกฎหมาย ไม่มีใครต้องรับผิดใดๆ ไปจนถึงการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ประมูลกลางทาง หลังจากที่กระบวนการเริ่มต้นขึ้นแล้ว

โดยไม่สนใจทั้งคำทัดทานของหน่วยงานราชการ และคำตัดสินของศาล

Tags: , , , ,