ศิลปินเพลงหญิง บียอร์ก (Björk เกิด 1965) จากประเทศไอซ์แลนด์น่าจะถือได้ว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดคนหนึ่งของวงการเพลงป๊อปในยุคปัจจุบัน ผลงานของเธอฟังยากขึ้นทุกทีๆ ศิลปะการออกแบบทั้งภาพปกและภาพประกอบในอัลบัม การสร้างมิวสิกวิดีโอ การแต่งกายของเธอเอง ตลอดจนแสง-สี-เสียง-ฉาก บนเวทีแสดงสดของเธอ บรรเจิดล้นจินตนาการเกินกว่าศิลปินเพลงคนใดในวงการ
ความล้ำยุคล้ำสมัยของเธออาจจะทำให้ผู้ชมผู้ฟังต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษในการเสพงานศิลป์ในลักษณะเช่นนี้ แต่นั่นคือเสน่ห์และน่าจะเป็นสิ่งยืนยันว่าผลงานชิ้นใหม่อันเป็นอัลบัมชุดที่ 10 ของเธอที่จะออกขายภายในปี 2017 นี้ จะคงความเป็นงานศิลปะที่น่าชื่นชมและน่าติดตามด้วยเช่นกัน
แต่ถ้าย้อนกลับไปยังผลงานอัลบัมชุดที่ 8 ที่ชื่อ Biophilia (ที่ผมขอแปลเป็นไทยว่า ‘ชีวาอภิรมย์’) ที่ออกขายในปี 2011 นั้น มิได้เป็นเพียงแบบแผนการออกผลงานเพลงหรือซีดี (และดาวน์โหลด) ถ่ายทำเป็นมิวสิกวิดีโอและออกทัวร์ระดับโลกนาน 1-2 ปี (ซึ่งนี่คือรายได้หลักสำหรับธุรกิจเพลงในปัจจุบัน) แต่อัลบัมชุดนี้ของบียอร์กได้ยกระดับขึ้นมาเป็น Biophilia Project ซึ่งคอนเซ็ปต์ของอัลบัมเองเป็นเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิต โลก และจักรวาลที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน แต่ไบโอฟิเลีย โปรเจกต์ยังถูกสานต่อให้เป็นสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบแอปพลิเคชันสำหรับใช้งานบนแท็บเล็ตและโทรศัพท์มือถืออีกด้วย
เราสามารถโหลดแอปฯ Biophilia ขนาด 550 MB ได้ฟรีบนทุกฟอร์แมต (ซึ่งนั่นใช้พื้นที่ค่อนข้างเยอะทีเดียว เพราะมีไฟล์เสียงต่างๆอยู่เป็นจำนวนมาก) บทเพลงในอัลบัมไบโอฟิเลียจำนวน 10 เพลง ที่นำมาพัฒนาขึ้นเป็นแอปฯ คือ ‘Cosmogony’, ‘Thunderbolt’, ‘Sacrifice’, ‘Virus’, ‘Mutual Core’, ‘Moon’, ‘Hollow’, ‘Solstice’, ‘Dark Matter’ และ ‘Crystalline’ สิ่งที่คล้ายกันทั้ง 10 เพลง คือในแต่ละเพลงจะมีเมนูเป็นของตนเอง
ที่เมนูหลัก บียอร์กจะอธิบายแนวความคิดของเพลงนั้นๆ ให้เราพอเข้าใจง่ายขึ้น จากนั้นเราสามารถเลือกเข้าไปฟังเพลงด้วยเมนูชื่อ animation ซึ่งจะพาเราเข้าไปพบแถบสีต่างๆ เป็นบล็อกสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่แทนเสียงเครื่องดนตรีในแต่ละเสียง เครื่องหมายวงกลมวิ่งขึ้นๆ ลงๆ แทนแนวร้อง และจะมีคำร้องคล้ายซับไตเติลปรากฏตรงกันกับเสียงร้องที่เราได้ยิน ก็ออกจะคล้ายๆ กับซอฟต์แวร์ซีเควนเซอร์ที่นักดนตรีอาชีพใช้ในการแต่งดนตรีอยู่ในที แต่เราไม่สามารถใส่โน้ตดนตรีของเราเข้าไปเองได้ ทำได้แต่ปัดหน้าจอในแนวซ้าย-ขวาเพื่อให้เพลงเดินหน้าหรือถอยหลังตามเส้นไทม์ไลน์ที่ปรากฎเป็นแถบด้านล่างเท่านั้น
ในเมนูที่ชื่อ score ก็เช่นกัน แต่คราวนี้เราจะเห็นบทเพลงในรูปแบบของโน้ตดนตรีแทนโดยจะมีแนวเครื่องดนตรีหลักซึ่งจะบรรเลงประกอบกับเสียงคอรัสที่จะใช้แทนทำนองคำร้อง สำหรับโน้ตดนตรีนี้เราจะได้เห็นอัตราจังหวะอันแปลกประหลาดของแต่ละบทเพลง ซึ่งต่างไปจากดนตรีป๊อปทั่วไปค่อนข้างมาก (ถ้าไม่ได้ดูโน้ตประกอบล่ะก็ น่าจะหาคนร้องตามเพลงของเธอได้ยากจริงๆ) นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่นๆ ได้แก่ lyrics ที่เป็นคำร้องของเพลงนั้นๆและ credits รายชื่อโปรแกรมเมอร์และผู้ร่วมออกแบบแอปฯ ของเพลงนั้นๆ นั่นเอง
แต่เมนูที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือ play ในแต่ละบทเพลงจะมีเมนู play ให้เราเล่นแตกต่างไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ขอแนะนำเมนู play ที่น่าสนุกอย่างคร่าวๆ ได้แก่
1. เพลง Thunderbolt ถ้าเราลองใช้นิ้วจิ้มเป็นจุด ก็จะเห็นภาพของกระแสไฟเกิดขึ้น และมีเสียงสปาร์กของกระแสไฟฟ้านั้นด้วย ถ้าลองลากนิ้วเป็นเส้นกระแสไฟก็จะเกิดขึ้นตามแนวเส้นที่ลากและก็มีเสียงสปาร์กของกระแสไฟค้างไว้ แต่ถ้าเราใช้นิ้ว 2 นิ้ว หรือหลายๆ นิ้วจิ้มลงไปพร้อมๆ กัน จะเกิดเสียงโน้ตดนตรีเป็นชุดดังออกมาอย่างที่ศัพท์ทางดนตรีเรียกว่า Arpeggio จังหวะช้า-เร็วของอาร์เปจโจจะขึ้นอยู่กับองศาของเส้นกระแสไฟกับระนาบแนวนอน ในระบบของ iPad สามารถส่งสัญญาณ midi ออกมาทางสัญญาณ wi-fi ได้ ซึ่งสัญญาณ midi นี้สามารถเข้าไปควบคุมซอฟต์แวร์ดนตรีหรือซินธิไซเซอร์เครื่องอื่นๆ ได้ด้วย (ถ้ามีโอกาสได้ชมการแสดงสดของคอนเสิร์ตนี้ จะเห็นว่านักดนตรีเองก็ใช้แอปฯ นี้บรรเลงด้วยแท็บเล็ตอยู่บนเวทีจริงๆ ด้วย)
2. เพลง Virus เป็นการจำลองให้เห็นเซลล์ที่กำลังจะโดนไวรัสเข้าเล่นงาน เราสามารถจิ้มไปยังนิวเคลียสของแต่ละเซลล์ซึ่งจะดังเป็นเสียงของเครื่องดนตรีประเภท Hang Drum หรือ Kettle Drum ที่ให้เสียงคล้ายฆ้อง และเจ้าตัวไวรัสเล็กๆ สีเขียวเหล่านี้เมื่อจิ้มไปก็จะให้เสียงเหมือนกระดิ่งใสๆ ไวรัสจะทำลายเซลล์โดยการแทงทะลุเข้าไป เมื่อเข้าไปได้หลายๆ ตัวเซลล์นั้นก็จะตาย เราสามารถแกล้งเจ้าพวกไวรัสโดยการปัดมันไปที่อื่นได้ แต่สักครู่มันก็จะกรูกันเข้ามาล้อมกินเซลล์เช่นเดิม ในเมนู instrument เราสามารถจิ้มทั้งเซลล์และตัวไวรัสให้เกิดเป็นเสียงดนตรีและส่งสัญญาญ midi ผ่านระบบ wi-fi ได้ด้วยเช่นกัน
3. เพลง Sacrifice แอปฯ นี้คล้ายการบันทึกโน้ตดนตรีโดยการจิ้มเลือกเสียงจากอักษร c (โด) d (เร) e (มี) f (ฟา) g (ซอล) a (ลา) b (ที) และเสียงที่เป็นซาวด์เอฟเฟกต์ต่างๆ เพื่อเอามาเรียงเป็นท่อนเพลงที่เราสร้างขึ้นเองอย่างง่ายๆ เราสามารถบันทึกท่อนเพลงเหล่านี้เก็บไว้แล้วนำมาฟังเล่นทีหลังได้ด้วย
4. เพลง Moon เป็นการแสดงให้เห็นว่าแรงดึงดูดของดวงจันทร์ที่มีต่อโลกนั้นส่งผลถึงระบบไหลเวียนของของเหลวในร่างกายสิ่งมีชีวิตด้วยเช่นกัน เสียงดนตรีในแอปฯ นี้ฟังคล้ายพิณ (harp) โดยเราสามารถใส่โน้ตดนตรีตามตำแหน่งลูปซ้าย-ขวา ให้แอปฯ บรรเลงออกมาได้ เราสามารถเพิ่มลดความสั้น-ยาวของลูปเราได้ด้วยการแปลงภาพดวงจันทร์ให้เป็นข้างขึ้นหรือข้างแรม
5. เพลง Solstice เหมือนกับการจำลองระบบสุริยจักรวาลที่มีดาวเคราะห์โคจรล้อมรอบ เริ่มจากทรงกลม (ตัวแทนดวงอาทิตย์) ตรงกลางที่เราสามารถใช้นิ้วลากให้เกิดเป็นโน้ตเสียงพิณออกมาจากสูงไปต่ำ จากทรงกลมนั้นเราสามารถลากโน้ตจากศูนย์กลางออกมาได้หลายๆ เส้น หลายๆ ทิศทาง และถ้าทำเหมือนกับดีดเส้นเสียงนั้นๆ ก็จะเกิดดาวดวงเล็กๆ กับรัศมีวงโคจรรอบๆ ทรงกลมนี้ ถ้าดาวเล็กๆ นี้อยู่ใกล้จุดศูนย์กลาง การหมุนรอบวงโคจรหนึ่งรอบก็จะเร็ว ถ้าเราสร้างดาวเล็กๆ ไกลจากศูนย์กลาง การโคจรรอบวงกลมก็จะใช้เวลานานมากขึ้น และเมื่อดาวเล็กๆ หมุนมาทับกับเส้นเสียงที่เราลากไว้ก็จะเกิดเสียงดนตรีขึ้น เราสามารถสร้างดาวเล็กๆ ให้โคจรรอบทรงกลมได้หลายๆ ดวง และเมื่อดีดมันก็จะเกิดวงโคจรในความเร็วต่างๆ กัน กลายเป็นชุดของโน้ตดนตรีที่เป็นทำนองขึ้น
ขอยกตัวอย่างคร่าวๆ ถึงตัวแอปฯ ไว้ประมาณนี้ก่อน แต่ตัว ‘ไบโอฟิเลีย โปรเจ็กต์’ ยังก้าวหน้าไปยิ่งกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบียอร์กและเซอร์เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ (เกิดปี 1926) พิธีกรและผู้สร้างสารคดีธรรมชาติวิทยาชื่อดังชาวอังกฤษนำเอาคอนเซ็ปต์ของไบโอฟีเลียมาทำเป็นสารคดีโทรทัศน์ When Björk Met Attenborough ออกอากาศทาง Channel 4 ของอังกฤษ ในอีก 2 ปี ต่อมา (2013) พร้อมๆ กับการออกทัวร์คอนเสิร์ตไบโอฟิเลียรอบโลก
บุคลิกภาพของบุคคลทั้งสองต่างกันอยู่พอสมควร และนั่นก็ยิ่งทำให้สารคดีนี้น่าสนใจ แอทเทนเบอเรอห์ในวัยเกือบ 90 ปี อันเป็นเสมือนคุณปู่และราชบัณฑิต ขณะที่บียอร์กในวัยครึ่งชีวิตต่างสนทนาถึงปรัชญาที่ลึกซึ้งว่าด้วยคุณค่าทั้งในแง่ศาสตร์และศิลป์ ด้วยคำถามที่ว่าทำไม ‘เพลง’ จึงมีความสำคัญกับมวลมนุษย์เองและอาจจะมีนัยยะลึกซึ้งไปจนถึงสรรพสัตว์ คำอธิบายของเซอร์เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ที่อธิบายให้เห็นถึงสัตว์ต่างๆ นับจากนกไพรเมทอย่างค่าง หรือแม้กระทั่งสัตว์ใหญ่แห่งห้วงสมุทรอย่างวาฬ ว่าต่างก็ใช้เสียงในการเรียกหาคู่ด้วยกันทั้งสิ้น เช่นเดียวกันกับความเป็นป๊อปสตาร์หรือร็อกสตาร์ของวงการเพลงที่ต่างก็มีความหล่อ ความสวย แถมความไพเราะเพราะพริ้งในตัวบทเพลงอันเป็นแรงดึงดูดสำคัญให้บรรดาแฟนเพลงคลั่งไคล้
ข้อสรุปอีกประเด็นที่น่าสนใจยิ่งที่แอทเทนเบอเรอห์กล่าวไว้คือ นอกจากบทเพลงจะพาให้เราซาบซึ้งถึงความงามแล้ว สำหรับมนุษย์ผู้ทรงปัญญานั้น บทเพลงยังพาเราก้าวข้ามเรื่องราวทางกายภาพไปสู่เรื่องราวทางนามธรรมด้วยเช่นกัน
การได้ดำรงชีพอยู่และสามารถตระหนักถึงคุณค่าแห่งตัวเรา ผู้คนอื่นๆ ตลอดถึงสรรพสิ่ง ย่อมทำให้เกิด ‘ชีวาอภิรมย์’ หรือ Biophilia นี้ด้วยเช่นกัน
Tags: Music, Biophilia, Björk, Attenborough, บียอร์ก, Biophilia Project