หลังจากสาธารณชนดูคลิปและอ่านข่าวเหล่าสัตว์ทะเลที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกถึงขั้นเสียชีวิต กระแสแก้ปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องฮอตฮิตติดลมบนจนหยุดไม่อยู่ ภาคเอกชนหลายแห่งก็เริ่มขยับตัวสนับสนุนการใช้วัสดุธรรมชาติทดแทน หรือรณรงค์งดรับถุง-หลอดพลาสติกเพื่อบรรเทาปัญหา ภาครัฐเองถึงมาช้าแต่ก็ยังดีกว่าไม่มา ร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ที่ตั้งใจจะแบนพลาสติก 7 ชนิดให้หมดจากสังคมไทย
คนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่าเลข 3 รวมถึงตัวผู้เขียนเองจินตนาการไม่ออกว่าโลกที่ไร้พลาสติกจะเป็นอย่างไร แต่สืบสาวกลับไป นวัตกรรมพลาสติกราคาประหยัดนี้มีอายุเพียง 86 ปีเท่านั้น โดยแรกเริ่มเดิมทีถูกนำไปใช้ทางการทหาร ก่อนจะแพร่กระจายในรูปแบบของถุงพลาสติกเชิงพาณิชย์เมื่อ พ.ศ. 2508 จดสิทธิบัตรในประเทศสวีเดนแล้วจึงระบาดไปทั่วโลก ถุงพลาสติกก็ทดแทนถุงผ้าและถุงกระดาษนับแต่นั้นมา
คำว่าทั่วโลกที่ว่า ไม่ใช่แค่โลกมนุษย์นะครับ แต่เจ้าพลาสติกยังไปโผล่ทุกมุมในโลกธรรมชาติ ทั้งยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ในทะเลลึก รวมถึงยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่มนุษย์ก็ยังไม่ทราบถึงผลกระทบของพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก กระทั่งมีการค้นพบแพขยะขนาดยักษ์ในมหาสมุทรแปซิฟิก (GREAT PACIFIC GARBAGE PATCH) โดยนักสำรวจ ชาร์ลส์ มัวร์ (Charles Moore) เมื่อ พ.ศ. 2540
แผนที่แสดงแพขยะขนาดยักษ์ในมหาสมุทรแปซิฟิกทั้ง 5 แห่ง ภาพจาก theoceancleanup.com
ปัญหาขยะพลาสติกจึงอยู่ในไฟสปอตไลท์และถูกศึกษานับแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีแพขยะขนาดยักษ์ในมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งหมด 5 แห่ง และมีพื้นที่รวมราว 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือมากกว่า 3 เท่าของขนาดประเทศไทย
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Program: UNEP) รวบรวมข้อมูลในปี พ.ศ. 2560 และพบว่ามีประเทศกว่า 20 ประเทศที่ดำเนินมาตรการ ลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกทั้งในรูปแบบห้ามการใช้เด็ดขาด และเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาตามไปดูว่านโยบาย ‘แบน’ การใช้พลาสติกอย่างเด็ดขาดแก้ปัญหาได้หรือไม่ การเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าเป็นการช่วยโลกจริงไหม ซึ่งก็น่าจะเดาได้จากชื่อบทความว่าคำตอบคือ “ก็ช่วยนะ แต่…”
แบนถุงพลาสติกชนิดนี้ ก็หนีไปซื้อแบบอื่นได้
ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ เมื่อผลิตภัณฑ์หรือบริการไหนที่สร้างผลกระทบแย่ๆ กับสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีชื่อเรียกโก้เก๋ว่าผลกระทบภายนอก (Externalities) นักเศรษฐศาสตร์ก็จะแนะนำเหล่าผู้กำหนดนโยบายว่าให้นำผลกระทบนั้นรวมกลับเข้าไปในราคาสินค้าด้วยเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่นักการเมืองบางท่านอาจใจร้อนรุ่นเพราะมองว่ากลไกดังกล่าวไม่ค่อยทันใจเท่าไร จึงประกาศ “ห้ามใช้” มันซะเลย
แต่ช้าก่อน แม้ว่าประกาศห้ามใช้ไปแล้ว แต่ของที่เคยต้องมีติดบ้านติดมืออย่างถุงพลาสติกทำให้ผู้บริโภคต้องไปมองหาผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ถูกแบนแล้วนำมาใช้ทดแทน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกสภาวะนี้ว่า “การรั่วไหล (leakage)” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ผลิตภัณฑ์หนึ่งถูกห้ามใช้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ทดแทนอื่นๆ มียอดขายพุ่งกระฉูด
รีเบคกา เทย์เลอร์ (Rebecca Taylor) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าวโดยใช้เหตุการณ์การดำเนินนโยบายด้านถุงพลาสติกของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องตลอด 9 ปี ก่อนจะประกาศห้ามใช้อย่างถาวรในช่วงปลาย พ.ศ. 2559
แน่นอนครับว่านโยบายดังกล่าวส่งผลทันตา โดยทำให้ปริมาณขยะพลาสติกลดฮวบถึงปีละราว 18 ล้านกิโลกรัม อย่างไรก็ดี ถุงพลาสติกเหล่านี้ไม่ได้ “ใช้แล้วทิ้ง” อย่างที่ผู้กำหนดนโยบายคิด เพราะเราๆ ท่านๆ ต่างก็ทราบกันดีว่าถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อมักจะถูกนำมาต่อชีวิตในฐานะถุงขยะ หรือเอามาใช้เก็บอึน้องหมาเวลาพาไปเดินเล่น
ถึงตรงนี้ หลายคนคงเดาได้นะครับว่ายอดขายถุงดำใส่ขยะขนาดเล็กที่สุดขนาดบรรจุราว 15 ลิตรก็พุ่งกระฉูด โดยงานวิจัยพบว่าเพิ่มสูงถึง 120 เปอร์เซ็นต์ ส่วนถุงขยะขนาดอื่นๆ ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน รวมๆ แล้วคิดเป็นราว 30 เปอร์เซ็นต์ของขยะพลาสติกที่ลดได้ในย่อหน้าด้านบน นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นดังกล่าวยังประมาณการว่านโยบายแบนถุงพลาสติกอาจทำให้มีขยะจากถุงกระดาษเพิ่มสูงขึ้นถึงราว 36 ล้านตันต่อปี
โดยสรุปแล้ว นโยบายแบนพลาสติกอาจทำให้มีการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากต้องมาผลิตถุงขยะที่หนาและใช้ทรัพยากรมากกว่าถุงหูหิ้วแบบบาง รวมถึงการผลิตถุงกระดาษที่ต้องตัดต้นไม้ ใช้น้ำมหาศาล รวมถึงสารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังมีข้อดีคือย่อยสลายได้
ถุงผ้า ต้องใช้ซ้ำกี่ครั้งถึงจะคุ้ม?
กระแสต้านถุงพลาสติกก็มาพร้อมกับเทรนด์ถุงผ้า ที่เหล่าภาคเอกชนต่างใช้โอกาสนี้ตกแต่งภาพลักษณ์ตัวเองให้ “เขียว” โดยการแจกแถมถุงผ้า (ที่สกรีนโลโก้เด่นหรา) กันพัลวัน ดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ก็เอาใจคนรักษ์โลกโดยการออกแบบถุงผ้าพรีเมียมมาตีตลาดคนรุ่นใหม่ ถุงผ้าจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนรักษ์โลกไปโดยปริยาย
ผมเองก็ติดถุงผ้างอมแงม ไปไหนมาไหนก็ต้องติดไม้ติดมือไปด้วยเพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยากรโลก
แต่ความเชื่อดังกล่าวก็ถูกตั้งคำถามครั้งใหญ่ โดยงานวิจัยเพื่อประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) ของถุงหูหิ้วสารพัดชนิด จัดทำโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและอาหาร (Ministry of Environment & Food) ประเทศเดนมาร์ก การศึกษาชิ้นดังกล่าวครอบคลุมผลกระทบ 15 ด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเป็นพิษต่อมนุษย์ มลภาวะทางอากาศ ความเป็นพิษต่อระบบนิเวศ การใช้น้ำ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ฯลฯ
โดยถุงหูหิ้วที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุดก็คือ ถุงพลาสติกพอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low density polyethylene: LDPE) โดยนำกลับมาใช้ใหม่ 1 ครั้งก็ถือว่าประหยัดทรัพยากรโลกสุดๆ ตามการวิเคราะห์ข้างต้น
ส่วนถุงหูหิ้วที่ครองตำแหน่งรั้งท้ายคือถุงผ้าจากฝ้ายออร์แกนิก โดยต้องใช้ซ้ำ 20,000 ครั้งจึงจะประหยัดทรัพยากรเทียบเท่ากับถุงพลาสติกแบบ LDPE ในขณะที่ถุงผ้าฝ้ายทั่วไปต้องใช้ซ้ำ 7,100 ครั้ง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขของทั้งสองถุงผ้านั้นพุ่งปรี๊ดคือปัจจัยการทำลายชั้นโอโซน (Ozone Depletion) ที่ทำให้ถุงทั้งสองประเภทแพ้ขาดลอย
อย่างไรก็ดี ปัญหาชั้นโอโซนในปัจจุบันนั้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่หลวงเท่าไรนักหากเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหากพิจารณาในแง่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเราก็ต้องใช้ถุงผ้าฝ้ายออร์แกนิกเพียง 152 ครั้ง ส่วนถุงผ้าฝ้ายทั่วไปอยู่ที่ 54 ครั้ง ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่เป็นไปได้สำหรับเหล่ามนุษย์ถุงผ้าทั้งหลาย เรียกว่าอ่านแล้วใจชื้นขึ้นเยอะเลย เพราะจะให้ใช้ 20,000 ครั้งคงไม่ไหว สมมติว่าใช้วันละครั้ง ก็ต้องใช้ถุงผ้าติดต่อกันถึง 54 ปีเศษๆ เลยทีเดียว
สมมติฐานที่สำคัญของการศึกษาชิ้นนี้คือ ถุงหิ้วทุกชนิดจะถูกเก็บและกำจัดโดยระบบกำจัดขยะของเดนมาร์ก ดังนั้นจึงไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสัตว์ป่าจากมลภาวะพลาสติก จะเห็นได้ว่าสมมติฐานข้างต้นอาจไม่สามารถนำมาใช้กับประเทศไทยซึ่งติดโผ 1 ใน 5 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล
อันนั้นก็ไม่ได้ อันนี้ก็ไม่ดี แล้วคุณจะเอายังไง?
ใจเย็นๆ นะครับ วางของแหลมในมือของท่านลงก่อนแล้วมานั่งคุยกัน ผู้เขียนเข้าใจว่าผลการศึกษาสองชิ้นข้างต้นอาจทำให้รู้สึกอึดอัดคับข้องใจ แต่ในทางกลับกัน ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็สามารถนำมาสรุปเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดปัญหามลภาวะจากพลาสติก
หากหยิบงานวิจัยของประเทศเดนมาร์กมามองมุมกลับปรับมุมมอง ทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดคือการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วซ้ำแล้วซ้ำอีก อาจจะ 10 ถึง 20 ครั้ง แล้วจึงนำมาจบชีวิตด้วยการเป็นถุงขยะ ส่วนถ้าใครมีถุงผ้าอยู่แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาใช้ต่อไปนะครับ
ส่วนในแง่นโยบาย รีเบคกา เทย์เลอร์ก็นำเสนองานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นเพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์จากนโยบายลดการใช้ถุงพลาสติก โดยพบว่านโยบายเก็บค่าถุงพลาสติกนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าการห้ามใช้ถุงพลาสติกโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคนำถุงที่ใช้แล้วมาใช้ซ้ำ โดยผู้กำหนดนโยบายต้องคำนึงถึงผลกระทบของถุงแต่ละประเภทและตั้งราคาให้เหมาะสม เช่น หากมองว่าถุงกระดาษสร้างผลกระทบที่สูงกว่า ก็ควรจะมีการตั้งราคาที่สูงกว่าเช่นกัน
ที่สำคัญ ถ้าประกาศแบนถุงพลาสติกแบบกำปั้นทุบดิน สุดท้ายผู้บริโภคก็จะหนีไปใช้ผลิตภัณฑ์อื่นซึ่งอาจสร้างผลกระทบมากกว่า ดังนั้นถ้าจะแบนถุงพลาสติกให้มีประสิทธิภาพ ก็ต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียมของถุงประเภทอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วยนะจ๊ะ
เอกสารประกอบการเขียน
From birth to ban: A history of the plastic shopping bag
THE GREAT PACIFIC GARBAGE PATCH
Bag leakage: The effect of disposable carryout bag regulations on unregulated bags
Life Cycle Assessment of grocery carrier bags
Bans versus Fees: Disposable Carryout Bag Policies and Bag Usage
Fact Box
- ประเทศบังกลาเทศ คือประเทศแรกที่มีการห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิดบาง โดยประกาศเป็นกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2545 เนื่องจากพบว่าขยะพลาสติกคือสาเหตุของการอุดตันในระบบระบายน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่