โลกในปี 2020 คือโลกที่ ‘ขยะ’ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แพร่ไปทุกหัวระแหง โดยเฉพาะขยะที่ลงสู่แหล่งน้ำลำคลองจนไปถึงมหาสมุทร ทำให้ทุกภาคส่วนต่างระดมสรรพกำลังทั้งหมดและทุ่มเททุกวิทยายุทธ์ที่มี หวังคืนความสะอาด เพื่อพลิกฟื้นคืนชีวิตให้กับแม่น้ำลำคลอง เช่นเดียวกับที่สตาร์ตอัปในเมือง ‘อัมสเตอร์ดัม’ ทดลอง ‘กำแพงฟองอากาศ’ (Bubble Barrier) เพื่อดักจับขยะใต้ผิวน้ำ 

โครงการกำแพงฟองอากาศหรือ Great Bubble Barrier Project เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาด้วยสเกลขนาดเล็กที่หวังจะสามารถพัฒนาจากชิ้นต้นแบบจนประสบความสำเร็จและนำไปใช้ต่อที่อื่นได้ โดยหลักการทำงานของกำแพงคือ ‘ท่อ’ ที่ถูกวางไว้ใต้น้ำในลักษณะทแยงมุมจะปล่อยอากาศออกมาเป็นม่านฟองอากาศเพื่อดักจับขยะใต้น้ำ ก่อนที่จะส่งต่อไปให้กับตัวเก็บขยะด้านข้าง 

ฟรานซิส โซอ์ ผู้อำนวยการด้านเทคนิคของโครงการ Great Bubble Barrier ยืนยันว่าฟองอากาศจะไม่รบกวนปลาหรือนกน้ำ รวมถึงไม่ส่งผลต่อเรือที่แล่นผ่าน และในการทดสอบทุกๆ ครั้งยังใช้องค์ประกอบของบันไดปลาโจนเข้ามาร่วมด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์น้ำในพื้นที่

ที่ผ่านมาอัมสเตอร์ดัมใช้เรือทั้งหมด 4 ลำ เพื่อเก็บรวบรวมพลาสติกประมาณ 42,000 กิโลกรัมต่อปี แต่เรือสามารถเก็บได้เพียงขยะบนพื้นผิวน้ำเป็นหลักและไม่สามารถเก็บขยะที่มีขนาดเล็กมากได้ ขณะเดียวกัน แม่น้ำคือท่อลำเลียงสำคัญที่ทำให้เกิดมลภาวะจากขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลก โดยศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อม Hem Hemtz ในประเทศเยอรมนีประเมินว่า ในแต่ละปีมีขยะพลาสติกไหลลงทะเลกว่า 4 ล้านตัน  

“สิ่งที่หลายคนไม่ทราบก็คือขยะพลาสติกทุกชิ้นที่ตกลงไปในแม่น้ำลำคลองจะไหลออกไปสู่ทะเลเหนือในที่สุดและเราต้องป้องกันสิ่งนี้” รอย เลย์เนอร์ หนึ่งในวอร์เตอร์เน็ต องค์กรซึ่งให้เงินทุนสนับสนุนโครงการนี้กับเมืองอัมสเตอร์ดัมกล่าว

นอกจากกำแพงฟองอากาศของเมืองอัมสเตอร์ดัมแล้ว ก่อนหน้านี้องค์กรไม่แสวงกำไรอีกแห่งหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ก็ได้เปิดตัวระบบรวบรวมบนผิวน้ำโดยใช้สิ่งกีดขวางแบบลอยตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าถนนทุกสายของเนเธอร์แลนด์มุ่งหน้าสู่การลดขยะพลาสติก

ที่มา

https://www.reuters.com/article/us-netherlands-pollution-plastic/amsterdam-trials-bubble-barrier-to-clean-river-waste-idUSKBN1YL1CS

https://www.cbc.ca/news/world/amsterdam-bubble-barrier-clean-river-waste-1.5398858

รูป Facebook.com/The Great Bubble Barrier