ในมุมมองคนส่วนใหญ่ สถาปนิกคือผู้ที่รับออกแบบสร้างบ้าน ดังนั้นบ้านหลังหนึ่งจะสวยน่าอยู่หรือไม่ก็มีจุดเริ่มจากสถาปนิกเป็นเบื้องต้น แต่สำหรับผู้ที่เป็นอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Sustainable design อย่าง ‘ดร.อัจฉราวรรณ จุฑารัตน์’ คำว่าสถาปนิกกินความหมายลึกซึ้งไปถึงการปูพื้นฐานคำว่า ‘บ้าน’ ‘ครอบครัว’ และ ‘เมือง’ ให้เกิดความยั่งยืน และความยั่งยืนที่ว่าได้จุดประกายกลายมาเป็นคอนเทนต์หลักของงาน งานสถาปนิก’62 (Architect’19) ตอน “กรีน อยู่ ดี : Living Green” ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี

ดร.อัจฉราวรรณ จุฑารัตน์ ประธานจัดงานสถาปนิก’62

ทำไมสถาปนิกต้องกรีน? และทำไมความกรีนของบ้านหลังหนึ่งถึงได้สะเทือนไปยังการอยู่ดีมีสุขของผู้อยู่อาศัย บทสนทนาระหว่าง The Momentum กับ ดร.อัจฉราวรรณ ในฐานะประธานจัดงานสถาปนิก’62 มีคำตอบ

ทำไมอาจารย์ถึงสนใจด้านสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่คำว่าโลกร้อนยังไม่บูม

เรื่องใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนี่เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กๆ อยากเห็นคนมีสุขภาพดี มีชีวิตที่ดี ก็เลยให้คุณค่าทางด้านนี้ ตอนเด็กๆ อาจารย์อ่านหนังสือเยอะเรื่องน้ำจะท่วมโลก อ้าวทำไมมันจะท่วมก็ Global Warming นี่ไง อ้าว สิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับเราโดยตรง ซึ่งตอนนั้นภาวะโลกร้อนยังไม่เป็นที่พูดถึง แต่มันได้จุดประกายในใจเล็กๆ ให้อาจารย์อยากจะศึกษาเรื่องนี้ต่อ จนเมื่อจบสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ก็เลยเลือกไปต่อปริญญาโทด้านแสงเพราะอาจารย์เชื่อมาตลอดว่าแสงเปลี่ยนเมืองได้ เมืองจะอยู่ดียั่งยืนได้ก็เพราะการออกแบบแสง และก็เจาะลึกไปอีกในระดับปริญญาเอกที่อเมริกาโดยเลือกเรียนด้าน Sustainable Design โดยตรง ซึ่งความยั่งยืนของงานออกแบบไม่ใช่แค่เรื่องของพลังงานทางเลือก แต่คือการหาเทคโนโลยีด้านการก่อสร้างที่จะมาช่วยให้การออกแบบบ้านหรืออาคารสักหลังให้ใช้พลังงานน้อย ประหยัดพลังงานในอาคาร การสร้างบ้านอย่างไรให้ตัวเราอยู่ดี สุดท้ายงานออกแบบก็จะส่งผลกลับมาที่เราซึ่งเป็นคนอยู่อาศัยอยู่ดี

สถาปนิกกับปัญหามลภาวะเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบบ้านหนึ่งหลัง หรือวางผังเมืองก็ดีสามารถสร้างหรือช่วยลดมลภาวะได้ ดังนั้นสถาปนิกกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรง ยกตัวอย่างเมืองที่มีการวางผังเมืองที่ดี มีระบบการขนส่งเชื่อมโยงชุมชนให้คนในชุมชนสามารถใช้ระบบการขนส่งสาธารณะเชื่อมโยงบ้านกับชุมชนได้ มีการสร้างอาคารที่เชื่อมต่อกันระหว่างตึก สามารถกันแดด กันฝนได้ มีความร่มรื่น แค่จุดเล็กๆ แค่นี้ก็สามารถทำให้ลดการใช้รถยนต์ แท็กซี่ได้ หรืออย่างบ้านที่ออกแบบให้มีความร่มรื่น เปิดหน้าต่างมีลมพัดเย็นสบาย แค่นี้ก็จะไม่เป็นภาระเครื่องปรับอากาศและโรงไฟฟ้า ดังนั้นสถาปนิกกับเรื่องโลกร้อนหรือแม้แต่เรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ก็เกี่ยวเนื่องกัน ยิ่งตอนนี้เมกะโปรเจกต์ในเมืองกรุงเทพฯ เยอะมาก การควบคุมเรื่องการกระจายของเสียงรบกวน กลิ่นรบกวน เสียง และฝุ่น ก็เป็นเรื่องสำคัญที่สถาปนิกควรตระหนัก ต้องมีการกำกับ และดูแลที่ดี  

อะไรคือนิยามของคำว่า ‘บ้านดี’

บ้านที่ดีต้องมีความยั่งยืน ไม่ใช่แค่สวยงามแต่ต้องดูตอนใช้งานด้วย เป็นบ้านที่อยู่แล้วดีทั้งต่อผู้อยู่อาศัยเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น อยู่แล้วรายได้มากขึ้น  รายจ่ายน้อยลง ไม่ใช่ว่าอยู่แล้วเสียค่าซ่อมแซม บำรุงรักษาบ่อย เสียค่าไฟ ค่าเครื่องปรับอากาศเยอะ แต่บ้านที่อยู่ดีจะต้องลดภาระตรงนั้น เรียกว่าอยู่แล้วมี ‘สุขภาวะที่ดี’ ก็ว่าได้ อย่างสมมติถ้าออกแบบบ้านแล้วบ้านร้อน ก็ไม่มีใครอยากอยู่บ้าน เจ้าของบ้านก็ต้องไปเดินห้าง เสียค่ารถ เสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา ไม่มีความเป็น ‘บ้าน’ ตรงกันข้ามถ้าบ้านดีความเป็นครอบครัวก็จะกลับมา บ้านก็จะเป็นสถานที่ของทุกคน เห็นไหมว่าการที่จะทำให้ครอบครัวหนึ่งๆ มีความสุขนั้นสถาปนิกมีส่วนมาก

มีตัวอย่างของ ‘บ้านดี’ ไหมคะ

ตัวอย่างบ้านดีควรมีบอดี้ของน้ำ มีต้นไม้ที่จะลดอุณหภูมิ ดักฝุ่นซึ่งจะทำให้บรรยากาศภายนอกอยู่สบาย เปิดหน้าต่างได้ เราไม่ต้องกลัวฝุ่น แล้วบ้านเองมีความเย็น เวลาออกแบบบ้านก็เหมือนการแต่งตัวให้บ้าน เราอยู่เมืองไทย เราก็ต้องแต่งตัวแบบไทย ไม่ต้องใส่เสื้อหนามาก โปร่งสบาย ลมพัดเย็น กางร่มนิดหนึ่งเราก็อยู่สบาย  ดังนั้นการออกแบบให้มันเข้ากับบรรยากาศเมืองไทย ออกแบบให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมเมืองไทยคือสิ่งที่สำคัญ ให้เราใส่สูทหนาๆ ไปเดินที่ยุโรปก็โอเคนะ เมืองนอกมันหนาว สูทหนาทำให้เราเดินแล้วเราสบาย แต่ถ้าเราใส่เสื้อสูทชนิดเดียวกัน ในกรุงเทพฯ แล้วเดินกลางถนน มันไม่เหมือนกัน อยู่ไม่ได้ จริงๆ บ้านที่ดีที่สุดกับเมืองไทยก็คือบ้านเรือนไทยโบราณนี่แหละ ภูมิปัญญาโบราณเขาคิดไว้แล้วเพื่อให้เรานำมาต่อยอด บ้านเรือนไทยเชื่อมกันด้วยชาน โปร่ง โล่ง สบาย มีลมพัดผ่าน  มีการยกพื้น ยกระดับ มีหลังคา ชายคายาวสำหรับกันฝน กันแดด วัสดุเป็นไม้ ไม่อมความร้อน เหล่านี้มันทำให้ผู้อยู่อาศัยเย็นสบาย และบ้านเรือนไทยก็ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้าง ขยาย รื้อ โดยใช้ไม้เดิมเป็นไม้ในท้องถิ่น ไม่มีตะปูสักดอก รียูสด์ใช้ได้ใหม่ทั้งหลังโดยไม่เหลือเป็นขยะเลย

สำหรับตัวอาจารย์เอง Sustainable Design คือลายเซ็นในงานออกแบบหรือเปล่า

อาจารย์เชื่อมาตลอดว่าความยั่งยืนมันไม่ใช่แค่เรื่องของผู้อยู่อาศัย แต่งานออกแบบสามารถทำให้สังคมนั้นๆ ยั่งยืนได้ ยกตัวอย่างงานออกแบบสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนแห่งหนึ่งที่อาจารย์เคยได้ทำ ตอนไปลงพื้นที่อาจารย์พบปัญหาใหญ่ของที่นี่คือเรื่องไฟฟ้าตก ไฟฟ้ามักจะดับเวลาฝนตก แต่โรงเรียนต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อเรียนหนังสือทางไกล อาจารย์ที่นี่มี 3 คน นักเรียน 150 คน หากไม่มีไฟ เด็กๆ จะไม่ได้เรียน ปัญหาที่พบตามมาคือเรื่องขยะ และอีกสิ่งที่คิดว่ากำลังจะกลายเป็นปัญหาคือการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรม เด็กๆ กับจิตสำนึกเรื่องรากเหง้าเริ่มจะห่างจากกัน โจทย์ของทีมสถาปนิกในตอนนั้นจึงไม่ใช่การสร้างโรงเรียนให้มีห้องเรียนแล้วจบ แต่เราต้องหยิบปัญหาต่างๆ ในสังคมนั้นเข้ามาเป็นโจทย์ของการออกแบบ เช่นเรื่องการกระตุ้นจิตสำนึกเรื่องรากเหง้า เราก็ไปดูว่าความเป็นพื้นถิ่นตรงนั้นคืออะไร อะไรที่จะทำให้เขาเห็นว่าความเป็นพื้นถิ่นของเขามีคุณค่า ในชุมชนนั้นเป็นชาวปกาเกอะญอ เราก็นำลายทอผ้าขึ้นมาดีไซน์เป็น Façade อาคาร หันทิศทางให้แสงปาดเข้ามาเป็นลวดลายสวยงาม แสงเข้าอาคารลดการใช้ไฟฟ้าและใส่โซลาเซลล์ลงไป

ส่วนหลังคา เฟอร์นิเจอร์ เป็นวัสดุรีไซเคิลนำมาจากกล่องนมที่เด็กๆ ทิ้ง เราก็อยากให้เด็กๆ มองว่าขยะก็มีคุณค่า แปลงเป็นอย่างอื่นได้  อ้อ แล้วมีปัญหาเรื่องน้ำอีก เด็กๆ ผื่นขึ้นเวลาอาบน้ำเราก็นำตัวอย่างน้ำไปตรวจพบว่ามีโลหะหนักปน ไม่ว่าจากคลอง จากน้ำบาดาล จากลำธาร หรือประปาภูเขาไม่สะอาด เราก็เลยทำหลังคา แล้วก็มีระบบเก็บกักน้ำฝน แล้วก็ระบบกรองน้ำให้ด้วย เด็กๆ ก็จะได้มีน้ำใช้ที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ เป็นงานดีไซน์ที่ตอบโจทย์ปัญหาสังคม คงเอกลักษณ์ของสังคม และสุดท้ายมันจะกลายเป็นความยั่งยืนของสังคมนั้นๆ  

สำหรับงานสถาปนิก’62 ที่กำลังจะมาถึงตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนอย่างไรบ้าง

การมีสุขภาวะที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนแสวงหา แล้วก็แน่นอนที่สุด วิชาชีพสถาปนิกมีส่วนสำคัญในการผลักดันเพื่อที่จะทำให้คนในสังคมมีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเมือง ออกแบบบ้าน ออกแบบสวน ถ้าออกแบบให้ดี ความเป็นครอบครัวมันกลับมา  ความน่าอยู่มันกลับมา สังคมที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีก็จะกลับมา งานสถาปนิก’62 ก็เลยจะเป็นการมาแชร์กันว่า ทำอย่างไรให้เราอยู่ดี ทั้งผังเมือง ทั้งสถาปนิก ทั้งการออกแบบอาคาร รวมไปถึงวัสดุ และนอกจากนี้ยังมีพวกสมาร์ทเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าใหม่ ครบทั้งดีไซเนอร์ ผู้ใช้ และผู้ผลิต งานนี้จะทำให้เราเห็นเลยว่าจริงๆ แล้วเราก็สามารถออกแบบคุณภาพอากาศให้ดีได้ วิธีดีไซน์การเก็บกักน้ำให้ได้น้ำที่มีคุณภาพ เลยไปถึง Lighting Design ว่าแสงนี้เปลี่ยนเมืองยังไงได้บ้าง พร้อม Zero Waste Exhibition หมอบ้าน และ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Green Building ที่จะมาตอบทุกคำถามเกี่ยวกับบ้าน

เรียกว่าเป็น Green Experience เลยได้ไหม

เป็น Green experience ที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับตั้งแต่ การเดินทางมาที่งานซึ่งจะมีรถไฟฟ้ารับส่งมายังสถานที่จัดงาน ในงานจะมีการลดการใช้พลังงานไม่สร้างภาระให้กับเครื่องปรับอากาศด้วยการเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นนิดหน่อย อยากให้ใส่เสื้อผ้าสบายๆ มาร่วมงานกัน อาหารที่เสิร์ฟก็เป็นอาหารที่ผลิตได้ในท้องถิ่น ไม่ใช้โฟม พลาสติก มีจุดให้เติมน้ำดื่มฟรี เรียกว่าไม่ได้มีแต่เรื่องการออกแบบบ้านอย่างไรให้สวย แต่เราอยากให้คนที่เข้ามางานได้ประสบการณ์ว่าเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยประหยัดพลังงาน ช่วยสร้างสังคมที่ยั่งยืนได้จริงๆ

Fact Box

  • ดร.อัจฉราวรรณ จุฑารัตน์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และประธานจัดงานสถาปนิก’62
  • งานสถาปนิก’62 ภายใต้แนวคิด "กรีน อยู่ดี: Living Green" นำเสนอแนวคิดการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมและงานออกแบบที่ยั่งยืน นวัตกรรมวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผนวกกับเทคโนโลยี เพื่อสร้างโซลูชันที่เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน ผ่านการจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการและกิจกรรมให้ความรู้
  • นับเป็นครั้งแรกของงานสถาปนิกที่จะสร้าง “ประสบการณ์สีเขียว” (Green Experience) ให้กับผู้ชม ด้วยแนวคิดการออกแบบเพื่อความยั่งยืนในทุกรายละเอียด ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบแสงภายที่เหมาะสมเพื่อลดการใช้พลังงาน การลดขั้นตอนการใช้กระดาษในการทำงานระหว่างผู้จัดงานและผู้แสดงงาน ระบบการจัดการกับขยะที่เกิดขึ้นภายในงาน และการนำวัสดุที่เกิดขึ้นจากการจัดงานไปใช้ใหม่หลังจบงาน
  • งานสถาปนิก’62 มีขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 5 พฤกษาคม 2562 ที่อิมแพค เมืองทองธานี
Tags: ,