แว่บแรกที่เรานึกถึงเกี่ยวกับค็อกเทลคงหนีไม่พ้นความมึนเมาในมุมดาร์คไซด์แบบสุดพลัง แต่หารู้ไม่ว่าในยุคสมัยใหม่กระบวนการคิดของบาร์เทนเดอร์เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก กว่าที่ค็อกเทลแต่ละแก้วจะได้สัมผัสกับริมฝีปากผ่านเข้าไปยังลิ้นและแผ่ซ่านรสชาติออกไปทั่วกระพุ้งแก้มนั้นมีกระบวนการคิดมากกว่าเพียงรสชาติที่ดี ยังไม่นับรวมว่ารสชาติที่ดีนั้นถูกจริตของลูกค้าคนนั้นหรือไม่ กระบวนการคิดของค็อกเทลสมัยใหม่ถูกเล่าผ่านเรื่องราวในมุมต่างๆ ทั้งเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ ยุคสมัยที่ห้ามขายเหล้า หรือแม้แต่นำเอาแรงบันดาลใจจากงานศิลปะใส่ลงในค็อกเทลเหมือนอย่างที่ Vesper บาร์ค็อกเทลภายในซอยคอนแวนต์ได้กระทำมาตลอด 3 ปี

“Art Book เวอร์ชันแรกพูดถึงศิลปะแนว Surreal และ Abstract ค่อนข้างเยอะ ส่วนเวอร์ชันที่ 2 พูดถึงศิลปะแนว Modern Art ในยุค 1870-1960 เน้นภาพ สี ศิลปิน เรื่องราวคอนเทนต์ต่างๆ ภายในภาพ แต่คราวนี้เวอร์ชัน 3 ซึ่งเราตั้งว่าเป็น The Finale เราพยายามคิดนอกกรอบเยอะหน่อย เพราะว่า 2 เวอร์ชันแรก เราเล่นเรื่องไทม์ไลน์ แต่คราวนี้ไม่พูดถึงเวลาแล้ว เราจะบียอร์นแล้ว เรามาตีโจทย์ ทำยังไงให้พิเศษและน่าสนใจมากกว่าเดิม ผมเลยแยกเอาเวลาออก แต่พูดถึงเรื่องคอนเทนต์ เรื่องของไอเดีย อาร์ตเราไม่ได้พูดถึงเรื่องผืนผ้าใบ เราพูดถึงอินสตอเรชั่นอาร์ต ไอเดียความคิดในงานศิลปะแต่ละชิ้นไปเลย รอบนี้ไม่ใช่แค่ยุโรปอเมริกา เราใช้อิทธิพลของฝั่งเอเชียด้วย ยิ่งได้ไปดูงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเลหรือดูงานที่หอศิลป์กรุงเทพฯ มากขึ้น เราก็จะเห็นวิธีคิดกลั่นกรองก่อนออกมาเป็นผลงาน สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อค็อกเทลเรามากขึ้น เพราะค็อกเทลรอบนี้ใช้เทคนิคมากขึ้น บางตัวหน้าตาเรียบ แต่เราเสนอแนวคิดและเทคนิคลงในเครื่องดื่มให้เลเยอร์ของรสชาติค่อนข้างซับซ้อน” ปาล์ม-ศุภวิชญ์ มุททารัตน์ Group Bar Manager เครือ Foodie Collection ผู้ดูแล Vesper เล่าถึงคอนเซปต์ของ Art Book

ความน่าสนใจของค็อกเทล Art Book เวอร์ชันล่าสุดยังอยู่ที่การจำลองเอาพิพิธภัณฑ์งานศิลปะสมัยใหม่มาอยู่ในบาร์ค็อกเทล หากสังเกตจากชิ้นงานศิลปะที่ถูกนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในค็อกเทลตอนนี้ เราจะเห็นได้ว่า Vesper วิวัฒนาการตัวเองไปสู่พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่อย่าง Guggenheim, MoMA หรือแม้แต่ BACC ซึ่งในหนึ่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะไม่จำเป็นต้องมีชิ้นงานศิลปะเพียงสไตล์เดียว งานศิลปะแต่ละห้องแต่ละชั้นแทบจะไม่เหมือนกันเลย เช่นเดียวกับค็อกเทลที่แตกต่างกันไปแต่รวมกันอยู่ภายในบาร์แห่งเดียว

Art Book เวอร์ชันนี้รวมงานศิลปะและค็อกเทลทั้งหมด 16 ชิ้น เป็นงานอาร์ตและค็อกเทลจากเวอร์ชันเดิม 4 ชิ้น มีทั้งค็อกเทลสไตล์รีเฟรสชิ่ง และค็อกเทลสไตล์สปิริตฟอร์เวิร์ด รอบนี้พัฒนาค็อกเทลใหม่แทนพัฒนาจากคลาสลิกค็อกเทล ค็อกเทลทั้งหมดไม่เชื่อมโยงกันเลย มีเพียงกรอบของงานศิลปะที่ไปด้วยกัน

“ครั้งก่อนๆ เราพยายามบาลานซ์เมนูค็อกเทล ทำให้เราตีกรอบตัวเอง คราวนี้เราเลยทำลายกรอบ โดยที่ไม่พูดถึงสปิริตฟอร์เวิร์ดแล้ว ไม่พูดถึงเปรี้ยวหวานแล้ว เราพูดว่าอาร์ตชิ้นนี้ต้องรสชาติแบบนี้แหละจากมุมมองของเรา ทำให้ค็อกเทล แต่ละตัวหลุดกรอบจากกัน แทบจะแยกเป็นเอกเทศจากกัน พอนั่งดูเมนู อาร์ตแตกจากกันแต่พยายามนำเสนอให้กลับมาอยู่ในเล่มเดียวกันให้ได้ 4 ตัวเก่าเราปรับนิดหน่อย ไม่ใช่ตัวขายดี แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นเครื่องดื่มที่เราชอบ ท้าทายคนกิน และรสชาติค่อนข้างพิเศษ” ปาล์มเสริมถึงไอเดียของ Art Book

‘Coca Cola Vase’ งานศิลปะของอ้าย เว่ยเว่ย ศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาวไต้หวันที่ติดคุกเพราะทำงานศิลปะที่สะท้อนการเมืองและความเป็นอยู่ของผู้คน งานชิ้นนี้ทำเป็นไหโบราณที่เขียนคำว่า โคคาโคลา ไว้บนไห ที่เหน็บแนมทุนนิยมได้อย่างเจ็บแสบ ไหคือทุนนิยมสมัยโบราณ โค้กคือทุนนิยมปัจจุบัน ค็อกเทลทำออกมาใสแทบไม่มีสีของโค้กเลย แต่มีกลิ่นรสของโค้กปนอยู่ ซึ่งใช้เทคนิคคาลิฟลายมิลค์พันช์แยกชั้นตะกอนของโค้กออกไป ทำให้ใสและไม่ซ่า ผสมกับไวท์รัม เอจรัม หล่อฮังก้วย พริกเสฉวน และวานิลลา

‘Jadeite Cabbage’ งานแกะสลักหยกในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกู้กง ไต้หวัน ชิ้นงานนี้ถือว่าเป็นการแก้ไขหยกที่มีตำหนิให้กลายเป็นงานศิลปะชิ้นเอก นำเอาหยก 2 สี มาทำเป็นผักกาดที่มีตั๊กแตนเกาะ ซึ่งสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ เวสเปอร์นำเสนอรสชาติของผักและสมุนไพรผ่านจินผสมเกนไมฉะและใบเนียมของไทย ตกแต่งด้วยผักกาดที่นำไปอบแห้งแล้วเคลือบด้วยไข่และน้ำตาลแล้วอบแห้งอีกรอบปรุงรสด้วยเกลือพริกไทย

‘Fine Wind, Clear Morning’ งานภาพพิมพ์ของ Katsushika Hokusai พูดถึงชื่อศิลปินอาจจะไม่คุ้นหูแต่ถ้าเห็นภาพเกรทเวฟ รับรองว่าต้องรู้จัก งานชิ้นนี้เป็นภาพภูเขาไฟฟูจิที่ศิลปินถ่ายทอดแตกต่างจากภาพฟูจิในวันฟ้าใส งานชิ้นนี้มีทั้งสีฟ้า ขาว และแดง ซึ่งเป็นชิ้นงานที่เกิดจากการสังเกตของศิลปินด้วยการเดินรอบฟูจิแล้วบันทึกช่วงเวลานั้นไว้ ด้วยชิ้นงานที่เป็นญี่ปุ่นทางบาร์จึงคิดถึงรสชาติที่สื่อถึงจึงเลือก “ปลาคัตสึโอะ” หรือปลาแห้งเป็นตัวตั้ง ปลา 1 กรัม กับวอดก้า 1 ลิตร ทิ้งไว้หนึ่งคืนแล้วกรองออก เมื่อดื่มวอดก้าจะไม่มีกลิ่นรสแต่เมื่อผสมเกรปฟรุต เลมอน และซอสทาบาสโก้ เมื่อดื่มจะให้กลิ่นของปลาแห้งอ่อนๆ

และ ‘Spatial Concept, Waiting’ งานประติมากรรมของ Lucio Fontana ศิลปินชาวอาเจนติน่าที่มาโด่งดังในอิตาลี ศิลปินคนนี้นึกอยากย้ายสายงานศิลปะ จากประติมากรรมสู่งานภาพวาด แต่จนแล้วจนรอดก็ยังอยู่ในงานประติมากรรม แต่สร้างสไตล์ของตัวเองขึ้นมา โดยทาสีลงบนผืนผ้าใบและเอามีดกรีดผ้าใบ แต่บอกว่าไม่ใช่ภาพวาดแต่เป็นงานประติมากรรม เป็นความย้อนแย้งของงานศิลปะชิ้นนี้ ปาล์มบอกว่า ค็อกเทลแก้วนี้คือค็อกเทลที่เขาพัฒนามาเรื่อยๆ และเป็นค็อกเทลที่ทำให้เขากลายเป็นแชมป์ Campari Bartender Competition ASIA 2018 เราว่าเป็นบียอร์นของเนโกรนี ใช้คัมปารีและกาแฟเอสเพรสโซรวมกันแล้วคาลิฟลายออกมา ผสมกับจินและเวอร์มุท

Art Book Finale น่าจะขายยาวไปถึงสิ้นปีนี้ และหลังจากนี้จะเปลี่ยนจากธีมศิลปะไปเป็นธีมอื่นๆ ซึ่งทางบาร์กำลังมองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ใครอยากเสพงานศิลปะในค็อกเทลยังมีเวลาอีกเกือบทั้งปี

 

ภาพ: Vesper

Fact Box

  • Vesper ซอยคอนแวนต์ ถนนสีลม โทร.0-2235-2777 เปิดบริการ 17.30-01.00 น. www.facebook.com/vesperbkk
Tags: , ,