เราคนไทยอาจไม่ค่อยคุ้นหูกับอารีปา (Arepa) สักเท่าไหร่ แต่ถ้าลองเสิร์ชดู จะพบว่าอารีปาได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน ‘อาหารเช้า’ ที่ดีที่สุดในโลก
เว็บไซต์อย่าง thrilllist.com ที่จัดอันดับอาหารเช้าดีที่สุดในโลกเอาไว้ 18 อันดับ ยกย่องให้อารีปาเป็นอาหารเช้าอันดับ 1 รองลงมาคืออาหารเช้าของตุรกี ในขณะที่ถัดมาคืออาหารเช้าอันลือชื่อของสก็อตแลนด์ ไอร์แลนด์ และอังกฤษ (ที่เราเรียกว่า อิงลิชเบรคฟาสต์นั่นแหละครับ)
gapyear.com ก็เหมือนกัน เว็บนี้ให้อารีปาเป็นอาหารเช้าอันดับ 2 รองลงมาจากอาหารเช้าแบบอินเดียเท่านั้น โดยอยู่เหนือกว่าอาหารเช้าแบบอเมริกัน (ที่มีแพนเค้ก ไข่คน ไส้กรอก และเบคอน อย่างที่เราคุ้นเคยดี) ด้วย
คำถามก็คือ อารีปาเป็นอาหารเช้าของใครที่ไหนหรือ แล้วมันอร่อยล้ำเลิศสักแค่ไหนเชียว?
ร้านที่น่าจะทำให้คนอเมริกันรู้จักอารีปาเป็นร้านแรกๆ ก็คือร้านชื่อ Caracas Arepa Bar ซึ่งอยู่ในอีสต์วิลเลจของนิวยอร์ก โดยสูตรที่ได้นั้นมาจากเชฟอย่าง อิลเซ ปาร์รา (Ilse Parra) และข้ามฟากมาโด่งดังในฝั่งตะวันตกโดยร้านเก๋ในพอร์ตแลนด์อย่างร้าน Teote ซึ่งเป็นร้านอาหารที่แนวลาตินอเมริกา (หรืออาหารอเมริกาใต้)
จริงๆ แล้ว อารีปาเป็นอาหารที่ทำง่ายมาก มีส่วนผสมหลักๆ แค่เกลือ น้ำ น้ำมันพืช แล้วก็สิ่งสำคัญที่สุด – คือแป้งข้าวโพดที่มีการปรุงสุกเอาไว้ล่วงหน้าแบบพิเศษแล้ว (precooked flour) เรียกว่า อารีปารีนา (areparina) หรือมาซารีปา (masarepa) ซึ่งถ้าหาไม่ได้ บางคนอาจใช้แป้งข้าวโพดหรือคอร์นมีลแทน แต่ก็จะไม่เหมือนกันกับอารีปาเสียทีเดียว เพราะแป้งอารีปารีนาหรือมาซารีปานั้น จะต้องต้มแล้วทำให้แห้งอีกทีหนึ่งด้วยกรรมวิธีพิเศษ ถึงจะออกมาเป็นแป้งที่ใช้ทำอารีปา
วิธีทำอารีปานั้นง่ายมาก คือละลายเกลือในน้ำ แล้วค่อยๆ เติมอารีปารีนาหรือมาซารีปาลงไปช้าๆ จนเกิดเป็นแป้งโดห์ แล้วนวดเล็กน้อย เมื่อได้โดห์แล้ว ก็นำมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ แบนๆ หนาๆ หน่อย แล้วก็นำลงไปทอดจนข้างนอกกรอบสุกเหลือง อาจจะมีเกรียมๆ บางส่วน แต่ข้างในจะต้องนุ่มนวลชวนฝัน
นำลงไปทอดจนข้างนอกกรอบสุกเหลือง อาจจะมีเกรียมๆ บางส่วน แต่ข้างในจะต้องนุ่มนวลชวนฝัน
นี่คืออาหารเช้าตำรับเวเนซุเอลาหรือโคลอมเบีย ซึ่งเป็นอาหารอเมริกาใต้แท้ๆ โดยวิธีกินอารีปาเป็นอาหารเช้านั้นทำได้หลากหลายมาก เช่น อาจจะกินเปล่าๆ ไปเลย หรืออาจตัดแบ่งครึ่ง ซึ่งข้างในก็จะมีลักษณะเป็นโพรง คล้ายๆ ขนมปังปิต้า (pita bread) แล้วสามารถใส่ไส้ต่างๆ นานาลงไปได้ ในเวเนซุเอลานิยมใส่ไส้หลากหลายมากๆ เช่น ใส่ชีส ใส่ไส้กรอกโชริโซย่างหอมๆ ใส่ไส้ไก่ อะโวคาโด ไข่ และอื่นๆ ได้อีกมากมายตามแต่จินตนาการและความต้องการ
ไส้ที่โด่งดังที่สุด คือไส้ที่เรียกว่า เรนา เปเปียดา (reina pepiada) ซึ่งหมายถึงราชินีที่มีสัดส่วนงดงามได้รูป (แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า curvy queen) เป็นการตั้งชื่อตามมิสเวิลด์ชาวเวเนซุเอลาคนแรกของโลก ผู้มีนามว่า ซูซานา ดูยจิม (Susana Duijim) เธอได้ตำแหน่งนี้ในปี 1955 ไส้ที่ว่านี้มีส่วนผสมคือไก่ มายองเนส และอะโวคาโด จริงๆ ก็คือสลัดอะโวคาโดมายองเนสใส่ไก่นั่นเอง
เชื่อว่า ชาวอเมริกาใต้ทำอารีปากินกันมาตั้งแต่ก่อนหน้าโคลัมบัสจะค้นพบทวีปอเมริกาเสียอีก (ซึ่งก็แปลว่าโคลัมบัสไม่ได้เป็นคน ‘ค้นพบ’ ทวีปอเมริกาเป็นคนแรกหรอกนะครับ) เพราะมีการพบอุปกรณ์สำหรับทำแป้งอารีปากับแท่นดินเหนียวที่เอาไว้ใช้ย่างหรือทอดอารีปาในแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีหลายที่ ทั้งนี้ก็เพราะข้าวโพดถือเป็นอาหารหลักของคนในแถบนั้น อย่างในโคลอมเบีย มีบันทึกว่ามีการปลูกข้าวโพดกันมาราว 3,000 ปีแล้ว ส่วนอาร์เจนตินา ตัวเลขอยู่ที่ราว 2,800 ปี คือเก่าแก่พอกัน แต่ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นผู้สร้างสรรค์อารีปาขึ้นมาก่อน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ อารีปาถือเป็นอาหารสำคัญของทั้งโคลอมเบียและเวเนซุเอลา ในโคลอมเบียนั้นถึงขั้นมีเทศกาลอารีปากันเลยทีเดียว ส่วนในเวเนซุเอลา อารีปาถือเป็นอาหารหลักของชาติ โดยความแตกต่างระหว่างอารีปาของโคลอมเบียและเวเนซุเอลาอยู่ที่ไส้ ว่ากันว่า อารีปาของโคลอมเบียจะผลิตแบบอุตสาหกรรมมากกว่า ในขณะที่เวเนซุเอลามักจะทำกินเอง ประมาณว่าคนเกือบ 70% กินอารีปาเป็นประจำทุกวัน มีตัวเลขระบุว่า คนเวเนซุเอลากินแป้งข้าวโพดที่ใช้ทำอารีปามากถึงราวปีละ 30 กิโลกรัมต่อคน
อารีปาถือเป็นอาหารสำคัญของทั้งโคลอมเบียและเวเนซุเอลา ในโคลอมเบียนั้นถึงขั้นมีเทศกาลอารีปากันเลยทีเดียว
แต่ในปัจจุบัน ทุกคนรู้ว่าวิกฤตในเวเนซุเอลานั้นร้ายแรงเพียงใด เรื่องเริ่มตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปลายยุคของ ฮูโก้ ชาเวซ เนื่องจากนโยบายประชานิยมทำให้รัฐบาลใช้จ่ายเกินตัว เวเนซุเอลานั้นพึ่งพิงการส่งออกน้ำมัน แต่ราคาน้ำมันเริ่มดิ่งลงเหวในปี 2014 ทำให้ฮูโก้ ชาเวซ หันมาใช้นโยบายควบคุมราคา และมีนโยบายตรงข้ามกับ privatization คือยึดกิจการของเอกชนมาเป็นของรัฐ แต่กลับมีการจัดการที่ไม่ดี ทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศรุนแรงอย่างมาก มีการวิเคราะห์ว่า ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะรัฐบาลบริหารแบบประชานิยม และแทรกแซงตลาดบิดเบือนราคาสินค้ามาโดยตลอด แม้เมื่อเปลี่ยนผู้นำมาเป็นประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร แล้ว นโยบายก็ไม่ได้เปลี่ยน ทว่ายิ่งทำให้ทุกอย่างร้ายแรงขึ้น เช่น ประกาศพิมพ์ธนบัตรอัดเข้าระบบและปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งก็ยิ่งทำให้เงินเฟ้อรุนแรงมากขึ้น ผลลัพธ์ก็คือประชาชนไม่มีเงินซื้อแม้กระทั่งอาหาร
มีรายงานว่า สินค้าที่ประชาชนชาวเวเนซุเอลาไม่สามารถหาซื้อได้ มีตั้งแต่นม เนื้อ กาแฟ ข้าว น้ำมัน เนย กระดาษชำระ ยา รวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่า precooked flour ซึ่งจริงๆ ก็คือแป้งอารีปารีหรือมาซารีปา ที่ใช้ทำอารีปาของเรานั่นเอง
นับตั้งแต่ปี 2015 การบริโภคอารีปาของชาวเวเนซุเอลาลดลงมาก เนื่องจากหาวัตถุดิบไม่ได้ การบริโภคอารีปารีหรือมาซารีปานั้นลดลงจาก 30 กิโลกรัมต่อคนต่อปี มาเหลือแค่ 17.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี คือลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง คนที่อยากซื้อแป้งข้าวโพดมาทำอารีปา ต้องเข้าแถวรอซื้อนานหลายชั่วโมง กว่าจะได้แป้งที่รัฐบาลควบคุมราคาให้ไม่แพงจนเกินไป ไม่อย่างนั้นก็ต้องไปหาซื้อในตลาดมืดในราคาที่แพงแสนแพง นั่นทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า อารีปาในเวเนซุเอลาอาจกำลังจะสูญหายไปก็เป็นได้
วิกฤตของเวเนซุเอลานั้นหนักมาก เพราะเกิดภาวะเงินเฟ้อในระดับที่เรียกว่า Hyperinflation ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF คาดการณ์ว่าในปีนี้ เงินเฟ้ออาจพุ่งสูงได้ถึงหนึ่งล้านเปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะรัฐล่มสลายได้ทุกเมื่อ รวมทั้งมีการอพยพหนีออกจากเวเนซุเอลาครั้งใหญ่ด้วย
อาหารเช้าอย่างอารีปาจึงเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ได้ว่า ผู้คนในประเทศหนึ่งๆ อยู่เย็นเป็นสุขหรือไม่อย่างไร เราจะเห็นได้เลยว่า กระทั่งอาหารเช้าที่เป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมยาวนานเป็นพันปีอย่างอารีปา ก็ยังถูกคลื่นเศรษฐกิจและการเมืองซัดเสียจนอาจสูญหายไปได้
การมีหรือไม่มีอารีปาบนโต๊ะอาหารเช้าในเวเนซุเอลา จึงบอกเราว่า ทุกอย่างนั้นเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้งมาก ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองเห็นโยงใยนั้นหรือเปล่า
Tags: เงินเฟ้อ, อาหารเช้า, เวเนซุเอลา, Arepa, โคลอมเบีย, อาหาร, ลาตินอเมริกา