ตอนนี้น่าจะหลายคนใช้เวลาอยู่บ้านทำกิจกรรมหลายอย่าง บางคนบุกตะลุยโลกติ๊กต่อก บ้างก็ทำอาหารกินเอง ปลูกต้นไม้ จนถึงช้อปกระจายในกลุ่มฝากร้าน —จากภาวะที่เคยตระหนกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส นานเข้าเราก็ค่อยๆ เรียนรู้ ปรับตัว และตระหนักได้ว่าต้องอยู่แบบนี้กันอีกพักใหญ่

ถึงเราจะตระหนักรู้กันแล้ว แต่เชื่อว่าหลายคนก็ยังคงรู้สึกถึงความกลัวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสภาวะแบบนี้และหลังจากนี้ ดังนั้นนอกจากการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างที่กล่าวไป ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่อาจช่วยให้เราผ่านช่วงเวลาแห่งความวิตกกังวลนี้ไปได้

‘body awareness’ หรือการตระหนักรู้ทางร่างกาย ให้ความสำคัญต่อการรับรู้จากภายใน ปลดปล่อยภาวะความไม่สบายกายไม่สบายใจ ทำให้ได้รู้จักอารมณ์ของตนเอง รู้ว่าความรู้สึกของตัวเองตอนนี้เป็นอย่างไร ช่วยกระตุ้นให้สมองกลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการฝึกสติ (mindfulness) นั่นเอง

วิทุรา อัมระนันทน์ คือนักแสดงอิสระและครูสอนเต้นและการเคลื่อนไหว ที่ได้นำเทคนิก body awareness มาใช้สอนนักแสดงในเวิร์กช็อปของเธอ ที่ให้สำรวจสภาวะภายใน อนุญาตให้ตัวเองรู้สึกถึงความรู้สึกต่างๆ ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี เรียนรู้และยอมรับสิ่งที่ชอบและไม่ชอบในตัวเอง ไปจนถึงสามารถรับฟังสภาวะของคนรอบข้างด้วย และตอนนี้เธอก็กำลังรอศึกษาต่อปริญญาโทที่ University of Roehampton สาขา Dance Movement Psychotherapy ที่ประเทศอังกฤษ

การพูดคุยต่อไปนี้จึงเป็นการผสานศิลปะการแสดงเข้ากับวิธีการทางจิตวิทยา ซึ่งทุกคนสามารถนำมาใช้เยียวยาและดูแลความรู้สึกของตัวเอง พร้อมกับเติมช่องว่างในความสัมพันธ์ ให้เรามองเห็นความรู้สึกผู้อื่นได้อย่างเปิดใจ

เพราะในยามนี้ เราจะรอดคนเดียวไม่ได้อีกแล้ว แต่เราทั้งหมดต้องรอดไปด้วยกัน

(ระหว่างพูดคุยเรายังได้ลองฝึกกิจกรรม mirror movement ที่ถ้าลุกขึ้นมาทำเอง อาจจะดูตลกไปสักหน่อย แต่ทำไปทำมากลับเหมือนได้ย้อนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง หากใครจะลองหยิบไปทำเล่นกับเพื่อนหรือคนที่บ้านก็น่าจะสร้างเสียงหัวเราะได้ดีทีเดียว)

อะไรที่ทำให้คุณสนใจ body awareness 

การตระหนักรู้ (awareness) ก็ถือเป็นการฝึกอยู่กับปัจจุบัน ทำความรู้จักและเข้าใจร่างกายตัวเอง บางทีเราอาจจะพบความรู้สึกหรือภาวะบางอย่างที่ไม่เคยสังเกตมาก่อนในตัวเอง เป็นจุดเริ่มต้นให้ได้ดูแลร่างกายและภาวะจิตใจของเรา โมเช เฟลเดนไครส์ (Moshe Feldenkrais) ผู้สร้าง Feldenkrais Method หรือเทคนิคสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของร่างกายและจิตใจโดยใช้การเคลื่อนไหวเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ กล่าวไว้ว่า “If you know what you are doing, you can do what you want.”

ทีนี้มันเริ่มมาจากตอนวิเรียนคอนเทมโพรารี แดนซ์ ที่ Sarah Lawrence College นิวยอร์ก ครูของวิไม่สอนแค่เทคนิกการเต้น แต่สอนให้มี body-mind connection คือการเชื่อมโยงจิตใจกับร่างกาย สอนวิธีคิดและสังเกตว่าในขณะเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อส่วนนี้เป็นอย่างไร เรารู้สึกอย่างไร รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ การฟังร่างกายและภาวะจิตใจของตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญกับเราทุกคนและนักเต้นนักแสดง

วิธีขั้นต้น ให้เริ่มจากหาพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยและสบายใจ นั่ง นอน หรือยืนก็ได้ หลับตาลง สังเกตว่าแต่ละส่วนของร่างกายรู้สึกยังไงบ้าง สังเกตตั้งแต่ศีรษะไปถึงปลายเท้า เราอาจจะเจอว่า ส่วนนี้เกร็ง ส่วนนี้ผ่อนคลาย ปวด ล้า ข้างในรู้สึกอย่างไร รู้สึกอยากยืด อยากสะบัด รู้สึกไม่อยากอยู่นิ่งๆ หรืออยากนอน

เมื่อสังเกตแล้ว ให้หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ดูว่าร่างกายเราตอบสนองอย่างไร เปลี่ยนความรู้สึกของเราอย่างไร แล้วเราจะเริ่มตระหนักได้ถึงร่างกายตัวเอง

focus และ awareness ต่างกันอย่างไร

เวลาเวิร์กช็อป จะมีสิ่งที่ผู้เรียนจะได้ลองทำอย่างแรกคือ ฝึกฟังร่างกายตัวเอง ฟังความรู้สึกในกล้ามเนื้อ รับรู้ว่าถ้าเคลื่อนไหวแบบนี้ ขา หัว แขนของเราอยู่ตรงไหน รู้ว่าร่างกายทำอะไรอยู่ รู้ว่าร่างกายตรงนั้นรู้สึกอย่างไร เป็นการ focus หรือตั้งสมาธิ จดจ่อกับร่างกายส่วนนั้น

ต่อไปคือ ฝึกสังเกตความแตกต่างระหว่าง focus และ awareness คือ focus เป็นการตั้งสมาธิไปในจุดใดจุดหนึ่ง รู้ว่าตรงนั้นรู้สึกอย่างไร ส่วน awareness เป็น focus จางๆ คือแค่รับรู้ แต่ไม่เกาะสมาธิไปที่จุดเดียว ให้รับรู้สิ่งอื่นๆ รอบตัวไปพร้อมกันด้วย

awareness จะเปิดกว้างกว่า focus ทำให้เราผ่อนคลายมากขึ้น เมื่อเราเปิดการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ ทั้งผิวสัมผัส คนหรือสิ่งของที่เราเห็น และความรู้สึกต่างๆ ในร่างกาย เราจะสามารถนำมาสร้างสรรค์หรือต่อยอดให้เกิดสิ่งใหม่ได้ 

ขั้นตอนคือ ให้นั่งนิ่งๆ ก่อน สเต็ปต่อมา อยากให้ลองเคลื่อนไหวและทดลองเล่นกับ focus และ awareness จริงๆ แค่เดินไปเดินมา หรือนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานก็สามารถทำได้ เช่น อยู่นิ่งๆ แล้วมองแก้วน้ำบนโต๊ะ และก็มี awareness กับสิ่งรอบตัวไปพร้อมกัน รับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว รู้สึกหนาว ร้อน ให้อิสระต่อการรับรู้ทั้งสองอย่างนี้ สังเกตและฟังร่างกายในขณะนั้น 

เราอยู่กับสมาธิและการตระหนักรู้ไปพร้อมกันได้ จริงๆ กระบวนการรับรู้ถึงร่างกายไม่จำเป็นต้องนั่งหลับตา ตอนเดิน วิ่ง หรือนั่งทำงานหน้าคอมพ์ก็ทำได้

เมื่อเรารับรู้ถึงความรู้สึกด้านลบในตัวเอง เราควรจัดการกับมันอย่างไร

บางทีเราเคลื่อนไหวไป แล้วมีความรู้สึกที่ไม่ชอบเข้ามาในตัวเรา เช่น ฉันเหนื่อย ฉันไม่ชอบความรู้สึกเหนื่อย เพราะมันบ่งบอกว่าช่วงนี้ฉันดูแลตัวเองไม่ดี ไม่ฟิตพอ ฉันไม่ไหว อยากพัก บางทีทำไปเรื่อยๆ แล้วอยู่ดีๆ ก็เบื่อ ไม่อยากทำแล้ว เบื่อ ไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ 

ที่ทำได้คือให้เรายอมรับความรู้สึกพวกนี้เข้ามาในตัว ยอมรับว่าเราเหนื่อย อยากพัก อยากทำอะไรสนุกๆ ยอมรับว่าตอนนี้เราทำอะไรไม่ได้ ถ้าเราบอกว่า โอ๊ย ฉันเก่ง ฉันแข็งแรง ฉันจะไม่เบื่อ ฉันอยากสนุก ไม่ยอม ไม่ยอมที่จะรู้สึกถึงความรู้สึกอื่นที่เราไม่ชอบ ไม่อยาก associate กับความรู้สึกตัวเอง แต่ถ้าเราเผชิญหน้ากับความรู้สึกพวกนั้น มันคือจุดเริ่มต้นของการดูแลตัวเองและการจัดการกับความรู้สึก

ในการเต้นหรือการเคลื่อนไหวก็เหมือนกัน การจับความคิดนี้ได้และยอมรับความไม่พอใจต่างๆ เราจะพบความเป็นไปได้ใหม่ ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไร เราจะไม่ตัดสิน และอนุญาต อนุญาต อนุญาต ให้มันออกมา นี่คือการไม่ตัดสินตัวเอง เกิดช่วงเวลาที่จะไม่ใช้ความคิดในการตัดสินตัวเอง มันโอเคนะที่เราจะเป็นแบบนี้ มันโอเคที่เราจะแค่มองเห็นว่าร่างกายเป็นอย่างไร โอเคที่เรารู้สึกแบบนี้ ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น การฝึกที่จะไม่ตัดสินตัวเองช่วยสร้างความเป็นอิสระของร่างกายจิตใจ เอาไปใช้ในชีวิตก็ได้ ใช้ในการแสดงก็ได้

เราสามารถใช้ body awareness ในการเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ นอกจากตัวเราเองได้อย่างไรบ้าง

มันก็คือเรื่องของการสื่อสาร อย่างในเวิร์กช็อปจะมีกิจกรรมอย่าง mirror movement ที่เป็นการฝึกรับรู้ความรู้สึกของกันและกัน รู้สึกเห็นอกเห็นใจกัน วิธีคือ ให้จับคู่ แล้วนั่งหันหน้าเข้าหากัน คนหนึ่งจะเป็นคนนำ ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวแบบไหน ขยับหัว หันหน้า ยกแขน ยักไหล่ อีกคนก็จะทำตาม เหมือนเป็นกระจกที่สะท้อนทุกการกระทำ คนนำจะเห็นการเคลื่อนไหวของตัวเองผ่านอีกคนหนึ่ง ในขณะที่คนทำตามก็ได้มองเห็นคนอีกคนอย่างตั้งใจ

ประสบการณ์ที่ได้จากกิจกรรมนี้จะต่างกันไป บางคนพบว่ารู้สึกอึดอัด บางคนก็ขำไปกับการทำตามของอีกคน จนบางทีก็เล่นกันเหมือนเด็ก บางคนชอบมาก เพราะคู่ก็อปปี้ท่าได้เหมือนมาก ตื่นเต้น และรู้สึกได้รับการซับพอร์ตทางความรู้สึก วิธีการนี้จะทำให้เราเชื่อมต่อความรู้สึกของอีกคนหนึ่ง ได้ใช้โอกาสนี้รับฟังร่างกายและความรู้สึกของคนอื่น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ฝึกที่จะฟังผู้อื่น

คุณมักพูดถึง ‘ความเป็นไปได้ใหม่ๆ’ สิ่งนี้สำคัญอย่างไร

ตอนเด็กๆ ที่บ้านจะชอบอ่านหนังสือกัน เราชอบหนังสือที่ตัวละครหลักเป็นผู้หญิง อยากรู้ประสบการณ์ของผู้หญิงคนอื่นว่ามีชีวิตอย่างไร ชอบอ่านของมาร์กาเร็ต แอ็ตวูด (Margaret Atwood) ช่วงซัมเมอร์อ่านแอ็ตวูดได้ 6 เล่มเลย เล่ม The Handmaid’s Tale หรืออย่างเล่ม The Year of the Flood เป็นที่เป็นงานดิสโทเปียไตรภาค

แอ็ตวูดทำให้เราได้เห็นความทุกข์ ความอ่อนแอ ของร่างกายผู้หญิงที่ตกอยู่ในจารีตของสังคมหลายอย่าง สร้างบรรยากาศและตัวละครที่มีคาแรกเตอร์ ทั้งที่อยู่ในสังคมที่เจริญแล้วและยังไม่เจริญ ทั้งโลกความเป็นจริงและแฟนตาซี ทั้งต้องต่อสู้และมีความเปราะบาง ผสานโลกความเป็นจริงกับโลกจินตนาการไว้ได้ลงตัวมาก

ตัวละครเต็มไปด้วยพฤติกรรมมนุษย์ที่มันจริงมากและมันดิบ ความเป็นไปได้ของพฤติกรรมมนุษย์ที่อยู่นอกกฎสังคมที่เราอยู่ แม้ว่าเป็นแค่ในหนังสือ เป็นโลกดิสโทเปียที่ไม่มีอยู่จริง เรารู้สึกว่านี่แหละคือความจริงแท้ที่มนุษย์เป็น ถ้าไม่มีกฎหรือบรรทัดฐานของสังคมมาห้าม เราก็จะทำอย่างในหนังสือ

ถ้าหยิบไปจับกับการแสดง เราคิดว่า นักแสดงจะได้โอกาสในการสะท้อนตัวเองมาในกระบวนการซ้อมและการแสดง การหา identity อื่นที่ไม่ใช่ตัวเรามาอยู่ในร่างกาย มันมหัศจรรย์มากเมื่อได้เจอว่าเราเป็นอย่างอื่นได้ เป็นคนอื่นได้ และเราไม่คิดว่าตัวตนแบบนี้มีอยู่ ตรงนี้มันต้องเริ่มจาก body awareness ซึ่งในเวิร์กช็อป The Sensitive Mover ที่วิทำร่วมกับนักแสดงเมื่อปีก่อน ไม่ได้เป็นแค่การรับรู้ภาวะร่างกายและจิตใจ เราให้ตั้งคำถาม เปลี่ยนวิธีคิด และสร้างความเป็นไปได้ใหม่ในการเคลื่อนไหวด้วย

หรือตอนที่วิทำงานร่วมกับผู้กำกับ ธนพล วิรุฬหกุล เรื่อง The Retreat ก็เป็นการสำรวจและหาความเป็นไปได้ในการรับรู้ร่างกายในฐานะ ‘นักเต้น’ และในฐานะ ‘มนุษย์’ เราเห็นเลยว่า ตัวเรามีอัตลักษณ์ (Identity) อื่นๆ ได้

พี่ตั๋ม (ผู้กำกับ) จะให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราเป็นใครได้บ้าง ถ้าวิไม่ใช่วิตอนนี้ เราจะเป็นแบบไหนได้อีก มีวันหนึ่งวิได้โจทย์เรื่อง tension กับ speed ต้องอยู่กับเก้าอี้ ให้เก้าอี้เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ และต้องเก็บความเชื่อมโยงกันระหว่างเรากับเก้าอี้เอาไว้ พี่ตั๋มบอกว่า เราต้องเดินทางไปเรื่อยๆ แม้ว่ามันจะยากก็ต้องทำ ห้ามหยุด

ตอนนั้นรู้สึกว่า ฉันทำไม่ได้ ฉันไม่อยากทำแล้ว มันยากเกินไป แต่ก็ต้องทำ ทำไปจนเรารู้สึกว่า ฉันทำได้ ฉันต้องหาทางรอดให้ได้ พอหามันได้ รู้สึกเลยว่าฉันทำได้ ฉันชนะ คือมันเซอร์ไพรส์มากเพราะตอนนั้นไม่รู้จะสู้ยังไงแล้ว ไม่รู้จะเคลื่อนไหวแบบไหนต่ออีก พอทำอะไรที่พ้นไปจากความคาดหวังของตัวเอง เราก็เจอพลังอีกแบบที่ไม่เคยรู้ว่ามันมีอยู่ โจทย์วันนั้นมันไปเปิดและปลดปล่อยบางอย่างในตัวเรา แต่ละวันของการซ้อม พี่ตั๋มจะมาพร้อมกับโจทย์ใหม่ เหมือนเป็นการทำแบบฝึกหัดไปเรื่อยๆ แต่ละคนได้โจทย์เดียวกัน ปฏิกิริยาออกมาต่างกัน แต่ละวันที่ทำ เราจะได้รู้จักความเป็นได้ของมนุษย์ 

คนเราไม่ได้มี identity เดียว เราเชื่อว่า มีส่วนอื่นที่ตัวเองยังไม่รู้จัก สิ่งที่เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราเป็นตอนนี้ และเราคิดว่าสิ่งนี้มหัศจรรย์มากเมื่อเราได้เจอมัน

Tags: ,