เกมทั้งหมดที่ดูซับซ้อนเริ่มคลี่ให้เห็นชัดขึ้น เมื่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภารวม 395 เสียง ต่อ 312 เสียง ไม่เห็นด้วยให้เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นรอบที่สอง

395 เสียง แบ่งออกเป็น ส.ส.เสียงข้างน้อย 188 คน ส่วนอีก 207 เสียง มาจาก ส.ว. ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยคาดว่า ‘งดออกเสียง’ และอีกจำนวนไม่น้อยไม่ได้มาประชุม สะท้อนให้เห็นการผนึกกำลังกันแน่นของฝั่งเสียงข้างน้อย และฝั่ง ส.ว.

เป็นห้วงเวลาวันเดียวกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พิธายุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว ด้วยสาเหตุเพราะถือหุ้น ‘ไอทีวี’

ไม่ว่าใครเป็นผู้กำกับหนังเรื่องนี้ เป็นฉากอันโหดร้ายที่ตั้งใจทำให้เห็นว่า ใครก็ตามที่ดูเป็นภัยอันตราย หรือขวางทาง ‘พวกเขา’ ต้องเจอจุดจบแบบนี้ แบบเดียวกับที่พิธาเจอ ไม่ว่าจะได้รับความนิยม 14 ล้านเสียง มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ หรือในทางจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ที่มากที่สุดถึง 151 ที่นั่ง หรือไม่ก็ตาม

คำถามก็คือ แล้วจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?

แน่นอนว่า สิ่งที่จะเกิดคือพรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแทน สัญญาณจาก ส.ว.บางคนและจากพรรคเสียงข้างน้อย ต่างก็เริ่มเดินเกมแล้วว่า หากมี ‘พรรคก้าวไกล’ ร่วมรัฐบาล พวกเขาก็จะยังไม่โหวตให้นายกฯ จากพรรคเพื่อไทย

อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บอกว่า ขอไม่ร่วมงานกับพรรคก้าวไกล วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา บอกว่า จะไม่ร่วมงานกับพรรคก้าวไกล กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ประกาศจะไม่โหวตให้ หากพรรคก้าวไกลยังร่วมรัฐบาล

ความเป็นไปได้ก็คือ ส.ว.และพรรคเสียงข้างน้อย ซึ่งรวมกันจะมีเสียงเกือบ 420 เสียง จะเดินเกม ‘บีบ’ พรรคเพื่อไทยให้สลัดพรรคก้าวไกลออก โดยใช้นโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นข้ออ้าง พร้อมกันนี้ กระบวนการ ‘นิติสงคราม’ จะเดินควบคู่ไปด้วย เพื่อส่งก้าวไกลให้หลังชนฝา

พรรคเสียงข้างน้อย และ ส.ว.จะใช้แรงอย่างสุดความสามารถเพื่อบีบพรรคเพื่อไทยให้เอาพรรคตัวเองเข้าร่วมรัฐบาล แล้วหวังจะได้กระทรวงดีๆ เพื่อให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเดินต่อได้ จึงไม่แปลกที่ขณะนี้มีข่าวหลุดว่า บางพรรคจองกระทรวงมหาดไทย บางพรรคจองกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บางพรรคจองกระทรวงคมนาคม ด้วยความที่พรรคเพื่อไทยมีเสียงเพียง 141 เสียง จึงไม่อาจทัดทานแรงต่อรองเหล่านี้ได้

เพราะฉะนั้น เรื่องวุ่นวายทั้งหมดในการเมืองไทยขณะนี้ มีเหตุผลอันนอกเหนือจาก ‘เขา’ ไม่อยากให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาลแล้ว ‘เขา’ ยังต้องการให้พรรคพวกของเขาได้เป็นรัฐบาล ไม่ต้องการให้พรรคพวกของเขาเป็นฝ่ายค้าน เพราะเป็นฝ่ายค้านในการเมืองไทยนั้น ‘อดอยากปากแห้ง’

เมื่อพรรคเพื่อไทยเกิดความจำเป็นต้องเขี่ยพรรคก้าวไกลออกไป พรรคเพื่อไทยจะโดนบีบอย่างสมบูรณ์แบบจากว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลจากขั้วเดิม ซ้ำยังอาจโดนบีบจาก ส.ว.บางส่วน และ ‘กลุ่มทุน’ บางส่วน ให้ดำเนินนโยบายตามสั่ง เว้นเพียงแต่ว่า พรรคเพื่อไทยจะ ‘ดีล’ กับพรรคฝ่ายตรงข้ามไว้แล้ว และดีลลงตัว ไม่มีใครหักดีลอีก

แต่ถึงอย่างไร ความเป็นไปได้สูงก็คือ นายกฯ คนต่อไปจะดำรงตนด้วยความกดดัน รัฐบาลจากนี้จะอายุไม่ยืนยาวนัก คณะรัฐมนตรีชุดต่อไปก็จะไม่สมบูรณ์เพียบพร้อม ด้วยแรงกดดันของทุกฝ่ายที่กีดกันพรรคก้าวไกลออกไป แล้วดันคนของตัวเองเข้ามา การเมืองไทยกลับสู่สถานะเบี้ยหัวแตก

ทั้งหมดคือซากอารยธรรมที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทิ้งไว้ ทั้งหมดคือซากจากระบอบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยังปกคลุมอยู่ และสามารถหยิบมาใช้ได้เรื่อยๆ ไม่ว่าผู้นำคนต่อไปจะชื่อ เศรษฐา ทวีสิน หรือแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งถึงที่สุดก็จะกลายเป็น ‘สิ่งแปลกปลอม’ ในสายตาของพวกเขา ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะพร้อมดีลขนาดไหน หรือพร้อมแลกด้วยอะไร

สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องเรียนรู้ก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับพิธาวันนี้ อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐาในอนาคตเมื่อใดก็ได้ และเวลานั้นอาจเร็วกว่าที่คิด

เมื่อถึงเวลานั้น ผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม จะไม่มีความหมายแม้แต่น้อย ชัยชนะของประชาชนจะเป็นเพียงชัยชนะในวันเลือกตั้งเท่านั้น

และจากนั้น การเมืองไทยจะเข้าสู่จุดที่กู่ไม่กลับ ถลำลึกลงไปยิ่งกว่าเดิม

Tags: , , ,