สถาปนิกเป็นนักสร้างและทำลายในเวลาเดียวกันบุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ สถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัท บูรณ์ดีไซน์ จำกัด หรือ Boon Design บอกกับเราในตอนหนึ่งที่ห้องประชุมภายในออฟฟิศของเขา 

ที่ทำงานของสถาปนิกผู้ออกแบบบ้านพักอาศัยระดับไฮเอนด์ และคว้ารางวัลด้านการออกแบบมามากมายทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ คือตู้คอนเทนเนอร์ที่วางเทินซ้อนกันอย่างดูเท่เหลือหลาย ขณะที่ภายในก็โอ่โถงจนไม่น่าเชื่อว่านี่คือกล่องที่เรามองเห็นจากภายนอก นี่เป็นหนึ่งในไอเดียที่หลายคนบอกเขาว่าทำไม่ได้หรอกแต่เขาก็ทำให้เห็นว่าทำได้

ผมเจอคำที่คนมาบอกว่าทำไม่ได้มาทั้งชีวิต แล้วเราก็บอกว่าทำได้บุญเลิศบอกว่าตอนเด็กเขาเรียนไม่ดีพอ เกรดของเขาในระดับมัธยมฯ ไต่ขึ้นลงในระดับเกรด 1 เกรด 2 แต่ความมุ่งมั่นของเขาที่จะเป็นสถาปนิก ก็ทำให้เขามองหาวิธีที่จะได้เข้าไปเรียนสถาปัตย์ฯ จนได้ และที่นั่นทำให้เขาพบว่าการเรียนสถาปัตย์ฯ นั้นง่ายกว่าเรียนเลข . ห้าเสียอีก

หากเปิดหน้านิตยสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการตกแต่งบ้านทุกหัวในไทย แน่นอนว่าชื่อของบุญเลิศมีปรากฏเคียงคู่กับบ้านหลังสวยมากมาย และชื่อของเขายังปรากฏอยู่ในเว็บไซต์และนิตยสารต่างประเทศ ซึ่งตีพิมพ์งานของเขาอยู่เสมอเมื่อบ้านหลังใหม่ที่เขาออกแบบเสร็จสมบูรณ์

งานออกแบบภายใต้การดูแลของบุญเลิศ มักแสดงออกด้วยรูปทรงที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังและมีอัตลักษณ์ เช่น Rabbit Residence บ้านพักอาศัยของภูมิสถาปนิกชื่อดัง ที่ล่าสุดคว้ารางวัลมาจากหลายเวที รวมถึงรางวัล Iconic Awards 2019 จาก German Design Council ที่เขาเพิ่งได้รับมาเมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้ ขณะที่บางโครงการของเขาก็สอดผสานความร่วมสมัยเข้ากับบริบทของท้องถิ่น เช่น โรงแรมรายา เฮอริเทจ จังหวัดเชียงใหม่ ภิรมย์แอทวินยาร์ด เขาใหญ่ ฯลฯ และไม่ว่าผลงานออกแบบของเขาจะล้ำเลิศแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่เขายึดมั่นเสมอคือการคำนึงถึงธรรมชาติเป็นองค์ประกอบสำคัญ

Rabbit Residence

เขาบอกกับเราว่า เมื่อต้องใช้ทรัพยากรในการก่อสร้าง สถาปนิกจะทำงานที่ไม่ดีออกมาไม่ได้ และหากมีทางใดที่จะช่วยรักษาหรือลดทอนการทำลายนั้นลงได้ ทำไมเขาจะไม่ทำล่ะ 

อยากให้คุณบุญเลิศเล่าถึงเส้นทางการเรียนก่อนจะมาเป็นสถาปนิก

ผมเชื่อว่าคนเรารู้ตัวเองตั้งแต่เด็กไม่ใช่มัธยมฯ อย่างของผมคือตอนอายุห้าขวบ ที่บ้านผมทำป้ายโฆษณา คุณแม่จะรู้จักสถาปนิกเพราะการทำงานป้ายต้องดีลกับสถาปนิก ที่บ้านจะเตรียมเรื่องศิลปะและภาษาให้เราตั้งแต่เด็ก ให้เรียนโรงเรียนคริสเตียนที่ซอยศูนย์วิจัย พอปิดเทอมก็จะให้เด็กมหาลัยเข้ามาสอนตั้งแต่ประถมฯ แล้วแม่จะให้เขียนรูปมาตั้งแต่เด็ก ผมก็ซึมซับมาจากตรงนั้น แล้วธุรกิจทำป้ายโฆษณาจะมีงานเขียนงานช่างอยู่ในตัว ทำให้ผมได้คลุกคลีกับงานเขียนช่างงานมาตั้งแต่เล็ก 

อย่างของเล่นผมก็ทำเองตั้งแต่เด็ก ไปซื้อดาบมาฟันไปห้าครั้งแล้วพัง บ้านเรามีอะครีลิกเหลือๆ ก็เอามาตัด ออกแบบให้เหมือนในหนังจีนเลย แบบโค้งๆ ที่มันไม่มีขาย ผมทำหมดแล้ว 

สมัยผมเด็กๆ ไม่ได้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าไปเรียน เลยไม่เข้าใจว่าทำไมคิดเลขต้องคิดในใจ เคยมีคำถามตั้งแต่เด็กว่าทำไมสมุดต้องตีเส้นข้างหน้า ทำไมเขาไม่ตีมาให้เราเลย ผมเขียน .ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก แล้วระบายหัวตัวหนังสือสีดำ ครูก็เรียกเราไปตี ทั้งที่ตอนนั้นเรารู้สึกว่างานมันดีมากเลยนะ (หัวเราะ) แต่ครูตีไปเขาก็ยิ้มๆ คือเราทำไม่เหมือนคนอื่น พูดง่ายๆ ก็คือเราเห็นอะไรไม่เหมือนคนอื่น ไม่ใช่ว่าเราดีกว่า แต่มันเป็นอุปนิสัยเราที่เป็นคนแบบนี้ แล้วเรียนเลขตกตั้งแต่เด็กๆ พีคสุดก็ตอน .ห้า ตอนนั้นเราเริ่มรู้แล้วว่าเอาดีทางนี้ไม่ได้ เพราะว่าตอบผิดครูก็จะหยิก ทำให้เป็นวิชาที่เราไม่อยากเรียน ไม่มีความพร้อมอะไรทั้งสิ้นที่จะไปเข้ามัธยมฯ แล้วการเรียนเลขในตอนนั้นจนทุกวันนี้ผมยังไม่เคยได้เอามาใช้เลย เรียนฟิสิกส์เรื่องการแตกแรง ผมก็ไม่รู้จะต้องแตกไปทำไม เลยตกหมด ตกตั้งแต่ .ห้า .สามก็ไม่มีอนาคต .สี่ .ห้า .หก ยิ่งไม่มีอนาคตใหญ่

แต่ตอนนั้นคุณอยากสอบเข้าสถาปัตย์ฯ

เพราะพี่ชายผมเรียนอินทีเรียร์ที่ศิลปากร เขาเป็นไอดอลผม ผมก็เลยอยากเรียนสถาปัตย์ฯ ถามว่า .ปลายต้องเรียนอะไรบ้าง ก็ต้องฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เรารู้แหละว่าต้องตกแน่นอน แล้วก็ตกจริงๆ เลยไปขอครูที่สอนวิชาเคมีว่า ครูครับ ผมคงไม่ได้เรียนเคมีแล้วเพราะผมจะสอบสถาปัตย์ฯ ขออนุญาตผ่านแล้วเรียนแต่วิชาที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยเลยได้ไหม ครูก็ใจดี ยอมให้ผ่าน

ส่วนการเขียนรูป ผมถนัดมาตั้งแต่เด็กแล้ว ผมเขียนได้ดีเกินเด็ก .ห้า แต่เขียนภาพเหมือนอย่างเดียวนะ เพราะเขียนจากสิ่งที่เห็น แบบไม่ค่อยมีจินตนาการ สมัยเด็กความรู้เราต่ำ ไม่มีสิ่งที่จะไปเชื่อมโยงกับโลกภายนอกได้ ดังนั้นเห็นอะไรก็วาดตามนั้น แล้วมันสวยได้เท่านั้น พอเรียน .สี่ ครูแนะแนวก็บอกว่าบุญเลิศ เธออย่าไปสอบสถาปัตย์ฯ เลย เพราะเลข ฟิสิกส์ เธอตกหมด ครูก็พูดถูกนะ แต่เราก็เชื่อว่าเราเก่งศิลปะ น่าจะเอาตัวรอดได้ ก็เลยลองสอบมัณฑนศิลป์กับสถาปัตย์ฯ พร้อมๆ กัน

แล้วตอนสอบทำอย่างไรกับวิชาที่เป็นข้อด้อย

อันนี้ก็ใช้วางแผนหน่อยนะ (หัวเราะ) ด้วยความที่ข้อสอบช่วงนั้นเป็นปรนัย เราต้องใช้ดินสอฝน ผมก็คิดว่าถ้าผมเป็นคนออกข้อสอบ ก. ถึง ง. ผมจะให้แต่ละข้อมีคะแนนยี่สิบห้าคะแนน เพื่อกันคนกามั่ว ผมก็คิดเอาเองว่า ถ้ากาเฉพาะข้อใดข้อหนึ่งผมจะต้องได้ยี่สิบห้าคะแนนนี้แหละ ผมก็เอาคะแนนยี่สิบห้าคะแนนนี้ให้ได้ แล้ววิชาที่เราทำได้เราต้องทำให้เต็ม 

ตอนนั้นผมรู้ตัวว่าถ้าไม่ได้สถาปัตย์ฯ ผมได้อินทีเรียร์แน่นอน สอบเสร็จเอาข้อสอบมาดูเฉลยก็ได้เจ็ดสิบคะแนนขึ้น แล้วตอนนั้นทักษะดรอว์อิ้งเราได้อยู่แล้ว เพราะตอนเรียน .สี่ ผมบอกครูศิลปะว่าผมไม่ขอทำการบ้านตามที่ครูสั่งเพื่อนๆ แต่ขอส่งพอร์ตโฟลิโอของผมเอง ครูก็ใจดีให้เราทำ ผมก็เขียนรูปมือ วาดฟิกเกอร์ไป จัดการโปรแกรมต่างๆ นี้ด้วยตัวเราเอง 

การไม่ถนัดวิชาคำนวณ มีผลต่อการเรียนสถาปัตย์ฯ ไหม

ปีสองปีแรกก็ตกเหมือนเดิม แต่รู้ไหมว่าการเป็นสถาปนิกมันไม่ต้องคำนวณอย่างนั้น ทุกวันนี้ผมคิดเลขเร็วมากนะ เพราะผมไม่ต้องมาจำสูตรอะไร ตอนผมเรียนที่คณะสถาปัตย์ฯ ผมได้เกรดสาม ซึ่งผมไม่เคยได้ตอนเรียนมัธยมฯ ผมได้ทุนไปญี่ปุ่น ตอนขึ้นปีสาม พอเรียนปีสี่ก็ ได้เป็นนักศึกษาเรียนเด่น เพราะได้ A ทุกวิชา 

เรียนเป็นสถาปนิกสำหรับผมนี่ง่ายกว่าเรียนเลข .ห้าอีก เป็นเราคนเดียวหรือเปล่าไม่รู้ ผมรู้สึกอย่างนี้จริงๆ แต่ผมไม่เน้นเรียนนะ 

ทำไมพอได้เรียนสถาปัตย์ฯ แล้วถึงกลายเป็นคนใหม่ขึ้นมาเลย

การวัดที่การศึกษาอาจไม่ใช่ สำหรับผมนะ ผมว่าคนทุกคนต้องมีพลังบางอย่างที่มันรอวันใช่ บอกไม่ถูกว่ามันมายังไง ผมอาจจะเกิดมาเป็นสถาปนิกมั้ง ผมเป็นคนทุ่มเทมากกับอะไรที่เราต้องทำ อย่างเรียนภาษาอังกฤษตื่นมาทุกเช้าผมจะเขียนคำศัพท์ คำไหนจำไม่ได้จะเขียนติดไว้บนผนังรอบตัวเลย ตื่นตีห้ามาท่อง บ้ามาก การที่เรารู้อะไรเราจะต้องทำมันอย่างมากๆ และเราก็ต้องรู้ด้วยว่าเราทำอะไรไม่ได้เหมือนกันด้วย อย่าหลอกตัวเอง พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เลยเป็นอีกโลกหนึ่งที่รู้สึกว่าทำไมชีวิตการเรียนมันง่ายอย่างนี้ และงานออกแบบก็ไม่เห็นจะยากเลย 

พิสูจน์ได้ด้วยอะไรคะ

ตอนปีหนึ่งผมประกวดแบบชนะพี่ปีห้า เวอร์มากนะในตอนนั้น จริงๆ เราก็ทำไม่เป็นหรอก เดินไปหาครูเลย คุณครูก็เมตตากรุณาแนะแนวให้ ผมอยากประกวดผมต้องทำยังไงบ้าง เลยทำ การทำประกวดแบบช่วยฝึกให้ผมต้องทำงานสองอย่างในเวลาเดียวกัน คือทำโปรเจ็กต์ส่งครูกับทำงานประกวด ผมทำอยู่สี่ปี ได้รางวัลทุกปี พอปีห้าไม่ทำแล้วเพราะต้องทำธีสิส ดังนั้นเรามีพอร์ตฟอลิโอ และเรารู้แล้วว่าเราสามารถทำงานมากขึ้นได้สองเท่าในเวลาเดียวกัน การประกวดมีประโยชน์มากเลย เพราะมันทำให้เราฝึก to the point ได้ เพราะในการประกวดจะมีหัวข้อมา เราจะรู้ว่าเขาต้องการอะไรจากเรา มันฝึกให้เรา set goal ได้ใกล้เคียง 

ตอนเรียนปีสามที่คุณบุญเลิศได้ทุนไปญี่ปุ่น มีอะไรที่เปลี่ยนโลกของคุณไหม 

มากมายเลยครับ ทำให้เราอยากไปเรียนเมืองนอก เรารู้แล้วว่าโลกมันกว้างมาก ในหนึ่งเดือนที่ไปเราก็ได้ไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ไปดูโฮมสเตย์ ไปดูตึกในญี่ปุ่น โห มันไม่เหมือนเมืองไทยเลย ต่างกันมาก แต่จะไปเรียนเมืองนอกต้องทำยังไง ต้องเรียนได้เกรดสามขึ้นไป จะได้เกรดสาม ต้องทำยังไง ก็ต้องตั้งใจเรียน 

เรียนจบแล้วไปเรียนต่อเมืองนอกเลยหรือ

ทำงานก่อน ตอนเรียนนี่เรารอเรียนจบอย่างเดียวเพราะอยากได้เงิน ตอนนั้นบริษัทสถาปนิกดังๆ มีอยู่น้อยมาก ไปสมัครกับบริษัทในดวงใจเลย แต่ไปคุยแล้วเขาไม่รับ เพราะมีผู้หวังดีบอกเราว่าเรียกไปเลยเงินเดือนเท่านี้ๆ เราก็เชื่อ ที่จริงเขาต้องสอนเราว่าเด็กจบใหม่จะมีความรู้อะไรมาก ต้องบอกเขาว่าเงินเดือนเท่าไรก็ได้ นี่สอนให้เราไปเรียกเงินเดือน มันผิด มันไม่ใช่

ผมก็ถอยมาตั้งหลัก ได้ไปทำงานกับบริษัท SJA กับ ดร.สุเมธ ชุมสาย อยุธยา ทำได้ปีหนึ่งก็มีพี่ชวนไปทำงานกับบริษัทสถาปนิกออสเตรเลียซึ่งอยู่ในเมืองไทย ชื่อ Nation Fender Architect เป็นบริษัทที่ทำเมืองทองธานี ซึ่งก็ทำให้เราได้เห็นความแตกต่างมากในการทำงานของคนไทยกับฝรั่ง ทั้งในแง่คัลเจอร์ของคนทำงาน และมุมมองในการออกแบบ ตอนนั้นคอนโดฯ เมืองทองธานีเป็นสิ่งที่ใหม่มากสำหรับเมืองไทย มีดีเทลที่ดีมาก ห้องเปลือยๆ ยังสวยเลย ทุกคนต้องไปถ่ายเอ็มวีกันที่นั่น นั่นคือ 25 ปีที่แล้วเป็นอย่างน้อย

คิดไหมว่าวันหนึ่งถ้ามีบริษัทเอง คุณก็จะเป็นอย่างนั้นบ้าง

ผมว่าสถาปนิกทุกคน ร้อยละร้อยต้องบอกว่าตัวเองทำแทนตรงนั้นได้ดี แต่ถ้าเราเห็นฝรั่งทำแบบนี้ ทำเหมือนเขาเลย แต่ไม่เข้าใจหลักที่เขาใช้ ก็ไม่มีประโยชน์ เหมือนกับการก๊อปปี้ที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอด พอมีงานมาสเตอร์ปุ๊บ ก็มีงานก๊อปปี้ปั๊บ แต่การก๊อปปี้ไม่มีทางทำได้ดีเท่าอยู่แล้ว มันแค่เป็นการทำตาม ถ้าคุณจะทำให้ดีเท่าหรือดีกว่า คุณต้องทำสิ่งอื่นที่คุณภาพสู้กับเขาได้

ผมทำงานได้อีกสักปีหนึ่งก็ออกมาทำงานของตัวเอง คือทำกับพี่ชาย ออกแบบโชว์รูมรถยนต์ฮอนด้าสมัยก่อน ทำเสร็จตอนนั้นอายุ 28 ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทที่อังกฤษ คอร์สหนึ่งก็เรียนปีเดียว ก็ได้เห็นว่ารางวัลที่เราได้มาเยอะๆ มาตรฐานเรายังไม่ถึงเขาเลย สำหรับผมรู้สึกว่าวิธีที่ผมเรียน ถูกสอนให้เป็นสถาปนิกแบบทำงานได้ แต่ผมไม่รู้จัก creativity มากนัก หรืออาจจะมี แต่ทำงานไม่ได้ เมืองไทยตอนนั้นสอนเป็นแบบ project oriented ปีหนึ่งทำบ้าน ปีสองทำบ้านพักคนชราซึ่งสเกลใหญ่ขึ้นมาหน่อย ให้รู้จักโปรเจ็กต์ประเภทอาคาร เขียนแปลนเป็น เหมือนจำลองให้คุณเป็นสถาปนิก ก็ทำได้ แต่ทำได้คุณภาพไหม นั่นอีกเรื่อง 

เหมือนตอนเราเรียนที่เมืองไทย เรารู้ตัวว่าเราพอจะเป็นสถาปนิกได้ระดับไหน ไม่ได้อีโก้นะ แต่การประกวดแล้วได้รางวัลมามันก็บอก แต่พอไปที่อังกฤษเราต้อง set zero ใหม่ ผมคิดว่าความสำเร็จของคนเรามันอยู่ที่การรู้ตัวเองด้วยนะว่ามาตรฐานของเราอยู่ระดับไหน เราต้องรู้จริงๆ เราถึงจะไปต่อได้ 

ได้อะไรกลับมาบ้างจากการเรียนหนึ่งปีที่อังกฤษ 

ได้เที่ยว (หัวเราะ) ตั้งใจไปเที่ยว แล้วคลาสที่เรียนก็ดีมาก พาเราไปรอตเตอร์ดัม ไปเวียนนา ไปดูงานสถาปนิกดังๆ ของโลก การไปเห็นงานแบบนั้นมันเหมือนเราได้ลงจากเขาอีกลูกหนึ่ง ผมว่าเกิดเป็นคนไทยโชคดี เพราะเมืองนอกพัฒนาไปหมดแล้ว เมืองไทยกำลังพัฒนา ดังนั้นอาชีพเราจึงมีทางไป เราก็มั่นใจว่าเราต้องทำในสิ่งที่อาจจะไม่เคยมีมาก่อนก็ได้ในไทย 

เป็นคอนเซ็ปต์ของบูรณ์ดีไซน์ด้วยไหม ในการทำสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน 

ไม่ เราไม่มีคอนเซ็ปต์เลย ตอนกลับมาก็ยังไม่ได้ตั้งบริษัทในทันที แต่ทำงานที่เป็นส่วนตัวก่อนเกือบสิบปี ทำบ้านไปปีละหลังสองหลัง แต่งานพวกนั้นเป็นพอร์ตโฟลิโอเราหมดเลย ได้ลงหนังสือเมืองนอกหมด เมืองไทยก็ได้ลง 

ตอนนั้นคุณบุญเลิศอายุราวสามสิบ ยังไม่ได้มีผลงานมากนัก คิดว่าเพราะอะไรคนถึงว่าจ้างคุณให้ออกแบบบ้าน

แล้วแต่บุญ (หัวเราะ) จริง คนเราทุกคนจะได้ทำอะไรมันอยู่ที่บุญของเราว่าจะได้ทำ ตอนแรกก็มีคนแนะนำบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นว่าเราจะได้งานหรือไม่ได้งาน การจะได้งานคือเมื่อคุยแล้วเขารู้สึกว่าเราดูแลเขาได้ 

เวลาคุยกับเจ้าของบ้าน ผมใช้ความรู้สึก แล้วเหมือนเรายังมีพอยต์ของงานอยู่หลายๆ ด้านที่คนอื่นไม่ได้มองถึงหรือให้ความสำคัญ อย่างเรื่องการฉีดปลวก บางคนจะวางท่อน้ำยาใต้บ้าน แต่ผมไม่เคยทำเลย ผมใช้วิธียกบ้านเหมือนบ้านภาคใต้ เหมือนบ้านสมัยก่อนที่เราต้องมีใต้ถุน

เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ก็ดีไซน์คือการแก้ปัญหาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราเป็นดีไซเนอร์เราก็ต้องมีสิ่งแบบนี้อยู่ในตัว ไม่ใช่เฉพาะอาชีพนี้หรอก ทุกอาชีพเลย การดีไซน์มันคือการต้องทำให้ชีวิตดีขึ้น เราจะออกแบบให้ถนนไม่สะดุดยังไง บ้านเป็นแบบนี้แล้วจะต้องทำยังไงต่อ สมมติคุณทำบ้านสวยเลย แต่มองไปแล้วเห็นส้วม มันจะโรแมนติกไหมล่ะ 

เวลาทำงานผมมีข้อแม้เยอะ อย่างเมื่อก่อนผมทำขั้นบันไดสูง 17 ซม. ครึ่ง รู้สึกว่ามันเมื่อยเข่าแล้ว เดี๋ยวนี้ลดลงมา 15 ซม. พอ เราอาจจะมีเงื่อนไขในการทำงานยากขึ้นกว่าคนอื่นอย่างน้อยต้อง 30 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เหมือนเราเห็นตรงนี้แล้วอยากทำให้มันดีขึ้น แล้วผมก็เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดี อย่างเมื่อก่อนผมกันปลวก เดี๋ยวนี้ผมกันมดแล้วนะ ด้วยวิธีทำรางน้ำเดินรอบบ้านเลย แต่ก็ต้องคอยเติมน้ำพร้อมทรายอะเบตกันยุงไว้เลย แล้วผมมีวิธีซ่อนรางไว้แบบเนียนๆ ดีไซน์โบราณก็เป็นแบบนี้นะ เพราะฉะนั้นแล้วเราไม่ใช่เป็นแค่สถาปนิกน่ะ เราเป็นดีไซเนอร์ด้วย

งานออกแบบบ้านช่วงแรกๆ ของคุณ มีแนวคิดที่ฉีกไปจากคนอื่นอย่างไรบ้าง 

บ้านหลังแรกที่ทำเมื่อปี 2000 เจ้าของเป็นทนายความ เรายกบ้านขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ส่วนข้างล่างเราวางคอนเดนซิ่งแอร์ไป แล้วเขาบอกว่าอยากได้บ้านสไตล์ฝรั่งคลาสสิก แต่ผมไม่เคยเรียนงานคลาสสิกของฝรั่ง เลยบอกเขาว่าทำแบบนี้ดีกว่า ผมทำเป็นหลังคาสองชั้นตั้งแต่สมัยโน้น เพราะผมรู้สึกว่าบ้านทั่วไปจะอยู่ชั้นสองไม่ได้ในตอนกลางวันเพราะร้อนมาก แต่บ้านหลังนี้มีหลังคาเหมือนกันความร้อนให้ตลอดเวลา แล้วระหว่างชั้นปล่อยให้ลมผ่าน 

นี่คือสิ่งที่แปลกใหม่ในตอนนั้น

ทุกวันนี้ก็มีคนใช้ตามแบบเราบ้าง อาจจะอินสไปร์ซึ่งกันและกัน หรืออย่างการทำประตูสูงแบบประตูโบราณ ผมทำให้หดสั้นลงในสเกลที่ผมชอบ การทำแปลนก็เหมือนดรอว์อิ้งของมองเดรียน (พีท มอนเดรียน ศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ที่มักสร้างงานในรูปแบบเรขาคณิต) ผมชอบงานศิลปะ ดังนั้นศิลปะจะอยู่ในงานของผมทุกอย่าง 

สำหรับผม ดีไซน์เป็นเหมือนกวี เข้ามาในบ้านแล้วมันต้องมีจังหวะ มีที่ว่างแบบนี้ หันกลับมาต้องเห็นแบบนี้ ศิลปะมันเหมือนกันหมด ทำกับข้าว สร้างหนัง บทกวี บทเพลง จิตรกรรม สถาปัตยกรรม เป็นเรื่องเดียวกันหมด ต่างกันที่การสื่อออกไป

บ้านหนึ่งหลังคุณดูแลเองทั้งหมด ทั้งแปลน การออกแบบ 

ผมตกแต่งภายในด้วย ออกแบบแสงด้วย ออกแบบสวนด้วย งานศิลปะที่ใช้ตกแต่งบ้านก็ทำเองหมดเลย ประตู หน้าต่างก็ออกแบบเอง อย่างเมื่อก่อนทำประตูเหล็กแล้วมันช้า ยาก งานหลังเราใช้อะลูมิเนียม สั่งรีดเอง 

เท่าที่สังเกต ดีไซน์ของคุณดูเรียบง่าย แต่มีรายละเอียดอยู่ในนั้นเยอะมาก

เหมือนน้ำซุปน่ะ งานดีๆ ก็เหมือนซุปอร่อยๆ ถ้วยหนึ่ง คุณไม่รู้หรอกว่ามันมีอะไร แต่มันอร่อยมากๆ เลย เป็นส่วนผสมที่คุณมองไม่เห็น อย่างตึกออฟฟิศนี้ เราต้องการทำให้เป็นตู้คอนเทนเนอร์ ไม่ต้องการทำให้เป็นตึก เพราะตอนที่ผมไปหาซื้อ ผมเห็นว่าซอกการวางตู้คอนเทนเนอร์มันสวยมาก ผมอยากเอาซอกนั้นมาอยู่ในออฟฟิศผม คอนเซ็ปต์ของตึกออฟฟิศผมคือ ของ leftover อย่างตัววัสดุมันคือของเหลือทิ้งอยู่แล้ว ส่วนพื้นที่ใช้สอยมันเกิดจากการเอาตู้คอนเทนเนอร์มาวางเทินไปเทินมาแล้วเหลือที่ว่าง ในเชิงทั้งตัววัสดุและพื้นที่มันเป็นเรื่องเดียวกัน 

ตอนที่จะใช้คอนเทนเนอร์มาทำออฟฟิศ ทุกคนบอกว่าใช้งานไม่ได้ แต่ผมบอกว่าใช้งานได้ งานส่วนใหญ่ที่คนบอกว่าทำไม่ได้ๆๆๆๆ เราบอกทำได้ๆๆๆ เหมือนตอนที่ผมไปสอบสถาปนิก ทำไมผมถึงต้องเล่าชีวิตตัวเองตั้งแต่เด็ก เพราะชีวิตผมเจอคำว่าทำไม่ได้มาทั้งชีวิต แล้วเราก็บอกว่าทำได้

ถ้าจะขอให้นิยาม สไตล์งานของบูรณ์ดีไซน์คืออะไร

ไม่ฝืนธรรมชาติ เพราะจริงๆ ธรรมชาติมันยิ่งใหญ่มาก ยิ่งกว่ารูปแบบใดๆ ถ้าเราทำตามธรรมชาติเมื่อไรงานเราก็ไม่มีวันจบ มันจะไปได้เรื่อยๆ ของมัน ยกตัวอย่างสมมติว่า ธรรมชาติอยู่ริมน้ำ เราก็ควรทำอะไรอย่างที่ริมน้ำเขาบอกให้เราทำ 

ถ้าคุณจะต้องสร้างบ้านริมน้ำสักหลังตอนนี้เลย บ้านหลังนั้นในความคิดคุณบุญเลิศเป็นแบบไหน

ต้องเห็นน้ำ รู้สึกอยากอยู่ใกล้น้ำ มองเห็นน้ำในมุมต่างๆ ชีวิตเป็นเรื่องการจัดวาง เราต้องจัดวางให้เรารู้สึกดีจังเลยที่อยู่ริมน้ำ เราจะใช้น้ำแบบไหน ใช้ดูหรือใช้สอย อย่างน้ำขึ้นน้ำลงก็เป็นดีไซน์ได้แล้ว 

ฟังก์ชันที่ดีของบ้านที่คุณออกแบบ มันควรจะเป็นอย่างไร

ใช้แล้วต้องมีความสุข อยู่แล้วต้องสบาย ผมว่ามีแค่สองอย่าง เพราะว่าเรื่องความสุขมันนานาจิตตัง บางคนชอบนอนตื่นเช้า บางคนชอบนอนตื่นสาย อยากได้กลิ่นกาแฟ อยู่ในซีนของการอยู่ในห้อง มีห้องน้ำใหญ่ๆ อะไรประมาณนี้ 

เวลาผมไปเจอลูกค้า ผมไม่ต้องไปดูบ้านเขานะว่าเขาอยู่ยังไง เขาเล่าให้ผมฟัง แล้วผมก็ทำออกมาได้เลย สิ่งที่เขาจะต้องบอกผมคือความชอบและความไม่ชอบ ความไม่ชอบจะง่ายกว่าความชอบ ความไม่ชอบจะเป็นการกรอบความต้องการให้อยู่ในวงที่เล็กลง มีบ้านอยู่หลังหนึ่ง เป็นบ้านเดี่ยวที่เน้นแลนด์สเคป ดีไซน์ของมันดูเรียบๆ ฟังก์ชันเรียบง่าย แต่ซับซ้อน งานของผมมักจะเป็นแบบนี้ 

คำว่าซับซ้อนก็คือเนื่องจากว่าชีวิตคนเรามันก็เป็นแบบนั้น แต่ในความซับซ้อนจะมีบางอย่างช่วยพยุง นั่นคือความเรียบง่าย อย่างบ้านที่ยื่นชายคามาด้านหน้าเป็นทิศตะวันตก รอบข้างเป็นคอนโดฯ น่าเกลียดๆ เราก็จะแยกวิวออกไปเลย ไม่ต้องเห็นใคร 

คุณบุญเลิศบอกว่าบ้านต้องมีจังหวะของมัน จังหวะที่คุณออกแบบจะตอบรับกับผู้อยู่อาศัยอย่างไร

ฟังก์ชันของงานบ้านมักจะเหมือนเดิมทุกอย่าง อยู่ที่เราจะเน้นตรงไหนให้มีพลัง อย่างบ้านหลังหนึ่งเป็นครอบครัวที่อบอุ่น เอกเขนก คลอเคลีย แต่ก็มีความเป็นปัจเจกว่าห้องคุณแม่ต้องเป็นห้องส่วนตัว ห้องลูกเป็นอย่างนี้ แต่พาร์ตที่เป็นส่วนรวมก็ต้องเป็นแบบนี้ จะไม่ใช่แค่ห้องที่แบบกินข้าวๆ หรือห้องรับแขกที่ห้าปีมีคนมาที มันจะเป็นฟังก์ชันที่สะท้อนความเป็นอยู่ออกมา 

เหมือนคนทำงานสถาปนิกต้องเรียนรู้มนุษย์ด้วย

มันเป็นอย่างนั้น เพราะเราทำให้มนุษย์ใช้ เวลาเด็กมาสัมภาษณ์งานกับผม ผมถามแค่สามคำถามเอง โต๊ะตัวนี้สูงเท่าไร 75 ซม. เก้าอี้ตัวนี้สูงเท่าไร 45 ซม. ความสัมพันธ์ของโต๊ะกับเก้าอี้จะต่างกัน 30 ซม. ที่เป็นแบบนี้เพราะมันมีอะไรบางอย่างกำหนดไว้ ทั้งตัวที่นั่ง การเท้าแขน แต่ถ้าเป็นฝรั่งเขาจะทำโต๊ะ 73 ซม. เก้าอี้ 48 ซม. ขึ้นกับสรีระ เพราะฝรั่งเขาจะแขนยาวขายาว กับอีกคำถาม ประตูกว้างเท่าไร ส่วนใหญ่จะประมาณ 90 ซม. หรือหนึ่งเมตร ไม่มีกฎตายตัว แต่รวมๆ จะหนึ่งเมตรโดยปกติ ซึ่งถ้าคุณเป็นนักออกแบบแล้วไม่รู้เรื่องพวกนี้ ต่อให้คุณไปเรียนคอนเซ็ปต์อะไรมา คุณก็ต้องมาทำความเข้าใจคนอยู่ดี เพราะสิ่งที่คุณออกแบบ คุณใช้มาทั้งชีวิตคุณยังไม่รู้เลย แล้วคุณจะไปออกแบบให้ใครได้ยังไง ผมพูดถูกมั้ย

นี่คือด่านแรกถ้าใครอยากจะมาทำงานกับคุณ แต่ส่วนใหญ่ก็น่าจะตอบคำถามนั้นได้ใช่ไหม

ตอบผิดหมด ผมบอกเพื่อนที่เป็นอาจารย์ถึงปัญหาแบบนี้ เขาบอกว่าเด็กอาจจะไปสนใจเรื่องอื่นที่ใหญ่กว่าซึ่งก็อาจจะจริง แต่ผมคิดว่าคุณจะลืมหรือปฏิเสธสิ่งที่คุณใช้ตั้งแต่เด็กได้ยังไง ถ้าคุณยังไม่รู้จักสิ่งใกล้ตัวคุณเลย คุณจะไปรู้จักสิ่งไกลตัวได้ยังไง นี่แหละสิ่งที่ผมมอง ผมคิดว่าเรื่องดีไซน์มันอยู่ในทุกลมหายใจของเรา อยู่ที่เราจะหยิบมาใช้ได้แค่ไหน มันเป็นความละเอียดอ่อนของการช่างสังเกตของคน เราจะได้สิ่งยิ่งใหญ่จากเรื่องเล็กๆ ได้เสมอ 

เวลาออกแบบคุณจำเป็นต้องคิดงานที่หนีไปจากผลงานเดิมๆ ของตัวเองไหม 

ไม่ต้องหนี งานมันก็เปลี่ยนด้วยตัวมันเอง เพราะว่าแต่ละงานจะมีความสนใจของเราที่เราโตขึ้นมา ที่ทำให้ทำงานเป็นอย่างนั้น แต่มันจะมีที่แตกต่างกัน เหมือนวันหนึ่งเราบอกว่าอันนี้ยากจังเลย แต่มาวันหนึ่งเราบอกว่าอันนี้ไม่ยากแล้ว เพราะเรารู้เรื่องหมดแล้ว 

อย่างโรงแรมรายา เฮอริเทจ เป็นการดีไซน์ที่ไม่เหมือนดีไซน์นะ จุดเริ่มของดีไซน์คือตอนแรกโจทย์ยังกว้างๆ อยู่ เริ่มตีกรอบชัดๆ ให้ว่าเป็นพื้นถิ่นตอนหลัง แต่พื้นถิ่นผมเป็นคนกรุงเทพฯ ผมไม่รู้จักเชียงใหม่ดีพอ จะให้ทำงานย้อนยุคไปประมาณ 300 ปี ผมจะเอาอะไรไปทำ ผมก็คิดไม่ออก 

ผมเคยดูหนังเรื่องเมืองในหมอกที่สรพงษ์ ชาตรีเล่น (กำกับฯ โดย เพิ่มพล เชยอรุณ ปี 2521) ฉากในหนังคือโรงแรมที่เมืองเหนือ หนังเรื่องนี้เป็นความทรงจำที่เลือนราง เป็น misty recall ของผม จะพื้นถิ่นก็ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นงานปัจจุบันที่อิงอดีตมาใช้มากกว่ารูปแบบ งานนี้ผมลงรายละเอียดทุกอย่าง ไม้ต้องย้อมสีขาว เป็นย้อมแป้ง หรืออย่างโต๊ะ ผมไปเดินในตลาดหางดง ถามคนขายว่าแบบนี้ต้องเรียกว่าสีอะไรถึงจะสั่งคนทำงานให้ได้ คือผมรู้ว่าผมอยากได้อะไร แต่ช่างไม่รู้ว่าผมอยากได้อะไร เราก็ต้องพูดภาษาเดียวกับคนที่เราทำงานด้วย เขาบอกว่าสีนี้เรียกสีเสี้ยนขาว เพราะฉะนั้นทั้งโรงแรมจึงเป็นไม้แบบย้อมแป้ง แต่งานหวายเรียกสีไคลขาว เป็นสิ่งที่เราศึกษาแล้วทำมันขึ้นมา เฟอร์นิเจอร์ในโรงแรมนี้เราดีไซน์เองทุกอย่าง ตรงโต๊ะจิบชาเราอยากได้งานแบบชาวเขาอีก้อ เราก็ต้องคิดว่าต้องทำแบบไหนที่จะมีอัตลักษณ์ของชาวเขาโดยที่เป็นดีไซน์ใหม่ ยกเว้นพวกของเก่าที่ทางโครงการนำมาใส่ผสม

การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในงานออกแบบปัจจุบันนี้เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ไหม เพราะอย่างในงานสถาปนิก ’62 ที่จัดเมื่อต้นปี ก็มีการพูดถึงเรื่องภูมิปัญญา รวมถึง Living Green ด้วย

จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับผมนะ ในสมัยโบราณคำว่าออร์แกนิกเขาไม่ต้องพูดกัน เพราะสมัยก่อนมันเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว มันไม่มีอย่างอื่น มีแต่ออร์แกนิก แต่ทุนนิยมทำให้มันเปลี่ยนไป เหมือนคุณจะกินหอยลาย หอยลายก็มีในกระป๋อง จะเอากี่ล้านตัวก็มีในกระป๋องแล้ว เพราะมันมีอุตสาหกรรมที่รองรับสังคมรูปแบบนี้ ไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่มันมีบางอย่างที่โอเวอร์ไปจนคนไม่รู้ตัว สิ่งนี้คือสิ่งที่น่ากลัวสำหรับผม ผมจะพูดเสมอว่า มีอยู่สองอย่างที่จะแพงในอนาคตคือ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม

เรื่องกรีนหรือเรื่องภูมิปัญญามันต้องมีอยู่แล้วในตัวทุกคนที่ทำงานสถาปนิก การเป็นสถาปนิกมันเป็นนักสร้างและทำลายในเวลาเดียวกัน เพราะคุณอยากได้หินคุณก็ต้องไประเบิดภูเขา อยากใช้ไม้ก็ต้องตัดต้นไม้ ถ้าคุณทำงานออกมาไม่ดีผมว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะฉะนั้นสถาปนิกจะทำงานไม่ดีไม่ได้นะผมว่า 

 การเป็นสถาปนิกมันเป็นนักสร้างและทำลายในเวลาเดียวกัน

ต้องมองถึงความคุ้มค่าในสิ่งที่เราฉกฉวยมา

ใช่ มันจำเป็น นี่คือสิ่งที่ผมมองนะ เราอาจไปเปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่ถ้าเราทำเราก็ทำในสิ่งที่เห็น อย่างเช่นโครงสร้าง ผมลดไม้แบบที่จะทำจากไม้โดยใช้เหล็กเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะมันสามารถเอาไปใช้ต่อในงานอื่นได้ แต่มันลงทุนเยอะกว่า การที่ผมยกบ้านขึ้นสูงป้องกันปลวกเพื่อจะได้ไม่ต้องฉีดยาฆ่าปลวก เพราะบ้านหนึ่งล้านหลัง ฉีดยาบ้านละ 10 ลิตร เท่ากับเรามียาฆ่าปลวก 10 ล้านลิตรที่อยู่ในดิน และยาพวกนี้ก็ต้องลงไปในแหล่งน้ำ แล้วมันก็ย้อนกลับมาหาเราอยู่ดี 

คุณถ่ายทอดวิธีคิดแบบนี้ไปสู่ทีมงานด้วยไหม

ก็พยายามจะสอนเด็กที่จบมาใหม่ เมื่อก่อนเด็กจบใหม่ทำงานกับผมไม่ได้นะ เพราะมันมีช่องว่างมาก แต่ตอนนี้ผมจะสอนเด็กพวกนี้ให้เก่งภายในสองปี สอนเขาแบบที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน สอนให้เขาเป็นดีไซเนอร์ในสายเลือดเลย แล้วมันจะเป็นพอร์ตโฟลิโอที่ดีสำหรับเขาด้วย ผมเห็นเขามีพัฒนาการเยอะมาก เป็นเด็กจบใหม่ที่เขียนแบบเหมือนจบมาแล้ว 10 ปี เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมาก 

คุณบุญเลิศสอนเขาอย่างไร

ด้วยการทำ ครูไม่สอนแบบไหน แล้วคุณต้องรู้อะไรบ้าง ที่นี่ไม่มีประชุม แต่มีเวิร์กช็อปเกือบทุกเช้า ที่นี่ไม่ได้ให้เขามาทำงาน แต่บอกให้เขามาใช้ชีวิตของเขา เวิร์กช็อปก็คือการคุยกันนี่แหละ อย่างขับรถมาผมเห็นว่าทำไมเขาดีไซน์ท่อกันแบบนี้ ทำไมไม่เอา manhole ไว้ข้างใน แล้วถนนก็ไม่ต้องมีรอยต่อให้สะดุด ก็พูดถึงสิ่งรอบตัวทุกอย่าง งานผมเป็นแบบนี้ 

สมัยเรียนคุณทำงานส่งประกวดมาตลอด ทุกวันนี้เวลาทำงานคิดถึงการประกวดด้วยไหม 

ก็ยังมีส่งประกวดอยู่บ้าง และมีที่ชนะรับได้รางวัลมาบ้าง เช่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม กับรางวัลจากเมืองนอกที่ออสเตรเลียกับเยอรมนี และการทำงานอาจไม่ได้เน้นที่การพิตช์งาน เคยมีโครงการหนึ่งเขาจะคัดเลือกสถาปนิกสี่บริษัทมาออกแบบบ้านคนละหลัง แต่พอเราไปคุยอธิบายเรื่องความสุขของผู้อาศัย กับงานออกแบบที่เราทำ เราก็โชคดีได้โอกาสทำงานทั้งสี่แบบนั้นเลยโดยที่ไม่ต้องพิตช์งาน แต่ไม่ว่าจะประกวดงานหรือไม่ก็ตาม งานทุกงานที่เราทำต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่เรามี คือต้องได้ A

อย่าง Rabbit Residence บ้านที่พบเห็นในสื่อมาพอสมควร ก็ได้มาหลายรางวัลใช่ไหมคะ

หลังนี้ได้มาสี่รางวัล มีรางวัลบ้านน่าอยู่ 2019 จากนิตยสารบ้านและสวน, House of the Year จาก Habitus, Iconic Awards 2019 และ German Design Awards 2020 จาก German Design Council ที่ได้ไปเยอรมนีเพราะเขาเห็นจากเว็บไซต์ Arch Daily เขาเขียนอีเมลมาหาแล้วให้เราส่งแบบไป ซึ่งมีอยู่สี่แผ่น

บ้านหลังนี้เราไม่ได้ดีไซน์เป็นบ้าน แต่มันเป็น Landscape Architecture บ้านหลังนี้เป็นโจทย์ที่พิเศษตรงที่เจ้าของบ้านเป็นภูมิสถาปนิกชื่อดังด้วย การออกแบบคือเราจะมีผนังที่อยู่ในสวน แล้วคนก็อาศัยอยู่ท่ามกลางผนังนี้ ผมดึงที่ว่างของกำแพงให้เกิดขึ้น ให้เกิดสนามหญ้าแทรกอยู่ตามมุมต่างๆ ของบ้าน มันดูเรียบง่ายมาก เป็นบ้านที่โปร่ง โถงโล่งสูงสองชั้น แล้วใช้แสงธรรมชาติเยอะมาก สิ่งสำคัญคือเนื้อหาของมัน ไอเดียที่มีประเด็นอะไรสักอย่างซึ่งต่อยอดทางความคิดได้ 

การพรีเซนต์สำคัญที่การสื่อสาร ถ้างานดีผมว่าจะต้องเห็นได้ง่ายๆ เลย ฉะนั้นในกระดาษสี่แผ่นนี้ต้องพูดให้จบภายในครึ่งนาที คอนเซ็ปต์งานเป็นแบบนี้ งานจริงเป็นแบบนี้ จั่วหัวแบบนี้ แล้วอธิบายต่ออีกนิดหนึ่ง การจะได้รางวัลหรือไม่ได้รางวัล คือการพูดว่า งานของเราคืออะไร 

แต่สำหรับเราซึ่งเป็นคนออกแบบบ้านหลังนี้ รางวัลที่เหนือรางวัล และทำให้เราชื่นใจที่สุด คือการที่เจ้าของบ้านบอกว่า เขามีความสุขทุกครั้งกับการอยู่บ้านหลังนี้

ดูเหมือนว่าส่วนใหญ่คุณจะรับแต่งานออกแบบบ้าน แต่ไม่ได้รับงานออกแบบอาคารเลย 

ถ้าโชคดี มีโอกาสเหมาะๆ คงได้ทำครับ 

ถึงตอนนี้แล้วมีความรู้สึกอย่างไรในการได้รับรางวัลแต่ละครั้ง

ก็รู้สึกขอบคุณ แต่ผมเคยคุยกับลูก ลูกผมชื่อจอม ผมบอกเขาว่าจอม งานนี้ได้รางวัลมาแล้ว ว่าไงลูกบอกก็เอาวางไว้” (หัวเราะ) การได้รางวัลก็แสดงว่าเราทำงานได้ถึงมาตรฐานที่คนเขายอมรับกัน ฉะนั้นทุกงานที่เราทำ ต่อให้เป็นงานที่ไม่ได้ส่งประกวด ก็ต้องได้มาตรฐานนั้นในความรู้สึกของเรา

ตอนนี้นอกจากสร้างบ้านในสเกลที่ทำอยู่ บูรณ์ดีไซน์มีโปรเจ็กต์ใหม่ๆ อะไรอีกไหม 

ผมกำลังจะทำบ้านสั่งสร้างออกมา ว่าจะมานานแล้ว และถึงเวลาต้องทำแล้ว จะมีคุณภาพประมาณเดียวกับที่เราทำๆ กันอยู่ ทั้งการแพลนนิ่ง สเปซ ความสูง ความงาม บรรยากาศ การใช้สอย สิ่งที่เราจะทำน่าจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน 

สเกลของบ้านจะเตรียมไว้สำหรับคนมีพื้นที่สองร้อยตารางวา มาหาเราแล้วเดี๋ยวสร้างหกเดือนเสร็จ แบบสามารถขยับขยาย อาจจะมีสักสิบแบบ สิ่งที่เขาจะได้จากบ้านสั่งสร้างคือความอยู่สบาย สวย และสวนก็ต้องดี เพราะสิ่งนี้เป็นรายละเอียดของการใช้ชีวิต ราคาอาจจะไม่ได้ต่ำ เพราะเราว่ากันด้วยเรื่องคุณภาพจริงๆ 

ส่วนงานรับออกแบบบ้านเราก็ยังทำเหมือนเดิม ออกแบบเสร็จแล้วเราก็จะคอยดูแลให้ ทุกวันนี้สิบกว่าปีก็ยังดูแลกันอยู่ ปีหนึ่งเราทำได้สักสองสามหลัง แต่หลังหนึ่งก็ใหญ่หน่อย ประมาณสองพันตารางเมตร 

ต้องมีงบประมาณเท่าไรถ้าจะขอให้คุณบุญเลิศออกแบบบ้านให้สักหลัง

ก็อยู่ที่ว่าคุณใช้ชีวิตแบบไหน (ยิ้ม

 

Fact Box

  • บุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ เรียนจบสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากเรียนจบปริญญาตรี เขาทำงานสถาปนิกอยู่ในเมืองไทยระยะหนึ่ง ก่อนจะไปเรียนต่อด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ The Bartlett School of Architecture, University College London แล้วกลับมาทำงานออกแบบอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะก่อตั้งบริษัท บูรณ์ดีไซน์ จำกัด บริษัทรับออกแบบบ้าน อาคารที่พักอาศัย โรงแรม โดยไม่เพียงแต่ออกแบบตัวอาคารเท่านั้น หากยังรวมถึงงานตกแต่งภายใน ออกแบบสวน เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงงานศิลปะสำหรับใช้ตกแต่ง 
  • ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยกระทั่งทำงาน บุญเลิศคือสถาปนิกมือรางวัลที่ผลงานออกแบบของเขาได้รับการยอมรับจากเวทีต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก อาทิ โรงแรมรายา เฮอริเทจ จังหวัดเชียงใหม่ กับรางวัลเชียงใหม่ดีไซน์อะวอร์ด, Rabbit Residence กับรางวัล House of the Year จาก Habitus, Iconic Awards 2019 และ German Design Awards 2020 จาก German Design Council, รางวัลบ้านน่าอยู่ 2019 จากนิตยสารบ้านและสวน, Aurapin’s Residence กับรางวัลเหรียญทองของสมาคมสถาปนิกสยาม, Prasert’s Residence กับรางวัลเหรียญเงินของสมาคมสถาปนิกสยาม ฯลฯ 
  • นอกจากงานออกแบบต่างๆ บุญเลิศได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งให้เป็นวิทยากรเพื่อให้ความรู้ด้านงานออกแบบกับนักศึกษา ตรวจวิทยานิพนธ์ และเขายังเป็นอาจารย์อบรมปฏิบัติธรรมดูจิต ตามแนวทางของพระอาจารย์ธวัชชัย ธีมมทีโป และพระอาจารย์สุรพจน์ สัทธาธิโก ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ บ้านวังเมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
Tags: , , , ,