เช้าวันนี้ (11 กันยายน 2566) ‘รัฐบาลสลายขั้ว’ นำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา หลายนโยบายผุดขึ้น ท่ามกลางข้อวิจารณ์ว่า ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีความชัดเจน ไม่มีตัวชี้วัด แต่ในขณะเดียวกัน หลากนโยบายกลับหายไปในเวอร์ชันล่าสุด และแทบทั้งหมด ที่หายไปล้วนเป็นนโยบาย ‘ไฮไลต์’ ของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท การการันตีรายได้ขั้นต่ำของครัวเรือนอยู่ที่ 2 หมื่นบาทต่อเดือน ไปจนถึงการสร้างกฎหมายป้องกันกลไกการ ‘รัฐประหาร’ ย้ำจุดยืน ‘ประชาธิปไตย’ ของพรรคเพื่อไทย

คำถามก็คือ แล้วเหตุผลสำคัญที่นโยบายเหล่านี้ถูกหั่นเป็นเพราะเหตุใด เป็นเพราะงบประมาณไม่เพียงพอ เป็นเพราะรัฐบาลผสมข้ามขั้ว พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีอำนาจเต็มในการจัดการกระทรวงสำคัญ หรือเป็นเพราะหัวหน้าคณะรัฐบาลเรียนรู้แล้วว่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ

ก่อนที่เรื่องทั้งหมดจะถูกคลี่คลาย (หรือไม่ถูกคลี่คลาย) วันนี้ The Momentum ชวนทุกท่านมาสำรวจในเช็กลิสต์ว่า ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภายังเหลืออะไรอยู่บ้าง แล้วนโยบายไหนที่ขาดหายไปจากสิ่งที่เคยหาเสียงไว้เมื่อตอนก่อนเลือกตั้ง

นโยบายที่ ‘ยังอยู่’

1. Digital Wallet 10,000 บาท

เป็นนโยบายที่อยู่ใน ‘กรอบระยะสั้น’ ของรัฐบาลในการดำเนินงาน ซึ่งหมายความว่าจะเป็นนโยบายที่ทำเป็นอย่างแรกๆ 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ดิจิทัลวอลเล็ตนี้จะทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง และกระจายไปยังทุกพื้นที่เพื่อให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี

กระนั้นเอง ด้วยความที่เป็นนโยบายที่มีรายละเอียดมากที่สุด ก็กลายเป็น ‘เป้า’ หนักที่สุด ทั้งเรื่องแหล่งที่มาของงบประมาณ ที่คาดว่าจะใช้มากกว่า 5.6 แสนล้านบาท รวมถึงการเลือกระบบ ‘บล็อกเชน’ ในการจ่ายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากยังมองไม่เห็นภาพในแง่การปฏิบัติ

 

2. 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์

รัฐบาลจะส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม

แต่ว่าในเชิงรายละเอียดอย่างการจะนำสิ่งเหล่านี้มายกระดับทักษะคนไทย ให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 2 แสนบาทต่อปี และสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง ไม่ได้กล่าวไว้ในการแถลง

 

3. ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

นโยบายชื่อย้อนยุคนี้ตั้งใจว่า จะเป็นจุดเปลี่ยนของการจัดการราคาสินค้าเกษตร หลังจากพรรคเพื่อไทยเคยมีแผลครั้งใหญ่จากโครงการรับจำนำข้าว จนในครั้งนี้ เศรษฐาประกาศว่า ทั้งการรับจำนำและรับประกันราคาสินค้าเกษตรจะไม่เกิดขึ้นอีก

‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม’ เป็นความหวังในการหาตลาดสินค้าใหม่ๆ รวมถึงแปรรูปสินค้าภาคการเกษตร เพื่อช่วยให้ราคาผลผลิตสูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคการเกษตรควบคู่ไปด้วยกัน 

ข้อสำคัญก็คือในวันนี้ วันที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้อยู่ในกระทรวงหลักของพรรคเพื่อไทย แต่กลับอยู่ในมือของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า นโยบายดังกล่าวจะถูกนำไปผลักดันมากน้อยแค่ไหน หรือ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ จะอยู่เฉพาะในพื้นที่ของพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น ยังเป็นเรื่องที่รอการพิสูจน์ต่อไป

นโยบายที่ ‘หายไป’

1. รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย

จากคำแถลงนโยบายของเศรษฐาเมื่อเช้านี้ กล่าวว่า รัฐบาลจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ ทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เพื่อเปิดประตูค้าขายและเปิด

โอกาสของประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ปรากฏการกล่าวถึงนโยบาย ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ ที่พรรคเพื่อไทยชูนำมาโดยตลอดว่าเป็นเรื่องที่ ‘ทำได้’ และเศรษฐาเคยบอกว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องจัดการภายใน 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เป็นนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ยืนยันว่าสามารถทำได้ โดยจะใช้ระยะเวลาราว 2 ปี แต่ขณะนี้ ยังคงไม่ได้ระบุว่าจะทำช่วงไหนอย่างไร

 

2. ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ในการแสดงวิสัยทัศน์งาน ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน’ แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ณ ขณะนั้น กล่าวว่า

“ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ณ ขณะนี้ คือการ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ คนที่ได้ผลประโยชน์มีแค่เพียงคนกลุ่มเล็กบนยอดสามเหลี่ยมพีระมิด ความรวยกระจุกตัวอยู่แค่ส่วนบนเท่านั้น ฐานรากที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยังได้รับความเดือดร้อน เพื่อไทยจึงต้องคิดใหญ่ เพื่อให้เศรษฐกิจของทั้งประเทศเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกัน เราไม่ได้บอกว่าเราจะเอางบประมาณมาใช้ นี่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจภาพรวมที่เราจะทำให้เศรษฐกิจของทั้งประเทศดีขึ้น เพื่อที่จะทำให้ประเทศของเราลดความเหลื่อมล้ำลง”

แพทองธารกล่าวอีกว่า ปัญหาการรวยกระจุก จนกระจาย เกิดขึ้นเพราะคนไทยซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานยังไม่ได้รับเกียรติ ไม่ได้รับศักดิ์ศรีเพียงพอ เมื่อเทียบกับบางประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำวันละ 1,800 บาท แต่ภาพรวมทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศปรับตัวดีขึ้นทั้งหมด เมื่อแรงงานมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จะสามารถจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ทำให้ภาพรวมทั้งประเทศปรับตัวดีขึ้นด้วย

“การเติบโตของเศรษฐกิจในแนวทางของพรรคเพื่อไทย คือต้องการให้ทั้งประเทศ คนทุกชนชั้น ทุกระบบ เติบโตได้ทุกโอกาส สามารถออกมาใช้ชีวิตจับจ่ายใช้สอยดูแลครอบครัวของตัวเองได้ การคิดเล็กไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดเพื่อไทยทุกคน

“เราต้องเป็นทุนนิยมที่มีหัวใจ ค่าแรงต้องปรับขึ้นเมื่อเศรษฐกิจทั้งประเทศพร้อม วันนี้ค่าแรงยังไม่สามารถปรับขึ้นเป็น 600 บาท เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี แต่เมื่อเศรษฐกิจดีแล้ว จีดีพีจะเติบโตที่ 5% ปีแรกอาจสูงกว่าหรือปีต่อมาอาจลดน้อยลงตามเลขเฉลี่ยแต่ละปี แต่ทั้งหมดนี้คือหัวใจหลัก”

อย่างไรก็ตาม ‘ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท’ เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ไม่ปรากฏในคำแถลง มีเพียงพูดถึงสั้นๆ ในนโยบาย ‘ตลาดนำ นวัตกรรมส่งเสริม เพิ่มรายได้’ ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการสร้างรายได้รูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างชีวิตของคนไทยให้มีเกียรติ มีเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม สอดคล้องและเพียงพอต่อปัจจัยด้านการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี แต่ไม่ได้บอกว่าจะเพิ่มเท่าใด

 

3. เงินเดือนปริญญาตรี 2.5 หมื่นบาท

จากข้อมูลของเว็บไซต์พรรคเพื่อไทย ย้อนกลับในงาน ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน’ วันที่ 6 ธันวาคม 2566 จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท พ่วงมาด้วยเงินเดือนวุฒิปริญญาตรี 2.5 หมื่นบาทว่า สามารถทำได้จริงหรือเป็นเพียงแค่นโยบายขายฝัน 

แพทองธารระบุว่า เงินเดือนปริญญาตรี 2.5 หมื่นบาท เป็นหนึ่งในนโยบายแพ็กเกจว่าด้วยการเพิ่ม ‘ศักดิ์ศรี’ ให้กับคนไทย เสริมจากเรื่องค่าแรงขั้นต่ำและการสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง

แต่ก็เช่นเดียวกับข้อก่อนหน้า มีการระบุในแถลงนโยบายเพียงแค่ ‘มีเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม’ ไม่มีการระบุเพิ่มว่าจะปรับฐานเงินเดือนใดๆ ตามนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยในเรื่องเศรษฐกิจที่หาเสียงมา

 

4. รายได้ทุกครัวเรือนไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท 

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ยิมเนเซียม 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แพทองธารเปิดตัวอีก 3 นโยบาย โดยมีหนึ่งในนโยบายบอกว่า ต้องการลดช่องว่างรายได้คนไทยที่ต้องทำทันที คือการเพิ่มรายได้ให้ทุกครอบครัวมีรายได้ขั้นต่ำ 2 หมื่นบาทต่อเดือน โดยจะเติมเงินนี้ให้ระยะชั่วคราวจนกว่านโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจะทำสำเร็จ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ ทุกคนมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และมีรายได้ที่สูงมากกว่าอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น

สำหรับในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลมีการระบุเพียงว่า ‘รายได้เพิ่มขึ้น’ และ ‘พอเพียงต่อการเลี้ยงชีพ’ แต่ไม่ได้บอกว่าจะ ‘เพิ่มขึ้น’ ในราคาเท่าใดและด้วยวิธีใด

มีระบุเพียงว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะ ‘หนี้ครัวเรือน’ ที่สูงกว่า 90% ของค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ตลอดจนระดับของหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่าร้อยละ 61 ซึ่งมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงแต่เพียงเท่านั้น

 

5. ผุดกฎหมาย ‘ต้านรัฐประหาร’

สำหรับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีระบุอยู่แค่เพียงจุดเดียวในแถลง จากที่ก่อนหน้านี้ ชัยเกษม นิติสิริ หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการรัฐประหาร เป็นหนึ่งในหนทางสร้างประชาธิปไตยในระยะยาว

สิ่งที่ชัยเกษมระบุก็คือ การรัฐประหารถือเป็น ‘กบฏ’ ผู้นำคณะรัฐประหารมิอาจดำรงสถานะเป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’ ด้วยมีเป้าหมายสูงสุดก็คือ ประเทศไทยต้องไม่เผชิญกับการรัฐประหารอีก

อย่างไรก็ตาม นโยบายรัฐบาลกลับกล่าวกว้างๆ ว่า เป็นการแก้ไข ‘ปัญหาความเห็นต่าง’ ในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์

ทั้งหมดทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะเพื่อไทยเกิดสร้าง ‘รัฐบาลผสม’ ข้ามขั้ว ทำให้โทนในการต้านรัฐประหาร และดีกรีความเป็นประชาธิปไตยของพรรค ค่อยๆ หายไปหรือไม่ เพื่อ ‘ประนีประนอม’ กับกลุ่มอำนาจเดิม

 

6. เลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดนำร่อง

กระแสเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมาแรงมากในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้พรรคเพื่อไทยต้องหยิบยกมาเพื่อใช้หาเสียง ให้บางจังหวัดเริ่ม ‘จัดการตัวเอง’ ผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงนโยบายวันนี้ เศรษฐาระบุเพียงว่า จะใช้การบริหารในรูปแบบของการกระจายอำนาจ หรือ ‘ผู้ว่าฯ CEO’ เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานแต่ละจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

และการเลือกตัวแทนของผู้บริหารที่จะเป็นตัวแทนการพัฒนาท้องถิ่น จะช่วยให้เกิดการกระจายทรัพยากร และกระจายอำนาจการบริหารจัดการไปสู่ชุมชน

ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พูดถึงเรื่องดังกล่าวว่า ‘ไม่ได้อยู่ในนโยบายพรรคภูมิใจไทย’ ซึ่งอาจเท่ากับว่า ‘ปิดประตู’ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ 

เท่ากับว่ากลไกผู้ว่าฯ ยังเป็นแขนขาสำคัญของกระทรวงมหาดไทยต่อไป และพรรคใดก็ตามที่คุมกระทรวงมหาดไทย ย่อมคุมทั้งผู้ว่าฯ ลงไปถึงนายอำเภอ และไปถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน

และการกระจายอำนาจ คงจะเลือนรางมากขึ้นเรื่อยๆ

 

Tags: , , , , ,