ในตอนที่แล้วเรานำเสนอเรื่องราวของศิลปินร่วมสมัยระดับโลกผู้มีผลงานเต็มเปี่ยมไปด้วยประเด็นทางการเมือง ที่เดินทางมาแสดงผลงานศิลปะในบ้านเราอย่าง มารินา อบราโมวิช ไปแล้ว ในตอนนี้เลยจะขอกล่าวถึงศิลปินร่วมสมัยระดับโลกอีกคนที่มีผลงานศิลปะอันเต็มไปด้วยแง่มุมทางการเมือง และเดินทางมาแสดงผลงานศิลปะในบ้านเราเช่นเดียวกัน แถมศิลปินผู้นั้นเองก็เคยมีความสัมพันธ์ในฐานะอดีตคู่รักของอบราโมวิชอีกด้วย
ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า เปาโล คานีวาริ (Paolo Canevari)
หนึ่งในศิลปินร่วมสมัยชาวอิตาเลียน ผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่รู้จักที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยของเขา คานีวาริเป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะที่ใช้เทคนิคอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ประติมากรรม, ศิลปะจัดวาง, งานวาดเส้น และสื่อภาพเคลื่อนไหวอย่าง วิดีโอ และแอนิเมชั่น ผลงานของเขามักนำเสนอเรื่องราวที่ผู้ชมเข้าใจง่าย ผ่านสัญลักษณ์และสิ่งที่ผู้ชมรู้จักและคุ้นเคย เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเกี่ยวกับศาสนา ความสุขอันฉาบฉวยกลวงเปล่าของคนเมือง ไปจนถึงหลักการอันสำคัญเบื้องหลังการสร้างสรรค์และทำลาย ท้าทายขนบธรรมเนียมประเพณี และการแสดงถึงความไม่คงทนถาวรของศิลปะ
เกิดในปี 1963 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เขาเติบโตในครอบครัวศิลปิน ปู่ของเขาเป็นนักวาดจิตรกรรมกระเบื้องโมเสค ลุงของเขาเป็นประติมากร ที่ทำงานศิลปะที่เชิดชูความยิ่งใหญ่ของสถาบันทหาร ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นและอนุสาวรีย์ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นศิลปินที่เสาะแสวงหาวัตถุดิบและภาษาทางศิลปะที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่เพื่อต่อต้านงานศิลปะในรูปแบบอนุสาวรีย์
คานีวาริเริ่มต้นอาชีพศิลปินด้วยการเป็นประติมากร ในช่วงต้นยุค 90s เขามักใช้วัสดุที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน อย่าง ยางรถยนต์มาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำงาน และพัฒนาภาษาทางศิลปะของตัวเองที่เป็นการหลอมรวมสัญลักษณ์, วัฒนธรรมป๊อป, เนื้อหาทางประวัติศาสตร์ และประเด็นทางการเมืองเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อตีความวิถีชีวิตประจำวันในแง่มุมใหม่ๆ ขึ้นมา
อาทิเช่น ผลงานประติมากรรมจัดวางรูปคนและไยแมงมุมที่ตัดจากยาง อย่าง Hofame, Esodo (1998) หรือผลงานศิลปะจัดวางและศิลปะแสดงสด Colosso (2004) ที่คานีวาริแบกประติมากรรมรูปโคลอสเซียม ที่ทำจากยางรถยนต์เอาไว้บนบ่า เพื่อสื่อถึงภาระอันหนักอึ้ง ที่เกิดจากการกดทับโดยขนบธรรมเนียมและประเพณีอันยาวนานของอิตาลีที่ศิลปินแบกรับอยู่ หรือผลงาน Carroarmato (2009) ที่เป็นรถถังที่ทำขึ้นจากยางรถยนต์
ในช่วงปลายยุค 2000s เขาเริ่มใช้สื่อวิดีโอในการทำงานศิลปะ เพื่อตอบสนองความต้องการในการแสดงออกถึงสิ่งที่เสื่อมสลายง่าย ไม่คงทนถาวร หากแต่ก็ยังโดดเด่นสะดุดตา คล้ายกับงานประติมากรรมอายุสั้นที่อยู่ได้ประเดี๋ยวประด๋าวชั่วคราว เพื่อสะท้อนแนวคิดที่ปฏิเสธความโอ่อ่าอลังการและความคงทนถาวรของศิลปะเชิงอนุสาวรีย์ที่เป็นที่นิยมในอิตาลีในยุคเผด็จการ แนวคิดเช่นนี้ของเขาได้แรงบันดาลใจจากกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะหัวก้าวหน้าในอิตาลี ที่มักจะใช้วัสดุที่เสื่อมสลายง่ายไม่คงทนเพื่อต่อต้านคุณค่าความงามตามขนบ อย่าง อาร์เต้ โพเวร่า นั่นเอง
ผลงานที่โดดเด่นและอื้อฉาวที่สุดของเขาในยุคนี้ก็คือ Bouncing Skull (2007) วิดีโอที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวของเด็กชายอายุ 11 ปี ที่กำลังเล่นเตะฟุตบอลอย่างขมักเขม้น แต่ถ้าสังเกตดีๆ สิ่งที่เขากำลังเตะอยู่นั้นไม่ใช่ลูกฟุตบอล หากแต่เป็นหัวกะโหลกมนุษย์ต่างหาก!
ผลงานวิดีโอชิ้นนี้ถ่ายทำในตึกร้าง ที่เคยเป็นฐานทัพของหน่วยความมั่นคงของเซอร์เบีย ในกรุงเบลเกรด ยูโกสลาเวีย ที่ถูกกองกำลังระหว่างประเทศของนาโต้ทิ้งระเบิดถล่มจนย่อยยับ และถูกทิ้งร้างเพราะยังมีระเบิดหลงเหลือตกค้างอยู่ มันจึงเป็นพื้นที่ต้องห้ามที่ไม่อนุญาตให้คนเข้าไป
“เราใช้เวลาสามเดือนในการขออนุญาตเข้าไปถ่ายทำวิดีโอในนั้นเพียงสิบนาที และเราถ่ายทำวิดีโออย่างเรียบง่าย บนไอเดียของงานจิตรกรรม ที่ไม่มีการเคลื่อนกล้อง ไม่มีการตัดต่อ และใช้กล้องถ่ายวิดีโอในแบบที่เรียบง่ายที่สุด นิ่งที่สุด เป็นอะไรที่เด็กๆ ก็ทำได้ และไม่ทำสำเนาวิดีโอเลยด้วยซ้ำ”
ผลงานชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยกิจกรรมอันเรียบง่าย เป็นกิจกรรมเชิงการเมืองที่พัฒนาจากแนวคิดเกี่ยวกับชีวิต ความตาย และการฟื้นคืนชีพ
“สิ่งที่ผมพยายามจะทำในเวลานั้น คือการสร้างภาพที่ทรงพลังพอที่จะเอาชนะภาพอื่นๆ ทั้งหมด รวมถึงความน่าสยดสยองที่เราพบเห็นในโทรทัศน์ทุกวี่วัน การทำอะไรที่เรียบง่ายอย่างการให้เด็กเตะฟุตบอล นั้นเป็นไอเดียที่เบสิค แต่เมื่อเราแทนที่ลูกฟุตบอลด้วยหัวกะโหลกมนุษย์ ถึงแม้มันจะเป็นกิจกรรมที่เรียบง่ายอย่างการเตะฟุตบอล ผู้คนก็จะช็อกกับภาพนั้น แต่พวกเขากลับไม่ช็อกกับการทิ้งระเบิดในอัฟกานิสถาน หรือในสงครามอื่นๆ ในโลกใบนี้ สำหรับผม งานศิลปะสามารถเปลี่ยนการรับรู้ของผู้คน
เมื่อมีคนถามว่าหัวกะโหลกนั้นเป็นของใครกันแน่? ผมมักจะมีคำตอบที่แตกต่างกันไป เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่เชื่อในการเปิดเผยความจริงเบื้องหลังผลงาน เพราะอันที่จริงแล้ว ความจริงอยู่ในตัวของคุณเองนั่นแหละ ผมสามารถพูดได้ว่ามันเป็นหัวกะโหลกจริง บางทีผมอาจจะบอกว่ามันเป็นหัวกะโหลกผู้ชาย กะโหลกเด็กผู้หญิง กะโหลกของเด็ก กะโหลกของบางคนที่ตายในสงคราม หรือบางทีผมอาจจะตอบว่าผมขโมยหัวกะโหลกจากสุสาน หรือแม้แต่บางทีก็อาจจะเป็นกะโหลกปลอม สำหรับผม นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งสำคัญคือความหมายของหัวกะโหลกใบนี้ในเชิงสัญลักษณ์ นั่นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับความคิดและจินตนาการของเราเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ รอบตัว”
คานีวาริกล่าวถึงผลงานวิดีโอชิ้นอื้อฉาวของเขาชิ้นนี้
Bouncing Skull เป็นเสมือนหนึ่งอนุสรณ์แห่งชีวิตวัยเยาว์ ที่สะท้อนสภาวะของชีวิตและความตาย ซึ่งเป็นอีกแรงบันดาลใจสำคัญให้กับการทำงานของคานีวาริ มันร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 52 ในปี 2007 และอยู่ในการสะสมของพิพิธภัณฑ์ศิลปินสมัยใหม่ (MoMa) ในนิวยอร์ก
ในยุคหลัง คานีวาริหันเหจากการทำงานวิดีโอ (เพราะเขาเห็นว่าการถ่ายวิดีโอเป็นอะไรที่คนทำกันจนเป็นปกติธรรมดาไปแล้ว) และเปลี่ยนมาทำงานในรูปแบบดั้งเดิมอย่างงานประติมากรรม, จิตรกรรม และศิลปะแสดงสด
อาทิเช่นในผลงานชุด Nobody Knows (2010) ประติมากรรมและศิลปะแสดงสด ที่เขานั่งบนลูกบอลขนาดมหึมา ที่ทำจากโครงไม้หุ้มยางรถยนต์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโลกใบเล็กๆ ที่ทำให้เราอดนึกไปถึงตัวละครในนวนิยาย เจ้าชายน้อย ของ อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี ไม่ได้ ผลงานชิ้นนี้เป็นการเน้นย้ำความลี้ลับของศิลปิน หรือท้ายที่สุดแล้ว ความลี้ลับของชีวิตนั่นเอง
คานีวาริเชื่อว่า แรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดของศิลปินคือ วิธีคิดของผู้คนในเชิงจิตวิญญาณ ในฐานะส่วนหนึ่งของสภาวะความเป็นมนุษย์ ด้วยการใช้สัญลักษณ์ที่เปี่ยมความหมาย ชัดเจน เข้าใจง่าย เป็นสากล และไม่ต้องตีความ อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงพื้นฐานในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ยางรถยนต์, กะโหลกศีรษะมนุษย์ หรือแม้แต่ ระเบิด ก็ตาม
ผลงานของคานีวาริมีความเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับประเด็นทางสังคมและการเมือง และท้าทาย ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์ระบบโครงสร้างและสถาบันอันทรงอำนาจในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันศาสนา อาทิเช่นในผลงาน J.M.B. (2001) ประติมากรรมสำเร็จรูปที่พิมพ์ชื่อของศาสดาของสามศาสนาบนผ้าคลุมรถ เพื่อตั้งคำถามกับความขัดแย้งแตกต่างระหว่างแต่ละศาสนาได้อย่างแหลมคมอย่างยิ่ง (ผลงานชุดนี้เคยแสดงในบ้านเรามาแล้วด้วย)
คานีวาริมักกล่าวอยู่เสมอว่า ศิลปะ คือความเป็นไปได้ทางการเมือง เขากล่าวว่าในทุกๆ การกระทำที่ศิลปินทำล้วนแล้วแต่แฝงความหมายทางการเมืองทั้งสิ้น
“ถึงแม้ศิลปินจะวาดรูปดอกไม้ มันก็มีความหมายในเชิงต่อต้านอยู่ดี เพราะวัฒนธรรมคือหนทางแห่งการต่อต้าน ไม่ว่าจะต่อต้านระบบที่ควบคุมและชักจูงให้คนคิดและเดินไปในทางเดียวกัน หรือต่อต้านความเป็นวัตถุนิยม, บริโภคนิยม, ทุนนิยม, ระบบสังคม สิ่งที่เราจะทำในฐานะศิลปิน คือการต่อต้าน ชัดขืน และเอาชนะพลังอำนาจเหล่านั้นในวิถีทางการเมือง (โดยไม่ใช้ความรุนแรง) และชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับมลพิษในสิ่งแวดล้อม ความอยุติธรรมทางการเมือง หรือความสนใจทางศิลปะที่ถูกควบคุมด้วยเงินตราหรือเศรษฐกิจ
มันเป็นความรับผิดชอบของศิลปิน ที่จะค้นหาขอบเขตจำกัด เสาะหา ท้าทาย และก้าวข้ามมันในทุกวิถีทาง ผมไม่ได้บอกว่าศิลปินต้องกระโดดออกทางหน้าต่างเพื่อพิสูจน์ว่าเขาเป็นศิลปินที่ดี แต่ผมคิดว่า ในเชิงแนวคิดแล้ว การทำงานศิลปะควรจะอยู่บนพื้นฐานของการค้นคว้าวิจัย โดยไม่ได้จบอยู่แค่การแสวงหาไอเดีย หากแต่เป็นการเดินทางค้นหาสัจธรรมและความจริงแท้ ผมคิดว่านั้นคือหน้าที่รับผิดชอบของศิลปิน ที่จะไม่หยุดหย่อนในการท้าทายขีดจำกัดทางความคิด และเสาะแสดงหาความท้าทายใหม่ๆ”
แต่ในขณะเดียวกัน ในหลายยุคหลายสมัย ศิลปะเองก็เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่และโฆษณาชวนเชื่อแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐเผด็จการเช่นกัน คานีวาริกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า
“จริงอยู่ ที่ศิลปะอาจเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เลวร้ายอย่างการโฆษณาชวนเชื่อ คุณต้องมีจิตสำนึก ความรับผิดชอบ และระมัดระวังต่อสิ่งที่คุณทำ ผมเชื่อว่าผลงานศิลปะสามารถตีความได้อย่างยาวนาน แน่นอนว่ายุคนี้เป็นยุคของศิลปะร่วมสมัย แต่ผลงานศิลปะควรจะต่อต้านแนวคิดของเวลา เพราะฉะนั้น สำหรับผม ภาพวาดของ คาราวัจโจ ก็เป็นศิลปะร่วมสมัยเช่นเดียวกับศิลปะจัดวางของผม หรือผลงานของคนอื่นๆ ยี่สิบปีจากนี้ไป อาจจะมีการตีความใหม่ๆ เกี่ยวกับงานเหล่านั้นได้ สิ่งที่เราต้องคิดก็คือ ศิลปะนั้นเป็นเครื่องมืออันสากลที่สามารถช่วยให้ผู้คนเข้าใจและคิดอย่างแตกต่าง ทั้งหมดทั้งมวล ที่สุดแล้วศิลปะก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนคิดนั่นแหละ นั่นเป็นความรับผิดชอบของงานศิลปะ งานโฆษณาชวนเชื่อที่คนมองว่าดีงามในวันนี้อาจจะไม่ดีอีกต่อไปในอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้า มันอันอาจจะมีคุณค่าทางสุนทรียะ แต่ในเชิงความคิดแล้ว มันไม่อาจต่อต้านกาลเวลาได้ แต่ในทางกลับกัน งานศิลปะเป็นอะไรที่ไร้กาลเวลา เป็นสิ่งที่มีความสามารถในการรอดพ้นจากการกัดกร่อนของกาลเวลาได้”
นอกจากร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ แล้ว เขายังร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะลิเวอร์พูล เบียนนาเล่ (Liverpool Biennial) (2004), มหกรรมศิลปะวิทนีย์ เบียนนาเล่ (Whitney Biennal) (2006) ผลงานของเขาถูกสะสมโดยพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกหลายต่อหลายแห่ง เขายังเป็นหนึ่งในศิลปินที่ร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ในกรุงเทพฯ ด้วยเหมือนกัน
กับคำถามที่ว่า ในฐานะที่เขาเป็นศิลปินที่เข้ามาแสดงงานในประเทศไทยในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่ค่อยมีความเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่นัก เขามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ คานีวาริกล่าวทิ้งท้ายว่า
“นั่นเป็นประเด็นที่พูดยาก เพราะในแง่ของการเมือง มันมักจะมีเรื่องของความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของคนรวมอยู่ด้วย แต่ผมคิดว่าศิลปะสามารถเป็นเครื่องมือในการปลุกจิตสำนึกของผู้คนให้ลุกขึ้นมาต่อต้านระบบการเมืองหรือรัฐที่ไม่เป็นธรรม โดยปกติในหลายประเทศ เรื่องการเมืองมักเป็นอะไรที่ห่างไกลจากความสนใจของผู้คน แต่เราสามารถใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของผู้คนเหล่านั้น และสร้างความเป็นไปได้ต่างๆ ให้เกิดขึ้นมาได้
ผมคิดว่าศิลปะควรจะมีความเป็นประชาธิปไตย ในแง่ที่มันทำหน้าที่สร้างความเข้าใจแก่ผู้คนในขั้นพื้นฐาน ถึงแม้ในระดับของความคิดมันอาจจะมีความซับซ้อนก็ตาม ผมคิดว่าศิลปะเป็นเครื่องมือของผู้คนในการทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ เป็นกุญแจที่จะเปิดหนทางแห่งความคิดใหม่ๆ นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับผม”
อ้อ ถ้าใครอยากชมผลงานของเขาในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ก็ไปดูกันได้ที่ศาลาการเปรียญในวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, เขตธนบุรี, กรุงเทพฯ เข้าไปดูรายละเอียดของสถานที่จัดงานได้ที่ http://www.bkkartbiennale.com/venues-detail/?venues=3 กันตามอัธยาศัย.
–
เอื้อเฟื้อภาพผลงานโดยศิลปิน และ [dip] contemporary art, Lugano (CH)
บทสัมภาษณ์ศิลปิน โดยผู้เขียน
ข้อมูล
http://dipcontemporaryart.com/project/820/
http://www.bkkartbiennale.com/profile/paolo-canevari/
https://brooklynrail.org/2010/09/art/art-is-a-political-opportunity
https://en.wikipedia.org/wiki/Paolo_Canevari
Tags: Bouncing Skull, Art and Politic, Paolo Canevari, contemporary art