ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ดูเหมือนข่าวคราวเกี่ยวกับขยะพลาสติกในทะเลลอยมาให้เราเห็นแทบทุกวัน กระทั่งจุดที่ลึกที่สุดในโลกบริเวณร่องลึกมาเรียนาของมหาสมุทรแปซิฟิกที่ลึกเกือบ 11 กิโลเมตร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 นักสำรวจก็ยังเจอขยะพลาสติกจมอยู่ก้นทะเล

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2018 มีข่าววาฬตายเพราะกลืนถุงพลาสติกเข้าไปมากกว่า 80 ถุง ที่ชายหาดทางภาคใต้ของประเทศไทย ล่าสุดก็มีข้อมูลว่า เกาะเฮนเดอร์สันที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งองค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลก ตอนนี้มีขยะพลาสติกประมาณ 18 ตันกองตลอดแนวชายหาดยาว 2.5 กิโลเมตร ทั้งที่เกาะนี้ไม่มีมนุษย์ไปเยือนแต่อย่างใด ขยะลอยมาจากทวีปอเมริกาใต้หรือขยะจากเรือประมง โดยเป็นพวกพลาสติกจาก อวน แหดักปลา ขวดน้ำ หมวกกันน็อก อย่างไรก็ตาม ขยะพลาสติกส่วนใหญ่มองไม่เห็น เพราะมันถูกฝังอยู่บนเกาะหลายปี

ทะเลทั่วโลกมีขยะพลาสติกมากแค่ไหน คำถามที่ตอบยาก 

นักวิทยาศาสตร์เองก็อยากรู้และพยายามคำนวณมาโดยตลอด ว่าตอนนี้มีขยะพลาสติกมากแค่ไหนในทะเล แต่ก็เป็นคำถามที่ตอบยากมากๆ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ฉบับเดือนพฤษภาคม 2019 ประเมินว่า ตอนนี้น่าจะมีขยะ 414 ล้านชิ้น หนัก 238 ตัน อยู่ที่เกาะโคโคส ซึ่งอยู่ห่างจากออสเตรเลีย 1,300 ไมล์ เป็นสัญญาณชี้ว่า กระทั่งพื้นที่ที่ไกลที่สุดในโลกก็ยังเต็มไปด้วยขยะจากมนุษย์ เกาะที่อยู่ห่างไกลในส่วนอื่นของโลกก็ประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน

ขณะที่ก็มีขยะพลาสติกใหม่ๆ ไหลเพิ่มลงไปในทะเลทุกปี มีการประเมินว่า แต่ละปีมีขยะพลาสติกประมาณ 5-13 ล้านตัน ซึ่งถ้ามาวางกองกัน ก็จะใหญ่กว่าพีระมิดที่เมืองกิซ่าในประเทศอียิปต์เสียอีก เช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า จะมีรายงาน The New Plastics Economy: Rethinking the Future of Plastics ของ World Economic Forum เมื่อปี 2016 ที่ชี้ว่า ภายในปี 2050 มหาสมุทรจะมีขยะมากกว่าปลา

ส่วนรายงานของ Ocean Conservancy ในปี 2017 ก็ชี้ว่า ประเทศในเอเชีย 5 ประเทศได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเลคิดเป็น 60% ของขยะพลาสติกทั้งโลก

(ภาพจาก REUTERS)

ความเจ็บป่วยของสัตว์จากขยะพลาสติก

วิกฤตมลพิษจากพลาสติกปนเปื้อนในท้องทะเลทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มแรกๆ ก็คือ สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล เราพอจะเห็นข่าวซ้ำๆ จนหลายคนอาจจะเริ่มชินชากับข่าวคราวการเสียชีวิตของสัตว์ทะเล ที่มีสาเหตุมาจากการกลืนพลาสติกเข้าไปเสียแล้ว สาเหตุของการตายมีทั้งเพราะพลาสติกไปปิดกั้นเส้นทางการเข้าถึงแหล่งอาหารของสัตว์ ไปจนถึงพลาสติกอุดตันในลำไส้ 

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทำให้ประเทศไทยเราต้องกลับมามองวิกฤติของตนเองอย่างจริงจัง ก็คือ ‘มาเรียม’ พะยูนน้อย ที่จังหวัดตรัง ที่เพิ่งเสียชีวิตและเมื่อชันสูตรร่างของมาเรียมก็พบว่ามีเศษพลาสติกอุดตันในลำไส้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณที่กำลังแจ้งเตือนว่าวิกฤติขยะในทะเลไทยนั้นใกล้ตัวกว่าที่ทุกคนคิด

นอกจากนี้ นักชีววิทยาทางทะเลประเมินว่า ในแต่ละปี น่านน้ำของไทยมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลประมาณ 300 ตัวที่เสียชีวิตจากกินพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นเต่าทะเล วาฬ โลมา ซึ่งดูเหมือนว่า วาฬจะสามารถดึงดูดความสนใจของคนให้เห็นถึงระดับของวิกฤตที่โลกกำลังเผชิญอยู่ แม้จะมีสัตว์หลายร้อยสปีชีส์ที่ตกอยู่ในอันตรายเช่นกัน เหตุผลหนึ่งก็เป็นเพราะว่า ขนาดตัวของมันทำให้กินพลาสติกเข้าไปในปริมาณมาก เช่น ในท้องของวาฬเกยตื้นที่สเปน เมื่อกุมภาพันธ์ 2019 มีขยะ 29 กิโลกรัม ส่วนที่อินโดนีเซีย พบขยะในท้องวาฬเกือบ 6 กิโลกรัม

สัตว์ทะเลอีกชนิดหนึ่งที่เราได้ยินข่าวว่าตายหรือบาดเจ็บจากขยะในทะเลอยู่เสมอก็คือ เต่า มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ เมื่อปี 2017 ระบุว่า ทุกปีเต่าทะเลหลายร้อยตัวตายเพราะพลาสติก พวกมันกินชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กเข้าไป เช่น ชิ้นส่วนแหจับปลา หรือพลาสติกหุ้มกระป๋องเบียร์ นักวิจัยคาดว่าเต่าทะเลทุกตัวในมหาสมุทรแอตแลนติก เมดิเตอร์เรเนียน และแปซิฟิกมีไมโครพลาสติกอยู่ในร่างกาย ผลที่เกิดขึ้นคือ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายของพวกมันสูงขึ้น จนมีผลต่อการสืบพันธุ์

ส่วนปะการังใต้ท้องทะเล ก็มีงานวิจัยที่น่าตกใจเรื่อง Patterns, dynamics and consequences of microplastic ingestion by the temperate coral, Astrangia poculata ตีพิมพ์เมื่อมิถุนายน 2019 นักวิจัยเก็บตัวอย่างปะการังมาให้อาหารตามธรรมชาติและพลาสติก แล้วพบว่า ปะการังในเขตอบอุ่น บริเวณชายฝั่งแอตแลนติก เริ่มคุ้นเคยกับการกินไมโครพลาสติกมากขึ้น โดยกินเม็ดพลาสติกมากกว่าอาหารตามธรรมชาติเสียอีก นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่า ในปะการังที่เก็บมา มีจำนวนไมโครพลาสติกทุกชิ้น ซึ่งไมโครพลาสติกมักปนเปื้อนด้วยแบคทีเรียและทำให้ปะการังตายได้ในที่สุด

ขณะที่สิ่งชีวิตขนาดจิ๋วอย่างแบคทีเรีย นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยแมคไควรี่ ออสเตรเลียรายงานเมื่อต้นปี 2019 ว่า มลพิษจากพลาสติกมีผลต่อการเจริญเติบโต การสังเคราะห์แสง และการผลิตอ็อกซิเจนของแบคทีเรียโปรคลอโรคอคคัส การสังเคราะห์แสงของแบคทีเรียนี้ผลิตอ็อกซิเจนคิดเป็น 10% ของแบคทีเรียที่เราหายใจ

ไม่เฉพาะสัตว์ทะเล แต่นกทะเลที่บินมาโฉบกินอาหารบนผิวน้ำ ก็เจอปัญหานี้ด้วย นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทัสมาเนียพบว่า มันกินอาหารที่ปนเปื้อนพลาสติกเข้าไป จนทำให้ไตเสื่อมและยับยั้งการเจริญเติบโตด้วย

(ภาพจาก REUTERS)

ไมโครพลาสติกที่ถูกส่งต่อมาถึงมนุษย์

แม้จะไม่ได้อาศัยใกล้ท้องทะเล แต่ก็หนีปัญหาพลาสติกปนเปื้อนในทะเลไม่พ้น เพราะสารอย่าง ‘ไมโครพลาสติก’ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรที่กระจายอยู่ในมหาสมุทรทุกแห่ง ได้เข้าไปอยู่ในร่างกายของสัตว์น้ำ และต้องถือว่าไมโครพลาสติกเริ่มเข้าสู่ชั้นแรกของห่วงโซ่อาหาร จากนั้น คนก็กินอาหารทะเลเข้าไป

ส่วนใครอยากจะหลีกเลี่ยงโดยไม่กินอาหารทะเล ก็ต้องบอกว่ายากมาก เพราะก็ต้องเจอพลาสติกในเกลือทะเลอยู่ดี มีงานวิจัยที่เก็บตัวอย่างเกลือทะเลมาตรวจสอบ ก็พบว่า 90% ของตัวอย่างเกลือปนเปื้อนด้วยพลาสติก

เพราะเป็นปรากฏการณ์ใหม่จึงยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับผลของไมโครพลาสติกในร่างกายของมนุษย์น้อยมาก งานวิจัยเมื่อเร็วๆ ที่ศึกษาโดยมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ออสเตรเลีย ด้วยทุนจาก WWF พบว่า มนุษย์เสี่ยงที่จะได้รับพลาสติกประมาณ 5 กรัมต่อสัปดาห์ บทความในวารสาร Environmental Science and Technology ที่ตีพิมพ์เมื่อมิถุนายน 2019  นักวิจัยรายงานว่า ชาวอเมริกันบริโภคชิ้นส่วนไมโครพลาสติกเข้าไปต่อปีประมาณ 39,000 – 52,000 ชิ้น จากการกินอาหารทะเล น้ำ น้ำตาล และแอลกอฮอล์ 

แล้วเราจะอยู่อย่างไรกัน

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เกาะที่ห่างไกลผู้คน มาจนถึงอาหารที่มนุษย์กินเข้าไป ก็ทำให้ทั่วโลกตื่นตัวหลายระดับ ตั้งแต่แนวคิดทำความสะอาดมหาสมุทรด้วยการติดตั้งเครื่องดูดขยะ เช่น ที่อ่าวซิดนีย์ มีการติดตั้งถังขยะทะเลที่ดูดขยะในน้ำ กรองขยะออกมา แล้วนำน้ำกลับลงไปในทะเลใหม่ ถังขยะแบบนี้อยู่ตามอ่าวต่างๆ รวม 450 จุด ใน 26 ประเทศทั่วโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป จนถึงเอเชียแปซิฟิก ตอนนี้สามารถเก็บขยะได้เฉลี่ย 1.4 ตันต่อปี อย่างไรก็ตามวิธีนี้ถูกมองว่าแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะที่สำคัญกว่าคือ การหยุดทิ้งพลาสติกลงไปในน้ำ ไม่ใช่คิดว่าทิ้งได้แล้วจะมีคนช่วยเก็บ

มาตรการยอดนิยมก็คือ การลดปริมาณขยะพลาสติกด้วยนโยบายห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในหลายประเทศ ตอนนี้มีมากกว่า 60 ประเทศแล้วที่ห้ามใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง หรือห้ามใช้ในบางเงื่อนไข หรือเริ่มมีนโยบายด้านภาษีเพื่อลดการใช้ เช่น สหภาพยุโรปประกาศห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2020 ส่วนแคนาดาประกาศว่าจะห้ามใช้ภายในปี 2021 

หลายอุตสาหกรรมไม่รอรัฐ แต่ลงมือเปลี่ยนแปลงด้วยตนเองเลย เช่น สนามบินซานฟรานซิสโกเลิกขายน้ำดื่มในขวดพลาสติกแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2019

ในประเทศไทยเอง ก็มีความตื่นตัวต่อเรื่องนี้มากมายทั้งจากภาครัฐและเอกชน ล่าสุด บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กับกองทัพเรือ โดย หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งเปิดโอกาสให้นักวิ่งและผู้สนใจที่อยากเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูทะเลเข้าร่วมกิจกรรม ‘วิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล’ #SeaYouTomorrowRun ตามระยะที่ต้องการ 5K I 10K I Plogging 1K  ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2562 เวลา 05.00 น. ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ สัตหีบ รายได้ทั้งหมดมอบให้กับองค์กรที่มีบทบาทในการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย  ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง https://www.singhaestate.co.th/Sustainability/Project/sea-you-tomorrow

#วิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล #SeaYouTommorowRun #SinghaEstate

อ้างอิง

Tags: , , , , ,