“ยุคทองของอเมริกากำลังเริ่มต้นแล้ว จากวันนี้เป็นต้นไป ประเทศของเราจะรุ่งเรืองและได้รับการเคารพจากทั่วโลกอีกครั้ง”
คือประโยคแรกของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ในตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา หลังเข้าพิธีสาบานตนเมื่อคืนนี้ (21 มกราคม 2025) ท่ามกลางบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่อึมครึม แตกต่างจาก 8 ปีก่อนที่เขาเคยรับตำแหน่งอย่างสิ้นเชิง
แม้รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุให้ผู้นำทุกคนต้องแสดงวิสัยทัศน์ มีเพียงแค่การสาบานตนว่า จะใช้อำนาจอย่างชอบธรรมและปกปักกฎหมายสูงสุดของประเทศ ทว่านับตั้งแต่ จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) บิดาผู้ก่อตั้งประเทศและประธานาธิบดีคนแรก กล่าวสุนทรพจน์ประเดิมตำแหน่งในปี 1789 การแสดงจุดยืนผ่านถ้อยแถลงก็กลับกลายธรรมเนียมสำคัญ ที่ผู้นำทุกคนต้องทำสืบเนื่องกันต่อมา
คาร์ลิน คอร์ส แคมป์เบลล์ (Karlyn Kohrs Campbell) และแคทลีน ฮอลล์ เจมิสัน (Kathleen Hall Jamieson) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวาทศิลป์ เคยอธิบายธรรมเนียมการกล่าวสุนทรพจน์แรกเข้าตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า เป็นทั้งพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และการสื่อสารโดยตรงไปยังประชาชน ซึ่งประกอบด้วยสารอันหลากหลาย นับตั้งแต่การกล่าวปลุกใจรวมประเทศเป็นหนึ่ง จนถึงการสะท้อนนโยบายหรือหลักการที่ผู้นำยึดถือในทางการเมือง
ด้วยเหตุนี้ The Momentum จะพาทุกคนไป ‘ถอดรหัส’ บทสุนทรพจน์แรกของผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ เพื่อมองอนาคตของชาวอเมริกันและโลกในอีก 4 ปีข้างหน้าว่า จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของทรัมป์
สุนทรพจน์ที่ยาว แต่ไม่เป็นมิตร
30 นาที คือเวลาที่ทรัมป์กล่าวสุนทรพจน์ในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ โดยมีความยาวเป็นอันดับที่ 16 จากผู้นำทั้งหมดของประเทศ หรือคิดเป็นตัวอักษรคือ 2,885 คำ จาก 1,433 คำในสุนทรพจน์แรกของเขาเมื่อปี 2017
น่าสนใจว่า สุนทรพจน์ของทรัมป์ในครั้งนี้แตกต่างจากผู้นำคนอื่นโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะหากเทียบกับบารัก โอบามา (Barack Obama) ผู้นำสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต (Democratic Party) ที่กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในปี 2009 ด้วยภาษาทางการ แม้มีบางช่วงสะท้อนถึงมายาคติความสูงส่งของอเมริกาเหนือชนชาติอื่น (American Exceptionalism) อย่างแยบยล แต่ก็ยังแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ พร้อมเป็นมิตรกับนานาประเทศและโอบรับทุกความแตกต่าง
ขณะที่ทรัมป์ใช้ภาษาง่ายๆ เข้าถึงทุกคน แม้จะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของประเทศครั้งใหญ่เหมือนกับผู้นำคนอื่น แต่ถ้อยแถลงนั้นเต็มไปด้วยความไม่เป็นมิตรและตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ทั้งกล่าวโจมตีคู่แข่งทางการเมืองหลายครั้ง ใช้ประโยคที่แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ เหนือกว่าประเทศอื่นในโลก ด้อยค่ากลุ่มใดก็ตามที่ไม่ใช่อเมริกันชน รวมถึงมีเนื้อความขัดแย้งกับบางส่วนอย่างเห็นได้ชัด
อเมริกาต้องมาก่อน: ยิ่งใหญ่ แข็งแกร่ง เหนือกว่าที่เคยเป็นมา
ในช่วงเริ่มต้นสุนทรพจน์แรก สิ่งที่เห็นได้ชัดเป็นรูปธรรมจากคำพูดคือ การสานต่อนโยบายอเมริกันต้องมาก่อน (American First) หลังผู้นำสหรัฐฯ ย้ำว่า จะทำให้นานาประเทศอิจฉาสหรัฐฯ ประเทศต้องไม่ถูกด้อยค่าอีกต่อไป และอเมริกาจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง หลังจากเผชิญความล้มเหลวที่ผ่านมา
“อเมริกาต้องยิ่งใหญ่ แข็งแกร่ง และเหนือกว่าที่เคยเป็นมา ผมกลับมาในตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยความมั่นใจและเปี่ยมไปด้วยทัศนคติที่ดีว่า เรากำลังเริ่มต้นศักราชใหม่แห่งความสำเร็จ”
ทรัมป์ย้ำว่า ที่ผ่านมาประเทศเผชิญความบอบช้ำ รัฐบาลกำลังเจอวิกฤตความเชื่อมั่นที่พังทลายมานานหลายปี กลุ่มชนชั้นสูงขูดรีดอำนาจและความร่ำรวยของประชาชน เสาหลักของสังคมพังทลาย โดยที่รัฐบาลปัจจุบัน (ที่นั่งฟังอยู่ด้วย) ล้มเหลวในการจัดปัญหาทั้งหมด และเขาจะขอเป็นฮีโร่อาสาพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตไปเอง
ที่สำคัญผู้นำสหรัฐฯ ยังหยิบยกเหตุการณ์ลอบสังหารในเพนซิลเวเนียขึ้นมาเชิดชูความเป็นผู้นำของตนเอง พร้อมกับย้ำว่า เขานี่แหละคือประธานาธิบดีที่ได้รับภารกิจอันท้าทายในรอบ 250 ปี ตั้งแต่ก่อตั้งประเทศแห่งนี้มา
“นับจากนี้เป็นต้นไป สหรัฐอเมริกาจะเป็นเสรี มีอธิปไตย และเป็นประเทศที่อิสระ เราจะยืนหยัดอย่างกล้าหาญ เราจะคงอยู่อย่างภาคภูมิ เราจะฝันอย่างองอาจ และจะไม่มีอะไรขัดขวางเราได้ เพราะเราคืออเมริกัน อนาคตเป็นของเรา และยุคทองของประเทศได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว” ทรัมป์กล่าวในช่วงท้ายของสุนทรพจน์
สร้างความเป็นหนึ่งเดียว แต่โจมตีใครที่ไม่ใช่อเมริกัน
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งในสุนทรพจน์ของทรัมป์สมัยที่ 2 คือความพยายามสร้างความเป็นหนึ่งเดียวด้วยการสร้างศัตรูร่วมกัน นั่นก็คือ ‘ผู้อพยพ’ และ ‘รัฐบาลชุดก่อน’ เขาย้ำแล้วย้ำอีกว่า ประเทศมาถึงจุดนี้ได้เพราะรัฐบาลไบเดนล้มเหลวในการดูแลคนในประเทศ ส่งเสริมให้ผู้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศ ให้เงินนานาชาติทำสงครามปกป้องพรมแดนประเทศอื่น แต่กลับไม่ใส่ใจพรมแดนของประเทศตนเองที่เผชิญกับภัยคุกคามจากต่างแดน
นอกจากนี้ทรัมป์ยังกล่าวถึงวิกฤตของประเทศอย่างไฟป่าในลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ระบบสุขภาพที่ทำงานไม่ได้เมื่อมีวิกฤต หรือระบบการศึกษาอันล้มเหลวที่ ‘สอน’ ให้เด็กเกลียดชังประเทศตนเอง ซึ่งทั้งหมดมาจากการกระทำของรัฐบาลก่อน
แต่ก็นับว่าแปลกประหลาดไม่น้อย เพราะผู้นำสหรัฐฯ กล่าวขอบคุณพลังเสียงของคนทุกกลุ่มที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนชรา ผู้ชาย ผู้หญิง หรือแม้แต่ชนชาติอื่นๆ คือ ชาวแอฟริกันอเมริกา ชาวฮิสแปนิกอเมริกัน ชาวเอเชียนอเมริกัน ซึ่งอันที่จริงแล้ว ทุกคนต่างมีรากความเป็นผู้อพยพที่ทรัมป์โจมตีและแสดงท่าทีรังเกียจ
ส่องนโยบายสำคัญ: เนรเทศผู้อพยพ ส่งอเมริกันชนไปดาวอังคาร จัดการวิกฤตเศรษฐกิจ อเมริกันมี 2 เพศ และยุติสงคราม (ที่สหรัฐฯ ไม่เกี่ยว)
นโยบายสำคัญของทรัมป์ที่ถูกจับตามองก่อนหน้านี้ อย่างการเนรเทศผู้อพยพครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ การจัดการปัญหาเศรษฐกิจ การกีดกันกลุ่มทรานส์เจนเดอร์ และ LGBTQIA+ รวมถึงการยุติสงครามและความขัดแย้ง กลายเป็นส่วนหนึ่งของบทสุนทรพจน์ในวันนี้อย่างไม่น่าแปลกใจ
ทรัมป์ประเดิมนโยบายเนรเทศผู้อพยพว่า เขาจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินบริเวณชายแดน ซึ่งจะส่งผลให้การเข้าเมืองผิดกฎหมายยุติลง หลังจากนั้นจึงจะเริ่มเนรเทศ ‘อาชญากรคนต่างด้าว’ ออกมาจากประเทศ และรื้อฟื้นกฎหมายปราบปรามต่างด้าว (The Alien Enemies Act of 1798) เพื่อกำจัดภัยคุกคามของประเทศ อีกทั้งยังเตรียมส่งทหารไปทางชายแดนเพื่อปราบปรามปัญหายาเสพติด ควบคู่ไปกับการขึ้นบัญชีดำองค์กรนานาชาติที่สร้างความเดือดร้อนให้กับอเมริกันชน
นอกจากนี้เขายังย้ำว่า ตนในฐานะ ‘ผู้บัญชาการทหารสูงสุด’ จะปกป้องภัยและการรุกรานจากต่างชาติ พร้อมสร้างกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกอีกครั้ง โดยมาตรวัดความสำเร็จของสหรัฐฯ นับจากนี้จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับการชนะในศึกสงคราม โดยเฉพาะสงครามที่สหรัฐฯ ไม่เกี่ยวข้อง ก่อนจะแสดงออกอย่างภาคภูมิใจว่า เขาคือคนที่สร้างสันติภาพและรวมใจคนให้เป็นหนึ่งเดียว
ทั้งนี้ภารกิจแรกที่ทรัมป์จะทำในฐานะผู้นำคือ การนำตัวประกันในตะวันออกกลางกลับบ้าน พร้อมกับย้ำว่า เขาจะเปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโกให้เป็นอ่าวอเมริกัน และทวงคืนคลองปานามากลับสู่ประชาชน จากที่อยู่ใต้อิทธิพลของจีน ขณะที่มีรายงานล่าสุดว่า เขาถอนตัวจากข้อตกลงปารีสด้านสภาพอากาศเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญถึงความพยายามของนานาชาติในการฝ่าวิกฤตภาวะโลกเดือด
สำหรับในประเด็นเศรษฐกิจ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาจะทำในสิ่งที่ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนทำมาก่อนคือ รัฐมนตรีทุกคนต้องใช้อำนาจเพื่อเอาชนะวิกฤตเงินเฟ้อ ขณะที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ซึ่งเป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชน และราคาพลังงานสูงขึ้น
ขณะที่นโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศ ทรัมป์ยืนยันว่า อเมริกาจะมีเพียง 2 เพศเท่านั้น คือชายจริงหญิงแท้ โดยล่าสุดรัฐบาลกลางเตรียมออกนโยบายยกเลิกการระบุอัตลักษณ์ทางเพศว่า X บนพาสปอร์ต ซึ่งอ้างว่าเป็นการปกป้องแนวคิดสุดโต่งทางเพศ และเพศกำเนิดชายหญิงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
และนโยบายสุดท้ายที่สุดเซอร์ไพรส์กับใครหลายคนคือ การส่งคนอเมริกันไปปักธงที่ดาวอังคาร ทรัมป์กล่าวว่า เขาจะขยายอาณาเขต สร้างเมืองใหม่ ไล่ตามโชคชะตา และมุ่งหมายสู่อวกาศ โดยนักอวกาศชาวอเมริกันจะเป็นผู้ที่เหยียบพื้นแผ่นดินและปักธงชาติบนดาวอังคารได้สำเร็จ ขณะที่กล้องแพนไปทาง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) คนสนิทของทรัมป์และเจ้าของธุรกิจอวกาศอย่าง Space X ที่กำลังยิ้มอย่างชื่นมื่นและปรบมือหัวเราะชอบใจ
อ้างอิง
https://www.cbsnews.com/news/transcript-trump-inauguration-speech-2025/
https://www.si.edu/stories/brief-history-presidential-inaugural-speeches
https://time.com/7208545/donald-trump-inauguration-speech/
https://www.npr.org/2025/01/20/g-s1-43853/trump-inauguration-speech-length-comparison
https://www.bbc.com/news/articles/cj02zmj59r5o
Tags: Inauguration Day, Donald Trump, สหรัฐอเมริกา, โดนัลด์ ทรัมป์, สหรัฐฯ, เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา, Analysis, The Momentum ANALYSIS, เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024, พิธีสาบานตน