ขวดน้ำหอมวินเทจจำนวนนับไม่ถ้วน เรียงรายอยู่เต็มผนังด้านหลังและตั้งเลยไปถึงชั้นวางด้านข้างโต๊ะทำงานของนุชี่—อนุชา บุญยวรรธนะ โดยไม่ต้องไปถึงพิพิธภัณฑ์น้ำหอมในกรุงปารีส เราพบว่าส่วนหนึ่งของความรุ่มรวยจากศตวรรษที่ 20 รวมตัวอยู่ที่นี่นี่เอง

ตลอดมา เรารู้จักอนุชาในฐานะคนทำหนังมากกว่านักสะสมน้ำหอมวินเทจ ด้วยผลงานที่โดดเด่นมาตั้งแต่ ตามสายน้ำ (Down the River) อนธการ (The Blue Hour) และล่าสุด มะลิลา (Malila: The Farewell Flower) ที่เจิดจรัสในเวทีหนังต่างประเทศ พร้อมเข้าถึงผู้ชมชาวไทยในฐานะหนังอาร์ตที่เปิดประสบการณ์นักดูหนังบ้านเราได้ยิ่งยวด

ย้อนไปเมื่อปีก่อนหน้านี้ อนุชาประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเปิดโอกาสให้ผู้สนใจไปลองดมกลิ่นน้ำหอมวินเทจซึ่งเธอตามหามาจากตลาดของเก่า บ้างก็ใช้การประมูลหรือสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ต จนคอลเล็กชั่นกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม และเมื่อต้นปีนี้เอง เธอก็เพิ่งมีนิทรรศการน้ำหอมวินเทจหายากจัดแสดงที่เซ็นทรัลชิดลม

ทั้งหมดนี้ส่งกลิ่นประกาศว่านอกเหนือจากการทำหนังแล้ว ศาสตร์ของน้ำหอมคืออีกหนึ่งรักลับที่ผู้กำกับฯ คนนี้มีตลอดมา เป็นความรักที่มีต่องานศิลปะอันซับซ้อน ส่งผลต่อผัสสะอย่างแรงกล้า ทั้งยังเป็นเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัยได้ไม่แพ้ตัวบทใดๆ ทีเดียว

และก็คงเหมือนที่เหล่าซีเนไฟล์ (cinephile) พึงจะศึกษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ในยุคที่เราแวดล้อมด้วยน้ำหอมหลากกลิ่นตั้งแต่หอมสามัญจนถึงกลิ่นงานศพ กลิ่นน้องสาวประจำกาย หรือกลิ่นน้ำอสุจิ ผู้สนใจน้ำหอมอาจต้องทำความเข้าใจรากของมันจากยุคเก่าเสียก่อน และอนุชาก็ทำสิ่งนั้นโดยลงลึก ถึงขั้นเสาะหาวัตถุดิบจากอีกซีกโลกมาศึกษา หรือลองกลั่นกลิ่นหอมขึ้นมาด้วยตัวเอง

แม้โลกนี้จะมีผู้ซึ่งมีอำนาจต้านทานสเน่ห์ของน้ำหอมอยู่ไม่น้อย แต่เราอยากชวนให้เชื่อว่าการทำความรู้จักกับของเหลวสีอำพันหลากเฉดในขวดคริสตัลจากอดีต เป็นจิ๊กซอว์อีกชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกที่ไม่มีใครควรพลาด และแน่นอน สำหรับผู้ที่ไม่อาจต้านทานเสน่ห์น้ำหอม อะไรจะดีไปกว่าการดำดิ่งลงไปพร้อมๆ กับอนุชาอีกเล่า

คุณตกหลุมรัก ‘กลิ่น’ ตั้งแต่ตอนไหน

ไม่แน่ใจ แต่เราคิดว่ากลิ่นคือประสาทสัมผัสที่มีพลังที่สุด สมมติเราเดินเข้าไปในที่ใดที่หนึ่งแล้วได้กลิ่นของที่นั่น เวลาผ่านไป พอได้กลิ่นนี้อีกครั้งเราจะจำทันทีว่าเคยเกิดอะไรขึ้นในสถานที่นั้น มันคือความทรงจำที่สัมพันธ์กับกลิ่น (olfactory memory) ซึ่งเป็นความทรงจำที่แม่นยำมากๆ

แค่เห็นภาพหรือได้ยินเสียงมันยังไม่สามารถปลุกความทรงจำได้ขนาดนี้นะ อย่างกลิ่นที่เป็นความทรงจำของเรามากๆ คือกลิ่นหอประชุมจุฬาฯ ตอนที่เราทำละครนิเทศฯ พอได้กลิ่นนี้ทีไร ภาพความทรงจำ ความสุขความทุกข์ตอนนั้นมันจะแล่นเข้ามาในหัวทันที

อะไรที่ทำให้เริ่มลงลึกกับกลิ่น ถึงขั้นลองสกัดกลิ่นหอมเอง

ตั้งแต่เด็ก เราเป็นลูกหมอที่ชอบขอเข้าห้องแล็บของพ่อ เพื่อส่องดูเชื้อโรคจากสไลด์แก้วบ้าง ลองทำกล้องจุลทรรศน์ประดิษฐ์เองจากหลอดไฟ จนโดนดุว่าเดี๋ยวเชื้อโรค เชื้อราจะเข้าตาเอา แล้วตอนเรียนวิทย์เราก็ได้ลองสกัดกลิ่นต่างๆ ซึ่งเราสนใจ และลองเอามาทำเล่นในแล็บของพ่อด้วย

เราอยากลองสกัดกลิ่นแปลกๆ ออกมาเช่นกลิ่นดิน กลิ่นหิน กลิ่นตะไคร่น้ำ ว่าจะทำได้มั้ย แล้วกลิ่นจะออกมาเป็นยังไง คือตอนนั้นเข้าใจว่าการเอาไปกลั่นด้วยไอน้ำมันจะได้กลิ่นออกมาหมด ก็ปรากฏว่าไม่ได้ (หัวเราะ) มันจะมีพืชบางอย่างที่ทำได้แหละ แต่ไม่ใช่กับทุกอย่าง

จากนั้นเราเลยศึกษาเพิ่ม อยากได้กลิ่นกุหลาบก็ลองไปหาอ่านจากในนิตยสารว่ามีวิธีสกัดออกมายังไง ซึ่งบางทีมันก็ไม่ใช่ความรู้จริงจัง เขาก็เขียนกันมาอย่างนั้น อย่างเช่นให้แช่กุหลาบลงไปในน้ำมันมะกอก เราก็ลองทำ ไม่เห็นออกเลย บ้งหมด เพราะงั้นกลิ่นแรกๆ ที่เราสกัดออกมาแล้วชอบก็คงเป็นยุคหลังจากที่มีความรู้แล้วนั่นแหละ

กลิ่นไหนที่คุณลองสกัดออกมาแล้วประทับใจที่สุด

กลิ่นมะม่วงอกร่อง เพราะโน้ตฟรุตตี้ของน้ำหอมสมัยนี้มันไม่มีโน้ตที่สกัดจากธรรมชาติเลย เพราะกลิ่นของผลไม้คือเอสเตอร์ส (Esters) หรือสารประกอบทางเคมีที่ไม่สามารถสกัดได้ เราเลยอยากลองดู ก็ใช้วิธีไปตามร้านมะม่วงแล้วขอเปลือกเขามา เอาไปตากแห้ง แล้วสกัดด้วยแอลกอฮอล์ มันก็ได้กลิ่นออกมา ซึ่งเราลองไปให้เพอร์ฟูมเมอร์คนหนึ่งดม ก็ได้รับคำชมว่าเก่งที่ทำได้ เป็นกลิ่นมะม่วงอกร่องจริงๆ เป็นเอสเตอร์สที่เป็นธรรมชาติมาก นั่นทำให้เราดีใจมาก

จากความชอบเรื่องกลิ่น คุณมาถึงขั้นสะสมน้ำหอมวินเทจได้อย่างไร

เริ่มแรกเราแค่อยากหาน้ำหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง นานเข้าถึงมีความคิดว่าจะเรียนน้ำหอมอย่างลงลึก เลยลองสั่งน้ำหอมวินเทจมาดมดู เพื่อจะรู้จักที่มา ต้นตอของมัน เพราะบางทีน้ำหอมที่ผลิตในยุคนั้นมันต่างจากตัวเดียวกันที่ผลิตในยุคหลัง บางทีเป็นเรื่องของวัตถุดิบที่หาไม่ได้แล้ว หรือแพงจนไม่สามารถผลิตในปริมาณมากได้อีกต่อไป

หรือในบางกรณีก็จะมีองค์กรชื่อ IFRA (International Frangrance Association) ที่คอยดูแลเรื่องความปลอดภัย เขาจะดูว่าถ้าวัตถุดิบบางตัวเป็นสารก่อมะเร็ง ก็ต้องดัดแปลงเป็นอย่างอื่น ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนสูตรใหม่ แต่สูตรเดิมซึ่งมีความซับซ้อน รุ่มรวย มันคือต้นแบบของน้ำหอมอีกหลายตัวในยุคต่อๆ มา เราจึงต้องทำความรู้จัก

แล้วเวลาเก็บเราจะพยายามเก็บตัวเอ็กซ์เทรท เดอ พาร์ฟูม (Extrait de Parfum) ที่มีความเข้มข้นสูงสุด เพราะมันเห็นความประณีต ความตั้งใจของเพอร์ฟูมเมอร์ได้ดีที่สุด เหมือนเวลาเราดูหนังในโรงนั่นแหละ ถ้าเป็นเอ ดู ตัวเลทท์  (Eau du Toilette) ที่มันเจือจางลงมาก็อาจจะเหมือนดูในเว็บไซต์

น้ำหอมกลิ่นแรกที่สั่งมาคือชาลิมาร์ (Shalimar Guerlain ปี 1925) ตอนที่มันมาถึง ตัวน้ำหอมมันรั่วออกมานิดๆ พอเราเปิดกล่องแล้วกลิ่นฟุ้งขึ้นมา เป็นกลิ่นเครื่องหนังไหม้ๆ ดาร์กๆ ผสมกับวานิลลา เราหลงรักเลย ชนะว่ะ มันดีขนาดนี้ได้ยังไง คือเราเคยดมชาลิมาร์ที่เป็นสูตรปัจจุบันซึ่งมีการปรับเปลี่ยนมาแล้ว ก็พบว่าไม่หอมเท่านี้ แล้วตัวขวดเองที่เป็นงานทำมือก็ยิ่งทำให้เราชอบ มันประณีตมาก มันคือการออกแบบของยุคอาร์ตเดโคที่แท้จริง

แล้วนี่คือต้นแบบของน้ำหอมแบบออเรียนทัล ตัวขวดเล่นกับรูปทรงแบบอินเดีย ชื่อของมันก็เป็นชื่อสวนในอินเดียตอนเหนือ ซึ่งถ้าเป็นคนตะวันออกอย่างเรา พูดคำว่าออเรียนทัลปุ๊บ เราอาจไม่ได้เห็นภาพนี้เนอะ

แล้วขณะที่เพอร์ฟูมเมอร์มักจะเป็นชาวตะวันตก คุณเห็นด้วยกับการตีความออเรียนทัล ของพวกเขามากน้อยแค่ไหน

การมองออเรียนทัลในยุคนั้น มันคือดินแดนที่ห่างไกล ไม่มีใครไปถึงได้ง่ายๆ แล้วก็มีเสน่ห์น่าค้นหา เขาก็จะตีความสิ่งที่ทำให้เขานึกถึงดินแดนนั้น ทั้งที่วัตถุดิบที่เอามาใช้ผสมน้ำหอมตัวนี้อาจจะไม่ได้เป็นดอกไม้จากดินแดนนี้ด้วยซ้ำ โดยตามศาสตร์ของน้ำหอมแล้ว สิ่งที่จะบ่งบอกความเป็นออเรียลทัลมากที่สุดคือวานิลลา ที่มาจากมาดากัสการ์โน่น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ไม่ได้รู้สึกแย้งอะไรนะ เพราะนั่นคือจินตภาพของเขา เรายอมรับอยู่แล้วว่าน้ำหอมเป็นอาร์ต ถึงแม้เราจะไม่ได้มองว่าออเรียนทัลของเราคือวานิลลาก็ตาม แต่เราก็เคารพในการตีความของศิลปิน ที่ภายหลังมันได้กลายเป็นเฟรมเวิร์ก เป็นการให้นิยามเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในอุตสาหกรรมนี้                                                   

คุณมองว่า คนทั้งหมดบนโลกจะดื่มด่ำกับน้ำหอมอย่างเท่าเทียมได้หรือเปล่า

อันที่จริงกลิ่นน้ำหอมมันแวดล้อมและใกล้ตัวเรากันอยู่แล้ว บางกลิ่นได้ถูกนำมาอยู่ในแป้ง สบู่ น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นกลิ่นที่คลาสสิกด้วยซ้ำ แต่ถ้าพูดถึงน้ำหอมที่นับเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่ของสำหรับทุกคน สมมติเป็นน้ำหอมที่ทำจากไม้จันทน์ เธอจะไปโค่นไม้จันทน์มาเพื่อทำน้ำหอมให้คนทั้งโลกได้เหรอ ย่อมไม่ได้ แต่ก็จะมีคนที่เขาปลูกไม้จันทน์ขึ้นมาเพื่อทำน้ำหอมในจำนวนที่ไม่ได้มากนัก

เดี๋ยวนี้เวลาแบรนด์ใหญ่ๆ จะผลิตน้ำหอม เขาก็ต้องพิจารณาถึงการผลิตในระดับแมส ว่าวัตถุดิบที่จะใช้มีเพียงพอไหม จะใช้กลิ่นกุหลาบต้องปลูกกุหลาบเยอะขนาดไหน หรือต้องใช้สังเคราะห์แทน ซึ่งมันก็งามกันไปคนละแบบ

เพราะในบางแง่ วัตถุดิบจากธรรมชาติก็ไม่สามารถมาแทนที่กลิ่นสังเคราะห์ได้ เช่นเรื่องของโมเลกุลต่างๆ ความฟุ้งกระจาย ความรู้สึกโปร่งแสง และกลิ่นสังเคราะห์สำคัญมากในศาสตร์น้ำหอมยุคใหม่ หรือ Modern perfumery ที่เป็นการผสมกลิ่นสังเคราะห์กับธรรมชาติเข้าด้วยกัน

ยุคใหม่ของน้ำหอมเริ่มต้นขึ้นตอนไหน

น้ำหอมตัวแรกที่ถือเป็นน้ำหอมยุคใหม่ก็คือฟูแจร์ รอแยล (Fougère Royale by Houbigant ปี 1882) เกิดจากการเอาโอ๊คมอส ผสมกับกลิ่นสมุนไพรและคูมาริน (coumarine) ที่เป็นกลิ่นสังเคราะห์มารวมกัน ออกมาเป็นกลิ่นเฟิร์น ซึ่งที่จริงเฟิร์นไม่มีกลิ่น มันเป็นนามธรรม เพียงแต่ดมแล้วรู้สึกหรือนึกถึงเฟิร์น เช่นน้ำหอมกลิ่นหวือหวาๆ อย่างกลิ่นเลดี้กาก้า กลิ่นเลือด กลิ่นอสุจิ อะไรแบบนี้ เขาก็ไม่ได้สกัดมาจากอะไรพวกนั้นจริงๆ แต่เป็นกลิ่นที่ทำให้นึกถึง มันคือศิลปะ

การปรุงน้ำหอมกลิ่นแปลกๆ อย่างเลือด หรืออสุจิ น่าสนใจอย่างไรสำหรับคุณ

เราว่าน่าสนใจในแง่ของมุมมองทางการตลาด แล้วก็เป็นโจทย์ของเพอร์ฟูมเมอร์ ว่าจะทำยังไงให้คนนึกถึงกลิ่นเหล่านั้น อย่างกลิ่นจิ๋มของวัลวา (Valva Original ปี 2006) มันก็คงไม่มีใครไปสกัดกลิ่นมาจากจิ๋ม ต้องใช้ผู้หญิงกี่คนล่ะ (หัวเราะ) บ้ารึเปล่า

อย่างซิเครชันส์ มานิฟีก (Secretions Magnifigue  ปี 2006) เราก็ชื่นชมมากนะ ที่เขาตีความกลิ่นอสุจิเป็นโน้ตแลกโทนิก (Lactonic) โน้ตของนม เอามาผสมกับกลิ่นแอนิมัลลิกให้มันออกสาบๆ นิดนึง แต่ก็มีส่วนผสมอื่นๆ ด้วยนะ เช่นใส่กลิ่นฟลอรัลลงไป ให้มันกลายเป็นน้ำหอม ไม่ใช่ให้ดมแล้วคนเหม็น แต่ให้อารมณ์ นมๆ คาวๆ เหมือนอสุจิ แล้วก็ใช้ได้ เซ็กซี่

กลิ่นน้ำหอมถือเป็นสากลไหม ทุกคนสามารถได้กลิ่นแล้วนึกถึงสิ่งเดียวกันได้หรือเปล่า

ไม่เลย คือประสบการณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ความทรงจำเกี่ยวกับกลิ่น ก็ไม่มีทางเหมือนกัน ความรับรู้เกี่ยวกับกลิ่นก็ด้วย อย่างเช่นกลิ่นธูป ถ้าธูปของฝรั่งคือจะหมายความถึงแฟรงค์อินเซนส์ (Frankincense) อย่างในน้ำหอมของกอม เดส์ การ์ซง จะมีกลิ่นนี้เยอะ ซึ่งถ้าคนไทยไปดมก็จะงงว่าไม่เห็นได้กลิ่นธูปเลย นั่นเพราะธูปของเขามันหมายถึงกำยาน ไม้จันทน์ เผลอๆ ใส่ดอกกุหลาบหรือมะลิเข้าไปด้วย

บางทีมันมีกำแพงทางภาษา ซึ่งเราก็ต้องยอมรับข้อจำกัดตรงนี้ อย่างโน้ตของอ็อบเซสชั่น (Obsession by Calvin Klein ปี 1985) กับแคชเมียร์ (Casmir by Chopard ปี 1992) ทั้งสองกลิ่นนี้เป็นออเรียนทัล ซึ่งมันไม่มีทางเป็นกลิ่นโทนเย็นในศาสตร์ของน้ำหอม เพราะถ้าระบุว่าเป็นออเรียนทัลมันคือโน้ตอุ่น แต่บางทีคนไทยดมแล้วบอกว่าเย็น มันชวนให้นึกถึงกลิ่นบางอย่างในน้ำอบ น้ำปรุง อะไรอย่างนั้นมั้ง

คุณเองสะสมวัตถุดิบในน้ำหอมด้วย โดยเฉพาะวัตถุดิบที่มาจากสัตว์ (animalic scent) ความสนุกของมันคืออะไร

เราเก็บเพื่อศึกษาน่ะนะ ถ้าเป็นกลิ่นจากพวกสัตว์ต่างๆ จะมีประมาณ 4-5 กลิ่นที่เขายกให้เป็นตำนาน อย่างมัสก์ (Musk) ซึ่งมาจากต่อมกลิ่นของกวางมัสก์ในธิเบต เป็นของที่ใช้มาแต่โบราณ โดยกวางที่อยู่ในป่าจะปล่อยละอองสีดำๆ ออกมาตามพื้นป่าเพื่อล่อเพศตรงข้าม ซึ่งกลิ่นมันจะติดทนนานมาก คนก็จะเข้าไปเก็บ ทีนี้ก็จะได้ปริมาณทีละน้อย จนยุคหนึ่งเลยมีการล่า ซึ่งมันโหดร้ายไป ก็ถูกต่อต้าน ปัจจุบันเลยไม่ค่อยมี

แต่มีบางที่อย่างเช่นจีนที่ยังผลิตมัสก์อยู่ ในฐานะยาแผนโบราณ โดยเขาบอกว่าไม่ได้ฆ่ากวาง แต่มีวิธีที่จะไปหาต่อมนี้ออกมาโดยที่กวางยังมีชีวิตอยู่ เราเองได้มาก็ไม่ได้เอามาใช้หรอกนะ มันเป็นเรื่องของจริยธรรมนิดหนึ่ง เราเพียงแต่อยากศึกษาเพื่อให้รู้ว่ามัสก์คืออย่างนี้ ของจริงนี่แอนิมัลลิกมาก เหมือนเดินไปตามผนังที่ผู้ชายไปฉี่กันเยอะๆ พอกลิ่นแอมโมเนียมันหายไปแล้ว ที่เหลืออยู่จะเป็นกลิ่นเหมือนมัสก์ สาบสัตว์ อีโรติก

หรืออย่างแคสโทเรียม (Castoreum) หรือต่อมเพศของตัวบีเวอร์ ในศาสตร์ของน้ำหอมมันคือกลิ่นเครื่องหนัง เพราะสมัยก่อนเวลาคนทำเครื่องหนังจะใช้แคสโทเรียมนี่แหละมาดับกลิ่นสาบเดิมของหนังสัตว์ ซึ่งสมัยนี้ก็ยังมีพรานที่ขายแคสโทเรียมอยู่ ที่ต่างประเทศจะมีการเปิดให้ล่าบีเวอร์ตามฤดูกาล เพราะมันมีจำนวนมากในธรรมชาติ พอมากเกินไปก็ทำให้ป่าไม่สมดุล เราก็ไปหามาดม กลิ่นก็จะทำให้นึกถึงผู้ชายเหมือนกัน เหมือนกางเกงในเขา ดูเซ็กซี่ แต่คนที่ไม่ชินกับน้ำหอมดมแล้วอาจจะแหวะ เวียนหัว เหมือนเดินในสวนสัตว์

หรือถ้าเป็นกลิ่นแบบเฟมินีนหน่อย ก็จะเป็นแอมเบอกรีส์ (Ambergris) ซึ่งหายากมาก เป็นของมีค่า สมัยก่อนใช้แทนทองได้ มันเกิดจากการที่ปลาวาฬกินไขมันเข้าไปเป็นจำนวนมาก พอมากเข้ามันก็จะสำรอกออกมา แล้วก้อนไขมันนั้นก็จะลอยเท้งเต้งอยู่ในทะเล นานวันเข้าก็พัฒนาเป็นกลิ่น จนถูกซัดขึ้นมาบนหาด ปัจจุบันก็ยังหายาก จะมีก็ที่นิวซีแลนด์ จะมีหาดที่เขาอนุญาตให้เก็บแอมเบอกรีส์ แต่สิ่งนี้เรารู้สึกว่าไม่เป็นไร มันไม่ได้รบกวนสัตว์ แล้วกลิ่นมันเฟมินีน นึกถึงส่วนลี้ลับของผู้หญิง เป็นแอนิมัลลิกอ่อนๆ เหมือนแม่ที่โอบกอดลูกไว้

อีกอย่างคือซีเวต (Civet) นี่จะเป็นกลิ่นผู้หญิงเซ็กซี่ ในเมืองไทยก็มีการทำกลิ่นซีเวตซึ่งเรียกว่า ชะมดเช็ด ก็จะมีข้อถกเถียงอยู่เหมือนกันว่ามันคือการกักขังสัตว์ ทางคนเลี้ยงก็จะบอกว่าตัวชะมดเองต้องการความปลอดภัยอยู่แล้ว จึงไม่ได้เลี้ยงมันด้วยการเฆี่ยนตี คือถ้าเป็นในทางแอฟริกาเราจะได้ยินเหมือนกันว่ามีการเฆี่ยนตีเพื่อกระตุ้นให้สารหลั่งมันออกมา แต่บ้านเราเขาเคลมว่าเลี้ยงโดยเอาของหวานให้กิน ให้ชะมดอารมณ์ดี มันจะได้เช็ดสารหลั่งนั้นออกมาตามกิ่งไม้ กลิ่นจะเซ็กซี่มากๆ มีความบิทชี่

ดูเหมือน ‘ความเป็นหญิง’ หรือ ‘ความเป็นชาย’ จะมีเส้นแบ่งชัดเจนในศาสตร์ของน้ำหอม คุณเอง ในฐานะ ‘เควียร์’รู้สึกกับข้อนี้อย่างไร

ส่วนตัวเรารู้สึกว่าคนเราใช้น้ำหอมได้ตามความชอบ จะเป็นเพศไหนก็แล้วแต่ ถ้าเราคิดว่าเหมาะกับเรา เราก็ใช้

เพียงแต่ว่าการแยกน้ำหอมเป็นเฟมีนีนกับมาสคิวลีน มันเป็นเฟรมเวิร์กของน้ำหอมมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อาจจะเพราะน้ำหอมมันก่อให้เกิดภาพ ที่บางครั้งก็เป็นสเตอริโอไทป์ อย่างเช่นกลิ่นดอกไม้มักจะสัมพันธ์กับความทรงจำเกี่ยวกับผู้หญิง ขณะเดียวกันกลิ่นเครื่องหนัง คนก็จะนึกถึงผู้ชายมากกว่า หลายครั้งมันไปด้วยกันกับการรับรู้ของสังคม

แต่เราว่าผู้หญิงก็มีหลายแบบ ผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเพอร์ฟูมเมอร์ก็มีหลายคน บางคนเป็นแนวสวยสง่า บางคนดูสปอร์ต ผู้ชายเองก็มีหลายแบบ ทั้งผู้ชายอบอุ่น ผู้ชายเซ็กซี่ มันจึงมีความหลากหลายอยู่ในนั้น

แล้วที่จริงมันก็มีน้ำหอมที่เป็นยูนิเซ็กซ์มาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วนะ ไม่ใช่ว่าเพิ่งมีในสมัยนี้ อย่างน้ำหอมจิ๊กกี้ของเกอร์แลง (Jicky by Geurlain ปี 1889) โดยตัวเพอร์ฟูมเมอร์เองก็ไม่ได้คิดจะทำเป็นยูนิเซ็กซ์แต่แรกหรอกนะ เขาทำให้ผู้หญิงที่เขารัก แต่เผอิญผู้หญิงคนนี้เป็นผู้หญิงเปรี้ยว ขับรถ ชวนให้นึกถึงสายลม ก็เลยใช้กลิ่นสมุนไพรใส่เข้าไป ผลออกมาก็เลยยูนิเซ็กซ์

งานโฆษณาน้ำหอมเอง มักจะหวือหวาเรียกความสนใจเสมอ คุณประทับใจมันอย่างไรบ้าง

เราชอบมาก เพราะมันก็คือการตีความกลิ่นออกมาเป็นภาพ ในฐานะที่เราเป็นคนทำงานเกี่ยวกับภาพจึงสนใจว่าการตีความนามธรรมออกมาเป็นรูปธรรมเขาทำกันแบบไหนบ้าง

เราชอบโฆษณาของอีฟแซงต์โรลองต์ ตัวปารีส (Paris by Yves Saint Laurent ปี 1983) น้ำหอมจะเป็นกลิ่นกุหลาบ แล้วออกฟรุตตี้นิดๆ มีความทันสมัย จริงๆ พูดแค่นี้ภาพมันจะเป็นอะไรก็ได้ แต่เขาตีความว่ามันเป็นน้ำหอมแบบปารีเซียง แล้วผู้หญิงของอีฟแซงต์โรลองต์ก็จะเป็นหญิงที่มีอำนาจเหนือผู้ชายหน่อยๆ เลยออกมาเป็นภาพผู้หญิงที่ขับรถเปิดประทุนจากเมืองชายทะเล พอถึงปารีสก็พบว่านางบรรทุกผู้ชายมาสองคน มันก็สื่อสารออกมาว่าใช้น้ำหอมนี้แล้วฉันไม่ต้องพึ่งพาผู้ชายก็ได้ ฉันขับรถเอง ซึ่งผู้หญิงขับรถสมัยนั้นถือว่าเปรี้ยวมากนะ

หรืออีกตัวที่ดังมากของอีฟแซงต์โรลองต์ก็คือ โอเปียม (Opium ผลิตครั้งแรกในปี 1977) งานโฆษณาก็จะเป็นผู้หญิงคนหนึ่งไปซื้อทาสผู้ชายที่ตลาดค้าทาส แล้วผู้ชายก็หลงใหลกลิ่นโอเปียมของเธอแบบขาดไม่ได้ คือเขาเล่นกับคอนโทรเวอเชียลแรงๆ ไปเลย ขบถเต็มที่ ถ้าออกมาในยุคนี้คงโดนด่า คุณจะเล่นกับการค้ามนุษย์ได้ยังไง

โฆษณาปารีส

โฆษณาโอเปียม

อีกตัวที่ประทับใจคือชาแนล อีโก้อิสต์ (Chanel Egoiste) เขาอยากให้ภาพออกมาเป็นผู้ชายที่ใช้แล้วผู้หญิงหลง แล้วเป็นผู้ชายที่เชิด ไม่แคร์ผู้หญิง ในโฆษณาจะเป็นผู้หญิงหลายๆ คนเปิดหน้าต่างโรงแรมออกมาคร่ำครวญ ด่าว่าผู้ชาย ‘ทำไมทิ้งชั้นไป ออกมานะ อีผู้ชายเห็นแก่ตัว’ ทีละคน ทีละบาน ผู้ชายก็ไม่สน แค่เอาน้ำหอมออกมาวางให้รู้ว่าฉันใช้อันนี้นะ กล้องถ่ายกว้างออกมาเรื่อยๆ ก็ปิด-เปิด หน้าต่างกันทั้งตึก ตะโกนกัน ‘อีโกอิสต์ๆ’ เล่นใหญ่กันมาก (หัวเราะ) ดูแล้วก็รู้สึกว่า ตายแล้วทำไมคิดวิชวลแบบนี้ได้ มันแฟชั่น มันสื่อความหมายได้มาก เราเลยชอบแบรนด์ที่ตีความกลิ่นออกมาได้มันๆ แบบนี้ ซึ่งสมัยนี้ก็มีอยู่บ้าง แต่น้อย

โฆษณาอีโก้อิสต์

อะไรที่ทำให้โฆษณาน้ำหอมยุคหลังสนุกน้อยลง

เราว่าแม้กระทั่งตัวน้ำหอมเองก็น่าตื่นเต้นน้อยลง มันไม่ได้มีการคิดคอนเซ็ปต์ที่แหวกแนวหรือหวือหวา แบรนด์ใหญ่ๆ ก็เริ่มมุ่งไปหาตลาดที่กว้างขึ้น อย่างสมัยก่อนจะเป็น statement perfume ที่บ่งบอกเลยว่าฉันใช้กลิ่นนี้ ฉันเป็นคนแบบนี้ ซึ่งต้องเสี่ยงคนที่ชอบก็จะชอบเลย ไม่ชอบก็ไม่ชอบไปเลย ดังนั้นเมื่อยุคนี้น้ำหอมไม่ได้เป็น statement perfume อีกต่อไปแล้ว ตัวโฆษณาเองก็คงไม่ได้มีคาแร็กเตอร์มาก ก็จะมีสวยๆ งามๆ โป๊ๆ บ้าง ใช้แล้วผู้ชายรักผู้ชายหลงอะไรก็ว่ากันไป ใส่สไตล์ลงไปนิดๆ หน่อยๆ

อย่างนี้แล้ว เราพูดได้ไหมว่ายุครุ่งเรืองของน้ำหอมได้ผ่านพ้นไปแล้ว

ก็ไม่เชิง อันที่จริงถึงแม้ภาพรวมจะไม่ได้น่าตื่นเต้นเท่ายุควินเทจ แต่ก็มีน้ำหอมแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมา เป็นน้ำหอมเฉพาะกลุ่ม เป็นนิช (niche) แบรนด์ เป็นงานของเพอร์ฟูมเมอร์ที่ไม่ได้มีสังกัด บางคนก็หยิบกลิ่นแปลกๆ มาตีความ หรือบางคนก็อยากทำโน้ตขั้วตรงข้ามมาอยู่ด้วยกัน เช่นกลิ่นมะลิกับกลิ่นบุหรี่ แบบนี้ แต่ว่านิชบางนิชก็ไม่ได้ดีไปทั้งหมด เราชอบแค่บางตัวที่ผสมขึ้นมาด้วยจิตวิญญาณจริงๆ

การศึกษาเรื่องราวของน้ำหอม ช่วยให้คุณเข้าใจประวัติศาสตร์ หรือเห็นภาพของแต่ละยุคสมัยได้ชัดขึ้นอย่างไรบ้าง

เรามองว่าแต่ละกลิ่นมันเป็นของยุคสมัยนั้นๆ การศึกษาน้ำหอมทำให้เราเห็นว่าความนิยม ความงาม แฟชั่น หรือสภาพสังคมในยุคสมัยนั้นเป็นยังไง ยิ่งพอเป็น statement perfume ในแต่ละกลิ่นมันมีเหตุผลในการสร้าง หลายกลิ่นมีความเกี่ยวเนื่องกับสังคม

อย่างเช่นจอย (Joy by Jean Patou ปี 1929) ก็ชัดเจนว่ามันเป็นกลิ่นที่ต้องการปลอบประโลมคนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือ Great Depression เขาเลยทำน้ำหอมคุณภาพดี วัตถุดิบแพง ทำให้คนนึกถึงความสุข แล้วต้องทำให้ถึงด้วย เราจึงพอจะเห็นว่าคนต้องลำบากแค่ไหนถึงต้องการหาสิ่งปลอบประโลมในระดับนั้น

หรือฟามม์ โรชาส์ (Femme Rochas ปี 1944) ก็สร้างในช่วงสงครามโลก ตัวเพอร์ฟูมเมอร์เองออกไปไหนไม่ได้ อยู่ในห้องที่ฝั่งหนึ่งเป็นตึกพัง อีกฝั่งเป็นกองขยะ เขาเลยใส่โน้ตของขยะเข้าไป สะท้อนสภาพแวดล้อมในยุคนั้น กลิ่นออกเปรี้ยวๆ หมักๆ ซึ่งออกมาเป็นโน้ตเฟมีนีน ได้กลิ่นเหงื่อผู้หญิง ขวดของเขาก็ดีไซน์มาจากสัดส่วนของเมย์ เวสต์ เราก็ได้เห็นอีกว่าผู้หญิงในอุดมคติของยุคนั้นต้องเอวคอดขนาดนี้เชียว

หรืออีกตัวหนึ่งที่คนเขายกย่องกันมากก็คือลา ดู ตอมส์ (L’Air du Temps by Nina Ricci ปี 1948) มันมาในช่วงที่สงครามสงบ กลิ่นมันก็คืออากาศของช่วงเวลานั้น เต็มไปด้วยความรักและสันติภาพ แม้กระทั่งขวดก็ยังทำเป็นรูปนกพิราบอยู่กับพระอาทิตย์ ซึ่งกลายเป็นขวดน้ำหอมแห่งศตวรรษ เต็มไปด้วยความหมาย แล้วมันโรแมนติกด้วย เป็นน้ำหอมที่ผู้ชายซื้อให้ผู้หญิง คุณพ่อซื้อให้คุณแม่

หรือช็อกกิ้ง ชิพพาเรลลี (Shocking Schiaparelli ปี 1937) อยู่ในยุคสงคราม เครียดกันจัง อะ เอาไปเลยค่ะ สีช็อกกิ้งพิงค์ ขวดมันก็จะสะท้อนศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ เพราะเพอร์ฟูมเมอร์ก็เป็นเพื่อนกับซัลวาดอร์ ดาลี พอเราเห็นขวดก็มองออกว่า อ่อ นี่อยู่ในยุคของพวกเซอร์เรียลลิสต์ มันสะท้อนความบิดเบี้ยวของมนุษย์

กลิ่นที่น่าพิศวงที่สุดสำหรับคุณคืออะไร

นาฮิมา ของเกอร์แลง (Nahema by Geurlain ปี 1979) เหตุที่พิศวงเพราะคอมโพซิชันของเขามันน่าทึ่ง มันเป็นน้ำหอมที่ฌอง ปอล เกอร์แลงภูมิใจมาก เป็นตัวที่เด่นในประวัติศาสตร์น้ำหอม แต่กลับเกือบทำให้แบรนด์เกอร์แลงเจ๊ง เพราะสมัยนั้นการจะออกน้ำหอมกลิ่นหนึ่งต้องซื้อวัตถุดิบเตรียมไว้ เตรียมขวด การบรรจุ มันเป็นเงินมหาศาล ซึ่งตัวนี้อาจจะมาผิดยุค มันมาในยุคปลาย ’70s แต่น้ำหอมที่กลิ่นใหญ่อลังการขนาดนี้มันควรมาในยุค ’80s มากกว่า แล้วอีกอย่างหนึ่งแวบแรกคนก็จะนึกถึงว่า เออ ก็กุหลาบแหละ แล้วยังไงต่อ

แต่สำหรับเรามันคือกุหลาบที่ค่อยๆ คลี่กลีบให้เห็น ยิ่งดมไปเรื่อยๆ จินตภาพมันก็เกิด แว่บแรกที่ดมแล้วรู้สึกถึงกลีบกุหลาบแดงนับพันกลีบหมุนวนอยู่ในหัว ดีมาก ชอบทุกทีเวลาได้ดม

เราตัดสินคนจากน้ำหอมที่เขาใช้ได้ไหม

เราไม่ได้ตัดสินในแง่นั้น เราแค่มองว่าถ้าวันนี้คุณแต่งตัวแบบนี้ คุณอาจจะเหมาะกับกลิ่นแบบหนึ่ง ถ้าใส่กลิ่นที่ไม่เข้า เราก็จะรู้สึกว่ามันไม่ใช่เธอนะ เท่านั้นเอง

คุณเคยคิดอยากทำหนังเกี่ยวกับกลิ่นไหม หรือถ้าจะทำ จะบอกเล่ามันออกมาอย่างไร

หนังของเรามีความสัมพันธ์กับน้ำหอมอยู่แล้ว เรามององค์ประกอบหนังเทียบกับน้ำหอมเสมอ เวลากำกับฯ หรือตัดต่อก็ตาม เราจะมองว่าน้ำหนักมันเป็นยังไง สมดุลหรือยัง มัน earthy มากไปไหม ควรเติมกลิ่นอะไรลงไปอีกดี

อย่างมะลิลาก็ชัดเจนว่าเป็นแนวชิปร์ (Chypre) ที่ประกอบด้วยโอ๊คมอส ยางไม้ กับแอนิมัลลิกนิดหน่อย โอ๊คมอสก็จะชวนให้นึกถึงต้นไม้เขียวๆ กับ earthy เราจะเห็นตัวละครอยู่ท่ามกลางดินและต้นไม้ แล้วก็มีความเย้ายวน กลิ่นสาบแบบแอนิมัลลิก รวมถึงอะไรที่น่ากลัวอยู่ในนั้น

แต่หาน้ำหอมกลิ่นชิปร์ที่เป็นมะลิลาเลยก็ยากเหมือนกันนะ บางทีดมแล้วคนดูก็อาจไม่ได้นึกถึงมันอย่างนั้น อาจจะเป็นชิปร์แบบมิตซึโกะ (Mitsouko by Geurlain ปี 1919) หรือชิปร์แบบแบนดิท (Bandit by Robert Piguet ปี 1944) ที่จะกลิ่นแบบเครื่องหนังหน่อยๆ อ้อ อาจจะเป็นอันนี้ที่เพิ่งได้มา โวล เดอ นุยท์ (Vol de Nuit by Geurlain ปี 1933) คนขายเขารักษากลิ่นไว้ได้อย่างดีเชียว นั่นล่ะ เราว่ากลิ่นนี้ก็จะใกล้กับมะลิลาที่สุด

เราดมกลิ่นนั้นก่อนจะได้ดูมะลิลา และผ่านไปสักสัปดาห์กว่า ในชั่วขณะที่ดูหนังจบ กลิ่นของโวล เดอ นุยท์ ก็ลอยขึ้นมาจางๆ  อย่างห้ามไม่ได้

Fact Box

  • อนุชา บุญยวรรธณะ จบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับรางวัล Young Thai Artist Award สาขาภาพยนตร์ตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนอยู่
  • มะลิลา ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Asian Film Awards 2018 ซึ่งถือเป็นรางวัลทางภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย 2 สาขาด้วยกัน ได้แก่ ผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม สำหรับ อนุชา บุญยวรรธนะ และ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม สำหรับ ศุกลวัฒน์ คณารศ
Tags: , , ,