“ฉันไม่ต้องการให้ผู้จัดการพูดอะไรที่ไม่ดีเกี่ยวกับฉัน เพียงเพราะฉันหยุดงาน บางครั้งการยอมทำงานต่อไปจึงง่ายกว่าการถูกพูดถึงในทางที่ไม่ดีหรือโดนดุด่า” ฮิเดยูกิ (Hideyuki) วิศวกรวัย 30 ปีคนหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยประสบการณ์ ‘การลาหยุด’ ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซี (BBC) ว่า เขาใช้วันลาพักร้อนเพียง 2 วัน จากสิทธิทั้งหมด 20 วัน เพราะกลัวการถูกดุด่าจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อน ‘ความบ้างาน’ หรือที่เรียกกันติดปากเล่นๆ อย่าง ‘Work ไร้ Balance’ ของชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จาก ‘วันหยุด’ ที่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ หรือภาพของผู้คนที่นั่งรถไฟเที่ยวสุดท้ายเพื่อกลับบ้านในยามค่ำคืน รวมถึงคำศัพท์ที่ใครหลายคนน่าจะเคยได้ยินอย่าง คาโรชิ (Karochi) หมายถึงการทำงานจนตัวตาย ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 1970
เช่นเดียวกับการจากไปของ ชินโก ทาคาชิมะ (Shingo Takashima) แพทย์ประจำในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผู้ตัดสินใจปลิดชีพตนเองในเดือนพฤษภาคม 2022 เพราะไม่สามารถทนกับการทำงานล่วงเวลามากกว่า 200 ชั่วโมงใน 1 เดือน
“ผมได้แต่คิดถึงพ่อและแม่ โดยพยายามที่จะไม่ทำแบบนั้น แต่ผมทนต่อไปไม่ไหวแล้ว” ส่วนหนึ่งของจดหมายร่ำลาจากทาคาชิมะ
ขณะที่ จุนโกะ ทาคาชิมะ (Junko Takashima) มารดาของแพทย์ผู้ล่วงลับ แสดงความรู้สึกกับบีบีซีถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า
“ไม่มีใครเหลียวแลผมเลย เขาบอกกับฉันแบบนี้ ฉันคิดว่าสภาพแวดล้อมมันทำให้เขาจนตรอก ลูกชายของฉันเป็นหมอที่ใจดีหรือแม้แต่ช่วยคนไข้และสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมไม่ได้เลย”
“อย่างไรก็ตาม ฉันหวังว่า สภาพแวดล้อมการทำงานของแพทย์จะดียิ่งขึ้น เพื่อที่เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่ซ้ำรอยอีกในอนาคต”
ทางด้านศูนย์การแพทย์โคนัน (Konan Medical Center) ได้ออกมาแถลงการณ์ปฏิเสธข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า ‘ไม่มีการบังคับให้ทำงานล่วงเวลา’ และเวลาของการทำงานทั้งหมดยังรวมถึงการพักผ่อนและการเรียนรู้เพิ่มเติม จึงยากที่จะระบุจำนวนเวลาการทำงานได้อย่างแน่ชัด โดยอ้างว่า การดูแลคนไข้ 6-7 คน และการเตรียมการนำเสนอผลงาน ไม่ใช่ภาระที่โรงพยาบาลสั่งทาคาชิมะ
อันที่จริง ชินโก ทาคาชิมะ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของยอดภูเขาน้ำแข็งแห่งความตายจากการทำงานหนักในสังคมญี่ปุ่นทั้งหมด เพราะแม้จะมีการแก้ไขกฎหมายแรงงานในปี 2018 เพื่อป้องกันปัญหาข้างต้น แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น เมื่ออัตราการทำงานล่วงเวลาในประเทศยังคงผันผวน โดยมีสาเหตุจากช่องว่างทางกฎหมายและวัฒนธรรมการทำงานที่ฝังรากลึกในหมู่ผู้อาวุโสและผู้มีอำนาจในสถานที่ทำงาน
The Momentum พาทุกคนสัมผัสโลกอีกใบของสังคมญี่ปุ่น เมื่อการทำงานหนักแบบ ‘Work ไร้ Balance’ และความตายจากการทำงานเป็นเรื่องปกติ อีกทั้งสภาวะดังกล่าวยังถูกซ้ำเติมจากวัฒนธรรมเป็นพิษและระบบอาวุโสในการทำงาน
บูชิโด: วัฒนธรรมทำงานหนักจนตัวตายเป็นพิษที่ฝังรากลึกในสังคมญี่ปุ่น
วัฒนธรรมทำงานหนักจนตัวตายมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ยุคเอโดะ (Edo) จากแนวคิด ‘บูชิโด’ (Bushido) ในกลุ่มซามูไร ว่าด้วยการเคารพเชื่อฟัง ความจงภักดี รวมถึงความกล้าหาญ ไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใด แม้แต่ความตาย โดยเชื่อว่าความตายไม่ใช่จุดจบอันชั่วร้ายเสมอไป แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำเพื่อรักษาเกียรติยศ
วิธีคิดดังกล่าวกลายเป็นวิถีปฏิบัติของสังคมญี่ปุ่นในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อในเรื่องการมีระเบียบวินัย การมีเกียรติยศศักดิ์ศรี ความสุภาพเรียบร้อย ความกลมเกลียวในสังคม รวมถึงการทำงานหนักเพื่อบรรลุเป้าหมาย
จนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แนวคิดบูชิโดเลือนหายไปในเวลาดังกล่าว เพราะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า แนวทางปฏิบัตินี้สร้างความวิบัติครั้งใหญ่ต่อชนชาติญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการพลีชีวิตของกลุ่มทหารในสงคราม หรือความเชื่อมโยงกับแนวคิดชาตินิยมที่พรากชีวิตและความสุขของประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ตาม บูชิโดกลับมาเป็นค่านิยมหลักของประเทศอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1970 และถูกผลิตซ้ำว่า ทุกคนต้องพยายามเพื่อประสบความสำเร็จ ต้องทำงานอย่างพิถีพิถัน ขยันหมั่นเพียร และอุทิศตัวต่องาน นายจ้าง รวมถึงประเทศ
ปรากฏการณ์นี้สะท้อนผ่านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่บทบาทระหว่างประเทศของญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับอีกครั้ง จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งชาติมหาอำนาจ และไม่เหลือเค้าเดิมของชาติที่แพ้สงครามเลยสักนิด
ทว่าความเชื่อที่ล้นเกินจนถึงขีดสุดย่อมก่อให้เกิดปัญหาตามมา เมื่อการทำงานหนักจนเกินขีดจำกัดของร่างกาย ส่งผลให้เกิดการล้มป่วยหรือการเสียชีวิต อีกทั้งอัตราการฆ่าตัวตายก็เพิ่มขึ้น เพราะหลายคนไม่สามารถทนต่อแรงกดดันของสังคมได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยระบบอาวุโสและความกลมเกลียวในสังคม อันมีวิถีประชาบางอย่างที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม เพื่อการเข้าสังคม และโอกาสความสำเร็จในหน้าที่การงาน เช่น การทำงานจนกว่าเจ้านายจะกลับบ้าน รวมถึงการตอบตกลงในคำชวนร่วมดื่มกับเพื่อนร่วมงาน
เมื่อวัฒนธรรมเป็นพิษฝังลึกในหมู่ผู้อาวุโส ลำพังการแก้ไขกฎหมายจึงไม่เพียงพอ
ในปี 2018 รัฐบาลของชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party: LDP) พยายามหาหนทางแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อเยียวยาความเป็นพิษของวัฒนธรรมการทำงานสุดโต่ง โดยมีเนื้อหาสรุปดังต่อไปนี้
1.พนักงานจะต้องได้รับเงินเดือนที่เท่ากัน ในกรณีที่ภาระงานเหมือนกัน เพื่อขจัดช่องว่างค่าจ้างระหว่างพนักงานประจำกับลูกจ้างชั่วคราว
2.การทำงานล่วงเวลาจะถูกจำกัดเพียง 100 ชั่วโมงต่อเดือน และ 720 ชั่วโมงต่อปี โดยข้อกำหนดนี้มีผลบังคับใช้สำหรับบริษัทใหญ่ในปี 2019 และบริษัทขนาดเล็กกับกลางในปี 2020
3.กลุ่มพนักงานบริษัทที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 10.75 ล้านเยน (ประมาณ 3,434,438 บาท) รวมถึงนายธนาคาร ที่ปรึกษา และนักวิจัย จะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานล่วงเวลา เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสใช้เวลาว่างมากขึ้น
ทว่ากฎหมายฉบับนี้มีช่องโหว่บางอย่าง เมื่อมีกฎยกเว้นสำหรับ ‘เดือนพิเศษ’ ให้สามารถทำงานเกิน 100 ชั่วโมงได้ โดยนายจ้างเป็นผู้พิจารณา ขณะที่บันทึกจำนวนชั่วโมงการทำงานก็ไร้ขาดประสิทธิภาพ เพราะมีเพียงพนักงาน 3,300 คน ทำหน้าที่เก็บสถิติบริษัท 6 ล้านแห่งในประเทศ อีกทั้งยังไม่มีบทลงโทษสำหรับบริษัทที่ละเมิดกฎหมายอย่างชัดเจน
“มันเหมือนรัฐบาลกำลังบอกว่า ถ้าคุณทำสิ่งนี้ คุณจะตายนะ แต่เราก็ให้คุณทำได้” มาโกโต อิวาฮาชิ (Makoto Iwahashi) สมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหวสิทธิแรงงาน และเหยื่อของครอบครัวที่เผชิญกับสภาวะคาโรชิ กล่าว
“บุคคลในกลุ่มคาโรชิ สิ่งที่พวกเขามีเหมือนกัน คือชั่วโมงการทำงานจริงไม่ถูกเก็บข้อมูล” สก็อตต์ นอร์ธ (Scott North) ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยโอซากา (Osaka University) แสดงความคิดเห็นจากประสบการณ์การศึกษาเรื่องราวของคนกลุ่มนี้มา 30 ปี
นอกจากนั้น ช่องโหว่ดังกล่าวถูกซ้ำเติมจากความเชื่อของคนรุ่นเก่าหรือผู้อาวุโสในที่ทำงาน เมื่อการทำถูกต้องตามกฎหมายไม่ถูกใจสำหรับผู้มีอำนาจ
ดังเรื่องราวของฮิเดยูกิในข้างต้น เขาต้องเผชิญกับสภาวะกลัวการลางาน แม้ว่าจะมีความจำเป็นบางอย่าง เพราะรู้สึกผิดและกดดันกับสังคมรอบตัวที่พร้อมปฏิบัติกับเขาในแง่ลบ หรือไม่ได้รับความสำเร็จอย่างการเลื่อนตำแหน่ง เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น หาก ‘สร้างภาระ’ ด้วยการลางาน
“บริษัทของเรามีพนักงานประมาณ 30 คน เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งลางานเป็นเวลานานแล้ว เพราะเขามีอาการป่วยทางจิต ตอนนี้เรากำลังขาดแคลนพนักงาน ดังนั้น หากคนหนึ่งหยุดงานหนึ่งวัน มันจะเป็นภาระของพนักงานอีกคน
“เพราะไม่มีใครขอหยุดงาน ผมจึงไม่สามารถกลายเป็นคนเดียวที่ขอหยุดงานได้” ฮิเดยูกิแสดงความคิดเห็นกับบีบีซีถึงสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในที่ทำงาน ขณะที่ ซายากะ (Sayaka) ภรรยาของฮิเดยูกิเผยว่า ต่อให้สามีของเธอป่วยแค่ไหน เขาก็ไม่เคยคิดจะลางานเลย
เหตุการณ์นี้สะท้อนได้จากผลสำรวจการลาพักร้อนของเว็บไซต์เอ็กซ์พีเดีย (Expedia) ในปี 2018 บีบีซีเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมีคะแนนในการลาพักร้อนต่ำสุดในบรรดา 19 ประเทศทั่วโลก เมื่อค่าเฉลี่ยการลาพักร้อนอยู่ที่ 10 จาก 20 วัน โดย 43% เผยว่า นายจ้างสนับสนุนให้พวกเขาลางาน ขณะที่ 58% แสดงความคิดเห็นว่า ไม่กล้าลางาน เพราะรู้สึกผิด
สังคมญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนแปลงจริงหรือ?: วัฒนธรรมเป็นพิษและการปะทะทางความคิดระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่
แม้ความเชื่อการทำงานหนักจนตัวตายจะฝังรากลึกในสังคมญี่ปุ่น ทว่าก็มีพยายามเปลี่ยนแปลงความเชื่อดังกล่าว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ โดยสถิติของเอ็กซ์พีเดียเผยว่า 62% ในกลุ่มวัย 18-34 ปี ต้องการวันหยุดพักร้อนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้างาน
ขณะเดียวกัน หน่วยงานในสังคมญี่ปุ่นก็มีแนวคิดที่เชื่อถึงการพักผ่อนที่เพิ่มขึ้น เมื่อเกิดบริษัทที่ชื่อว่า ‘Work Life Balance’ โดย โยชิเอะ โคมูโระ (Yoshie Komuro) ซึ่งเป็นสำนักงานปรึกษาเพื่อช่วยเหลือบริษัทในการบริหารเวลาว่างและภาระงาน
“เมื่อเราเจาะลึกลงไป มันไม่ใช่ว่าพวกเขามีพนักงานไม่เพียงพอ แต่พวกเขาไม่ช่วยเหลือกันต่างหาก เพราะพวกเขาไม่คุ้นชินกับการทำสิ่งเหล่านี้ และถูกสอนมาอีกแบบ
“เราทำงานมากกว่า 1,000 องค์กรในญี่ปุ่น และพนักงานหลายคนเริ่มคุ้นเคยกับวิธีการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวก การบอกเล่าเรื่องราว ช่วยเหลือกันในทีม และพยายามย้ำเตือนว่า การลาหยุดของใครสักคนจะไม่กระทบต่อการประเมินผลในแง่ลบ นั่นจึงทำให้พวกเขาเริ่มหยุดงานกันบ้าง” โคมูโระเล่าและเสริมว่า การทำงานในสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง ส่งผลให้พนักงานสบายใจในการพูดคุยวิธีการทำงาน และผลที่ได้คือ การทำงานล่วงเวลาลดลง 15% ขณะที่การลาพักร้อนเพิ่ม 61%
นอกจากนั้น โคมูโระยังพูดถึงการแก้ไขกฎหมายแรงงานในยุคอาเบะว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะต้นตอของปัญหาที่แท้จริงต้องได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอัตราเกิดของประชากร การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร รวมถึงการสร้างระบบแรงงานที่เอื้อต่อผู้หญิงและผู้สูงอายุ
“สังคมญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงนั่นก็ไม่ง่ายดายเท่าไร” โคมูโระแสดงความเห็นในปี 2020 ซึ่งยังคงเป็นคำตอบของสังคมญี่ปุ่นต่อสภาวะการทำงานหนักในปัจจุบัน
อ้างอิง
https://www.bbc.com/worklife/article/20190718-karoshi
https://www.ucanews.com/news/japans-toxic-culture-of-working-long-hours/98199
https://www.japantimes.co.jp/culture/2016/07/23/books/bushido-samurai-code-goes-war/
https://studybreaks.com/thoughts/japan-work-culture/
https://asia.nikkei.com/Economy/Five-things-to-know-about-Japan-s-work-reform-law
https://www.wired.co.uk/article/karoshi-japan-overwork-culture
https://www3.nhk.or.jp/news/html/20230818/k10014166761000.html