พระจันทร์เสี้ยวบนยอดโดม เรือเดินสมุทร แสงลอดเมฆ ประกายระยิบระยับบนผืนน้ำ และอิสตันบูล ภาพของสิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบหลักในหนังสือเล่มล่าสุดของออร์ฮาน ปามุก (Orhan Pamuk) หากแต่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นงานที่เกิดจากคำ กลับเป็นสิ่งที่เกิดจากภาพ
BALKON หรือ ระเบียง ในความหมายของภาษาตุรกี เป็นชื่อของหนังสือรวมภาพถ่ายจากระเบียงห้องทำงานในอพาร์ตเมนต์ของปามุกที่อยู่หลังมัสยิดจีฮางกิช (Cihangir Mousque) ในฝั่งยุโรปของอิสตันบูล อดีตเมืองหลวงที่มีทิวทัศน์อันตื่นตาตื่นใจของประเทศตุรกี
จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายน ปี 2012 เมื่อปามุกซื้อกล้องถ่ายรูป เลนส์เทเลโฟโต และขาตั้งกล้องในนิวยอร์ก ก่อนเดินทางกลับอิสตันบูล
เขาได้ติดตั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพของเขาไว้ที่ระเบียงห้องทำงานเมื่อเดินทางกลับถึงบ้าน จากเดือนธันวาคมจนถึงเดือนเมษายน ปี 2013 เขาถ่ายภาพจากระเบียงของเขาเป็นจำนวน 8,500 ภาพ (เฉลี่ยเป็นเจ็ดภาพต่อชั่วโมงในแต่ละวัน)
อะไรทำให้เขาหมกมุ่นกับการถ่ายภาพมากขนาดนั้น?
ทิวทัศน์อันตระการตาและพลังของเทคโนโลยีคือคำตอบ
ก่อนจะครอบครองกล้องถ่ายรูปที่มีคุณสมบัติสูงในการจับภาพ ความสวยงามของธรรมชาติผ่านสายตาไม่ได้ก่อพันธะใดในจิตใจไปมากกว่าการชื่นชม แต่เมื่อมีกล้องถ่ายรูป ความรู้สึกว่าต้องจับภาพความสวยงามไว้ก่อนที่จะเลือนหายไปได้เข้าครอบงำความคิดจนกลายเป็นหน้าที่ผูกพันกึ่งจองจำ
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วในหมู่ผู้สนใจวรรณกรรมว่างานเขียนของปามุกกอดเกี่ยวอยู่กับอิสตันบูลที่เป็นบ้านเกิด เขาสำรวจ ตั้งคำถาม หาคำตอบ ตีความ ค้นหาความหมายจากสิ่งที่อยู่รายรอบในตัวเมืองและความคิดที่อยู่ภายในตัวเองจากทั้งเรื่องแต่งและเรื่องส่วนตัว เขาใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงในแต่ละวันไปกับการค้นคว้า คิดและเขียนงานในห้องทำงานเพื่อพูดถึงอิสตันบูลในแง่มุมที่เขาอยากพูดถึง ผ่านเรื่องราวที่เขาอยากเล่าในภาพแบบของนวนิยาย
แต่นั่นก็เป็นภาพที่เกิดจากถ้อยคำ
ช่วงที่ปามุกหลงใหลอยู่กับการถ่ายภาพเป็นช่วงเดียวกับที่เขากำลังเขียนนวนิยายชื่อ The Strangeness in My Mind ซึ่งเป็นนวนิยายว่าด้วยชีวิตชายคนหนึ่งที่เดินขายโบซาตามตรอกซอกซอยในยามค่ำคืนของอิสตันบูล และเป็นการสังเกตการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงของอิสตันบูลผ่านสายตาของชนชั้นแรงงาน สิ่งที่น่าสนใจก็คือในภาพถ่ายจำนวน 568 ภาพที่ผ่านการคัดเลือกมาตีพิมพ์จาก 8,500 ภาพ แทบไม่มีภาพคน (มีเพียงภาพเดียว) และภาพเหล่านี้แทบไม่มีบรรยากาศให้นึกถึงเรื่องราวใน The Strangeness in My Mind เลย ถึงแม้ว่าจะมีภาพของอาคารบ้านเรือนอันแออัดของอิสตันบูลหลายภาพแทรกอยู่ในเล่ม ราวกับว่าการถ่ายภาพของเขาตัดขาดออกจากต้นฉบับที่เขากำลังเขียนอยู่โดยสิ้นเชิง
แล้วถ้าภาพที่เขาถ่ายไม่สะท้อนถึงบรรยากาศของงานที่เขากำลังทำอยู่ ภาพถ่ายเหล่านี้สะท้อนถึงอะไร?
ปามุกได้กล่าวถึงความทรงจำในวัยเยาว์ช่วงทศวรรษ 1950s ที่เขาต้องมาเยือนย่านจิฮางกิชเพื่อเยี่ยมเยียนป้าของเขา โดยบอกไว้ว่า ภาพของทะเล หอคอยมัสยิด เรือขนถ่ายสินค้าในช่องแคบบอสฟอรัส ยังเปี่ยมล้นอยู่ในความทรงจำ และกล่าวว่าภาพทิวทัศน์จากระเบียงอพาร์ตเมนต์ของเขานั้นเป็นทิวทัศน์มุมเดียวกันกับที่ทูตจากต่างประเทศในสมัยออตโตมานมองเห็น และเป็นทิวทัศน์อันเป็นภาพแทนของอิสตันบูลในยุครุ่งเรืองจากการวาดภาพของศิลปินและนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่มาเยือนในยุคนั้น
เขายังกล่าวถึงความรู้สึกของ ‘ชั่วขณะ’ ที่เกิดขึ้นจากการแปรเปลี่ยนของธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ (การเดินเรือ) ที่ก่อให้เกิดความสวยงามจนเขาต้องลุกขึ้นมาจับภาพเก็บไว้ ภาพถ่ายเหล่านั้นจึงสะท้อนถึงความงดงามของจังหวะที่ประจวบกันพอดีของเวลาและเหตุการณ์ แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมดที่ภาพถ่ายสะท้อนออกมาและตัวเขาเอ่ยถึงผ่านถ้อยคำ ยังมีสิ่งล่องหนเห็นได้ที่ปามุกไม่ได้เอ่ยถึงออกมาตรงๆ และคงมีเพียงตัวเขาที่รู้เหตุผลว่าทำไม
ช่องว่างที่ปามุกเว้นไว้จึงเปิดโอกาสให้เราได้ตีความ
ในบทที่ 10 ของ Istanbul: Memories and the City ปามุกได้บรรยายถึงสิ่งที่เรียกว่าฮูซุน (Hüzün) ที่หมายถึงความเศร้าโศก (melancholy) ในภาษาตุรกี เขาได้บรรยายถึงความหมายดั้งเดิมของฮูซุนในเชิงศาสนาอิสลามว่าหมายถึงความเศร้าโศกที่เกิดจากการยึดติดในทางโลกมากเกินไป และอีกความหมายที่มีที่มาจากนิกายซูฟีคือความเศร้าโศกจากการการที่ไม่สามารถเข้าถึงอัลเลาะห์ได้อย่างเพียงพอในโลกใบนี้ และความเศร้าโศกจากการขาดความสามารถนี้ได้รับการยกย่องในวัฒนธรรมของอิสลาม และส่งผลต่อวัฒนธรรมด้านอื่นซึ่งสะท้อนออกมาผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน
แต่ถ้ามองจากความคิดด้านตะวันตก ความโศกเศร้ากลับถูกศึกษาในแง่มุมของความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากความหวาดกลัวต่อความรัก ความตาย ความพ่ายแพ้ ไปจนถึงการกระทำของปีศาจ เพื่อทำความเข้าใจและเรียนรู้ที่รักษาและอยู่กับมัน
ปามุกใช้ ‘ถ้อยคำ’ จากตัวเขาเองและจากความคิดของผู้อื่นจากทั้งโลกตะวันออกและตะวันตกในการสำรวจความหมายเชิงนามธรรมของฮูซุน เพื่อทำความเข้าใจอิสตันบูลจากองค์ประกอบต่างๆ และประกอบคำจากความเข้าใจของเขาออกมา เพื่อให้ภาพของสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเมืองที่เขารักผ่านตัวหนังสือ ว่าสิ่งนั้นสะท้อนออกมาอย่างไรบ้างผ่านผู้คนและบรรยากาศของเมือง นอกจากนั้น เขายังใช้ภาพถ่ายของอารา กูลาช (Ara Güler) ช่างภาพที่ถูกเรียกขานว่า “ดวงตาของอิสตันบูล” (The Eye of Istanbul) ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นช่างภาพที่บันทึกจิตวิญญาณของอิสตันบูลไว้ได้ดีที่สุดเพื่อช่วยในการถ่ายทอดความคิดที่เขามีต่อฮูซุนและเมืองที่เขารัก
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าและจบลงในปี 2005 ซึ่งเป็นปีที่ Istanbul: Memories and the City ตีพิมพ์ และในตอนนั้นปามุกยังไม่มีกล้องถ่ายรูปบนระเบียง
หากย้อนกลับไปดูช่วงระยะเวลาของการถ่ายภาพจะพบว่า ภาพทั้ง 8,500 ภาพนั้น ส่วนใหญ่ถ่ายในฤดูหนาว และปามุกเคยเอ่ยถึงฮูซุนกับฤดูหนาวไว้ว่า
“ในเช้าหนาวเย็นของฤดูหนาว เมื่อพระอาทิตย์สาดแสงไปยังบอสฟอรัส และไอจางๆ เริ่มลอยตัวขึ้นจากพื้นผิว ฮูซุนนั้นหนาแน่นจนเกือบจะสัมผัสได้ และเกือบจะมองเห็นมันแผ่ออกไปเหมือนเยื่อบางๆ ปกคลุมผู้คนและภูมิทัศน์ของเมือง”
คงจะไม่เกินเลยไปหากจะตีความผ่านบรรยากาศของภาพถ่ายว่าสิ่งที่ปามุกไม่ได้เอ่ยถึงตรงๆ และเป็นธีมหลักของการถ่ายภาพทั้งหมดแท้จริงแล้วคือฮูซุน และการถ่ายภาพคือการเข้าถึงความหมายที่ยังตกค้างอยู่จากการถ่ายทอดในผลงานชิ้นเก่า
กล้องถ่ายรูป (และคุณสมบัติของอุปกรณ์) ได้ให้อำนาจใหม่แก่ปามุกในการเข้าถึงอิสตันบูล แตกต่างจากสัมผัสเดิมของการคิดและขีดเขียนและการมอง รวมไปถึงอำนาจของการหยุดเวลาของเหตุการณ์ให้เข้ามาอยู่ในภาพถ่าย จากมุมมองสวยงามที่เคยเป็นสิ่งสามัญ กลายเป็นสิ่งพิเศษเมื่อถูกบันทึกได้ และอาจจะทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ภาพถ่ายมุมไกลของอิสตันบูลจากระเบียงอพาร์ตเมนต์ของเขาได้เข้าไปเติมเต็มสิ่งที่ตกหล่นจากปี 2005 ให้สมบูรณ์ เพราะนี่คือภาพจากอีกมุมที่เขามองเห็นและบันทึกเมืองที่เขารักด้วยตัวของเขาเอง
Fact Box
- อารา กูลาชเป็นเพื่อนต่างวัยที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อมุมมองเรื่องการถ่ายภาพ และการเป็นนักสะสมภาพเก่าของปามุก เขาเพิ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2018 ปามุกได้เขียนถึงความสัมพันธ์และความรู้สึกถึงกูลาชไว้อย่างซาบซึ้งสะเทือนใจ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถอ่านได้ที่นี่
- BALKON แบ่งเนื้อหาเป็นสองส่วน ได้แก่ รวมภาพถ่ายและข้อเขียนขนาดสั้นเสมือนคำนำเกี่ยวกับการสำรวจตัวเองเรื่องการถ่ายภาพของปามุก
- ‘วิญญาณในภาพถ่าย’ เป็นชื่อเพลงที่แต่งเนื้อร้องและทำนองโดยวิมล จงวิไล ขับร้องและบันทึกเสียงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2503 โดยทิวา เด่นประภา
- BALKON ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2018 โดย Steidl Publisher