ถ้าคุณรู้ตอนจบของหนังสือสไตล์สืบสวนสอบสวน คุณจะยังหยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาอ่านไหมครับ?

หลายคนคงตอบว่าไม่ แต่ผู้เขียนอยากให้เปิดใจกับหนังสือ ‘เลือดชั่ว: เรื่องลับและคำลวงเบื้องหลังบริษัทดาวรุ่งแห่งซิลิคอนแวลลีย์’ หนังสือเล่มหนาที่ว่าด้วยเรื่องซึ่งคนทั่วโลกต่างรู้ตอนจบว่าเทราโนสคือสตาร์ตอัพยูนิคอร์นลวงโลก และเอลิซาเบท โฮล์มส์คือผู้ประกอบการสุดฉาวผู้ก่อตั้งบริษัทที่ครั้งหนึ่งเคยมีมูลค่าร่วมหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่เคยสร้างเทคโนโลยีใดๆ ได้เป็นผลสำเร็จ แต่มีผลิตภัณฑ์สำคัญคือคำลวงที่บอกเล่าอย่างมั่นอกมั่นใจจนใครๆ ก็หลงเชื่อ

หนังสือเล่มนี้สนุกจนเข้าขั้นวางไม่ลง ห้ามพลาดหากคุณเป็นแฟนหนังสือระทึกขวัญฉบับแรงงานคอปกขาวที่เชือดเฉือนกันด้วยความน่าเชื่อถือที่เผยแพร่ตามสื่อกระแสหลัก ความเชื่อมั่นที่บริษัทได้รับจากเหล่าคนดังผู้ร่วมทุนและนั่งเป็นกรรมการ ความหวาดกลัวที่จะโดนฟ้องร้อง เสียงทุ้มต่ำชวนคล้อยตามและนัยน์ตาสีฟ้าที่สะกดทุกคนในห้องประชุมของเอลิซาเบท โฮล์มส์

จอห์น แครีรูว นักข่าวสืบสวนสอบสวนประจำสำนักข่าว Wall Street Journal ถ่ายทอดเรื่องราวของเทราโนสด้วยลีลาไม่ต่างจากการต่อจิ๊กซอว์ผ่านเรื่องเล่าตัวละครมากหน้าหลายตาผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยศรัทธาเทราโนสในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ แต่เมื่อเข้าไปทำงานจริง อดีตพนักงานเหล่านี้กลับได้สัมผัสความเน่าเฟะที่ซุกอยู่ใต้พรมและคำโกหกครั้งแล้วครั้งเล่าของโฮล์มส์ 

จิ๊กซอว์แต่ละชิ้นค่อยๆ ประกอบกันเป็นภาพใหญ่ในรูปแบบบทความถลกหนังยูนิคอร์นดาวรุ่งและนำมาสู่การตรวจสอบอย่างเข้มข้นโดยผู้กำกับดูแลภาครัฐ ก่อนที่ความมั่งคั่งของโฮล์มส์จะจมหายไปพร้อมกับการล่มสลายของเทราโนส กลายเป็นกรณีศึกษาราคาแพงสำหรับสื่อมวลชน ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ นักลงทุน รวมถึงทุกๆ คน

ถ้าคุณคือสื่อมวลชน 

ความโด่งดังจนไปถึงวันสิ้นชะตาของเทราโนสต่างมีสื่อมวลชนเป็นชนวน เอลิซาเบท โฮล์มส์ เริ่มเป็นที่จับตาของสาธารณชนหลังจากบทสัมภาษณ์ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร Wall Street Journal และ Wired แต่ชื่อเสียงของเธอพุ้งทะลุเป็นพลุแตกเมื่อเธอขึ้นปกนิตยสาร Fortune และมีการนำไปเปรียบเทียบกับผู้บริหารระดับตำนานอย่างสตีฟ จ็อบส์ และบิลล์ เกตส์ 

เมื่อเธอก้าวสู่ความโด่งดังในระดับดาราฮอลลีวูดเพียงชั่วข้ามคืน สื่อทั้งหลายต่างก็นำเสนอข่าวเอลิซาเบท โฮล์มส์ ในฐานะผู้ประกอบการสาวอัจฉริยะที่นั่งแท่นเศรษฐินีพันล้านอายุน้อยที่สุด บทความเชิดชูได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในเว็บไซต์และนิตยสารชั้นนำ แม้กระทั่งสำนักข่าวอย่าง Times ยังยกย่องให้เธอเป็น 1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

เรื่องราวความกลัวเข็มของเธอถูกถ่ายทอดซ้ำๆ พร้อมย้ำภาพเทคโนโลยีของเทราโนสที่จะขจัดความกลัวดังกล่าวโดยการตรวจสุขภาพง่ายๆ โดยใช้เลือดจากปลายนิ้วไม่กี่หยดแต่ให้ผลลัพธ์ที่เที่ยงตรงเช่นเดียวกับการเจาะเลือดตามวิธีปกติ นี่คือภาพฝันที่โฮล์มส์ขายให้กับสาธารณชนโดยมีสื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียง ทั้งที่ยังไม่เคยมีใครเห็นงานวิจัยที่ยืนยันคำกล่าวอ้างดังกล่าวอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

ในขณะที่สำนักข่าวส่วนใหญ่ต่างโหมประโคมเชิดชูโฮล์มส์ แครีรูวพบเห็นความไม่ชอบมาพากลของบริษัทและเริ่มตรวจสอบการทำงานอย่างเข้มข้น ก่อนจะเปิดเผยข้อเท็จจริงที่น่าตื่นตะลึงของบริษัทลวงโลกเป็นบทความหลายชิ้นซึ่งเป็นจุดจบของสาวน้อยมหัศจรรย์และคำโกหกของโฮมส์

สำนักข่าวสามารถเลือกได้ว่าอยากอยู่ฝั่งไหนในหน้าประวัติศาสตร์ระหว่างทำข่าวเกาะกระแส แต่ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้นก่อนนำเสนอ หรือนักข่าวที่ทำงานอย่างยากลำบากและเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี แต่ผลงานสามารถหยุดมหากาพย์แห่งความฉ้อฉลและป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็น ‘เหยื่อ’ คำลวงในอนาคต

ถ้าคุณคือผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่

บริษัทวอลกรีนส์ (Walgreens) เชนร้านขายยาใหญ่ที่สุดอันดับสองของสหรัฐฯ คือคู่ค้าสำคัญทางธุรกิจที่ต่อมากลายเป็นโจทก์ฟ้องร้องเทราโนส เพราะผู้บริหารวอลกรีนส์หลงคารมโฮล์มส์และตกลงทำสัญญาเปิดศูนย์สุขภาพกายใจเทราโนสในร้านวอลกรีนส์ทุกสาขาเพื่อให้บริการตรวจเลือดโดยใช้ตัวอย่างเลือดเพียงไม่กี่หยด

เทราโนสขอเลื่อนการเปิดตัวครั้งแล้วครั้งเล่า ส่วนพื้นที่ศูนย์สุขภาพกายใจที่กันไว้ก็ถูกทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ กระทั่งวอลกรีนส์ยื่นคำขาดเทราโนสจึงนำเครื่อง ‘มินิแล็บ’ กล่องสีเหลี่ยมสีขาวสะอาดที่บริษัทโพนทะนาว่าทำได้ทั้งเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ผลเลือดได้ในเครื่องเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เครื่องดังกล่าวจะเก็บตัวอย่างเลือดไม่กี่หยดแล้วนำไปวิเคราะห์ในห้องแล็บหลังบ้านเทราโนสโดยใช้เครื่องมาตรฐานที่วางขายอยู่ทั่วไป แต่แก้ไขซอฟต์แวร์ให้สามารถตรวจตัวอย่างเลือดที่เจือจางกว่าปกติ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่เที่ยงตรงนัก

สิ่งที่ทำให้ผู้บริหารวอลกรีนส์ตัดสินใจผิดพลาด นอกจากความน่าเชื่อถือของโฮมส์แล้ว ยังรวมถึงความกลัวที่จะพลาดโอกาสหรือศัพท์วัยรุ่นที่ย่อว่า FOMO (Fear of Missing Out) เพราะหากนวัตกรรมดังกล่าวใช้ได้จริงและวอลกรีนส์ไม่คว้าเอาไว้ เทราโนสก็ย่อมนำโครงการไปขายให้กับคู่แข่งซึ่งจะทำให้วอลกรีนส์เสียเปรียบในระยะยาว

นี่คือบทเรียนราคาแพงของวอลกรีนส์ที่ต่อมากลายเป็นคู่กรณีกับเทราโนส หลังจากที่ถูกเปิดโปงว่าผลการตรวจเลือดที่ศูนย์สุขภาพกายใจจำนวนมากไม่ได้มาตรฐาน นำไปสู่การเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้บริโภคที่นอกจากจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเสื่อมเสียชื่อเสียงในฐานะแบรนด์ที่เสนอบริการทางสุขภาพที่ไม่น่าเชื่อถือแก่ประชาชน

ถ้าคุณคือนักลงทุน

บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) คำที่หลายคนเห็นแล้วทำหน้ายี้ เพราะเป็นเรื่องกลไกการตรวจสอบควบคุมภายในกิจการที่แสนจะน่าเบื่อหน่าย ไม่ตื่นเต้นเร้าใจเหมือนกลยุทธ์การขยายกิจการ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือธุรกรรมทางการเงินมหัศจรรย์ที่จะปั่นให้งบการเงินสวยหรู

กรณีของเทราโนสคือตัวอย่างหนึ่งของบริษัทที่กลไกบรรษัทภิบาลทำงานบกพร่อง เพราะคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยเหล่าผู้มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา ทั้งอดีตรัฐมนตรี ทนายความมือหนึ่ง รวมถึงทหารระดับนายพล ต่างเชื่อมั่นในตัวโฮล์มส์มากเกินไปจนไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเลขและความก้าวหน้าที่โฮมส์นำเสนอ หรือกระทั่งหลับตาข้างเดียวกับความสัมพันธ์ฉันชู้สาวระหว่างโฮล์มส์และผู้บริหารอันดับสองของบริษัท

ปัญหาสำคัญของโครงสร้างบริษัทสมัยใหม่คือปัญหาตัวแทน (Agency Problem) เมื่อโลกธุรกิจสลับซับซ้อนมากขึ้น นายทุนจึงเลือกที่จะแต่งตั้งผู้บริหารมืออาชีพมาทำงานให้เงินงอกเงย ส่วนตัวนายทุนเองนั่งเก้าอี้คณะกรรมการคอยกำกับดูแลอีกทีหนึ่ง กลไกดังกล่าวสำคัญอย่างยิ่งเพราะแรงจูงใจของเหล่าผู้บริหารคือผลประโยชน์ที่กอบโกยจากบริษัทเข้ากระเป๋าสตางค์ ส่วนแรงจูงใจของนายทุนคือการแสวงหาช่องทางให้ธุรกิจมีมูลค่ามากที่สุด ไม่ใช่ลงทุนให้ผู้บริหารนำเงินทองไปเสวยสุขแต่ไม่ทำงาน

นี่คือสาเหตุหนึ่งที่สตาร์ตอัพมูลค่ามหาศาลลังเลที่จะเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพที่มักนั่งตำแหน่งผู้บริหารอาจเสียอิสระในการตัดสินใจหรือกระทั่งโดนปลดออก อีกทั้งบริษัทมหาชนต้องเผชิญกับกลไกธรรมาภิบาลที่รัดกุมกว่าและการตรวจสอบที่เข้มข้นในระดับทุกบาททุกสตางค์จากนักวิเคราะห์

สำหรับนักลงทุนหลายคน บรรษัทภิบาลเป็นเรื่องที่แสนจะน่าเบื่อหน่าย แต่หากบริษัทใดทำงานโดยไร้ธรรมาภิบาลหรือโครงสร้างไม่แข็งแรง ก็เป็นการเปิดช่องให้หายนะมาเยือนในอนาคต

ถ้าคุณคือประชาชน

หลังจากสื่อมวลชน ผู้บริหาร และนักลงทุนต่างถูกหลอก เหยื่อรายสุดท้ายก็หนีไม่พ้นประชาชน หลังจากการตรวจเลือดโดยใช้ตัวอย่างจำนวนน้อยนิดจากปลายนิ้วของเทราโนสเปิดให้บริการเต็มตัว ประชาชนเรือนแสนได้เสียเงินไปใช้บริการและได้ผลลัพธ์ที่ผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย

ลองจินตนาการดูนะครับ ว่าคุณในฐานะผู้บริโภคจะรู้สึกอย่างไรหากไปเจาะเลือดแล้วผลออกมาว่าคุณมีค่าโพแทสเซียมในเลือดสูงผิดปกติและเสี่ยงต่อการหัวใจวาย หรือเอนไซม์ตับสูงเข้าข่ายเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยได้รับผลการตรวจว่ามีค่าผิดปกติจากห้องแล็บเทราโนส จึงต้องเสียทั้งเงินและเวลาเพื่อไปตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งแล้วพบว่าไม่มีปัญหาทางสุขภาพใดๆ

นอกจากต้นทุนทางการเงินแล้ว ปัญหาสุขภาพยังสร้างต้นทุนทางอารมณ์และกลายเป็นตัวจุดเริ่มต้นของการขุดคุ้ยเรื่องราวลวงโลกของเทราโนส เมื่อผู้บริโภครวมถึงแพทย์เองเริ่มกล่าวโจมตีผลทดสอบของบริษัทว่าไร้ความน่าเชื่อถือ โชคดีที่เทราโนส ‘โป๊ะแตก’ ก่อนที่จะได้ขยายไปอยู่ในสาขาของวอลกรีนส์กว่าแปดพันแห่งทั่วประเทศ มิฉะนั้นจำนวนเหยื่อคงจะมากกว่านี้

เอลิซาเบท โฮล์มส์ ไม่ใช่ผู้ประกอบการฉาวคนสุดท้ายที่สามารถหลอกล่อสื่อมวลชน ผู้บริหาร นักลงทุน และประชาชน ให้เคลิ้มไปกับคารมชวนคล้อยตามและบุคลิกภาพที่ชวนเชื่อมั่น เพราะไม่นานมานี้ อดัม นิวมันน์ ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ WeWork ที่เคยเป็นสตาร์ตอัพดาวรุ่งมูลค่าหลักพันล้านก็ถูกเปิดโปงถึงกลโกงฟันเอาเงินจากบริษัทเข้ากระเป๋าส่วนตัว จนในที่สุดต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง

‘เลือดชั่ว’ จึงเป็นหนังสือนิทานสอนใจที่ใครๆ ก็ควรได้อ่านเพื่อสร้างวิจารณญาณก่อนการตัดสินใจ ‘เชื่อ’ ทุกคำพูดที่ออกมาจากปากผู้ประกอบการสตาร์ตอัพโดยไม่ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน

Fact Box

  • เลือดชั่ว: เรื่องลับและคำลวงเบื้องหลังบริษัทดาวรุ่งแห่งซิลิคอนแวลลีย์’  (Bad Blood: Secrets and Lies in a Silicon Valley Startup) John Carreyrou เขียน / สฤนี อาชวานันทกุล แปล สำนักพิมพ์: Salt Publishing
Tags: ,