หากจะมีสักสิ่งหนึ่งที่มนุษย์พยายามศึกษาทำความเข้าใจเพื่อต่อกรมาตลอดตั้งแต่ไหนแต่ไร สิ่งนั้นคงหนีไม่พ้นโรคภัยไข้เจ็บ

ปัจจุบันนี้ วิทยาการของเราได้ก้าวไกลไปมากจนทำให้เราเข้าใจการทำงานของอวัยวะต่างๆ ลงไปถึงระดับเซลล์ อีกทั้งยังมองเห็นแบคทีเรียและไวรัส และอธิบายได้ว่าสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วเหล่านี้เป็นตัวการของโรคหลายๆ อย่างที่สร้างความทรมานให้มวลมนุษย์มาแต่โบราณ

แต่ที่น่าสนใจคือ ในสมัยที่คนยังไม่รู้จักร่างกายมนุษย์ดีนักและยังมองไม่เห็นแบคทีเรียและไวรัส เขาคิดว่าโรคต่างๆ มาจากไหน

สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่าชื่อโรคต่างๆ เผยให้เราเห็นความเชื่อและความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ ของคนในอดีตอย่างไรบ้าง

Malaria – มาลาเรีย

โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีไข้ อาเจียน ปวดศีรษะ บางรายที่เป็นหนักอาจมีอาการและเสียชีวิตได้

ปัจจุบันนี้เราทราบแล้วว่าโรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากปรสิตในกลุ่มพลาสโมเดียมและมียุงเป็นพาหะ แต่สมัยก่อนความรู้เรื่องโรคภัยยังมีอย่างจำกัดจำเขี่ย คนจึงเข้าใจไปว่าโรคนี้เกิดจากอากาศเป็นพิษตามหนองบึง จึงเรียกโรคนี้ว่า mala aria เป็นภาษาอิตาเลียนแปลว่า อากาศเลวทราม ประกอบจาก mala แปลว่า เลว อย่างในคำว่า malpractice (การประพฤติมิชอบ) และ aria ที่เป็นที่มาของคำว่า air (อากาศ) ในภาษาอังกฤษ (ซึ่งก็ต้องถือว่าคนสมัยก่อนยังเข้าใจถูกอยู่บ้าง เพราะหนองบึงก็เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งเป็นพาหะของโรคนี้)

โรคมาลาเรียยังมีชื่อโบราณอีกชื่อคือ ague มาจากคำว่า acuta ที่แปลว่า แหลมคม หรือ รุนแรง (เป็นที่มาของคำว่า acute ในภาษาอังกฤษปัจจุบันด้วย) ในคำว่า febris acuta (febris แปลว่า ไข้ และเป็นที่มาของคำว่า fever ที่แปลว่า ไข้ และคำว่า febrile ที่แปลว่า มีไข้ ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งหมายถึง อาการไข้รุนแรงเมื่อเป็นโรคมาลาเรียนั่นเอง

Cancer – มะเร็ง

โรคมะเร็งเกิดขึ้นเมื่อเซลล์เติบโตผิดปกติและลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ในร่างกาย นับเป็นหนึ่งในโรคที่สร้างความประหวั่นพรั่งพรึงให้กับหลายคนเพราะเป็นโรคที่มักมาแบบไม่ทันให้ตั้งตัว แถมมะเร็งบางประเภทยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงอีกด้วย

โรคนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่า cancer แต่ด้วยความที่ชื่อโรคนี้เป็นคำที่ไม่ค่อยมีใครอยากได้ยิน บางคนจึงเรียกเลี่ยงว่า the Big C ด้วย (เห็นป้ายห้างสีเขียวแดงมาเชียว)

ทั้งนี้ ใครที่พอจะสนใจโหราศาสตร์อยู่บ้างก็อาจเห็นว่า ชื่อของโรคนี้ซ้ำกับจักรราศีหนึ่ง นั่นคือ ราศีกรกฎ ซึ่งในภาษาอังกฤษก็เรียก cancer เช่นเดียวกัน นั่นก็เพราะคำว่า cancer นี้มาจากคำว่า karkinos ในภาษากรีกโบราณ แปลว่า ปู

ส่วนที่ปูกับมะเร็งมาโยงกันได้นั้น ว่ากันว่าเป็นเพราะบิดาแห่งการแพทย์ชาวกรีกโบราณ ฮิปโปเครตีส เห็นเส้นเลือดแตกแขนงออกมาจากก้อนเนื้อร้ายคล้ายขาปู จึงเรียกก้อนเนื้อมะเร็งว่า cancer

cancer นี้มาจากคำว่า karkinos ในภาษากรีกโบราณ แปลว่า ปู

Cholera – อหิวาตกโรค

อหิวาตกโรคเป็นโรคระบาดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เรียกน่ารักๆ ได้อีกอย่างว่า โรคห่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ก็จะต้องวิ่งเข้าห้องน้ำกันจ้าละหวั่นเพราะจะมีอาการท้องเสียและอาเจียน บางรายเป็นรุนแรงถึงขนาดเสียชีวิตเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ในสมัยที่คนยังไม่รู้ว่าในโลกมีสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่เรียกว่าแบคทีเรีย แพทย์และนักปรัชญาต่างสรรหาทฤษฎีต่างๆ มากมายมาอธิบายโรคภัยไข้เจ็บและความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์

หนึ่งในทฤษฎีที่เชื่อถือกันอย่างแพร่หลายในสมัยกรีกโบราณและก่อให้เกิดธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างมาจนถึงศตวรรษที่ 19 ก็คือทฤษฎี humorism ซึ่งเชื่อว่าร่างกายประกอบด้วยของเหลวสี่ชนิดหลักๆ ได้แก่ เลือด เสมหะ น้ำดี และน้ำดีดำ หากของเหลวเหล่านี้ไม่สมดุลแล้วก็จะส่งผลต่ออุปนิสัยใจคอและสุขภาพ

คนที่เลือดในร่างกายมากเกินไปก็จะทำให้ร่าเริงกระปรี้กระเปร่ากว่าปกติ (ลักษณะนี้เรียกว่า sanguine มาจากคำว่า sanguis ที่แปลว่า เลือด) หากใครมีเลือดมากจนทำให้ของเหลวอื่นไม่สมดุล ก็จะต้องเจาะเลือดเพื่อลดปริมาณเลือดในร่างกาย (แต่ก่อนช่างตัดผมนอกจากตัดผมแล้ว ยังทำหน้าที่เจาะเลือดออกให้ลูกค้าด้วย เป็นสาเหตุที่แท่งเสาหน้าร้านตัดผมเป็นสีขาวสลับแดง ซึ่งเป็นสีของเลือด)

ส่วนใครที่มีเสมหะ (phlegm) เยอะก็จะเป็นคนเนิบๆ ชิลล์ๆ เป็นที่มาของคำว่า phlegmatic ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ใจเย็น ชิลล์จัด ไม่ค่อยเป็นเดือดเป็นร้อนกับชาวโลก

ทฤษฎี humorism เชื่อว่าร่างกายประกอบด้วยของเหลวสี่ชนิดหลักๆ ได้แก่ เลือด เสมหะ น้ำดี และน้ำดีดำ

ส่วนคนที่ชีวิตเศร้าหมอง อึมครึม ดูอมทุกข์ ก็ว่ากันว่าเป็นเพราะมีน้ำดีดำเยอะ ในภาษากรีกโบราณเรียกว่า melancholia มาจาก melas แปลว่า ดำ (เช่นในคำว่า melanin คือเม็ดสีในผิวหนัง) รวมกับ chole ที่แปลว่า น้ำดี ภาษาอังกฤษยืมมาใช้เป็นคำว่า melancholy หมายถึง ความทุกข์เศร้า

แต่หากถ้ามีน้ำดีมาก ก็จะทำให้อารมณ์ร้อน ขี้โมโห ในภาษากรีกเรียกน้ำดีชนิดนี้ว่า chole เฉยๆ และเป็นที่มาของคำว่า choleric ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ขี้โมโห ของขึ้นง่าย และคำว่า cholesterol ด้วย (เพราะพบคอเลสเตอรอลครั้งแรกในนิ่วในถุงน้ำดี)

ถ้าหากร่างกายไม่สมดุล มีน้ำดีเยอะเกินไป คนแต่ก่อนเชื่อว่าร่างกายก็จะพยายามกำจัดน้ำดีส่วนเกินนี้ด้วยการอาเจียนและถ่ายท้องออกมา ดังนั้น เมื่อก่อนจึงใช้คำว่า cholera ที่มาจาก chole ที่แปลว่า น้ำดี ในการเรียกโรคต่างๆ ที่คนป่วยมีอาการอาเจียนและท้องเสีย ต่อมาภายหลังความหมายแคบลงเหลือเพียงโรคอหิวาตกโรคอย่างในปัจจุบัน

ไข้หวัดใหญ่ – Flu

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากไวรัส หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีเพราะมักระบาดเป็นช่วงๆ ให้เราได้ตื่นเต้นกันเล่น ใครแต้มบุญต่ำติดเชื้อขึ้นมาก็จะมีไข้ คัดจมูก ปวดเนื้อปวดตัว รู้สึกเพลีย

ไข้หวัดใหญ่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า flu หรือถ้าจะเรียกให้เต็มยศก็คือ influenza หลายคนพอเห็นชื่อเสียงเรียงนามของโรคนี้แล้วก็อาจคิดถึงว่า influence นั่นก็เพราะทั้งสองคำนี้เป็นแฝดกันนั่นเอง ทั้ง influence และ influenza มาจากคำภาษาละติน influential มาจาก in- ที่แปลว่า ใน และ fluere หมายถึง ไหล

ด้วยความที่คนสมัยก่อนมีความรู้วิทยาศาสตร์จำกัด จึงอธิบายปรากฏการณ์หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากการเคลื่อนที่และตำแหน่งของดวงดาว (เห็นได้จากคำว่า disaster ที่แปลว่า หายนะ มาจาก dis- ที่เป็นส่วนเติมหน้าความหมายเชิงลบ มารวมกับ aster ที่แปลว่า ดาว แปลว่า ดาวอัปมงคล)

ชื่อเต็มยศของไข้หวัดใหญ่ คือ influenza กับคำว่า influence นั้นคล้ายกันเพราะคำทั้งสองเป็นแฝดกัน

คนสมัยนั้นยังเชื่อด้วยว่าดวงดาวที่อยู่เหนือหัวปล่อยของเหลวที่เรามองไม่เห็นลงมาและของเหลวนี้ส่งอิทธิพลต่อชีวิตของเรา ถ้าดาวอยู่ในตำแหน่งมงคล ของเหลวนี้ก็จะนำพาชีวิตไปในทางที่ดี แต่ถ้าดาวดันอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ดี ของเหลวนี้ก็จะทำให้ชีวิตเราฉิบหายได้ ด้วยความเชื่อว่าของเหลวนี้ส่งผลต่อชีวิตเราได้ จึงทำให้เกิดคำว่า influence ที่มีความหมายว่า อิทธิพล นั่นเอง

เมื่อดาวอยู่ในตำแหน่งอัปมงคล เชื่อกันว่าของเหลวนี้ยังทำให้เกิดโรคระบาดได้ด้วย คำว่า influenza (ซึ่งคือคำว่า influence ในภาษาอิตาเลียน) จึงถูกนำมาใช้เรียกโรคระบาดต่างๆ ก่อนจะนำมาใช้หมายถึง ไข้หวัดใหญ่ อย่างในทุกวันนี้

ฮิสทีเรีย – Hysteria

ฮิสทีเรียเป็นชื่อที่เคยใช้เรียกอาการทางจิตในผู้ป่วยที่มีอารมณ์รุนแรง ควบคุมตัวเองไม่ได้ อยู่ๆ ร้องไห้เป็นบ้าเป็นหลังหรือระเบิดหัวเราะออกมา

คำว่า hysteria มาจากคำว่า hystera ในภาษากรีก แปลว่า มดลูก ที่อวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิงกลายมาเป็นชื่อโรคก็เพราะคนแต่ก่อนเชื่อว่าโรคนี้เป็นเฉพาะในผู้หญิงและเกิดมาจากมดลูกทำงานผิดปกติ ทั้งเพราะมดลูกเคลื่อนบ้างหรือมีของเหลวคั่งอยู่ข้างใน

ในปัจจุบันฮิสทีเรียไม่ได้ใช้เป็นชื่อโรคอย่างเป็นทางการแล้ว และมักใช้ในความหมายในทำนอง อุปทานหมู่ หรือ mass hysteria

นอกจากนั้น ชื่อโรคนี้ยังเป็นที่มาของคำว่า hysterical ซึ่งหมายถึง มีอาการควบคุมตัวเองไม่ได้ เช่น She burst into hysterical laughter. คือ อยู่ๆ ก็ระเบิดหัวเราะแบบควบคุมตัวเองไม่ได้ออกมา นอกจากนั้น ยังนำมาใช้ในความหมายว่า ตลกมาก ฮาแตก เช่น You didn’t like the movie? I thought it was hysterical. ก็จะหมายถึงว่า เธอไม่ชอบหนังเรื่องนี้หรอ ตลกจะตาย

 

 

บรรณานุกรม

  • http://www.etymonline.com/
  • Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
  • Dobson, Mary. Murderous Contagion: A Human History of Disease. Quercus: London, 2015.
  • Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Parker, Steve. Kill or Cure: An Illustrated History of Medicine. DK: New York, 2013.
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
Tags: , , , ,