วันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับเทคโนโลยี เราจะไปอยู่ในตำแหน่งไหนในอุตสาหกรรมที่เราทำงานอยู่ บางทีคำตอบอาจจะอยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวันนี้ ที่เราอาจไม่มีโอกาสได้มองเห็น
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 Blognone ได้จัดงาน Blognone Tomorrow จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘What’s next in tech world’ ที่แกรนด์ ฮอลล์ ไบเทค บางนา เป็นครั้งแรกที่เว็บไซต์ข่าวแวดวงไอทีอย่าง Blognone เริ่มต้นจัด Tech Conference เป็นของตัวเอง โดยจับมือกับพันธมิตรแนวหน้าในแวดวงอุตสาหกรรมไอที เพื่อเปิดเวทีคุยกันเรื่อง AI, Big Data, Cloud, 5G, IoT, Smart Things, Smart City, Electric Vehicle และ Smart Mobility และออกบูธต่างๆ หน้างาน
หลายคนอาจยังสงสัยว่า AI จะมาแย่งงานหรือสนับสนุนมนุษย์กันแน่ บางแนวคิดบอกว่างานของมนุษย์จะหายไปไม่น้อย ไม่ใช่แค่งานคอปกฟ้าที่เน้นสกิลการทำงานซ้ำๆ เหล่าคนงานคอปกขาวเองก็ชะล่าใจไม่ได้ เพราะความซับซ้อนของคอมพิวเตอร์ในการคิดวิเคราะห์นั้นทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ
แต่อย่าเพิ่งรีบเป็นเทคโนโฟเบีย หากเรา ทั้งในฐานะคนทำงานและเจ้าของธุรกิจ ได้คิดล่วงหน้าว่ามีคำถามอะไรที่เทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไปทำแทนได้แล้วบ้าง ก็อาจช่วยให้เราสะดุ้งตื่นและเริ่มขยับตัว
องค์กรใหญ่ๆ ใช้เทคโนโลยีทำอะไรกันบ้าง
ก่อนเข้าสู่ส่วนเวทีใหญ่ เราจะพบบูธของบริษัทต่างๆ มานำเสนอเทคโนโลยีของตัวเอง
KBTG ใช้ใบหน้าเปิดบัญชี
บูธแรกที่เราเดินเข้าไปคือบูธของ KBTG (KASIKORN Business-Technology Group) ซึ่งนำเสนอเทคโนโลยี eKYC with Biometrics มาให้เราทดสอบกับใบหน้าของตัวเอง
จอด้านซ้าย เป็นจอสำหรับบันทึกข้อมูล เราต้องไปยืนให้กล้องจับใบหน้า แล้วพิมพ์ชื่อตัวเองลงไป จากนั้น เมื่อขยับตัวไปยืนที่จอขวา กล้องจะจับใบหน้าแล้วทักทายด้วยชื่อของเรา ที่ไม่ธรรมดาคือ ข้างๆ จอขวานั้นมีอุปกรณ์ปลอมตัวให้เราลองสวม เช่น วิกผมสีสด หรือหมวกปีกกว้าง หรือลองปิดหน้าหนึ่งข้าง ปรากฏว่าระบบก็ยังจำเราได้ แม้จะประมวลผลนานกว่าเดิมหน่อย สักสองสามอึดใจ
เจ้าหน้าที่บูธบอกว่า ความสามารถนี้อาจจะนำมาใช้กับการเปิดบัญชี โอนเงิน ซื้อขายออนไลน์ หรือธุรกรรมอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งน่าจะเพิ่มความปลอดภัย เพราะใช้เทคโนโลยีจดจำข้อมูลชีวภาพของเราอย่าง ‘ใบหน้า’ ที่หลอกกันไม่ได้ แต่ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ในการใช้จริงก็ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบและกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยอีกชั้นหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โครงการดำเนินการไปได้ 70 เปอร์เซ็นต์ และยังต้องพัฒนาเพื่อแก้ปัญหา เช่นการที่กล้องยังคงจับใบหน้าจากรูปถ่าย หรือระบุตัวตนฝาแฝดเป็นคนคนเดียวกันอยู่
Nissan เร่งและเบรกในคราวเดียว
ส่วนบูธนิสสันเองก็มีของเล่นให้เราเล่น คือระบบทดสอบการขับขี่ด้วย e-Pedal ที่มีอยู่ในนิสสัน ลีฟ ซึ่งเป็นการขับด้วยคันเร่งอย่างเดียวโดยไม่ต้องมีเบรกแยกออกมา เพราะเมื่อกดคันเร่ง รถก็จะวิ่งไปตามปกติ แต่เมื่อเริ่มถอนคันเร่ง รถก็จะค่อยๆ เบรกเอง และหากยกเท้าออกหมด รถจะเบรกด้วยแรง 0.2 g จนกระทั่งหยุดนิ่ง e-Pedal จึงทำให้ผู้รถหยุดนิ่งสนิทได้แม้ขับอยู่บนทางลาดชัน ซึ่งในบูธนี้ก็จะมีหน้าจอ พวงมาลัย และ e-Pedal ให้ลองขับในสภาพถนนและเส้นทางแบบต่างๆ
AIS สนามเด็กเล่นของนักพัฒนา
ส่วนบริษัทเครือข่ายมือถืออย่าง AIS ได้มีการแนะนำแพลตฟอร์ม AIS playground ให้เป็นแหล่งปล่อยของสำหรับนักพัฒนา โดยที่นักพัฒนาสามารถดาวน์โหลดรีซอร์สที่ AIS มีไว้แล้ว (มีทั้งแบบฟรีและเสียเงิน) เช่น API หรือระบบส่งเอสเอ็มเอส เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ แล้วนำกลับมาขายที่นี่ใหม่ จบในที่เดียว
ถามว่าทำไมต้องทำ เพราะเทคโนโลยี IoT หรือเทคโนโลยีที่ติดอยู่กับเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันคิดค้น และ AIS อยากสร้างให้เกิดเป็นระบบนิเวศของการใช้งานจริง ซึ่งในบูธก็มีตัวอย่างให้ลองเล่น คล้ายๆ กับบูธ KBTG คือระบบการทดสอบระบบรู้จำใบหน้า แต่ในกรณีนี้คือการตรวจจับหากมีคนแปลกหน้าเข้ามาในบ้าน ซึ่งเป็นใบหน้าที่ไม่เคยบันทึกอยู่ในฐานข้อมูล แล้วส่งข้อความเตือนมาทางโทรศัพท์ของเรา
นอกจากฟากนักพัฒนาแล้ว อีกอย่างที่สำคัญคือเครือข่าย สิ่งที่คนทั่วไปอาจไม่ค่อยรู้ คือระบบเครือข่ายที่ใช้ติดกับอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อส่งสัญญาณในยุค Internet of Things อย่างระบบตรวจจับในท่อน้ำมัน ท่อรดน้ำการเกษตร ฯลฯ ไม่ใช่เครือข่ายแบบที่ใช้กับมือถือทั่วไป เพราะลักษณะในการใช้งานและค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน
สิ่งนั้นก็คือเครือข่าย NB-IoT ซึ่งใช้ติดกับอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต มีราคาใช้บริการถูกกว่าอุปกรณ์ส่งสัญญาณที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือกว่า 10-12 เท่า ทั้งนี้เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ส่งข้อมูลไม่เยอะมาก และไม่มีความจำเป็นต้องส่งข้อมูลอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ เสาสัญญาณก็สามารถรับข้อมูลเชื่อมต่อกับชิปเล็กๆ เหล่านี้ได้เป็นแสนตัว
ซึ่งทาง AIS ก็ได้แสดง use case ให้เราเห็นถึงสามตัวอย่าง ได้แก่ ระบบตู้บริการรับจ้างซักผ้า ระบบเครื่องชงกาแฟ และระบบรักษาความเย็นในตู้ ทั้งหมดติดตั้งอยู่ในเครือข่าย NB-IoT ที่ AIS เป็นผู้ให้บริการ
‘ความเร็ว’ จาก 5G และ ‘ความรู้’ ที่ AI มี จะเปลี่ยนโลก
ดร.เอก จินดาพล ผู้อำนวยการและผู้เชี่ยวชาญพิเศษฝ่ายกลยุทธ์เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารของ DTAC พูดเรื่อง ‘How to make 5G real in Thailand’ อธิบายความสุดยอดของ 5G รวมถึงเทรนด์โลกที่นำเครือข่ายนี้ไปใช้ รวมถึงความเป็นไปได้ในบ้านเรา
ดร.เอกเริ่มอธิบายจากโทรศัพท์ iPhone ที่เปิดตัวในปี 2007 เพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น ก็มีการตั้งชื่อรุ่นว่า 3G ออกมาเป็น iPhone 3G ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เอาระบบเครือข่ายไปใส่กับชื่อ ‘อุปกรณ์’ (devices) แสดงให้เห็นว่า เครือข่ายช่วยเปิดความสามารถในการสื่อสาร ซึ่งมาพร้อมกับความสามารถของอุปกรณ์ใหม่ ‘การเชื่อมต่อ’ จำนวนมากที่ขับเคลื่อนโลกออนไลน์อยู่ตอนนี้ ก็มาจากอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ตโฟน
ดูเหมือนว่า 5G จะนำโลกใหม่อีกใบมาให้เรา มันทำได้ทุกอย่างที่ 4G ทำได้ แต่ทำได้ดีกว่ามาก ซึ่งไม่ใช่แค่ด้านความเร็วที่จะมีผลต่อการสร้าง ‘ประสบการณ์’ ในโลกออนไลน์ แต่ยังรวมถึงการตอบสนองและจำนวนการเชื่อมต่อที่สามารถทะลุทะลวงเข้าไปในอาคาร
ส่วนเรื่องการสนองตอบ (latency) การที่ระบบเครือข่ายทำให้อุปกรณ์ตอบสนองได้เร็ว จะช่วยเปิดประสบการณ์อื่นๆ เช่น การใช้อุปกรณ์ฝึกรักษาสมดุลลูกบอลไม่ให้กลิ้งตกจากโต๊ะ ซึ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยด้านการเคลื่อนไหว เช่น พาร์กินสัน หากเครือข่ายมีการสนองตอบที่ดี ต่อไปนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกับหมออีกต่อไปแล้ว แต่ยังสามารถฝึกเกมนี้ด้วยกันจากระยะไกลได้
ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจองค์กร ขนาดกลาง ขนาดย่อม และบริหารพันธมิตร จาก Microsoft Thailand และ ดร.ณัฐ เพชระบูรณิน จาก SCB Abacus เข้าร่วมการสนทนากลุ่มเรื่อง ‘How to Build Your Own AI’
ธนพงษ์บอกว่า ภายใน 3 ปี สัดส่วนผลิตภัณฑ์และบริการที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี จะสูงถึง 40% ของจีดีพีประเทศไทย และอันที่จริง ปัญญาประดิษฐ์นั้นมีการศึกษามาตั้งแต่ปี 1960 แต่นี่คงเป็นยุคสมัยแรกๆ ที่มันเข้ามาอยู่ใกล้ตัวเราขนาดนี้
เขาบอกว่า AI จะมาเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานของคนให้มากขึ้น ยกตัวอย่างกรณีศึกษาบริษัทสำรวจสะพาน ซึ่งปกติต้องใช้เวลาสำรวจทุกเสาซึ่งกินเวลานาน แต่เมื่อป้อนรูปภาพ 5,000 ภาพให้ระบบคอมพิวเตอร์เรียนรู้ว่าลักษณะรอยร้าวของสะพานหรือสนิมว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วใช้โดรนบินถ่ายภาพ ก็จะช่วยทุ่นแรงที่มนุษย์ไปต้องไปปีนสำรวจเองทุกจุดอย่างเมื่อก่อน
ส่วนเคสของไมโครซอฟท์ คือการพัฒนาแชทบอตชื่อ ‘น้องฟ้า’ ของการบินไทย และ ‘น้องอารี’ ของกรมสรรพากร ระบบจะค่อยๆ เรียนรู้จากบทสนทนา แรกเริ่มอาจตอบได้แค่คำถามง่ายๆ แต่เมื่อนานไปก็เริ่มแนะนำลูกค้าในประเด็นที่ซับซ้อนได้ เช่นการแนะนำโปรโมชัน
ส่วน ดร. ณัฐ บอกว่า ก่อนจะพุ่งเป้าไปที่การสร้าง AI ควรถามก่อนว่า คำถามที่ต้องการตอบคือเรื่องอะไร นอกจากนั้น เพื่อให้ AI หรือ Machine Learning ทำงานได้มีประสิทธิภาพ ก็ต้องมี ‘ข้อมูล’ ที่ดีในปริมาณที่มากพอเพื่อจะได้ป้อนให้ระบบได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้นการเชื่อมโยงข้อมูลในองค์กรให้ถึงกัน ถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ไม่ใช่เพียงแค่จะเอาตัวระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเพียงอย่างเดียว
ธนพงษ์บอกว่า ปัจจุบัน ไมโครซอฟต์ได้ให้บริการระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับองค์กรต่างๆ ในคลาวด์อยู่แล้ว ซึ่งนั่นทำให้ไม่ต้องเสียเวลานับหนึ่งตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ดี คนจำนวนหนึ่งไม่ชอบใจกับการนำ AI มาใช้ในแง่มุมต่างๆ หรือไม่สบายใจที่จะทำงานร่วมกับ AI ทำให้บริษัทอย่างไมโครซอฟท์เอาจริงเอาจังกับการตั้งคำถามเชิงจริยธรรมเหล่านี้
“คำถามทุกวันนี้ไม่ใช่ว่า AI ทำอะไรได้บ้าง เพราะแทบจะมีอะไรที่มันทำไม่ได้อีกแล้ว แต่ ‘ควร’ ให้มันทำ หรือไม่ทำอะไรบ้าง”
งาน Blognone Tomorrow เป็นอีกหนึ่งงานที่น่าจับตามองในปีต่อไป เพราะธีมของงาน ไม่ใช่แค่การนำแนวหน้าในองค์กรต่างๆ มาแสดงวิสัยทัศน์ทางธุรกิจ แต่คือการชักชวนหักหอกด้านเทคโนโลยีขององค์กรนั้นๆ มาปล่อยของกัน ทำให้เราได้ลงรายละเอียดของเทคโนโลยีนั้น มากกว่าแค่การกางตัวเลขรายได้ หรือจำนวนลูกค้าที่คาดว่าจะได้มา
อย่างน้อย คนธรรมดาๆ อย่างเราก็จะได้รู้ว่า มีเทคโนโลยีอะไรกำลังทำงานแทนที่เราบ้าง และเราเอง จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ในธุรกิจของตัวเองอย่างไร
Tags: NB-IoT, AI, เทคโนโลยี, AIS, IoT, Nissan, biometric data, blognone, DTAC, KBTG