ในวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจอย่างมาก เลยขออนุญาตเอามาเล่าสู่กันฟัง นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า ‘The Intangibles of Emptiness ความว่างเปล่าที่จับต้องไม่ได้’ ของศิลปินศิลปะการแสดงร่วมสมัยระดับแนวหน้าของไทย ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับโลกอย่าง พิเชษฐ กลั่นชื่น ที่จัดขึ้นที่ หอศิลป์ ARTIST+RUN ความแปลกและแตกต่างของนิทรรศการนี้ก็คือ เป็นงานศิลปะลูกผสมระหว่างงานทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง ผลงานเกือบทั้งหมดในนิทรรศการ ถูกสร้างขึ้นในคืนเปิดงานนั่นเอง

“นักเต้นคือบุคคลที่ใช้ร่างกายเพื่อสร้างความหมายเรื่องราวในพื้นที่ว่างเปล่าของอากาศ การเคลื่อนไหวของร่างกายจะเกิดขึ้นในความว่างเปล่าของพื้นที่และจบลงด้วยความว่างเปล่าอีกครั้ง โดยที่ไม่มีอะไรเหลือคงอยู่ในพื้นที่ของความว่างเปล่านั้นเลย แตกต่างจากงานศิลปะแขนงอื่นที่เริ่มต้นจากความว่างเปล่าแต่จบลงด้วยสิ่งที่จับต้องได้

The คือนักเต้น Intangibles สิ่งที่จับต้องไม่ได้ด้วยร่างกาย Emptiness พื้นที่ของอากาศที่ว่างเปล่า The Intangibles of Emptiness คือการบันทึกของความว่างเปล่าที่จับต้องไม่ได้” เป็นคำอธิบายของพิเชษฐถึงนิทรรศการศิลปะลูกผสมครั้งนี้ของเขา

แรกก้าวที่ย่างเท้าเข้าไปในหอศิลป์ ผมสังเกตเห็นสภาพข้างในดูคล้ายกับกำลังซ่อมแซม เพราะมีอุปกรณ์ก่อสร้างอย่างบันไดอลูมิเนียมพับของช่างวางไว้สองสามอัน ผนังหอศิลป์ด้านหนึ่งขึงติดผ้าดิบไว้สูงเกินครึ่งผนัง เหนือขึ้นไปแขวนตะขอเรียงราย บนผ้าแขวนทับด้วยกรอบไม้ขึงด้วยเศษผ้าเปื้อนสี ไหม้ไฟ หลุดรุ่ยรุ่งริ่งเป็นหย่อมๆ ไปทั่วผนังของห้องแสดงงาน ดูก้ำกึ่งระหว่างผลงานศิลปะนามธรรมกับฉากเวที บนพื้นหอศิลป์ติดเทปกาวสีดำยาวตั้งแต่ปากประตูไปจนถึงผนังด้านในสุด นัยว่าเป็นการแบ่งขอบเขตระหว่างเวทีของนักแสดงและที่นั่งของผู้ชม พอประตูเปิด ผู้ชมต่างก็ทยอยเข้าไปนั่งในบริเวณนั้นจนแน่นขนัด

โดยไม่มีปี่มีขลุ่ย พิเชษฐกับกลุ่มคนในชุดคนงานก่อสร้างท่าทางทะมัดทะแมง ก็เดินขนข้าวของและอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ ทั้งอิฐมวลเบา ปูนซีเมนต์ เครื่องไม้เครื่องมือก่อสร้าง และถุงน้ำเกลือบรรจุสี หลากถุง หลายสีสัน เข้ามาในหอศิลป์ และเริ่มต้นกิจกรรมอย่างขมักเขม้น โดยที่เราไม่รู้ว่าพวกเขากำลังตระเตรียมฉาก/เวทีสำหรับการแสดงหรือกำลังแสดงอยู่กันแน่ จนเมื่อเสียงดนตรีเริ่มดังขึ้น และตัวศิลปินและทีมงาน เริ่มยักย้ายส่ายสะโพกพร้อมๆ กับการประกอบกิจกรรมดังกล่าวไปด้วย เราถึงรู้ตัวว่าการแสดงเริ่มต้นขึ้นแล้ว

พิเชษฐและทีมนักแสดงปีนบันไดขึ้นไปแขวนถุงน้ำเกลือใส่สีบนตะขอที่ติดเรียงรายบนผนังทีละถุงๆ จนหมด และเริ่มเปิดวาล์วปล่อยน้ำสีให้ไหลลงมาตามสายเข็ม หยาดหยดลงบนผ้าดิบที่ขึงไว้บนผนังเป็นสายหลากสีสัน ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มทำกิจกรรมตอบโต้กับสีที่ไหลหยดลงมา ไม่ว่าจะเอากระบอกฉีดน้ำฉีดน้ำใส่จนแตกฟุ้ง เอาเครื่องเป่าลมเป่าลมใส่หยดสีจนกระจัดกระจาย หรือใช้อุปกรณ์ก่อสร้างอย่างเหล็กฉาก สายเมตรในตลับเมตร เกรียงโบกปูน ไม้ฉาบปูน สามเหลี่ยมปาดปูน ตัววัดระดับน้ำ เชือกตีแนว ฯลฯ ไปจนถึงใช้มือเท้าต่างอุปกรณ์ ขวางกั้นสีที่หยดให้ไหลไปตามทิศทางต่างๆ และปาด ป้ายให้กลายเป็นร่องรอยสีสันบนผืนผ้าดิบบนผนัง ด้วยลีลาแบบนักเต้นรำอันพริ้วไหว ท่ามกลางเสียงเพลงหลากสัญชาติ หลายแนว ทั้งเพลงฝรั่ง เพลงไทย เพลงคลาสิค เพลงอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงเพลงลูกทุ่งหมอลำ

พร้อมๆ กันนั้นพวกเขาก็เริ่มผสมปูนก่ออิฐขึ้นตรงทางเข้าออกหอศิลป์ อิฐบางก้อนถูกนำไปปาดป้ายบนกองสีที่หยดเนืองนองบนพื้นจนเปื้อนสี อิฐถูกก่อสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นกำแพงขวางกั้นระหว่างผู้ชมที่นั่งชมอยู่ข้างในกับผู้ชมที่ยืนมุงดูอยู่ข้างนอก ก่อนที่พิเชษฐ์จะประกาศขึ้นมาว่า “ใครจะออกต้องรีบออก เพราะคุณจะติดกับดักศิลปะ ออกไม่ได้” ทำให้บางคนที่ดูอยู่ข้างในเริ่มทยอยออกไปข้างนอก ในขณะที่บางคนตัดสินใจอยู่ข้างใน (รวมถึงเราด้วย) เพราะอยากรู้ว่าการแสดงจะพาเราไปถึงไหน แล้วก็ไม่ผิดหวัง ท้ายที่สุด พวกเราก็ได้ออกไปข้างนอกอยู่ดี  เพราะจู่ๆ พิเชษฐ์ก็ใช้กรรไกรกรีดตัดผ้าดิบที่ขึงปิดผนังออก ใช้ตีนถีบผนังหอศิลป์จนทะลุออกไปข้างนอกเลย! เรียกว่าเป็นการแสดงที่โคตรจะทะลุทะลวง คือทะลวงผนังหอศิลป์ทะลุออกไปเลยจริงๆ

เราทยอยเดินผ่านรูกำแพง ตามศิลปินและทีมนักแสดงที่ออกไปทำการแสดงส่วนที่สองตรงลานข้างหอศิลป์ พวกเขายกเฟรมผ้าใบมาวางพิงผนัง ปูพื้นด้วยแผ่นยาง ฉีดน้ำบนผ้าใบจนชุ่ม ลากโม่ผสมปูนออกมาจากมุมมืด ฉวยไฟสปอตไลท์มาสาดแสงไล่ความมืด แล้วเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายร่ายรำตามเสียงเพลงหลากสัญชาติ บ้างก็ใช้มือจุ่มสีตวัดสีลงบนผืนผ้าใบเป็นวงกลมสมบูรณ์แบบ บ้างก็ปาดป้าย สะบัดสี เป็นเส้นตรง เส้นโค้ง ร่องรอย สาดกระเซ็นตามท่าทางการเคลื่อนไหวอันไหลลื่น

บ้างก็เข้าไปเต้นคลุกคลีพัวพันเกลือกกลิ้งกันบนผืนผ้าใบจนกลายเป็นร่องรอยคล้ายภาพนามธรรมสีสันเปี่ยมอารมณ์รุนแรง บ้างราดรดสีลงบนกองหินก่อสร้างในกระบุง เอาไปสาดใส่โม่ผสมปูน กวนหมุนวน หยิบฉวยเอาผ้าดิบเปื้อนสีและกรอบไม้ที่แขวนในห้องแสดงงานเป็นเชื้อฟืน ฉีกทึ้งผ้าใบที่เพิ่งวาดลวดลายยัดใส่ในโม่ จุดไฟเผาจนลุกโพลงขวันโขมง แล้วกวนโม่หมุนวนรอบแล้วรอบเล่า เทหินก่อสร้างฉ่ำสีและไหม้ไฟลงพื้น โกยกลับลงกระบุงเดินขนเข้าไปเทบนพื้นในห้องแสดงงาน พักยกด้วยการเต้นรำสไตล์จิ๊กโก๋โรงงานผสมนาฏลีลาร่วมสมัยเคล้าเสียงเพลงลูกทุ่ง บ้างก็หยิบฉวยเอาผ้าดิบเคล้าสีไหม้ไฟในโม่ผสมปูนมาสวมใส่บนร่างกายเป็นแฟชั่นแปลกตา ปิดท้ายด้วยการลากโม่ผสมปูนพ่นควันโขมงคละคลุ้งโดยไม่ต้องพึ่งดรายไอซ์ ท้ายสุดเหล่านักแสดงทั้งหมดพากันมายืนนั่งนิ่งงันจังก้าอยู่เคียงข้างโม่ปูนติดไฟ ท่ามกลางบทเพลงแห่งความเงียบอันกระหึ่มก้อง เรียกว่าเป็นเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่โคตรร้อนแรง เพราะจุดไฟเผากันจริงๆ เลย!

The Intangibles of Emptiness นอกจากจะเป็นการบันทึกความว่างเปล่าที่จับต้องไม่ได้ของศิลปะแสดงสดให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ในรูปของคราบไคลสีบนผ้าดิบบนผนัง กองหินเปื้อนสีบนพื้นหอศิลป์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำแพงตรงอิฐปิดประตูทางเข้าออก และรูทะลุบนผนังแล้ว การใช้เครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องแต่งกาย และกิจกรรมประกอบการแสดงที่คล้ายกับการทำงานก่อสร้าง ไม่ได้เป็นเพียงแค่อุปมาเก๋ๆ ที่เปรียบศิลปินเป็นเหมือนกรรมกรของศิลปะ หากแต่สื่อความหมายถึงชนชั้นแรงงานที่เป็นคนชายขอบของสังคมอย่างตรงไปตรงมา

“ผลงานนี้เริ่มต้นจากการที่พ่อผมเป็นช่างไม้ ผมเองก็โตมาในแคมป์คนงานก่อสร้าง แต่ผมกลับไปเรียนโขน ซึ่งเป็นศิลปะในราชสำนัก แต่ประเด็นเกี่ยวกับแรงงาน เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในตัวผมตลอดมา ผมก็คิดว่าจะทำยังไงที่จะแสดงมันออกมา ผมก็เลยหยิบเอาองค์ประกอบเกี่ยวกับมันมาใช้ อีกอย่างก็คือ ผมคิดว่างานศิลปะของประเทศเราส่วนใหญ่เป็นงานช่าง ไม่ใช่งานสร้างสรรค์ ผมก็เลยเล่นกับวิธีคิดที่ว่า ช่างก็เป็นนักสร้างสรรค์ได้ งานศิลปะสามารถทำอะไรก็ได้สารพัดมากมาย ไม่จำเป็นต้องเขียนรูปอย่างเดียว เราก็ใช้เครื่องมือช่าง ใช้รูปแบบของช่างมาทำงานศิลปะ แล้วเราก็เล่นกับเรื่องของความแม่นยำ เพราะปกติ คนที่ทำงานศิลปะต้องใช้ความแม่นยำ ต้องเท่านั้นเท่านี้เป๊ะๆ แต่ถึงเราจะใช้ความแม่นยำก็จริง แต่ความงามของการแสดงของเราก็คือสีที่หยดเลยเลอะออกมาเปรอะตรงนั้นตรงนี้ ผมว่ามันงามที่สุดแล้ว เราไม่จำเป็นต้องทำตามขนบจนกระดิกไม่ได้ ผมว่ามันเป็นการสร้างกรอบ กักขังตัวเองเกินไป ผมก็เลยสร้างเป็นกำแพงขังตัวเองเอาไว้ อุปมาเหมือนเราไปไหนไม่รอด แต่ในขณะเดียวกัน เราก็หาทางออกใหม่ ด้วยการระเบิดกำแพงซะ” พิเชษฐ์กล่าวถึงที่มาแห่งแรงบันดาลใจของการแสดงครั้งนี้

จะว่าไป การใช้การร่างกายเคลื่อนไหวร่ายรำทำผลงานศิลปะเปี่ยมสีสันในการแสดงครั้งนี้ของ พิเชษฐ ก็ทำให้เรานึกไปถึงกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ทำงานด้วยการใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายสำแดงท่วงทีในการใช้สีสันวาดภาพอย่าง แอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ หรือศิลปินผู้ใช้ร่างกายมนุษย์ต่างพู่กันวาดภาพแบบศิลปะแบบบอดี้อาร์ต อย่าง อีฟว์ คไลน์ (Yves Klein) ส่วนการใช้วัสดุก่อสร้างอันไร้ค่าธรรมดาสามัญอย่างอิฐ หิน ปูนทราย ผ้าดิบ มาทำงาน ก็ทำให้เรานึกไปถึงกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ปฏิเสธคุณค่าความงามตามขนบด้วยสิ่งไร้ค่าอย่าง อาร์เต้ โพเวร่า ด้วยเช่นกัน ซึ่งพิเชษฐ กล่าวถึงความเชื่อมโยงในประวัติศาสตร์ศิลปะเหล่านี้ว่า

“ในยุค 60 -70 เป็นช่วงที่งานเหล่านี้เฟื่องฟูมากในยุโรปและอเมริกา แต่ในบ้านเราไม่ค่อยทำอะไรแบบนี้กันเลย ฝั่งที่เป็นศิลปะการแสดงก็จะไม่กระโดดเข้ามาในหอศิลป์ หรือข้องแวะกับงานทัศนศิลป์ ผมก็เลยนึกว่าจะทำยังไงที่เราจะเอาขามาเกี่ยวกับฝั่งนี้นิดนึง คือเราอยากวาดรูปน่ะ แต่เราวาดรูปไม่เป็น แต่เราเต้นได้ไง

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ในฐานะที่เป็นนักเต้น ผมรู้สึกว่าเราเสียเปรียบ เพราะไม่สามารถที่จะบันทึกการเคลื่อนไหวของตัวเองได้ พอเต้นเสร็จก็หายไป ผมก็เลยคิดว่าจะทำยังไงที่จะบันทึกการเคลื่อนไหวของเราเอาไว้ เพื่อให้เรากลับมาดู กลับมาอ่านมันอีกครั้ง เราก็เลยบันทึกการเคลื่อนไหวของเราออกมาเป็นสีสันเป็นลายเส้นออกมา”

ถึงแม้พิเชษฐและทีมนักแสดงของเขาจะบันทึกการเคลื่อนไหวของเขาออกมาเป็นภาพวาดนามธรรมสีสันสวยงามและทรงพลัง แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ฉีกทึ้งและเผาทำลายมันจนขาดวิ่น มอดไหม้ ไร้ความสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกัน (นี่ยังไม่นับการเจาะผนังห้องแสดงงานจนเป็นรูด้วยน่ะนะ) ซึ่งลักษณะการทำลายผลงาน เพื่อสร้างทางออกใหม่ๆ ก็ทำให้เรานึกเชื่อมโยงไปถึงผลงานของศิลปินอิตาเลียนอย่าง ลูซิโอ ฟอนตานา (Lucio Fontana) ที่กรีดเฉือนผืนผ้าใบเพื่อสร้างมิติใหม่ๆ ให้กับภาพวาด แต่ในขณะเดียวกัน การทำลายผลงานในการแสดงครั้งนี้ของพิเชษฐ์ก็แฝงปรัชญาแบบตะวันออกเอาไว้ด้วยเช่นกัน

“สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราพยายามอธิบายคือเรื่องของการเผาอัตตาของเรา ภาพที่อยู่ข้างในหอศิลป์เนี่ย เราอยากเผาทั้งหมดเลย เพราะถึงแม้คนที่เข้าไปดูจะรู้สึกว่าภาพเหล่านั้นมันสวยมาก แต่ถ้าเรายังคงติดอยู่กับสิ่งนี้ เราจะไปไม่รอดในฐานะคนทำงานศิลปะ เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่เราต้องทำคือต้องเผาอัตตาตัวเอง เผาสิ่งที่ตัวเองคิดว่าสมบูรณ์ที่สุดทิ้ง เพื่อสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา แล้วพอมันสมบูรณ์แล้ว สวยแล้ว เราก็ทำลายมันต่อไปอีกเรื่อยๆ ทำลายมันไปเรื่อยๆ แต่พอเราทำลายมันมากขึ้น มันก็เกิดความงามขึ้นไปอีก เกิดจินตนาการขึ้นไปอีก เกิดสิ่งใหม่ขึ้นไปอีก นี่คือสิ่งที่คนทำงานศิลปะในเมืองไทยไม่ค่อยทำกัน เรามักจะเทิดทูนศิลปะให้เป็นสิ่งสูงส่ง เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ แตะไม่ได้ เติมไม่ได้ ทุกอย่างเต็มแล้ว แน่นแล้ว ใส่อะไรลงไปไม่ได้ ถ้างั้นแล้วเราไม่ต้องใส่อะไรลงไป เราก็เอามันออกซะ ทำลายมันซะ ก็เท่านั้นเอง การทำลายสำคัญมากสำหรับคนทำงานศิลปะ มันให้กำเนิดสิ่งใหม่ตลอดเวลา มันทำให้เราเป็นอิสระ

การแสดงนี้เหมือนเป็นการหาทางออกใหม่ๆ ให้กับคอมพานีของเรา เพราะว่าเราอยู่มาสิบกว่าปีแล้ว ถ้าเรายังติดอยู่กับวิธีการเดิมๆ ยังคงเอิงเอยกันอยู่ เราจะไปไหนไม่รอด เพราะฉะนั้นถ้าเราจะไปต่อ เราก็ระเบิดกำแพงซะ หาทางออกใหม่”

ยิ่งไปกว่านั้น นิทรรศการศิลปะลูกผสมของพิเชษฐครั้งนี้ ยังถือเป็นการหาทางออกใหม่ๆ ให้กับหอศิลป์ ทั้งทางออกจริงๆ ตามตัวอักษร อย่างผนังที่ทะลุเป็นรูออกไปข้างนอก หรือทางออกทางความคิด ที่ท้าทายขนบและอำนาจเดิมๆ ของพื้นที่ทางศิลปะ และทำลายความศักดิ์สิทธิ์ สูงส่ง สะอาดสะอ้านจนไม่อาจแตะต้องได้ของหอศิลป์

แต่ถึง The Intangibles of Emptiness ตั้งอยู่บนฐานคิดของการทำลาย และเป็นศิลปะการแสดงสดที่ดูสับสน วุ่นวาย ดูเปี่ยมอันตราย แต่การแสดงครั้งนี้ของพวกเขาก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ทำขึ้นมามั่วๆ ซั่วๆ หากแต่เป็นงานที่มีระบบชัดเจนและผ่านการซักซ้อมวางแผนมาเป็นอย่างดี

“การแสดงทั้งหมดที่เห็นไม่ได้เป็นการ Improvise (ด้นสด) แต่มันคือการวางแผน ทุกอย่างถูกกำหนดมาหมดแล้ว จริงๆ แล้ว กระดูกหลักของการแสดงคือดนตรี หรือเพลงประกอบ ที่กำหนดไลน์การแสดงของแต่ละคนว่าคิวของใครอยู่ไหน ทำอะไร อย่างเช่น ถ้าเราขนทรายอยู่ พอถึงคิว เราก็จะวางแล้วมาเต้น”

ซึ่งเพลงประกอบการแสดงหลากหลายแนวทางและสัญชาติ ทั้งเพลงไทย เพลงสากล เพลงคลาสสิค ลูกทุ่ง หมอลำ ไปจนถึงเพลงร็อก นั้นได้แรงบันดาลใจจากบรรยากาศและวิถีชีวิตในแคมป์คนงานก่อสร้างที่พิเชษฐ์คุ้นเคยมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก

“ไอเดียก็คือ ในแคมป์คนงานก่อสร้าง มักจะมีวิทยุตั้งอยู่อันนึง คนที่ผ่านไปผ่านมาก็จะเปลี่ยนเพลงไปเรื่อยๆ ตามความชอบใจ ผมก็เลยให้ทีมนักแสดงเลือกเพลงกันคนละเพลง ชอบเพลงอะไรก็เลือกมา แล้วเพลงลูกทุ่งที่ได้ยินน่ะ ไม่ใช่ของพวกเขานะ ของผมทั้งนั้นน่ะ (หัวเราะ)”

ลักษณะพิเศษอีกประการของการแสดงครั้งนี้คือการที่พิเชษฐทำลายพรมแดนขวางกั้นระหว่างนักแสดงกับผู้ชม ถึงแม้จะมีเทปกาวกั้นแบ่งเขตระหว่างกันชัดเจน แต่นักแสดงก็ก้าวข้ามเส้นแบ่งมามีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมบ่อยครั้ง กระทั่งถึงกับสร้างกำแพงอิฐปิดขวางประตูทางเข้าออกและกระตุ้นเร้าท้าทายผู้ชมว่าจะออกไปหรืออยู่ข้างในต่อ และในที่สุดทะลวงกำแพงสร้างทางออกใหม่

“เราต้องการทำลายขนบเดิมๆ ของละคร ที่คนดูมีหน้าที่นั่งดู นักแสดงมีหน้าที่แสดง พอปิดไฟ คนดูนั่งดู เราเล่น เล่นจบ เปิดไฟ คนดูปรบมือ เราบ๊ายบาย ความคลาสสิคเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราพยายามทำลายทิ้ง หรือแม้แต่ความสูงของเวที หรือพื้นที่ในการแสดงละครที่อยู่สูงกว่าคนดู เราก็ลดลงมาให้อยู่ในระดับเดียวกัน

ที่สุดแล้วเราคุยกันว่า งานนี้ถ้าให้ผู้ใช้แรงงานจริงๆ มาเล่น มันจะแข็งแรงกว่านี้อีก คือไปที่ไซต์งานก่อสร้างจริงๆ ใช้เวลาอยู่กับพวกเขาสักสองอาทิตย์ สอนพวกเขาใช้ร่างกาย แล้วให้พวกเขาแสดง งานชิ้นนี้จะสมบูรณ์แบบ นี่คือสิ่งที่พวกเราคิดกัน”

กับการทำงานศิลปะแสดงสดที่สุดแสนจะท้าทายและทะลุทะลวงเช่นนี้ ผมเองอยากรู้ว่าศิลปินอย่างเขามีขอบเขตและเส้นที่ไม่ควรก้าวข้ามไปไหม พิเชษฐตอบเราว่า

“ผมคิดว่ามีนะ เรารู้ว่าอะไรเราทำได้ หรือทำไม่ได้ เราสามารถกำหนดได้ว่าสิ่งนี้สามารถสะเทือนสภาวะของคนดูได้ขนาดไหน หรือสิ่งนี้ทำไม่ได้เพราะมันเลยเถิดเกินไป ผมจะบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกยกเลิกไปในการแสดงนี้ อย่างถุงน้ำเกลือที่เห็นตอนแรกเราจะไม่ได้ใส่สีนะ แต่จะใช้เลือดจากพวกเรานี่แหละ ให้หมอเจาะแล้วปล่อยเลือดให้ไหลลงมา แต่คุยกันไปกันมา ปรึกษากับภัณฑารักษ์แล้ว เราก็คิดว่าเบรคไว้ก่อนดีกว่า คราวหน้าเดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที

หรือโม่ปูนที่เห็นเนี่ย ตอนซ้อมผมลงไปอยู่ในนั้นเลยนะ เอาหิน เอาสี เอาผ้าใส่ แล้วปั่นเลย แต่ด้วยความที่โม่ตัวนี้เป็นของเก่า เดือยมันหลวม ทุกคนก็เลยเตือนว่าอย่าลงไปเลย เพราะมันอาจจะควบคุมความปลอดภัยไม่ได้ การแสดงมันเหมือนการเดินทางไกลในระยะที่เรากำหนด มากกว่านั้นมันก็ไม่ใช่ เรารู้จังหวะของเรา

คอมพานีของเราอยู่กันมานานกว่าสิบปี เราทุกคนรู้ว่าจะต้องเกิดอะไรขึ้น และเราก็มีความสุขมากกับการแสดงที่เปิดพื้นที่ทางความคิด นักเต้นได้เติบโต เป็นอิสระ และเราเองก็วิพากษ์วิจารณ์การถูกจำกัดอยู่ในกรอบและประเพณีมาโดยตลอด”

หนึ่งสัปดาห์หลังจากวันแสดง ผมมีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมเยือนหอศิลป์ ARTIST+RUN อีกครั้ง และได้พบเห็นวัตถุข้าวของที่ถูกใช้ในการแสดงสดในวันเปิดนิทรรศการ ถูกจัดแสดงในพื้นที่หอศิลป์ ทั้งผืนผ้าดิบเปรอะสีฉีกขาดไหม้ไฟที่แขวนบนผนัง ภาพวาดที่เกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายที่ถูกฉีกทึ้งมาแขวนบนผนัง วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างวางเรียงรายอยู่บนพื้นห้องและบนผนัง ชุดก่อสร้างของเหล่าบรรดานักเต้นเปราะเปื้อนสีและคราบเหงื่อไคลถูกพาดไว้บนบันไดก่อสร้างและบนผนัง คราบหลากสีสันที่ไหลหยดลงมาจากถุงน้ำเกลือเป็นสาย กลายเป็นปื้นสีแห้งกรังผสมปนเปกันสวยงามแปลกตาบนพื้น เคียงกันกับกองหินก่อสร้างคลุกสีสดใส ถัดไปเป็นกำแพงอิฐเปื้อนสีที่ถูกก่อขึ้นปิดทางเข้าออก และ (แน่นอนที่สุด) ช่องเจาะบนฝาผนังที่กลายเป็นทางเข้าออกใหม่ของหอศิลป์

วัตถุอันธรรมดาสามัญเหล่านี้ เป็นหลักฐานการเกิดขึ้น ดำเนินอยู่ และจบสิ้นไป ของการแสดงสด “ความว่างเปล่าที่จับต้องไม่ได้” ไม่ต่างอะไรกับวิดีโอบันทึกการแสดงสด ที่เปิดฉายบนจอในห้องแสดงงานเลยแม้แต่น้อย

ข้อมูล: 

จากหอศิลป์ ARTIST+RUN

บทสัมภาษณ์ พิเชษฐ กลั่นชื่น โดยผู้เขียน

http://www.100tonsongallery.com/site/news?mode=past&news_id=158

http://www.100tonsongallery.com/site/exhibition?mode=view&ex_id=78&type=0&ref_mode=now

https://www.bangkokpost.com/lifestyle/whats-on/26001/pichet-klunchuns-solo-show

ภาพถ่ายโดย: ปรีชา ภัทรอัมพรชัย, ภัทรพงศ์ ดิลกโสภณ, อังกฤษ อัจฉริยโสภณ

Fact Box

  • พิเชษฐ กลั่นชื่น คือนักเต้น และนักสร้างสรรค์ท่าเต้นร่วมสมัย เขาเป็นศิษย์อาจารย์ชัยยศ คุ้มมณี หนึ่งในพ่อครูโขนผู้เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเทศไทยตั้งแต่อายุเพียง 16 ปี เขาจบการศึกษาสาขาวิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และก้าวสู่การเป็นศิลปินการแสดงในเวทีระดับประเทศและระดับนานาชาติ จากความสามารถในการประดิษฐ์ท่าเต้นอันวิจิตรพิสดาร แปลกประหลาดล้ำสมัย ชวนพิศวง ที่สะกดคนดูให้ตราตรึงและตื่นตะลึงไปกับการแสดงอันเปี่ยมเอกลักษณ์ ยากจะหาใครเสมอเหมือน ด้วยการหลอมรวมท่วงท่าของศิลปะการร่ายรำแบบนาฏศิลป์ไทยดั้งเดิม มาประยุกต์เข้ากับการเต้นรำร่วมสมัย (Contemporary Dance) นอกจากการเต้นและออกแบบท่าเต้น พิเชษฐยังมีผลงานด้านการกำกับการแสดงทั้งในเวทีไทย และเวทีระดับสากล มีผลงานในเทศกาลศิลปะการแสดง ในระดับนานาชาติในหลายประเทศทั้งเอเชีย อเมริกาและยุโรปอย่างต่อเนื่อง
  • พิเชษฐเป็นเจ้าของรางวัลมากมายทั้งจากองค์กรในและต่างประเทศอย่าง รางวัลศิลปาธร ด้านศิลปะการแสดง ในปี พ.ศ. 2549, รางวัล 'Routes' ECF Princess Margriet Award for Cultural Diversity จาก European Cultural Foundation ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้ศิลปิน หรือนักคิดที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหลากหลายวัฒนธรรม เพื่อช่วยสร้างให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างผู้ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน, รางวัล จาก The French Ministry of Culture "Chevalier of the French Arts and Literature Order" สำหรับผลงานที่เขาสรรค์สร้าง ซึ่งส่งอิทธิพลต่อวงการศิลปะทั้งในฝรั่งเศส ประเทศไทย และทั่วโลก พิเชษฐยังเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล John D. Rockefeller 3rd. จาก Asian Cultural Council ในฐานะศิลปินผู้ธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของศิลปะประจำชาติบนเวทีศิลปะระดับโลกในปี พ.ศ. 2557
  • อนึ่ง การแสดงนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่พิเชษฐทำงานในขอบเขตของทัศนศิลป์และศิลปะร่วมสมัย ครั้งหนึ่งเขาเคยร่วมงานกับ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงระดับโลก ในการแสดงศิลปะร่วมสมัย รามเกียรติ์ ตอน นางลอย นาฏกรรมแห่งรัก แอนด์ โรล (Ramakien : A Rak Opera) ในเทศกาลลินคอล์น เซ็นเตอร์ ซัมเมอร์ เฟสติวัล ในปี พ.ศ. 2549, และร่วมงานกับศิลปินภาพถ่าย กรกฤช เจียรพินิจนันท์ และภัณฑรักษ์ ธนาวิ โชติประดิษฐ ในนิทรรศการ Prism ที่ 100 ต้นสน แกลเลอรี่ ในปี พ.ศ. 2553, และแสดงศิลปะแสดงสดร่วมสมัย Unwrapping Culture ที่ 100 ต้นสน แกลเลอรี่ ในปี พ.ศ. 2556 เป็นอาทิ
  • ปัจจุบันพิเชษฐยังคงเป็นนักเต้นและก่อตั้งคณะการแสดง 'Pichat Klunchun Dance Company' เพื่อการทำงานด้านศิลปะการเต้นและสร้างนักเต้นมืออาชีพ โดยเน้นค้นหาและพัฒนาองค์ความรู้ทางนาฏศิลป์ไทย และได้สร้างโรงละครช้างขึ้นเพื่อเป็นเวทีแสดงผลงานในการเต้นและการแสดงร่วมสมัยทั้งจากไทยและต่างประเทศ
  • นิทรรศการ The Intangibles of Emptiness ความว่างเปล่าที่จับต้องไม่ได้ จัดแสดงในวันที่ 12 มกราคม - 14 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่เวลา 13:00-18:00 น. ทุกวัน ที่หอศิลป์ ARTIST+RUN ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 22 สอบถามข้อมูลได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0994545955
Tags: , , ,