“เพื่อจะเข้าใจโลกสมัยใหม่ได้ดีพอ ความเข้าเรื่องแฟชั่นเป็นสิ่งจำเป็น” —ลาร์ส สเวนด์เซน (Lars Svendsen)

ผู้เขียนถูกทักเรื่องสวมแว่นดำติดตาตลอดทั้งกลางวันกลางคืน บ้างก็ว่าพยายามจะเลียนผู้กำกับอย่างหว่องการ์ไว บ้างก็ว่าแอบใช้ยาเสพติดหรือเปล่า ทุกคำถามดูเหมือนจะเชื่อมโยงกับ ‘สัญญะ’ ที่แต่ละคนหยิบยื่นความหมายให้ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่พูดตรงกันเรื่องแว่นดำเป็นการ ‘ปกปิด’ ความรู้สึกภายในดวงตา ซึ่งปลายทางกลายเป็นสัญญะแทนการแสดงออก เช่น ความรัก ความโศกเศร้า ซึ่งก็เป็นสิ่งที่โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) นักสัญศาสตร์ชื่อดังได้รจนาไว้ในงาน A Lover’s Discourse: Fragments อย่างงดงามละเมียดละไม

โรล็องด์ บาร์ตส์ นักสัญศาสตร์ชาวฝรั่งเศส

หากว่าจะไปผู้เขียนบทความมิได้นึกถึงประโยชน์ใช้สอยในแง่สัญญะสักเท่าไหร่ แต่เพราะเริ่มทวงทักกันบ่อยเข้า ก็เลยทำให้อยากกลับไปค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความหมายเชิงวัฒนธรรมของเจ้าสิ่งนี้ และก็ได้พบว่ามีงานศึกษาทางสังคมจำนวนไม่น้อย ที่ให้ความสำคัญกับปฏิกิริยาของคนทั่วไปต่อการใส่แว่นดำในห้วงเวลาต่างๆ และนี่ก็เป็นเรื่องราวที่เราจะได้คุยกันต่อไปข้างหน้า

ชีวประวัติย่อของแว่นดำ

ใน The Language of Fashion หนังสือรวมบทความเกี่ยวกับแฟชั่นของโรล็องด์ บาร์ตส์ ได้กล่าวถึงความสอดพ้องข้องเกี่ยวระหว่างภาษาและเครื่องแต่งกายไว้อย่างน่าสนใจ โดยบุคคลหนึ่งที่วางกรอบอธิบายไว้ก่อนหน้าบาร์ตส์ก็คือเจ้าชายนักภาษาศาสตร์ นิโคไล ตรูเบตซกอย (Nikolai Trubetzkoy) ซึ่งทั้งบาร์ตส์และตรูเบตซกอยต่างก็ได้สมาทานความคิดมาจากแฟร์ดินงด์ เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure) ผู้แบ่งแยกภาษาออกเป็นระบบภาษา (Langue) และภาษาที่เราใช้ (Parole)

ระบบภาษาคือสิ่งที่เราเรียนรู้จากห้องเรียน หรือสังคมทั่วไป ทว่าเมื่อถึงคราวต้องใช้จริง ภาษาที่เราพูด เขียนนั้นก็มีลักษณะเฉพาะและแตกต่างไป เช่นเดียวกัน บาร์ตส์/ตรูเบตซกอย จึงได้เสนอว่ารูปแบบการแต่งกายที่คนในสังคมรู้จักนั้นก็อาจเทียบได้กับระบบภาษา โดยที่การแต่งกายของเราแต่ละคน การเลือกใส่เสื้อผ้า กางเกง กระโปรง และเครื่องประดับต่างๆ อาจเปรียบได้กับภาษาที่เราใช้

บทความนี้จึงอาจเรียกได้ว่ามุ่งเน้นศึกษารูปแบบการแต่งกาย อันเปรียบได้กับระบบภาษา ซึ่งเป็นผลิตผลทางสังคม โดยไม่ลืมว่าจุดตั้งต้นทั้งหมดมาจากลักษณะเฉพาะ หรือภาษาที่ผู้เขียนใช้ผ่านการหยิบแว่นดำมาสวมใส่

ในทุกวันนี้ดูแทบจะไม่มีใครไม่มีแว่นกันแดดเป็นของตัวเอง ด้วยเพราะมันได้กลายเป็นสินค้าธรรมดา ซึ่งเราสามารถซื้อหาได้ตั้งแต่ราคาหลักสิบไปจนถึงหลักแสน แต่ก่อนที่เราจะหยิบยื่นความหมายต่างๆ ให้ แว่นดำ/แว่นกันแดด มันก็เป็นเหมือนแว่นสายตา คือถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อประโยชน์ใช้สอยทางด้านการมองมากกว่าจะเป็นอุปกรณ์ตกแต่งบนใบหน้า

ย้อนกลับไปก่อนศตวรรษที่ 20 แว่นที่มีกระจกสีโดยเฉพาะเฉดน้ำเงิน หรือเขียว ที่เริ่มใส่กันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 นั้น มีไว้เพื่อแก้สายตา และโดยมากแล้วก็นิยมสวมใส่ในบ้านมากกว่าใส่ออกไปข้างนอกบ้าน คงมีที่กรุงเวนิส ประเทศอิตาลีในช่วงกลางของศตวรรษที่ 18 เท่านั้นที่แว่นเฉดเขียวมีไว้กันแสงสะท้อนจากผิวน้ำเข้าดวงตาขณะนั่งเรือ

จะเห็นได้ว่าแว่นกระจกย้อมสี หรือแม้แต่แว่นสายตาธรรมดาทั่วไปมิได้เป็นอุปกรณ์เสริมสร้างบุคลิกภาพแต่อย่างใด เพราะการใช้แว่นเพื่อมองยังคงถูกจำกัดทั้งระยะเวลาและพื้นที่อย่างชัดเจน โดยมิต้องกล่าวถึงนัยยะแห่งความโก้เก๋ ความเท่ หรือโลกแห่งแฟชั่น ซึ่งต้องล่วงผ่านศตวรรษที่ 20 ไปแล้วหลายสิบปี ถึงจะเป็นอย่างนั้น

ถ้าเราพิจารณาพวกแดนดี้ (Dandy) หรือหนุ่มสอางค์อย่างโบ บรัมเมลล์ (Beau Brummell) ผู้เปรียบเหมือนมนุษย์แห่งแฟชั่นของศตวรรษที่ 19 ก็จะพบข้อมูลน่าสนใจ เพราะบรัมเมลล์มีปัญหาสายตาสั้น แต่เขากลับเห็นว่าการไม่ใส่แว่นจะเสริมสร้างบุคลิกมากกว่า ดังนั้นเราจึงแทบไม่เคยเห็นบรัมเมลล์มีเลนส์ติดตา หรือแว่นมิได้เป็นอุปกรณ์จำเป็นเหมือนเช่น นาฬิกา หมวก ผ้าพันคอ และไม้เท้าอันเป็นเครื่องประดับของแดนดี้

กระนั้นค่านิยมของบรรดาแดนดี้ถือได้ว่าสอดพ้องกับแนวคิดเรื่องการใส่แว่นดำของบางกลุ่มคนในปัจจุบันที่ใช้ปกปิดอารมณ์ทางสายตา หรือพูดง่ายๆ ว่าพวกเขาจะต้องเมินเฉยต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในการรับรู้ให้มากที่สุด ซึ่งคุณลักษณะของแดนดี้ข้อนี้ได้รับอิทธิพลมาจากพวกอภิชน (aristocrat) ที่นอกจากดาบและปืนแล้วก็ยังใช้การมองผู้อื่นเป็นอากาศธาตุ ไม่ให้ค่าทางสายตาเป็นอาวุธในการประณามหยามเหยียดผู้ดีด้วยกัน ดังนั้นใครที่ใช้วิธีนี้ตอบโต้สิ่งที่ตัวเองไม่ชอบแทนการวิพากษ์วิจารณ์ดังๆ ก็จงรู้ไว้เถิดว่า ตัวท่านมีความเป็นผู้ดีอยู่ในตัวไม่มากก็น้อย

การควบคุมไม่ให้ตัวเองแสดงความรู้สึกผ่านสายตานี้สอดพ้องกับประโยชน์ใช้สอยของแว่นดำ เพราะถ้าโบ บรัมเมลล์มีชีวิตอยู่มาถึงศตวรรษที่ 20 ก็ชัดเจนว่าเขาน่าจะเป็นบุคคลหนึ่งที่ใส่แว่นดำติดตาตลอดเวลา เช่นเดียวกับคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ นักออกแบบชื่อดังชาวเยอรมัน เพราะเจ้าเครื่องประดับชนิดนี้สามารถทำให้บรัมเมลล์เก็บซ่อนอารมณ์ทางสายตาได้อย่างมิดชิด หากจะมิดชิดแค่ไหน หรือเพียงใดนั้น เราจะได้วิเคราะห์กันอย่างลงลึกอีกทีหนึ่ง แต่ตอนนี้คำถามหนึ่งซึ่งผู้เขียนพยายามจะตอบก็คือแว่นดำเข้ามาสู่โลกของแฟชั่นหรือระบบการแต่งกายตั้งเมื่อไหร่กัน

แฟชั่น ความเร็ว ความเท่ และโลกใต้ดิน

หากเราถือว่ามหานครในยุโรปช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 คือภาพแทนของชีวิตอันรวดเร็ว และไม่ผูกสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งระหว่างคนกับคน ดังเช่นที่นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน เกออร์ก ซิมเมล (Georg Simmel) ได้อธิบายไว้ในบทความคลาสสิค Metropolis and the Mental Life (1903) เราก็จะพบว่า ชีวิตอันรวดเร็วนั้นส่งผลต่อรูปแบบการแต่งกายไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

เครื่องประดับที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในโลกของแฟชั่นก่อนก็คือหน้ากากกันลม แบบที่นักแข่งรถ หรือนักขับเครื่องบิน (aviator) ใช้ โดยจะเห็นได้ว่า แฟชั่นของสุภาพสตรีในช่วงปี 1920 จะมีหน้ากากกันลมเข้ามาเป็นเครื่องประดับเหนือศีรษะ

ปกนิตยสาร Vogue ในช่วงปี 1925 ที่ผสานแฟชั่นของสุภาพสตรีเข้ากับเครื่องแต่งกายของนักแข่งรถ ผลงานของจอร์จส์ เลอปาป (Georges Lepape)

ความเร็วและแฟชั่นกลายเป็นภาพสะท้อนของกันและกัน โลกใบใหม่ที่รออยู่ข้างหน้าคือโลกในอัตราเร่ง ซึ่งการจะแลเห็นโลกเหล่านั้นได้ชัดเจนจำต้องมีแว่น หรือหน้ากากกันลม แฟชั่นในห้วงเวลานี้เองได้ขับเน้นความเป็นจักรกลของมนุษย์ หรือความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่มนุษย์และเครื่องจักรจะผสานรวมกัน เช่นที่สะท้อนให้เห็นในภาพยนตร์เรื่องดัง Metropolis (1927) ของผู้กำกับชาวเยอรมัน ฟริทซ์ ลังก์ (Fritz Lang)

ส่วนแว่นดำ/แว่นกันแดด ที่แม้จะเป็นสินค้าซึ่งมีจำหน่ายโดยทั่วไป ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 แล้วนั้น กว่าจะเรียกว่ามีอิทธิพลจริงๆ ต่อวงการแฟชั่นก็ต้องย่างเข้าสู่ทศวรรษที่ 1930 ไปแล้ว โดยผู้ที่ทำให้การใส่แว่นดำเริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลายขึ้นมาก็คือเหล่าดารานักแสดงที่ใช้วันหยุดพักผ่อนนอนอาบแดดในเมืองตากอากาศ

ภาพบนปกนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์ที่คนดังผิวสีแทนสวมแว่นดำทำให้คนทั่วไปเริ่มเห็นนัยยะทางแฟชั่น โดยหนึ่งในบุคคลที่ถือเป็นไอคอนสำคัญในเวลานั้นก็คือ บรรณาธิการชื่อดัง หลุยส์ ดาห์ล วูลฟ์ (Louis-Dahl-Wolfe) แห่งนิตยสาร Harper’s Bazaar ที่ทำให้แว่นดำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระแสแฟชั่นอย่างเต็มตัว

ภาพของบก.แฟชั่นชื่อดัง หลุยส์ ดาห์ล วูลฟ์ แห่งนิตยสาร Harper’s Bazaar ที่ถ่ายไว้ในปี 1938

คงผิดไม่ไปจากความจริงนัก หากจะกล่าวว่า แว่นดำเป็นแฟชั่นจากนอกเมือง มาก่อนจะกลายมาเป็นแฟชั่นเมือง (และห้วงเวลาเดียวกันนี้เองที่แว่นดำได้กลายเป็นเครื่องป้องกัน หรือหลบซ่อนตัวของบรรดาดาราจากการจับจ้องของพวกปาปารัซซี่ที่เริ่มติดตามขโมยภาพชีวิตส่วนตัวมาขาย)

ความเท่ (cool) ก็เป็นแนวคิดหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นอย่างสอดพ้องสัมพันธ์กับการสวมแว่นดำของบรรดานักดนตรีแจ๊สในช่วงทศวรรษที่ 1940 ซึ่งแน่นอนว่าการใส่แว่นดำของคนดำเพื่อต่อต้านค่านิยมทางสังคม (เช่น ใส่แว่นดำแม้ในยามค่ำคืน) ก็เป็นอิทธิพลตกทอดมาถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างแบล็คแพนเธอร์ (Black Panther) ในช่วงทศวรรษที่ 1960 และอาจเชื่อมโยงมาถึงนักร้อง-นักดนตรีฮิปฮ็อปในทศวรรษที่ 90 จนถึงปัจจุบัน

โรเบิร์ท เจมส์ ฮัตตัน (Robert James Hutton) หนึ่งในผู้นำของ Black Panther Party

ความเท่ตามบทนิยามของนักดนตรีแจ๊สได้ถูกประยุกต์ใช้กับอาชญากรและผู้ดำรงอยู่ในโลกใต้ดินด้วยเช่นกัน แว่นดำกลายเป็นอุปกรณ์เฉพาะเพื่อปกปิดสายตาของบรรดาเหล่ามิจฉาชีพและนักค้ายานับจากทศวรรษที่ 1940 เรื่อยมา ก่อนที่ภาพของอาชญากรใส่แว่นดำนี้จะถูกผลิตซ้ำผ่านภาพยนตร์อาชญากรรมในอีกทอดหนึ่ง

จากตัวอย่างที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า นัยยะของการใส่แว่นดำนั้นปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าการสวมใส่แว่นดำจะถูกนิยามความหมายอย่างไรในสังคม (ผ่านระบบการแต่งกาย หรือ langue) ทว่าการเลือกใส่แว่นดำของเราแต่ละคนต่างนั้นก็มีลักษณะเฉพาะหรือเป็น parole อยู่ด้วย

ความยอกย้อนของการซ่อนความรู้สึก

หากการใส่แว่นดำเป็นความพยายามเก็บซ่อนความรู้สึกในดวงตา ซึ่งเชื่อกันมาอย่างยาวนานว่าเป็นหน้าต่างของหัวใจ โรล็อง บาร์ตส์ ก็เป็นผู้หนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า มันอาจไม่ง่ายดายอะไรแบบนั้น  

ใน A Lover’s Discourse: Fragments บทที่ชื่อว่า Dark Glasses บาร์ตส์ได้ชี้ให้เห็นถึงความยอกย้อนของการเก็บซ่อนความรู้สึก ที่แน่นอนว่าหากปราศจากแว่นดำเป็นเครื่องปกปิดแล้วก็ย่อมจะรับรู้ได้ทันทีว่าผู้สวมแว่นดำมีความรู้สึกเอ่อท้นภายในอย่างไร

บาร์ตส์โยงใยการปกปิดเข้ากับความรู้สึกที่แสดงออกไม่ได้ ด้วยเพราะเหตุผลหรือเงื่อนไขบางอย่าง แต่การเก็บกั้นอารมณ์ในโลกแห่งสัญญะ มันมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้นมากมายหลายเท่า เพราะการอำพรางดวงตาที่อาจบวมช้ำจากการร้องไห้ (ซึ่งเป็นความเสียใจอันเป็นผลลัพธ์ด้านกลับของความรัก) ในอีกทางก็คือการทำให้ผู้แลเห็นการปกปิดอย่างชัดเจน พร้อมตั้งคำถามต่อตัวเราว่า “เกิดอะไรขึ้น” หรือ “เป็นอะไรหรือเปล่า” และจากจุดนี้การปกปิดก็นำไปสู่การเปิดเผย ดังนั้นแล้ว การสวมใส่แว่นดำในฐานะของภาษาเฉพาะ จึงอาจเป็นการงำความเพื่อเปิดหนทางไปสู่การแสดงออกโดยไม่ต้องบอกกล่าว

ถึงตรงนี้ ผู้เขียนเหมือนจะเข้าถึงสัจธรรมบางอย่างที่ว่า การปกปิดดวงตาด้วยแว่นดำนั้นที่สุดแล้วอาจหมายถึงการเปิดเผย ดังนั้นการเปิดให้เห็นแววตาก็อาจเป็นอีกหนทางที่ช่วยให้เราปกปิดความรู้สึกภายในอย่างแนบเนียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยามที่เราสามารถควบคุมหัวใจไม่ให้แสดงออกผ่านสายตา ซึ่งนั่นก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นเรื่องง่ายเลย เว้นเสียแต่ว่าเราจะสามารถทำได้อย่างที่ฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) กล่าวไว้ว่า “ผมแสร้งแสดงได้ด้วยการทำสิ่งต่างๆ จริงๆ โดยการแสร้งทำเป็นแสร้งทำอีกทีหนึ่ง”

 

อ้างอิง

  • Roland Barthes, The Language of Fashion, (Oxford & New York: Berg, 2006)
  • Roland Barthes, translated by Richard Howard, The Lover’s Discourse: Fragments, (London: Penguin, 1979)
  • Vanessa Brown, Cool Shade: The History and Meaning of Sunglasses, (London: Bloomsbury, 2015)
Tags: , , , , , , , , , ,