วันที่ 16 มิถุนายน 2023 รัฐสภาญี่ปุ่นผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศใหม่ ตั้งแต่แก้นิยามของคำว่าข่มขืนให้ครอบคลุมขึ้น ห้ามการแอบถ่ายภาพอนาจาร และปรับอายุที่สามารถยินยอมมีเพศสัมพันธ์ได้ (Age of Consent) จาก 13 ปีเป็น 16 ปี กฎหมายใหม่ชุดนี้เป็นผลพวงมาจากการเคลื่อนไหวของ Flower Demo กลุ่มต่อต้านอาชญากรรมทางเพศ ที่เริ่มต่อสู้อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เดือนเมษายน 2019 

แต่เดิม ญี่ปุ่นออกกฎหมายเกี่ยวกับ Age of Consent ครั้งแรกเมื่อปี 1907 โดยกำหนดไว้ที่ 13 ปี และไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยนับจากนั้น กฎหมายใหม่ชุดนี้จึงนับเป็นพัฒนาการครั้งยิ่งใหญ่ ผู้หญิงหลายคนหวังว่าจะนำไปสู่อาชญากรรมทางเพศที่ลดลง โดยเฉพาะอาชญากรรมต่อผู้เยาว์

อย่างไรก็ดี หากผู้อ่านท่านใดติดตามอนิเมะญี่ปุ่น คงเคยพบศัพท์เฉพาะอย่าง ‘โลลิคอน’ ผ่านหูผ่านตามาบ้าง อาจเคยเห็นภาพปกไลต์โนเวลบางเรื่อง นำเสนอตัวละครที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะแบบล่อแหลม และเมื่อย้อนพิจารณาวิวัฒนาการสื่อญี่ปุ่นจะพบว่า สื่อที่หยิบยกภาพเด็กมาเล่นในเชิงนี้มีมานานหลายสิบปี ชวนให้ตั้งคำถามว่า สื่อบันเทิงส่งผลกระทบต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน สื่อจำพวก ‘โลลิคอน’ มีส่วนหล่อหลอมการล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ ให้กลายเป็นเรื่องปกติในสายตาคนหรือไม่ 

ด้วยเหตุนี้ การแก้กฎหมายอย่างเดียวจึงยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นก้าวแรก เพราะการจะลดอาชญากรรมทางเพศต่อผู้เยาว์นั้น ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วน นอกจากเปลี่ยนในทางนิติบัญญัติแล้ว ยังต้องเปลี่ยนสังคมและวัฒนธรรมด้วย

‘โลลิคอน’ คืออะไร

คำว่า ‘โลลิคอน’ (Lolicon) หรือเรียกเต็มๆ ว่า ‘โลลิต้า คอมเพล็กซ์’ (Lolita Complex) เป็นชื่อจากนวนิยายคลาสสิกปี 1955 เรื่อง โลลิต้า (Lolita) นิยายเกี่ยวกับความรักบิดเบี้ยวระหว่างชายวัยกลางคนกับเด็กหญิงวัย 12 ปี

โลลิต้า เวอร์ชันภาพยนตร์ปี 1997 (ที่มา: Getty Images)

เมื่อนำมาใช้กับบริบทของสื่อญี่ปุ่น โลลิคอนจึงหมายถึง อนิเมะ มังงะ ไลต์โนเวล ตลอดจนสื่อบันเทิงอื่นๆ ที่นำเสนอเด็กผู้หญิงแบบส่อไปในทางเพศ ส่วนมากมักเป็นเด็กหญิงช่วงอายุก่อนแตกเนื้อสาว ในหลายกรณีเป็นเด็กอนุบาลหรือประถมก็มี นอกจากนี้ โลลิคอนยังสื่อถึงกลุ่มคนที่ชอบเสพสื่อประเภทดังกล่าวหรือมีอารมณ์ทางเพศกับเด็กผู้หญิงได้ด้วย

เด็กสาว ยุค 70s และพฤติกรรมบริโภคนิยม

ต้องเกริ่นก่อนว่า ช่วงปี 1970 เป็นช่วงที่พฤติกรรมบริโภคนิยมกำลังมาแรงในสังคมญี่ปุ่น และภาพ ‘เด็กสาว’​ (Shōjo) เริ่มปรากฏในสื่อโฆษณาเป็นจำนวนมาก เด็กสาวกลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘เอรอส’ (Eros) หรือความรักแบบลุ่มหลง หมกมุ่น เปี่ยมไปด้วยกิเลสตัณหา ซึ่งคอนเซปต์เอรอสนั้น เชื่อมโยงกับคอนเซปต์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่สนองกิเลสด้วยการซื้อสินค้าอย่างตะกละตะกลาม 

นักทฤษฎี เอย์จิ โอตสึกะ (Eiji Ōtsuka) และคอลัมนิสต์ อาคิโอะ นาคาโมริ (Akio Nakamori) วิเคราะห์ว่า เพราะตัวตน ‘เด็กสาว’ ผูกติดกับพฤติกรรมการบริโภคเช่นนี้ เมื่อกระแสบริโภคนิยมรุนแรงขึ้น จึงเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ที่ภาพของเพศหญิงในสื่อจะยิ่งลดอายุต่ำลงทุกที 

ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดบริโภคนิยมยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน นักเขียน ฮอนดะ โทรุ (Honda Tōru) ระบุว่า หญิงสาวในยุค 70 เริ่มเลือกคู่โดยพิจารณาเงินของฝ่ายชายเป็นปัจจัยสำคัญ ผู้ชายที่ไม่มีกำลังทรัพย์มักพบเจอความผิดหวัง และเพราะผิดหวังจึงต้องการตัดขาดตัวเองจาก ‘หญิงสาว’ ในโลกจริงให้ได้มากที่สุด และลงเอยด้วยการหันมาพึ่งพิงตัวละคร ‘เด็กสาว’ ในโลกสมมติแทน 

การเติบโตของสื่อโลลิคอนในยุค 80s

แม้ว่าสื่อยุค 70s จะเต็มไปด้วยภาพเด็กสาว แต่ภาพ ‘เด็กผู้หญิง’ ที่อายุน้อยลงไปอีกนั้น ได้รับความนิยมขึ้นจริงๆ ในยุค 80s โดยเรียงไทม์ไลน์วิวัฒนาการของสื่อแนวโลลิคอนได้ดังนี้

ปี 1972-1973 นิยาย อลิซในแดนมหัศจรรย์ (Alice in Wonderland) ได้รับความสนใจอย่างมากในแวดวงสื่อญี่ปุ่น มีการผลิตภาพโป๊ของตัวละครอลิซ

ปี 1979 อาสึมะ ฮิเดโอะ (Azuma Hideo) เริ่มเผยแพร่การ์ตูนชุด Cybele ซึ่งนำเสนอตัวละครเด็กผู้หญิง รูปลักษณ์คล้ายเด็กอนุบาลหรือประถม ในสภาพเปลือยและส่อถึงกิจกรรมทางเพศ ภายหลังฮิเดโอะมีฉายาว่า ‘บิดาแห่งโลลิคอน’ ส่วน Cybele กลายเป็นหนึ่งในการ์ตูนโลลิคอนยุคบุกเบิก

ช่วงปี 1980 ต้นๆ เกิดกระแส ‘โลลิคอนบูม’ (Lolicon Boom) อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมมังงะ อนิเมะ เกม รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ภาพวาดแนวโลลิคอนผุดขึ้นมากมาย มีนิตยสารที่เน้นเผยแพร่สื่อโลลิคอน อาทิ Lemon People (1981) กับ Manga Burikko (1982) หนึ่งในอนิเมะอีโรติกเรื่องแรกๆ ของญี่ปุ่นก็เป็นแนวโลลิคอน ชื่อ Lolita Anime (1984)

อาจกล่าวได้ว่า ยุค 80s คือยุคต้นกำเนิดโลลิคอนอย่างเป็นทางการ

ภาพบางส่วนจากนิตยสาร Manga Burikko

โลลิคอนในสื่อปัจจุบัน

นับตั้งแต่ยุค 80s มาจนปัจจุบัน เรายังคงเห็นสื่อแนวโลลิคอนผ่านตาอยู่เรื่อยๆ ตัวอย่างชัดเจนคือ โนเกม โนไลฟ์ (No Game No Life) ไลต์โนเวลปี 2012 ซึ่งต่อมาได้ทำเป็นมังงะและอนิเมะ ปัจจุบันยอดขายไลต์โนเวลกับมังงะเรื่องนี้รวมกันมากกว่า 6 ล้านเล่ม อีกทั้งตัวมังงะยังเคยติดอันดับ 1 บนลิสต์ The New York Times Best Sellers ด้วย

โนเกม โนไลฟ์ เป็นเรื่องราวของ 2 พี่น้อง โซระและชิโระ ที่หลุดเข้าไปในโลกแห่งเกม ตัวละครชิโระเป็นเด็กผู้หญิงอายุเพียง 11 ปี และตั้งแต่ไลต์โนเวลเล่มแรก เธอปรากฏบนภาพปกในชุดค่อนข้างวาบหวิว ท่านั่งยกขาขึ้นจนเห็นใต้กระโปรง นอกจากนี้ ยังมีการผลิตฟิกเกอร์หรือโมเดล 3 มิติของชิโระในเชิงล่อแหลมหลายครั้ง เช่น ฟิกเกอร์หน้าร้อนปี 2022 ซึ่งเธอใส่ชุดบิกินีเผยเรือนร่าง

แม้กระทั่งมังงะและอนิเมะที่โด่งดังอันดับต้นๆ อย่าง มายฮีโร่ อคาเดเมีย (My Hero Academia) ก็ผ่านเสียงวิจารณ์เรื่องการนำเสนอเด็กเป็นวัตถุทางเพศมาแล้ว เพราะผู้เขียน โคเฮย์ โฮริโคชิ (Kohei Horikoshi) เคยวาดภาพเปลือยของตัวละครเด็กหญิงวัย 15 ปีขึ้นปกนิตยสาร โชเน็นจัมป์ (Shōnen Jump) ฉบับที่ 368

ผู้อ่านหลายคนผิดหวังและเรียกร้องให้โฮริโคชิระมัดระวังการนำเสนอผู้เยาว์มากกว่านี้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีแฟนๆ อีกมากที่ไม่ได้มองการกระทำดังกล่าวเป็นปัญหา เนื่องจากเชื่อว่า ‘แฟนเซอร์วิส’ คือเรื่องปกติในวงการ ไม่ว่าตัวละครจะอายุเท่าไรก็ตาม

แค่แฟนตาซี ไม่เดือดร้อนใคร…จริงหรือ?

หนึ่งในชนวนสำคัญของมูฟเมนต์ Flower Demo ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนกฎหมายในที่สุด คือคดีพ่อแท้ๆ วัย 50 ปี ข่มขืนลูกสาวตั้งแต่อายุ 12 ปี ในเดือนมีนาคม 2019 ศาลชั้นต้นตัดสินให้เขาไม่ผิด โดยอ้างว่าคำให้การของเหยื่อฟังดู “ไม่เป็นธรรมชาติและไม่สมเหตุสมผล” ภายหลังเกิดการประท้วงมากมายจนศาลสูงตัดสินใหม่ แต่สุดท้ายชายผู้นี้ก็ต้องโทษจำคุกเพียง 7 ปีเท่านั้น

จากสถิติ ผู้หญิงญี่ปุ่นจำนวน 7.8% รายงานว่าเคยถูกข่มขืนอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ซึ่งในคดีข่มขืนมีสัดส่วนผู้เยาว์มากถึง 41.6% และในคดีล่วงละเมิดทางเพศมีสัดส่วนผู้เยาว์มากถึง 52.5% ยิ่งไปกว่านั้น 25% ของคดีล่วงละเมิดทางเพศบุคคลอายุ 19 ปี หรือต่ำกว่า มีผู้กระทำเป็นบุคคลในครอบครัว

แน่นอนว่าสถิติเหล่านี้สะท้อนช่องโหว่ของกฎหมาย เพราะ Age of Consent มีอายุต่ำถึง 13 ปี จึงไม่อาจคุ้มครองผู้เยาว์ได้อย่างครอบคลุม อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ใช่สาเหตุเดียวของเรื่องทั้งหมด แนวคิดผู้คนบางส่วนก็มีปัญหาเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น ปี 2021 ระหว่างเริ่มหารือเกี่ยวกับการเพิ่ม Age of Consent จาก 13 ปีเป็น 16 ปี ฮิรานาโอะ ฮอนดะ (Hiranao Honda) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นกล่าวว่า เขารู้สึก ‘แปลก’ ถ้าชายวัย 50 ปี ต้องเข้าคุกเพราะมีเซ็กซ์กับเด็กวัย 14 ปี ที่ให้ความยินยอม

ฮิรานาโอะ ฮอนดะ ขอโทษประชาชนหลังจากแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม กรณีผู้ใหญ่มีสัมพันธ์ทางเพศกับผู้เยาว์ (ที่มา: The Mainichi)

คนในสังคมที่คิดเหมือนฮอนดะ และมองเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กเป็นเรื่องปกติยังมีอีกมาก คงยากจะปักธงว่าแนวคิดดังกล่าวเกิดจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สันนิษฐานได้ว่าเป็นการรับอิทธิพลจากปัจจัยแวดล้อมหลายๆ อย่างผสมกัน รวมถึงสื่อที่เสพด้วย 

หลายปีมานี้สื่อแนวโลลิคอนเริ่มพบเจอเสียงวิจารณ์ ถกเถียง ก่นด่า ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แม้ผู้เสพสื่อแนวนี้หลายคนจะให้เหตุผลว่าโลลิคอนเป็นเพียงแฟนตาซีเพื่อความบันเทิง ผู้เสพสามารถแยกแยะได้ แต่การลดทอนพฤติกรรมใคร่เด็กซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอาชญากรรมในชีวิตจริงให้กลายเป็นแค่ ‘รสนิยม’ ก็ยังน่าตั้งคำถาม 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเผยแพร่สื่ออย่าง Cybele หรือโนเกม โนไลฟ์ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีนั้น มีส่วนช่วยส่งต่อภาพจำของเด็กผู้หญิงในฐานะวัตถุทางเพศ ตราบใดที่ยังผลิตภาพจำเช่นนี้ซ้ำๆ จำนวนคนคิดเหมือนฮอนดะก็คงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ต่อให้บางคนไม่ได้นำความคิดดังกล่าวไปปฏิบัติจริง แต่หากเป็นผู้มีอำนาจกำหนดทิศทางประเทศเหมือนฮอนดะ หรือแม้กระทั่งเป็นบุคคลใกล้ตัวเหยื่อซึ่งเหยื่อไว้ใจจะปรึกษา แค่ ‘ความคิด’ ที่เห็นอาชญากรรมเป็นรสนิยม เป็นแฟนตาซีฟุ้งฝันไม่จริงจัง ก็สามารถส่งผลกระทบต่อเหยื่อได้มหาศาล

อ้างอิง 

“About Flower Demo.” Translated by Elif Erdogan, Flower Demo, www.flowerdemo.org/about-us-in-english. Accessed 23 June 2023. 

Galbraith, Patrick W. “Lolicon: The Reality of ‘Virtual Child Pornography’ in Japan.” Image & Narrative, vol. 12, no. 1, Mar. 2011, pp. 83–119.

Gray, Gavan P. “Legal Responses to Sexual Violence in Japan: First Steps in a Lengthy Process of Rehabilitation.” Gender Violence, the Law, and Society: Interdisciplinary Perspectives from India, Japan and South Africa, Emerald Publishing Limited, Bingley, 2022, pp. 91–103.

Kanno, Ran. “What Are Japanese Experts’ Opinions on Consent for Sex between an Adult and Child?” The Mainichi, 15 June 2021, www.mainichi.jp/english/articles/20210614/p2a/00m/0na/032000c

Kejza, Jakub. “No Game No Life Surpasses 6 Million Copies in Circulation, Releases a Promotional Video.” Anime Corner, 19 Aug. 2021, www.animecorner.me/no-game-no-life-surpasses-6-million-copies-in-circulation-releases-a-promotional-video/

“Manga Books: Best Sellers.” The New York Times, 9 Nov. 2014, www.nytimes.com/books/best-sellers/2014/11/09/manga/

Netsu, Wataru. “Father Gets 7 Years in Prison for Raping His Daughter Aged 12: The Asahi Shimbun: Breaking News, Japan News and Analysis.” The Asahi Shimbun, 22 Dec. 2020, www.asahi.com/ajw/articles/14049721

Ng, Kelly. “Japan Redefines Rape and Raises Age of Consent in Landmark Move.” BBC News, 16 June 2023, www.bbc.com/news/world-asia-65887198.

Tags: , , , ,