ด้วยเป็นคนบุคลิกเรียบร้อย คำพูดคำจาสุภาพ ที่แม้ระยะหลังความบีบคั้นของสถานการณ์จะทำให้เขาอดไม่ได้ที่จะพูดจาแฝงไปด้วยน้ำเสียงดุดันแข็งกร้าวกว่าเดิม แต่ ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ ก็ยังดูใจเย็นและอารมณ์ดี เขาหัวเราะเบาๆ ในลำคอเมื่อเราถามว่า จะเป็นนักการเมืองทั้งที ชีวิตมันต้องแลกขนาดนี้เลยหรือ
เราพูดถึงความยากลำบากในชีวิตเขาที่ยังไม่ผ่านพ้นดีนัก กับการต้องถูกอายัดบัญชีธนาคาร ติดคดี เข้าคุกเข้าตะราง ถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ไปโหวตลงคะแนนเสียง รวมถึงสารพัดประสบการณ์ยากลำบากในอดีตที่ต้องเข้าป่าหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 หรือต้องบอกว่า 33 ปีของอาชีพนักการเมืองของเขา มีทั้งขึ้นไปสู่จุดสูงสุด และต่ำลงเรี่ยดิน
ถึงอย่างนั้น ชีวิตในวัย 63 ที่จาตุรนต์ได้มอบครึ่งชีวิตให้กับสนามการเมืองไปแล้ว เขาก็ได้ยศฐา เคยเป็นทั้งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญหลายกระทรวง และเมื่อราวพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ชื่อของเขายังติดโผเป็นถึงหนึ่งในสามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่จะเสนอในนามพรรคเพื่อไทย เพียงแต่ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น จาตุรนต์กลับปรากฏตัวมากับยี่ห้อใหม่ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ของพรรค ‘ไทยรักษาชาติ’ พรรคใหม่เอี่ยมแกะกล่องที่เปิดตัวด้วยชื่อย่อว่า ‘ทษช.’ ที่ผู้คนเห็นแล้วก็อดไม่ได้ให้คิดไปถึงคำว่า ‘ทักษิณ ชินวัตร’
The Momentum สัมภาษณ์จาตุรนต์ ฉายแสง ถึงทิศทางทั้งที่ตัวเขามุ่งสร้าง และสายตาที่เขามองเห็นถึงอนาคตของประเทศไทยหลังการเลือกตั้งปี 2562
ช่วงนี้เป็นช่วงที่นักการเมืองลงพื้นที่พบปะประชาชน เท่าที่พบเจอ บรรยากาศความตื่นตัวของผู้คนเป็นอย่างไร
ความตื่นตัวของคนค่อนข้างมากนะ การเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะเป็นความสะสมมา คนที่เคยเลือกตั้งมาแล้วก็จะน่าจะรู้สึกว่า บ้านเมืองแย่ เสียหาย ซึ่งถ้าเลือกตั้งก็จะเป็นโอกาสทำให้บ้านเมืองดีขึ้น คนรุ่นก่อนหน้านี้ที่เคยเลือกตั้งมาแล้ว พอพรรคการเมืองที่เขาเลือกสามารถนำนโยบายระหว่างหาเสียงไปทำให้เกิดผล ก็จะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ซึ่งเมื่อพรรคการเมืองผลัดกันเป็นรัฐบาลมา ต่างคนต่างมีแฟน แฟนของพรรคการเมืองก็จะรู้สึกว่าเลือกตั้งแล้ว ถ้าพรรคการเมืองที่เขาอยากให้เป็นรัฐบาลได้เป็นรัฐบาล มันทำให้นโยบายที่เขาอยากได้ถูกนำไปใช้ แล้วมันก็มีผลต่อตัวเขา เขาก็จะมีประสบการณ์ว่าการเลือกตั้งเป็นประโยชน์อย่างไร
ทีนี้ถ้าคนที่ไม่เคยออกเสียงเลือกตั้ง ก็ขาดประสบการณ์ว่าเลือกตั้งแล้วมันดีอย่างไร ไม่มีประสบการณ์โดยตรงว่า ไปเลือกแล้วมันจะมีผลต่อชีวิตตัวเองอย่างไร ก็อาจจะได้ฟังคนรุ่นก่อนพูด หรืออ่านหนังสือ อ่านเรื่องที่เขาเขียนถึงอะไรแบบนี้
ส่วนกติกาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง คนก็น่าจะยังรู้น้อย ไม่แน่ใจว่าเกินครึ่งหรือเปล่าที่เข้าใจว่าจะไปเลือกตั้งกันอย่างไร ตอนนี้มีบัตรใบเดียว คนจะต้องใช้ปัจจัยประกอบในการตัดสินใจสี่อย่าง หนึ่งคือ ผู้สมัคร สองคือ พรรคและผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ สามคือ นโยบาย และที่สำคัญมากก็คือ แคนดิเดตนายกฯ ทั้งหมดนี้จะไปปรากฏอยู่ในบัตรใบเดียว ตัดสินได้ด้วยการกาเบอร์เดียว กาบัตรทีเดียว แล้วไปตัดสินหลายเรื่อง คิดว่าคนก็จะใช้เหตุผลหลายๆ อย่างมาประกอบกัน ซึ่งถ้าไปสำรวจความคิดเห็นคนจะพบว่า คนไทยให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมากขึ้นอย่างมาก ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคล
ทำไมถึงต้องมีพรรค ‘ไทยรักษาชาติ’
พรรคไทยรักษาชาติเกิดจากกลุ่มคนที่ประกอบด้วยคนรุ่นใหม่ คนมีวิสัยทัศน์ คนมีความคิดใหม่ๆ ที่อยากมาแก้ปัญหาบ้านเมือง แล้วก็มีคนหลากหลายรุ่นที่รวมย้อนไปถึงคนที่เคยอยู่เพื่อไทย เคยอยู่พลังประชาชน และเคยอยู่พรรคไทยรักไทย มารวมกัน ซึ่งพอมารวมกันแล้ว มันก็เท่ากับเป็นพรรคเชื้อสายไทยรักไทยค่อนข้างจะเข้มข้น
ทำไมคุณจาตุรนต์ใช้คำว่า ‘ไทยรักไทย’ ไม่ใช่ ‘เพื่อไทย’
เชื้อสายพรรคไทยรักไทยมาก่อน ผมอยู่ไทยรักไทยตลอดตั้งแต่ต้น เป็นรัฐมนตรี เป็นตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย ผมก็เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเหมือนกัน แต่ว่าเป็นอยู่สั้นๆ เนื่องจากช่วงที่มีเพื่อไทยตอนแรก ผมถูกเพิกถอนสิทธิ์
พอพูดถึงคนที่มารวมกันเป็นไทยรักษาชาติแล้ว มันโยงไปกับเรื่องของรัฐธรรมนูญ ที่เขียนกติกามาเพื่อจะสกัดพรรคการเมืองใหญ่ที่จะได้เสียงมาก เพราะในอดีต พรรคการเมืองใหญ่ของไทยสมัยก่อนเขาได้เสียงกันสักหนึ่งในสาม อะไรแบบนี้นะ ไม่ถึงครึ่งหรอก ห่างจากครึ่งหนึ่งมาก หนึ่งในสามก็ถือว่าเยอะแล้ว
แต่พอมีพรรคไทยรักไทย ก็ได้ที่นั่งเกือบครึ่งในการเลือกตั้งครั้งแรก พอครั้งที่สองได้เกินครึ่งไปเยอะ แล้วต่อมา พรรคพลังประชาชน (พรรคการเมืองร่างสองของพรรคไทยรักไทย) พรรคเพื่อไทย ก็ได้เสียงในประมาณเกือบครึ่งหรือครึ่งกว่าๆ ซึ่งเป็นพัฒนาการทางการเมืองแบบหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญนี้ตั้งใจจะหาทางไม่ให้เป็นอย่างนั้น ก็คือหาทางคิดวิธีคำนวณคะแนนแบบใหม่ ที่ทำให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจะกลายเป็นเสียงข้างน้อยเสมอ พรรคที่ได้ ส.ส. ครึ่งหนึ่งของ ส.ส. เขต ก็จะเป็นส่วนน้อยในสภา 500 คน
เมื่อกติกาเป็นอย่างนี้ การมีไทยรักษาชาติมันก็ช่วยแก้ปัญหาว่า ถ้าพรรคใหญ่จะถูกสกัดโดยรัฐธรรมนูญ มีพรรคไทยรักษาชาติซึ่งจะไม่ต้องถูกสกัดไปด้วย เพราะยังไม่ใช่พรรคใหญ่ขนาดที่จะเป็นอันดับหนึ่ง
ถ้าไม่ใช่พรรคใหญ่ แล้วไทยรักษาชาติจัดตัวเองเป็นพรรคขนาดใด เล็กหรือกลาง
ก็ยังไม่ทราบว่าจะขนาดไหน ไม่ทราบว่าเราจะไปเปรียบเทียบกับใคร…อาจจะเปรียบเทียบกับพลังประชารัฐมั้ง เพราะว่าพลังประชารัฐก็มีพื้นที่ที่เขาจะได้เสียงเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่มากนะ ถ้าเราไล่ดู
แม้ว่าจะมีการดูด ส.ส. ไปแล้วก็ตาม
เพราะคนเลือกเป็นพรรค แล้วเราไล่มาจากภาคใต้ กรุงเทพฯ อีสาน เหนือ เป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้น พลังประชารัฐก็คงต้องไปเน้นทางภาคกลาง ในขณะที่ภาคกลางก็มีพรรคที่เข้มแข็ง แข่งได้สัก 4-5 พรรค เพราะฉะนั้นไทยรักษาชาติอาจจะได้เสียงมากกว่าพลังประชารัฐก็ได้ (ยิ้ม)
แต่ว่าเอาละ ไทยรักษาชาติก็เป็นพรรคที่จะช่วย…ผมใช้คำว่า ‘พรรคฝ่ายประชาธิปไตย’ ก็แล้วกัน ให้สามารถหยุดการสืบทอดอำนาจได้ แล้วถ้าทำสำเร็จกันมากกว่านั้น ก็อาจจะถึงขั้นตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยขึ้นได้ เพราะว่าถ้าคะแนนเสียงมามาก ได้เสียงเกินจาก 251 เสียงไปมากๆ พรรคการเมืองที่อยู่กลางๆ ที่ก็ไม่ได้พูดชัดเจนว่าจะสนับสนุนคุณประยุทธ์หรือไม่ ก็อาจเปลี่ยนใจมาสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยและตั้งรัฐบาลก็ได้นะ
เพราะฉะนั้น ภาระหน้าที่ของไทยรักษาชาติก็คือ ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยสามารถไปหยุดการสืบทอดอำนาจ แล้วก็สามารถตั้งรัฐบาลได้ ที่ว่าหยุดการสืบทอดอำนาจ คือ ถ้าสมมติพลเอกประยุทธ์มีชื่ออยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แล้วเขาไปรวมเสียงมาจนได้ 126 เสียง เขารวมกับ ส.ว. ในกระเป๋าอีก 250 เสียง เขาก็ตั้งนายกฯ ได้ แต่เขาก็จะบริหารไม่ได้เหมือนกัน ถ้าไม่ได้เสียงครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร
เพราะฉะนั้นก็หมายความว่า ถ้าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งแล้ว แม้คุณประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ก็จะเป็นรัฐบาลไม่ได้
คุณจาตุรนต์พูดถึง ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ แต่คนจำนวนหนึ่งไม่ได้เชื่อแบบนั้นด้วย
มันก็มีนะที่ประเทศบางประเทศเขาปกครองโดยระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วมันก็พัฒนาไปได้ ทำให้ชีวิตคนดีขึ้นได้เหมือนกัน แต่ว่ามันมีความพิเศษคือเขาพัฒนามาจากระบอบที่มันเลวร้ายกว่านั้นมาก ล้าหลังมาก แล้วก็มันก็มีเงื่อนไขเฉพาะของเขา แต่ที่สำคัญก็คือ มันก็ไม่มีใครรู้อีกเหมือนกันว่า ต่อไปข้างหน้าถ้ามันทำความเสียหายมากๆ แล้วจะเป็นอย่างไร ประชาชนที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงจะช่วยกันป้องกันและแก้ปัญหาได้ไหม อันนี้เป็นปัญหาของระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ผู้มีอำนาจเผด็จการที่คิดอะไรได้ ทำอะไรได้ อาจจะมีได้ แต่ว่าถ้าเขาทำความเสียหายเมื่อไร มันไม่มีทางเอาออก ไม่มีทางแก้ แล้วก็ไม่มีทางตรวจสอบควบคุม มันก็เลยทำให้ระบอบเผด็จการไม่ดีอยู่ตรงนี้
สำหรับเมืองไทย เราผ่านเหตุการณ์กันมา ผ่านบทพิสูจน์กันมาหลายปี หลายครั้ง หลายรอบ เพราะฉะนั้นก็มาอยู่ที่ในจุดที่ทำให้เห็นว่า ส่วนใหญ่แล้วระบอบเผด็จการทำให้ประเทศเสียโอกาสมาก บางช่วงเหมือนเจริญ แต่ว่าจริงๆ ถ้าให้คนมีส่วนร่วมมากกว่านั้น ถ้าเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศมากกว่านั้น จะดีกว่านั้น
อย่างปี 2544-2549 เห็นได้ชัดว่า ประเทศไทยเจริญได้รวดเร็ว แล้วถ้าให้พัฒนาต่อไปในลักษณะนั้นจะยิ่งเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ถ้ามันมีปัญหา ระบบจะจัดการมันเอง แต่พอมายึดอำนาจ 2 ครั้ง 12 ปีมานี้บ้านเราเสียโอกาสมาก มีประชาธิปไตยมีเลือกตั้งสลับแล้วก็จริง แต่ว่ามันไม่ได้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ยังมีเงาทะมึนของเผด็จการคอยจัดการ คอยขัดขวางอยู่ตลอด ในที่สุดก็มายึดอำนาจเป็นเผด็จการใน 4-5 ปีที่ผ่านมา มันก็เสียโอกาส ล้าหลังไปมาก และยังถูกวางระบบเพื่อให้ล้าหลังต่อไปอีกนานด้วย
ทีนี้พูดเรื่องเผด็จการกับประชาธิปไตย มันเป็นหลักการ เป็นเรื่องระบอบ เป็นเรื่องแนวความคิดในการปกครอง ซึ่งเป็นธรรมดาว่าจะให้คนส่วนใหญ่เข้าใจ เห็นด้วย มีความซาบซึ้ง เอาจริงเอาจังไปด้วยกันไปทั้งประเทศ มันเป็นไปไม่ได้หรอก เรื่องอุดมการณ์ เรื่องแนวความคิดในการจะสร้างสังคมแบบไหน ระบอบการปกครองแบบไหน เป็นเรื่องของคนส่วนน้อยที่จะต้องคิด สำคัญว่าคิดแล้วจะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่สนับสนุน โดยที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ใช่ต้องมาอินเอามากๆ กับแนวความคิดแบบนี้ มันก็ต้องดูว่า ระบอบการปกครองแบบไหนทำให้เกิดสภาพชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ประเทศอยู่ในสภาพอย่างไร
ถ้าระบอบเผด็จการทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าดี ประชาชนอยู่ดีกินดี ถึงแม้มันจะเป็นระบอบที่เราในฐานะนักประชาธิปไตยก็ยังเห็นว่ามันไม่ดี แต่ก็คงไม่มีใครมาร่วมที่จะไปเปลี่ยนอะไรมัน ถ้าระบอบเผด็จการทำให้ประเทศล้าหลัง ประชาชนเดือดร้อน เกิดความเสียหาย การจะบอกว่าเราต้องเปลี่ยนให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะดีกว่านี้ แล้วดีอย่างไร ก็ดีอย่างที่เคยเป็นมาแล้วสำหรับเมืองไทย ถ้าอย่างนี้คนก็จะร่วมมือได้
ความจำเป็นที่ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยเพื่อจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจมันมาพร้อมกัน หรือการที่ประเทศปกครองโดยระบอบเผด็จการอยู่นานเกินไป ทำให้เศรษฐกิจเสียหายยับเยิน ประชาชนเดือดร้อนทั่วหน้า ก็เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่เราจะทำให้เห็นว่า ต้องหยุดการยึดอำนาจ การสืบทอดอำนาจ ต้องเปลี่ยนจากเผด็จการไปเป็นประชาธิปไตย จึงจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ และการสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตยให้แข็งแรงและยั่งยืน ถือเป็นลักษณะพิเศษของการเมืองช่วงนี้และการเลือกตั้งครั้งนี้
มีคนนิยามว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ นัยคือการไปโหวตว่าจะเอาหรือไม่เอา คสช. ตรงนี้คุณจาตุรนต์เห็นด้วยไหม
ความจริงผมเป็นคนหนึ่งที่เสนออย่างนี้ แล้วผมคิดว่ามันเป็นความเป็นจริงทางการเมืองของประเทศไทย คือการเลือกตั้งโดยทั่วไปในประเทศต่างๆ มันเป็นการเลือกตั้งว่าใครจะเลือกพรรคไหน จะให้ใครเป็นรัฐบาล แล้วผู้ที่มาจากการเลือกตั้งที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดก็จะมาเป็นรัฐบาล แต่ของประเทศไทย มันกลายเป็นว่า ถึงแม้มีเลือกตั้ง ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งก็อาจจะไม่ได้เป็นรัฐบาล เนื่องจากผู้ที่ยึดอำนาจอยู่นี่ล่ะต้องการจะเป็นต่อ เพื่อไปบอกชาวโลกว่า ฉันจะคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนไทยแล้ว จะให้มีเลือกตั้ง ชาวโลกก็เข้าใจว่ากำลังจะมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในทางความเป็นจริง กลับวางแผนวางระบบเอาไว้ จนกระทั่งผู้ที่ยึดอำนาจนั่นแหละอาจจะเป็นรัฐบาลต่อไป
ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น เมื่อดูจากกติการัฐธรรมนูญ ดูจากยุทธศาสตร์ชาติ ดูจากพรรคการเมืองที่มาสนับสนุน และคนที่จะมาเป็นนายกฯ ถ้า คสช.ทำสำเร็จ ความหมายของการเลือกตั้งก็จะเปลี่ยนไป มันจะลดความหมายลง คือเลือกตั้งแล้วก็ยังคงเป็น คสช. อย่างเดิม ไม่ได้คืนอะไรให้ประชาชน ตรงนี้จึงเป็นปัญหา เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองไทย
เราไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. และ คสช.ทำให้ชัดเจนขึ้นมาเรื่อยๆ เองว่า คนที่จะมาเป็นนายกฯ คือพลเอกประยุทธ์ เพื่อทำให้ง่าย เราก็เลยบอกว่า ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ นี่เป็นเรื่องที่ผมและ ทษช. เสนอ ผมคิดว่าเรื่องนี้ เมื่อใกล้วันเลือกตั้งเข้าไป มันจะยิ่งเป็นประเด็นที่ชัดเจนและแหลมคม สุดท้ายการเลือกตั้งของประเทศไทยคราวนี้อาจจะเหลือประเด็นเดียว คือจะให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อหรือไม่
ซึ่งเรื่องนี้มันก็ไม่ใช่พูดกันดิบๆ แค่นั้นตลอดทางใช่ไหมครับ มันจะต้องมีว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นอย่างไร คสช. ทำบ้านเมืองเสียหายไว้อย่างไรหรือไม่ ถ้าบางคนไม่เห็นด้วยเขาก็จะบอกว่าดีมากอย่างไร ก็ว่าไป แต่ว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี เศรษฐกิจเสียหายมากเพราะใคร จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจกันอย่างไร พรรคไหนมีนโยบายอย่างไร ทำไมพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมาแล้วจึงจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ดีกว่าพรรคที่สนับสนุน คสช. หรือว่าจะแก้ปัญหาได้ดีกว่ารัฐบาล คสช. ประเด็นพวกนี้มันจะพัฒนาไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายมันจะไปสู่ประเด็น สู่คำถามว่า จะให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ หรือไม่ แล้วถึงจะแปลกลับมาว่า อ้าว ถ้าไม่ให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ แล้วจะลงคะแนนอย่างไร จะลงคะแนนให้ใคร หรือถ้าต้องการให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไปอีก 4-8 ปี แล้วจะไปกาให้พรรคไหน มันจะเป็นอย่างนั้น
ถ้าเราบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คือการบอกว่าจะให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกหรือไม่ แต่คนจำนวนหนึ่งไม่ได้มองเห็น คสช. เป็นแก่น เขามองว่าไม่ต้องการให้คุณทักษิณ ชินวัตร กลับมา ตรงนี้ พรรคไทยรักษาชาติเองก็ต้องยอมรับว่าอยู่ในครอบครัวเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็ไม่พ้นคุณทักษิณอยู่ดีใช่ไหมคะ และโดยเฉพาะช่วงหลังที่คุณทักษิณออกมาจัดรายการ Good Monday เป็นประจำด้วย แบบนี้มันจะทำให้เรากลับไปสู่ความขัดแย้งเดิมๆ ไหม ที่เกี่ยวโยงไปกับประเด็นคุณทักษิณ
คุณทักษิณเป็นอดีตนายกฯ ที่ในระหว่างเป็นนายกฯ — เทียบกับอดีตนายกฯ ทั้งหลาย…ผมคิดว่าคนทั่วไปยอมรับว่าคุณทักษิณเป็นอดีตนายกฯ ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาประเทศ พัฒนาประเทศจนเป็นที่ยอมรับมาก
แม้ต่อมาจะถูกยึดอำนาจ ถูกดำเนินคดี ถูกออกกฎหมายย้อนหลัง ให้ดำเนินคดีลับหลัง ให้คดีความไม่มีการหมดอายุอะไรก็ตาม ซึ่งถ้าวัดสัดส่วนประชาชนที่ชอบและไม่ชอบ คุณทักษิณก็ยังมีทั้งคนชอบก็มาก คนไม่ชอบก็น่าจะไม่น้อย ข้อเท็จจริงก็คือ คุณทักษิณยังแอ็กทีฟอยู่ มีบทบาทอยู่ มีบทบาทในเวทีโลก แล้วก็มีบทบาทส่งผลเข้ามาในการเมืองไทยอย่างมากมาตลอดจนทุกวันนี้ เราจะคิดแบบไม่มีคุณทักษิณในโลกและไม่อยู่เมืองไทย มันไม่เป็นความจริงนะ ความคิด วิสัยทัศน์ ประสบการณ์ ความเป็นตำนาน ก็มีหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อเมืองไทย ต่อประเทศไทย แต่บางแง่มุมมันก็อาจจะทำให้เกิดเป็นชนวนความขัดแย้งได้เหมือนกัน แต่เราจะใช้ด้านที่ดีทั้งหลายให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ความคิด ประสบการณ์ วิสัยทัศน์ ของคุณทักษิณดีกว่า คสช. ทั้งคณะรวมกันตั้งไม่รู้กี่ร้อยเท่านะเออ
แต่ว่าคุณทักษิณก็เป็นจุดที่คนจะดึงไปสู่ความขัดแย้งก็ได้ ดึงไปสู่ความเกลียดชังก็ได้ แล้วก็ดึงไปสู่การกลั่นแกล้งทำลายกันด้วยกฎหมายก็ได้ ถามว่าไทยรักษาชาติทำอย่างไรกับเรื่องแบบนี้ ผมคิดว่าพรรคการเมืองหนึ่งๆ ก็ควรจะแสวงหาความรู้ประสบการณ์จากผู้คนอันหลากหลาย แล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปจำกัดที่คนที่มีความรู้ประสบการณ์ดีๆ มากๆ แบบคุณทักษิณ
เพียงแต่ว่ามันมีปัญหาหนึ่ง ซึ่งระบบกฎหมายปัจจุบันจงใจจะกลั่นแกล้งพรรคการเมืองที่เคยเกี่ยวข้องกับคุณทักษิณ โดยออกรัฐธรรมนูญและกฎหมายมา (มีกฎห้ามบุคคลซึ่งมิใช่สมาชิก เข้าครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรค) แต่ในตัวมันเอง ก็ช่วยทำให้พรรคการเมืองอย่างเพื่อไทย ไทยรักษาชาติ หาทางออกได้ง่ายขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่า ‘ห้ามครอบงำ’ ถ้าครอบงำก็จะผิดกฎหมายและทำให้เกิดการยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิ์ 10 ปี สิ่งที่พรรคการเมืองอย่างไทยรักษาชาติและเพื่อไทยต้องระวังเป็นพิเศษก็คือ อย่าให้ถูกเขากล่าวหาและลงโทษว่าปล่อยหรือยินยอมให้คุณทักษิณมาครอบงำทางการเมือง
แล้วถ้าบอกว่าจะไปกลัวอะไรล่ะ อ้าวก็คุณเพิกถอนสิทธิ์และยุบพรรคมาแล้ว ทุกคนก็ต้องระวัง แล้วก็ต้องไม่ให้มีการครอบงำ คือถ้าคนยังเชื่ออยู่ อันนี้ช่วยไม่ได้ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม ผมมาจากเพื่อไทย มาไทยรักษาชาติ โดยส่วนใหญ่แล้ว ผมเดินแนวทางการเมืองในแบบที่—อยู่ที่ไหน สร้างที่นั่นให้มีบทบาท มีศักยภาพ มีความเป็นตัวของตัวเองขึ้นมา ในประวัติผม ไม่มีที่ผมจะโยงว่าจะทำอย่างไรที่จะต้องโยงพรรคการเมืองที่ผมอยู่เข้ากับคุณทักษิณ และเมื่อมาเจอกติกาแบบปัจจุบันมันก็ยิ่งทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้พูดถึงคุณทักษิณอย่างไร ก็พูดอย่างที่พูดไปเนี่ย
ก็คือ ไทยรักษาชาติก็จะมีความเป็นตัวของตัวเองที่โดดเด่นขึ้นมาได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องผูกพันกับพรรคเพื่อไทยด้วย?
พูดอย่างนี้มันก็มีรายละเอียดอะไรอีกเยอะเหมือนกัน ก็คือว่า พรรคไทยรักษาชาติมีคนรุ่นใหม่ คนใหม่ๆ ซึ่งมีทั้งอายุน้อยอายุมากมารวมกัน ถ้าคนส่วนนี้ตั้งใจทำอะไรแบบให้คนเห็นว่า คุณทักษิณพูดอะไรฉันก็ทำตาม มันก็จะเป็นตุ๊กตาไขลานนะ เคยดูละครที่เด็กออกมาเล่น พูดเก่งแสดงเก่ง แล้วพอเราเหลือบไปเห็นมีผู้ใหญ่คอยบอกอยู่ข้างหลังว่า อย่างนี้สิ อย่างนั้นสิ ความรู้สึกมันเปลี่ยนนะ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นความเป็นตัวของตัวเองมันก็สำคัญ
พอพูดถึงคนรุ่นใหม่และคนใหม่ๆ มีประสบการณ์อะไรก็ตาม แล้วจะบอกว่า คุณจะมีนโยบายที่ดีแบบไทยรักไทยได้อย่างไร คุณจะทำนโยบายให้สำเร็จเหมือนที่ไทยรักไทยเคยทำได้อย่างไร มันก็จะหนีไม่พ้นการโยงเข้ากับคนที่เคยอยู่เพื่อไทย พลังประชาชน ไทยรักไทย ซึ่งก็มีอยู่ อันนี้ก็คือมันก็โยงกลับไปที่ไทยรักไทย แล้วเราก็ต้องการโยงเหมือนกัน เราไม่ต้องการโยงว่า เราโยงกับคุณทักษิณจนกระทั่งเขาบอกว่าครอบงำกัน เราก็ถูกเพิกถอน ถูกยุบใช่ไหม แต่โยงกับคนที่เคยทำงานในพรรคไทยรักไทย เคยทำงานในเพื่อไทย อันนี้ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายอะไร และไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร
ผมเป็นรัฐมนตรีไทยรักไทยตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย และเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยคนสุดท้าย และมาอยู่ไทยรักษาชาติ เป็นประธานยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้นมันก็โยงกันแน่นอนกับไทยรักไทย แล้วโยงกับเพื่อไทยไหม โยงอย่างไร ก็ผมเป็นประธานนโยบายพรรคเพื่อไทยมาอยู่หลายเดือน เป็นปีแล้วมั้ง แล้วมาที่นี่ก็มาเป็นประธานนโยบายพรรคไทยรักษาชาติ เพราะฉะนั้น สองพรรคนี้จะต่างกันมากได้ไหมในทางนโยบาย ถ้าต่างกันมากแสดงว่าเขาต้องรื้อนโยบายที่ผมช่วยทำไว้ทั้งหมดและไปทำกันใหม่ เขาไม่น่าทำทันนะ เวลาแป๊บเดียว แล้วก็พบว่าเขาไม่ได้รื้อทิ้ง แต่ผมมาที่นี่ผมจะคิดอะไรใหม่หมด ไม่ให้ซ้ำกับที่ผมเคยคิดไว้ได้ไหม ผมก็คงเป็นมนุษย์แปลกประหลาด หรือไม่ต้องไปคิดอะไรมาก สักแต่ว่าหยิบๆ มาให้มันต่างจากที่เคยคิดไว้ อันนี้มันก็ไม่ใช่ลักษณะของผม
มันก็ต้องมีแก่นของนโยบายพรรค
ต้องคิดนโยบาย มันต้องคิดว่าบ้านเมืองเป็นอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร จะมีนโยบายอย่างไร ต้องคิดมาจากความเข้าใจ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดในแง่นี้ นโยบายมันจะต่างกันมากไม่ได้ แต่มันจะเหมือนกันหมดไหม ก็เหมือนกับว่า คุณลองพูดอะไรยาวๆ สัก 5 นาที 10 นาที แล้วคุณลองพูดใหม่สิ ให้มันเหมือนกันทุกคำ ทำได้ไหม มันก็ไม่เหมือน
อีกสาเหตุหนึ่งคือ มีผู้คนที่หลากหลายเข้ามาร่วมกันที่พรรคไทยรักษาชาติด้วย มีคนที่สนใจเรื่องใหม่ๆ มีประสบการณ์ด้านโน้นด้านนี้ เคยทำงานการไฟฟ้า ทำงานการต่างประเทศ เคยทำงานรัฐสภา ทำงาน กทม. ทำธุรกิจส่วนตัว ฯลฯ คนเหล่านี้มาร่วมคิดกับคนที่เป็นเชื้อสายไทยรักไทย มันก็จะเกิดการผสมผสาน เป็นอะไรที่ใหม่ๆ เพิ่มเติมไปจากเดิม นี่คือความเป็นไทยรักษาชาติ
นี่เป็นช่วงเวลาที่ต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่า อะไรคือไทยรักษาชาติ
แต่ทั้งหมดนี้ต้องทำภายในเวลาที่สั้นมาก รวดเร็ว แล้วก็ทำให้คนเข้าใจอย่างนี้ เช่น เข้าใจว่ามันไม่ใช่เป็นอะไรที่แปลกแยกไปจากไทยรักไทยเดิม ไม่ใช่เป็นอะไรที่พยายามจะไม่ให้เหมือนกับเพื่อไทย เรื่องแบบนี้ต้องทำให้คนเข้าใจในเวลาอันสั้น แล้วก็ยังมีประเด็นปัญหาเรื่องทำอย่างไรให้คนรู้จักพรรคไทยรักษาชาติโดยเร็ว ผมเดินไปตามตลาดไปโน่นไปนี่ เจอคนมาทักอยู่เป็นประจำว่า ยินดีสนับสนุนคุณนะ คราวนี้สนับสนุนคุณแน่ เลือกเพื่อไทยเต็มที่
เขาบอกเลือกเพื่อไทยเต็มที่ แต่ว่าเขาบอกว่าจะสนับสนุนผม ในขณะที่ผมอยู่พรรคไทยรักษาชาติแล้ว
ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของเขา
ก็ไม่ใช่ความผิดของเขา ก็เป็นเรื่องว่า จะทำอย่างไรให้คนเข้าใจ จะไปยืน ไปนั่งอดข้าวอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสักสามวัน แล้วก็ติดป้ายชูป้ายว่า ผมอยู่ไทยรักษาชาติครับ หรืออย่างไร ก็กำลังคิดกันอยู่ พยายามคิดอยู่ ความจริงมีคนหลายๆ คนที่เป็นที่รู้จักมากๆ แต่ยังโยงเข้ากับไทยรักษาชาติได้ไม่ดีนัก แต่หลังๆ ก็เริ่มดีขึ้น ผมก็หวังว่าพอถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง คนจะเข้าใจล่ะว่าไทยรักษาชาติคือใคร มีใครมาอยู่ที่ไทยรักษาชาติบ้าง แล้วไทยรักษาชาติคือพรรคการเมืองแบบไหน ตั้งใจจะทำอะไร ก็หวังว่าถึงวันสมัครรับเลือกตั้งแล้วคนจะเข้าใจ
จะมี ส.ส. ลงครบ 350 เขตทั่วประเทศไหม
คงไม่ครบหรอกครับ ประมาณครึ่งหนึ่งน่าจะได้นะ เราเป็นพรรคใหม่ แล้วก็ทำขึ้นในเวลากระชั้นชิดมาก การจะหาผู้สมัครแบบเอาใครก็ได้ ให้มันได้สักแต่ว่าลงๆ ไปก็จะเป็นภาระมากกว่าจะเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นก็ให้คนที่ลงไปแล้วคิดว่าได้ประโยชน์จริงๆ แต่ว่าก็ไทยรักษาชาติเป็นพรรคการเมืองที่หวัง ส.ส. ทั้ง 2 ประเภท ไม่ใช่หวังแต่ปาร์ตี้ลิสต์
ไม่นิยามตัวเองว่า เป็นพรรคที่เอาไว้เก็บปาร์ตี้ลิสต์ต่อจากเพื่อไทยใช่ไหม
ไม่ใช่ คือพอลงสมัครรับเลือกตั้งกันแล้ว ไม่รู้หรอกว่าใครจะได้ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับกระแสความนิยม ขึ้นกับว่าจะต้องดูกันต่อไปว่า พรรคอะไรแข่งกันบ้าง ใครจะเป็นนายกฯ พื้นที่ไหนเป็นอย่างไร แล้วสุดท้าย อย่างที่ผมพูดไว้ก่อนหน้านี้ สุดท้ายคือจะให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อหรือไม่
ถ้ากระแสนี้เกิดขึ้น แล้วไทยรักษาชาติแสดงให้เห็นได้ว่า เลือกไทยรักษาชาติเพื่อหยุดพลเอกประยุทธ์ และตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชน คะแนนอาจจะหลั่งไหลมาก็ได้ เราก็อาจจะได้ ส.ส. จำนวนมาก ทั้งส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อก็ได้
คุณจาตุรนต์คิดว่า รัฐบาลหลังเลือกตั้งจะดำเนินนโยบายได้อย่างเป็นอิสระแค่ไหนภายใต้กรอบที่ คสช. วางไว้
พลังประชารัฐเองได้เสียงไม่น่าจะพอทำให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้ ในความเข้าใจผมนะ ก็ต้องไปหาพรรคอื่นมาให้ได้ 126 เสียง แต่แล้วก็ยังไม่พอตั้งรัฐบาล ก็ต้องไปหามาอีกให้เกิน 250 เสียง โอ้โฮ…เหนื่อยมาก คสช. จะตั้งรัฐบาลได้ก็ต้องเอาพรรคการเมืองอื่นๆ เข้าไปร่วม ก็จะเกิดปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล
แล้วพรรคฝ่ายค้านก็จะใหญ่โตมาก มีขนาดใหญ่ มี ส.ส. มาก มันจะเซอร์ไพรส์คน ทำให้คนผิดหวัง ความชอบธรรมของรัฐบาลนั้นก็น้อย ในสภาก็จะลำบาก เพราะฉะนั้นเสถียรภาพรัฐบาลก็จะต่ำ
แต่การเป็นรัฐบาลแบบฝ่ายประชาธิปไตย ข้อแรกคือต้องมีเสียงมากกว่า 376 เสียง ซึ่งมันเยอะจริงๆ และทั้ง 376 เสียงนี่ก็อาจจะรักษาไว้ไม่ได้ตลอด มันสำคัญตอนโหวตนายกฯ หลังจากนั้นจะน้อยลงมาบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ก็จะต้องมี 251 เสียงขึ้นไปถึงจะเป็นรัฐบาลต่อ แต่ปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลอาจจะไม่มาก เพราะรวมได้ 376 เสียง มันเกินครึ่งเยอะแล้วของสภาผู้แทนฯ แต่ว่าการเป็นพรรคผสมเยอะๆ ก็จะทำให้นโยบายต้องเฉลี่ยหรือผสมกันมากพอสมควร เว้นแต่ว่ามีพรรคการเมืองใหญ่มากๆ หรือพรรคการเมืองที่ไปด้วยกันมากๆ และได้เสียงมาก ก็ต้องให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้แสดงบทบาท ได้เจรจาต่อรองกัน มันจะไม่เหมือนรัฐบาลคนกลางเป็นนายกฯ ที่เขาอาจจะไม่ต้องให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองเลย
ถามถึงเส้นทางชีวิตทางการเมืองของคุณจาตุรนต์ ที่ผ่านมาก็เจออุปสรรคมาเยอะ เช่น โดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง โดนอายัดบัญชี และต้องถูกจำคุกช่วงหนึ่งจากการไม่ยอมไปรายงานตัว ในแง่มุมของชีวิตนักการเมือง มันจำเป็นขนาดนั้นเลยหรือ ที่การทำงานต้องแลกกับชีวิตส่วนตัวและเสรีภาพที่ตัวเองเคยมี
หลายอย่างมันก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะเลือกได้เสียทีเดียว บางเรื่องเราก็เหมือนกับตัดสินใจไปทั้งที่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไร อย่างการไม่ไปรายงานตัว พอถึงจุดหนึ่งก็จะต้องรู้ว่า ต่อไปต้องถูกจับ ถูกดำเนินคดี
ทำไมตอนนั้นไม่เลือกที่จะคล้อยตาม
มันเป็นสัญชาตญาณเสียมากด้วยนะ มันเป็นเรื่องในใจว่า เราพูดอะไรไว้แล้วควรจะทำตามที่พูด คือผมก็พูดเรื่องไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คือรัฐประหารครั้งหลังนี่ ผมก็เท่ากับรู้ล่วงหน้าตั้งหลายเดือนอยู่แล้วว่ามันจะเกิด เรารู้อยู่แล้วว่าเดี๋ยวก็จะไปสู่การยึดอำนาจ เราก็บอกไม่เห็นด้วย บอกว่าจะไม่ยอมรับ พอเกิดขึ้นมาจริงๆ ความรู้สึกหนึ่งก็คือ เราไม่คุ้นเคยกับการที่จะต้องไปรายงานตัว
ผมเคยผ่านการรัฐประหารก่อนหน้านั้นมา ก่อนมาเป็นนักการเมืองนี่ก็เจออะไรที่ก็หนักกว่านั้นนะ ถูกตามล่าตามจับ จนเข้าป่าไปเมื่อปี 2519 หลังจากนั้น ตอนเป็นนักการเมืองมาก็มีรัฐประหารปี 2534 ผมก็อาจจะไม่ใช่คนสำคัญถึงขั้นจะต้องถูกเรียกไปรายงานตัวอะไร รัฐประหารปี 2549 ก็ไม่เคยต้องไปรายงานตัว
แล้วพอรัฐประหารปี 2557 ผมก็รู้สึกว่า พวกนี้พวกทำผิดทั้งนั้นนี่ ประกาศกฎอัยการศึกก็ผิด ผมเป็นรัฐมนตรีอยู่ ผมก็วิจารณ์อยู่ว่านี่มันผิดรัฐธรรมนูญ มันผิดกฎหมาย แล้วพูดวิจารณ์เขาไว้ว่าถ้าทำอย่างนี้ก็เท่ากับกำลังจะยึดอำนาจใช่ไหม แล้วพอเขายึดอำนาจเราก็ไม่เห็นด้วย เราก็แสดงความเห็นคัดค้าน ปรากฏว่าต้องไปรายงานตัว ไม่คุ้นกับการไปรายงานตัว มันทำใจไม่ได้ เรารู้สึกว่าเราแสดงออกถึงการไม่ยอมรับด้วยการไม่ไปรายงานตัวเสียดีกว่า
ไม่คิดหนีไปไหน?
ก็มีคนถามผมว่าจะหนีไปออกไปนอกประเทศไหม ผมไม่ลังเล ว่าไม่ไป ผมเคยมีประสบการณ์จากการอยู่นอกสังคมมาแล้ว คือการเข้าป่า ซึ่งอันนั้นความจริงมันลำบากกว่าติดคุกอีก แต่ต่อมาก็พบว่ามันทำอะไรไม่ได้ หรือแนวทางในการต่อสู้มันไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงไปในอย่างที่เราต้องการได้ ไม่มีทางประสบความสำเร็จอะไรอย่างนี้
เรื่องจะไปอยู่ต่างประเทศไหม ผมก็ต้องตั้งคำถามว่า ไปต่างประเทศแล้วจะทำอะไรได้บ้าง อยู่ในประเทศจะทำอะไรได้บ้าง ผมคิดว่าถ้าผมอยู่ในประเทศ ผมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้มากกว่าแน่ อันนี้คือจากตัวผมเอง บางคน ถ้าอยู่ในประเทศอาจจะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพมาก และถ้าไปต่างประเทศอาจจะทำอะไรได้มากกว่าก็ได้ แต่สำหรับผม ถ้าผมไปต่างประเทศ ผมจะไปทำอะไร มันก็ยังนึกออกไม่มากนัก แล้วอยู่ในประเทศผมก็ไม่มีคดีข้อหาอะไรติดตัว ไม่มีชนักติดหลัง
เอาละ เมื่อคิดว่าไม่ไปต่างประเทศก็อยู่ในประเทศ พออยู่ในประเทศก็ต้องมาตัดสินใจว่า เราจะหลบเป็นนักต่อสู้ใต้ดิน หรือจะเข้าสู่กระบวนการแล้วก็สู้กันในระบบ ผมก็ตัดสินใจว่า อ้าว ไม่เป็นนักสู้ใต้ดิน เพราะผมไม่ได้หลบไปเพื่อจะสู้ใต้ดิน ผมผ่านการต่อสู้ใต้ดินมาแล้ว แล้วก็ไม่เห็นว่าจะทำอะไรได้ สำหรับตัวผม ผมยังเห็นว่าสู้ทางการเมืองอย่างที่เคยสู้มาแล้ว รัฐประหารครั้งก่อนผมก็สู้มา ก็ถูกจำกัดเสรีภาพ เพิกถอนสิทธิ์ไป ก็ยังสู้ทางการเมืองมาได้ ในครั้งนี้ก็ยังจะสู้ทางการเมืองได้อีก
เพราะฉะนั้น พอหลบอยู่สักพัก เมื่อการรัฐประหารเข้าที่เข้าทางชัดเจนแล้วว่าเขายึดอำนาจได้แน่แล้ว ก็ตัดสินใจว่ามาแถลงข่าวที่ FCCT (The Foreign Correspondents’ Club of Thailand — สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย) มาให้จับว่า อย่างนั้นเถอะ เพื่อให้จับเอาตัวไปเสีย ก็จะหมดปัญหาเรื่องรายงานตัวหรือไม่รายงานตัว คุณก็ได้ตัวผมไป โดยที่ผมไม่ได้รายงานตัวกับคุณ ผมถือว่าพวกนี้พวกใต้บังคับบัญชาผมมาทั้งนั้นน่ะ เมื่อก่อนผมเป็นรองนายกฯ พวกนี้ยังเป็นนายพลอะไรกันอยู่เท่านั้นเอง
ถ้าดูครั้งที่ลำบากที่สุด ครั้งที่ถือว่าเป็นวิบากกรรมของชีวิตที่สุด นี่คือครั้งไหน
จะว่ารัฐประหารปี 2549 ก็ได้ ถูกยุบพรรคในขณะที่เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค จริงๆ ถ้าตอนนั้นไม่ยุบพรรค ผมก็สมัครรับเลือกตั้งได้ ผมก็เข้ามาเป็นผู้จะถูกเสนอตัวให้เป็นนายกฯ แล้วถ้าชนะก็ได้เป็นนายกฯ แต่ก็โดนเพิกถอนสิทธิ์ ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายที่ออกทีหลังแล้วมาใช้บังคับย้อนหลังเพิกถอนสิทธิ์ผม 5 ปี ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แล้วการเพิกถอนสิทธิ์ 5 ปี คนอาจนึกว่าไม่มีสิทธิ์ไปสมัครนั่นสมัครนี่ แต่จริงๆ คือเขาเพิกถอนสิทธิ์ในการออกเสียงลงคะแนน เขาห้ามข้อเดียวเลยแหละ ห้ามไปออกเสียงลงคะแนน แต่กฎหมายอื่นๆ จะบอกว่า ถ้าคุณไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน คุณจะไปเป็นอะไรอีกไม่ได้อีกเยอะแยะ มันเจ็บปวดตรงที่เราไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนทั้งๆ ที่เราเป็นเจ้าของประเทศ เราเป็นคนเสียภาษี แล้วไม่ให้เราไปมีส่วนร่วมกำหนดอะไรเลย เลือกตั้งเทศบาล เลือกตั้ง อบจ. เลือกตั้งอะไรก็ไม่มีสิทธิ์ใช่ไหมครับ อันนี้มันจะเป็นความเจ็บปวด ระหว่างนั้นก็ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองไปอีกหลายปี เพราะพอถึงเวลาพ้นจากการถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งแล้ว ก็ยังจะไม่มีเลือกตั้งอีก
พอเป็นรัฐมนตรีอยู่ 6 เดือนก็ยุบสภา ไม่มีอำนาจ เป็นรักษาการอีก 6 เดือน ก็ยึดอำนาจ ก็มาเจอแบบเดิมคือ ไม่สามารถมีตำแหน่งอะไรทางการเมืองได้มาอีก 5 ปี…แต่ว่าจริงๆ แล้วผมก็ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งพร้อมๆ กับประชาชนทั้งประเทศนะ 5 ปีนี้ ทุกคนก็ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งเหมือนผมนั่นแหละนะ
แล้วทำไมคุณถึงยังเชื่อมั่นในสถาบันพรรคการเมือง ทำไมถึงยังทำงานตรงนี้
มันก็ยังเป็นช่องทาง เป็นวิธีการ เป็นทั้งเครื่องมือและการต่อสู้ทางการเมืองที่จะสู้ตามความคิดอุดมการณ์ได้
ความจริง เป็นนักการเมืองมาเนี่ย เวลาใครถามว่าต้องการอะไร ผมก็ตอบได้แค่สั้นๆ ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ปรับพัฒนาไปจากการเรียนหนังสือ จากการไปต่างประเทศ จากการมีประสบการณ์มาบ้าง ก็คิดเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย แล้วก็พัฒนาประเทศด้านต่างๆ
ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจมา เกี่ยวกับ Economic Development ก็คิดเรื่องพัฒนา แต่พอทำเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนา ในปี 2534 ก็มีการยึดอำนาจ เราก็เริ่มคิด อ๋อ ประเทศเรายังมีปัญหาเผด็จการ ยังมีปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่มาก ต่อมามีการปฏิรูปการเมือง มีรัฐบาลไทยรักไทยปี 2544 ซึ่งประสบความสำเร็จ คนยอมรับ แต่ปี 2549 ก็ยึดอำนาจอีก อันนั้นเป็นการทิ้งช่วงที่ค่อนข้างจะยาว เพราะตั้ง 14 ปี ที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศกัน แล้วก็ประสบความสำเร็จ คือมีกระบวนการที่พรรคการเมืองคิดนโยบายจากการไปฟังประชาชน แล้วสามารถมาสังเคราะห์เป็นนโยบาย เอามาปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ เป็นที่ยอมรับของประชาชน มันก็เป็นกระบวนการที่ดีที่ก้าวหน้า มันเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองได้มากเหมือนกันในหลายๆ ด้าน แล้วผมก็ยังรู้สึกว่า การได้มาเป็นนักการเมือง การได้มาอยู่กับพรรคการเมือง ซึ่งอยู่ใน process ของการพัฒนา มาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศได้แล้ว เป็นที่ยอมรับของประชาชนมากแล้ว และตัวเองก็สะสมความเป็นนักการเมือง มีประสบการณ์ มีคนสนับสนุนพอสมควร จะไปเปลี่ยนเป็นอาชีพอื่น ทำหน้าที่อย่างอื่น ก็ทำอะไรอย่างที่เราอยากทำไม่ได้เท่านี้อีกแล้ว
มันยังรู้สึกติดตัวมานาน ที่ว่าเราต้องเปลี่ยนบ้านเมือง เราต้องการทำให้บ้านเมืองดีขึ้น เราต้องการบริหารประเทศ อย่างประเทศที่เขาพัฒนาแล้วเขาทำกัน แล้วที่สำคัญคือ มันมามีข้อสรุปว่ามันต้องทำให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตย คือถ้าไปบริหารเพลินๆ อย่างปี 2544 ที่เราอาจจะลืม นึกว่าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็คิดว่าจะใช้เสรีภาพให้เป็นประโยชน์เต็มที่ได้อย่างไร แต่ก็ลืมว่าประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย มันยังมีโอกาสย้อนกลับไปเป็นเผด็จการได้เสมอ
แล้วมันก็มาพิสูจน์ตอนปี 2549 คราวนี้รู้แล้วล่ะว่า ปัญหาพื้นฐานคู่กับประเทศไทยมาตลอด 70-80 กว่าปีมานี้ คือปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย มีกลุ่มความคิดที่ต้องการดึงประเทศไทยกลับไปเป็นเผด็จการ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็คิดว่าสิ่งที่เรายังจะทำได้ในชีวิต ก็คือสู้เพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย แล้วก็ทำให้บ้านเมืองมันดีขึ้น
แต่ขณะเดียวกัน การทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เราทำไปก็ไม่ได้คิดหรอกว่า จะต้องเข้าคุก จะต้องไม่มีเครดิตการ์ด ไม่ต้องใช้เงินในธนาคารสัก 5 ปี ไม่ได้เดินทางไปไหนตอนที่อยากเดินทางเพราะไม่มีพาสปอร์ตอะไรแบบนี้ ผมก็ไม่ได้คิดว่าจะให้เป็นอย่างนี้ แต่ทำงานการเมือง ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องต่างๆ เหล่านี้อย่างดีที่สุด ผมไม่ใช่แนวบู๊ ไม่ใช่สายเหยี่ยว จริงๆ ไม่มีเสี่ยงอะไรที่จะไปเป็นคดีความอะไรได้เลย พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่เขาไปโดนคดี ต้องติดคุกติดตะราง เป็นเพราะเขาทำความผิดนะ ในเมืองไทย มีผู้ที่ไม่ได้ทำความผิดก็ติดคุกติดตะรางได้เยอะแยะ คนที่ต่อสู้เพื่อบ้านเมืองแล้วไม่ได้ทำผิดอะไรก็ถูกดำเนินคดี ถูกกลั่นแกล้ง ถูกลงโทษอะไรไปสารพัด
เพราะฉะนั้น บางทีมันก็ต้องตัดสินใจ เช่นว่า รายงานตัวไหม อันนี้มันทำใจไม่ได้ เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว ที่ผ่านมาตั้งแต่ผมเป็นนักการเมือง ทุกครั้งที่เกิดรัฐประหาร ผมจะพูดผ่านสื่อทันทีว่า ผมไม่เห็นด้วย อันนี้คือเป็นประจำตัวไปแล้ว ไม่ได้อยู่เฉยๆ แล้วก็ไม่บอกว่าเข้าใจความจำเป็น ผมไม่เห็นด้วยอย่างเต็มที่ และเห็นว่า ครั้งหลังๆ นี่ผมก็พูดชัดเจนว่า รัฐประหารเป็นการทำให้ประเทศเสียหายอย่างร้ายแรง พูดชัดเจน แล้วถ้าในระหว่างทางมันจะต้องมีอะไร ก็ว่ากันไป
Fact Box
จาตุรนต์ ฉายแสง เกิดเมื่อปี 2499 เคยเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เรียนไปจนปีที่สี่ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ทำให้เขาซึ่งตอนนั้นเป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้องหนีเข้าป่าไประยะหนึ่ง เมื่อกลับออกจากป่า จาตุรนต์เรียนต่อจนจบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก ที่สหรัฐอเมริกา แม้ได้ทุนเรียนต่อปริญญาเอก แต่เขากลับประเทศไทยก่อน เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2529
เข้าสู่การเมืองเมื่ออายุ 29 ปีโดยเป็น ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทราในนามของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะย้ายไปสังกัดพรรคประชาชน พรรคความหวังใหม่ กระทั่งเข้าไปเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทยในปี 2544
เมื่อมีการรัฐประหารที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จาตุรนต์ก็ดำรงตำแห่งรักษาการหัวหน้าพรรคในปี 2549 ซึ่งต่อมา ปี 2550 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี
ตำแหน่งทางการเมืองในอดีต
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (ปี 2539-2540 รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ)
- รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ปี 2544 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ปี 2545 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)
- รองนายกรัฐมนตรี (ปี 2545 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)
- รองนายกรัฐมนตรี (ปี 2548 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ปี 2548 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)