ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ (Circular Economy) ดูจะเป็นคำใหม่ที่ถูกพูดถึงมากในฐานะที่เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก เราได้ยินหลักการที่นำทรัพยากรมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ดูจะเป็นไปได้ยากกับวิถีชีวิตปัจจุบันที่ทุกอย่างต้องง่าย สะดวก รวดเร็ว แค่แยกขยะก่อนทิ้งสำหรับบางคนก็ดูเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และแม้จะพยายามนำทรัพยากรมารีไซเคิลอย่างไร ก็ยังมีขยะล้นเมือง ลามเลยไปถึงท้องทะเลจำนวนมหาศาล ฉะนั้น เราคงไม่อาจจินตนาการออกว่า โฉมหน้าของประเทศไทยที่ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบจะเป็นอย่างไร
ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและความสำคัญของหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำให้เอสซีจีผลักดันให้เกิดชุมชนต้นแบบในการจัดการขยะขึ้นที่จังหวัดระยอง ภายใต้โครงการ ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา
ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียน เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการดำเนินนโยบายทางธุรกิจ การรณรงค์ในภาคส่วนต่างๆ ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรไม่เพียงพอ และสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้วงจรเศรษฐกิจหมุนเวียนสมบูรณ์ คือ การบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเอสซีจีได้ให้ความสำคัญและเริ่มต้นจากภายในองค์กร ด้วยโครงการบางซื่อโมเดล
บางซื่อโมเดล สู่ ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ
บางซื่อโมเดล เป็นการรณรงค์ให้พนักงานเอสซีจี สำนักงานใหญ่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะ ด้วยการส่งเสริมพฤติกรรม ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก และเอสซีจียังพัฒนาระบบคัดแยกขยะภายในองค์กร และระบบรับซื้อคืนเพื่อรีไซเคิล โดยมีหัวใจสำคัญ คือ การแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้ง และแยกตามประเภทวัสดุ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะสามารถนำกลับมาสร้างประโยชน์ได้ง่ายขึ้น ทำให้สามารถลดปริมาณขยะที่ต้องทิ้งบ่อฝังกลบได้เฉลี่ย 20 ตันต่อเดือน เพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิลจากร้อยละ 10 ต่อเดือน เป็นร้อยละ 45 ต่อเดือน และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าร้อยละ 50 ต่อเดือน
จากผลสำเร็จที่เกิดขึ้น เอสซีจีได้ขยายผลสู่ชุมชนรอบโรงงานของเอสซีจี เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบที่ชุมชนบ้านรางพลับ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จนสามารถลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบเป็นศูนย์ และได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการชุมชนปลอดขยะ ปี 2562 จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ล่าสุด เอสซีจีได้ถอดบทเรียนจากบางซื่อโมเดลและชุมชนรางพลับ เกิดเป็นโครงการ ‘ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง เป็นโมเดลการจัดการขยะที่เชื่อมโยงระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน และธนาคารขยะชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการจัดการขยะร่วมกันอย่างยั่งยืน และเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่า ด้วยหลักคิด “ขยะไม่ใช่ขยะ” แต่สามารถสร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่ม หรือหมุนเวียนกลับมาสร้างประโยชน์ใหม่ได้ หากจัดการอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง
โรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 ปลูกฝังจิตสำนึกใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่าตั้งแต่วัยเยาว์
หากถามเรื่องการจัดการขยะกับเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 แน่นอนว่าเราจะได้คำตอบที่ถูกต้องฉะฉานจากเด็กๆ ที่นี่ ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลย เพราะแทบทุกตารางเมตรในโรงเรียนแห่งนี้ให้ความรู้และปลูกฝังการแยกขยะให้กับนักเรียนอย่างเข้มข้น
เริ่มต้นจาก ผอ.บุษบา ธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ที่เห็นความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเอสซีจีที่เข้าไปให้ความรู้และสนับสนุนการจัดการขยะ ทำให้โรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 กลายเป็นสถานที่บ่มเพาะและปลูกจิตสำนึกให้นักเรียนรู้จักการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทั้งป้ายให้ความรู้ และระบบจัดการขยะในโรงเรียนที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้และปฏิบัติจริง
ทุกวันหลังจากดื่มนมเสร็จ เด็กๆ จะไม่ใช่แค่ทิ้งถุงนมลงถังขยะไม่ให้เรี่ยราดเหมือนอย่างเมื่อก่อน แต่พวกเขาจะเอาถุงนมมาตัดแผ่ออก แล้วล้างให้สะอาดไม่ให้เหลือคราบนม ก่อนจะนำไปตากให้แห้ง แล้วเก็บลงกล่องเพื่อรอไปรีไซเคิล จากที่อดีตเคยเป็นขยะพลาสติกจำนวนถึง 450 ถุงต่อวัน แต่ตอนนี้ โรงเรียนสามารถนำถุงนมทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เปลี่ยนให้กลายเป็นเก้าอี้พลาสติกสีสวยแปลกตาใช้ในโรงเรียน นอกจากนี้ น้ำที่เหลือใช้จากการล้างถุงนมยังเอามาต่อเข้าระบบรดน้ำผักสวนครัวในเรือนเพาะชำด้วย เป็นการสอนให้ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าอีกทางหนึ่ง
วัดโขดหิน ชวนทำดีเพื่อสังคมด้วยการแยกขยะ
วัดเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่สร้างขยะถุงพลาสติกจำนวนมากจากการที่ญาติโยมมาทำบุญ เฉพาะวัดโขดหินเคยสร้างขยะถุงพลาสติกถึงวันละ 80 กิโลกรัม ด้วยเหตุนี้ พระมหานักรบ อคฺคธมฺโม เจ้าอาวาสวัดโขดหิน จึงคิดจัดการขยะถุงพลาสติก โดยร่วมมือกับเอสซีจี ต่อยอดโครงการวัด 5 ส. ให้เกิดเป็นโครงการแยกขยะขึ้น โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น รับบริจาคขยะ ผ้าป่าขยะรีไซเคิล โดยขยะที่ได้รับบริจาคมา วัดโขดหินนำไปขาย และรายได้จากการขายขยะก็คืนกลับมาในรูปแบบกองทุนการศึกษาสำหรับเด็ก
บริเวณรอบๆ วัดโขดหิน เราจะเห็นถังขยะที่มีป้ายชัดเจนว่า สำหรับทิ้งถุงพลาสติกสะอาดและถุงพลาสติกเปรอะแยกกันคนละถัง โดยเจ้าอาวาสให้เหตุผลว่า ถุงพลาสติกสะอาดแบ่งออกได้หลายชนิดมีราคาขายต่างกันออกไป ขณะที่ถุงเปรอะแกงจะถูกส่งต่อให้เทศบาลดำเนินการส่งให้โรงไฟฟ้าเพื่อเป็นเชื้อเพลิงต่อไป นับว่าแค่ถังแยกกันสองใบก็เป็นการให้ความรู้เรื่องการแยกขยะไปในตัว นอกจากนี้บริเวณใกล้ๆ กันมีป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับการแยกถุงพลาสติกแต่ละชนิดและมีตัวอย่างให้ดูอย่างเข้าใจง่ายด้วย
ธนาคารขยะเขาไผ่ ปลายทางของขยะที่คืนกำไรสู่ชุมชน
เมื่อคนรู้จักแยกขยะ รู้จักมูลค่าของขยะที่อยู่ในมือแล้ว การไปหาที่ขายอาจไม่ใช่เรื่องง่ายหากเราไม่ได้มีขยะมากพอที่โรงงานรีไซเคิลจะรับซื้อ และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เกิดธนาคารขยะขึ้น เพื่อรวบรวมขยะจากชุมชนให้ได้มากพอ ธนาคารขยะชุมชนเขาไผ่จึงเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 รองรับชุมชนเขาไผ่ที่มี 2,400 ครัวเรือน
เริ่มแรกต่อเนื่องมาหลายปี การจัดการโดยเฉพาะการลงบัญชียังเป็นลักษณะจดลงกระดาษ คนทำงานก็เป็นจิตอาสา อาจฟังดูไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่สำหรับคนทำงานอย่าง ณภัทร ภูมิรัตนโชติ เจ้าหน้าที่ธนาคารขยะชุมชนเขาไผ่ มองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากในการเก็บข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และยากต่อการเก็บสถิติ จากปัญหาดังกล่าว ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน ‘คุ้มค่า’ (KoomKah) ขึ้นมาแก้ปัญหานี้
โดยแอปพลิเคชันคุ้มค่า เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบของธนาคารขยะแบบครบวงจร โดยมีฟังก์ชันการทำงานหลายอย่าง ได้แก่ ช่วยบันทึกจัดเก็บข้อมูลซื้อขายระหว่างธนาคารขยะกับสมาชิก จัดเก็บข้อมูลสมาชิก ประวัติการแลกแต้มและสะสมคะแนน บันทึกข้อมูลการขาย คำนวณรายรับและกำไรที่ได้จากการขาย และจัดระเบียบข้อมูลสินค้าขยะแต่ละประเภท เงินทุนและแต้มสะสมจากการรับซื้อสินค้า นอกจากนี้ยังสามารถประมวลผลและดาวน์โหลดไฟล์ออกมาในรูปแบบ Excel โดยไม่ต้องเสียเวลาทำบัญชีอีกด้วย
ณภัทรกล่าวว่า “แอปพลิเคชันคุ้มค่าช่วยให้จัดการขยะได้ดีมาก ทำให้ชุมชนกับชุมชนมารวมกันได้ เพราะเมื่อก่อนนี้ทำได้แค่ชุมชนเขาไผ่ เพราะไม่สามารถจัดการได้ทัน แต่พอมีแอปพลิเคชันก็ทำงานได้ง่ายขึ้น สามารถรองรับชุมชนโขดหินและชุมชนโขดหินมิตรภาพได้”
ปัจจุบัน รายได้จากการขายขยะของธนาคารขยะชุมชนเขาไผ่ ได้คืนกำไรสู่ชุมชนมากมาย เช่น การมอบทุนการศึกษาให้สมาชิกธนาคารขยะเป็นประจำทุกปี และทำโรงน้ำดื่มฟรีสำหรับประชาชน เป็นต้น
เป็นเวลาประมาณ 9 เดือนที่โครงการ ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ดำเนินมา มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 80 ครัวเรือน สามารถนำขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้กว่า 6,500 กิโลกรัม และในปี 2563 นี้ เอสซีจีมีแผนจะเพิ่มจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการฯ อีก 700 ครัวเรือนในชุมชนเดิม นอกจากนี้ยังมีอีก 3 ชุมชนใหม่ที่พร้อมเดินหน้าเป็นชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ได้แก่ ชุมชนอิสลาม ชุมชนวัดชากลูกหญ้า และชุมชนมาบชลูด-ชากกลาง โดยเอสซีจีจะสนับสนุนและส่งเสริมผู้นำชุมชนในการจัดการขยะอย่างยั่งยืนต่อไป
Tags: ระยอง, Advertorial, ถุงพลาสติก, การจัดการขยะ, SCG Circular Way