แนวทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่ภาคเอกชนเริ่มขีดเส้นใต้เน้นย้ำว่าเป็นสิ่งจำเป็นพอๆ กับแนวทางการดำเนินธุรกิจ เรียกว่าสิ่งแวดล้อมกับธุรกิจต้องทำควบคู่ไปด้วยกัน

หลายองค์กรต่างวางแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับธุรกิจที่ดำเนินอยู่ ขณะที่บางธุรกิจก็มีความซับซ้อนในการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างธุรกิจรีเทลที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ทั้งคู่ค้า ลูกค้า และชุมชนรอบข้าง การสร้างความสมดุลระหว่างธุรกิจและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่ไม่น้อย

กลุ่มเซ็นทรัล เป็นธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ที่อยู่มานาน เคยออกแคมเปญ Central Love The Earth รณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกมาหลายสิบปี แต่ถ้าต้องจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อาจจะต้องทำในมิติอื่นๆ มากกว่าแค่ลดการใช้ถุงพลาสติ

ในปีที่ผ่านมากลุ่มเซ็นทรัลได้ยกระดับแคมเปญ Central Group Love The Earth ให้ครอบคลุมทั้งเครือของกลุ่มเซ็นทรัล โดยได้วางแนวทางด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้ชัดเจน และบางส่วนก็ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว

(จากซ้ายไปขวา) ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ พิชัย จิราธิวัฒน์

ธุรกิจและสิ่งแวดล้อมไม่มีเส้นแบ่งอีกต่อไป

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของไทยเริ่มเห็นได้อย่างชัดเจน โดยในปี 2018 ประเทศไทยมีขยะพลาสติกมากกว่า 2 ล้านตัน กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับ 23 ของโลก และอันดับ 1 ของจังหวัดในประเทศไทยที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม  ขณะที่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ก็สร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราอย่างเห็นได้ชัด

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด และที่ปรึกษา Central Group Sustainability เปิดเผยว่าการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมีกฎอยู่ 3 ข้อ คือ 1. อย่าคิดระยะสั้นต้องคิดยาว อย่าคิดแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง 2. ต้องคิดถึงผลประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย และ 3. การเติบโตไม่ใช่แค่เชิงปริมาณ แต่ต้องได้ในเชิงคุณภาพ

“เวลาเราพูดถึงกลุ่มเซ็นทรัลที่ทำธุรกิจกันมา 72 ปี เวลาคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ชุมชน เด็ก เยาวชน คนพิการ และลูกค้า ทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมโยง และมีส่วนได้ส่วนเสียกับเรา”

“หลักคิดในการทำธุรกิจแบบเดิมมักมีการแบ่งประโยชน์ธุรกิจเอกชนกับผลกระทบต่อสังคมออกจากกัน มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน ด้านหนึ่งธุรกิจก็ทำไป ส่วนด้านสังคมเป็นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐ แต่ตอนหลังเส้นแบ่งหายไป ถ้าเราผลักภาระให้ภาครัฐอย่างเดียวมันมีข้อจำกัดเยอะมากและทำไม่ไหว เช่น PM 2.5 ทำให้ภาคเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพราะภาคธุรกิจถือว่าเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ และปัญหาสิ่งแวดล้อมจะกระทบโดยตรง เช่น ภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม”

“ระยะหลัง ธุรกิจและผลกระทบต่อส่วนรวมมันแยกออกจากกันไม่ได้ เวลาเราพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ความเท่ ความสวยงาม หน้าตา แต่มันคือเนื้อเดียวกัน ในการทำธุรกิจให้ยั่งยืน”

ดร.ประสารยังบอกอีกว่าธุรกิจค้าปลีกและบริการ เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้คนหลากหลายภาคส่วน ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มเซ็นทรัล บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้วางกรอบการดำเนินงาน 4 ประการ ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)  2. การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource Efficiency) 3. การบริหารจัดการขยะมูลฝอย (Waste Management) และ 4. การบริหารห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain Management)

“โจทย์สี่ข้อ ถ้าเราทำสำเร็จจะช่วยลดปัญหาของสังคม และทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น เราเป็นธุรกิจรีเทลที่เกี่ยวข้องกับคนหลายส่วน ต้องเป็นคนกลางที่ดี อย่างน้อยที่สุดเราช่วยกัน ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพื่อการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน เวลาพูดเรื่องการพัฒนาห้าง ต้องทำให้ชุมชนและเมืองโดยรอบน่าอยู่ขึ้น”

ลดขยะ-ปรับภูมิทัศน์-ฟื้นฟูป่า

พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า เดิมทีบริษัทฯ มีหลายโปรเจ็กต์ที่ทำเรื่องประโยชน์ของสังคม ไม่ว่าจะกับชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ การศึกษา และความเท่าเทียม แต่สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว ต้องช่วยกัน ถ้าเราไม่ขยับก็ไม่มีใครขยับ

“เรามีแคมเปญ Central Love The Earth มาสิบกว่าปีแล้ว และเริ่มมี no bag day ทุกวันพุธ ซึ่งมันไม่ไปไหน เพราะกฎระเบียบมันไม่มากพอ เช่นเรื่องถุงพลาสติก ถ้าเราไม่ให้ลูกค้า อาจโดนคอมเพลนท์ หรือคิดเงินลูกค้าก็คงไม่ได้”

“เราก็ต้องระดมสมองกัน เพราะเรื่องพวกนี้ เรามีความรู้น้อยมาก ไม่รู้ว่าควรเริ่มทำตรงไหน เราก็ต้องทำเวิร์กคช้อปคิดด้วยกันหลายสิบครั้ง ก็เข้าใจตรงกัน ในทิศทางเดียวกัน แล้วปัญหาสิ่งแวดล้อมน่ากลัวมาก เวลาเราลงพื้นที่ สิ่งที่พบบ่อยคือ ป่าโดนทำลาย ขยะล้นเกาะ เป็นต้น”

ในปี 2562 กลุ่มเซ็นทรัลมีการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และพยายามเป็นต้นแบบการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงนำแคมเปญ Central Love The Earth ยกระดับให้เป็นภาพใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้ชื่อ ‘เซ็นทรัล กรุ๊ป เลิฟ ดิ เอิร์ธ (Central Group Love the Earth)’  ผ่าน 3 โครงการหลัก ได้แก่

1.Journey to Zero  

ลดขยะผ่านโครงการ Zero Waste to Landfill (ลดปริมาณขยะมูลฝอย) มีการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกใน ท็อปส์ และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ โดยในปี 2018 ลดใช้ถุงพลาสติกได้มากถึง 7 ล้านใบ ลดการใช้หลอดพลาสติกในร้านอาหารของเครือซีอาร์จี สามารถลดได้ถึง 13.6 ล้านหลอด และการใช้ภาชนะทดแทน พร้อมกับให้ความรู้ด้าน การจัดการคัดแยกขยะ (Waste Segregation) แก่พนักงาน และลดการสร้างขยะอาหาร (Food Waste) ไม่ว่าอาหารเหลือค้างจากการขาย, การบริโภคของพนักงาน ซึ่งตอนนี้มีการทำงานร่วมกับ มูลนิธิเอสโอเอส  Scholar of Sustenance (SOS) นำอาหารที่ยังทานได้ส่งให้กับเด็กและผู้ขาดแคลนโอกาส

นอกจากนี้ยังรวมถึงโครงการ Zero Carbon (ปราศจากการสร้างคาร์บอน) ลดปัญหามลพิษด้วยพลังงานสะอาด (Clean Energy) โดยมีการติดตั้งแผงพลังงานโซล่าร์เซล บนหลังคาศูนย์การค้าในเครือ (Solar Rooftop) ทั้งหมด 11 สาขา ทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 5,800 เมกะวัตต์ ต่อชั่วโมง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี พร้อมกับ สถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger) โดยห้างเซ็นทรัลถือเป็นห้างแรกที่ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในประเทศ ปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลติดตั้ง EV Charger ทั้งหมด 12 สาขา 20 จุด เช่น เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัล ชิดลม, เซ็นทรัล พลาซา ศาลายา และมีแผนที่จะติดตั้งเพิ่มให้ครบทุกศูนย์การค้า

2.Central Green

การปรับภูมิทัศน์โดยรอบศูนย์การค้าพื้นที่ 4 ตร.กม. ไม่ว่าจะจัดทำสวนสาธารณะ การบูรณาการพื้นที่ริมคลอง การติดเครื่องดักไขมัน และการปรับสภาพน้ำในคลองข้างศูนย์การค้า เพื่อให้เกิดความสะอาด สวยงาม และน่าอยู่อาศัย

“ยกตัวอย่างที่เซ็นทรัลลาดพร้าว สภาพแวดล้อมแย่มาก เราก็คิดว่าควรร่วมมือกันหลายฝ่าย น้ำท่วมและน้ำเสียเพราะขยะ เพราะมีน้ำมันจากร้านค้าโดยรอบทิ้งลงท่อ สวนสมเด็จย่าก็ดูไม่สวยงาม และคลองด้านหน้าห้างก็เป็นน้ำนิ่งๆ ทำให้เกิดน้ำเน่า เราก็ร่วมมือกันอีกหลายองค์กร เราก็ไม่อยากทำวันเดียวแบบบิ๊กคลีนนิงเดย์ อยากให้มันยั่งยืน ก็พยายามให้ความรู้กับร้านค้ารอบๆ ห้าง ติดตั้งถังดักไขมัน และพัฒนาสวนสมเด็จย่าให้สวยงาม” พิชัยกล่าว

3.Forest Restoration

การปลูกต้นไม้ ฟื้นฟูผืนป่า ได้แก่ โครงการปลูกป่าบางขุนเทียน บนพื้นที่ 36 ไร่, โครงการคุ้งบางกะเจ้า 23 ไร่, โครงการ “สร้างอาหารยั่งยืน…ฟื้นคืนป่าน่าน” รณรงค์ปลูกป่าจำนวน 200 ไร่ ร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ณ จังหวัดน่าน และโครงการส่งเสริมการปลูกกาแฟอินทรีย์ รักษาป่าภูชี้เดือน ณ จังหวัดเชียงราย พื้นที่กว่า 500 ไร่

Tags: ,