*มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์
เปิดเรื่องด้วยพื้นหิมะสีขาวโพลน มีรอยเปื้อนกระดำกระด่างเล็กๆ เหมือนจักรวาลกลับด้านที่ดวงดาวกลายเป็นสีดำและฉากหลังกลายเป็นสีขาว มีเสียงบรรยายของตัวละครเล่าว่า ที่เมืองหม่านโจวหลี (Manzhouli) มีช้างอยู่ตัวหนึ่งที่วันๆ ไม่ทำอะไรเลยนอกจากนั่งเฉยๆ ถึงมีคนเอาส้อมไปจิ้มมันก็ไม่ขยับ ไม่กินอะไร เอาแต่นั่งอยู่อย่างนั้น
หนังใช้เรื่องนี้เป็นจุดศูนย์กลาง ค่อยๆ พาเราไปทำความรู้จักกับตัวละครหลักสี่ตัว ‘เว่ยปู่’ เด็กหนุ่มมัธยมปลายที่มีพ่อขาไม่ดีคอยหาเรื่องด่าเขาอยู่ตลอดเวลา ส่วนแม่ก็ต้องทำงานหนักแบกของไปขายด้วยตัวคนเดียวทุกวัน ‘ฮวงหลิง’ นักเรียนหญิงเพื่อนร่วมชั้นของเว่ยปู่ ที่ดูจะไม่ค่อยสบายใจนักที่ต้องอยู่บ้านกับแม่ขี้เมา ปล่อยห้องให้เต็มไปด้วยกลิ่นเสื้อผ้าเหม็นอับและอาหารค้างคืนตลบอบอวล แม้กระทั่งส้วมแตก น้ำรั่วจนท่วมห้องน้ำก็ไม่ได้รับการซ่อม เธอจึงต้องคอยตามล้างตามเช็ด ‘หวางจิน’ ชายแก่ที่ลูกสาวและลูกเขยอยากให้เขาย้ายออกจากห้องตัวเองไปอยู่บ้านพักคนชราเพราะครอบครัวต้องการตัดงบเก็บเงินไปอยู่ในที่ที่ดีกว่านี้รวมถึงส่งลูกหรือหลานสาวของหวางจิน ไปเรียนโรงเรียนดีๆ (ไม่ใช่โรงเรียนแบบที่เว่ยปู่และฮวงหลิงอยู่)
ตัวละครหลักสุดท้ายคือ ‘หยูเชิง’ ชายหนุ่มที่ดูเหมือนจะเป็นผู้มีอิทธิพลในเมือง เขาคือพี่ชายของหัวโจกประจำโรงเรียนที่เว่ยปู่เรียนอยู่ หยูเชิงนอนกับแฟนของเพื่อนสนิทตัวเอง ฉากแรกๆ ของหนังเริ่มจากตรงนั้น เช้าวันที่เพื่อนสนิทของหยูเชิงกลับมาที่ห้อง และพบว่าทั้งสองคนมีความสัมพันธ์กัน เขาก็ตัดสินใจกระโดดตึกฆ่าตัวตายต่อหน้าหยูเชิงและแฟนสาว ต่อจากนั้นภายในเวลาอีกเกือบ 4 ชั่วโมง หนังก็บอกเล่าเหตุการณ์ในหนึ่งวันของเหล่าตัวละครที่ถูกดึงดูดเข้าหากันอย่างช้าๆ และค่อยๆ มีเป้าหมายเดียวกันคือเดินทางข้ามเมืองไปดูช้างนั่งตัวนั้น
An Elephant Sitting Still มีมวลความรู้สึกมืดหม่นหดหู่ของยุคนี้อยู่อย่างเข้มข้น ทั้งความโดดเดี่ยวสิ้นหวัง เกลียดชังโลกและไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่ใด น่าสนใจว่านี่ไม่ใช่แค่มุมมองส่วนตัวของผู้กำกับที่เป็นปัจเจกต่อโลกใบนี้เท่านั้น แต่มันอาจยังเป็นหนึ่งเสียงระบายความอัดอั้นของผู้คนเจเนอเรชั่นนี้ด้วย
ถ้าลองมองให้ใกล้ตัวมากๆ รอบตัวเราเต็มไปด้วยมวลความรู้สึกแบบนี้ที่ผูกพันอยู่กับชาวมิลเลนเนียลส์ เราเห็นคาแรกเตอร์ในอินเทอร์เน็ตอย่าง Sad Boi หรือ Sad Girl รวมถึงมุกตลกที่เล่นกับความสิ้นหวังและไร้สาระของชีวิต ที่ถูกเอามาเล่นอย่างแพร่หลายจนแทบจะเป็นหนึ่งในการแสดงออกหลักของบุคลิกบนโลกอินเทอร์เน็ต เช่น มีมที่ชื่อ ‘ดูมเมอร์’ (Doomer) ซึ่งมักจะถูกนำมาแสดงภาพลักษณ์ของวัยรุ่นผู้หดหู่โดดเดี่ยวแปลกแยก และมีทัศนคติแบบ Nihilism ที่มองว่าชีวิตช่างไร้ความหมาย ที่น่าสนใจคือมีมตัวนี้บ่งบอกเจเนอเรชั่นของมันเองไปในตัวด้วย
ดูมเมอร์มักหมายถึงวัยรุ่นช่วงอายุ 20 กว่าๆ เติบโตร่วมกันมาอย่างคุ้นเคยดีกับอินเทอร์เน็ต พวกเขามักรู้สึกเหงาและแปลกแยกจากสังคม นอกจากนั้นยังมีมีมที่ทัศนคติเป็นขั้วตรงข้ามกับดูมเมอร์และชอบถูกนำมาล้อคู่กันไปคือบูมเมอร์ (Boomer) ผู้มองโลกบวกสุดโต่งใช้ชีวิตอย่างไม่สนใจใยดีผู้อื่น (ignorance) ซึ่งชื่อของมันก็ล้อมาจากเบบี้บูมเมอร์หรือเจเนอเรชั่นที่เป็นลุงป้าตายายของเหล่าดูมเมอร์ และการที่น้ำเสียงมองโลกในแง่ร้ายแพร่หลายในกระแสความคิดของหนุ่มสาวมิลเลนเนียลส์ รวมถึงภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มคนที่อายุน้อยลงก็ดูจะสะท้อนอะไรบางอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับมุมมองที่มืดหม่นต่อชีวิตของคนเจเนอเรชั่นนี้
An Elephant Sitting Still มีมวลความรู้สึกมืดหม่นหดหู่ของยุคนี้อยู่อย่างเข้มข้น ทั้งความโดดเดี่ยวสิ้นหวัง เกลียดชังโลกและไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่ใด น่าสนใจว่านี่ไม่ใช่แค่มุมมองส่วนตัวของผู้กำกับที่เป็นปัจเจกต่อโลกใบนี้เท่านั้น แต่มันอาจยังเป็นหนึ่งเสียงระบายความอัดอั้นของผู้คนเจเนอเรชั่นนี้ด้วย
An Elephant Sitting Still เป็นหนังของเหล่าดูมเมอร์ที่ปราศจากอารมณ์ขัน มันเต็มไปด้วยความขยะแขยงเกลียดชังโลกแบบไร้มุกตลกเจือปน ตัวละครในเรื่องสิ้นหวังต่อยุคสมัยของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น เว่ยปู่ และ ฮวงหลิง เด็กวัยรุ่นที่ไม่รู้จะยึดเหนี่ยวตัวเองกับอะไร ครอบครัวและโรงเรียนที่เป็นชีวิตประจำวันทำร้ายพวกเขาแทบจะตลอดเวลา หยูเชิง ชายหนุ่มผู้แปลกแยกและเลือกจะทำลายชีวิตของตัวเอง หวางจิน ชายแก่ที่กำลังจะโดนตัดออกจากครอบครัวของตัวเอง ถึงวัยของเขาจะถูกจัดให้อยู่ในเจเนอเรชั่นก่อนหน้านี้ แต่เขากลับเหมือนวัยรุ่นผู้หน่ายชีวิตในร่างคนแก่
ไม่ว่านี่จะเป็นเพราะความตั้งใจจากตัวบทหรือไม่ มันก็มีผลกับน้ำหนักของสิ่งที่เขาพูดในตอนท้ายเรื่อง เพราะมันทำให้เราเห็นว่าหวางจินที่แก่เฒ่ามีวิธีคิดและมุมมองที่แทบจะไม่ต่างอะไรกับ เว่ยปู่ และ ฮวงหลิง เลย เพียงแต่เขาได้เวลามากกว่าในการคอนเฟิร์มว่าโลกนี้มันสิ้นหวังจริงๆ จึงเรียกได้ว่าตัวละครหลักแทบทุกตัวกำลังแสดงภาพของวัยรุ่น เลยคิดว่าน่าสนใจที่จะลองใช้หนังเรื่องนี้มาช่วยมองภาพใหญ่ว่าอะไรทำให้ความหดหู่แพร่กระจายไปทั่วในยุคสมัยนี้
นอกจากคอนฟลิกต์อันเข้มข้น สิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในหนังยังสะท้อนกลไกของสังคมที่บ่มเพาะให้เกิดความเกลียดชังแปลกแยก อาจบอกได้ว่าเด็กวัยรุ่นอย่าง เว่ยปู่ และ ฮวงหลิง ยังรับมือระบบในสังคมที่น่าขยะแขยงได้ไม่ชำนาญนักเลยทำให้พวกเขาทรมานจนแทบอยู่ไม่ไหว ซึ่งวิธีการรับมือขั้นพื้นฐานที่หนังแสดงออกมาคือการโทษคนอื่น เพียงแค่โยนความรับผิดชอบทุกอย่าง ความรู้สึกผิดต่อสิ่งต่างๆ ให้คนอื่น เท่านี้เราก็จะสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้
วงจรเห็นแก่ตัวเพื่อการเอาตัวรอดนี้เริ่มต้นจากหน่วยเล็กที่สุดในสังคมอย่างครอบครัว พ่อของเว่ยปู่ที่ขาบาดเจ็บและโดนไล่ออกจากงาน เขาระบายความรู้สึกไม่ดีทั้งหลายไปให้ลูก หากไม่พอใจอะไรก็แค่โยนความผิดทุกอย่างให้เว่ยปู่ อย่างในฉากแรกๆ ของหนัง ห้องเช่าของครอบครัวเว่ยปู่มีกลิ่นเหม็นจากขยะข้างนอกลอยเข้ามา เขาไม่ต้องคิดถึงวิธีแก้หรือหาสาเหตุอะไรเพียงแค่โทษว่านั่นเป็นกลิ่นเหม็นจากห้องของลูก
พอข้าวของของแม่หายไป พ่อก็แค่โทษว่าลูกเป็นคนขโมย โดยไม่ต้องฟังเหตุผลหรือคำชี้แจงใดๆ แล้วในฉากต่อมาที่พ่อทำยาตกพื้นเขาก็เลือกที่จะไม่ก้มลงเก็บต่อหน้าลูกชายในสภาพทุลักทุเลหรือขอความช่วยเหลือ แต่กลับไล่เว่ยปู่ให้ออกไปจากห้อง ทุกปัญหาที่ไม่ว่าจะเกิดจากเขาหรือมีผลต่อเขา กระทั่งความรู้สึกเกลียดชังตัวเอง ถูกโยนไปให้ลูก จากหน่วยย่อยอย่างครอบครัว สิ่งนี้ส่งต่อไปยังการปฏิบัติตัวต่อคนอื่นในสังคม อย่างสองสามีภรรยาที่หมาหาย แล้วมันดันไปฆ่าหมาของคุณตาหวางจิน สิ่งที่พวกเขาทำคือข้ามเรื่องที่หมาตัวเองไปฆ่าหมาคนอื่นแล้วโทษหวางจินที่ไม่สามารถช่วยเหลือพวกเขาตามหาหมาได้ แถมโจมตีหวางจินอีกว่าทำร้ายหมาของพวกเขา
หวางจินที่แก่เฒ่ามีวิธีคิดและมุมมองที่แทบจะไม่ต่างอะไรกับ เว่ยปู่ และ ฮวงหลิง เลย เพียงแต่เขาได้เวลามากกว่าในการคอนเฟิร์มว่าโลกนี้มันสิ้นหวังจริงๆ
บทเรียนจากสังคมเห็นแก่ตัวสอนให้รู้ว่าการเติบโตเป็นผู้ใหญ่คือการโทษคนอื่นให้เป็น ซึ่งเราจะเห็นอะไรอย่างนี้ได้อีกเกือบทั้งเรื่อง ส่วนวิธีการรับมือกับปัญหาของเด็กๆ ที่อาจเป็นผลพวงมาจากครอบครัวและสังคม คือการโทษและดูถูกตัวเอง ซ้ำเติมจากสิ่งที่ผู้ใหญ่โยนใส่พวกเขา อย่างเพื่อนของเว่ยปู่ยอมรับแต่โดยดีว่าตัวเองไร้ค่าเหมือนอย่างที่โดนด่า แล้วในที่สุดก็ตัดสินใจฆ่าตัวตาย หยูเชิง ผู้ที่เหมือนจะอยู่ระหว่างความเป็นผู้ใหญ่กับเด็กวัยรุ่น หลังจากที่เขานอนกับแฟนเพื่อนเพราะผิดหวังจากความรัก เขาก็เลือกที่จะโยนความผิดให้กับคนรักเก่าที่ปฏิเสธเขา หรือตอนที่เพื่อนสนิทรู้ความจริงเข้าและฆ่าตัวตายต่อหน้าต่อตา สิ่งที่หยูเชิงทำคือโทษว่านี่เป็นความผิดแฟนสาวเพื่อน
แต่อีกด้านหนึ่งลึกๆ แล้วเขาก่นด่าความไม่เอาไหนของตัวเองอยู่ตลอด และหยูเชิงเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ครอบครัวประทับตราความผิดบาปไว้จากสิ่งที่เขาเคยทำ ตัวละครนี้จึงอยู่ระหว่างผู้กระทำที่ไม่สนใจคนอื่นกับผู้ยอมจำนนและโทษตัวเอง ซึ่งนั่นทำให้ยิ่งน่าสนใจที่หนังวางให้ตัวละครนี้มีอำนาจในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ตามที่ตัวเองต้องการมากที่สุด แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็ลงเอยเป็นการทำร้ายตัวเอง วินาทีที่ดูจะทำให้เขาปลอดโปร่งกลับการเป็นตอนที่เขาคุยกับ เว่ยปู่ คนที่พลาดพลั้งฆ่าน้องชายของเขาซึ่งเป็นหัวโจกในโรงเรียน เพราะทั้งคู่ต่างอยู่ในความรู้สึกใกล้เคียงกันว่า “เราจะทำอะไรได้อีก?”
ตัวละคร เว่ยปู่ แตกต่างจากคนอื่นเล็กน้อย ถึงแม้จะปล่อยให้สิ่งต่างๆ ทำร้ายหรือซ้ำเติมตัวเอง อย่างความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เรื่องอะไรเลย อยู่ในที่ๆ สิ้นหวัง มองความสามารถในการเดาะลูกขนไก่ของตัวเองเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นแค่การฆ่าเวลาและตัวเลือกที่เหลือ เพราะสิ่งอื่นทำให้รู้สึกแย่กว่านี้ แต่เขาดูจะพยายามทำอะไรอยู่ตลอดเวลากับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วในที่สุดเขาเป็นเหมือนเสี้ยวของแสงสว่างในเรื่องที่ทำให้ทุกคนอยากออกเดินทางไปดูช้าง (อีกสิ่งที่น่าชื่นชมมากคือการแสดงของน้องคนที่เล่นเป็นเว่ยปู่ ที่ทั้งดูเหนื่อยล้าแต่ก็เต็มไปด้วยความคุกรุ่น)
อาจเป็นเพราะการส่งต่อและโอบรับความผิดเหล่านี้ทำให้เกิดระบบของสังคมที่ผลิตความหดหู่ส่งต่อเป็นทอดๆ ไปเรื่อยๆ มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าความเห็นแก่ตัวและเกรี้ยวกราดของตัวละครเป็นภาพสะท้อนสังคมจีนที่แข่งขันแย่งชิงกันอย่างดุเดือดเพราะผลพวงสะสมตั้งแต่ยุคเปลี่ยนผ่านจากคอมมิวนิสต์สู่ทุนนิยม และสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำสุดนับจากยุค 90s นอกจากนั้นตัวหนังยังพูดถึงโซเชียลมีเดียอย่างบางๆ ว่าเป็นอีกส่วนประกอบในวงจรด้วยเช่นกัน ชาวมิลเลนเนียลส์โตมากับข้อมูลล้นทะลักที่ทุกอย่างเชื่อมต่อถึงกันอย่างง่ายดาย มันเป็นทั้งประโยชน์แต่ในอีกแง่ สิ่งนี้ก็เป็นอาวุธใหม่ๆ ที่ใช้ทำร้ายคนอื่น
ในหนัง การบูลลี่ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนล้วนถูกถ่ายคลิปเอาไว้ เผื่อประจานหรือแบล็คเมล นั่นทำให้นักเลงหัวโจกมีอำนาจมากว่าแค่กำลังในการต่อยตี แต่ยังใช้ความอับอายมาทำร้ายคนอื่นซ้ำได้อีกด้วย อีกฉากสำคัญของเรื่องคือคลิปที่ ฮวงหลิง กับรองคณบดีไปเที่ยวด้วยกัน ถูกส่งต่ออย่างรวดเร็วทางโซเชียลมีเดีย ทำให้สำหรับรองคณบดีนี่คือจุดจบในอาชีพของเขา ส่วนฮวงหลิงก็ต้องเจอผลที่คาดเดาไม่ได้จากสังคม ไม่ว่าทั้งคู่จะทำอะไรเกินเลยหรือไม่ แต่เมื่อข้อมูลถูกส่งต่อมันก็ทำลายคนนั้นไปแล้ว โดยที่จนจบเรื่องเราก็ยังไม่ชัวร์ว่า จริงๆ แล้วใครเป็นต้นตอปล่อยคลิปกันแน่ โซเชียลมีเดียจึงไม่ใช่แค่สายน้ำของข้อมูลแต่มันยังสามารถเป็นทางน้ำของเชื้อโรคทางจิตใจในยุคสมัยนี้ได้อีกด้วย นี่คือปัญหาสากล และหากจะหาว่ากลไกทั้งหมดเริ่มขึ้นจากที่ไหนก็อาจจะตอบยาก
ตัวละครเว่ยปู่ต่างจากคนอื่นเล็กน้อย เขาดูจะพยายามทำอะไรอยู่ตลอดเวลากับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วในที่สุดเขาเป็นเหมือนเสี้ยวของแสงสว่างในเรื่องที่ทำให้ทุกคนอยากออกเดินทางไปดูช้าง
ในฉากที่ฮวงหลิงทะเลาะกับแม่ของเธอ แล้วเธอพูดออกมาว่าชีวิตเธอมันช่างน่าเศร้า แม่ของเธอตอบว่า แต่นั่นไม่ได้เป็นเพราะแม่ ชีวิตมันเป็นของมันแบบนี้อยู่แล้ว ที่สุดแล้วหากจะโทษอดีตว่าเจเนอเรชั่นก่อนหน้าเป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหมด หรือโทษปัจจุบันว่าทุกอย่างเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก ก็อาจทำไม่ได้ ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบและพยายามหาวิธีเอาตัวรอดในแบบของตัวเอง ซึ่งในบางครั้งการเอาตัวรอดก็ต้องทำร้ายคนอื่น มุมมองของหนังไม่ได้ให้สาเหตุชัดเจนว่าอะไรทำให้สังคมเป็นแบบนี้ ความเลวร้ายมันก็แค่ถูกส่งมาและอาจจะถูกส่งต่อไป บางทีการจัดการกับอาจต้องคิดต่อจากผลของมันในโลกที่เรากำลังอาศัยอยู่ ไม่ใช่หาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร
นอกจากบทที่หนักอึ้ง หนังยังใช้วิธีการถ่ายทำแบบลองเทค (long take) ที่เล่าซีนซีนหนึ่งโดยไม่มีการตัดต่อใดๆ เลยจนกว่าจะเปลี่ยนฉาก แล้วจุดโฟกัสที่เราเจอทั้งเรื่องคือตัวละคร กล้องตามติดอยู่กับตัวละครแทบจะตลอดเวลาทำให้หนังไม่มีจุดพักหายใจเลยเมื่อเราเริ่มออกเดินทาง ภาพบรรยากาศเมืองที่แวดล้อมก็น่าสนใจเช่นกัน ทุกคนอยู่ในเมืองหนาวเย็นมืดหม่นหดหู่ จนสามารถเป็นฉากในหนังไซไฟดิสโทเปียได้
ในงาน Q&A ของ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต (Toronto International Film Festival หรือ TIFF) จางยูนักแสดงที่เล่นเป็นหยูเชิง เล่าว่า ตั้งแต่ก่อนถ่ายทำ ‘หูโบ’ ผู้กำกับ มองอยู่แล้วว่าตัวหนังต้องมีความยาวเท่านี้ โลเคชั่นในหนัง หูโบก็เลือกเอง ที่จะถ่ายทำในเมืองทางตอนใต้ของปักกิ่งเพื่อให้ภาพออกมาหม่นเพราะหนังอาศัยแสงธรรมชาติเกือบทั้งหมด และด้วยความเป็นเมืองอุตสาหกรรม ท้องฟ้าหลายแห่งในปักกิ่งจะทึมเทาเต็มไปด้วยฝุ่นละอองแบบที่กรุงเทพฯ เจอ แต่หนักหนาสาหัสกว่าหลายเท่า เรื่องตลกร้ายก็คือ ในช่วงกำลังถ่ายทำที่ปักกิ่งมีงานอีเว้นท์ใหญ่พอดี โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ถูกสั่งปิดทำให้ท้องฟ้าสวยสดใส ทีมงานจึงถ่ายทำได้แค่ตอนเช้าตรู่กับก่อนค่ำ รวมประมาณ 3-4 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น นอกจากการทำงานรากเลือดในงบประมาณและเวลาที่จำกัดมากๆ รวมถึงวิธีนำเสนอความหดหู่อย่างไม่ประนีประนอม หนังเรื่องนี้ยังดัดแปลงมาจากนิยายที่ชื่อว่า Huge Crack ซึ่งเขียนโดยตัวผู้กำกับเอง ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นความจริงใจอย่างที่สุดต่องาน แต่ก็อาจเทียบไม่ได้เลยกับความตายของเขา
หูโบเลือกที่จะปลิดชีวิตตัวเองหลังจากทำหนังเรื่องนี้เสร็จได้ไม่นาน นอกจากร่องรอยความสิ้นหวังที่ปรากฏในหนัง รวมถึงคำพูดที่เขาบอกกับเพื่อนถึงความทรมานของการมีชีวิตอยู่ อีกสิ่งหนึ่งที่อาจบอกใบ้การตัดสินใจฆ่าตัวตายของเขาคือความไม่ลงรอยระหว่างเขากับโปรดิวเซอร์ ภายหลังการตายมีการพบไฟล์ในคอมพิวเตอร์ของเขาชื่อว่า ‘The Death of a Young Director’ ที่บันทึกรายละเอียดความขัดแย้งทั้งด้านความคิดและการเงินของหูโบกับโปรดิวเซอร์ และหนึ่งในเรื่องที่หูโบไม่พอใจอย่างมากคือการที่โปรดิวเซอร์อยากหั่นหนังเรื่องนี้ให้เหลือ 2 ชั่วโมง แต่หลังจากที่เขาตายโปรดิวเซอร์ได้คืนลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ทั้งหมดให้แก่ครอบครัวของ หูโบ และหนังก็ได้ออกฉายด้วยความยาวเกือบ 4 ชั่วโมงในแบบที่เขาตั้งใจไว้ ในแง่หนึ่ง ความตายได้รักษา An Elephant Sitting Still ให้เป็นงานที่ออกมาอย่างที่เขาตั้งใจมากที่สุด ที่ใจร้ายกว่านั้นมันอาจเป็นอีกสาเหตุให้คนหันมาสนใจงานชิ้นนี้มากขึ้น เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ผลงานหลายชิ้นบางครั้งก็ต้องเพิ่งปัจจัยอื่นนอกเหนือตัวมันเองให้คนมาสนใจ
ไม่อาจปฎิเสธได้ว่าความตายของผู้กำกับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ทรงพลัง ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าไม่ใช่เพียงเพราะมันคือเรื่องราวน่าเศร้าที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์เท่านั้น แต่มันยังได้เชื่อมโลกของหนังกับโลกจริงๆ ทุกอย่างสอดคล้องกันเกินกว่าจะพูดแค่ว่าเพราะผู้กำกับฆ่าตัวตายหนังจึงได้รับความสนใจ แต่ความตายเป็นหลักฐานยืนยันว่าทำไมเขาถึงทำหนังออกมาแบบนี้ และไม่ว่ายังไงเวลาและคนดูคงจะเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวผลงานเอง
หนึ่งในสิ่งที่อยากพูดหลังดูจบคือ อย่าเพิ่งตายเลย เพราะนอกจากเสียดายฝีมือของเขาแล้ว หนังเรื่องนี้อาจช่วยให้หลายคนเจออะไรบางอย่างที่ทำให้อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปและไม่แน่ว่าถ้าพวกเขามีชีวิตอยู่ได้นานพอ มันก็คงจะช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรได้ สำหรับผู้เขียน An Elephant Sitting Still กำลังเติมพลังในแบบที่มืดหม่นมากๆ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เหมาะกับยุคนี้ หูโบเคยพูดว่า “ผมมีความหวังว่าคนรุ่นใหม่ในรุ่นพวกเราจะไม่บ่อนทำลายชีวิตตัวเอง เพราะหน้าอันว่างเปล่าของสัตว์ร้ายในป่าหรือหน้าตาซากศพทหารในสนามรบ มันไม่ต่างอะไรกับหน้าตาอันว่างเปล่าของพวกเราในปัจจุบันเลย” การรู้ตัวว่าอยู่ในความเลวร้ายเป็นขั้นแรกของการเริ่มทำอะไรสักอย่างให้ดีขึ้น หนังเรื่องนี้อาจกำลังเสนอสิ่งที่อาจอันตรายที่สุดหรือจำเป็นที่สุดให้เจเนอเรชั่นของพวกเรา นั่นคือ ‘ความหวัง’
หนังไม่ได้ให้สาเหตุชัดเจนว่าอะไรทำให้สังคมเป็นแบบนี้ ความเลวร้ายมันก็แค่ถูกส่งมาและอาจจะถูกส่งต่อไป บางทีการจัดการกับอาจต้องคิดต่อจากผลของมันในโลกที่เรากำลังอาศัยอยู่ ไม่ใช่หาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร
ในตอนท้ายเรื่อง เว่ยปู่ ฮวงหลิง หวางจินและหลานสาวของเขา รวมตัวกันเดินทางไปดูช้างนั่งด้วยกัน แต่รถไฟเที่ยวที่ไปหม่านโจวหลีถูกยกเลิก การเดินทางที่ใกล้ที่สุดคือนั่งรถบัสข้ามเมืองและไปต่อรถบัสอีกคัน เว่ยปู่และฮวงหลิงตัดสินใจไปต่อ หวางจินล้มเลิกความตั้งใจ เขาจะพาหลานกลับบ้านและบอกกับเด็กหนุ่มสาวว่า ชีวิตมันไม่ดีขึ้นหรอก ที่ไหนๆ มันก็เหมือนกัน ไปที่ใหม่ก็แค่เจอความทรมานแบบใหม่ เขาเสียเวลาเกือบทั้งชีวิตไปกับการหาที่ที่ดีกว่ามาแล้ว สิ่งที่ควรทำก็คือมองจากฝั่งนี้ไปอีกฝั่งแล้วอยู่ด้วยความเชื่อที่ว่าฝั่งนั้นยังไงก็ดีกว่า แต่เราข้ามไปไม่ได้
ระหว่างที่หวางจินกำลังกลับ เว่ยปู่เดินตามไปหยุดเขา และบอกเพียงสั้นๆ ว่า ไปเถอะ ข้ามไปดูฝั่งนั้นกัน แล้วในที่สุดตัวละครทั้งหมดก็ออกเดินทางไปด้วยกัน ขึ้นรถบัสที่แล่นไปในความมืด นี่อาจเป็นช่วงที่เราสบายใจที่สุดในหนัง ทุกคนได้นั่งพัก บ้างก็นอนหลับ
ตัวละครเข้าใจกัน อยู่ด้วยกันอย่างไม่มีปัญหาเพราะพวกเขาล้วนถูกเขี่ยทิ้งและหนีออกมาจากที่เดียวกัน หากสังเกตดีๆ จะพบว่าในช่วงท้ายของหนัง กล้องแฮนด์เฮลด์ที่วูบไหวไปมาตลอดทั้งเรื่องเริ่มตั้งนิ่ง และเมื่อถึงฉากสุดท้ายที่รถบัสพักจอดกลางที่รกร้างหรือไม่ก็อาจจะเสีย ทุกตัวละครออกมาจากรถ เว่ยปู่เอาลูกขนไก่ที่ยึดจากคนแก่ออกมาเตะเดาะเล่น บางคนเริ่มมาล้อมวงเล่นกับเขา หนังแช่ภาพนี้ทิ้งไว้อย่างยาวนาน แล้วอยู่ดีๆ ก็มีเสียงช้างดังก้องขึ้น ทุกคนหยุดยืนนิ่ง มองไปทางทิศเดียวกันในความมืด เสียงช้างดังขึ้นอีกครั้ง มันร้องอย่างทรงพลังจนบอกได้ว่านี่ไม่ใช่เสียงของช้างซังกะตายที่นั่งอยู่เฉยๆ แต่มันแข็งแรงและกำลังเคลื่อนไหว แล้วหนังก็จบลง
ในนิยายเรื่องไซอิ๋ว หลังจากเดินทางผ่านความลำบากมากมายเพื่อไปเอาพระไตรปิฎกที่ชมพูทวีป เมื่อไปถึงทั้งคณะก็พบว่าพระไตรปิฎกที่ตามหากันมาตั้งนานนั้นเป็นแค่กระดาษเปล่า ทุกอย่างว่างเปล่า อาจพูดได้ด้วยซ้ำว่า An Elephant Sitting Still คือเรื่องนั้น มันคือมหากาพย์การเดินทางของคนตัวเล็กๆ เพื่อแสวงหาความหวังหรือบางสิ่งที่จะช่วยเยียวยาความป่วยไข้ในยุคสมัยของตัวเอง และสิ่งที่หนังเรื่องนี้หยิบยื่นให้ไม่ใช่ความหวังในรูปแบบของการฝันหวาน มองจากฝั่งนี้ไปอีกข้างแล้วมีแฟนตาซีถึงสิ่งที่ดีกว่าหล่อเลี้ยงชีวิต เพราะคนรุ่นใหม่ไม่สามารถหลอกตัวเองได้ง่ายอีกต่อไป พวกเขาเห็นและตื่น ความหวังอาจหมายถึงการคิดลงมือทำอะไรสักอย่างในความสิ้นหวัง เป็นไปได้ว่าปลายทางของมันว่างเปล่า มันอาจจะไม่มีช้างนั่งหรือแม้กระทั่งหม่านโจวหลีอยู่จริงๆ เลยก็ได้ในหนังเรื่องนี้ แต่เมื่อทุกคนตัดสินใจทำอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่แค่นั่งเฉยๆ ในระหว่างที่ทำ พวกเขาก็ได้ยินเสียงช้างในที่สุด
อ้างอิง:
https://www.facebook.com/HALfilm/
https://www.indiewire.com/2019/03/an-elephant-sitting-still-review-1202049702/
https://www.youtube.com/watch?v=O9Q91x4EQjg
https://movie.mthai.com/bioscope/257835.html
https://www.healthline.com/health-news/millennial-depression-on-the-rise
https://en.wikipedia.org/wiki/Doomer
https://www.youtube.com/watch?v=Aaz4jdlqhSk
https://www.youtube.com/watch?v=aUe_rrgK_nU
https://www.e-reading.club/chapter.php/91807/23/Cheng-en_-_Journey_to_the_West_%28vol._3%29.html
https://en.wikiquote.org/wiki/Journey_to_the_West
Fact Box
- หนังเรื่องนี้นำเข้ามาโดย HAL distribution ที่เคยนำเข้า The Square (2017) Harmonium (2016) หรือ Bangkok Nites (หนังปี 2016 แต่เข้าฉายในไทยปี 2018) ฯลฯ
- An Elephant Sitting Still ฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินปี 2018 และได้รับรางวัลสาขา FIPRESCI กับ รางวัลภาพยนตร์เรื่องแรกยอดเยี่ยม
- ซาวด์แทรกต์ที่ใช้ประกอบในเรื่อง แต่งโดยวงโพสต์ร็อกจีนที่ชื่อว่า Hua Lun และได้เข้าชิงรางวัล Golden Horse Award สาขา Best Original Film Score