อีกหนึ่งกระแสความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ถือกำเนิดและเคลื่อนไหวในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับศิลปะมินิมอลลิสม์และศิลปะคอนเซ็ปชวล ก็คือกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ชื่อว่า ‘อาร์เต้ โพเวร่า’ (Arte Povera)
อาร์เต้ โพเวร่า หรือ Poor art หรือ Impoverished art – ซึ่งผมขอแปลเอาเองว่า ‘ศิลปะอนาถา’ ก็แล้วกัน เป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบหัวก้าวหน้า (avant-garde) ที่โดดเด่นและทรงอิทธิพลที่สุดในยุโรป ถือกำเนิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1960s ถึงกลางทศวรรษ 1970s ในอิตาลี ในช่วงที่เกิดความไม่สงบทางการเมือง เมื่อศิลปินรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าของอิตาลีที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบสุดขั้วรวมตัวกันทำงานศิลปะจากวัสดุที่ไร้คุณค่าไร้ราคาที่มีอยู่เกลื่อนกลาดดาษดื่นทุกหนทุกแห่ง รวมถึงเก็บตกของเก่า ของเหลือใช้ และชำรุดทรุดโทรม มาทำงานศิลปะ
วัสดุที่ใช้ เน้นที่ความธรรมดาสามัญไปจนถึงสามานย์ อย่างผ้าขี้ริ้ว กระดาษหนังสือพิมพ์ และวัสดุในยุคก่อนยุคอุตสาหกรรมอย่าง ดิน ก้อนหิน ถ่านหิน ไปจนถึงสิ่งปฏิกูลอย่างอุจจาระ ซึ่งเป็นของที่ตรงกันข้ามอย่างสุดขั้วกับวัสดุตามจารีตที่ศิลปินใช้ทำงานศิลปะ (ชั้นสูง) อย่างผ้าใบ หินอ่อน หรือสำริด นอกจากนั้น พวกเขายังใช้วัสดุที่ไม่แข็งแรงคงทนและเสื่อมสลายง่ายดายตามกาลเวลา
ที่ทำเช่นนี้ไม่ใช่เพราะตระหนี่ถี่เหนียวหรือยากจน ไม่มีสตางค์ซื้อของดีๆ มาทำงาน หากแต่เพราะต้องการแสดงนัยยะต่อต้านคุณค่าความงามตามขนบ ไปจนถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สถาปนาโดยสถาบันของรัฐและความก้าวหน้าของระบบอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่นั่นเอง
อัลแบร์โต บูรี: Sacco e Verde (กระสอบและสีเขียว), (1956) ภาพจาก http://www.katarte.it/
นอกจากต่อต้านคุณค่าของสถาบันรัฐแล้ว ศิลปิน อาร์เต้ โพเวร่า ยังต่อต้านศิลปะสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะนามธรรมที่ครอบงำวงการศิลปะของยุโรปในช่วงทศวรรษ 1950s และถึงแม้พวกเขามักจะทำงานประติมากรรมที่ใช้วัสดุอันเรียบง่ายธรรมดาสามัญในการทำงานศิลปะ แต่พวกเขาก็ปฏิเสธค่านิยมของศิลปะมินิมอลลิสม์ ด้วยความที่มินิมอลลิสม์โอบรับการพัฒนาทางเทคโนโลยีและระบบอุตสาหกรรม
ศิลปินอาร์เต้ โพเวร่า เลือกใช้วัสดุที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการอุตสาหกรรมอันเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมบริโภคนิยมและความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ามันจะลบเลือนสำนึกแห่งความทรงจำและการหวนรำลึกถึงอดีตของพวกเขาไปจนหมด ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังปฏิเสธสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ในทางตรงกันข้าม พวกเขาโอบรับโลกแห่งตำนานอันลึกลับซึ่งไม่สามารถหาคำอธิบายได้โดยง่าย และนำเสนอความเหลวไหลไร้สาระ ความขบขัน ไปจนถึงขัดเขิน หรือการสร้างคู่เปรียบของสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกันอย่างสุดชั้ว อย่างเช่น สิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ ความประณีตสมบูรณ์กับความชำรุดทรุดโทรม วัตถุสำเร็จรูปที่ผ่านกระบวนการมาอย่างดีกับวัตถุดิบที่ไม่ผ่านกระบวนการอะไรเลย
ด้วยการทำเช่นนี้ ศิลปิน อาร์เต้ โพเวร่า แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ ว่ามันทำลายประสบการณ์แห่งความเป็นท้องถิ่นและความทรงจำแห่งอดีต ในขณะเดียวกันกับที่มันกำลังผลักดันสังคมให้ก้าวหน้าไปสู่ความเป็นอนาคตได้อย่างไร
ความสนใจในวัสดุดาษดื่นไร้ค่าของศิลปินอาร์เต้ โพเวร่า มีความคล้ายคลึงกับกระบวนการทำงานศิลปะแบบ Assemblage หรือศิลปะแบบผสมผเส ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงยุคทศวรรษ 1950s และ 1960s (เป็นเทคนิคที่ โรเบิร์ต เราเชนเบิร์ก มักใช้ทำงานศิลปะของเขา) ที่มีปฏิกิริยาต่อต้านงานศิลปะแบบนามธรรมเช่นเดียวกัน พวกเขามองว่า การแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว และการถูกจำกัดอยู่ในขนบของการทำงานศิลปะแบบเดิมๆ อย่างการวาดภาพ เป็นสิ่งที่คับแคบเกินไป ในทางตรงกันข้าม พวกเขาต้องการนำเสนอศิลปะที่น่าสนใจทั้งในด้านการใช้วัสดุและรูปแบบ ด้วยการหยิบยืมรูปลักษณ์และวัสดุจากข้าวของที่พบในชีวิตประจำวัน
แต่ศิลปิน อาร์เต้ โพเวร่า แตกต่างกับ Assemblage ตรงความสนใจในแนวทางการแสดงออกแบบศิลปะการแสดงสด (Performance art) และศิลปะจัดวาง (Installation art) ซึ่งใกล้เคียงกับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบหัวก้าวหน้าหลังสงครามอย่าง เซอร์เรียลลิสม์ ดาดา และ คอนสตรัคติวิสม์ เสียมากกว่า
กระแสเคลื่อนไหว อาร์เต้ โพเวร่า เริ่มต้นขึ้นในช่วงเสื่อมถอยของศิลปะนามธรรมในอิตาลี และช่วงเวลาที่ศิลปินรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าของอิตาลีเริ่มเสาะหาหนทางใหม่ๆ ในการทำงานศิลปะ โดยมีหัวหอกคนสำคัญอย่าง อัลแบร์โต บูรี (Alberto Burri) ที่ทำงานจิตรกรรมด้วยกระสอบผ้าเนื้อหยาบกระด้าง หรือดินที่แตกระแหง ซึ่งเป็นตัวอย่างอันชัดเจนของการใช้วัสดุอันไร้ค่าในการทำงานศิลปะ
หรือ ปิแอโร แมนโซนี ศิลปินที่คาบเกี่ยวกับกระแสศิลปะคอนเซ็ปชวล ผู้ใช้สิ่งที่ด้อยคุณค่า หรืออันที่จริง หยาบช้าสามานย์ที่สุด (ในสายตาของคนทั่วไป) อย่างอุจจาระ หรือ ขี้ มาทำเป็นงานศิลปะ ดังที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว
และ ลูชิโอ ฟอนตานา (Lucio Fontana) ที่ทำงานจิตรกรรมสีเดียว และงานจิตรกรรมที่เจาะรูหรือกรีดร่องให้ทะลุผืนผ้าใบ อันเป็นตัวอย่างของงานศิลปะที่ลดทอนองค์ประกอบทางกายภาพให้เหลือน้อยที่สุด หรือแม้แต่ทำลายมันเสีย เพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ทางศิลปะ
ชื่อ อาร์เต้ โพเวร่า ถูกใช้เป็นครั้งแรกโดยนักวิจารณ์ศิลปะชาวอิตาลี เจอร์มาโน เชลันท์ (Germano Celant) ในปี 1967 เพื่อใช้นิยามกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้าของอิตาลีที่ทำงานในลักษณะที่ว่านี้ ในปีเดียวกัน เขาจัดนิทรรศการสำรวจแนวโน้มของกระแสศิลปะหัวก้าวหน้านี้ขึ้นที่ Galleria La Bertesca ในเมือง เจนัว อิตาลี ซึ่งมีผลงานของศิลปินหัวก้าวหน้าในยุคนั้นอย่าง อัลลิเกโร โบเอตติ (Alighiero Boetti) ลูเชียโน ฟาโบร (Luciano Fabro) ยานนิส คูเนลลิส (Jannis Kounellis) จูลิโอ เปาลินี (Giulio Paolini) พิโน ปัสคาลลี (Pino Pascali) และ เอมิลิโอ พรีนี (Emilio Prini) ซึ่งงานศิลปะของพวกเขาทุกคนล้วนแล้วแต่ใช้วัสดุธรรมดาสามัญ เพื่อบุกรุกพรมแดนของศิลปะในรูปแบบเดิมๆ และกระตุ้นให้ผู้ชมหันกลับไปมองข้าวของอันไร้ค่าเหล่านั้นในแง่มุมใหม่ๆ ความสำเร็จของอาร์เต้ โพเวร่า ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการผลักดันและกำหนดทิศทางของเชลันท์
อาทิ ผลงาน Catasta (กองซ้อนกัน) (1966-67) ของ อัลลิเกโร โบเอตติ ที่เป็นแท่งซีเมนต์ใยหินกลวงๆ หน้าตาธรรมดาๆ วางเรียงซ้อนสลับด้านกันเป็นชั้นๆ
หรือผลงาน Floor Tautology (1967) ของ ลูเชียโน ฟาโบร ที่ยกระดับกิจวัตรประจำวันอันธรรมดาสามัญอย่าง งานบ้าน (ซึ่งโดยปกติจะเป็นหน้าที่ของผู้หญิง) ให้กลายเป็นงานศิลปะ ด้วยการขัดล้างทำความสะอาดพื้นหอศิลป์ให้มันเงาทุกวัน แล้วปูทับด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์เพื่อให้มันแห้ง (งงล่ะสิ ว่ามันเป็นศิลปะตรงไหน?)
และผลงาน Cubic Meters of Earth (1967) ของ พิโน ปัสคาลลี ที่ก่อกองดินเป็นมวลรูปทรงสี่เหลี่ยม ด้วยการใช้วัสดุธรรมชาติที่ดูสกปรกเลอะเทอะ (ในสายตาของคนทั่วๆ ไป) อย่างดิน ปัสคาลลีใช้ผลงานชิ้นนี้วิพากษ์วิจารณ์เส้นสายอันเฉียบคมและความเนี้ยบกริบอันไม่เป็นธรรมชาติในศิลปะมินิมอลลิสม์นั่นเอง
หรือผลงาน Untitled (12 Horses) (1969) ของ ยานนิส คูเนลลิส ที่เปลี่ยนพื้นที่แสดงงานศิลปะให้กลายเป็นคอกปศุสัตว์ ด้วยการผูกม้าจำนวน 12 ตัวไว้กับผนังหอศิลป์ ผลงานชิ้นนี้เป็นที่กล่าวขานและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างอื้อฉาว และกลายเป็นตำนานในโลกศิลปะ ด้วยแนวคิดที่ว่า งานศิลปะอาจจะเป็นอะไรก็ได้ และไม่จำเป็นต้องมีคุณค่าในเชิงพาณิชย์เลยด้วยซ้ำ ผลงานนี้ของเขาถูกยกให้เป็นจุดกำเนิดของศิลปะ อาร์เต้ โพเวร่า เลยก็ว่าได้
เพียงสองเดือนหลังจากนิทรรศการแรก เชลันท์เขียนบทความ Arte Povera: Notes for a Guerilla War (อาร์เต้ โพเวร่า: บันทึกสำหรับสงครามกองโจร) ซึ่งเป็นแถลงการณ์ที่เพิ่มเติมชื่อของศิลปินอีกหลายคนเข้ามาอยู่ในกระแสเคลื่อนไหวนี้ ไม่ว่าจะเป็น จิโอวานนี อัลเซลโม (Giovanni Anselmo) ปิแอโร จิลาร์ดี (Piero Gilardi) มาริโอ แมร์ซ (Mario Merz) จิอานนี เปียเเชนติโน (Gianni Piacentino) จิลแบร์โต โซริโอ (Gilberto Zorio) และ มิเกลันเจโล พิสโตเล็ตโต (Michelangelo Pistoletto) ด้วยแถลงการณ์นี้ เชลันท์ เปิดตัวกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะใหม่นี้ในโลกศิลปะอย่างเป็นทางการ แถลงการณ์ฉบับนี้แสดงจุดยืนทางความคิดของเขาและศิลปินในกลุ่ม ที่มีความปรารถนาร่วมกันที่จะทำลายกำแพงซึ่งแบ่งแยกศิลปะและชีวิตออกจากกัน
ยกตัวอย่างเช่น ในงานของ มิเกลันเจโล พิสโตเล็ตโต ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะที่ใช้ภาพถ่ายของคนขนาดเท่าจริงติดบนกระจกเงา (ซึ่งออกจะแปลกไปจากศิลปินอาร์เต้ โพเวร่าคนอื่นๆ ที่ไม่นิยมใช้สื่อสมัยใหม่อย่างภาพถ่ายกันสักเท่าไร) เขาใช้กระจกเงาเป็นสื่อสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างภาพของร่างกายมนุษย์และคนแปลกหน้าที่จ้องมอง เพื่อสร้างบทสนทนาระหว่างศิลปะและผู้ชมอย่างฉับพลันโดยปราศจากอคติใดๆ
ผลงานที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักที่สุดของ พิสโตเล็ตโต คือ Venus of the Rags (1967, 1974) ประติมากรรมจัดวางขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยรูปสลักหินอ่อนเทพีวีนัสที่ยืนหันหลังให้ผู้ชมและจ้องมองไปยังกองผ้าขี้ริ้วและเสื้อผ้าเก่าเหลือใช้กองพะเนินเทินทึก ความขัดแย้งระหว่างวัตถุสองประเภทที่ถูกจับมาวางด้วยกันนี้ กระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามอย่างมาก เกี่ยวกับการจับคู่ของสิ่งที่มีความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นความคลาสสิกกับความร่วมสมัย รูปสลักวีนัสสีเดียวกับผ้าขี้ริ้วหลากสีสัน วัสดุแข็งอย่างหินอ่อนกับวัสดุอ่อนนุ่มอย่างผ้าขี้ริ้ว สิ่งของล้ำค่ากับของสิ่งไร้ค่า รสนิยมอันเลิศล้ำกับความต้อยต่ำธรรมดา
ด้วยการใช้รูปสลักหินอ่อนของเทพีวีนัส ที่สร้างขึ้นตามแบบแผนดั้งเดิม ที่อาจจะดูเป็นการแสดงคารวะต่อประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมอันรุ่มรวยของโรมันโบราณ แต่กลับถูกวางหันหน้าไปหากองผ้าขี้ริ้วธรรมดาที่ศิลปินใช้ในสตูดิโอ ด้วยการทำเช่นนี้ไม่เพียงทำให้ผู้ชมมองไม่เห็นใบหน้าของเทพีวีนัส หากแต่ยังแสดงนัยยะถึงการที่ศิลปะชั้นสูงตามขนบถูกบดบังโดยสิ่งของต่ำต้อยด้อยค่า
สีสันอันฉูดฉาดบาดตาของกองผ้าขี้ริ้วยังแสดงนัยยะถึงการแสดงความคารวะต่อการใช้แรงงานซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ในกระบวนการสร้างสรรค์ และอาจจะสำคัญยิ่งกว่าเทพีวีนัสด้วยซ้ำไป
ผลงานของพิสโตเล็ตโตชิ้นนี้ เป็นตัวอย่างอันชัดเจนของความพยายามในการเชื่อมโยงศิลปะเข้ากับวิถีชีวิต รวมถึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันทางวัฒนธรรมของรัฐ และความพยายามในการทำลายความเป็นธุรกิจของศิลปะ ด้วยการใช้ส่วนผสมอันผิดแปลกจากขนบธรรมเนียมเดิมๆ ในการสร้างงานศิลปะขึ้นมา
หรือผลงานของ มาริโอ แมร์ซ อย่าง Giap’s Igloo (1968) ประติมากรรมจัดวางที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก อิกลู หรือที่พักอาศัยทรงโดมของชนเผ่าเอสกิโมในขั้วโลกเหนือ โดยเขาใช้ถุงใส่ดินก่อเป็นรูปทรงโดมคล้ายอิกลูขึ้นมา ผลงานชิ้นนี้ของเขาเผยให้เห็นถึงวิถีชีวิตในยุคก่อนประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณของชนเผ่าที่ซ่อนเร้นอยู่ในพื้นที่และเวลาในยุคปัจจุบัน แมร์ซมองที่พักอาศัยคุ้มภัยธรรมดาสามัญอันคล่องตัวที่สามารถร่อนเร่พเนจรไปไหนต่อไหนอย่างอิสระนี้ว่าเป็นอุปมาของพื้นที่ในอุดมคติของศิลปิน
บนตัวโดมดินมีตัวหนังสือที่ทำจากหลอดนีออน เขียนเป็นประโยคที่ได้มาจากวีรบุรุษสงครามเวียดนาม นายพลหวอ เงวียน ซ้าป ผู้อยู่เบื้องหลังชัยชนะของเวียดนามเหนือกองทัพฝรั่งเศส ที่มีใจความว่า “Se il nemico si concentra perde terreno se il disperde perde forza” แปลว่า “ถ้าศัตรูรวมกำลัง เขาจะสูญเสียที่มั่น แต่ถ้าเขากระจายกำลัง เขาจะสูญเสียความแข็งแกร่ง” (ซึ่งแสดงสัญลักษณ์ของความเป็นแนวรบกองโจรในโลกศิลปะของศิลปินกลุ่มนี้)
ผลงานชิ้นนี้ของ แมร์ซ แสดงถึงความหมกมุ่นในปัจจัยพื้นฐานของชีวิตมนุษย์อย่าง ที่อยู่อาศัย ความอบอุ่น และอาหาร ในขณะเดียวกัน ตัวหนังสือนีออนก็แฝงถึงประเด็นเกี่ยวกับวิถีชีวิตสมัยใหม่อย่างกระแสบริโภคนิยมและการโฆษณา
หรือผลงานของ จิโอวานนี อัลเซลโม อย่าง Untitled (Sculpture That Eats) (1968) ที่แสดงถึงความหลงใหลในปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัตถุในธรรมชาติที่มีชีวิตและไร้ชีวิต ประติมากรรมรูปแท่งหินสี่เหลี่ยมคล้ายเสา ส่วนปลายเสาโปะด้วยหัวผักกาดหอม ประกบทับด้วยแผ่นหินสี่เหลี่ยม แล้วมัดด้วยลวด ถ้าผักกาดหอมแห้งเหี่ยวจนหดตัวลง แผ่นหินก็จะร่วงหล่นลงพื้น ดังนั้น ประติมากรรมชิ้นนี้จึงต้องถูก “ป้อน” ผักกาดหอมใหม่ๆ เข้าไปอยู่เสมอ เพื่อให้มันคงสภาพอยู่ได้
นอกจากจะเล่นกับความสมดุลและแรงโน้มถ่วงแล้ว ผลงานชิ้นนี้ยังแฝงเอาไว้ด้วยอารมณ์ขัน และการใช้สิ่งธรรมดาสามัญที่หาได้ในชีวิตประจำวันและมีราคาถูก เน่าเปื่อยง่าย อย่างผักกาดหอม อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของศิลปะอาร์เต้ โพเวร่าอย่างชัดเจน
ถึงแม้ว่าจะได้รับความนิยมอย่างสูง แต่กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะอาร์เต้ โพเวร่า ก็ยุติบทบาทลงในช่วงกลางทศวรรษ 1970s ด้วยความที่ศิลปินในกลุ่มแต่ละคนต่างก็แยกย้ายกันพัฒนาแนวคิดทางศิลปะไปในเส้นทางที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ชื่อของมันก็ถูกจารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะ ในฐานะกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่สำคัญและส่งอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังอย่างมหาศาล ถึงแม้จะเป็นในอีกหลายทศวรรษให้หลังก็ตามที
ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยคนสำคัญผู้ล่วงลับอย่าง มณเฑียร บุญมา ก็เป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่ทำงานในรูปแบบที่ใกล้เคียงและดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะอาร์เต้ โพเวร่า มาเหมือนกัน หากแต่เขาพัฒนา ต่อยอดความคิด จนกลายเป็นรูปแบบทางศิลปะอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไปในที่สุด ซึ่งเราจะกล่าวถึงเขาในโอกาสต่อไป
ข้อมูลจาก
- http://www.theartstory.org/movement-arte-povera.htm
- https://en.wikipedia.org/wiki/Arte_Povera
- https://frieze.com/article/tristes-artistes
- https://wsimag.com/art/14027-michelangelo-pistoletto-partitura-in-nero