ต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้ตั้งใจโหนกระแสละครบุพเพสันนิวาส (จริงๆ นะขอรับ) แต่ถ้าจะพูดถึงอุบัติเหตุที่พบบ่อยในช่วงสงกรานต์นี้อย่าง “ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ” ไม่ว่าจะเดินล้มหัวกระแทกพื้น  ขี่มอเตอร์ไซค์ชนกันแล้วจำไม่ได้ว่าหัวกระแทกพื้นรึเปล่า หรือทะเลาะวิวาทแล้วโดนตีที่หัวแล้วสลบไป ก็อดยกตัวอย่างซึ่งเป็นที่จับจ้องกันทั้งพระนครและดูย้อนหลังในยูทูบจนถึงตอนนี้มากถึง 5 ล้านครั้งไม่ได้ นั่นคือตอนที่แม่หญิงการะเกดชวนท่านหมื่นนั่งเรือไปสั่งทำกระทะหมูกระทะ หลังจากนั้นได้เกิดอุบัติเหตุเรือล่ม และมีเรือแจวแล่นมาชนศีรษะท่านหมื่นสลบ จมน้ำซ้ำสองจนหัวใจหยุดเต้นไป

นอกจากการนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ (CPR) ที่เกศสุรางค์นำองค์ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันไปใช้ช่วยชีวิตท่านหมื่นจนฟื้นแล้ว อีกอย่างที่คนปัจจุบันอย่างเกศฯ ในร่างแม่หญิงน่าจะกังวลคือ “มีเลือดออกในกะโหลกศีรษะคุณพี่หรือไม่!?”

ถ้าสมัยนั้นมีโรงพยาบาลที่มีเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์ (CT scan) แม่หญิงก็คงสั่งให้ไอ้จ้อยรีบพาท่านหมื่นไปขอรับ “การสแกนขมอง” ต่อทันที เหมือนที่ผมได้รับการร้องขอให้ส่งตรวจอยู่บ่อยครั้ง เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่แน่นอน และที่สำคัญคือความสบายใจของญาติ ทว่าความจริงแล้วอาการของท่านหมื่นเป็นหนักจนน่าเป็นห่วงหรือไม่ และการสแกนสมองมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน

หนังศีรษะ, กะโหลกศีรษะ, สมองและหลอดเลือดสมอง เป็นลำดับชั้นของอวัยวะที่ศีรษะจากด้านนอกเข้ามาด้านใน หากมีภาวะบาดเจ็บต่อศีรษะ ไม่ว่าจะเดินล้มหัวกระแทกพื้น ขี่มอเตอร์ไซค์ชนกัน… อย่างที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น ก็อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งหรือหลายอวัยวะก็ได้ เช่น หนังศีรษะ-ฟกช้ำบวมโนเป็นลูกมะนาวมะกรูด หนังศีรษะ-ฉีกขาดเป็นแผลเลือดออก, กะโหลกศีรษะ-ร้าว ฐานกะโหลกศีรษะ-แตก, ส่วนการบาดเจ็บต่อสมองก็อาจจะมีตั้งแต่

  • หยุดการทำงานไปชั่วขณะ (cerebral concussion) เช่น อาการสลบ จำเหตุการณ์ไม่ได้
  • ฟกช้ำ (cerebral contusion)
  • มีเลือดออก (hematoma)

เรียงจากบาดเจ็บเล็กน้อย จนถึงขั้นเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หมอจะรู้ได้อย่างไร ว่าคนไข้เป็นแบบไหน คำตอบคือ “ไม่รู้” จนกว่าจะได้สแกนสมอง! (“เห็นมั้ยเจ้าคะ คุณหมอต้องสแกนสมองให้คุณพี่บัดเดี๋ยวนี้เลยนะเจ้าคะ”)

แต่การจะส่งคนไข้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะทุกคนไปสแกนสมอง นอกจากจะทำให้คนไข้ได้รับรังสี ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุ โดยเฉพาะค่าใช้จ่าย ซึ่งถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐ ราคากลางของกรมบัญชีกลางอยู่ที่ 3,100 บาท (ประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ของงบเหมาจ่ายรายหัว หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่เคยสอบถามราคาสูงถึง 6,500 บาท (ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินค่ารักษาพยาบาล ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ) เลยทีเดียว หมอจึงต้องอาศัยการซักประวัติ และตรวจร่างกายตามแนวทางเวชปฏิบัติกรณีสมองบาดเจ็บของสถาบันประสาทร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดปี เพื่อใช้ในการประเมินความจำเป็น และรักษาคนไข้ ซึ่งผมจะขออธิบายวิธีคิดของหมอให้เข้าใจง่ายอย่างนี้ว่า

หมอจะแบ่งคนไข้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มการรับรู้สติเปลี่ยนแปลงมาก เช่น ปลุกตื่นยาก ซึม คนไข้กลุ่มนี้ต้องช่วยเหลือด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ และส่งไปสแกนสมองทันที ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่มการรับรู้สติปกติหรือลดลงเล็กน้อย ซึ่งก็คือคนไข้ส่วนใหญ่ ภายหลังจากศีรษะกระทบกระแทกแล้วยังรู้ตัวรู้เรื่อง เคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ กลุ่มหลังนี้จะถูกซอยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อยตามความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะอันตรายต่อสมอง

O สลบ

O จำเหตุการณ์ไม่ได้

O ปวดศีรษะมาก

O อาเจียน 1 ครั้ง

O เมาสุรา

O มีภาวะเลือดออกง่ายผิดปกติ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย กินยาละลายลิ่มเลือด ระดับเกล็ดเลือดต่ำ

หากติ๊กถูกเพียงข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น ก็ถือว่ามีความเสี่ยงปานกลาง (moderate risk)  ซึ่งจำเป็นต้องนอนสังเกตอาการที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หากอาการแย่ลงถึงจะพิจารณาส่งสแกนสมอง หรือถ้าหากเป็นโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลเอกชนที่มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม หมอก็อาจพิจารณาส่งสแกนสมองเลยก็ได้

แต่ถ้า

O อายุมากกว่า 65 ปี

O อาเจียน ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป

O ซึมลง หลังจากสังเกตอาการ 1-2 ชั่วโมง

O มีรอยช้ำรอบตาหรือหลังใบหู

O มีน้ำใสออกจากหู จมูกหรือลงคอ

O ชัก

O หมอตรวจพบความผิดปกติที่สงสัยกระโหลกศีรษะแตก/ความผิดปกติทางระบบประสาท

หากติ๊กถูกเพียงข้อใดข้อหนึ่ง จะถือว่ามีความเสี่ยงสูง (high risk) หมอจึงพิจารณาส่งสแกนสมองทันที ไม่ต่างจากกลุ่มการรับรู้สติเปลี่ยนแปลงมาก

ในขณะที่หากไม่ได้ติ๊กถูกในข้อใดเลย มีเพียงบาดแผลที่หนังศีรษะ ก็จะถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ (low risk) หรือพูดอีกอย่างว่า “โชคดีมาก” กรณีนี้หมอจะให้กลับบ้านพร้อมกับใบแนะนำให้สังเกตอาการทางสมอง ซึ่งก็คืออาการที่ผมให้ติ๊กถูกทั้งหมดนั่นเอง ดังนั้นถ้ามีอาการแย่ลงก็ควรกลับมาตรวจซ้ำ แต่ถ้าอาการปกติจนครบ 24 ชั่วโมงนับจากเกิดอุบัติเหตุไปแล้วก็ถือว่าปลอดภัย

ทั้งหมดนี้คือวิธีคิดคร่าวๆ ของหมอ เวลาตรวจคนไข้หนึ่งคนที่มาด้วย “ภาวะบาดเจ็บที่ศีรษะ” จะเห็นได้ว่าไม่ได้น่ากังวลไปเสียทั้งหมด ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการที่คนไข้เป็นและสิ่งที่หมอตรวจพบ การสแกนสมองเป็นการวินิจฉัยขั้นสุดท้าย (definite diagnosis) หรือใช้สำหรับยืนยันการวินิจฉัยก็จริง แต่การส่งตรวจโดยที่ยังไม่มีอาการ หากมีเลือดออกในสมองจริงก็อาจมีเพียงเล็กน้อยและยังไม่สามารถสังเกตเห็นจากผลสแกนสมองก็ได้ การสังเกตอาการทางสมองอย่างใกล้ชิด เช่น มีญาตินอนอยู่กับผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมงต่างหาก ที่จะทำให้สบายใจได้อย่างแท้จริง

กลับมาที่กรณีการบาดเจ็บที่ศีรษะของท่านหมื่น ออเจ้าผู้อ่านเห็นว่าอย่างไรกันบ้างครับ เผื่อมีโอกาสได้ย้อนภพย้อนชาติกลับไปสมัยอยุธยาอย่างเกศสุรางค์จะได้ช่วยแนะนำพวกเขาได้อย่างถูกต้อง เพราะเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์เพิ่งมีใช้หลังปี พ.ศ.2520 นี้เอง

 

แหล่งข้อมูล:

แนวทางเวชปฏิบัติกรณีสมองบาดเจ็บ พ.ศ. 2556 

Tags: , , ,