ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เจอแต่คนทำวิดีโอ TikTok มีทั้งเต้นทั้งลิปซิงค์ และแน่นอนว่าคอนเทนต์ที่คนหยิบมาทำวิดีโอกันมากที่สุดจนเรียกได้ว่าเป็นมีมไปแล้วก็น่าจะหนีไม่พ้นตำนานส้มหยุดที่คุณสิตางศุ์ บัวทองเคยเล่าไว้ (แค่พิมพ์คำว่า ส้มหยุด ตอนนี้ยังได้ยินเสียงเลย)

ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปเจาะลึกที่มาของคำว่า orange ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหากคนสมัยก่อนไม่ได้เข้าใจผิด ทุกวันนี้อาจเขียนว่า norange ก็เป็นได้ รวมถึงคำอื่นที่มีจุดกำเนิดคล้ายๆ กัน

ส้มหยุด

นักวิชาการเชื่อกันว่าส้มน่าจะมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดียตอนเหนือและจีนตอนใต้ จึงไม่แปลกที่ต้นกำเนิดของคำว่า orange ในภาษาอังกฤษจะสาวกลับไปได้ถึงคำว่า naranga (नारङ्ग) ในภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกต้นส้ม ในเวลาต่อมา คำว่า naranga นี้จึงเริ่มถูกยืมไปใช้ในภาษาเปอร์เซียและอารบิกจนท้ายที่สุดไปโผล่ในภาษาสเปนเป็นคำว่า naranja (ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังใช้คำนี้เรียกทั้งผลส้มและสีส้ม) และโผล่ในภาษาอิตาเลียนเป็นคำว่า narancia

แต่ว่าอยู่ๆ ตัว n ที่ขึ้นต้นคำก็เริ่มค่อยๆ หายไป ในภาษาอิตาเลียน จากที่เคยพบแต่ narancia ก็เริ่มพบ arancia มากขึ้น จนเบียด narancia ตกกระป๋องและขึ้นแท่นมาเป็นคำที่คนอิตาเลียนปัจจุบันใช้เรียกส้ม ส่วนภาษาฝรั่งเศสที่รับคำนี้เข้าไปใช้ก็เรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า orenge หรือ orange แทนที่จะเรียกว่า norenge หรือ norange

ว่ากันว่าที่ ตัว n นี้อันตรธานหายไปก็เพราะคนสับสนเสียงตัว n ต้นคำกับเสียงตัว n ใน article ไม่เจาะจงที่นำหน้าคำ เช่น une ในภาษาฝรั่งเศส เมื่อวางหน้าคำว่า norange เป็น une norange เสียงตัว n ที่มาชนกันก็จะฟังดูกลืนๆ กัน พอเวลาผ่านไป คนจึงเข้าใจไปว่า เสียง n ที่ได้ยินน่าจะมาจาก article และตัวคำต้นเองน่าจะไม่มีเสียง n ขึ้นต้น ทำให้ตัว n ต้นคำว่า norange หายไป เหลือเป็น (une) orange 

ทั้งนี้ กระบวนการแยกคำผิดที่ว่านี้ (ซึ่งเรียกได้หลายอย่าง เช่น misdivision, false splitting, rebracketing) ได้เกิดขึ้นไปก่อนที่ภาษาอังกฤษจะรับเข้านี้เข้ามา ดังนั้น ตัว n ต้นคำจึงได้หายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วตอนที่คำนี้เข้ามาในภาษาอังกฤษ

ที่น่าสนใจคือ ในช่วงศตวรรษที่ 19 ชาวสก็อตบางกลุ่มเรียกส้มว่า a nirrange แทนที่จะเรียกว่า an orange เพราะดันไปดึงเสียง n จาก an ไปแปะที่หน้าคำว่า orange ด้วย ซึ่งก็ถือเป็น misdivision เช่นกัน

คำอื่นก็โดนหั่นผิด?

ทั้งนี้ ไม่ได้มีคำว่า orange คำเดียวที่เป็นผลผลิตของกระบวนการหั่นผิดหั่นถูกนี้ ยังมีอีกหลายคำในภาษาอังกฤษที่มีหน้าตาเช่นในปัจจุบันเพราะคนสมัยก่อนหั่นผิดไว้

Adder

คำนี้ไม่ได้มาจาก add ที่แปลว่า บวก แต่อย่างใด แต่มาจาก næddre ในภาษาอังกฤษเก่า แปลว่า งูพิษ (แต่ก่อนเป็นคำที่นิยมใช้เรียกงูในสวนอีเดนที่หลอกให้อีฟกินผลไม้จากต้นไม้แห่งความรู้ด้วย) เมื่อจำเนียรกาลผ่านไป คนก็เริ่มแบ่ง a naddre ผิดเป็น an addre และกลายมาเป็น adder ในที่สุด  

Apron

ภาษาอังกฤษยืมคำว่า naperon จากภาษาฝรั่งเศสเข้ามาใช้ในความหมาย ผ้ากันเปื้อน และสะกดเป็น napron แต่พอใช้กับเติม a เข้าไปเป็น a napron คนก็เริ่มสับสนและหั่นผิดเป็น an apron จึงเป็นกลายมาเป็น apron อย่างในปัจจุบัน

Nickname

ที่มาของคำนี้จริงๆ คือ eke name ซึ่ง eke ในที่นี้แปลว่า สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา (เป็นญาติกับ eke ที่เป็นกริยา แบบที่เจอในสำนวน eke out ได้ความหมายรวมว่า ชื่อเสริม แต่ด้วยความที่ขึ้นต้นด้วยเสียงสระ จึงปรากฏกับ an หน้าคำบ่อยๆ เป็น an eke name เมื่อคนพูดไปพูดมา จึงเข้าใจว่าเป็น a neke name และกร่อนกลายเป็น nickname ในที่สุด

Umpire

คำนี้แต่เดิมในภาษาอังกฤษสะกดว่า noumpere รับมาจากคำว่า nonper ในภาษาฝรั่งเศส มาจาก non- ที่แปลว่า ไม่ รวมกับ per ที่แปลว่า เท่ากัน รวมได้ความหมายว่า ไม่มีอะไรเทียบเทียม อยู่เหนือกว่าผู้อื่น ส่วนที่นำไปใช้หมายถึง ผู้ตัดสินหรือกรรมการ ก็เพราะถือเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุด (คำนี้เป็นญาติกับว่า nonpareil ที่แปลว่า ไร้ผู้เทียบเทียม ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน) 

แน่นอนว่าก็มีผู้ที่ได้ยิน a noumpere แล้วเข้าใจผิดว่าเป็น an oumpere จนท้ายที่สุด oumpere ก็ติดลมและสะกดเพี้ยนกันมาเรื่อยๆ จนมาเป็น umpire นั่นเอง

Aught

ปกติแล้วคำนี้แปลว่า ศูนย์ (ที่เป็นตัวเลข ไม่ใช่สถานที่) ปัจจุบันจะพบส่วนใหญ่ในคำว่า the aughts ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกช่วงปีค.ศ. 2000-2009 (บ้างก็เรียกว่า the noughties)

คำนี้ว่ากันว่าเดิมทีคือ a naught (naught แปลว่า ศูนย์) แล้วแบ่งผิดเป็น an aught นั่นเอง ทำให้ aught ในที่นี้มีความหมายว่า ศูนย์

แต่เรื่องราวมันซับซ้อนกว่านั้นครับคุณผู้ชม เพราะว่า คำว่า naught เองนี้ว่ากันว่ามีที่มาจาก na ที่เป็นรูปหนึ่งของ no แปลว่า ไม่ รวมกับ wiht ในภาษาอังกฤษเก่าที่แปลว่า สิ่งมีชีวิต รวมได้ความหมายว่า ไม่มีอะไร (wiht นี้เป็นที่มาของคำว่า wight ที่ใช้เรียกภูตผีที่มีพลังเหนือธรรมชาติ แบบ wight ในเรื่อง Game of Thrones ด้วย)

ทั้งนี้ หากเห็นคำว่า naught แล้วอาจจะรู้สึกว่าหน้าตาคล้ายคำว่า naughty จังเลยก็ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะว่า naughty แท้จริงแล้วก็มาจาก naught แต่เดิมหมายถึง ผู้ยากไร้ คนไม่มีอันจะกิน เนื่องจากคนจนทำอะไรก็ผิดไปหมด คำว่า naughty เลยเริ่มมีความหมายว่า ชั่วร้าย ไร้ศีลธรรม ก่อนที่ความหมายจะพัฒนาต่อไปอีก มีทั้งออกไปในแนวสำส่อนหรือมักมากในกาม (กลายมาเป็นคำว่า naughty ที่หมายถึง ทะลึ่ง) และมีทั้งที่ความหมายเบาลง ออกแนวมีความประพฤติไม่ดี ไม่เชื่อฟังคำสั่ง ซุกซน (แบบเด็กที่ซานต้าจะไม่ให้ของขวัญ)

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/ 

http://oed.com/ 

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Bauer, Laurie, et al. The Oxford Reference Guide to English Morphology. OUP: Oxford, 2015.

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Denning, Keith, Brett Kessier, William R. Leben. English Vocabulary Elements. OUP: Oxford, 2007.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

Stockwell, Robert, and Donka Minkova. English Words: History and Structure. Cambridge University Press: Cambridge, 2001.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

 

Fact Box

นอกจากคำที่เขียนไปด้านบน อีกคำหนึ่งที่ผ่านกระบวนการแบบเดียวกันก็คือ alone ซึ่งเคยเขียนไว้แล้วที่นี่ 

Tags: ,