เราอาจเห็นการดีเบตโต้แย้งกันอย่างดุเดือดของตัวละครจากพรรคการเมืองหลักๆ อย่างพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ หรืออนาคตใหม่ แต่อีกเสียงสำคัญที่ไม่ได้ออกสื่อบ่อยเท่าตัวละครอื่นๆ คือ ‘พรรคภูมิใจไทย’ พรรคกลางเก่ากลางใหม่ที่อาจได้คะแนนไม่หวือหวา แต่ก็น่าจะเป็นกอบเป็นกำพอที่จะสร้างอำนาจต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาล
และหากเกมพลิกโผ หัวหน้าพรรคอย่าง ‘เสี่ยหนู – อนุทิน ชาญวีรกูล’ อาจมาเงียบๆ แต่ได้รับตำแหน่งสำคัญไปครองก็เป็นได้
อนุทินเป็นทั้งวิศวกร นักบิน และอาสาสมัครช่วยชีวิต ครอบครัวของเขามีธุรกิจอย่างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจก่อสร้างที่ได้รับงานสำคัญหลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกียกกาย ที่แม้ตอนนี้โครงการจะล่าช้าออกไป แต่ก็ไม่แน่ว่าเมื่อถึงวันที่สร้างเสร็จแล้ว อาจจะสบจังหวะที่ประตูโอกาสทางการเมืองเปิดออก และอนุทินก็อาจได้เป็นหนึ่งในคนรุ่นแรกที่เข้ามาทำงานในรัฐสภาที่เขาสร้างขึ้นเอง
แม้ภารกิจของหัวหน้าพรรคในช่วงหนึ่งเดือนก่อนเลือกตั้งแน่นขนัด แต่ช่วงสั้นๆ ในวันที่เขาปลีกเวลาพักจากการเข้าอบรมหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) เพื่อให้สัมภาษณ์นั้น ก็เข้มข้นในใจความ
สังเกตว่า ป้ายเลือกตั้งหาเสียงส่วนใหญ่ของพรรคภูมิใจไทย ไม่ค่อยมีภาพของตัวบุคคล เป็นเพราะอะไร
ไม่ใช่อะไรหรอกครับ สิ่งที่มันควรจะเป็นในการเลือกตั้งแต่ละครั้งก็คือ เราต้องขายนโยบาย เพราะนโยบายจะทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน ทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง ส่วนตัวบุคคลนั้น ก็เปรียบเสมือนผู้แทนของพี่น้องประชาชนในการนำนโยบายหรือรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชนมาแจ้งกับทางพรรคการเมือง เพื่อให้ได้ทราบว่าพี่น้องประชาชนต้องการอะไร
ถ้าพรรคการเมืองไม่ชูนโยบายแล้วจะขายใคร ตัวบุคคลจะทำอะไรได้ นโยบายเปรียบเสมือนข้อความในสัญญาว่าพรรคการเมืองนี้จะต้องทำตามนโยบายนี้ เป็นเครื่องการันตีว่าประชาชนและประเทศชาติจะได้รับสิ่งที่ดีๆ หรือประโยชน์ใดบ้างเมื่อได้รับโอกาสให้เข้าไปบริหารบ้านเมือง ดังนั้นมันก็จะเป็นทั้งไกด์ไลน์ เป็นแนวทาง เป็นสิ่งที่จะต้องกระทำ แล้วก็เป็นพันธสัญญาที่มีไว้กับประชาชน
แก่นหลักนโยบายของพรรคภูมิใจไทยคืออะไร
การเป็นพรรคการเมือง เราต้องมีนโยบายหลักก่อนนะครับ พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่ตั้งมา 10 กว่าปี เราก็เห็นว่าถ้าเรามัวแต่เล่นการเมืองกัน มุ่งหวังแต่การชิงอำนาจรัฐ มุ่งหวังที่จะสาดโคลนใส่กันเพื่อให้ได้อำนาจรัฐมา เพื่อให้ได้ชัยชนะ มันเป็นสิ่งที่ประชาชนจะไม่ได้อะไร
ผมเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยปีนี้ก็ปีที่ 6 สิ่งที่ผมพูดกับสมาชิกพรรคของผมเสมอก็คือ พรรคภูมิใจไทยจะเน้นเรื่องของปากท้องของประชาชนเป็นหลัก เพราะเราเชื่อว่า หากประชาชนมีปากท้องที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการงานทำ มีเงินออมเงินใช้ สามารถประกอบอาชีพต่างๆ ได้ มีความสามัคคีกัน รัฐคอยดูแลเอาใจใส่ ปัญหาอื่นๆ ที่เป็นปัญหาสังคมในทุกวันนี้ ไม่ว่าปัญหาความแตกแยก ปัญหาความขัดแย้ง มันจะหมดไปโดยธรรมชาติของมันเอง ไม่ต้องไปทำอะไรเลย ไม่ต้องมานั่งคิดว่าใครจะจับคนไหนมาดีกัน จะทำให้เขารักกันอย่างไร เพราะบางคน พอมีอุดมการณ์มีแนวความคิดที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดีกันไม่ได้
สิ่งที่จะทำให้เกิดความสงบสุขอย่างยั่งยืน ก็คือต้องทำให้ทุกคนอยู่ดีกินดี มีงานทำ มีเงินใช้ เมื่อปัจจัยเหล่านี้มันครบหมดแล้ว ก็ไม่มีใครที่คิดอยากจะไปเรียกร้องหรือทะเลาะกัน หรือจะไปมีเรื่องมีราวอะไรกับใคร มันเป็นการแก้ไขปัญหาต้นทาง พรรคภูมิใจไทยก็เชื่อมั่นในเรื่องนี้มาโดยตลอด
ประเด็นที่ทางพรรคหาเสียงในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ดูจะเน้นเรื่องที่คนเมืองสนใจอย่างเรื่อง Grab และเรื่องกัญชา
นโยบายต่างๆ ที่ออกมาสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ของพรรคภูมิใจไทย เป็นนโยบายที่เกี่ยวกับปัญหาปากท้องของชาวบ้านทั้งสิ้น เป็นนโยบายที่เราตั้งใจทำอย่างจริงจัง แต่ละภูมิภาคก็มีนโยบายที่ต่างกันไป สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนในภูมิภาคนั้นๆ เช่นในกรุงเทพมหานคร เราคงไม่เอานโยบายข้าวมาขาย หรือนโยบาย อสม. (อาสาสมัครสาธารณุสุข) มาขาย
แต่เราเอาเรื่องของ Grab ที่จะทำให้มันถูกกฎหมาย เอาเรื่องของการทำงานอยู่ที่บ้านสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อลดปัญหาการจราจร เอาเรื่องของการจัดให้มีสถานที่ทำงานแบบ co-working space สำหรับนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่กำลังก่อร่างสร้างตัว ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาในเมืองให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เสียค่าเช่าออฟฟิศ เราสามารถหาสำนักงานที่เขาเรียกออฟฟิศสเปซ เหมือนที่มีอยู่เยอะแยะในสยามสแควร์ คือมาเช่าเป็นชั่วโมงแล้วก็ทำงานกัน เมื่อจบภารกิจต่างก็แยกย้ายกันไป ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ถูกลง ผลกำไรก็มากขึ้น
ธุรกิจในปัจจุบันนี้ สิ่งที่ผมเห็นแล้วชื่นชมมากก็คือ fixed cost (ต้นทุนคงที่) ของแต่ละรายแทบจะไม่มี ทุกคนเอาความสามารถส่วนตัว เอาความเชี่ยวชาญ ความชำนาญส่วนตัวมา มารวมตัวกันเป็นภารกิจเป็นจ็อบๆ ไป ทำงานทำโปรเจกต์ของตัวเองให้เรียบร้อยแล้วก็แบ่งผลกำไรกัน เจ้าของกิจการปัจจุบันนี้ก็มีแต่หัวบริษัทนะครับ มีใบกำกับภาษี เลขประจำตัวผู้เสียภาษี แล้วไม่จำเป็นจะต้องไปเช่าสำนักงานใหญ่โต ให้มีค่าใช้จ่ายที่ถูกฟิกซ์ไว้ทุกเดือน ไม่ต้องมีผู้จัดการฝ่ายนู้นฝ่ายนี้ให้มันเยอะแยะ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการสื่อสารในปัจจุบัน มีแล็ปท็อปเครื่องหนึ่ง สมาร์ตโฟนเครื่องหนึ่ง ก็สามารถประกอบธุรกิจได้ไม่รู้ตั้งเท่าไร นี่คือนโยบายของเรา
แต่ละนโยบายผ่านการทำการบ้านมาแล้วว่ามองเห็นศักยภาพที่จะเติบโตได้?
อ๋อ แน่นอน การจะออกนโยบายแต่ละชิ้นมา เราต้องรับฟัง เข้าไปศึกษาถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ว่าเขาต้องการอะไร ถึงเรียนไงครับว่า ในส่วนของกรุงเทพมหานคร สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดคือ การลดปัญหาการจราจร เมื่อปัญหาการจราจรถูกลดลงไป มลพิษฝุ่นหายไปเองไหม หายแน่นอน คุณภาพชีวิตดีขึ้นนะครับ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำรงชีวิตลดลงนะ ทำงานอยู่ที่บ้านหนึ่งวันต่อสัปดาห์ ไม่ใช่ให้หยุดหนึ่งวันนะครับ ต้องทำงานอยู่ที่บ้านหนึ่งวันต่อสัปดาห์ ก็เรามีอุปกรณ์การสื่อสารทันสมัยขนาดนี้
ทำงานที่บ้านหนึ่งวันต่อสัปดาห์นี่รวมถึงข้าราชการด้วยไหม
รวมถึงข้าราชการด้วย ในงานประเภทที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาทำงาน แต่คงไม่ได้รวมถึงคนงานก่อสร้างหรือคนที่ใช้แรงงาน หรือคนที่จะต้องทำงานโดยการต้องใช้สถานที่หรือสำนักงานทำงาน แต่คนที่ทำงานผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ผ่านเครื่องมือการสื่อสารต่างๆ สามารถนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน อยากจะเห็นหน้าก็กดไลฟ์เข้ามา เทเลคอนเฟอเรนซ์กัน ประชุมกันหารือกัน มันก็จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายภาพรวมทั้งหมด ผลกำไรก็จะมากขึ้น
ในการทำธุรกิจมันจะมีผลกำไรขั้นต้น หลายกรณีกำไรขั้นต้นอาจจะจบที่ขาดทุนก็ได้ เพราะค่าใช้จ่ายมันกินหมด ค่าดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายตายตัว เงินเดือน โสหุ้ยอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้น พรรคภูมิใจไทยนึกถึงเรื่องของปากท้องนะครับ ในกรุงเทพฯ ก็ขายเรื่องนี้ ต่างจังหวัดก็ขายเรื่องข้าว ขายเรื่อง อสม.
เรื่อง อสม. พรรคภูมิใจไทยคิดจะทำอย่างไรคะ
อสม.จะมีการยกระดับจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ซึ่งเน้นในเรื่องของ first aid (การปฐมพยาบาลขั้นต้น) แต่ไม่ได้เน้นในเรื่องของการป้องกัน นึกสภาพว่าทุกวันนี้ ถ้าเราเพิ่มองค์ความรู้ให้ อสม. มีแอปพลิเคชัน แล้ว อสม. ทุกคนมีสมาร์ตโฟนหมด เกิดมีคนไข้ หรือพี่น้องของเขาในหมู่บ้านห่างไกลความเจริญเกิดป่วยกะทันหันกลางดึก กว่าจะถึงโรงพยาบาล รถราก็ไม่สะดวกนะครับ หมออยู่หรือเปล่าก็ยังไม่ทราบ ก็ยังสามารถใช้แอปพลิเคชันติดต่อเพื่อรักษาเยียวยาในระดับเบื้องต้นก่อน
ถ้าพรรคภูมิใจไทยมาเป็นรัฐบาล เราก็จะเพิ่มองค์ความรู้ให้กับพี่น้อง อสม. ยกระดับเขาขึ้นมา แทนที่จะทายาแดง ทาเบตาดีนอย่างเดียว ก็ให้เขามีความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะปฐมพยาบาลให้มันเหนือกว่าระดับเบื้องต้นได้ เป็นการลดภาระของรัฐนะครับ เป็นโอกาสที่จะต่อชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ลดลง คนเดินทางมาโรงพยาบาลหนึ่งครั้ง ตามสไตล์ไทยๆ นี่ต้องมีคนติดตามอีกสองคน ถ้าเราสามารถทำให้ อสม. ยกระดับขึ้นมาได้ ก็ประหยัดเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทาง คนที่จะต้องเดินทาง ญาติที่จะต้องเดินทางตามมาด้วย ก็ไม่ต้องไปหยุดงาน ยังคงไปทำมาหากินได้
ทุกอย่าง ทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นเรื่องของปัญหาปากท้อง เรื่องที่พรรคภูมิใจไทยจะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วก็คือ พี่น้องประชาชนเป็นเจ้าของอะไรในประเทศไทย? เราเน้นเรื่องการท่องเที่ยว ทั้งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวท้องถิ่น ทุกคนมีบ้านที่อยู่อาศัย อยากจะทำให้เป็นโฮมสเตย์ ทุกวันนี้ต้องแอบทำเพราะกฎหมายไม่มีรองรับ วันดีคืนดี เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไปตรวจ ถามว่ามีใบอนุญาตโรงแรมไหม พอไม่มีก็ไปปรับเขา ดำเนินคดีเขา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พรรคภูมิใจไทยต้องลงไปในพื้นที่ รับฟังความต้องการของชาวบ้าน ในเมื่อเรามีทรัพย์สินใดๆ ก็ตาม แล้วเราสามารถสร้างรายได้จากทรัพย์สินที่เราเป็นเจ้าของอยู่ เราต้องส่งเสริม ไม่ใช่คอยไปกีดกันเขานะครับ
คุณอนุทินมองว่า ถ้าปัญหาปากท้องดีขึ้น ความขัดแย้งในสังคมไทยจะไม่เกิดขึ้น หรือลดน้อยลงได้?
อ๋อ แน่นอนครับ คนเราถ้าท้องอิ่ม มีงานทำ มีเงินใช้ มีเงินออม ใครจะอยากไปเที่ยวหาเรื่องกับคน มีเรื่องกับคน หรือออกไปเรียกร้องอะไรล่ะ ทุกคนก็อยากจะอยู่กับที่ที่ตัวเองสังกัดอยู่ แล้วก็พยายามที่จะหาวิธีการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นนะครับ นี่มันเป็นธรรมชาติของคนอยู่แล้ว
ที่ผ่านมา พอเราไม่สามารถทำให้มีเศรษฐกิจที่ดีได้ หรือว่าผู้คนจะทำอะไรแล้วมีกฎหมายที่คอยเป็นอุปสรรคให้ทำนู่นทำนี่ไม่ได้ เขาก็ไม่มีทางเลือกอื่น อะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น อาจจะมีคนบอกให้ไปเรียกร้องเดินขบวน เขาก็ไป เพราะเขาไม่มีความหวังอะไรที่ดีกว่านี้แล้ว ถ้าเรานำความหวังของเขากลับไปเป็นโอกาสที่เขาสามารถทำมาหากินได้ เขาก็จะไม่คิดอย่างอื่นครับ นอกจากจะคิดหารายได้ให้กับตนเอง สังคมมันก็จะดีขึ้นโดยอัตโนมัติ
แล้วอย่างเรื่องลดงบฯ กองทัพ เรื่องการปฏิรูปกองทัพ พรรคภูมิใจไทยมีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร
ผมว่าที่ผ่านมารัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เขาก็ต้องรับฟังนะครับ เรื่องงบประมาณกองทัพอะไรต่างๆ นี่ กองทัพตั้งงบฯ เองได้ แล้วอนุมัติเองได้หรือเปล่า ก็ทำไม่ได้ ทุกอย่างต้องผ่านกรรมาธิการงบประมาณ เมื่อมีสภาเรียบร้อยหลังการเลือกตั้ง มันก็มีกรรมาธิการทหาร กรรมาธิการงบประมาณ ก็ต้องมานั่งดีเฟนด์กัน อะไรที่เป็นเหตุเป็นผลก็ให้ อะไรที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลก็ไม่ให้ ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะต้องมาสร้างวาทกรรมเพื่อทำให้เกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกัน
วันนี้กองทัพเป็นใหญ่เพราะมี คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) หลังเลือกตั้งไม่มี คสช. กองทัพก็คือหน่วยงานราชการหน่วยหนึ่งในระบบราชการไทย ก็ต้องทำตามกฎระเบียบที่มีไว้อยู่ทุกอย่าง แค่นั้นเอง ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก
คุณอนุทินประเมินรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่าอย่างไร คิดว่า คสช. จะหมดบทบาทไปไหม
ก็ถ้าเกิดมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว คนที่ไม่ได้มาจากประชาชนจะมีบทบาทอะไรได้ล่ะ ขออย่างเดียว คนที่มาจากประชาชนโดยได้รับความไว้วางใจเข้ามาแล้ว ต้องทำหน้าที่ที่ประชาชนอุตส่าห์มอบให้เข้ามาทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความตั้งใจขยันขันแข็ง แล้วก็ทำทุกอย่างเพื่อประชาชนเพื่อบ้านเมือง มันก็จะเป็นเสมือนเกราะกำบังที่จะไม่มีพลังหรือไม่มีอิทธิพลใดๆ มากดดัน หรือบังคับให้ทำอะไรตามที่เขาต้องการได้หรอกครับ เราอย่าไปคิดอะไรให้มันสลับซับซ้อน อย่าไปกลัวอะไรที่มันไม่ควรจะกลัว สิ่งที่เราควรจะต้องกลัวถ้าเราเป็นผู้แทนของราษฎร คือเราควรจะต้องกลัวที่เราจะทำตามที่สัญญาไว้กับราษฎรไม่ได้ เพราะว่าเราโม้ไปมากนะครับ
เรากลัวที่จะไม่ได้อำนาจรัฐ กลัวจะสูญเสียอำนาจ แล้วก็ไม่กล้าที่จะทำอะไรขัดใจคนนั้นคนนี้ กลัวที่จะไม่สามารถทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตได้ สิ่งนี้สิควรจะกลัวมากกว่า ถ้าเราเข้ามาด้วยความตั้งใจ ไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ เพราะถือว่าเราได้รับฉันทานุมัติจากพี่น้องประชาชนให้มาเป็นตัวแทนของเขาในการทำงาน บริหารบ้านเมืองให้เขา มันไม่มีอะไรที่จะต้องกลัวเลย ถ้าเราต้องการทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง เป็นประโยชน์กับประชาชน ทำไปเถอะครับ
พรรคภูมิใจไทยประเมินว่าจะได้จำนวนที่นั่งในสภาสักเท่าไร
ก็ทำให้มันดีที่สุดนะครับ
อยากรู้ตัวเลข
สไตล์การทำงานของผมเป็นอย่างนี้ เวลาผมทำอะไรผมทุ่มหมดตัว ทุ่มสุดหัวใจ ทุ่มสุดกำลัง ผลออกมาขนาดไหน ผมบอกตัวเองว่าไม่มีสิ่งใดที่ผมขาด ที่ควรจะทำแล้วไม่ได้ทำ ผมก็ต้องยอมรับผลของมัน เที่ยวนี้ก็เหมือนกัน การเลือกตั้งเที่ยวนี้ มันสมองที่มีอยู่ก็ใส่ไปในเรื่องนโยบายที่ให้ถูกใจประชาชนนะครับ คัดเลือกผู้สมัครที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน เข้าใจประชาชนมากที่สุด ดำเนินการสนับสนุนให้ผู้สมัครมีความแข็งแรง ได้รับความนิยมจากประชาชน ก็ไม่มีสิ่งใดที่หัวหน้าพรรคคนหนึ่งควรจะทำแล้วไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นผลออกจะออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับ เพราะมันเป็นการตัดสินใจของประชาชน ไม่ใช่ตัวเองตัดสินเอง
แต่การดำเนินนโยบายของรัฐบาลหลังเลือกตั้งดูจะเป็นไปได้ยาก เพราะดูเหมือนพรรคต่างๆ อาจจะไม่สามารถที่จะมีเสียงเต็มที่ในสภา
คือก่อนจะตั้งคณะรัฐมนตรี ก่อนจะฟอร์มรัฐบาล มันก็ต้องตกลงกันก่อนว่าแต่ละพรรคไปให้สัญญาอะไรกับประชาชนไว้บ้าง ไปเสนอนโยบายอะไรกับประชาชนไว้ เพราะฉะนั้นทุกพรรคก็จะต้องทำเพื่อประโยชน์ที่ประชาชนจะได้
ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการร่วมกันจัดตั้งของหลายพรรคการเมือง ถ้านโยบายของทุกพรรคการเมืองได้รับการปฏิบัติ คนที่ได้รับประโยชน์ก็คือประชาชน ประชาชนไม่ได้เสียอะไรเลยนะครับ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลหรอกครับ ถ้านโยบายเราดีเสียอย่าง ทุกฝ่ายก็ต้องสนับสนุน
พรรคภูมิใจไทยออกตัวไปแล้ว คนที่จะทำงานบริหารราชการโดยมีพรรคภูมิใจไทยร่วมด้วยนี่ ก็ต้องรับนโยบายของพรรคภูมิใจไทย เช่นเดียวกัน พรรคภูมิใจไทยก็ต้องพร้อมรับนโยบายของพรรคอื่นๆ ถ้าเป็นนโยบายที่ออกมาเพื่อประชาชนจริงๆ แต่ถ้าเป็นนโยบายที่ออกมาแล้ว ก่อประโยชน์ให้ประชาชนเป็นที่สุดท้าย แต่ว่าให้กับตัวเอง พวกพ้อง อันนี้เราก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธ
ตอนนี้มีธงในใจไหม ว่าจะไม่ร่วมงานกับใครแน่ๆ
ทุกคนมีความคิดต่างกัน ผมมองถึงเรื่องความก้าวหน้าของประเทศไทย ผมมองถึงเรื่องประโยชน์ของประชาชน ความอยู่ดีกินดี สังคมที่สงบ ประเทศที่จะเจริญรุ่งเรือง เศรษฐกิจดี อะไรก็ตามที่จะทำให้ปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้น เรื่องอะไรผมจะไปจำกัดตัวเอง ในเมื่อหลังเลือกตั้ง ทุกคนก็อยู่ในสถานะเดียวกันหมด คือเป็นผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้ามา หลังเลือกตั้งก็ต้องมานั่งว่ากันอีกที
เราต้องให้เกียรติประชาชนนะครับ คนไม่ดีประชาชนจะเลือกเข้ามาได้อย่างไร ถ้าเราไปบอกว่าผู้แทนของประชาชนคนนี้ไม่ดี เลว ก็เท่ากับไปด่าประชาชน ซึ่งเรามีสิทธิอะไรไปด่าประชาชน เรามีสิทธิอย่างเดียวนี่คือต้องทำงานรับใช้ประชาชน ดูถูกดูแคลนไปได้อย่างไร ในเมื่อประชาชนเหล่านั้นตัดสินใจใช้สิทธิของเขาไปแล้ว
นอกจากเรื่องคะแนนเลือกตั้งแล้ว ครั้งนี้ยังมีกลไกพิเศษที่ตั้งขึ้นมา โดยเฉพาะเสียงของ ส.ว. 250 เสียงที่จะร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี
โอ๊ย ไม่มีหรอกครับ กลไกพิเศษอะไร ไม่มีใครฝืนเสียงของประชาชนไปได้ ถ้าประชาชนเลือกฝ่ายพรรคการเมืองเข้ามาอย่างเต็มที่ล้นหลาม เสียงอื่นไม่มีความหมายครับ
สำหรับพรรคภูมิใจไทย กลุ่มใดก็ตามที่ไม่ได้มาจากพี่น้องประชาชน เราไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ ไม่มีความหมาย
ภารกิจหนักจากการเดินสายหาเสียงในช่วงนี้ คุณอนุทินยังมีโอกาสขับเครื่องบินเองอย่างที่ชอบบ้างไหม
ภารกิจของผมมันร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ มีภารกิจมากมายในฐานะหัวหน้าพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้ที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ต้องเดินทาง เช้าอยู่เหนือ บ่ายอยู่อีสาน เย็นอยู่ใต้ก็เคยทำมาแล้วนะครับ ในเมื่อเรามีความสามารถขับขี่เครื่องบินด้วยตัวเอง ขับคนเดียวนะครับ มันก็เหมือนกับเราขับรถ ประหยัดเวลานะครับ
ทราบมาว่าคุณอนุทินยังใช้การขับเครื่องบินช่วยขนส่งอวัยวะสำหรับปลูกถ่ายด้วย งานนี้มาได้อย่างไรคะ
อันนั้นเป็นงานจิตอาสา เป็นงานที่เราตั้งใจทำเพื่อช่วยเหลือชีวิตคน เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ เรามีความสามารถทางด้านนี้ มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือคณะแพทย์ ในการไปรับหัวใจหรืออวัยวะอื่นๆ มาเปลี่ยนให้กับคนที่รออยู่ด้วยเวลาที่จำกัด เราก็ต้องทำ แล้วก็ทำด้วยความเต็มใจ ทำด้วยความดีใจ ทำด้วยความสนุก แล้วก็เป็นการกุศลด้วยนะครับ ได้บุญได้กุศล ทำแล้วก็สบายใจ ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ผมก็ทำมาเยอะแล้วครับ ทำมา 4 ปีแล้ว
ขั้นตอนการดำเนินการเป็นอย่างไร ในเวลาที่มีอวัยวะพร้อมบริจาค
หน้าที่ของผมเป็นแค่เพียงผู้ขนส่งอวัยวะ สิ่งที่ผมเป็นประโยชน์ก็คือ หากมันมีกรณีที่จะต้องไปรับอวัยวะจากจังหวัดที่ไม่ได้มีเที่ยวบิน 30 ไฟลต์ต่อวัน อย่างจังหวัดในภาคอีสาน ในภาคใต้ ยกตัวอย่าง ถ้ามันไม่ใช่ภูเก็ต หาดใหญ่ สุราษฎร์ เกิดเป็นระนอง เป็นปัตตานี ร้อยเอ็ด นครพนม แพร่ หรือลำปาง ที่อย่างมากวันหนึ่งก็มีแค่ไฟลต์เดียว เกิดมีความจำเป็นต้องไปรับอวัยวะช่วงสี่ทุ่มห้าทุ่ม มันก็ไม่มีใครไปนอกจากเรา ซึ่งเราสามารถทำได้
เวลาที่ไปรับอวัยวะอย่างเช่นหัวใจ หลังจากที่เขานำออกมาจากร่างคนที่ให้บริจาคแล้ว เขามีเวลาเพียง 4 ชั่วโมงในการนำไปใส่ให้กับผู้ป่วยที่รอรับอยู่ เวลา 4 ชั่วโมงนี้ถ้ามีเหตุที่จะต้องไปรับตอนสี่ทุ่ม มันก็ไม่สามารถจะไปรอสายการบินพาณิชย์ถึงเช้าได้ ภารกิจแบบนี้ ถ้าทางสภากาชาดติดต่อมา ทางแพทย์ติดต่อมา ผมก็ต้องพร้อม 24 ชั่วโมง ดึกแค่ไหนก็ต้องไป เราก็ต้องทำสภาพตัวเองให้พร้อม แต่จริงๆ มันก็พร้อมอยู่ตลอดเวลา เพราะผมเป็นคนที่เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ แล้วก็ไม่ได้ใช้ชีวิตอะไรที่มันหนักเกินไป
คุณอนุทินเริ่มเรียนการบินมานานเท่าไรแล้ว
เรียนมา 10 กว่าปีแล้วครับ ก็มีชั่วโมงบินที่ค่อนข้างมากนะครับ เพราะผมใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจทั่วประเทศ ขับเอง ขับคนเดียว ไม่ต้องไปเดือดร้อนใคร ไปไหนมาไหนก็สะดวก สามารถทำภารกิจในหลายๆ จังหวัดได้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาวันเดียว ไม่ต้องบินกลับเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเปลี่ยนเครื่องไปอีกไฟลต์หนึ่ง ไม่ต้องค้างต่างจังหวัดหลายๆ วัน อย่างเมื่อ 2-3 วันก่อน ผมบินจากกรุงเทพฯ ไปที่นครศรีธรรมราช แล้วก็บินไปสุราษฎร์ธานี ปราศรัยเสร็จก็บินเข้าหาดใหญ่ เข้าหาดใหญ่เสร็จก็บินเข้าปัตตานี เข้าปัตตานีเสร็จก็เข้ากรุงเทพฯ มันเปรียบเสมือนเป็นพาหนะที่เราสามารถนำไปทำงานได้ จากงานที่ควรจะต้องใช้เวลา 3-4 วัน ก็เหลืออยู่เพียง 2 วัน เราจะได้กลับมาทำงานต่อในพื้นที่อื่นๆ ได้
ในเมื่อเรามีความสามารถ เรามีสิ่งที่คอยอำนวยความสะดวก ก็ใช้ให้คุ้มค่า ไม่ได้เป็นการฟุ่มเฟือย หรือไม่ได้เป็นการไปเที่ยว หรือเป็นงานอดิเรกใดๆ
เครื่องบินที่ใช้อยู่เป็นแบบไหน
6 ที่นั่งครับ ไปไหนบางทีก็ขนสมาชิกพรรคไป ขนสัมภาระต่างๆ ก็เปรียบเสมือนรถคันหนึ่งที่เราขับไปทำงานที่นั่นที่นี่
แล้วมีเครื่องบินกี่ลำคะ
มีลำเดียว…จะมีกี่ลำ ลำเดียวก็เหลือจะพอแล้วนะครับ (หัวเราะ)
คำถามสุดท้าย ขอกลับมาที่ประเด็นการเมือง คุณอนุทินประเมินกระแสการเมืองในรอบนี้อย่างไร มีความหวังกับมันมากน้อยแค่ไหน
ผมคิดว่าการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมที่จะถึงนี้เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนรอคอยนะครับ เพราะการใช้สิทธิของพี่น้องประชาชนในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเป็นสิทธิในทางประชาธิปไตย จริงๆ มันควรจะเกิดสิทธิ์นี้ไม่เกิน 4 ปีต่อครั้ง แต่ครั้งนี้มัน 5 ปีแล้ว ผมว่าประชาชนก็อยากจะได้ความเป็นประชาธิปไตยคืนมา
เมื่อมีความเป็นประชาธิปไตย มีสภาผู้แทนราษฎร มีการเลือกตั้งให้คนเข้ามาทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร มาตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มันก็ทำให้สถานะของประเทศไทยมีความหมายในสายตาประชาคมโลก การไปเจรจาการค้าเจรจาความเมืองเรื่องใดๆ ต่างๆ การสนับสนุนซึ่งกันและกันมันก็จะพูดอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน หลายๆ ประเทศในโลกนี้ไม่เจรจากับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติ มันก็อยู่บนพื้นฐานของความเท่ากัน มีอะไรก็ใช้การเจรจาตกลงกัน ดีกว่าที่จะทำให้เราไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรในการโต้ตอบเลย
ถ้าเราไม่มีสิทธิมีเสียง เราไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไปไหนเขาก็มีสิทธิไม่ตอบรับเราได้ ไม่เจรจา ไม่สนับสนุน เขาไม่ต้องมาอ้างอะไรมาก อ้างแค่ว่าเขามีนโยบายไม่คุยกับรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แค่นี้เราก็แย่แล้ว
เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งนี้ อย่าไปคิดว่าเลือกตั้งแล้วมันจะดีหรือไม่ดี สิ่งที่มันดีแน่นอนก็คือ สถานะของความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนี้มันเกิดขึ้นทันที แล้วการยอมรับการให้เกียรติของทั่วโลกมายังประเทศไทยก็จะถูกยกระดับขึ้นไป
Fact Box
- อนุทิน ชาญวีรกูล หรือ หนู เกิดเมื่อ 13 กันยายน พ.ศ. 2509 เป็นลูกชายของนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล (อดีตหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อดีตรักษาการนายกฯ แทนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เขาจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Hoftra ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว
- อนุทินเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการรับตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายประจวบ ไชยสาส์น) และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. 2547 - 2548) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พ.ศ. 2547) ต่อมาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย หลังถูกตัดสิทธิทางการเมืองก็ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเมื่อปี พ.ศ. 2555
- พรรคภูมิใจไทยก่อตั้งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2552 โดยมีแกนนำได้แก่ นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล, นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์, นายโสภณ ซารัมย์, นายศุภชัย ใจสมุทร และนางพรทิวา นาคาศัย และมีแบ็คอัปสำคัญคือ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน (เนวิน ชิดชอบ) เป็นสมาชิกพรรค
- ทั้งนี้ ช่วงปี 2550 พรรคภูมิใจไทยตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ และปี 2554 ในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคภูมิใจไทยตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านกับพรรคประชาธิปัตย์