ข่าวสัตว์ทะเลตายขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเลมีมาให้เห็นบ่อยขึ้นทุกวัน ล่าสุดการตายของมาเรียม ลูกพะยูนกำพร้าแสนน่ารักขวัญใจของคนไทยก็คงทำให้สังคมเริ่มตระหนักกันแล้วว่าทะเลไทยกำลังเต็มไปด้วยขยะ โดยเฉพาะพลาสติก เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมที่น่ากังวล และยิ่งน่าตกใจไปอีก เมื่อไทยเป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก

ขยะทะเลมาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทั้งจากบนบกและในทะเล โดยส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมบนบกที่การจัดการขยะไม่ถูกต้อง จึงพัดพาขยะจำนวนมหาศาลลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ อย่างแม่น้ำ ลำคลอง และไหลลงสู่ทะเลในที่สุด เกิดเป็นมลพิษทางทะเล ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์ทะเล ต่อระบบนิเวศน์ และแน่นอนว่าสุดท้ายผลกระทบจะย้อนกลับสู่มนุษย์ 

เมื่อขยะพลาสติกมีจำนวนมากที่สุดในทะเลและส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลมากที่สุด แนวทางการจัดการและลดขยะในทะเลจึงมุ่งมาที่ขยะพลาสติก โดยเฉพาะถุงพลาสติกและหลอดพลาสติก ซึ่งเป็นขยะที่มีสัดส่วนมากที่สุด และยังเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากที่สุดด้วย

แนวทางต่างๆ ในหลายประเทศออกมาตรการเกี่ยวกับขยะพลาสติกในระดับนโยบาย โดยการห้ามใช้พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ ห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิดบางหรือพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว การเก็บภาษีถุงพลาสติก รณรงค์และกระตุ้นให้ใช้ซ้ำ ในภาคเอกชนเองก็ร่วมด้วยช่วยกันออกมาตรการลดการใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียว โดยการเก็บค่าถุงพลาสติกเมื่อซื้อสินค้า หรือมีส่วนลดสำหรับลูกค้าที่นำถุงหรือภาชนะมาเอง 

ในประเทศไทยเองแม้ไม่ได้มีการออกกฎหมายหรือมาตรการทางนโยบายที่จะลดขยะพลาสติก แต่ก็มีความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น การยกเลิกใช้ cap seal หรือพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม มีการรณรงค์ในภาคการท่องเที่ยว เช่น ไม่นำถุงพลาสติกเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติ รณรงค์ไม่ทิ้งขยะหรือกิจกรรมเก็บขยะริมทะเลเนื่องจากขยะชายหาดกว่าร้อยละ 70 มาจากกิจกรรมท่องเที่ยว ในร้านค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าเองก็มีการจูงใจให้ไม่รับถุงพลาสติกเมื่อซื้อของ ทั้งสนับสนุนให้ใช้วัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติมาทดแทนพลาสติก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพลาสติกจะถูกให้รับบทเป็นผู้ร้ายของสิ่งแวดล้อม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พลาสติกก็มีประโยชน์การใช้สอยที่หาอะไรมาทดแทนได้ยาก ด้วยคุณสมบัติที่แข็งแรง ยืดหยุ่น เบา กันน้ำ ทนร้อน ทนการกัดกร่อนจากกรด ด่าง และสารเคมีหลายชนิด ทั้งยังผลิตได้จำนวนมากและมีราคาถูก เรียกได้ว่าพลาสติกก็ยังมีความจำเป็นในชีวิตประจำวันของมนุษย์ยุคนี้

เกิดเป็นคำถามว่า แล้วเราจะมีทางเลือกอะไรบ้าง ถ้าไม่งดการใช้พลาสติกไปเลย

พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ หรือ biodegradable plastic ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ด้วยเอนไซม์ จุลินทรีย์ หรือแบคทีเรียที่มีอยู่ในธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ โดยเปลี่ยนรูปเป็นน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และชีวมวล ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คือ ความชื้น อุณหภูมิ และปริมาณออกซิเจนที่เหมาะสม

พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพมีอยู่หลายชนิด แต่ที่ได้รับความสนใจนำมาพัฒนาใช้ในอุตสาหกรรมคือ PLA (โพลิแอคติกแอซิด หรือ Polylactic acid) และ PBS (พอลิบิวทิลีนซักซิเนต หรือ Polybutylene Succinate)

PLA ผลิตจากพืชที่มีแป้งหรือน้ำตาลเป็นองค์ประกอบหลัก มาผ่านกระบวนการหมักด้วยจุลินทรีย์ให้ได้กรดแลคติก แล้วนำมาทำปฏิกิริยาสังเคราะห์โพลิเมอร์ เกิดเป็นพลาสติกใสที่ถ่ายเทความร้อนและความชื้นได้ดี ทนความร้อนได้ 60-120 องศาเซลเซียส สามารถนำไปฉีด อัด และเป่าขึ้นรูป การอัดรีด และการผลิตเส้นใย และยังมีความเป็นพิษต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเหมาะในการผลิตสิ่งทอ และบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร

PBS เกิดจากกรดซักซินิก (Succinic acid)ที่ผลิตมาจากพืช และ1,4-Butanediol ที่ผลิตจากปิโตรเลียม ซึ่งต่อมามีการพัฒนาจนสามารถผลิตได้จากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น อ้อย แป้งมันสำปะหลัง มีคุณสมบัติคล้ายกับพลาสติกพอลิเอทิลีน หรือ PE มีลักษณะขุ่น สามารถนํามาขึ้นรูปได้ง่าย โดยเฉพาะการฉีดและการเป่าขึ้นรูปฟิล์ม สามารทนความร้อนได้ตั้งแต่ 80-95 องศาเซลเซียส มีความยืดหยุ่นดี ย่อยสลายได้ดีกว่า PLA นิยมใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารแบบใช้แล้วทิ้ง ฟิล์มห่ออาหาร และนิยมใช้ในด้านการเกษตร เช่น เป็นถุงเพาะชำต้นกล้า นอกจากนี้ยังสามารถนำไปผสมกับ PLA เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์หลายประเภท

พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงพลาสติกได้ ซึ่งมีผู้ผลิตออกมาในตลาดมากขึ้น และผู้ประกอบการหลายแห่งก็เห็นความสำคัญและนำเอาพลาสติกย่อยสลายได้มาเป็นบรรจุภัณฑ์สินค้าของตัวเอง

เป็นเรื่องดีที่พลาสติกจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามขยะพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้จำนวนมหาศาลก็ยังลอยอยู่ในทะเล มันยังลอยเข้าไปในท้องของสัตว์ทะเลทั้งหลาย มันยังเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ทะเลจำนวนมากต้องตาย ก่อให้เกิดระบบนิเวศน์ทางทะเลเสียสมดุล และในไม่ช้า โทษภัยของขยะพลาสติกเหล่านี้จะส่งผลถึงเราแน่นอนหากเรายังไม่ทำอะไร จึงยังเป็นวิกฤตที่ต้องสร้างความตระหนักรู้ว่าเราทุกคนคือตัวการของปัญหาและสร้างจิตสำนึกการจัดการขยะ

นอกจากหน่วยงานรัฐต่างๆ จะจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้และปลูกจิตสำนึกเรื่องขยะแล้ว ภาคเอกชนหลายแห่งก็ทำอย่างแข็งขันด้วยเช่นกัน ล่าสุด บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาขยะทะเลและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วไป ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการขาดองค์ความรู้ในการจัดการขยะอย่างเหมาะสม จึงได้จัดกิจกรรม “#SeaYouTomorrowRun วิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตระหนักถึงวิกฤตปัญหาขยะในท้องทะเล ปลูกจิตสำนึกที่ดี และสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดการปัญหาขยะและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล รวมถึงสนับสนุนองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติท้องทะเล และองค์กรท้องถิ่น

โดยเปิดโอกาสให้นักวิ่งและผู้สนใจที่อยากเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูทะเลเข้าร่วมกิจกรรม #SeaYouTomorrowRun‘วิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล’ ตามระยะที่ต้องการ 5K | 10K | Plogging 1K ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2562 เวลา 05.00 น. ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือสัตหีบ รายได้ทั้งหมดจากการสมัครวิ่ง มอบให้โรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ สัตหีบ
และสนับสนุนหน่วยงานที่คืนคุณค่าสู่ทะเล

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง https://www.singhaestate.co.th/Sustainability/Project/sea-you-tomorrow

 

อ้างอิง

http://www.tei.or.th/tbcsd/event/

http://nstda.or.th/rural/public/

http://asp.plastics.or.thArticleKnowledgeList

Tags: , , , , , , ,