เนื่องในโอกาสที่ปีหน้าประเทศไทยจะจัดเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติอันยิ่งใหญ่อลังการเป็นครั้งแรก มีชื่อว่า ‘บางกอก อาร์ต เบียนาเล่’ (Bangkok Art Biennale 2018) เราเลยถือโอกาสเล่าที่มาที่ไปของเทศกาลศิลปะในลักษณะนี้กัน

เทศกาลศิลปะที่เรียกกันว่า ‘เบียนนาเล่’ นั้นมีต้นกำเนิดในประเทศอิตาลี มีชื่อเรียกว่าเวนิสเบียนนาเล่ (Venice Biennale หรือในชื่อภาษาอิตาเลียนว่า La Biennale di Venezia) จัดขึ้นในทุกๆ สองปี (Biennale แปลว่าทุกๆ สองปี) ถือเป็นมหกรรมศิลปะที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของโลก

เดิมที เวนิสเบียนนาเล่เริ่มก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1895 ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีแห่งการอภิเษกสมรสของกษัตริย์อุมแบร์โตที่หนึ่ง (Umberto I) และสมเด็จพระราชินีมาเกอริตาแห่งซาวอย (Margherita of Savoy) นอกจากนั้นยังถูกจัดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจและสังคมของเมืองเวนิสอยู่ในช่วงตกต่ำเสื่อมถอยในช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษ

เหล่าชนชั้นปกครองหวังว่ามหกรรมนี้จะสร้างชื่อเสียงให้กับเมืองในระดับนานาชาติ นำพารายได้ และช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมของเมือง ซึ่งก็ทำได้จริงๆ เสียด้วย

ในช่วง 30 ปีแรก มหกรรมศิลปะเวนิสเบียนนาเล่ทำหน้าที่เป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของเหล่าศิลปินผู้เป็นที่ยอมรับในวงการศิลปะโลกฝั่งยุโรป ดึงดูดความสนใจชนชั้นสูงและชนชั้นนายทุนชั้นสูงชาวยุโรป ทำให้งานครั้งแรกมีผู้เข้าชมมากถึง 224,000 คน

Sintesi Fascista (การสังเคราะห์ฟาสซิสต์) (1935), สีน้ำมันบนผ้าใบ, อเลสซานโดร บรูซเฆติ (Alessandro Bruschetti) ศิลปินในลัทธิฟิวเจอริสม์ (Futurism) ที่สมาทานอุดมการณ์ของลัทธิฟาสซิสต์ ภาพจาก https://aeon.co/essays/the-macho-violent-culture-of-italian-fascism-was-prophetic

ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 เวนิสเบียนนาเล่เริ่มมีความเป็นนานาชาติมากขึ้น นับตั้งแต่ปี 1907 หลากหลายประเทศเข้ามาร่วมจัดตั้งพาวิลเลียนหรือศาลาแสดงงาน เริ่มจากเบลเยียมในปี 1910 ศิลปินที่มีชื่อเสียงในระดับโลกเริ่มหมุนเวียนเข้ามาแสดงงาน มีห้องแสดงงานที่อุทิศให้กับศิลปินอาร์ตนูโวชื่อดังอย่างกุสตาฟ คลิมต์ (Gustav Klimt) มีนิทรรศการเดี่ยวของเรอนัวร์ (Renoir) นิทรรศการย้อนหลังของกุสตาฟ กูแบร์ (Gustav Courbet) มีผลงานของปิกัสโซที่ถูกย้ายจากซาลง (Salon) ของสเปนไปอยู่ในพระราชวังกลางเพราะผู้จัดเกรงว่าความแปลกใหม่ของมันจะทำให้สาธารณชนช็อก

ในปี 1914 มีพาวิลเลียนจากหลายประเทศ อย่างเบลเยียม ฮังการี เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และรัสเซีย

Profilo continuo del Duce (Head of Mussolini) (1933), รูปปั้นเซรามิก, เรนาโต แบร์เทลลี (Renato Bertelli) รูปหัวของมุสโสลินีในลักษณะที่ดูเหมือนกำลังหมุนรอบตัวเองอย่างต่อเนื่องอยู่ ภาพจาก counterlightsrantsandblather1

หลังจากถูกระงับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1916 และ 1918 เวนิสเบียนนาเล่ถูกจัดขึ้นมาใหม่ในปี 1920 งานศิลปะของกลุ่มหัวก้าวหน้า (avant-garde) อย่างอิมเพรสชันนิสต์และโพสต์-อิมเพรสชันนิสต์ก็เริ่มปรากฏให้เห็นในเวนิสเบียนนาเล่เป็นครั้งแรก

ในช่วงปลายยุค 1920s รัฐบาลพรรคฟาสซิสต์ภายใต้การนำของเบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) ที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ก็ยึดอำนาจการบริหารจัดการมหกรรมศิลปะเวนิสเบียนนาเล่มาจากผู้บริหารชนชั้นสูงในเวนิส ฟาสซิสต์ท้าทายอำนาจของวัฒนธรรมชนชั้นสูงที่สืบทอดมาในยุโรปด้วยวิสัยทัศน์แบบเผด็จการของมุโสลินี ที่ต้องการปฏิรูปประเทศอิตาลีที่เสื่อมทรามในสายตาของเขาด้วยการเมือง การทหาร และวัฒนธรรม

เวนิสเบียนนาเล่กลายเป็นจุดสุดยอดของศูนย์กลางเครือข่ายสถาบันศิลปะแห่งชาติ ด้วยการปรับโครงสร้างและการอัดฉีดทางการเงิน รวมถึงเปิดพื้นที่และการจัดกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลดนตรีร่วมสมัย เทศกาลการละครนานาชาติ และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ (ซึ่งก็คือเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส (Venice International Film Festival) ที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบันนั่นเอง)

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสครั้งแรกในปี 1932 ภาพจาก http://www.ganzomag.com

ในช่วงปี 1928-1942 พรรคฟาสซิสต์ใช้เวนิสเบียนนาเล่เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมในการสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค ภายใต้ร่มเงาของฟาสซิสต์ เวนิสเบียนนาเล่กลายเป็นเวทีอันสมบูรณ์แบบสำหรับปลูกฝังและเผยแพร่แนวคิดทางการเมืองของพรรค ด้วยการใช้โฆษณาชวนเชื่อจินตภาพและกิจกรรมยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายปลูกฝังความคิดขวาจัดและชาตินิยมสุดโต่งให้กับประชาชนในประเทศ และประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรฟาสซิสต์อิตาลีให้ขจรขจายไปสู่โลกภายนอก

Only One Heart! Only One Will! Only One Decision! โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อของระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ ภาพจาก counterlightsrantsandblather1

พรรคฟาสซิสต์ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการมหกรรมศิลปะเวนิสเบียนนาเล่และดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลจากทั่วโลก เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของฟาสซิสต์อ้างว่าในช่วงปลายปี 1932 มีผู้เข้าชมงานถึง 250,000 คน และในปี 1934 จำนวนผู้เข้าชมงานพุ่งไปถึง 450,000 คน จำนวนที่ว่านี้สะท้อนถึงควมสำเร็จของการจัดกิจกรรมใหม่ๆ อย่างดนตรี การละคร และเทศกาลภาพยนตร์ และการประชาสัมพันธ์ที่ทรงประสิทธิภาพ การจัดโปรลดค่าตั๋วรถไฟ อันเป็นนโยบายโปรโมตแบบทุ่มไม่อั้นของพรรคฟาสซิสต์นั่นเอง

ผู้ชมของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสครั้งแรกในปี 1932 ภาพจาก http://www.ganzomag.com

พรรคฟาสซิสต์ใช้กลยุทธ์ทางศิลปวัฒนธรรมขับเคลื่อนสังคมอิตาลีได้อย่างทรงพลัง ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว จากการเปลี่ยนแนวทางการแสดงนิทรรศการในมหกรรมศิลปะเพื่อดึงดูดผู้ชมใหม่ๆ ทางพรรคสนับสนุนการทดลองใหม่ๆ ทางศิลปะอย่าง ภาพยนตร์ดนตรีป็อปมัณฑนศิลป์ (Decorative arts) และศิลปสาธารณะ (Public art) อย่างประติมากรรมกลางแจ้ง อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน และงานสถาปัตยกรรม พวกเขาเชื่อมโยงกับมวลชนด้วยความบันเทิงกระแสหลักและวัฒนธรรมแห่งชาติที่แผ่ขยายในมหกรรมศิลปะเวนิสเบียนนาเล่ โดยไม่ยึดโยงกับศิลปะชั้นสูงชนชั้นสูงและชนชั้นนายทุนเหมือนแต่ครั้งเก่าก่อนอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนมิกกีเมาส์ในเทศกาลภาพยนตร์ ละครเวทีของโกลโดนี (Carlo Goldoni) ในเทศกาลละคร ไปจนถึงแจกันเวนินี (Venini Vase) ในพาวินเลียนมัณฑนศิลป์

Fascist Revolution Exhibition (นิทรรศการปฏิวัติของฟาสซิสต์) (1932 – 1934/1937 และ 1942) นิทรรศการเฉลิมฉลองครบรอบทศวรรษของการขึ้นสู่อำนาจของมุโสลินี
ภาพจาก counterlightsrantsandblather1

เวนิสเบียนนาเล่ในยุคฟาสซิสต์กลายเป็นแหล่งรวมความบันเทิงอันอุดมสมบูรณ์ ถึงแม้จะเป็นระบอบการปกครองแบบเผด็จการ แต่ฟาสซิสต์ก็บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ สร้างความนิยมในหมู่มวลชน สร้างนวัตกรรมทางวัฒนธรรม และสร้างความชอบธรรมให้กับอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเผด็จการของตนด้วยการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมืออย่างทรงพลังยิ่ง

ถึงแม้มหกรรมศิลปะเวนิสเบียนนาเล่จะหลุดพ้นจากร่มเงาของเผด็จการหลังจากที่พรรคฟาสซิสต์ล่มสลายลงในปี 1945 แต่อุดมการณ์ทางการเมืองและนโยบายทางวัฒนธรรมบางอย่างของมันก็ยังคงหลงเหลือและตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้

Exhibition of the Fascist Revolution (1933) โปสเตอร์นิทรรศการปฏิวัติของฟาสซิสต์

กลับมาที่เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนาเล่ ของเรากันบ้าง เทศกาลนี้จะจัดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน ปี 2018 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2019 จัดในขึ้นในธีมสุขสะพรั่งพลังอาร์ต (Beyond Bliss) และมีสถานที่จัดแสดงงานกระจายอยู่รอบๆ ตัวเมืองกรุงเทพฯ

ส่วนเรื่องที่ว่าเทศกาลศิลปะที่จัดโดยหน่วยงานรัฐของบ้านเราซึ่งกำลังจะมาถึงนี้ จะทำให้คนไทยสุขสะพรั่งและบันเทิงเริงใจไปกับศิลปะเหมือนกับมหกรรมศิลปะเวนิสเบียนนาเล่ในยุคนั้นได้หรือเปล่า ก็ต้องคอยติดตามกันต่อไปด้วยใจระทึกพลันก็แล้วกันนะครับท่านผู้อ่าน

 

ที่มา:
is.muni.cz
artselectronic.wordpress.com
en.wikipedia.org/wiki/Venice_Biennale

Tags: , , , , , , , ,