ณ กรุงลอนดอนในปี 1914 สองหนุ่มจากโปแลนด์ผู้คลั่งไคล้นวนิยายของโจเซฟ คอนราด (Joseph Conrad) กำลังเลือกซื้อหมวกกะโล่ เสื้อซาฟารี รองเท้าบู้ทเดินป่า อุปกรณ์สารพัดสารพันสำหรับการท่องโลกตะวันออกเป็นหนแรกกันอย่างขะมักเขม้น

มองอย่างผาดเผิน ฉากตอนของความสาละวนนี้สามารถบรรจุไว้ภาพยนตร์ผจญภัยแนวครอบครัว หรือเรื่องตลกชวนหัวได้ หากว่าทั้งสองไม่ใช่ โบรนิสลาฟ มาลินอฟสกี (Bronislaw Malinowski) นักวิชาการหนุ่มวัยสามสิบ กับ สตานิสลาฟ อิกนาซี วิตคีวิซ (Stanisław Ignacy Witkiewicz) จิตรกร-นักเขียนวัยยี่สิบเก้าที่ชีวิตรักเพิ่งจะพังพินาศเพราะคู่หมั้นฆ่าตัวตาย

โบรนิสลาฟ มาลินอฟสกีกับชาวเกาะ Trobriand

สตานิสลาฟ อิกนาซี วิตคีวิซ จิตรกร-นักเขียนชาวโปแลนด์ในวัยหนุ่มกับบิดาของเขา

นี่เป็นการผจญภัยที่มีขึ้นเพื่อเป้าหมายปลายทางแตกต่างกัน ด้วยสำหรับฝ่ายแรกนั้นการท่องโลกหนนี้อาจทำให้เขาเป็นตำนาน หรือได้ชื่อว่าเป็น ‘โจเซฟ คอนราดแห่งโลกมานุษยวิทยา’ ในขณะที่ฝ่ายหลังการรับงานเป็นผู้ช่วยฝ่ายแรกในตำแหน่งนักวาดและช่างภาพอาจช่วยเยียวยาและบำบัดรักษาแผลใจได้ อย่างน้อยๆ ก็ในความคิดของมารดาผู้ผลักดันให้เขาเข้าร่วมการเดินทางในครั้งนี้

นักมานุษยวิทยากับจิตรกรเจ้าปัญหา

มาลินอฟสกีเคยเล่าว่า เขาสนใจวิชามานุษยวิทยา (หรือชาติพันธุ์วรรณนา) เพราะได้อ่านงาน The Golden Bough (1890) ของเซอร์ เจมส์ เฟรเซอร์ (Sir James Frazer) ตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ในประเทศเยอรมัน เขาย้ายมาศึกษาต่อที่ London School of Economics (LSE) และเริ่มใช้ข้อมูลของนักชาติพรรณวรรณนาในงานวิจัยรูปแบบการแรกเปลี่ยนของชาวอะบอริจินในออสเตรเลีย แต่แวดวงวิชาการเริ่มรู้จักเขาจริงๆ ก็ตอนได้ตีพิมพ์ผลงาน Argonauts of the Western Pacific (1922) ที่ทำให้เขาโด่งดังและเป็นที่ยอมรับในฐานะของนักมานุษยวิทยาคนสำคัญของโลก โดยบุคคลที่เขียนคำนำให้เขาก็คือเซอร์ เจมส์ เฟรเซอร์นั่นเอง

การได้ไปเห็นโลกของชนพื้นเมืองด้วยตาในเวลานั้นถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสำหรับมาลินอฟสกี เขาจึงสมัครเข้าร่วมกับคณะสำรวจของดับเบิลอาร์ มาร์เลทท์ (R.R. Marett) เพื่อออกเดินทางไปศึกษาชนพื้นเมืองในทวีปออสเตรเลีย ในปี 1914 แต่เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น มาลินอฟสกีซึ่งเป็นคนในบังคับของอาณาจักรออสโตร-ฮังการีที่เป็นคู่กรณีของสหราชอาณาจักรจึงไม่สามารถเดินทางกลับเกาะอังกฤษได้ เขาจึงต้องอยู่ที่ออสเตรเลียยาวนานกว่ากำหนด และทำให้เขาได้มีโอกาสศึกษาชนพื้นเมืองบนเกาะปาปัวนิวกีนีอันเป็นจุดเริ่มต้นของผลงานสำคัญ Argonauts of the Western Pacific

วิตคีวิซ หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า วิตเคซี (Witkacy) ซึ่งในหนหลัง เรามักจดจำเขาได้ในฐานะของหัวก้าวหน้าหนึ่งในสามทหารเสือแห่งโปแลนด์ที่ประกอบด้วยวีโทลด์ กอมโบรวิซ (Witold Gombrowicz) กับ บรูโน ชูลซ์ (Bruno Schulz) ผลงานสำคัญที่วิตคีวิซได้เขียนทิ้งไว้ก่อนเขาจะเสียชีวิตไม่นานก็คือนวนิยายที่มีชื่อว่า Nienasycenie (1930) หรือ Insatiability ที่บอกเล่าเรื่องราวในช่วงปี 2000 ที่อาณาจักรมองโกล สามารถยึดครองโลกได้สำเร็จ และปกครองด้วยยา DAVAMESK B 2 เขาจงใจใช้จีน-มองโกลเป็นภาพเปรียบของโซเวียต แต่ใครจะรู้เล่าว่าเมื่อปี 2000 มาถึง จีนจะกลับกลายเป็นมหาอำนาจของโลกจริงๆ

วิตคีวิซเป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของจิตรกร-นักวิจารณ์ชื่อดัง สตานิสลาฟ วิตคีวิซ (Stanisław Witkiewicz) ซึ่งก็ทำให้เขาชอบจะใช้ชื่อ วิตเคซี เพื่อตัดขาดและแยกตัวออกมาจากร่มเงาของตระกูลวิตคีวิซ เขาเกิดที่กรุงวอร์ซอว์ ตลอดวัยเด็กได้รับการศึกษาโดยบิดาและบรรดาครูสอนพิเศษที่มาสอนเขาที่บ้าน ในปี ค.ศ. 1890 ครอบครัวของเขาย้ายไปพำนักที่เมืองซาโคเพน (พรมแดนระหว่างออสเตรีย-โปแลนด์) และด้วยความเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ทางดนตรีและศิลปะ เขาสามารถเล่นเปียโน วาดรูป และเขียนบทละครได้ตั้งแต่ตอนอายุเพียงหกขวบ

ในปี ค.ศ. 1893 หรือขณะมีอายุได้เพียงแค่แปดขวบ เขาได้เขียนและตีพิมพ์บทละครเรื่อง Karaluchy หรือ แมลงสาบ ออกมา ในช่วงวัยเด็ก วิตคีวิซมีโอกาสได้รู้จักและคบหากับอัจฉริยะบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักคณิตศาสตร์คนดังอย่างเลออน ชวิสเตค (Leon Chwistek) นักประพันธ์เพลง คารอล ซิมานอฟสกี (Karol Szymanowski) และแน่นอนที่สุด โบรนิสลาฟ มาลินอฟสกี

ปี 1901 เขาเดินทางไปพำนักอยู่ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กชั่วระยะเวลาหนึ่ง และปีถัดจากนั้น วิตคีวิซก็เริ่มต้นเขียนความเรียงทางปรัชญาที่ชื่อว่า ว่าด้วยทวินิยม และ ปรัชญาของโชเพนเฮาเออร์กับผู้เกี่ยวข้องและบรรพบุรุษของเขา ก่อนจะเขียนตำราปรัชญาและศึกษาภาษาและวรรณคดีต่างประเทศอย่างจริงจัง ปี 1904 วิตคีวิซ ออกเดินทางไปพำนักพักพิงยังนครเวียนนา มิวนิค และประเทศอิตาลี แล้วจึงกลับสู่บ้านเกิดโปแลนด์ในปี 1905

เขาก็ขัดขืนคำสั่งพ่อด้วยการสมัครเข้าเรียนในสถาบันสอนศิลปะในเมืองคราเคา หากหลังจากเรียนไปได้ไม่นาน เขาก็ลาออกและออกเดินทางกลับซาโคเพน หนึ่งปีหลังจากนั้นเขาเดินทางไปกรุงเวียนนาอีกหน ที่นั่นเอง เขาได้ชมนิทรรศการภาพเขียนของปอล โกแก็ง ซึ่งทำให้เขาตัดสินใจเรียนวาดกับศิษย์เอกของโกแก็งผู้มีนามว่า สเลวินสกี (Slewinski) หลังจากนั้นวิตคีวิซก็ได้เดินทางไปปารีสเพื่อดูงานของกลุ่มจิตรกรโฟวิสม์และคิวบิสม์ ระหว่างนั้นเขาได้เริ่มต้นเขียนนวนิยายเรื่อง 622 upadki Bunga, czyli Demoniczna kobieta

ในช่วงปี 1914 วิตคีวิซได้มีปากเสียงกับฌาดวีกา ฌานเชฟสกา (Jadwiga Janczewska) คู่หมั้นของเขา และภายหลังจากนั้นไม่นาน เธอก็ฆ่าตัวตาย วิตคีวิซรู้สึกว่าตัวเองคือสาเหตุสำคัญ และนั่นทำให้ให้แม่ของเขาพยายามส่งเขาออกเดินทางไปพร้อมกับคณะของมาลินอฟสกี

ฌานเชฟสกา (Jadwiga Janczewska) คู่หมั้นของวิตคีวิซที่ฆ่าตัวตาย

คำเชิญชวนสู่การเดินทาง

เส้นทางเดินเรือทำให้คณะเดินทางจากอังกฤษมีเวลาแวะพักที่อียิปท์ช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนจะล่องเรือไปสู่เอเชียใต้ โดยประเทศที่ทั้งสองคนได้มีโอกาสอยู่นานที่สุดคือศรีลังกา เพื่อให้นักเดินทางทั้งหลายได้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศในโลกเขตร้อน และแน่นอนเพื่อเป็นการชื่นชมธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งทั้งสองได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมเมืองโคลัมโบและแคนดี ไปดูซากอาณาจักรอนุราธปุระ ซึ่งดูจะสร้างความประทับใจให้พวกเขาเป็นอย่างมาก จนต้องกล่าวด้วยว่าสีสันของศรีลังกานั้นตราตรึงอยู่ในความทรงจำของวิตคีวิซเรื่อยมาและสะท้อนให้เห็นได้จากภาพวาดสีฉูดฉาดของเขา

ภาพวาดสีฉูดฉาดของวิตคีวิซที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศศรีลังกา

แต่กลายเป็นว่า ภาพของโบราณสถาน ทิวทัศน์ของเมือง และธรรมชาติที่งดงามแปลกตานั้นไม่ได้ช่วยเยียวยาจิตใจจิตรกรผู้โศกเศร้าเลยแม้แต่น้อย เพราะวิตคีวิซเริ่มจะพูดเปรยๆ กับเพื่อนของเขาว่า คงจะดีถ้าคู่หมั้นของเขาได้มาด้วย (ซึ่งแน่นอนว่า เธอมาไม่ได้ และถึงเธอยังมีชีวิตอยู่ การที่วิตคีวิซและเธอจะมาที่นี่ก็เป็นไปได้ยากจนถึงเป็นไปไม่ได้) และจากนั้นวิตคีวิซก็เริ่มเซื่องซึมลงไปเรื่อยๆ

เขาเขียนจดหมายลงวันที่ 29 มิถุนายนไปถึงบิดาของเขาว่า “ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้ความทุกข์ทรมานยิ่งสาหัสสากรรจ์ขึ้นไปเพราะไม่มีเธออยู่ที่นี่ สิ่งที่คงเหลือคือความเศร้าอย่างที่สุด และความไร้เหตุผลในการเป็นประจักษ์พยานความสวยงามนี้ เธอไม่ได้เห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ และผมก็ไม่ใช่ศิลปิน”

เมื่อย่างเข้าสู่วันที่ 2 กรกฎาคม ระหว่างเข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงอนุราธปุระ ความโศกเศร้าของเขาก็ดำเนินมาถึงจุดสูงสุด วิตคีวิซตัดสินใจว่าจะฆ่าตัวตายด้วยปืนพก แต่เพราะการฆ่าตัวตายเช่นนี้อาจสร้างความเดือดร้อนและชวนให้เข้าใจผิดว่าเป็นการฆาตกรรม ดังนั้นเขาจึงต้องลงมือเขียนจดหมาย เพื่ออธิบายถึงเจตนารมณ์และเหตุเบื้องหลังที่ผลักดันให้เขาต้องทำเช่นนี้ เป็นข้อความในภาษาอังกฤษว่า “หลังจากที่ผมได้สูญเสียเจ้าสาวของผมไปจากการฆ่าตัวตายราว 4 เดือน ผมจึงฆ่าตัวตาย (…) เพื่อนของผม [มาลินอฟสกี] เป็นคนจิตใจดี เขาให้ผมยืมเงินรวมๆ แล้ว 50 ปอนด์ และพยายามพาผมมาที่นี่ ทั้งที่ร่างกายเขาไม่ค่อยแข็งแรง และผมก็สร้างปัญหามากมายให้เขา เขาเป็นคนดีมากๆ และเป็นพี่ชายที่ดีที่สุด ผมขอโทษที่ต้องทำในสิ่งที่ไม่ยุติธรรมสำหรับเขา และทิ้งเขาไว้เบื้องหลัง (…) ผมเขียนทั้งหมดเพื่อจะบอกว่า ดร. มาลินอฟสกีไม่เกี่ยวข้องกับการตายของผม เพื่อให้เขาไม่ต้องถูกไต่สวนหรือดำเนินคดี ซึ่งอาจทำให้เขาตกเรือ  (…) ขอโทษด้วยสำหรับภาษาอังกฤษอันแสนทุเรศของผม”

จากจดหมายที่วิตคีวิซเขียนเล่าไปให้แม่ฟังหลังจากนั้นทำให้เราได้ทราบว่า คืนนั้นทั้งคืนเขาเอาปืนจ่อขมับตัวเอง แต่ก็ไม่กล้าจะเหนี่ยวไก เพราะยังไม่อยากจะอำลาจากโลกไป แม้ได้ตระเตรียมการทุกอย่างเป็นอย่างดีแล้ว สุดท้ายสองสหายก็ได้เดินทางออกจากศรีลังกาเพื่อมุ่งหน้าไปยังออสเตรเลีย เพียงแต่เมื่อข่าวของสงครามโลกมาถึงคนทั้งสอง การแตกหักระหว่างมาลินอฟสกีกับวิตคีวิซก็เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิด

‘รัฐ’ ชาตินี้เราคงรักกันไม่ได้

ดังที่ทราบว่าทั้งสองคนเกิดและเติบโตในโปแลนด์เหมือนกัน แต่ถ้าว่าด้วยความเป็นพลเมืองแล้ว มาลินอฟสกีถือว่าขึ้นตรงกับอาณาจักรออสโตร-ฮังการี ส่วนวิตคีวิซเป็นพลเมืองของรัสเซียที่ก็ถือว่าเป็นคนละฝ่ายอย่างชัดเจนในสงครามโลกครั้งนี้ ที่ไม่เฉพาะแต่คนทั้งสอง แต่รวมถึงคนโปแลนด์ทั้งประเทศในเวลานั้นที่แตกแยกเป็นฝักฝ่าย

ในมุมมองของวิตคีวิซ ชาวโปแลนด์ควรจะร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพรัสเซีย เขาอยากให้มาลินอฟสกีสมัครเข้าร่วมกองทัพพร้อมกันกับเขา แต่มาลินอฟสกีที่เห็นว่างานวิจัยที่รอเบื้องหน้ามีความสำคัญไม่แพ้สงคราม ทั้งคู่ถกเถียงกันหนักขึ้น จนในที่สุดก็ต้องแยกเดินไปคนละทาง วิตคีวิซขึ้นเรือโดยสารกลับไปยุโรปเพื่อสมัครเป็นทหารในกองทัพรัสเซีย ส่วนมาลินอฟสกีนั้นพำนักอยู่ในออสเตรเลียเพื่อทำงานของเขาต่อไป แม้ทั้งสองจะยังเขียนจดหมายตอบโต้กัน แต่ก็ชัดเจนว่ามิตรภาพของทั้งสองได้สิ้นสุดลงแล้ว อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของมาลินอฟสกีที่ได้บันทึกไว้ว่า “เหมือนที่นิทเชแตกหักกับวากเนอร์ ผมยอมรับในศิลปะของเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข ผมยกย่องสติปัญญาและความเป็นปัจเจกของเขา แต่ผมเกลียดบุคลิกของเขา”

วิตคีวิซไม่ตายแต่เขาได้สูญเสียเพื่อนตายของเขาไปจากการรับใช้รัฐ ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นสิ่งที่ไร้หัวใจ เหมือนที่นิทเชได้ว่า “รัฐคือชื่อของปีศาจที่เลือดเย็นที่สุดในปีศาจทั้งปวง เป็นสิ่งที่โกหกเราได้อย่างเลือดเย็นที่สุด และคำโกหกนี้ก็คืบคลานออกมาจากปากของมันว่า ‘ข้า รัฐ คือประชาชน’” และก็เป็นรัฐอีกเช่นกันที่บังคับให้วิตคีวิซต้องฆ่าตัวตายพร้อมกับคนรักใหม่ของเขาในอีกยี่สิบห้าปีต่อมา (ในสงครามโลกครั้งที่สอง) เพียงแต่คนรักของเขาสามารถรอดมาได้

 

อ้างอิง

  • Bronislaw Malinowski, Argonauts of the Western Pacific, (London: Routledge, 2005)
  • Stanislaw Ignacy Witkiewicz, Mr Price, Or Tropical Madness and Metaphysics of a Two-headed Calf, (London: Routledge, 2002)
  • Stanislaw Ignacy Witkiewicz, Insatiability, translated by Louis Iribarne, (Illinois: Northwestern University Press, 1996)
  • https://thediplomat.com/2017/10/the-nonsense-of-witnessing-such-beauty-malinowskis-tryst-with-sri-lanka/
Tags: , ,