เมื่อกลางปีก่อน เรารู้จัก เคน—สิปปกร เขียวสันเทียะ หรือศิลปินรุ่นใหม่ที่เรียกตัวเองว่า Baphoboy ผ่านบทสนทนาในร้านสุรา ตอนนั้นเขายังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งหนึ่ง เราแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องต่างๆ รวมถึงทัศนะเกี่ยวกับสังคมการเมืองกันอย่างออกรส ในน้ำเสียงของเขาเจือด้วยความรู้สึกคับข้องใจต่อระบบการศึกษาในสถานศึกษาและสถานการณ์บ้านเมืองอย่างเห็นได้ชัด 

นอกเหนือไปจากวงสนทนา ความรู้สึกเหล่านั้นยังได้ถูกแปลงเป็นผลงานศิลปะทางอินเทอร์เน็ตที่ทั้งเสียดสีและแสบสัน 

หากถามว่าสิ่งใดที่สร้าง Baphoboy ขึ้นมา คำตอบคือ ผลกระทบจากการเมืองและจารีตนิยมที่ห้ามตั้งคำถาม ซึ่งดูเหมือนว่าคนไทยหลายคนก็รู้สึกถึงผลกระทบเหล่านี้ไม่ต่างกัน ผลงานของเขาจึงได้รับความนิยม กวาดเอนเกจเมนต์ได้อย่างล้นหลาม แต่ถึงอย่างนั้นการระบายออกผ่านผลงานก็ไม่ได้ทำให้ความคับข้องใจของเขาทุเลาลงสักกี่มากน้อย และนี่คือบทสนทนากับ Baphoboy ในช่วงเวลาที่การเมืองไทยร้อนระอุ รอวันปริแตกอยู่ทุกเวลา

คำว่า Baphoboy ที่คุณใช้ มีที่มาจากอะไร 

Baphoboy มาจากคำว่า Baphomet เป็นเทพธรรมชาติของพวกพวกยิปซี จนวันหนึ่งคริสตจักรก็บอกว่า Baphomet เป็นเหมือนซาตานในร่างแพะ เป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้าย แล้วคนที่บูชาก็เป็นพวกเล่นไสยศาสตร์ เป็นพวกแม่มด 

เราก็เลยใช้คำว่า Bapho ซึ่งเป็นตัวแทนความเชื่อหนึ่งที่โดนอีกความเชื่อหนึ่งใส่ร้าย และเราเติมคำว่า Boy เป็น Baphoboy เด็กคนหนึ่งที่พยายามจะสร้างความเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

คุณสนใจเรื่องการเมืองหรือประวัติศาสตร์ตั้งแต่เมื่อไร

เริ่มสนใจประวัติศาสตร์ตั้งแต่เด็ก เพราะแม่ชอบประวัติศาสตร์ เขาก็จะเล่าประวัติศาสตร์ไทยให้เราฟัง เราก็ซึมซับผ่านหนังสือที่แม่มี แต่ไม่ใช่ในแง่ต่อต้านแต่เป็นแง่ของการเชิดชู

จนมัธยมปลายก็เริ่มอ่านหนังสือหลายๆ แขนง เริ่มเห็นข้อมูลในอีกมุมหนึ่ง เราก็มาวิเคราะห์ด้วยตัวเองว่า จริงๆ แล้วเราไม่รู้ความจริงในประวัติศาสตร์เลย เราว่าการศึกษาไทยค่อนข้างแย่ เราเรียนก็จริง แต่เรียนด้านเดียว เราไม่ได้วิเคราะห์ ส่วนที่เหลือเราต้องขวนขวายเอง อย่างเช่น เราเรียนรู้มาทั้งชีวิตว่า ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลาฯ กลุ่มนิสิตนักศึกษาเป็นฝ่ายผิด แต่พอเราได้รู้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง เราว่ามันก็ไม่น่าจะใช่แบบนั้น

จริงๆ แล้วการศึกษาไทยประสบความสำเร็จนะ ในแง่ที่ทำให้คนเรียนขาดการวิเคราะห์ 

นั่นแปลว่า ข้อเท็จจริงอีกมุมหนึ่งทำให้คุณเปลี่ยนความคิด?

ใช่ แต่ตอน ม.4 – ม.5 เราก็แค่เอะใจ แต่พอกลับบ้านมาก็เจอพ่อ แม่ เจอสื่อหลักที่ไม่ได้ทำให้เราเปลี่ยนขนาดนั้น เราเองก็ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ที่พีคคือ ช่วง กปปส เราก็ไปชุมุนมด้วย แต่ตอนนี้กลับใจแล้วนะ (หัวเราะ) จุดเปลี่ยนจริงๆ คือช่วง มหาวิทยาลัย ต้องเข้ารับน้องในระบบโซตัส มันเป็นช่วงที่ทำให้เรากล้า ทำให้เราเป็นเราอย่างตอนนี้ ก่อนหน้านี้ก็ได้แค่แอบคิด แต่ก็คงไม่กล้าพูด แล้วก็คงไม่แสดงออก

รับน้องที่คุณเจอมาเป็นอย่างไร

ว่ากันตามตรง ส่วนใหญ่ก็สนุก มันเป็นเกมละครที่ออกแบบมาให้สนุก พอเราอยู่ในนั้น เราจะสูญเสียทุกอย่างไปเลย เราจะเชื่อไปเฉยๆ ถึงรู้ว่าเขาหลอกเราก็เชื่อ แต่พอเราโตมา เรารู้สึกว่ามันผิดมนุษยธรรม มันลิดรอนเสรีภาพ มีคนที่ไม่ชอบ มีคนที่ป่วยเยอะ ตอนนั้นรู้สึกผิดมากที่ตัวเองชอบ แล้วขั้นสุดที่เราโดนก็คือ เขาให้เราแก้ผ้า

แก้ผ้าเพื่ออะไร?

เขาอ้างว่าแก้ผ้าทำให้คนสนิทกัน แต่จริงๆ แล้วมันประสบความสำเร็จนะ มันสนิทกันจริง แต่วิธีการสอนมันผิด แล้ววันแก้ผ้าคือวันไหนรู้ปะ วันแรก

เขาให้เราไปรับน้องที่นครปฐม รุ่นพี่ก็จะมากันเยอะมาก พอกลางคืนเขาก็เริ่มมารุมรุ่นน้อง แล้วให้เดินแถวขึ้นไปชั้น 2 เขาก็พูดเล่นๆ ว่า “พวกมึงแก้ดิ” เราก็ เห้ย แก้อะไรวะ พี่พูดเล่นป่ะวะ แล้วอยู่ดีๆ พวกเขาก็ตะคอก “พวกมึงจะแก้กันปะ ไอ้สัตว์”

 เราก็กลัว อยู่ดีๆ ต้องมาเจออะไรแบบนี้ มันก็ต้องแก้ แล้วก็ไปอาบน้ำ จุดประสงค์ของเขา คือ ให้เราไปอาบน้ำ แล้วทำไมต้องแก้ผ้าแบบนี้ด้วยวะ แล้วเชื่อปะหลังจากอาบน้ำกลับมา เสื้อผ้าใครก็ไม่รู้ที่เราต้องใส่ กางเกงในใครก็ไม่รู้ที่เราต้องสวม ถุงเท้าใครก็ไม่รู้ คือมันมั่วไปหมดเลย 

การรับน้องมันเปลี่ยนตัวคุณไปอย่างไรบ้าง

ตั้งแต่เด็กเรามีความเป็นตัวเองสูง ไม่ค่อยยอมอะไรง่ายๆ ถ้าเห็นอะไรที่ไม่ถูกต้องก็จะท้วงตลอด จนเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 ตัวตนเราก็หายไป เพราะโซตัส เหมือนอย่างที่เขาบอกเลยว่า เขาต้องการจะละลายพฤติกรรม  คือแม่งละลายพฤติกรรมจริงๆ 

จากคนที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าถาม กล้าแสดงออกแม่งหายไปเลย เขาแต้มสีให้ตัวตนเราใหม่ ทำทุกอย่างโดยใช้ความกลัว ใช้กฎระเบียบมาอ้าง อยู่ดีๆ เราต้องเชื่อรุ่นพี่ ซึ่งเชื่ออะไรก็ไม่รู้ด้วยนะ 

ที่พีคกว่าคือ คนที่สนับสนุนจริงๆ คืออาจารย์ แต่ไม่ใช่ทุกคนนะ เป็นระบบโครงสร้าง เขาคิดว่าการรับน้องจำเป็นต่อการคุมเด็ก เขามองว่ามันจะทำให้เด็กไปในทิศทางแบบนี้ เราว่ามันค่อนข้างแย่ 

หรือกระทั่งการเรียนการสอนก็ตาม มีอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง เขาพูดประมาณว่า ศิลปะจะเป็นศิลปะต่อเมื่อศิลปะต้องรับใช้ศิลปะ สำหรับศิลปะที่ไปรับใช้อะไรอื่น ถือเป็น low art หรือพองานนักศึกษาแตะการเมืองปุ๊บ อาจารย์ก็จะพูดว่า อย่าไปแตะเลย นี่ไม่ใช่เรื่องของเรา 

อย่างนี้งานที่ทำในระหว่างเรียน คุณได้เซ็นเซอร์ตัวเองมากน้อยแค่ไหน

ก็ดื้อมาตลอด แต่สุดท้ายสิ่งที่เราตัดสินใจทำในงานธีสิส ก็คือตัวงานศิลปะเป็นงานอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเราก็ทำเรื่องการเมืองนั่นแหละ ส่วนหัวข้อธีสิสก็ตีไปให้เป็นอีกหัวข้อหนึ่ง เป็นเรื่องการด่ากันในโซเชียลมีเดีย แต่ภาพที่ออกมา คือมันก็การเมืองมากๆ อยู่ดี  

มองย้อนกลับไปก็รู้สึกว่าการตัดสินใจวันนั้นดีแล้ว รู้สึกว่ามาทำงานในโซเชียลมีเดียดีกว่าไปนั่งเถียงกับอาจารย์ในธีสิส มันไร้สาระมากเลยที่จะไปเถียงกับคนที่ไม่ได้รับฟัง ซึ่งช่วงก่อนจะส่งหัวข้อเราโดนอาจารย์คนหนึ่งปฏิเสธด้วย เพราะเขาไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่เราทำ เขาไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้ให้เวลากับเรา ไม่ได้คุยกับเรา เขาพูดเสียงดังมาก เรียกคนนู้นคนนี้ “เห้ย มาเป็นที่ปรึกษาให้ไอ้เด็กนี่หน่อยดิ” แต่ก็ขอบคุณอาจารย์อีกคนหนึ่งมากที่เขาช่วยรับเป็นที่ปรึกษาให้เรา

พูดถึงตัวงาน เราสังเกตว่าช่วงหลังคุณหยิบประเด็นที่อยู่ในกระแสมาเล่นมากขึ้น อย่างเช่นข่าวเกี่ยวกับรัฐบาล จากเดิมที่ตัวงานจะวิพากษ์เรื่องเซ็กซ์ หรือศาสนา เป็นหลัก

จริงๆ มันเป็นเรื่องเดียวกัน แยกไม่ได้ การเมืองเป็นตัวกำหนดว่าทำไมคนเราต้องมีเซ็กซ์แบบผัวเดียวเมียเดียว การเมืองทำให้คนไม่กล้าวิจารณ์ศาสนา การเมืองทำให้คนเหยียดเพศ มันเป็นเรื่องเดียวกันหมดเลย สิ่งที่เราคือคือตั้งคำถามหรือเล่นกับเรื่องที่มันอ่อนไหวกับสังคม

เราอยากเป็นคนที่กล้าจะทำอะไรแบบนี้ เช่น ทำไมเราถึงคุยเรื่องศาสนาในที่สาธารณะไม่ได้ ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องที่เห็นได้ทั่วไป ทำไมเราถึงนั่งเถียงกับเพื่อนไม่ได้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริงไหม คุณมีสิทธิ์ที่จะเถียงกันนะ อย่างเรื่องพระอุลตร้าแมนเมื่อตอนโน้นน่ะ โคตรไร้สาระเลย มันกลายมาเป็นประเด็นได้ยังไง เรื่องพวกนี้ใครๆ ก็ควรจะเล่นได้ มันเป็นเรื่องที่เราควรจะพูดกันได้

หรือเรื่องเซ็กซ์ มันก็ยังถูกทำให้เป็นเรื่องดำมืด อย่างที่บอก เราเรียนมาให้ทำแต่เรื่องสวยงาม ศิวิไลซ์ เรื่องอะไรก็ไม่รู้ แล้วทำไมจะทำอีกอย่างไม่ได้ ทำไมจะทำอะไรที่มันสถุล อุบาทว์ชาติชั่วไปเลยไม่ได้ มนุษย์มันมีทั้งส่วนที่สะอาด แล้วก็มีส่วนที่โคตรดำ โคตรมืด เรานำเสนอมันแบบตรงไปตรงมา คนก็น่าจะยอมรับเรื่องแบบนี้ให้เป็นเรื่องปกติได้หรือเปล่า อย่างเรื่องเซ็กซ์ที่มันแตกออกไปจากกรอบของสังคม อย่างเช่นทรีซัมหรืออื่นๆ ก็คิดว่าเราเป็นหนึ่งกระบอกเสียงที่ได้บอกว่ามันมีอะไรแบบนี้อยู่บนโลกนะ 

งานของคุณมักจะมีรอยยิ้มเป็นส่วนประกอบเสมอ

เรานำเสนอรอยยิ้ม ในรูปแบบที่มันไม่ใช่คำยินดี แต่มันเป็นการปิดบัง การตอแหล การแบบเสแสร้ง มีคำพูดหนึ่งที่เขาบอกประมาณว่า ถ้าคุณเห็นคนหนึ่งยิ้ม คุณจะรู้สึกดี แต่ถ้าคนนั้นยิ้มให้คุณไม่หยุด มันจะรู้สึกน่ากลัว สยอง เหมือนทำไมเรารู้สึกกลัวตัวตลก เพราะตัวตลกยิ้มไม่หยุด เราจับความรู้สึกเขาไม่ได้ อะไรอยู่ใต้ใบหน้านั้นก็ไม่รู้ 

เริ่มใช้รอยยิ้มตั้งแต่เมื่อไร

เริ่มจากเราคิดธีสิสไม่ออก ก็เลยเอารูป 6 ตุลา รูปที่คนโดนแขวนคอ แล้วลิ้นจุกปาก ก็คิดว่าถ้าเราเปลี่ยนความรู้สึกบนใบหน้าเขาให้เป็นหน้ายิ้มจะเป็นอย่างไร ก็เลยใส่หน้ายิ้มลงไปในรูป ซึ่งกลายเป็นว่ารูปนั้นสยองขึ้นแทนที่ความหมายมันจะดีขึ้นกลับกลายเป็นแย่กว่าเดิม

เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นสัญลักษณ์ที่วิเศษมากเลย คนก็ใช้เยอะเหมือนกันนะ ซึ่งพอมาอยู่ในงานเราแล้วรู้สึกว่ามันตอบโจทย์ของเราได้มาก สิ่งที่เราต้องการจะแสดงออกไป คือความตลกร้าย เราเขียนหน้ายิ้มให้กับภาพที่แม่งโหดร้ายมาก กลับออกมาโหดร้ายกว่าเดิม

เราสังเกตเห็นว่าคุณได้เปลี่ยนวิธีการสร้างงานด้วยใช่ไหม

เมื่อก่อนจะเป็นภาพพิมพ์ งานทั้งหมดที่เป็นสีดำๆ แต่ตอนนี้ทำดิจิทัล เพราะอยากทำงานให้ทันสังคม ซึ่งก็จะโดนเหยียดด้วยนะ เวลาทำงานดิจิทัล เราจะโดนคนในวงการศิลปะเหยียด ศิลปะสำหรับบางคน มันคือสิ่งที่สูงส่งแบบ มันต้อง painting ใช้เวลาเป็นปี ต้องใช้ความอดทน ไม่ใช่ flash art แต่ของเราเราวาดชั่วโมงเดียว เราคอลลาจๆ เราเขียนๆ แล้วก็บอกเป็นงาน ซึ่งอันที่จริงมันอาจจะมีคุณค่าไม่ต่างกันนะ

คิดว่างานที่คุณทำ สร้างอะไรให้กับสังคมบ้าง

เราคิดตลอดว่างานตัวเองมันต้องทำอะไรให้กับสังคม อยากสร้างความเคลื่อนไหวอะไรสักอย่างมาตลอดเลย ปกติเราจะดีใจที่คนดูงานเราแล้วอินกับมัน แล้วแชร์มัน เริ่มตีความมัน เริ่มสนุกกับมัน แต่ช่วงหลังๆ เราดีใจกับคนที่เขาไม่เข้าใจแล้วแชร์ เรารู้สึกว่าอย่างน้อยเขาก็แชร์งานเรา เพราะเขาคิดว่ามันอาจจะสวย เพราะคิดว่ามันตลก หรือแค่อยากด่ารัฐบาลก็ได้ แต่อย่างน้อยเขาก็กล้าที่จะแชร์เรื่องแบบนี้ 

งานเราค่อนข้างแรงนะ พอคนแชร์มากๆ แล้วรู้สึกว่าสังคมมีความกล้ามากขึ้น เมื่อก่อนอาจจะไม่มีใครกล้าแชร์ก็ได้ รูปที่เป็นการเมืองจ๋าๆ อย่างในแชทเราก็มีคนทักมา “ภาพนี้หมายความว่าไงครับ” “อย่างนี้ต้องการอะไรครับ” แล้วเราดีใจมากเลยที่เราพิมพ์กับเขาแล้วเขารับฟัง แล้วเขาก็ขอบคุณเรา เราคิดว่าไม่จำเป็นต้องให้คนฉลาดทุกคนมาดูงาน แค่แชร์ไว้ที่หน้าฟีดก็ได้ ดีใจที่ทุกคนชอบแล้วก็กล้าที่จะบอกว่าชอบมัน 

คุณบอกว่างานคุณค่อนข้างแรง คุณเคยกลัวบ้างไหมหรือยิ่งมั่นใจว่ามาถูกทางแล้ว

พูดมาตลอดเลยว่าไม่เคยกลัว เพราะเคยกลัวมามากแล้ว คิดว่าถ้าเกิดวันหนึ่งโดนก็คงไม่เสียหาย โดนก็โดน อย่าอุ้มฆ่าละกัน แต่เรารู้สึกว่ายิ่งเราเอาตัวไปอยู่ในที่สว่างเท่าไหร่ มันยิ่งปลอดภัยนะ

เราสามารถใช้คำว่า ล่อตีน กับงานคุณได้หรือเปล่า 

ล่อตีน มันเป็นกมลสันดาน ไม่แน่ว่าวันข้างหน้าเราอาจจะไปทำศิลปะแบบอื่นก็ได้แต่วิธีคิดในกมลสันดานแบบเราที่เป็นคนล่อตีน เราจะไปทำงานเชิดชูได้อย่างไร เราทำงานจิกกัด เราจะไปทำงานฝืนตัวตนให้นอบน้อมได้ไง มันฝืนตัวเองไม่ได้เลย ถ้าเราเขียน landscape นะ landscape เราก็จะออกมาแบบมันก็ไม่ได้น่าอยู่ อย่างเพื่อนเราเขียนงานสวยๆ มาเขียนศพ มันก็เขียนศพสวย มันฝืนตัวตนไม่ได้ อย่างเราเขียนงานกลุ่มกับเพื่อน ก็ดูออกนะว่าอันไหนเป็นงานเรา มันดูมีความเป็นตัวเราอยู่

คุณคิดเห็นอย่างไรต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในตอนนี้

โห ถ้าพูดเรื่องนี้แล้วน้ำตาจะไหล เรารอมา 4-5 ปีแล้ว เห้ย! สักทีวะ ความโกรธแค้น มันมีมานานแล้ว แต่ตื่นเต้นที่ทุกคนกล้าขนาดนี้มากกว่า รู้สึกว่าทุกคนทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องที่ห้ามพูด อย่างที่บอก จุดประสงค์ของเราคืออยากให้ทุกคนกล้าพูดเรื่องที่ไม่กล้าพูด แล้ววันนี้มันเห็นก้าวหนึ่งที่สำคัญ ทุกคนกล้าออกมาพูดในสิ่งที่ตัวเองไม่พอใจ

ถ้าสมมติว่าการเรียกร้องครั้งนี้ฝั่งประชาธิปไตยชนะขึ้นมา คิดว่าจะเป็นอย่างไร

โห ยากมากเลยนะ ใครจะรู้ว่าวันนั้นอาจจะแย่กว่าวันนี้ก็ได้ ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ หลังจากนักศึกษาได้เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาฯ เสร็จ หลังจากนั้นก็ไม่ได้ดีไปกว่านี้สักเท่าไร ก็อาจจะโดนแทรกซึมเหมือนเดิม แต่อย่างน้อยเราว่ามันสร้างบทเรียน เราว่ามันเปลี่ยนวิธีคิดคน 

ถึงวันหนึ่งอาจจะผิดพลาด แต่อย่างน้อยวิธีคิดคนเราน่าจะเปลี่ยน ทุกคนน่าจะมองตัวเองมีอำนาจ การแสดงออกของเรามีเสียง เราสามารถเรียกร้องได้ ถ้ามันผิด แล้ววันนั้นพอทุกคนมันมีเสียง เราว่าจะพัฒนาไปในแนวทางที่ดีขึ้น 

เราอยู่กันแบบนี้ไม่ได้ สังคมแบบนี้มันแย่เกินไป ยิ่งสำหรับคนที่กำลังจะโตแบบพวกเรา แต่มันอาจจะแย่สำหรับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ก็ได้ที่ต้องเปลี่ยนแปลง คนที่มีฐานอำนาจแล้วอยู่ๆ มาเปลี่ยนแปลง มันเหมือนกระดาษขาวให้เราไปเขียนใหม่ กับกระดาษดำที่ต้องมานั่งลบนั่งแก้ มันคนละเรื่องกันเลย อนาคตที่สดใสกับอนาคตที่เปรอะเปื้อน แต่ก็ยังมีความหวัง ถ้าวันนั้นมาถึง 

แล้วถ้าไม่ชนะล่ะ

เราว่าไม่มีทาง ไม่มีทางที่มันจะไม่เกิดผลกระทบอะไรเลย นักศึกษาที่ออกมาวันนี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าวันหนึ่งเขาจะโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วเขาก็จะกลายเป็นคนที่ขับเคลื่อนสังคม มันอาจจะไม่เปลี่ยนในวันนี้ แต่ 5 – 10 ปีนี้มันก็ต้องเปลี่ยน เหมือนที่ทุกวันนี้คำว่าสลิ่มมันกลายเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจน่ะแหละ