มีหนังสือเล่มหนึ่งถูกพิมพ์ขึ้นตั้งแต่ปี 2518 ผ่านมา 44 ปีแล้ว แต่ชื่อของมันเข้ากับอารมณ์ความรู้สึกของยุคสมัยนี้ได้อย่างทรงพลังยิ่ง – คำประกาศของความรู้สึกใหม่

ในโลกของถ้อยคำนั้น จะมีบางคำ บางกลุ่มคำ บางประโยค ที่มีลักษณะก้าวไปข้างหน้า ต่างแต่ว่าลักษณะที่ว่านั้น จะเป็นการก้าวไปข้างหน้าเฉพาะในยุคสมัยของมัน เหมือนกลุ่มคำมากมายในยุคก่อน 14 ตุลาฯ 2516 ถึงหลัง 6 ตุลาฯ 2519 ที่รับใช้ยุคสมัยของมันได้อย่างดีและมีพลัง แต่พอพ้นจากนั้นไปก็กลายเป็นคำที่ตกยุค ล้าหลัง และอาจถึงขั้นกลายลักษณะเป็นอนุรักษนิยม

แต่ก็จะมีบางคำ บางกลุ่มคำ ที่มีลักษณะก้าวหน้าและกาลเวลาไม่อาจฆ่ามันได้ 

คำประกาศของความรู้สึกใหม่ คือกลุ่มคำในลักษณะที่ว่า ไม่ว่าคุณจะวางคำกลุ่มนี้หรือชื่อหนังสือเล่มนี้ลงบนช่วงเวลาไหนของประวัติศาสตร์ ช่วงเวลาไหนของเหตุการณ์บ้านเมือง หรืออารมณ์ความรู้สึกของหนุ่มสาวในยุคไหน มันก็จะยังคงลักษณะก้าวไปข้างหน้าเสมอ 

เป็นตัวแทน เป็นเสียงของคนรุ่นใหม่ ที่รู้สึกต่อค่านิยมและจินตภาพอันล้าหลังตกร่องของคนรุ่นเก่าที่พยายามดึงสังคมให้หยุดอยู่กับที่ แช่แข็งไว้ในความเสื่อมทราม แล้วลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง

คำประกาศของความรู้สึกใหม่ ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี หนังสือที่มีความหนา 416 หน้าเล่มนี้ เป็นการรวมบทนำและบทบรรณาธิการจากหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ช่วงระหว่างปี 2513–2517 นอกจากมันจะบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์สังคมไทยในช่วงนั้นได้เป็นอย่างดีแล้ว ข้อเขียนในแต่ละบทยังเข้มข้นด้วยคุณภาพ มุมมองที่กล้าหาญ เฉียบคม เปี่ยมพลังของคนหนุ่ม 

อย่างไรเสีย หนังสือที่อัดแน่นไปด้วยตัวหนังสือเล่มนี้ ในหน้า 79–80 กลับมีลักษณะพิเศษ ผิดแผกออกไปอย่างมีนัยสำคัญ 

กล่าวคือ สองหน้านี้ถูกตีเส้นเป็นกรอบสี่เหลี่ยมในรูปของจดหมาย นอกจากชื่อบทตัวใหญ่หนาเคาะสองบรรทัด 

จดหมายเปิดผนึก 

ถึง หัวหน้าคณะปฏิวัติ 

แล้วก็มีประโยคขึ้นต้นจดหมายที่มุมซ้ายบน เรียน ฯพณฯ หัวหน้าคณะปฏิวัติ, และคำลงท้ายจดหมายในหน้าถัดไปเคาะสองบรรทัดที่มุมล่างขวาสุด ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง สังคมศาสตร์ปริทัศน์ นอกจากนั้นเป็นแต่เส้นบรรทัดเปล่าๆ 

ความพิเศษของหน้า 79–80 นี้ ทำให้ต้องกลับไปอ่านบทแถลงนำ ซึ่งทำหน้าที่อย่างเดียวกับคำนำ มีบางตอนที่พอจะให้คำตอบได้ว่าทำไมสองหน้านี้ถึงมีลักษณะแบบนั้น

สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เริ่มออกฉบับแรกตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2506 ตราบจนข้าพเจ้าเริ่มสานต่องานทางสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2512 จนได้ทำหน้าที่บรรณาธิการรับผิดชอบทั้งหมดตั้งแต่ 2513 ผ่านยุค ทรราชสมัยการยึดอำนาจตัวเอง 17 พฤศจิกายน 2514 เรื่อยมาจนเข้าร่วมขบวนการต่อสู้ของนักศึกษา–ประชาชน เมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นวันมหาปีติที่เราและผู้ร่วมงานทุกคนไม่มีวันลืม…”

ข้อความที่ผมทำตัวหนาเอนไว้นั้น น่าจะเป็นคำตอบได้ เพราะ จดหมายเปิดผนึกถึงหัวหน้าคณะปฏิวัติ นั้น เป็นบทนำสุดท้ายในปี 2514 และพอดีว่าผมมีหนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ในช่วงปีนั้นทุกเล่ม จึงไปเปิดเช็กดู ก็พบว่ามันอยู่ในฉบับ เมืองไทยกำลังเสื่อม? ธันวาคม 2514 

เมืองไทยกำลังเสื่อม? ชื่อเล่มของฉบับนั้นเมื่อ 50 ปีที่แล้ว โคตรตรงกับเมืองไทยตอนนี้เลย!

นั่นหมายความว่า สุชาติ สวัสดิ์ศรี เขียนบทนำนี้ทันทีในเดือนต่อมา หลังจอมพล ถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจตัวเอง ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 (ซึ่งก็คือการต่ออายุนายกรัฐมนตรีให้ตัวเองเพื่อให้เกิดความมั่นคงในสถานะผู้นำสูงสุดของประเทศ ซึ่งถ้าตัดรายละเอียดออกไป ก็ไม่ต่างอะไรกับนายกฯ คนปัจจุบัน) เพื่อประท้วงต่อต้านการสืบอำนาจเผด็จการ 

และถ้าเทียบกับปัจจุบันที่ตอนนี้มีอินเทอร์เน็ต เขาก็คงจะใช้เฟซบุ๊กของเขาประท้วงต่อต้านทันทีทันใด ต่างแต่ว่ายุคนั้นเขามีสื่อหนังสือรายเดือนในมือเท่านั้นเอง

การประท้วงต่อต้านในลักษณะบทนำที่ว่า สะท้อนถึงความมีศิลปะชั้นสูงของคนที่ทำมันขึ้นมา มันเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน การเสียดเย้ย อารมณ์ความสิ้นหวังต่อความไร้สาระของผู้นำ แต่กลับมีพลังการต่อต้านอย่างรุนแรง

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในบทนำ จดหมายเปิดผนึกถึงหัวหน้าคณะปฏิวัติ ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็คือ ในปี 2512 ที่เขาเข้าทำงานหนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์นั้น สุชาติอายุแค่ 24 ปี และปีต่อมา (2513) เขาก็ได้รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการและเลขานุการของหนังสือหัวนี้ และในปลายปีต่อมา (2514) เมื่อเกิดการปฏิวัติตัวเองเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร สุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็เขียนบทนำนี้ลงหนังสือทันทีด้วยวัย 25 ปี

ถือว่าเขาเป็นคนหนุ่มที่กล้าหาญมาก เป็นสื่อที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมสูงมาก 

แน่ล่ะ พอมองตรงจุดนี้ ผมอดไม่ได้ที่จะคิดถึงความกล้าหาญของคนหนุ่มคนสาวในยุคปัจจุบันที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ด้วยความมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้พ้นไปจากอำนาจเก่าไปสู่อำนาจใหม่ของประชาชนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ข้อเขียนบางชิ้นก็เป็นเช่นเดียวกับหนังสือบางเล่ม นอกจากมันจะบอกถึงสติปัญญา ความสามารถทางศิลปะการนำเสนอและรับใช้ยุคสมัยของมัน ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของยุคสมัย เป็นเลขานุการทางประวัติศาสตร์แล้ว มันยังสามารถบอกถึงตัวตนของคนเขียนมันขึ้นมาด้วย 

แต่ในด้านกลับกัน มันก็อาจเป็นหลักฐานชี้ว่า คนเขียนเป็นคนแบบไหนเมื่อกาลเวลาผ่านไป…

สำหรับ คำประกาศของความรู้สึกใหม่ นอกจากมันจะมีลักษณะก้าวหน้าทุกยุคสมัยอย่างที่เกริ่นเอาไว้ตอนต้นของบทความแล้ว มันยังเป็นเลขานุการทางประวัติศาสตร์ด้วย (และเลขาฯ นี้ก็ไม่ใช่อาลักษณ์ของประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม) 

และในส่วนของการเป็นตัวชี้วัดคุณค่าและตัวตนคนเขียน มันยังยืนยันว่า สุชาติ สวัสดิ์ศรี คือของจริง

เวลา 50 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้ว ถ้านับจาก จดหมายเปิดผนึกถึงหัวหน้าคณะปฏิวัติ ว่าจุดยืนและท่าทีของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ไม่เคยเปลี่ยนแปลง 

เขามั่นคงบนจุดยืนเพื่อความก้าวหน้าของประชาชนส่วนใหญ่ ที่ถูกโครงสร้างอันอยุติธรรมกดหัวเอาเปรียบมาตลอด

ดังนั้น การถอดถอนเขาออกจากศิลปินแห่งชาติ จึงสะท้อนถึงความไร้สำนึก ไร้ความรู้ และสติปัญญา ในประวัติศาสตร์การเขียนและหนังสือของผู้กระทำการถอดถอน

Tags: , , ,