น่านในช่วงฤดูฝน อาจทำให้เรารู้สึกสดชื่นจากสายฝนที่โปรยปราย และความชุ่มชื้นของพื้นป่าที่ส่งกลิ่นดินกลิ่นใบมาให้เราสัมผัส

เรานั่งรถลัดเลาะไปตามเส้นทางจากตัวเมืองน่านสู่ตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ระยะทางหลายสิบกิโลเมตร จากถนนเรียบๆ ยาวเป็นเส้นตรง ค่อยๆ ขึ้นเขาและโค้งไปตามภูเขาราวกับนั่งรถไฟเหาะ ท่ามกลางฝนที่โปรยปรายให้ความชุ่มฉ่ำกับเราเป็นระยะ

ฑิฆัมพร กองสอน หรือแม่กำนัน 

ใช้เวลาเดินทางราวชั่วโมงกว่า เรามาถึงที่ชุมชนแห่งนี้พร้อมกับมีชาวบ้านหลายสิบชีวิตมารอเราอยู่ก่อนแล้ว โดยมีแม่กำนัน – ฑิฆัมพร กองสอน ผู้นำชุมชนเป็นหัวหน้าในการต้อนรับ

เราเดินทางมาพร้อมกับกลุ่มเซ็นทรัล นำโดย พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) กรมป่าไม้ และภาคีเครือข่าย ในการเปิดตัวโครงการ ‘สร้างอาหารยั่งยืน…ฟื้นคืนป่าน่าน’ ที่จะขับเคลื่อนชุมชนในการฟื้นฟูป่า พร้อมการสร้างอาหารและการบริโภคที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ‘ปลูกป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง’

แม่กำนันได้เล่าความหลังของพื้นที่ในตำบลบัวใหญ่อย่างไว้น่าสนใจว่า หากย้อนไป 20 ปีที่แล้วเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านมีวิถีชีวิตคือทำไรหมุนเวียน ยกตัวอย่างว่า มีพื้นที่ 5 แปลง ปีแรกทำแปลงที่หนึ่ง ปีสองทำแปลงที่สอง จนครบ 5 แปลง ก็จะย้อนกลับมาทำใหม่ ซึ่งวิธีการแบบนี้ทำให้ต้นไม้ไม่หายไปทั้งหมด และภูเขาก็จะไม่โล้นไปทั้งหมดเช่นกัน

“แต่ตอนหลังเริ่มมีการปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะข้าวโพด ซึ่งเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้ชาวบ้านรายได้ดีขึ้นพราะชาวบ้านเดิมทีก็มีหนี้สินกันจำนวนมาก แล้วพอมีเครื่องไม้เครื่องมือทำไร่ มันก็สะดวกสบาย คราวนี้ชาวบ้านก็ทำไร่กันรวดเดียว 5 ไร่ ไม่ได้หมุนเวียนแบบเมื่อก่อน”

จนกระทั่งเกิดปัญหาของการทำพืชเชิงเดี่ยวก็คือชาวบ้านต้องถางป่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อหาพื้นที่ทำไร่ปลูกข้าวโพด ประกอบการการใช้สารเคมี ส่งผลต่อสุขภาพ จนชาวบ้านในตำบลบัวใหญ่มีอัตราการเสียชีวิตจากโรงมะเร็งมากที่สุดในอำเภอนาน้อย

แม่กำนันจึงเป็นผู้นำของชุมชนที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรจากการทำไร่เชิงเดี่ยวสู่เกษตรอินทรีย์ ภายใต้ชื่อโครงการ ‘1 ไร่ เกษตรอินทรีย์ บัวใหญ่’ ตั้งแต่ตอนปี 2556 โดยเริ่มแรกมีชาวบ้านที่เข้าร่วมราว 20 กว่าคนเท่านั้น

“แผนเราคือจะปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เราก็เริ่มจากการปลูกฟักทอง เพราะตอนนั้นคิดได้อย่างเดียวว่าน่าจะเป็นผลผลิตเกษตรอินทรีย์ได้ แต่ตอนแรกคนยังเข้าร่วมไม่มาก เพราะยังไม่เห็นความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ พวกเขาคิดอย่างเดียวว่าใช้หนี้ ธกส. ได้หรือเปล่า”

“จนผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด ขายได้จริงตอนปี 2559 แล้วทำให้เรามีรายได้เพิ่มมากขึ้น ก็มีชาวบ้านเข้ามาร่วมกับโครงการเราเรื่อยๆ”

“ตอนเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้านจากการทำไร่แบบใช้สารเคมี การแผ้วถางป่า เราก็ต้องเอาข้อมูลมาคุยกันว่าสุขภาพเราแย่เพราะการปลูกแบบนี้นะ ตอนนั้นองค์ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ เราก็ยังไม่มีเลย ก็ต้องไปจับกับเครือข่ายอื่นๆ ให้เขาช่วยถ่ายทอดความรู้”

ขณะที่ภาคเอกชนอย่างกลุ่มเซ็นทรัลก็เข้ามาสนับสนุนชาวบ้านในแง่ของการนำผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของชาวบ้านไปขายในท็อปส์ ซูเปอร์มาเก็ต และยังร่วมกับ WWF และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ในการฟื้นฟูป่าและคืนความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่ต้นน้ำทั้งหมด 257 ไร่ 

สำหรับโมเดลที่นำใช้คือ ‘ปลูกป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง’ ที่หมายถึงการปลูกไม้ใช้ ไม้กินได้ และไม้เศรษฐกิจ แต่ได้ประโยชน์สี่อย่าง คือพออยู่ พอกิน พอใช้ และมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ สร้างความสมบูรณ์ของป่าให้กลับคืนมา

ซึ่งโมเดลนี้ ทางกลุ่มเซ็นทรัลได้ดำเนินการไปแล้วที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เชียงใหม่ และเชียงราย โดยที่ตำบลบัวใหญ่ จังหวัดน่านเป็นพื้นที่ที่สี่ 

พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด

พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บอกว่าสาเหตุที่เลือกชุมชนนี้เพราะเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญของจังหวัดน่าน และเป็นชุมชนที่มีความแข็งแรงในการตั้งใจจริงที่จะฟื้นฟูและรักษาป่า

“ตอนเรามาครั้งแรกก็เห็นว่าภูเขาหัวโล้นเต็มไปหมด ร้อนแล้ง เลยคุยกับแม่กำนัน และชาวบ้าน ก็เห็นว่าพวกเขาอยากปลูกต้นไม้และปลอดสารพิษจริงๆ เพราะแต่เดิมที่นี่ คนป่วยเป็นมะเร็งกันเยอะ ก็เลยอยากเปลี่ยน อยากมีสุขภาพที่ดีขึ้น”

“แต่ความยากของการที่ภาคเอกชนจะเข้าไปทำงานกับชุมชนคือความไว้ใจ บางครั้งเขาอาจโดนหลอกมาเยอะในอดีต โดนโกง หรือคิดว่าเราจะเข้ามาหาผลประโยชน์ เราก็ต้องให้ชาวบ้านคุยกันเอง เชื่อผู้นำชุมชน เราก็พาเขาไปดูงานในหลายๆ โปรเจกต์ที่เราทำ แล้วก็ช่วยสอนต่อๆ กันไป”

“แล้วเราต้องทำกับพาร์ทเนอร์ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ชาวบ้านก็เลือกได้ว่าอยากทำอะไร เราก็คิดว่าโมเดลนี้มันดี เพราะเขาจะไม่ตัดป่า ถ้าตัดไม้ทำลายป่าก็เหมือนทุบหม้อข้าวตัวเอง”

สำหรับการปลูกป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง ที่ตำบลบัวใหญ่ จังหวัดน่าน เริ่มจากการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่าง ‘โกโก้’ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน สามารถผสมผสานการปลูกพืชอื่นๆ ได้ โดยจะช่วยลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และการใช้สารเคมี ซึ่งส่งผลดีทั้งต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชน

นับเป็นอีกหนึ่งชุมชนตัวอย่างที่ผู้นำชุมชนอย่างแม่กำนันมีวิสัยทัศน์และความตั้งใจที่ดี เมื่อชาวบ้านเข้าร่วมและชุมชนเข้มแข็ง ก็สามารถเดินหน้าผลักดันการทำเกษตรอินทรีย์ และการฟื้นฟูป่าและรักษาป่าต้นน้ำเอาไว้ได้ 

Tags: , ,