11 ปีที่เขาไม่ได้ตีพิมพ์นวนิยาย

คราวนี้ ปราบดา หยุ่น กลับมาพร้อมศัพท์ประดิษฐ์ชุดใหม่ๆ – ใช้ภาษาซึ่งเป็นท่าไม้ตายของเขา – เพื่อฉุดเราเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการ

โลกอนาคตที่มีหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ (แห่งอนาคต) อยู่ที่ปี 2029 หรืออีก 11 ปีต่อจากนี้ เป็นปีที่มีเหตุการณ์กบฏ 4 ตุลาคม ซึ่งทำให้เกิดการนองเลือด…อีกครั้ง

หนังสือเริ่มต้นอย่างชวนเหวอ ด้วยการยกโควตคำพูดของนักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์ นักปรัชญา นักเขียน หรือตัวละครในวรรณกรรมคลาสสิก ที่ดูไม่เกี่ยวข้องกัน มาเรียงไว้เป็นเหมือนอาหารเรียกน้ำย่อย ให้มองเห็นทิวทัศน์คร่าวๆ ว่าเรื่องราวต่อไปนี้จะเกี่ยวกับความทรงจำ ความเข้าใจ ศิลปะ ภาษา เทคโนโลยี ฯลฯ

ตามมาด้วยลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กินเวลายาวนานจากเริ่มต้นจนจบในระยะเวลา 40 ปี (2029-2069) เป็นผังเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยชุดศัพท์ประหลาด ซึ่งนักเขียนคงไม่ได้ตั้งใจให้เราเข้าใจความหมายทันทีในตอนนั้น

เพราะเขายังไม่ได้ใส่ชุดความคิดที่เกี่ยวกับอรรถาธิบายของคำเหล่านี้มาติดตั้งไว้ในสมองของเรา

โลกอนาคตที่มีหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ (แห่งอนาคต) อยู่ที่ปี 2029 หรืออีก 11 ปีต่อจากนี้ เป็นปีที่มีเหตุการณ์กบฏ 4 ตุลาคม ซึ่งทำให้เกิดการนองเลือด…อีกครั้ง

แม้จะเหมือนเป็นนิยายทำนายอนาคต แต่ฉากเปิดของเรื่องจริงๆ กลับเริ่มต้นในปี 2016 ด้วยตัวละครชื่อคุ้น ‘ปราบดา’ ในฉากแสนคุ้นเคยของคนกรุง อย่างสถานีรถไฟหัวลำโพง นี่คือการเริ่มต้นเรื่องแต่งด้วยองค์ประกอบแสนจริง แต่ใครจะไปรู้ว่ามันจริงแค่ไหน หรืออะไรบ้างที่แต่งเพิ่มเข้ามา เหมือนกับธรรมชาติของงานไซไฟ ที่แม้ตัวมันในฟากหนึ่งจะกอดรัดวิทยาศาสตร์ (หรือความจริง) เอาไว้ แต่วิทยาศาสตร์บางส่วนก็อาจเป็นสิ่งที่ต้องมโนนำหน้าไปก่อน

แล้วสมองของปราบดา ผู้เป็นนักเขียน และสมองของปราบดา ตัวละครในเรื่อง ก็พาเราไปสู่อนาคต

ถ้าต้องแปะป้าย นิยายไซไฟนี้อาจถูกจัดอยู่ในหมวดดิสโทเปีย เพราะมันวาดอนาคตของการที่ ‘จิตสำนึกประดิษฐ์’ และจิตที่มีชื่อว่า ‘สำเนาสำนึก’ นวัตกรรมใหม่ซึ่งสามารถสวมใส่เข้ากับกายหยาบของมนุษย์นั้นได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้น แต่กลับตกไปอยู่ในมือของเหล่าผู้นำฝ่ายเผด็จการ เพื่อนำไปใช้งานปราบปรามผู้ฝักใฝ่เสรีภาพซึ่งซุกซ่อนตัวอยู่ในโลกที่ไม่มีเสรีภาพหรือความเป็นส่วนตัวเอาเสียเลย

เบสเมนต์ มูน เป็นนิยายที่เหมือนจะประกอบด้วยชุดความเรียงต่างๆ ซึ่งสอดไปในเรื่องเล่า ถกเถียงและครุ่นคิดเกี่ยวกับประเด็นทางปรัชญา ตัวตน ภาษา การบันทึกและ/หรือประกอบสร้างความทรงจำ อาจเป็นนิยายซึ่งอยู่ในกระแสการพูดถึงปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจักรที่แสนคึกคักในยุคสมัยนี้ เพราะการมองคอมพิวเตอร์ว่าเป็นเพียงเครื่องบรรจุชุดข้อมูลและคำนวณดูจะแสนคร่ำครึไปเสียแล้ว จิตสำนึกประดิษฐ์ที่ว่านี้ถูกพัฒนามาจนมีองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรม และนำมาใช้เพื่อภารกิจนี้โดยเฉพาะ เป็นปฏิบัติการต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า ‘การระบาดของความเมามายด์’

แต่ สำเนาสำนึก (ตัวย่อ ส.ส.) ที่พัวพันกับศิลปะ ก็อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับตัวเอง กับสิ่งต่างๆ กับคำสั่ง… คำสั่งที่ทำให้มันต้องถูกสร้างขึ้นมา

สำเนาสำนึก (ตัวย่อ ส.ส.) ที่พัวพันกับศิลปะ อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับตัวเอง กับสิ่งต่างๆ กับคำสั่ง… คำสั่งที่ทำให้มันต้องถูกสร้างขึ้นมา

นิยายไซไฟฉากหลังไทยๆ นี้ ไม่พลาดที่จะพาดพิงเหตุการณ์อนาคตที่แสนคล้ายคลึงกับอดีตและปัจจุบันของประเทศไทย หากใครรักชาติหน่อย ก็อาจจะกำหมัดกำมือฉุนเฉียว เพราะปราบดาแซะประเทศนี้อย่างไม่ยั้ง ทั้งการเรียกมันว่าเป็น ‘มิวสิคัล คันทรี’ ในสายตาชาวโลก ที่แก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการแต่งเพลงกล่อมใจ

“เหตุการณ์วันที่ 4 ตุลาคม 2059 เป็นการเคลื่อนไหวในวาระครบรอบสามสิบปีของความพยายามโค่นล้มรัฐเผด็จการ, เป็นสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ที่สูญเสียพลเรือนไปกว่า 300 ชีวิต … แต่ในปัจจุบัน, ชาวไทยรู้จัก 4 ตุลาคม ในฐานะ “วันลืมแห่งชาติ” / บทเพลงที่ทางการแต่งขึ้นสำหรับเปิดฉลอง “วันลืมแห่งชาติ” มีชื่อว่า จำรากเหง้า ลืมรากเน่า, ความยาว 53 วินาที” (หน้า 61-62)

แต่ก็เป็นผู้นำประเทศไทยนี้เองที่เห็นความจำเป็นในการนำเข้านวัตกรรมสำเนาสำนึกจากบริษัทสัญชาติจีน นาม ‘นาวเวย’ เข้ามาจัดการ “ปัญหา” ภายในประเทศ และนี่คือตัวแทนหนึ่งในสงครามที่เกิดขึ้นในดินแดนที่คนทั่วไปมองไม่เห็น คือสงครามที่มองไม่เห็นเลือดหรือการเข่นฆ่า แต่คือสงครามที่ “ล่องหนในทางพื้นที่”

นิยายเรื่องนี้ยังเต็มไปด้วยการหยิบยกแนวคิดและคำพูด หรือแม้กระทั่ง ‘พล็อต’ ของนักคิดนักเขียนต่างๆ ซึ่งแม้จะทำให้มุ่นคิ้วอยู่บ้าง แต่ก็สนุกดีเมื่อคิดว่าอาจเป็นการเล่นล้อกับความจริงที่ว่า เราเองในฐานะมนุษย์ต่างก็ถูกบรรจุความทรงจำและชุดความคิดที่มาจากที่อื่น ที่ไหนสักแห่งอยู่ตลอดเวลา เป็นการเรียนรู้ในรูปแบบที่สำเนาสำนึกทำได้รวดเร็วฉับไวกว่าด้วยซ้ำ และล้ำขึ้นไปอีกเมื่อสำหรับมัน คำว่า ‘ปัจจุบัน’ เป็นแค่คำหลอกลวง

เพียงแค่ดูคอนเซ็ปต์ของเรื่อง วลี และชุดศัพท์เหล่านี้ ก็พอเดาได้ว่างานชิ้นนี้มีความซีเรียสอยู่มากขนาดไหน และแน่นอนว่าความจริงจังนี้อาจทำให้การอ่านต้องตะกุกตะกักและติดขัด เมื่อต้องค่อยๆ เคี้ยวทีละคำ ทีละประโยค เพื่อจูนความหมายของโลกที่มีชุดเหตุผลอันแตกต่างนี้ลงไปในสำนึกของเราเอง จนอดไม่ได้ที่จะถอนหายใจเมื่อคิดว่า นี่ฉันกำลังอ่านไซไฟหรือความเรียงปรัชญาอยู่กันนี่

แต่ที่สุดแล้วสองสิ่งนี้ ในประวัติศาสตร์แห่งการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ อาจเป็นเรื่องเดียวกันมาแต่ไหนแต่ไร

Tags: , , , , , , ,