ปีนี้ของ จรัล ดิษฐาอภิชัย ควรจะง่ายกว่านี้
พรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้รับชัยชนะรวมกัน 24 ล้านเสียง ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 โดยมีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคอันดับหนึ่ง และควรได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย
เมื่อเป็นเช่นนั้น บรรดา ‘ผู้ลี้ภัย’ ทางการเมืองที่ปีหน้าจะลี้ภัยกันรวมแล้วเกือบ 10 ปี ควรจะได้โอกาสกลับบ้านกันทั้งหมด นโยบายหนึ่งของพรรคก้าวไกลคือ ‘นิรโทษกรรม’ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมจากยุครัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2557 ขณะที่นโยบายของพรรคเพื่อไทยก็คือ การดูแลไม่ให้คดี ม.112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งก็สอดคล้องกันในจุดยืนประชาธิปไตย
แต่สุดท้าย ผลการเลือกตั้ง 2566 และการจัดตั้งรัฐบาลกลับพลิกเป็นอีกตลบ
สุดท้ายพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอนุรักษนิยมเดิม เป็นสัญญาณของการประนีประนอมเพื่อตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว โดยมี ‘ผู้ลี้ภัย’ คนสำคัญที่ได้กลับบ้านคนเดียวชื่อ ทักษิณ ชินวัตร
วันหนึ่งในฤดูหนาวกลางกรุงปารีส หลังจัดตั้งรัฐบาลมาได้นาน 3 เดือน ผมนัดเจอกับ จรัล ดิษฐาอภิชัย พี่จรัล ผู้ลี้ภัยวัย 76 ปี ประธานสมาคมนักประชาธิปไตยชาวไทยไร้พรมแดน อดีตบัณฑิตปริญญาโทมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ที่ ณ ปัจจุบัน เป็นผู้ลี้ภัยจากหมายจับในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในฝรั่งเศสเป็นเวลากว่า 9 ปี
ท่ามกลางฤดูหนาวเช่นนี้ พี่จรัลยอมขึ้นรถไฟจากปารีสนานกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อมาเปิดบทสนทนาเล็กๆ กับ The Momentum
หลังจากให้บุรุษผู้อยู่ในทุกหน้าประวัติศาสตร์พาเดินชมเมือง เราค่อยๆ นั่งในคาเฟ่ เพื่อย้อนถึงความคิดที่พี่จรัลตกผลึกภายในปีนี้ แล้วย้อนถามถึงเรื่องใหญ่ที่สุดในปีนี้ ว่าด้วย ‘ความเป็นไปได้’ ที่เมื่อ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ได้ชัยชนะ โอกาส-ความหวังของเขา และของผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกคงมีมากขึ้น
“ไม่ – ผมรู้กฎการเมือง ผมรู้กฎการต่อสู้นี้ดี”
นักเคลื่อนไหว นักปฏิวัติผู้นี้ ผู้ซึ่ง ‘แพ้’ มากกว่าชนะ บอกว่าอีก 4-5 ปี เขาคงตาย แต่ก่อนตาย เขาอยากเห็นชัยชนะที่ ‘ใหญ่’ สักหน่อย สำหรับประเทศไทย
และนี่คือบทสนทนาเคล้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารใจกลางกรุงปารีส ระหว่าง The Momentum กับ ‘พี่จรัล’
(1)
อันที่จริงพี่จรัลเป็นแหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับ The Momentum คนหนึ่ง เมื่อ 2 ปีก่อน ตอนที่เราทำซีรีส์ 7 ปีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เราเลือกพี่จรัลเป็นหนึ่งในแหล่งข่าว เมื่อทำซีรีส์พิเศษ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พี่จรัลก็มีเรื่องเล่าสุดแสนประทับใจคือ เป็นคนเดียวที่ ‘แหกคุก’ ออกจากที่คุมขังชั่วคราว ก่อนหนีเข้าป่ากลายเป็น ‘สหายชัย’ และ ‘สหายแผ้ว’
ชีวิตหลังออกจากป่าของพี่จรัลเป็นไปอย่างโลดโผน เขาเรียนต่อปริญญาโทที่ฝรั่งเศส หลัง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แนะนำให้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ จรัลกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิตช่วงสั้นๆ ก่อนที่ปี 2541 พี่จรัลถูกจับติดคุกในพม่า เนื่องจากเคลื่อนไหวในวาระครบรอบ 10 ปี การล้อมปราบประชาชนในย่างกุ้ง
ในเวลาต่อมา พี่จรัลได้รับเลือกเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรกเมื่อปี 2543 และถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติยุครัฐประหาร 2549 เนื่องจากเคลื่อนไหวร่วมกับ ‘คนเสื้อแดง’ เพื่อบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์
พี่จรัลเคลื่อนไหวกับขบวนการคนเสื้อแดงมาโดยตลอด กระทั่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้อำนาจ เขาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เข้าไปพัวพันกับละคร ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ในวาระครบรอบ 40 ปี 14 ตุลาฯ จนโดนคดีด้วยมาตรา 112 และทำให้ต้องลี้ภัยทางการเมือง ออกนอกประเทศทันทีหลังการรัฐประหารโดย คสช.
ปีนี้เป็นปีที่ 9 แล้ว หากนับจากวันรัฐประหารเป็นตัวตั้ง ปีนี้ ชีวิตของพี่จรัลยังเดินต่อไปเรื่อยๆ เขาเพิ่งได้รับสิทธิ์ ‘บ้านพัก’ จากทางการฝรั่งเศสที่มอบให้กับผู้มีรายได้น้อย ชานกรุงปารีส ทำให้พี่จรัลออกห่างจากการชุมนุมประท้วงในเมืองไปบ้าง เนื่องด้วยต้องเดินทางเป็นชั่วโมงกว่าจะ ‘เข้าเมือง’ ได้
พี่จรัลนัดผมแถวๆ ย่านเลอมาเรส์ (Le Marais) ย่านเมืองเก่าอันมีชีวิตชีวาใจกลางกรุงปารีส ก่อนพาเดินชมย่านที่พี่จรัลคุ้นเคย แล้วพาเดินไปชมวิหารนอเทรอดามที่อยู่ใกล้ๆ
“ความจริงมีที่อื่นสวยกว่า แต่ที่นี่ดังเพราะอยู่ในปารีส และดังเพราะอยู่ในนิยาย The Huncthback of Nothredame ของ วิกเตอร์ ฮูโก (Victor Hugo)”
ปารีสในฤดูหนาวปีนี้ออกจะหนาวยะเยือกสลับฝน ผู้ลี้ภัยอาวุโสในวัย 76 ยังเดินเหินคล่องแคล่ว พร้อมกับชวนทุกคนที่เขาพบเห็นตลอดทาง ตอนแรกเขาชวนเด็กนักเรียนคุยเรื่องนโยบายของรัฐบาลมาครง ที่จะให้ยกเลิก ‘ชุดนักเรียน’ แล้วบอกว่า ‘อย่าไปยอม’
อีกพักหนึ่ง ในร้านกาแฟ พี่จรัลก็ชวนกลุ่มมุสลิมชาวอียิปต์คุยเรื่องปาเลสไตน์ และแนะนำตัวเองว่าเป็น Asylum Seeker จากเมืองไทย
“ผมเองทำตัวไม่เหมือนชาวยุโรปเท่าไร ที่นี่ต่างคนต่างอยู่ เขาจะมีโลกส่วนตัวในร้านกาแฟ ร้านอาหาร แต่ผมชอบชวนคุย ชอบแลกเปลี่ยน”
(2)
อดีตสหายวัย 76 ปี พาผมเดินต่อไปถึงโรงแรม Hotel De Jardin อาคารเลขที่ 9 บนถนนซอมเมอราร์ (Rue de Sommerard) อาคารประวัติศาสตร์ที่ผู้ก่อการคณะราษฎรนัดประชุมกันครั้งแรก พี่จรัลบอกว่าเขาพา ‘คนไทย’ มาเดินดูที่นี่จนผู้จัดการโรงแรมจำได้ และพยายาม ‘ยุ’ ให้มีการตั้งอนุสรณ์เล็กๆ เพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่าได้เริ่มต้นขึ้นที่นี่
เดินไปอีกสักระยะ เราพบกับมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เคยเรียนคณะนิติศาสตร์ที่นี่ ฝั่งตรงข้าม พี่จรัลชี้ให้ดูร้านมิรามา (Mirama) ร้านอาหารจีนชื่อดังแถวนี้ ที่เขาบอกว่าเคยมากินกับ ‘เอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ และ ‘ป๊อก-ปิยบุตร แสงกนกกุล’
พี่จรัลพาผมหยุดลงที่ ‘คอมตัวร์เดอปังติอง’ (Comptoir de Pantheon) หน้าวิหาร ‘แพนธีออน’ ที่ใช้เป็นสถานที่ฝังศพบุคคลสำคัญของฝรั่งเศสพอดี
‘นักปฏิวัติ’ เลือกจิบ โมนาโก (Monaco) เบียร์ผสมน้ำมะนาวและน้ำเชื่อมจากผลทับทิม ก่อนจะเริ่มสนทนาถึงความเปลี่ยนแปลงของเขาในปีนี้
ปีนี้ชีวิตพี่จรัลเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน?
“มันไม่เพียงแต่เปลี่ยนทางภูมิศาสตร์ กายภาพ แม้ยังไม่เปลี่ยนความคิดทางการเมือง แต่ความรู้สึกเปลี่ยน พออยู่ไกล ความรู้สึกอยากที่จะมาทำอะไรที่ปารีสลดลง ตอนนี้ถ้าจะจัดชุมนุมก็เหนื่อย”
บวกกับสถานการณ์การเมืองไทย จรัลบอกว่าทุกอย่างเคลื่อนไหวยากขึ้น…
“เมื่อมีการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ถือว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระยะที่เป็นประชาธิปไตย ต่างประเทศเองไม่ได้สนใจลึกไปถึงว่า รัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลข้ามขั้ว หรือเป็นรัฐบาลอะไร เขาไม่ได้สนใจ เขาสนใจแค่ว่าเลือกตั้งแล้ว พรรคที่รวมเสียงข้างมากได้ ได้เป็นรัฐบาล เขาไม่รู้สึกอะไรหรอกว่า พรรคที่ได้อันดับแรกนั้นไม่ได้เป็นรัฐบาล พรรคแรกที่ไม่ได้เป็น เขารู้สึกเพียงว่ามีรัฐบาลแล้ว พรรคที่ได้สองเป็นรัฐบาล แล้วก็มี เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ
“ถ้าบอกว่ารัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลอนุรักษนิยม เขาก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะรัฐบาลประเทศต่างๆ ก็มีรัฐบาลอนุรักษนิยม จะบอกว่าผสมขั้ว ประเทศต่างๆ ก็มีผสมขั้ว ฉะนั้นเขาไม่ได้ซีเรียส
“เอาเป็นว่าตั้งแต่มีรัฐบาลเศรษฐามา คนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ถูกศาลตัดสินจำคุกไป 8-9 คน แต่ในนั้นก็มียกฟ้อง มีรอลงอาญา แต่มันก็ยังไม่ได้มาจากรัฐบาล ถ้าเกี่ยวกับรัฐบาลคือรัฐบาลเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ไม่แสดงความเห็นเลย เราก็เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความเห็นบ้าง เพื่อศาลจะได้คิดคำนึง แต่เรื่องนี้เขาไม่แตะ ไม่ใช่แค่ไม่แตะเรื่อง 112 ไม่แตะเรื่องกฎหมายเท่านั้น แต่คนที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม เขาก็ไม่แตะ”
อีกส่วนหนึ่งคือ ‘ความแตกแยก’ กันเองของ ‘นางแบก’ แฟนคลับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ซึ่งถูกอีกฝ่ายเรียกว่า ‘สลิ่มเฟสสอง’ ความแตกแยกนี้ส่งรอยร้าวไปยังทั่วโลก ไม่เว้นกระทั่งฝรั่งเศส ‘อั้ม เนโกะ’ เคยเป็นคนที่พี่จรัลสนิทสนม แต่ ณ วันนี้ เมื่อท่าทีของอั้มเป็นไปในอีกทิศทางหนึ่ง พี่จรัลก็ยอมรับตรงๆ ว่า ‘คุยยาก’
“ผมก็พูดอยู่เรื่อยว่าต้องผนึกกำลังกัน ถ้าใช้ภาษาทหารต้องบอกว่า ศัตรูของเราเข้มแข็งอยู่นะ บางคนประเมินสถานการณ์จากเสียงคนด่าศัตรูของเรา แต่สำหรับผม เสียงคนด่าก็ไม่ควรเอามาประเมินมาก
“เพราะวันนี้ แม้อีกฝ่ายจะถูกด่า ชื่อเสียงเสื่อมเสีย แต่สถานะทุกอย่างยังคงแข็งแกร่ง เขาคุมอำนาจ คุมกองทัพ คุมตำรวจ ยิ่งพวกเราไม่ผนึกกำลัง ยังคงแตกแยก ทุกอย่างยิ่งแย่ลง”
“เอาเป็นว่าตั้งแต่เลือกตั้งมา มีคนบอกว่านี่เป็นช่วงเวลาที่พวกเขา ‘สบายใจ’ ที่สุด ใช่ – เพราะเรามัวแต่ขัดแย้งกันเอง บางกลุ่มเลิกวิจารณ์ไปเลย เพราะผิดหวังที่รัฐบาลไปจับมือกับอีกฝ่าย สำหรับผม เอาให้ง่ายที่สุดตอนนี้คือ ยังไม่ต้องผนึกกำลังกันหรอก เอาแค่ด่ากันให้น้อยลง แค่นี้ก็ยากแล้ว”
สิ่งที่เขาเป็นห่วงคือหากวันหนึ่ง พรรคเพื่อไทยเกิดขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล ทหารเกิดกลับมา ‘ฮึ่มๆ’ อีกครั้ง หากกองเชียร์ทั้งสองฝ่ายยังแตกแยกกันเช่นนี้ การเคลื่อนไหวใดๆ ก็จะเป็นไปได้ยากยิ่ง
ดูเหมือนว่าความห่วงใยของนักเคลื่อนไหวอาวุโสจะหาคนฟังได้ยากนักในเวลานี้…
(3)
แล้ววันที่ 14 พฤษภาคม คุณได้เห็นผลการเลือกตั้งที่ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ชนะเด็ดขาด มีเสียงรวมกันเกินครึ่งหนึ่ง คุณรู้สึกอย่างไร คิดเหมือนคนอื่นไหมว่าจะได้กลับบ้านเสียที? เราเปิดบทสนทนาต่อ
ในปีนี้ ทุกคนล้วนเห็นตรงกันว่า การที่ฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงประชาชนรวมกัน 24 ล้านเสียงนั้น อาจเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา
“ไม่ – ผมรู้กฎการเมือง ผมรู้กฎการต่อสู้ดี
“ถามว่ายินดีไหม ก็ยินดี แต่ไม่ถึงกับเหมือนคนอื่น ผมเองรู้ว่าการเมืองไทยเป็นยังไง”
แปลอีกนัยหนึ่งอาจหมายความว่าถึงอย่างไร เขาก็คงไม่ได้กลับบ้านในเร็วๆ นี้
“เอาเข้าจริง ต่อให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาลก็ทำไรไม่ได้ เผลอๆ มีผลเสียมากกว่าผลดี คุณทำอย่างนู้นไม่ได้ ทำอย่างนี้ไม่ได้ เป็นฝ่ายค้านเสียยังดีกว่า ถ้าก้าวไกลจะทำอะไรได้ นอกจากการเมืองแล้ว มวลชน สมาชิก ต้องทำด้วย ต้องทำให้พรรคเข้มแข็ง ถ้าพรรคไม่เข้มแข็งทำอะไรก็ยาก เข้มแข็งทั้งทางความคิด ทฤษฎี ทุกอย่างต้องเข็มแข็ง ทั้งในทางพรรคการเมือง ในทางมวลชน และในแนวทางการจัดตั้ง
“พรรคก้าวไกลยังต้องจัดการกระบวนการภายในให้เป็นระบบและแข็งแรง” พี่จรัลสรุป
ส่วนเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้น ในฐานะคนที่เคยอยู่ร่วม ‘วงใน’ กับพรรคมานาน พี่จรัลบอกว่าเขา ‘ไม่คาดหวัง’
“สำหรับผม นิรโทษกรรมคือดาบสองคม คมหนึ่งคือถ้ามีนิรโทษกรรม การต่อสู้จะลดลงไปเยอะเลย อีกคมหนึ่งคือ รัฐบาลชุดนี้ รัฐบาลคุณเศรษฐานั้นชัดเจนว่า การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมคดี 112 ไม่แตะต้องเด็ดขาด
“เพราะฉะนั้น รัฐบาลชุดนี้จะไม่แตะจนกว่าจะผลักดันกันอย่างแรง ไม่ใช่ไม่แตะเรื่องแก้ไขอย่างเดียว แต่ยังไม่แตะเรื่องคดี แล้วก็จะไม่แตะเรื่อง ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ครอบคลุมมาตรา 112 เด็ดขาด”
แล้วคุณคิดว่าเขาจะนิรโทษกรรมมาตรา 112 เมื่อไร? ผมถามกลับ
“ก็จนกว่า ‘ข้างบน’ จะดวงตาเห็นธรรมล่ะมั้ง” พี่จรัลบอกพร้อมกับหัวเราะไปพลางๆ
ถึงตรงนี้ พี่จรัลบอกว่า พรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เชื่อใน ‘ประชาธิปไตย’ เพียงแต่ใช้ประชาธิปไตยเป็นข้ออ้างในการเข้าสู่อำนาจ และในอีกแง่หนึ่ง สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังน่าจะมีบทบาทชี้ขาดอยู่ ณ วันนี้
“ตราบใดที่ไม่สามารถปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่สามารถทำให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ระบอบประชาธิปไตยประเทศไทยก็ไม่มั่นคง นี่คือความจริง
“สรรพสิ่งมันมีความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง จากเล็กไปใหญ่ จากอ่อนไปแข็ง ครึ่งใบไปเต็มใบ ด้านหนึ่งเราก็ยังมีความหวังอย่างนี้อยู่ แต่อย่าใช้ความหวังนี้เป็นข้ออ้างว่าจะไม่ทำอะไร เช่นเราหวังว่าพรรคการเมืองไทย ไม่ว่าจะฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน เราหวังว่าจะเปลี่ยนแปลง ผมไม่เชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงได้”
แล้วอยากฝากอะไรถึงบรรดาเพื่อนฝูงในพรรคเพี่อไทย?
“พูดแบบกำปั้นทุบดิน คือต้องมีความกล้าหาญ ที่จะคิดจะพูดเหมือนเดิม ซึ่งวันนี้ก็เปลี่ยนไป พอเป็นรัฐบาลก็เปลี่ยน คือถ้าเปลี่ยนความคิด บางคนบอกเปลี่ยนความคิด แต่จุดยืนไม่เปลี่ยน เป็นไปไม่ได้ จุดยืนก็คือความคิด ขณะเดียวกัน ต้องมีความกล้าหาญ
“สองคือต้องฉลาด วันนี้เขาก็บอกว่าเขาฉลาดนะ เขาไม่ใจร้อนใจเร็ว ยอมรับความเป็นจริง ก็ถูกครึ่งหนึ่ง แต่อีกครึ่งนึงก็เป็นข้ออ้างกัน ยกตัวอย่างเช่น ‘ปฏิรูปกองทัพ’ เมื่อก่อน ส.ส. คนในพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่เดี๋ยวนี้เกรงอกเกรงใจทหาร ไม่กล้าวิจารณ์กองทัพ เพราะเขามีความคิดว่าทำไปสักพัก กองทัพก็จะยอมรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทหารจะยอมรับพลเรือน ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทหารจะยอมรับเมื่อไร
“สำหรับผมที่เปลี่ยนใหญ่สุดในปีนี้ก็คือ เปลี่ยนไปตามคำขวัญพรรคก้าวไกล ‘กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม’ นี่ไม่เหมือนเดิมจริงๆ (หัวเราะ)”
(4)
ผมถามชายชรา นักทฤษฎีการเมืองว่า ‘เชื่อ’ แบบที่พรรคเพื่อไทย ‘เชื่อ’ ไหมว่า ต้องได้อำนาจรัฐก่อน จึงจะเปลี่ยนทุกอย่างได้?
“ความคิดนี้มีเป็น 100 ปีแล้วว่า ให้ได้อำนาจรัฐก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนจากภายใน ทีนี้ในทางปฏิบัติ คือฟังดูแล้วมันก็ถูก แต่จริงๆ แล้วมันไม่ถูก มันก็เหมือนกับบอกว่าเรียนหนังสือก่อน ช่วยตัวเองให้ได้ก่อน จึงค่อยไปช่วยประชาชน ช่วยประเทศชาติ เรียนให้จบก่อน พอจบแล้วค่อยเคลื่อนไหว พวก 14 ตุลาฯ บางคนก็บอกว่า ส่งลูกให้เรียนจบก่อน ค่อยไปร่วมงาน บางคนลูกจบไปหลายปีแล้ว ก็ไม่เห็นร่วมอะไร (ยิ้ม)”
แต่วันนี้ทุกอย่างกลับกัน จรัลบอกว่าทุกอย่าง ‘พร้อม’ กว่าเดิมมาก เพราะคนรุ่นใหม่ เพราะเยาวชนคนหนุ่มสาว ล้วนมีความฝัน ความหวังที่ใหญ่กว่าเมื่อก่อน หากนับจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ที่การต่อสู้ไม่ได้เกิดภายในรั้วมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว ทว่าในโรงเรียนก็เกิดขึ้น
แล้วชีวิตนี้ คุณยังหวังจะได้กลับอีกไหม? ผมถามต่อ
“คดี 112 ของผม อายุความยังอีก 5 ปีนะ ถ้าหาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ไม่ครอบคลุมคดี 112 ผมก็กลับไม่ได้ วันนี้ ถ้าผมไม่ถูกคดี 112 ผมอาจจะกลับพรุ่งนี้ก็ได้ เขาไม่จับหรอก คดีอื่นเขาก็ไม่จับ เราไปแล้วอยู่เงียบๆ ไม่โฉ่งฉ่าง เราอยู่ได้อยู่แล้ว ผมถึงอยากให้ช่วยกันเสนอ ช่วยกันผลักดัน กดดัน ให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครอบคลุมคดี 112 ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์กับพวกเราหรือผู้ลี้ภัยอย่างเดียว แต่จะเป็นประโยชน์ในทางการเมือง กระทั่งเป็นประโยชน์กับสถาบันฯ ด้วย”
แล้วในวัย 76 ปี ทำไมถึงยังเลือกต่อสู้ต่อไป ทั้งที่คุณต่อสู้มาทั้งชีวิตแล้ว หลายคนอาจเลือกจะพักแล้ว? ผมตั้งคำถามต่อ
ปีนี้ พี่จรัลเพิ่งออกหนังสือชื่อ เกิดมาขบถ ชีวิตการต่อสู้ของจรัลเหมือนหนังเรื่องยาว ไม่ว่าจะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, การต่อสู้ในป่าของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย, ไปจนถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535, และการต่อสู้ของ ‘คนเสื้อแดง’ ฉะนั้น หากถามถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ พี่จรัลสามารถเล่าได้เป็นวัน
แต่น่าเสียดายที่การต่อสู้ที่เล่ามานั้น ‘แพ้’ มากกว่าชนะ กระนั้นเอง แม้จะแพ้อย่างไร ในวัยที่เลยเกษียณมาเกินทศวรรษแล้ว เขาก็ยังเลือกที่จะต่อสู้ต่อไป
“มีคนถามผมอยู่เสมอ ผมบอกว่าการต่อสู้สำหรับผมก็เหมือนการกินข้าว เราต้องกินทุกวัน เรียกได้ว่าเป็นวิถีชีวิต แม้ว่าส่วนใหญ่แพ้มากกว่าชนะ ก็ยังเป็นวิถีชีวิต
“การต่อสู้ของผม ทำให้ชีวิตผมรู้สึกยังมีคุณค่า มีความหมาย ถ้าผมหยุดเมื่อไรก็เป็นแค่ตาแก่คนหนึ่ง อยู่ไปวันๆ แล้วเล่าเรื่องต่างๆ ให้ลูกหลานฟังแค่นั้น เป็นตำนาน ก็แค่นี้”
แล้วคุณคิดไหมว่าชีวิตคุณจะต้องต่อสู้ยาวนานขนาดนี้? ผมถาม
“เมื่อก่อนไม่เคยคาดคิดเหมือนกันว่ามันจะยาวนานมาก เดี๋ยวนี้… ก็ยาวนาน แต่ถ้ามองประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ก็มีคนที่ต่อสู้มาตั้งงแต่ช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งแรกในปี 1789 เขาก็ยังสู้ต่อมาเรื่อยๆ จนปฏิวัติครั้งที่สองในปี 1830 ช่วงที่ วิกเตอร์ ฮูโก ต่อสู้ จนถึงปี 1848 แล้วบางคน ยังต่อสู้ถึงช่วง ‘ปารีสคอมมูน’ ในปี 1871 ก็ยังมี”
หากเทียบช่วงเวลาที่ ‘ขบถ’ ผู้นี้เอ่ยถึง การต่อสู้ในฝรั่งเศสนั้นกินเวลามากกว่า 82 ปี
ในกรณีของไทยเอง พี่จรัลบอกว่า หลายคนที่สู้กันมาตั้งแต่ 14 ตุลาฯ วันนี้ก็ยังสู้อยู่ และในขบวนการเสื้อแดง เรื่อยไปจนถึงวันที่คนหนุ่มสาวเคลื่อนไหวระหว่างปี 2563-2564
“สำหรับประเทศไทยเรา นอกจากรุ่นผมที่ต่อสู้จนวันนี้ตัวเองแก่ไปแล้ว วันนี้ คนแก่เมื่อก่อนก็มาร่วม ตอนผมกลับไป เวลาไปต่อสู้ก็คนแก่มาร่วมทั้งนั้น ทั้งคนแก่ที่อยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คนแก่ที่เป็นนักเคลื่อนไหวรุ่น 14 ตุลาฯ ก็มาช่วยคนหนุ่มสาวทั้งนั้น มันถึงมีคำขวัญเรื่อง ‘สามวัยประสาน’ คือ คนหนุ่มสาว วัยกลางคน คนแก่ ประสานให้เข้มแข็ง มันถึงจะทำอะไรสำเร็จ
“อีกอย่าง มันมีคำขวัญ ใครมีแรงออกแรง ใครมีปัญญาออกปัญญา ใครมีเงินออกเงิน แต่โชคร้ายที่คนแก่ๆ ส่วนใหญ่ออกปัญญาอย่างเดียว (หัวเราะ)”
(5)
บทสนทนาเดินเรื่อยไปถึง ‘ช่วงวัย’ และ ‘อายุ’
ว่ากันที่จริงแล้ว เราเลือกพี่จรัลมาเป็นส่วนหนึ่งของ Another year, Another Milestone ก็ด้วยความอาวุโสในฐานะนักต่อสู้
“ถ้าจะบอกอะไรกับคนวัยเดียว วัยใกล้ๆ กัน คุณอยากบอกอะไรบ้าง?” ผมลองตั้งคำถาม
พี่จรัลนิ่งคิด พร้อมกับเริ่มเอ่ยว่า “โลกกำลังอยู่ในสายธารของการเปลี่ยนแปลง”
“ในการต่อสู้ ผมเชื่อเสมอว่ามันกำลังเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าที่ฝรั่งเศส หรือที่ไหนในโลก มันล้วนกำลังเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลง ผลักดันการเปลี่ยนแปลง หรือคัดท้ายเป็นเข็มทิศสำคัญในการการเปลี่ยนแปลง เราอย่าคิดว่าเปลี่ยนไม่ได้แล้ว ไม่ไหวแล้ว แก่แล้ว พอแล้ว
“การต่อสู้ทุกครั้ง ไม่ว่าแพ้หรือชนะ มันก็เป็นรากฐานให้กับการต่อสู้ในปัจจุบัน เป็นรากฐานให้การต่อสู้ในอนาคต”
หลังจากเขียนหนังสืออัตชีวประวัติตัวเองจบ จรัลเตรียมเขียนหนังสือในเชิงสรุปบทเรียน ประสบการณ์ ให้ยกระดับเป็นทฤษฎีการเมือง ทฤษฎีการต่อสู้ กระทั่งทฤษฎี ‘การปฏิวัติ’
“ช่วงชีวิตผมเปลี่ยนไปเรื่อยๆ สมัยเด็กๆ ผมอยากเป็นผู้แทนราษฎร ผมเคยสมัครผู้แทน ตั้งพรรคการเมือง อีกช่วงเวลาหนึ่งผมอยู่กับทฤษฎีที่สอง คือทฤษฎีปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต้องใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธ ทฤษฎีแบบ เหมา เจ๋อตง
“ขณะเดียวกัน อันนี้อาจจะอ่อนหน่อย ทฤษฎีที่สาม คือทฤษฎีของเอ็นจีโอ ว่าการเปลี่ยนสังคม เปลี่ยนประเทศ ต้องทำอะไรบ้าง ต้องจับประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน แล้วประเทศต้องทำให้อำนาจรัฐอ่อน ประชาชนเข้มแข็งนั้น จริงๆ มันทำได้ไหม เรื่องพวกนี้ควรต้องสรุปบทเรียนให้คนที่ยังต่อสู้ต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ในวัย 76 ปี เขายังหวังว่าบั้นปลายชีวิตจะได้เห็นชัยชนะที่ ‘ใหญ่หน่อย’ สำหรับประเทศไทย
“ความหวังของผมบั้นปลายชีวิต ผมก็หวังเห็นชนะใหญ่หน่อยที่ประเทศไทย ผมฝากความหวังไว้ที่พรรคก้าวไกลและคนรุ่นใหม่ แต่ถึงขั้นชัยชนะเด็ดขาด ผมไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
“การเปลี่ยนแปลง อาจเปลี่ยนแปลงน้อย แต่ต้องไม่ลืมว่าเราสามารถสะสมปริมาณ จากปริมาณไปสู่คุณภาพ มันก็เปลี่ยนทุกวัน ถ้าเราสะสมไปเรื่อยๆ สักวัน เราคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน
“อีก 4-5 ปี ผมก็ตายแล้ว ชัยชนะมันอาจจะเกิดหลังผมตายแล้วก็ได้ แต่ก่อนผมตาย มันน่าจะได้เปลี่ยนแปลง”
หลังคุยกันเรื่องนี้จบ ผมปิดเครื่องบันทึกเทป พร้อมกับฟัง ‘เกร็ดประวัติศาสตร์’ จากพี่จรัล เคล้าอาหารฝรั่งเศสต่อไปอีกหลายชั่วโมง
“หวังว่าครั้งต่อไป เราจะได้เจอกันที่เมืองไทยนะครับ” ผมบอกชายวัย 76 ปี ก่อนแยกย้ายกันขึ้นรถกลับที่พัก
Tags: ผู้ลี้ภัย, คสช., ฝรั่งเศส, รัฐประหาร, Close-Up, จรัล ดิษฐาอภิชัย, Another Year Another Milestone