หากจะว่ากันตามหลักการแล้ว การถ่ายภาพสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเด็น คือ ‘การถ่ายภาพเชิงวิทยาศาสตร์’ หรือการทำปฏิกิริยาระหว่างแสงและวัตถุไวแสง กับ ‘การถ่ายภาพเชิงศิลปะ’ หรือการวาดภาพด้วยแสงและเงา รวมทั้งการถ่ายทอด ผสมสี เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ทัศนคติลงบนวัตถุ และสำหรับ ตีตี้—ศิรวิทย์ คุววัฒนานนท์ ติวเตอร์ฟิสิกส์และช่างภาพอิสระ เขาได้รวมเอา 2 ความหมายของการถ่ายภาพไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน
ศิรวิทย์หลงใหลการถ่ายภาพสตรีท หรือการเก็บภาพบรรยากาศและผู้คนตามท้องถนน ซึ่งสามารถถ่ายได้ทุกที่ทุกเวลา เขาบอกว่า
“สตรีทมันถ่ายได้ทุกที่ครับ ก็คือไม่จำเป็นต้องต้องไปหาวิวสวยๆ เพื่อจะถ่ายรูป แต่เป็นที่ไหนก็ได้จริงๆ คือความยากของการถ่ายแต่ละแบบมันไม่เหมือนกัน ซึ่งความยากของการถ่ายสตรีท คือมันเป็นเรื่องของไอเดียแล้วก็จังหวะตอนนั้นเลย ก็เลยทำให้ต้องฝึกพอสมควรกว่าเราจะถ่ายรูปๆ หนึ่งได้ คือปีหนึ่งอาจจะได้แค่ 10 รูปก็พอแล้ว”
และไม่ว่าในแต่ละปีเขาจะถ่ายภาพได้กี่ภาพ ในปี 2018 นี้ ศิรวิทย์ก็ได้มีนิทรรศการภาพถ่ายเดี่ยวครั้งแรกของตัวเอง ในชื่อ Chéri: Photography Exhibition by Sirawit Kuwawattananon
ศิลปะและวิทยาศาสตร์ : ความแตกต่างที่ประสานเป็นหนึ่งเดียว
อย่างที่เกริ่นไว้ ความน่าสนใจอย่างยิ่งของศิรวิทย์คือความเป็นศิลปินสายวิทย์ฯ ของเขา และนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาก็ได้สะท้อนตัวตนและความรู้สึกแห่งความรัก โดย Chéri (เชรี) เป็นภาษาฝรั่งเศสซึ่งแปลว่า ‘ที่รัก’ มีความหมายตรงกับมวลความรู้สึกและมู้ดของภาพทุกประการ
“Cheri เป็นเพลงของสตีวี่ วันเดอร์ (Stevie Wonder) ซึ่งเป็นศิลปินที่ผมชอบ แล้วอีกส่วนหนึ่ง ตอนเข้าไปเรียนวิศวะฯ ปีหนึ่ง มีเพื่อนผู้หญิงคนนึงเขาชื่อเชรี เขาพยายามจะบอกเพื่อนๆ ว่าเขาชื่อเชรี แต่เพื่อนก็จะเรียกว่าเชอร์รี่… ปรากฏพอถึงปีสอง เขาอ่านหนังสือเยอะไปจนป่วย อาหารเป็นพิษ พอเขาอาเจียน เหมือนเชื้อโรคมันไปติดที่ขั้วหัวใจ เดือนเดียวเขาก็เสีย… มันเลยเป็นเรื่องที่ค้างใจเราอยู่
แล้วเผอิญว่าตอนนั้นคิดชื่อนิทรรศการ แล้วมีคนเสนอชื่อนี้ขึ้นมา ก็นึกได้ว่ามันตรงกับมู้ดของงานพอดี ตรงไปทุกๆ อย่าง ก็เลยอยากจัดงานเพื่อเชรีด้วย เราอยากให้ทุกคนคิดถึงเขา คือมนุษย์เราคงไม่อยากตายไปโดยสูญเปล่า เหมือนคนเราเชื่อเรื่องวิญญาณเพราะเราไม่อยากตายจริงๆ เรายังเชื่อว่าถึงจะตายไปแล้วเรายังมีตัวตนอยู่แม้จะในฐานะวิญญาณ แต่ผมไม่เชื่อเรื่องนี้ หากจะให้อะไรสักอย่างเป็นอนุสรณ์ของเขา ก็คิดว่าตั้งเป็นชื่อเขาน่าจะดี” ศิรวิทย์กล่าว
นิทรรศการภาพถ่าย Chéri มีจุดเด่นอยู่ที่การกลมกลืนวิทยาศาสตร์และศิลปะเข้าด้วยกัน เนื่องจากเป็นสิ่งที่ศิรวิทย์ชื่นชอบและเรียนรู้อย่างจริงจังทั้งคู่ โดยศิรวิทย์ก็ได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับความเหมือนและความแตกต่างระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะไว้ว่า
“วิทยาศาสตร์มันต้องทำการทดลอง คือมันจะไม่รู้ว่าสิ่งไหนมีจริงหรือไม่มีจริงจนกว่าจะทดลองจนสำเร็จ แล้วถึงทดลองสำเร็จแล้วในอนาคตมันอาจจะผิดก็ได้ ส่วนศิลปะมันก็คล้ายกับวิทยาศาสตร์ในแง่ที่มันได้ทำลายกรอบความคิดบางอย่างที่ครอบมนุษย์เอาไว้ ตั้งแต่ที่ดูว์ช็อง (Marcel Duchamp) เอาโถส้วมมาวางเป็นงานศิลปะ ผมก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจ มันทำให้คนเรามีเสรีภาพมากขึ้น มีวิธีการคิด คือไม่มีใครเอามาปิดหัวสมองเราได้เหมือนเดิม
แต่ศิลปะและวิทยาศาสตร์ก็มีข้อที่ต่างกัน อย่างวิทยาศาสตร์อาจจะทำเพื่อค้นหาเหตุผลบางอย่างในการเชื่อบางสิ่ง แต่ศิลปะเราอาจจะรู้สึกร่วมกันโดยไม่ต้องมีเหตุผลมาประกอบ ไม่จำเป็นต้องหาคำตอบ สำหรับผม ผมรู้สึกว่ามันก็เป็นสองสิ่งที่เกิดจากว่ามนุษย์พยายามเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจตัวเองมากขึ้น พยายามจะรู้ว่าเราเป็นใคร อยู่ตรงไหน มนุษย์ช่างสงสัย มันก็ดีทั้งคู่ มันพิเศษเหมือนๆ กัน”
โดยในนิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 เซ็ต คือ เซ็ตที่หนึ่งเป็นความรักของคน โดยถ่ายตาม ความรู้สึกขณะนั้นของศิรวิทย์ เซ็ตที่สองเป็นสัตว์และสิ่งของ โดยถ่ายแบบมีการคิดและมีคอนเซปต์กำกับ ส่วนเซ็ตสุดท้ายเป็นภาพถ่ายงานวิทยาศาสตร์ซึ่งจะเล่าถึงความเป็นตัวตนของศิรวิทย์มากที่สุด โดยในเซ็ตสุดท้ายนี้ แสงถือเป็นองค์ประกอบและตัวแปรสำคัญที่เห็นได้อย่างชัดเจน
“ผมอยากให้ดูให้เข้าใจว่าในอินเนอร์ลึกๆ แล้ว ในรูปวิทยาศาสตร์ ผมก็ยังใส่ใจเรื่องพวกมู้ดอยู่ดี แสงมันอาจจะทำให้คุณเข้าใจว่ามันเด่นเรื่องแสงที่กระทบกับวัตถุ ซึ่งเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ แต่พอดูทั้งหมดแล้วคนน่าจะรู้สึกถึงมวลของอารมณ์และความรู้สึก” ศิรวิทย์เสริม
สำหรับเขาแล้ว การเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์หรือการเป็นติวเตอร์ฟิสิกส์นั้นไม่ได้เป็นส่วนที่จะจำกัดจินตนาการของเขาให้อยู่ในกรอบทางวิทยาศาสตร์ กลับกันมันยังช่วยสร้างอีกมุมมอง ซึ่งส่งผลให้เขาเป็นคนแรกๆ ที่ถ่ายภาพสตรีทออกมาในรูปแบบนี้
“คนส่วนใหญ่จะชอบมองว่านี่เป็นซิกเนเจอร์ของผม ซึ่งความจริงผมไม่ได้ซีเรียสว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้น ก็คือผมแค่ชอบ” ศิรวิทย์ย้ำ
“สาเหตุที่ผมใช้กล้องถ่ายรูปเพราะผมชอบอุปกรณ์นี้มากที่สุด มันทำงานโดยหลักวิทยาศาสตร์พอสมควร อย่างเวลาผมถ่ายภาพโดยใช้สปีดชัตเตอร์ (speed shutter) ผมรู้สึกว่ามันเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ส่วนด้านศิลปะมันคือการที่ผมอยากอยากเล่าเรื่องผ่านกล้องถ่ายรูป วิธีเล่า วิธีถ่ายทอดมันออกมาเป็นภาพอะไรแบบนี้”
ทั้งนี้ศิรวิทย์ยังได้พูดถึงภาพถ่ายที่ชอบและเป็นตัวตนของเขามากที่สุด โดยหลังจากภาพนี้ถูกปล่อยออกไปก็ถือเป็นการฉีกกฏการถ่ายภาพแบบสตรีทส่วนใหญ่ที่ควรจะต้องถ่ายแบบเผชิญหน้า (ถ่ายด้านหน้าคน) และยังมีกระแสการถ่ายเลียนแบบอีกมากมาย ซึ่งภาพถ่ายที่ว่านี้ปรากฎอยู่ในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย
“รูปที่ผมชอบมากที่สุดเป็นรูปที่ผมถ่ายที่มาเก๊า เป็นรูปตอนกลางคืน ผู้ชายผู้หญิงโอบกัน มันเป็นตัวตนของผมมากๆ ถ่ายตอนนั้นก็รู้สึกว่าทุกอย่างธรรมชาติมาก เหมือนเขาไม่ได้มีเราอยู่ในเหตุการณ์นั้นของเขาเลย ซึ่งเขาก็ไม่เห็นเราจริงๆ นะ คือช่างภาพสตรีทหลายคนจะสอนว่าให้ถ่ายเผชิญหน้า หมายถึงว่าถ่ายคนด้านหน้ามันเจ๋งกว่าด้านหลังเสมอ มันคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับกล้อง แต่ผมลองถ่ายข้างหลังดูมันก็ดีเหมือนกันนะ”
ทั้งนี้ศิรวิทย์ยังย้ำมุมมองว่าภาพถ่ายเป็นภาษาสากลและศิลปะก็อยู่ในตัวทุกคน ไม่เคยมีพรมแดน อีกทั้งศิลปะยังให้อะไรมากกว่าการสร้างผลงานหรือการจรรโลงใจด้วย
“ที่ดีที่สุดคือได้รู้จักตัวเองครับ พอถ่ายรูปถึงจุดนี้ ผมบอกได้เลยว่าผมเป็นคนแบบไหนทั้งๆ ที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน…ผมว่าศิลปะมันให้ตรงนั้นมากพอสมควร แล้วก็ได้เล่าเรื่องของตัวเรา เล่าเรื่องสิ่งที่เราไปเจออย่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่ดีมาก”
หลังจากนี้ศิรวิทย์ก็ยืนยันจะถ่ายภาพไปเรื่อยๆ และในอนาคตก็อยากจะทำอะไรให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เช่น การเข้าไปร่วมมือกับกลุ่ม Street Photo Thailand ให้มากขึ้น
การถ่ายภาพสตรีทถือเป็นการถ่ายภาพอีกแขนงที่น่าสนใจและน่าจับตามองอย่างมาก เพราะในปัจจุบันคนไทยเริ่มหันมาสนใจการถ่ายภาพแนวนี้มากขึ้น อีกทั้งยังมีพื้นที่สำหรับการจัดแสดงที่กว้างขวางขึ้นกว่าในอดีตด้วย และศิรวิทย์เชื่อว่าหากวงการสตรีทโฟโต้ของไทยได้รับการสนับสนุนก็จะสามารถผลักดันไปสู่ระดับสากลได้
“อาจจะเห็นว่าคนถ่ายสตรีทกันเยอะแต่พื้นที่จัดแสดงเรายังมีไม่มาก แต่ก็เริ่มมีบ้าง อย่างหอศิลป์ก็เริ่มให้ที่เราตรงสามชั้นแล้ว แต่ว่าจริงๆ มันก็ทรงๆ ครับ ถ้าเราทำให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ก็น่าจะดี น่าจะต้องช่วยกันผลักดัน ตอนนี้เราก็เห็นคนเก่าไปคนใหม่เข้ามากันอยู่เรื่อยๆ แต่ทุกคนก็มีส่วนช่วยกันอยู่”
ทั้งนี้ศิรวิทย์ก็ได้ทิ้งท้ายด้วยการเชิญชวนให้คนเปิดใจมาชมงานนิทรรศการเดี่ยวของตน เพราะเชื่อว่าผู้ชมจะได้อะไรกลับไปมากกว่าความสุนทรีย์จากงานศิลปะ
“อยากให้ลองมาดูว่าศิลปะมันมีหลายแบบมาก จะชอบไม่ชอบก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลของคุณเลย ซึ่งดี ด่าก็ได้ ชมก็ได้ ด่ามาแล้วมีผลกระทบยังไง ทำไมถึงด่า… มันสนุกมากครับที่ได้ถามตัวเอง ได้คิด หรือว่าคุณเป็นคนอย่างนั้นเพราะทำไม มันจะทำให้คนที่มาดูงานเนี่ยได้อะไรรับบางอย่างไป ไม่จำเป็นต้องซื้อรูปหรืออะไรก็ตาม มันเป็นผลพลอยได้ของศิลปินที่ทำงานหนักมากกว่าครับ”
สำหรับเราเองที่ได้ชมนิทรรศการนี้ไปเรียบร้อยแล้วขอยืนยันว่านอกจากเต็มไปด้วยกลิ่นอายของวิทยาศาสตร์และศิลปะแล้ว ตัวงานยังโรแมนติกเอามากๆ ด้วย
Fact Box
- ศิรวิทย์ คุววัฒนานนท์ หรือ ตีตี้ จบการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นติวเตอร์สอนวิชาฟิสิกส์และช่างภาพอิสระ
- ภาพถ่ายของศิรวิทย์ คุววัฒนานนท์ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวด Young Street Photography Contest 2017 และเข้ารอบ final list ของรายการระดับนานาชาติ ได้แก่ Miami Street Photography Festival 2017, Italian Street Photography Festival 2018 และ Street Foto San Francisco 2018
- นิทรรศการภาพถ่ายครั้งแรกที่รวบรวมงานในช่วงปี 2017 – 2018ใช้ชื่อว่า Chéri (เชรี) จัดโดย YELO House จัดแสดงระหว่างวันที่ 5-29 กรกฎาคม 2561 เวลา 11:00-20:00น. (ปิดทุกวันอังคาร) ที่ YELO House ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.facebook.com/events/1934077306622558/