Facebook ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย และพันธมิตรต่างๆ เปิดตัวโปรแกรม Boost with Facebook โครงการอบรมเพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตไปกับเฟซบุ๊ก เสริมศักยภาพของธุรกิจเอสเอ็มอีไทย

โครงการนี้ เน้นไปที่การอบรมทักษะทางดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งในระดับเจ้าของธุรกิจเองและผู้จัดการ ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2562 โดยจะอบรมจุดละ 1 วัน ตามด้วยการให้คำแนะนำเมื่อนำความรู้ไปปฏิบัติจริง โดยตั้งเป้าหมายว่าจะอบรมได้กว่า 1,000 ราย

ข้อมูลจากรายงาน Future of Business ระบุว่า ภาคธุรกิจและภาคชุมชนของไทย 78% กล่าวว่าพวกเขาใช้เครื่องมือดิจิทัล เช่น Facebook ในการแสดงสินค้าและบริการให้แก่ลูกค้า และในปี 2561 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจดิจิทัลคิดเป็นอัตราส่วน 19% ของจีดีพีของประเทศไทย

ในขณะที่เศรษฐกิจดิจิทัลมีความสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางกว่า 3 ล้านรายในไทยที่คาดว่าจะสร้างรายได้คิดเป็น 43% ของจีดีพีรวมของประเทศภายในปี 2562 แต่รายงานผลสำรวจยังเผยว่ามีผู้ประกอบการไม่ถึง 16% ที่รู้สึกมั่นใจว่าตนเองมีความรู้ในการใช้เครื่องมือดิจิทัลสำหรับธุรกิจได้อย่างชำนาญ (ข้อมูลจาก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย)

ผู้เข้าร่วมโปรแกรมนี้จะได้รับการอบรมทั้งในแบบบุคคลและระบบออนไลน์ เนื้อหาครอบคลุมเรื่องการสร้างเพจธุรกิจบน Facebook และ Instagram การใช้เครื่องมือช่วยสร้างคอนเทนต์เสริมการขาย และการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้จะแตกต่างกับใน Facebook Blueprint แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ของ Facebook ที่มีอยู่แล้ว เพราะออกแบบมาให้เข้าใจง่ายขึ้น มุ่งเน้นไปที่ความรู้และทักษะพื้นฐาน เหมาะสำหรับผู้เข้าอบรมที่อาจจะยังไม่เชี่ยวชาญการใช้งานเครื่องมือดิจิทัล

เบธ แอน ลิม หัวหน้าฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ของ Facebook ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

เบธ แอน ลิม หัวหน้าฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ของ Facebook ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ระบุ 3 แกนสำคัญในโปรแกรมนี้ ได้แก่ การฝึกทักษะแบบลงมือปฏิบัติจริง (hands-on) การมีแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่เข้าถึงต่อได้หลังจากที่จบการอบรมไปแล้ว และการมอบแรงบันดาลใจที่มาจากเรื่องราวของคนที่ประสบความสำเร็จ เธอยกตัวอย่างกรณีของนิโลบล ประมาณ ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม จังหวัดแพร่ ที่ได้ใช้ Facebook สร้างประตูจากชุมชนของเธอไปสู่ผู้คนในโลก ให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

เบธ แอน ลิม หัวหน้าฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ของ Facebook ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (ซ้าย) และปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการและรองประธานกรรมการมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย (ขวา)

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการและรองประธานกรรมการมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ซึ่งทำงานสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยและบุคคลธรรมดามานาน 25 ปี กล่าวว่า “พอพูดถึงการสนับสนุนใช้เครื่องมือดิจิทัล เราจะนึกถึงคนในเมือง แต่ที่จริงโปรแกรม Boost with Facebook นี้จะช่วยเพิ่มโอกาสการเป็นเจ้าของกิจการให้กับกลุ่มคนที่ถูกกีดกันทางสังคม สนับสนุนให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะทางธุรกิจที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 รวมถึงยกระดับประสิทธิภาพทางการแข่งขัน จนนำไปสู่สังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น”

นอกจากกลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป โปรแกรมนี้ของ Facebook และพันธมิตรยังมุ่งขยายการฝึกอบรมให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรที่ก่อนหน้านี้อาจมีอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลหรือทรัพยากรต่างๆ โดยการร่วมมือกับพันธมิตรภาคชุมชนต่างๆ เช่น ชุมชนผู้พิการ ชุมชนเพศทางเลือก ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ฯลฯ

อุดมโชค ชูรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่เพื่อคนพิการ กล่าวว่า “บาทหลวงเรย์มอน แอนลีน เบรนนัน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนฯ เข้ามาไทยเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว และมองว่าการที่คนพิการจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมก็ต่อเมื่อเลี้ยงดูตัวเองได้ ท่านจึงสร้างโรงเรียนขึ้นมา สมัยนั้นคนไทยเรายังใช้คอมพิวเตอร์น้อยมาก ท่านบอกว่าต้องสอนคอมพิวเตอร์ให้คนพิการ เพราะหากคนพิการมีความรู้เรื่องนี้ ที่ไหนๆ ก็ต้องการตัวไปทำงาน จะเห็นได้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ช่วยลดความเสียเปรียบตรงนี้ของเราได้ โครงการแบบนี้ ก็ถือว่าสอดคล้องกับงานที่เราทำ”

โครงการ Boost with Facebook ประกอบด้วยพันธมิตรภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สำนักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.)ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และพันธมิตรภาคชุมชน ได้แก่ มูลนิธิรักษ์ไทย องค์กรบางกอกเรนโบว์ มูลนิธิเอ็มพลัส มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ (ภายใต้มูลนิธิคุณพ่อเรย์) มูลนิธิพิทักษ์สตรี บริษัท เรย์วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (ภายใต้มูลนิธิคุณพ่อเรย์) มูลนิธิชุมชนไท มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Tags: , , , , , ,