“ประเทศไหนที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ก็จะถูกสกัดกั้น ประเทศไหนที่ไล่กวด (สหรัฐอเมริกา) ได้ทัน ก็จะเป็นเป้าหมายของการทำลายล้าง แต่บัดนี้ การกระทำเหล่านี้อาจไร้ประโยชน์”
ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์จาก สี จิ้นผิง (Xi Jingping) ผู้นำจีน หนึ่งในสมาชิก ‘BRICS’ หรือกลุ่มประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ณ การประชุมสุดยอดที่โจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) ประเทศแอฟริกาใต้ ในวันที่ 22-24 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้นักวิเคราะห์และสื่อต่างกลับมาพูดถึงการแข่งขันของชาติมหาอำนาจอีกครั้ง
แม้จะไม่ได้ปรากฏตัวบนเวทีสุนทรพจน์ แต่ สี จิ้นผิง ก็เรียกเสียงฮือฮา เมื่อเขาแฝงคำวิจารณ์ ‘ความเป็นเจ้าโลกของสหรัฐฯ’ หรือการผูกขาดระเบียบโลกเพียงรูปแบบเดียวตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง
ในทางกลับกัน ผู้นำจีนกลับเชิดชูประวัติศาสตร์การประชุมครั้งนี้ว่า เป็นจุดตั้งต้นที่สมบูรณ์ เมื่อความร่วมมือ BRICS จะเพิ่มสมาชิกถาวรอีก 6 ประเทศ จากเดิมที่ประกอบด้วย 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้
ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และ ‘ระเบียบโลกทางเลือก’ หลัง วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย แสดงความคิดเห็นว่า BRICS จะเป็นภาพแทนของประเทศส่วนใหญ่ในโลก
“จีนจะกลายเป็นอภิมหาอำนาจใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่ๆ”
“สิ่งนี้ทำให้จีนเป็นผู้ชนะแน่นอน พวกเขาจะมี 6 ประเทศสมาชิกเพิ่ม ซึ่งมันสำคัญในการดำเนินทิศทางขององค์การระหว่างประเทศนี้”
“ระเบียบโลกเก่าของสหรัฐฯ จะต้องตายลง หากเผชิญการรวมตัวกันของชาติมหาอำนาจใหม่”
เหล่านี้คือความคิดเห็นที่เกิดขึ้นจากท่าทีของกลุ่มประเทศ BRICS โดยเฉพาะจีนที่เอ่ยถึง ‘ระเบียบโลกของสหรัฐฯ’ หรือแนวคิดเสรีในทางการเมืองและเศรษฐกิจอันเป็นที่รู้จัก คือ ‘ฉันทมติวอชิงตัน’ (Washington Consensus) ที่ได้รับการยอมรับในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980
ทว่าคำตอบนี้อาจไม่ใช่บทสรุปที่ชัดเจน เพราะยังมีปัจจัยหลายส่วนที่ถูกละเลยในการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดของ ‘ระเบียบใหม่’ ในกลุ่ม BRICS และปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือความสัมพันธ์ระหว่างชาติมหาอำนาจด้วยกันเอง ที่มีผลต่อโอกาสการทุบทำลายระเบียบเดิมของสหรัฐฯ
เพื่อตอบคำถามให้ชัดเจนมากขึ้น The Momentum ชวนไขข้อสงสัยดังกล่าว และร่วมกันหาคำตอบว่า BRICS จะขึ้นมาแทนที่สหรัฐฯ ได้จริงหรือไม่
ฉันทมติปักกิ่ง (Beijing Consensus): ภาพแทนระเบียบโลกใหม่ของ BRICS
หากฉันทมติวอชิงตันคือระเบียบโลกทางการเมืองและเศรษฐกิจเสรี (แม้ในยุคหนึ่ง บางประเทศโดยเฉพาะลาตินอเมริกา ปกครองด้วยระบอบเผด็จการอำนาจนิยม)
ฉันทมติปักกิ่ง คือระเบียบโลกที่เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ แต่มีระบอบการเมืองอำนาจนิยม หรือที่เรียกว่า ‘ทุนนิยมโดยรัฐ’ (State Capitalism) โดยมีต้นแบบจากระบอบการปกครองของจีน ดังเห็นได้ว่า รัฐเข้าไปแทรกแซงการตัดสินใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ขององค์กร การวางแผนอุตสาหกรรมหลักของประเทศ รวมถึงการใช้ทรัพยากรและเงินทุนของรัฐเป็นหลัก
ขณะที่มิติระหว่างประเทศ การปกครองในรูปแบบนี้จะ ‘เลือก’ ติดต่อหรือค้าขายกับบางประเทศ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ Gated Globalization เมื่อรัฐเป็นฝ่ายกำหนดความกว้างขวางในกระบวนการโลกาภิวัตน์ อันมีลักษณะ ‘ยืดได้ หดได้’ ตามความต้องการ และเน้นการพัฒนาและสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมในประเทศเป็นหลัก
อีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญที่ทำให้ระเบียบดังกล่าวได้รับความนิยมในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา เป็นเพราะจีน ‘ไม่มีข้อผูกมัด’ หรือเงื่อนไขสำคัญเหมือนชาติตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องระบอบการปกครองและสิทธิมนุษยชน เห็นได้ชัดเจนจากเงื่อนไขการเป็นคู่ค้ากับประเทศในสหภาพยุโรป (European Union: EU) และสหรัฐฯ ว่า ประเทศนั้นๆ ต้องปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย และยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน
ในทางกลับกัน จีนไม่สนใจประเด็นดังกล่าว และพร้อมทำคู่ค้า ตราบใดที่ได้ผลประโยชน์ และต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน (Non-Interference Principle) และการเคารพในอธิปไตยของประเทศ
ไม่น่าแปลกใจ หากจุดเด่นนี้จะดึงดูดใจหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเผด็จการและประเทศที่ล้มลุกคลุกคลานในทางการเมือง เช่น ชาติแอฟริกา กลุ่มประเทศอาเซียน ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่บางประเทศในยุโรปตะวันออก เมื่อ วิกเตอร์ โอร์บาล (Viktor Orban) นายกรัฐมนตรีฮังการี ประกาศตนว่า เขามีแรงบันดาลใจพัฒนาประเทศให้แข็งแกร่ง โดยมีรัสเซียและจีนเป็นต้นแบบ
ขณะเดียวกัน หากย้อนกลับไปมองกลุ่มประเทศหลัก BRICS และชาติที่เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ต่างก็มีระบอบการปกครองที่เอนเอียงไปทางอำนาจนิยมส่วนใหญ่ ยังไม่รวม ‘กระแสขวาหัน’ ของโลกที่กำลังแพร่หลายในช่วงเวลาที่ผ่านมา
อาจเป็นความบังเอิญ แต่ทั้งหมดนี้เป็นช่วงเวลาประจวบเหมาะที่ BRICS จะประกาศตัวอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะการเผยความแตกต่างจากระเบียบโลกเก่าๆ ที่นำโดยสหรัฐฯ เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดมาตลอด
BRICS ในฐานะระเบียบโลกใหม่ท้าทายสหรัฐฯ หรือแค่ทางเลือกที่แตกต่าง?
‘BRICS จะสามารถสร้างระเบียบใหม่แทนที่สหรัฐฯ ได้จริงหรือ?’
หากถามคำถามนี้กับใครหลายคน แน่นอนว่าคำตอบต้องแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะมุมมองการวิเคราะห์ที่ไม่เหมือนกัน หรือซ้ำร้ายกว่านั้น บางคนอาจจะปฏิเสธที่จะตอบคำถาม เพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับร่วมกันในสถานการณ์ปัจจุบัน คือ BRICS เป็นเพียงแค่ ‘ทางเลือก’ จากระเบียบเดิมทั้งหมด และยังไม่สามารถขึ้นไปแข่งขันกับสหรัฐฯ อย่างสูสีได้
ในทางตรงกันข้าม หากจะบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว กลุ่มประเทศพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วนี้ มีความท้าทายบางอย่างที่ต้องฝ่าฝันมากมายดังต่อไปนี้
1. สกุลเงินดอลลาร์ที่ยังคงมีอิทธิพลในโลกอย่างไม่เสื่อมคลาย
สืบเนื่องจากปูตินเคยพูดถึงกระบวนการลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ (De-Dollarisation) โดยมีแผนว่า BRICS จะสร้างสกุลเงินขึ้นมาเป็นของตนเอง
อันที่จริงนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกระหว่างประเทศแต่อย่างใด เพราะมีความพยายามในการปลดเปลื้องข้อผูกมัดจากสกุลเงินดอลลาร์มาช้านาน โดยเฉพาะการหันไปใช้สกุลเงินดิจิทัล เช่น คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือแม้แต่การใช้มาตรวัดจาก ‘ทองคำ’ เหมือนในอดีต
แต่สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ยาก โดย แดนนี แบรดโลว์ (Danny Bradlow) ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยพริทอเรีย (University of Pretoria) ระบุว่า การทำเช่นนี้มีแต่จะเพิ่มความเสี่ยงเป็นเท่าตัว เพราะไม่มีใครรับรองได้ว่า สกุลเงินใดๆ จะมีเสถียรภาพในการค้าระหว่างประเทศ
อีกทั้งการสร้างสกุลเงินยังต้องอาศัยสถาบันระหว่างประเทศเป็นจำนวนมากเพื่อร่วมกันสร้างฉันทมติดังที่สหรัฐฯ เคยทำ โดยอาศัยธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เป็นเครื่องมือให้ชาติอื่นๆ ยอมรับ
ทว่าตอนนี้ BRICS ยังไม่มีสถาบันที่ทรงอิทธิพลขนาดนั้น อีกทั้งยังมีข้อจำกัดบางอย่าง จึงเป็นไปได้ยาก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นไม่ได้เลย ก็ไม่เกินจริง
“ความคิดที่ BRICS จะสร้างทางเลือกสกุลเงินจากดอลลาร์ เป็นเรื่องจินตนาการและเป็นไปไม่ได้สุดๆ” แบรดโลว์อธิบาย เขาระบุถึงความแตกต่างของ 5 ชาติมหาอำนาจ และหากจะทำจริงๆ เศรษฐกิจของชาติที่เหลือต้องยึดโยงกับจีน เพราะขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด โดยแบรดโลว์ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า ประเทศเล็กๆ จะไม่มีทางทำเด็ดขาด
2. ภาพลักษณ์ของชาติมหาอำนาจ BRICS ที่ไร้ความดึงดูดในเชิงอำนาจโน้มนำ
นี่อาจเป็นปัจจัยที่ใครหลายคนละเลยในการพิจารณา แต่ในมุมผู้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเป็นผู้นำโลกไม่ได้พิจารณาแค่อำนาจที่จับต้องได้ (Hard Power) เช่น อำนาจทางการทหารหรือเศรษฐกิจ ทว่าอำนาจโน้มนำ (Soft Power) ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องมีสำหรับประเทศมหาอำนาจด้วยเช่นกัน
หากเทียบกับ 5 ชาติ โดยเฉพาะจีนและรัสเซีย ปฏิเสธไม่ได้ว่า สหรัฐฯ ยังมีอำนาจโน้มนำหรือแรงดึงดูดบางอย่าง ที่ทำให้ชาติอื่นชื่นชอบและอยากสนับสนุนในทางการเมืองเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการมีเศรษฐกิจที่ (ค่อนข้าง) แข็งแรง การยึดหลักสิทธิมนุษยชน การเปิดเสรีทางการเมือง หรือแม้แต่ฮอลลีวูด (Hollywood) วัฒนธรรมป็อบ (Pop Culture) ที่ดึงดูดผู้คนทั่วทุกสารทิศ
ยกตัวอย่างให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็มีพลังเหล่านี้ เริ่มจากเสน่ห์น่าดึงดูดของสหภาพยุโรป ผ่านเรื่องราวที่โรแมนติกว่าด้วยความสามัคคีเหนือพรมแดนใดพรมแดนหนึ่ง อีกทั้งยังมีนโยบายเกื้อหนุนประเทศอื่นๆ อย่างกว้างขวาง ขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ต่างก็เป็นที่รู้จักในนามผู้ส่งออกวัฒนธรรมป็อบยุคใหม่
ในทางกลับกัน จีนและรัสเซียไม่มีแรงดึงดูดในลักษณะดังกล่าว อีกทั้งยังมี ‘ภาพลักษณ์ป่นปี้’ ในทางระหว่างประเทศ นับตั้งแต่การปกครองแบบอำนาจนิยมที่ลิดรอนสิทธิผู้คน ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการละเมิดหลักการสากล เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ฯลฯ
นี่จึงเป็นโจทย์ที่ใหญ่ของ BRICS ในการสร้างแรงดึงดูดให้ทุกฝ่ายผ่านอำนาจโน้มนำ ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวแสดงที่เป็นรัฐ แต่ยังรวมถึงปุถุชนธรรมดาอีกด้วย
3. ความขัดแย้งและความไม่ลงรอยภายใน BRICS
ประเด็นปัญหานี้นับว่าเป็น ‘คลื่นใต้น้ำ’ ที่หลายคนมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย เพราะหากมองลึกไปถึงรายละเอียด เอกภาพของ BRICS นับว่ามีปัญหาอย่างมาก เมื่อจีนและรัสเซียต่างพยายามสร้างระเบียบใหม่แข่งขันกับสหรัฐฯ และชาติยุโรป ทว่าอินเดียและบราซิลกลับไม่ต้องการเผชิญหน้าเช่นนั้น ดังที่ ลูลา ดา ซิลวา (Lula Da Silva) ประธานาธิบดีบราซิล กล่าวว่า
“เราไม่ต้องการเป็นคู่แข่งของ G7 G20 หรือสหรัฐฯ เราแค่ต้องการจัดระเบียบภายในพวกเรา” เขากล่าวในประชุมสุดยอดครั้งที่ผ่านมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเดียมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ มาก แม้จะวางตัวเป็นกลุ่มประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement) ในอดีต ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน คือการเข้าร่วม QUAD (Quadrilateral Security Dialogue) หรือกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้ชักนำ
ซ้ำร้ายกว่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-จีนเข้าขั้นย่ำแย่ นับตั้งแต่ความขัดแย้งทางด้านพรมแดนและการแข่งขันทางอำนาจในภูมิภาคเอเชีย
วิเวก มิชรา (Vivek Mishra) นักวิชาการประจำสถาบัน Observer Research Foundation (ORF) แสดงความคิดเห็นว่า อินเดียไม่เคยมองว่า จีนเป็นกระบอกเสียงในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ ดังที่เคยกล่าวอ้างบนเวทีนานาชาติ
“กลับกัน จีนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่พยายามขัดขวางกิจการในกลุ่มซีกโลกใต้” เขาแสดงความคิดเห็นกับอัลจาซีรา (Al Jazeera)
นอกจากนั้น นักวิเคราะห์บางส่วนยังมองว่า การขึ้นมาของ BRICS อาจกระตุ้นความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดียให้รุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการแย่งชิงความเป็นผู้นำในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบทวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง และอาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หาก BRICS สามารถทลายข้อจำกัดข้างต้น ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจแทรกซ้อนขึ้นมาในอนาคต
อ้างอิง
Ziya Öniş and Mustafa Kutlay, “The New Age of Hybridity and Clash of Norms: China, BRICS, and Challenges of Global Governance in a Postliberal International Order,” Alternative: Global, Local, Political, 45, no. 3, (2020): 123-142.
https://www.theguardian.com/business/2023/aug/22/putin-brics-summit-south-africa-trade
https://edition.cnn.com/2023/08/28/china/china-brics-expansion-victory-intl-hnk/index.html
https://www.e-ir.info/2020/07/03/the-state-of-chinas-soft-power-in-2020/
https://www.aljazeera.com/features/2023/8/22/can-brics-create-a-new-world-order
Tags: บราซิล, ระบอบการปกครอง, BRICS, สหรัฐฯ, สหรัฐอเมริกา, เศรษฐกิจโลก, เผด็จการ, The Momentum ANALYSIS, จีน, การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ, รัสเซีย, ฉันทมติปักกิ่ง, ประชาธิปไตย, ฉันทมติวอชิงตัน, อินเดีย, การแข่งขันทางอำนาจ, แอฟริกาใต้, De-Dollarisation, สหภาพยุโรป