แม้จะชอบเข้าชมพิพิธภัณฑ์ แต่พิพิธภัณฑ์ที่ผมหลีกเลี่ยงเสมอคือพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยหรือศิลปะสมัยใหม่ เพราะจากประสบการณ์ในอดีต พิพิธภัณฑ์เหล่านี้เต็มไปด้วยงานที่นำเสนอความคิดนามธรรมที่ยากจะจับต้อง ซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจ หลายชิ้นชวนให้คิ้วขมวดมุ่นว่าศิลปินต้องการจะสื่ออะไร

พิพิธภัณฑ์ในดวงใจของผมจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงภาพวาดของศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ ที่หยิบจับชิ้นส่วนเรื่องเล่ามาถ่ายทอดลงบนฝีแปรงพร้อมแรงระบายที่คุกรุ่นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกเสียมากกว่า

แต่ความคิดของผมต้องเปลี่ยนไปเมื่อคนรักชวนให้ผมไปทำความรู้จักกับงานโดย โอลาเฟอร์ เอเลียสสัน (Olafur Eliasson) ศิลปินลูกครึ่งชาวไอซแลนด์และเดนมาร์กซึ่งผมไม่เคยแม้แต่จะได้ยินชื่อ เขามาจัดงานแสดงเดี่ยวในชื่อว่าเครื่องจักรความจริง (Reality Machine) ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ Moderna Museet กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เวลาร่วมสองชั่วโมงที่ผมอยู่ในงานทำให้ผมต้องเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่ไปตลอดกาล

ศิลปะที่ท้าทายความจริง

โอลาเฟอร์พร้อมที่เล่นล้อกับทุกอย่างรอบตัวและใช้เครื่องมือสารพัดเพื่อถ่ายทอดทัศนะของเขาให้จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่าง น้ำ หรือหมอก เขาเชื่อมโยงสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติเข้ามาเป็นงานศิลปะได้อย่างลงตัวและเรียบงาม ในขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามกับความจริงเชิงมนุษยนิยมและประจักษ์นิยมไปด้วย

Beauty, 1993

Beauty (1993) หมอกที่พวยพุ่งต้องแสงไฟจนเกิดเป็นสายรุ้งในห้องมืด หรือ Room for one colour (1997) ห้องที่ติดตั้งไฟสีเหลืองแบบพิเศษที่ทำให้ทุกวัตถุในห้องกลายเป็นสีขาวดำรวมถึงผู้เข้าชมผลงานศิลปะ โอลาเฟอร์กล่าวถึงผลงานทั้งสองชิ้นในซีรีย์ Abstract ทางเน็ตฟลิกซ์ว่าสายรุ้งในผลงาน Beauty เกิดขึ้นได้เพราะสายตามนุษย์ หากไม่มีใครอยู่ในห้องก็ย่อมไม่มีสายรุ้ง เช่นเดียวกับการผลงานห้องสีเหลืองซึ่งเขานำไปผลิตซ้ำหลายครั้งในผลงานอีกหลายชิ้น ที่เขาลบเส้นบางๆ ระหว่างความจริงและความลวงพร้อมกับเปิดกว้างให้ผู้เข้าร่วมนิทรรศการตีความตามความเข้าใจของตนเอง

อีกผลงานที่ผู้เขียนชื่นชอบคือ Big Bang Fountain (2014) ที่ผู้เข้าชมจะถูกเชื้อเชิญเข้าไปในห้องมืดสนิทพร้อมกับเสียงน้ำไหลเบาๆ ครู่หนึ่งก็จะได้ยินเสียงน้ำพุ่งขึ้นมาเป็นน้ำพุพร้อมกับไฟที่ส่องสว่างวาบคล้ายแสงแฟลช มันคือการรับรู้เสี้ยววินาทีของมวลน้ำที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ที่การแสดงแต่ละครั้งแตกต่างกันออกไปชวนให้ดูได้ไม่รู้เบื่อ ราวกับชั่ววูบที่ลื่นไหลแต่ต่อเนื่องของกาลเวลา เป็นชั่วขณะหนึ่งที่ชวนให้สำรวจเข้าไปในความคิดของตนเอง

ภาพจาก https://olafureliasson.net/archive/artwork/WEK109204/big-bang-fountain

ผลงานที่ตรงข้ามกับห้องสีเหลืองซึ่งซึมซับทุกสีในโลกให้เหลือเพียงสีขาวดำ โอลาเฟอร์ได้สร้างโลกที่ท้าทายการรับรู้ตามที่เราคุ้นชินในชีวิตประจำวัน โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่แปลกแปร่งให้เราเข้าไปสำรวจ I only see things when they move (2014) เปลี่ยนห้องทั้งห้องให้เป็นแถบสีที่เคลื่อนไหวต่อเนื่อง Seu corpo da obra (Your body of work) (2011) เขาวงกตที่สร้างจากแผ่นพลาสติกกึ่งโปร่งแสงหลากสีที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามมุมมองของผู้เข้าชมจากการเหลื่อมซ้อนกันของแผ่นพลาสติก และ Your uncertain shadow (color) (2010) ที่จะสร้างเงาหลากสีให้กับผู้เข้าชม

ธรรมชาติในศิลปะที่ทุกคนเข้าถึงได้

นอกจากผลงานแสดงในแกลเลอรีศิลปะแล้ว โอลาเฟอร์ยังมีการจัดแสดงในพื้นที่ซึ่งนับว่าท้าทาย เช่น พระราชวังฤดูหนาวขององค์ชายยูจีนแห่งซาวอย (Prince Eugene of Savoy) กลางกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นพระราชวังที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบบาโรก เขาจัดวางผลงานศิลปะโดยใช้ประโยชน์จากพระราชวังที่งดงามได้อย่างน่าสนใจพร้อมทั้งตั้งชื่อชวนสนุกว่า BAROQUE BAROQUE

ภาพจาก https://olafureliasson.net/archive/exhibition/EXH102394/olafur-eliasson-baroque-baroque 

แต่สิ่งที่ทำให้โอลาเฟอร์โดดเด่นคือ ‘ลูกบ้า’ ของเขา ที่รังสรรค์งานศิลปะให้แปลกใหม่ เช่นงานที่ชวนให้คนเดินถนนต้องชวนฉงนสนใจอย่าง Green River (1998) ที่เขาใช้สารสีเขียวซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ปกติใช้สำหรับทดสอบกระแสน้ำในมหาสมุรมาเทลงในแม่น้ำใจกลางเมืองใหญ่ เช่น สตอกโฮล์ม โตเกียว และลอสแองเจลิส ซึ่งเขาต้องการดึงดูดให้คนเมืองรับรู้ถึงชีพจรของแม่น้ำและความพลวัต จากที่ในอดีตแม่น้ำเหล่านั้นอาจถูกมองเป็นเพียงพื้นหลังแน่นิ่งในชีวิตประจำวัน

ภาพจาก https://olafureliasson.net/archive/artwork/WEK101541/green-river

ผลงานขนาดยักษ์อีกหนึ่งชิ้นคือ The Weather Project (2003) ที่เปลี่ยนโถงขนาดใหญ่ในพิพิธภัณฑ์ Tate Modern ณ กรุงลอนดอนให้กลายเป็นฉากพระอาทิตย์ตก โดยเปิดให้ผู้คนเข้ามาใช้สถานที่และตีความผ่านประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งอาจเป็นการมองภาพสะท้อนของวาระสุดท้ายของโลก หรือพื้นที่แห่งความสงบพอที่จะมาเล่นโยคะ

ภาพจาก https://www.tate.org.uk/whats-on/tate-modern/exhibition/unilever-series/unilever-series-olafur-eliasson-weather-project-0 

ผลงานอีกชิ้นที่กลายเป็นที่กล่าวขวัญของชาวนิวยอร์กเกอร์และขึ้นแท่นโครงการศิลปะในพื้นที่สาธารณะที่ราคาแพงที่สุดที่เคยมีมาโดยใช้ต้นทุนกว่า 15.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คือ New York City Waterfalls (2008) น้ำตกที่สร้างโดยมนุษย์ 4 แห่งที่มีความสูงร่วม 40 เมตรโดยน้ำตกที่โดดเด่นที่สุดคือจุดที่ติดตั้งใต้สะพานบรุกลิน (Brooklyn Bridge) โอลาเฟอร์ให้สัมภาษณ์ว่าเขาเลือกติดตั้งน้ำตกยักษ์ ณ ใจกลางเมืองนิวยอร์กเพื่อกระตุ้นเตือนให้คน “ใคร่ครวญความสัมพันธ์ที่โยงใยกับสิ่งรอบตัว”

ภาพจาก https://olafureliasson.net/archive/artwork/WEK100345/the-new-york-city-waterfalls 

ผู้เขียนได้มีโอกาสรับชมผลงานสาธารณะของโอลาเฟอร์และยกให้ผลงานชิ้นนั้นเป็นอันดับหนึ่งในดวงใจ คือ Ice Watch (2014) หน้ามหาวิหารแพนธิออนกลางกรุงปารีสในช่วงเวลาที่มีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21) ผลงานของเขาเรียบง่ายคือก้อนน้ำแข็ง 12 ก้อนที่ขนส่งตรงจากแผ่นน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ นำมาจัดเรียงเป็นวงกลมคล้ายหน้าปัดนาฬิกา แล้วปล่อยให้มันละลายอย่างช้าๆ จนกระทั่งหายไปเอง เป็นการถ่ายทอดความเร่งด่วนของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เห็นภาพ จับต้องได้ และเข้าถึงง่ายอย่างยิ่ง

ภาพจาก https://olafureliasson.net/archive/artwork/WEK109190/ice-watch

สิ่งที่ทำให้ผมชอบผลงานของโอลาเฟอร์มากที่สุดคือการสร้างพื้นที่ที่ปราศจากการยัดเยียดใดๆ ผลงานของเขาคือประสบการณ์ที่ผู้เข้าชมต้องเผชิญและเปิดกว้างต่อการตีความ แต่ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เราใคร่ครวญกับโลกที่เรารับรู้ ข้อเท็จจริงที่อยู่ตรงหน้า รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับสิ่งแวดล้อมที่อาจเคยมองข้ามไป

 

ขอบคุณ ธิษณา กูลโฆษะ ผู้แนะนำ